http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-09

วัฒนธรรมนอกพิพิธภัณฑ์ และ ว่าด้วยแม่บ้าน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
วัฒนธรรมนอกพิพิธภัณฑ์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 31


ผมไม่ทราบหรอกว่า "เขตวัฒนธรรมพิเศษ" มีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงอะไร แต่จากมุมมองของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ได้สัมผัส เขาคิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้เขาสามารถจัดการทรัพยากรไปตามวิถีวัฒนธรรมของเขา โดยได้รับการยกเว้นจากการบังคับใช้กฏหมายซึ่งร่างกันขึ้นในกรุงเทพฯ และไม่ตระหนักรู้ถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างของเขา

เหมือนกับการกันพื้นที่บางส่วนออกเป็นเขตสงวน อย่างที่อเมริกันทำกับอินเดียนแดง หรือออสเตรเลียทำกับคนพื้นเมือง (ซึ่งล้มเหลวโดยสิ้นเชิง-ล้มเหลวอย่างไรและทำไมจะพูดถึงข้างหน้า)

ความเข้าใจของชาวบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อยนั้น ไม่ใช่การหาทางเบี้ยวกฏหมาย แต่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาว่าด้วยวัฒนธรรมทีเดียว

ฐานของวัฒนธรรมคือทรัพยากร ท่ามกลางการมีอยู่ของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรหนึ่งๆ มนุษย์ย่อมจัดความสัมพันธ์ทางสังคม (ซึ่งก็คือวัฒนธรรม) ให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรนั้นในวิถีทางหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการนับญาติ, การถือผี, การเลือกคู่, การปกครอง ไปจนถึงการแต่งกายและการฟ้อนรำ

"ตลาด" ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งอาจเหมาะสำหรับการใช้ทรัพยากรบางอย่างที่เรามีในปัจจุบัน แต่อาจไม่เหมาะเลยสำหรับการจัดการกับทรัพยากรอีกบางอย่างที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

หนึ่งในนั้นคือ ป่าและพื้นที่ทำกินในวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง หรือทะเลและชายฝั่งในวิถีชีวิตของชาวเล เป็นต้น


อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า ผมไม่ทราบจุดมุ่งหมายแท้จริงของรัฐบาลที่จะจัดให้มี "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" แต่เท่าที่ผมได้เห็นทางทีวี ก็มักจะพูดถึงประเพณีต่างๆ ของชนกลุ่มน้อย หรือการผลิตเครื่องแต่งกายแบบที่อ้างว่า "เก่า" ต่างๆ ที่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในหมู่ชาวเขาบางกลุ่ม

ที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ ในชุมชนของมระบรีหรือที่คนไทยทางเหนือเรียกว่า "ผีตองเหลือง" กลายเป็นชุมชนที่ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าคือ "ผีตองเหลือง" เพราะเขาแต่งกายเหมือนคนไทยทั่วไป ใช้ชีวิตในบ้านเรือนที่ไม่ต่างจากคนในชนบทสมัยก่อนนี้นัก และแน่นอนว่า ไม่อาจดำรงชีวิตอย่างบรรพบุรุษได้อีกแล้ว เพราะไม่มีป่าให้เขาอยู่อาศัยและทำมาหากินได้ในปัจจุบัน ฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงมีอาชีพรับจ้างแรงงาน ซึ่งก็แน่นอนอีกเหมือนกันว่า ไม่มีงานให้ทำได้ตลอดปี

นี่คือชีวิตของคน "ชายขอบ" ที่แท้จริง กล่าวคือกลับไปยืนอยู่นอกกรอบก็ไม่ได้ จะกลืนตนเองเข้ามาในกรอบก็ไม่มีช่องให้ฝ่าเข้ามา จึงถูกกันไว้ที่ชายขอบอย่างว้าเหว่อย่างนั้น

แต่ยังดีที่มีโรงเรียนในชุมชน เพราะลูกหลานของเขาได้เรียนหนังสือ ในขณะเดียวกัน ก็สอนภาษาและวิถีวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้แก่เด็กๆ ด้วย ดูแล้วก็ได้แต่หวังว่าเด็กๆ เหล่านี้จะมีทางเจาะออกมาจากชายขอบ เข้ามาอยู่ในกรอบของสังคมไทย โดยผ่านการศึกษาได้ในอนาคต

