http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-20

ตัวแบบไทย vs ตัวแบบอียิปต์ : โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
ตัวแบบไทย vs ตัวแบบอียิปต์ : อเมริกากับกระแสประชาธิปไตย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1596 หน้า 37


"สำหรับ บารัค โอบามา ก็เหมือนกับ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช
ที่โลกหลัง 9/11 มีความซับซ้อนและความยุ่งยากไม่แตกต่างกัน "
Stanley A Renshon
National Security in the Obama Administration (2010)


เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจาก จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เป็น บารัค โอบามา ดูเหมือนบรรดาประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด มีความรู้สึกในเชิงบวกอย่างมาก

ดังเช่นผลสำรวจประชามติของหนังสือพิมพ์ Financial Times ในประเทศหลักที่เป็นพันธมิตรในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน เชื่อว่าโอบามาจะเป็นผู้ที่ก่อให้เกิด "ผลเชิงบวกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" (ผลสำรวจในช่วงการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโอบามาในปี 2009)

และในทำนองเดียวกัน ผู้คนก็ดูจะโล่งใจกับการลงจากอำนาจของประธานาธิบดีบุช ที่จากไปพร้อมกับแนวคิดในเรื่องของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การไม่นำพาต่อองค์การระหว่างประเทศหรือบรรดาความตกลงต่างๆ ตลอดจนแนวคิดในเรื่องของการขยายประชาธิปไตย (expanding democracy)

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ก็อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับโอบามา ที่จะ "เปลี่ยนแปลง" ทุกอย่างอย่างที่เขาตั้งใจ แม้เขาจะรณรงค์ด้วยคำขวัญว่า "CHANGE เปลี่ยนแปลง" ที่ดูจะถูกอกถูกใจคนหนุ่มสาวและผู้คนเป็นจำนวนมากในสังคมก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเป็น "มหาอำนาจเดี่ยว" ที่อยู่บนฐานคิดในเรื่อง "โลกขั้วเดียว" (Unipolar) หรือความเป็น "เอกภาคี" ของรัฐอภิมหาอำนาจแบบฝ่ายเดียว(unilateralism) ก็ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น

ดังคำกล่าวของนายซาร์โกซี (Nicholas Sarkozy) ผู้นำฝรั่งเศส ที่ว่า "สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่มีสภาวะที่ชาติหนึ่งชาติใดจะเป็นผู้บอกให้ชาติอื่นทำตามหรือจะต้องคิดตามอีกต่อไป"



ฉะนั้น ในการเดินทางสู่อนาคต โอบามาจึงต้องเลือกที่จะคงนโยบายเดิมของประธานาธิบดีบุชไว้ต่อไป หรือจะเปลี่ยนแปลงภายใต้ข้อจำกัดใหม่ๆ ที่กลายเป็นความท้าทายในอนาคตสำหรับสหรัฐเอง

ดังจะเห็นได้ว่า หนึ่งในประเด็นเหล่านั้นก็คือปัญหาของ "การขยายประชาธิปไตย" ในเวทีโลก เพราะหนึ่งในประเด็นหลักที่เป็นแนวคิดของหลักการบุช ก็คือความพยายามของสหรัฐ ที่จะกระจายประชาธิปไตยไปสู่ประเทศต่างๆ

แม้จะมีข้อวิจารณ์ว่าแนวคิดดังกล่าวของหลักการบุช ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากความสำเร็จของประวัติศาสตร์การทูตของสหรัฐอเมริกาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การผลักดันด้วยมาตรการบังคับให้เกิดประชาธิปไตยในญี่ปุ่นและเยอรมนีประสบความสำเร็จ

ดังจะเห็นได้ว่าประเทศทั้งสองแม้จะเป็นรัฐผู้แพ้สงคราม แต่ก็มีสถานะเป็นประเทศประชาธิปไตยในปัจจุบัน

เรายังอาจจะตีความเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ความสำเร็จของการบังคับใช้ประชาธิปไตยในประเทศทั้งสองยังมีส่วนโดยตรงต่อการทำลายอุดมการณ์ทางการเมืองของลัทธิฟาสซิสต์ที่เกิดขึ้นก่อนสงครามในประเทศทั้งสอง

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยในญี่ปุ่นและเยอรมนีทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองที่สุดโต่งแบบเดิมนั้นถูกทำลายไป