(แต่พอย้อนกลับมาดูระบบการศึกษาและการไต่เต้าทางสังคมของไทยเอง ความหวังนั้นก็ดับวูบไป)


ในชุมชนแห่งนั้นมีพิพิธภัณฑ์มระบรี เก็บเครื่องใช้ไม้สอยที่พวกเขาเคยใช้ เมื่อสมัยที่ยังมีชีวิตในป่า ตลอดจนมีป้ายอธิบายวิถีชีวิตและการใช้เครื่องมือเหล่านั้นติดตั้งไว้ด้วย ใครที่ได้เข้าชม และขยันอ่านหน่อย ก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมระบรีพอสมควรทีเดียว

ปราศจากทรัพยากรเป็นฐาน วัฒนธรรมของมระบรีจึงมีพื้นที่เหลืออยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ และในหลักสูตรของโรงเรียนเท่านั้น

ผมไม่ทราบว่า "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" จะลงท้ายอย่างนี้หรือไม่ กล่าวคือ มีพิพิธภัณฑ์และหลักสูตรในโรงเรียนเก็บเอาวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ไว้ แต่ไม่มีฐานทรัพยากรที่จะผดุงวิถีวัฒนธรรมนั้นไว้ได้ต่อไป กลายเป็นแค่จุดท่องเที่ยวในอะเมซซิ่งไทยแลนด์เท่านั้น

การอนุรักษ์วัฒนธรรมไม่มีความหมายอะไร หากไม่ได้อนุรักษ์ทรัพยากรอันเป็นฐานของวัฒนธรรมนั้นไว้ด้วย เพราะในที่สุด ก็จะเหลือเพียงเปลือกนอกของวัฒนธรรม เช่น เครื่องแต่งกาย หรืองานประเพณี และการที่เปลือกของวัฒนธรรมเหล่านี้ยังดำรงอยู่ได้ ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะเหมือนเก่าอีกต่อไป หากถูกให้ความหมายใหม่ที่เหมาะกับชีวิตซึ่งเปลี่ยนไปแล้ว

เช่น ประเพณีหลายอย่างของชาวเขา ไม่ว่าจะเป็นการโล้ชิงช้าหรือการแข่งรถลังสบู่ลงเขา ล้วนกลายเป็นพิธีกรรมใหญ่ของ "เผ่า" เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์สำหรับการต่อรองอย่างมีพลังในสังคมสมัยใหม่ที่สลับ ซับซ้อนอย่างที่วัฒนธรรมเดิมไม่เคยต้องเผชิญ

นี่เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของตน เพื่อตอบปัญหาของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นในทุกวัฒนธรรมมาแต่อดีต ตรงกันข้าม การแช่แข็งวัฒนธรรมที่ไร้ฐานทรัพยากรเสียอีกกลับทำความทุกข์ยากแสนสาหัสให้แก่เจ้าของวัฒนธรรม


เมื่อคนผิวขาวอพยพไปตั้งรกรากลึกเข้าไปทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของควายป่าหรือไบซัน ก็ถูกยึดครอง นอกจากจะถูกล่าเป็นอาหารหรือเอาหนังจนเกินกว่าธรรมชาติจะทดแทนได้แล้ว ควายป่าเหล่านี้ยังไม่มีที่อยุ่อาศัยและขยายพันธุ์ แต่ควายป่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของอินเดียนหลายเผ่า เช่นเดียวกับทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพด และเป็นฐานทางทรัพยากรของวัฒนธรรมอินเดียนก็หายไป

หลังสงครามแย่งชิงทรัพยากรซึ่งคนขาวชนะขาดแล้ว รัฐบาลอเมริกันก็ตั้ง "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" ให้อินเดียนเข้าไปอยู่ แต่เขตพิเศษเหล่านี้ไม่มีฐานทรัพยากรของวัฒนธรรมอินเดียน ชาวอินเดียนจึงยากจนลงอย่างที่ไม่เคยประสบมาในอารยธรรมของตน ไม่มีงานทำและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขอทานและเมาทั้งวัน

ความขี้เมาของชนกลุ่มน้อยนั้นได้พบทั่วไปทั้งในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และที่อื่นๆ ดูจะเป็นภาพของความพังสลายทางวัฒนธรรมที่สลดหดหู่ที่สุด