บทเรียนจากประวัติศาสตร์การทูตเช่นนี้ มีส่วนโดยตรงต่อการสร้าง "แรงกระตุ้นประชาธิปไตย" ที่มีความหวังว่าในโลกที่เป็นขั้วเดียวนั้น สหรัฐยังคงเป็น "แชมเปี้ยนของประชาธิปไตย"

แม้แนวคิดนี้จะไม่ได้ผูกโยงกับปัญหาในยุคสงครามเย็น ที่ครั้งหนึ่งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐก็มีความหวังว่า ประชาธิปไตยจะเป็นกลไกที่สามารถใช้ต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้

แต่ก็พบว่าในความเป็นจริงของยุคสงครามเย็นนั้น สหรัฐเองอาจจะอดทนไม่พอกับปัญหาการสร้างประชาธิปไตยในประเทศโลกที่สาม

เพราะในที่สุดแล้ว เรามักจะพบว่าสหรัฐมักจะเป็นฝ่ายที่หันหลังให้กับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากความกลัวภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์

ผลที่เกิดขึ้นจริงจึงกลายเป็นว่า สหรัฐกลับเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดรัฐประหาร มากกว่า จะเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย



นอกจากนี้ นักคิดทางการเมืองของสหรัฐในยุคหลังสงครามเย็นเองก็ยอมรับในเรื่องของ "สันติภาพประชาธิปไตย" (Democratic Peace) ที่วางอยู่บนแนวคิดที่ว่า "รัฐประชาธิปไตยจะไม่รบกันเอง" และในทำนองเดียวกัน "รัฐประชาธิปไตยจะไม่ข่มขู่กันเอง" อีกด้วย

ผลจากอิทธิพลของแนวคิดดังกล่าว ผู้นำสหรัฐ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขาจะผลักดันให้กระแสประชาธิปไตยขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก

จนประธานาธิบดีบุชถึงกับประกาศว่า "การเลือกตั้งคือจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย"

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ประธานาธิบดีโอบามาก็มิได้ปฏิเสธต่อแนวคิดในเรื่องของการกระจายประชาธิปไตย เขากลับพยายามเสนอแนวคิดเพิ่มเติมดังปรากฏในถ้อยแถลงว่า "จุดมุ่งหมายจึงมิใช่แต่เพียงการโค่นล้มระบอบเผด็จการและจัดการเลือกตั้งขึ้นเท่านั้น"

และเขายังเสนอเพิ่มเติมอีกด้วยว่า

"ความปรารถนาที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่แต่เพียงการมีชีวิตอยู่อย่างเสรีเท่านั้น หากแต่จะต้องมีชีวิตที่กอปรไปด้วยศักดิ์ศรีและโอกาส พร้อมกับการมีความมั่นคงและความยุติธรรม... (ตลอดรวมถึง) การมีอาหาร น้ำสะอาด ยา และที่พักอาศัย นอกจากนี้ ยังจะต้องมีสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากเสาหลักของประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ด้วยการมีฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มแข็ง ฝ่ายตุลาการที่อิสระ ความเป็นนิติรัฐ ประชาสังคมที่เข้มแข็ง สื่อที่เสรี และตำรวจที่สุจริต..."

ถ้าพิจารณาจากภาพรวม ทั้งบุชและโอบามาต่างก็หวังว่าประชาธิปไตยจะเป็นกลไกในการต่อสู้กับความไร้เสถียรภาพและปัญหาการเมืองอื่นๆ บุชเองถึงกับสรุปว่า รัฐที่ล้มเหลวหรือรัฐอันธพาล (ในทัศนะของสหรัฐ) ก็คือ ผลผลิตของการขาดเสรีภาพและประชาธิปไตย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน โครงสร้างล้มเหลว ระบอบอำนาจนิยมและเผด็จการ จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ "ยาประชาธิปไตย"

แน่นอนว่าในทัศนะเช่นนี้ บุชจึงไม่ใช่ประธานาธิบดีคนแรกที่ต้องการให้โลกมีความปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ต้องการทำให้โลกปลอดภัยสำหรับอเมริกา

ดังนั้น จึงไม่ใช่ความแปลกแยกที่ผู้นำสหรัฐจะเชื่อว่า ประชาธิปไตยสามารถบังคับให้เกิดขึ้นได้ (จากปัจจัยภายนอก)