สัก 20 ปีมาแล้ว ผมอุตส่าห์ดั้นด้นเข้าไปถึง "นิคม" ของชาวซาไกที่ยะลา อันเป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทยที่จะนำเอาซาไกเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร และอนุรักษ์วัฒนธรรมของซาไกไปพร้อมกัน

บ้านเรือนที่กระทรวงไปสร้างไว้ให้ล้วนถูกทิ้งร้าง แม้แต่แปลงสมุนไพรของซาไกก็เหลือแต่ป้ายที่ปักไว้เหนือหญ้าขึ้นรก ผมไม่พบใครเลยนอกจากซาไกกลางคนเพียงคนเดียว ทันทีที่เขาเห็นผม เขาก็เข้ามากอดแล้วขอเงินทันที กลิ่นเหล้าฉุนๆ ตลบอบอวลไปทั่วตัว

ทรัพยากรอันเป็นฐานของวัฒนธรรมนั้น ถึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไร วิถีการใช้ทรัพยากรก็อาจเปลี่ยนได้ เพราะเผชิญกับคนอื่นซึ่งใช้ทรัพยากรตัวเดียวกันแต่คนละวิถี หรือเพราะเกิดโอกาสหรืออุปสรรคใหม่ที่จะใช้ทรัพยากรในวิถีเก่า ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ไป

ทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มีเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ชาวเอสกิโมอยู่ไกลถึงไอซ์แลนด์ เคยทำประมงเลี้ยงชีพ แต่อยู่ๆ ก็มีพวกนอร์ดิคอพยพเข้ามาอยู่บนเกาะเดียวกัน ทำให้ไม่อาจทำประมงในวิถีทางเดิมได้อีก ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรไปด้วยเหตุจำเป็น

ที่พูดกันว่าวัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ ก็เพราะเหตุนี้แหละครับ คือฐานของวัฒนธรรมคือทรัพยากรและวิถีการใช้ทรัพยากรเปลี่ยนไปไม่หยุดนิ่ง นั่นเอง


ผมไม่ทราบว่า "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" เป็นความพยายามจะแช่แข็งวัฒนธรรมหรือไม่ แต่หากเขตพิเศษไม่รวมถึงการจัดการทรัพยากรแบบพิเศษ คือแบบที่ชนกลุ่มน้อยมีความชำนาญในการใช้ จนสามารถปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็นได้เอง เขตนั้นก็ไม่ได้พิเศษอะไรมากไปกว่าถิ่นที่อยู่ของคนแปลกๆ ในสังคมไทยซึ่งน่าดูน่าเที่ยวเท่านั้น

เมื่อมองจากฐานทรัพยากรเช่นนี้ ผมเชื่อว่าไม่ต้องพูดถึงชนส่วนน้อยซึ่งมีวิถีการใช้ทรัพยากรแตกต่างจากคนไทย แม้แต่คนไทยด้วยกันเอง ก็มี "วัฒนธรรม" หรือวิถีการใช้ทรัพยากรที่หลากหลายมาก แต่ทุกคนถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฏหมายจัดการทรัพยากรอันเดียวกัน และภายใต้องค์กรตัดสินใจอันเดียวที่ ไม่เคยเข้าใจ "วัฒนธรรม" อันหลากหลายของคนไทยเลย ผลก็คือ เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

ถ้าจะตั้ง "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" ก็ต้องตั้งไปทั่วประเทศไม่รู้จะกี่เขต ฉะนั้น หากเคารพใน "วัฒนธรรม" ที่แตกต่างกันจริง แทนที่จะตั้งเขตพิเศษ ก็น่าจะทบทวนกฎหมายว่าด้วยการจัดการทรัพยากรทั้งหมด เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถกำหนดกฏเกณฑ์วิถีการใช้ให้เอื้อต่อวิถีชีวิตของ ตนเองได้ โดยรัฐมีอำนาจกำกับอยู่เรื่องเดียวคือ ไม่ว่าจะจัดการอย่างไร ก็ต้องมีความยั่งยืน

"วัฒนธรรม" เหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของชนกลุ่มน้อยหรือของคนไทย แต่อยู่แบบมีพลวัติคือปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ นะครับ

ในด้านตรงกันข้าม คือความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ปัญหาอยู่ที่ว่า ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ อำนาจใหญ่เช่นอำนาจรัฐจะเข้าไปแทรกแซงกำกับความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้ เพราะแม้แต่อยากทำ ก็ไม่น่าจะมีพลังหรือความสามารถพอจะทำได้ ในที่สุดก็จะใช้อำนาจดิบสั่งห้ามโน่นห้ามนี่ไปตามเรื่อง แล้วก็ห้ามไม่ได้สักที

ผมไม่แน่ใจว่าเราควรมีกระทรวงวัฒนธรรมหรือไม่ แต่ถ้ามี หน้าที่หลักไม่น่าจะเป็นการอนุรักษ์เท่ากับการช่วยกลุ่มต่างๆ ในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้อย่างมีพลังมากกว่า ส่วนจะเปลี่ยนไปอย่างไร เป็นอำนาจตัดสินใจของกลุ่มและคนต่างๆ ไม่เกี่ยวกับกระทรวงแต่อย่างใด


สิ่งที่ไม่มีลมหายใจแล้ว ก็ต้องเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ โดยมีการศึกษาด้วยนะครับไม่ใช่ซุกเข้าโกดัง เพราะของเหล่านี้อาจไม่มีลมหายใจ แต่มีชีวิตก็ได้ เช่นรามเกียรติ์นั้นมีแก่นเรื่องหลายอันที่คนปัจจุบันอาจมองเห็นความหมายใหม่ได้ เช่นทางเลือกของพิเภกและกุมภกัณฑ์ อันเป็นปัญหาของความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันหลายอย่าง ต้องเลือกหรือจัดอันดับกันเอง อันเป็นปัญหานิรันดรที่มนุษย์ในสังคมต้องเผชิญตลอดไป และด้วยเหตุดังนั้น จึงแสดงออกทางศิลปะได้ไม่รู้จบ

กระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรไปต่อลมหายใจของรามเกียรติ์ แต่ต้องรักษาชีวิตของรามเกียรติ์เอาไว้ เพื่อทำให้ใครบางคนสามารถหยิบเอาชีวิตนี้ขึ้นมาสร้างลมหายใจใหม่ ในดนตรี, ละคร, กวีนิพนธ์, โขน, นวนิยาย, บัลเลต์ ฯลฯ ได้


++

ว่าด้วยแม่บ้าน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1556 หน้า 21


"แม่ค้า" ขายอะไรครับ?

ขายกล้วยแขก, ข้าวแกง, ถั่วต้ม, ไม้กันหนู, ถ้วยชามรามไห, หรืออะไรทำนองอย่างนั้น แต่หากผู้หญิงขายบ้านจัดสรร, โทรศัพท์มือถือ, รถไถเดินตาม, บริการโรงแรม, ฯลฯ ก็ไม่ได้เป็น"แม่ค้า"แล้ว หากเป็นนักธุรกิจหญิง

แล้ว "พ่อค้า" ล่ะครับ ขายอะไร? ขายอะไรก็ได้ นับจากสินค้าประเภทเดียวกับที่ "แม่ค้า" ขาย ไปจนถึงส่งออกข้าว, พืชผลการเกษตรแปรรูป, ปูนซีเมนต์, ค้าเงินในรูปต่างๆ, บริการรับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ ล้วนเป็น "พ่อค้า" ได้ทั้งสิ้น และใครจะเรียกเขาว่า "พ่อค้า" หรือ "นักธุรกิจ" เขาก็ไม่รู้สึกว่าจะแตกต่างกันตรงไหน

ในขณะที่จะเรียกหญิงเจ้าของโรงแรมห้าดาวหลายสาขาว่า "แม่ค้า" ก็ถือว่าล้อเล่น หรือออกจะเหยียดๆ

ผมควรจะเสริมไว้ด้วยว่า เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก ผู้ชายที่ขายสินค้าประเภทเดียวกับ "แม่ค้า" นั้น ดูแปลกๆ เช่น "พ่อค้า" ขายข้าวแกง เป็น

เรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า ข้าวแกงเจ้านี้ ผู้ขายเป็นผู้ชาย เพิ่งมาระยะหลังนี้เองที่ผู้ชายขายของเหล่านี้ได้ โดยไม่รู้สึกแปลกอะไร

อีกข้อหนึ่งที่อยากให้สังเกตไว้ก็คือ สินค้าของ "แม่ค้า" นั้น เป็นสินค้าประจำบ้าน (household items) นับตั้งแต่อาหารไปจนถึงของใช้ต่างๆ และประเภทของสินค้าเป็นตัวกำหนดความเป็น "แม่ค้า" มากกว่าขนาดของธุรกิจ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักเป็นผู้ขายมอเตอร์ไซค์เก่า ก็ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โตนัก เพราะมีให้เลือกอยู่เพียงไม่กี่คันในร้าน แต่ก็ไม่เคยได้ยินใครเรียกเธอว่า "แม่ค้า" เสียที เพราะในจินตภาพของคนไทย มอเตอร์ไซค์ไม่ได้เป็นสินค้าประจำบ้าน (ทั้งๆ ที่เป็นในความจริง แต่ในจินตภาพไม่เป็น)

แน่นอนว่า ขนาดก็มีส่วนด้วย เช่น ไม่มีใครคิดถึงเจ้าของร้านอาหารแดกด่วนที่มีสาขาไปทั่วประเทศ ว่าเป็น "แม่ค้า"



บทบาทของผู้หญิงในทางเศรษฐกิจในฐานะ "แม่ค้า" นั้น เป็นมรดกตกทอดมาเนิ่นนานในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ฝรั่งที่เข้าไปพบเมืองท่าต่างๆ ของภูมิภาคนี้ ต่างตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า คนที่ค้าขายอยู่ในตลาดนั้นล้วนเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น บางคนขยายความด้วยว่าเป็นผู้หญิงในวัยที่ออกเรือนแล้วทั้งนั้น

ฝรั่งบางคนกล่าวถึงการค้าในสยามว่า ในประเทศนี้คนที่ทำการค้าขายมีอยู่สองพวกเท่านั้น คือยายแก่กับพระราชา (การค้าของพระคลัง)

ผู้หญิงมีบทบาทและหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรของครัวเรือน นับตั้งแต่กะปิน้ำปลาไปจนถึงผลผลิตต่างๆ

ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของการ "จัดการ" ทรัพยากรของผู้หญิง นั่นคือระบายส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือนขายเสียบ้าง (แลกเป็นเงินสดหรือเป็นสินค้าที่ครัวเรือนขาด) ทั้งนี้ รวมทั้งเวลาของผู้หญิงเองด้วย ส่วนที่เกินกว่าจะใช้ในครัวเรือนก็อาจเอาไปขายเสียบ้าง

และด้วยเหตุดังนั้น สินค้าที่ผู้หญิง (ซื้อ) ขายในตลาด จึงล้วนเป็นสินค้าประจำบ้าน

ผมไม่อยากให้ท่านผู้อ่านลืมบทบาททางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ของผู้หญิงด้วย นั่นคือเธอมีส่วนในการผลิตด้านการเกษตรไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย และนั่นเป็นบทบาทหลักทางเศรษฐกิจเสียยิ่งกว่าค้าขายด้วยซ้ำ



อย่างไรก็ตาม บทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงเปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อการผลิตในภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อป้อนตลาด เพราะการผลิตเพื่อป้อนตลาดทำให้ผู้ชายมีบทบาทเพิ่มขึ้น และผลักดันผู้หญิงให้ไปรับภาระส่วนของการผลิตที่เหนื่อยยากหรือน่าเบื่อ (เช่น การทำอะไรซ้ำๆ อย่างหลังขดหลังแข็ง)

ในแหล่งใดก็ตามที่พอจะสามารถส่งข้าวไปขายแดนไกลได้ การผลิตข้าวจะเพิ่มปริมาณขึ้น ในขณะที่งานหลังขดหลังแข็ง เช่น ดำนาและเกี่ยวข้าว จะถูกผลักให้เป็นภาระของผู้หญิง

พริกไทยดำ เคยเป็นพืชที่ปลูกแซมในสวน และผู้หญิงมีบทบาทสูงตั้งแต่ปลูกไปจนเก็บเกี่ยวผล ครั้นตลาดยุโรปต้องการพริกไทยดำจำนวนมาก ผู้หญิงถูกผลักให้จำกัดอยู่เพียงการดูแลหลังการปลูก และการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นงานหลังขดหลังแข็ง เพราะต้องทำกับพริกไทยดำจำนวนมาก ไม่ใช่สวนครัวอย่างที่เธอเคยทำมา

มีหลักฐานในบางแหล่งของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยว่า ผู้หญิงเคยมีบทบาทสำคัญในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา แต่พอตลาดเครื่องปั้นดินเผาขยายตัว ผู้หญิงก็ถูกกีดกันออกไป การย้อมผ้าและการทอผ้าก็เช่นกัน ในบางแห่งผู้หญิงเหลือหน้าที่แต่เพียงการปั่นด้ายและการเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นงานหนักมาก

การผลิตเพื่อป้อนตลาดขนาดใหญ่ขึ้นนี้ต้องการสองอย่างซึ่งผู้หญิงให้ไม่ได้ หนึ่งคือ การค้าทางไกล ทำให้ต้องทิ้งบ้านเรือนไปเป็นเวลานาน และสอง การทำงานผลิตเพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่อาจทำบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงในครัวเรือนได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ครัวเรือนนั่นแหละครับ ที่กักขังผู้หญิงเอาไว้ จนทำให้ผู้หญิงสูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจที่เคยมีไปมาก ยกเว้นสองบทบาทคือ การผลิตข้าว และการค้าขายแบบ "แม่ค้า" อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากรของครัวเรือน

ในขณะที่ผู้ชายกลายเป็น "นายฮ้อย", "พ่อค้างัวต่าง", "เจ้าสัว" (เดิมหมายถึงเจ้าของเรือสำเภาค้าขายต่างประ-เทศ), "เจ้าภาษี-นายอากร" (แม้มีหลักฐานว่าผู้หญิงประมูลเป็นนายอากรตลาดอยู่ไม่น้อย), "เถ้าแก่", "นายแบ๊งก์", "เจ้าพ่อชนิดต่างๆ", ฯลฯ

เศรษฐกิจเชิงพานิชย์เอื้อต่อเพศชาย และลำเอียงเป็นอริกับเพศหญิง เพราะเพศหญิงไม่สามารถทิ้งบทบาทผู้จัดการใหญ่ของครัวเรือนได้



ผู้หญิงหลุดจากครัวเรือนได้ด้วยสองสาเหตุ หนึ่งคือ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเงินตราอย่างเข้มข้น ซึ่งเกิดในเขตเมืองอันเป็นศูนย์การค้านานาชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่กลับตกต่ำลง จำนวนของทาสตามเมืองท่าและเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมาก บัตเตเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) มีหลักฐานตัวเลขดีกว่าเมืองอื่น ปรากฏว่าในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 เฉพาะในเขตเมืองชั้นใน 59-61% ของประชากรเป็นทาส

สถานภาพของผู้หญิงยิ่งตกต่ำลง ความยากจนของเพศหญิงระบาดไปทั่ว ต้องถูกขายเป็นทาส โดยพ่อแม่หรือผัวของตัวเอง หรือตกเป็น "เมียเช่า" ของพ่อค้าต่างชาติ มีเด็ก "ลูกครึ่ง" ถูกทอดทิ้งไว้อีกมาก รวมทั้งเป็นโสเภณีก็มาก ในขณะที่ผู้หญิงชนชั้นสูงซึ่งมีข้าทาสบริวารแวดล้อมเป็นหลายสิบ ก็จำกัดบทบาทของตนเองไว้ในครัวเรือนเท่านั้น

ส่วนผู้หญิงอื่นที่ไม่ตกต่ำลงด้วยความยากจนหรือความมั่งคั่ง ก็ยังคงมีบทบาททางเศรษฐกิจในฐานะแม่ค้ารายย่อยอยู่ต่อไป ซ้ำยังอาจทำได้มากกว่าเดิมด้วย เพราะไม่มีบทบาทในการผลิตด้านการเกษตรแล้ว เมื่อเข้ามาอยู่ในเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงหลุดจากครัวเรือนได้ (ในระดับหนึ่ง) มาเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง ผมไม่รู้จะเรียกอะไรดี ขอเรียกรวมๆ ว่า "ความทันสมัย" แล้วกัน ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน และหารายได้เป็นตัวเงินกลับสู่ครอบครัว แต่ความตกต่ำของผู้หญิงในเขตเมืองก็ยังมีอยู่นะครับ เพียงแต่ว่าเป็นผู้หญิงที่ขาดทักษะสมัยใหม่จากชนบท ต้องเข้าสู่งานในครัวเรือนในฐานะคนรับใช้ หรืออาชีพโสเภณีจำนวนมากในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งของภูมิภาคอุษาคเนย์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากพูดถึงก็คือ ผมรู้สึกว่าผู้หญิงที่มีทักษะสมัยใหม่พอจะออกไปทำงานหาเงินนอกครัวเรือนได้ นั้น ก็ยังมี "ครัวเรือน" เป็นหลักในโลกทรรศน์ของตนอยู่นั่นเอง อันที่จริง อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ผู้หญิงจำนวนมากในสังคมไทยสมัยใหม่ คือผู้ดำรง "ครัวเรือน"ไว้ได้ด้วยเงินที่ตนเองหามา และเวลาซึ่งต้องทุ่มเทไปกับครัวเรือน ในขณะที่สามีกินเหล้าหัวราน้ำ หรือใช้เวลาไปกับการประจบเมียนาย หรือมีเมียเก็บเสียเอง

อย่างน้อยก็เป็นเช่นนี้มา จนไม่นานมานี้เอง เมื่อผู้หญิงวัยรุ่นและสาวสมัยใหม่อาจเริ่มไม่ได้มีโลกทรรศน์เช่นนี้แล้ว

ดูเหมือน "ครัวเรือน" มีความสำคัญกว่า "งาน" สำหรับผู้หญิง และอาจทำให้ผู้หญิงถูกตั้งข้อรังเกียจที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูง

แต่ที่จริงแล้ว ทัศนคติ "ครัวเรือน" ก็มีคุณค่ากับการบริหารงานสมัยใหม่ อาจจะมากกว่าการบริหารงานแบบ "นาย" ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะผู้ที่สามารถนำเอาความสัมพันธ์แบบ "ครัวเรือน" มาใช้อย่างเหมาะสม


นายจ้างเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้หญิง พวกเธอผลิตสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะ (niche market) ทำให้ต้องการฝีมือแรงงานสูงกว่าโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ลูกจ้างซึ่งถูกฝึกฝีมือมาดีแล้วลาออกทีหนึ่ง จึงขาดทุนอย่างมาก เพราะต้องรับคนใหม่มาฝึกอีก

ความสัมพันธ์แบบ "ครัวเรือน" ผูกแรงงานไว้ได้สูงกว่าการมุ่งขูดรีดลูกเดียว อย่างที่ทำกันในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นายจ้างหญิงถนัดที่จะสร้างความสัมพันธ์กับแรงงานในลักษณะ "ครัวเรือน" และทำให้กิจการก้าวหน้าด้วยดี

ผมนึกถึงเจ๊อะไรคนหนึ่งที่ทำโรงงานขนมอบอยู่แถวบางลำพู มีคนงานหลายสิบ แต่ละคนก็อยู่กับเจ๊มาเป็นสิบปี และแต่ละคนมองเจ๊เหมือนเป็นแม่เป็นน้า ต่างมีฝีมือการทำขนมชั้นสุดยอดทั้งนั้น และขนมอบเจ้านี้ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นึกต่อไปก็ยังนึกถึงผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างนี้อีกมาก

ถ้าผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในโรงงานขนาดใหญ่บ้าง บางทีอาจลดการสไตรก์หรืออู้งานลงไปได้อย่างที่เอ็มบีเอจากวอร์ตันทำไม่ได้ โดยเฉพาะโรงงานที่ต้องอาศัยฝีมือแรงงานมากกว่าการทอผ้า และความรู้ความชำนาญที่ผู้หญิงนักบริหารระดับสูงเหล่านั้นได้มา ก็ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเอามาจากไหน แต่คว้าเอามาจากที่บ้านนั่นเอง

(ข้อมูลที่เข้าท่า ได้จาก Barbara Watson Andaya, The Flaming Womb, Honolulu, University of Hawaii Press, 2006.)

.