มีข้อโต้แย้งว่าในความเป็นจริง ประชาธิปไตยไม่น่าจะถูกสร้างด้วยกระบวนการเช่นนั้น เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเยอรมนีหรือญี่ปุ่น ล้วนแต่ผ่านเงื่อนไขสำคัญในทางการเมือง คือ การแพ้สงคราม และผลจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งกลายเป็นโอกาสที่ทำให้มีเวลาในการจัดตั้งสถาบันการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นในประเทศเหล่านั้น

ซึ่งถ้าจะสรุปว่า การสร้างประชาธิปไตยด้วยการบังคับจากปัจจัยภายนอกประสบความสำเร็จเช่นในกรณีของเยอรมนีและญี่ปุ่นแล้ว ก็อาจจะต้องยอมรับว่าความสำเร็จดังกล่าวต้องจ่ายด้วยราคาแพงจากสงครามและการยึดครอง (อาจจะต้องกล่าวว่า แนวคิดเช่นนี้เป็น "an expensive route to democracy.")

แม้ประธานาธิบดีบุชอาจจะยอมมีค่าใช้จ่ายราคาแพงด้วยการบุกอัฟกานิสถาน (2001) และอิรัก (2003) โดยหวังว่า การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (regime change) ด้วยการใช้พลังอำนาจทางทหาร ซึ่งอาจจะเทียบเคียงได้กับกรณีของเยอรมนีและญี่ปุ่น จะเป็นอีกตัวแบบของความสำเร็จในโลกปัจจุบัน

แต่ในความเป็นจริงก็พบว่า อุดมคติของแนวคิดนี้กลายเป็น "กับดักสงคราม" แก่สหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



ในขณะที่ผู้นำสหรัฐพยายามขับเคลื่อนกระแสประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง

คำถามโดยตรงที่เกิดขึ้นก็คือ สหรัฐเองพร้อมหรือไม่กับการต้องผลักดันในประเทศที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด และที่สำคัญก็คือ เป็นประเทศที่สหรัฐมีผลประโยชน์โดยตรงในทางยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ บาห์เรน หรือซาอุดีอาระเบียเองก็ตาม

แต่ในที่สุด สหรัฐก็อาจจะต้องเลือกเอาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตน

อียิปต์ก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เช่น การผลักดันกระแสประชาธิปไตยในตะวันออกกลางจากเวทีประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ มักจะมีอาการ "สะดุดล้ม" ทุกครั้ง เพราะรัฐบาลมูบารักมักจะอ้างสิทธิและความจำเป็นในการควบคุมภายใน

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง กระบวนการผลักดันกระแสประชาธิปไตยเช่นนี้ อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็น "สองมาตรฐาน" ได้ง่าย ผลจากเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอำนาจนิยมในตะวันออกกลางของสหรัฐมีความจำกัดอยู่มาก ต่างกับกรณีของการกดดันให้เกิดการเปิดเสรีทางการเมืองในกรณีของพม่า เบลารุส หรือซิมบับเว เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในประเทศเหล่านั้นมีอยู่ค่อนข้างจำกัด

ฉะนั้น ถ้าจะใช้สำนวนของการเมืองไทยก็คงต้องวิจารณ์ว่า กระบวนการผลักดันประชาธิปไตยของสหรัฐในเวทีโลกมีสองมาตรฐาน เพราะข้อจำกัดอันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐเอง

แต่ถ้าถึงจุดจำเป็นของสถานการณ์เฉพาะหน้าแล้ว ในบางกรณีสหรัฐก็อาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก เช่น ทำเนียบขาวสร้างแรงกดดันโดยตรงต่อกองทัพอียิปต์ไม่ให้ออกมา "ล้อมปราบ" ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมูบารัก ซึ่งการไม่แทรกแซงการเมืองของกองทัพอียิปต์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะ


หากเปรียบเทียบแล้ว ต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างจากกรณีของไทยในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ที่สหรัฐมีท่าทีสนับสนุนรัฐบาล และไม่แทรกแซงต่อปฏิบัติการใช้กำลังที่เกิดขึ้นบนถนนในกรุงเทพฯ

แต่ก็น่าสนใจว่า ถ้ารัฐบาลไทยในขณะนั้นมีท่าทีที่เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองแล้วเช่นกรณีของรัฐบาลมูบารักแล้ว สหรัฐจะยังคงแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลไทยต่อการใช้กำลังปราบปรามประชาชนมากน้อยเพียงใด

และในทำนองเดียวกัน ถ้าสหรัฐใช้ "ตัวแบบกรุงเทพฯ" ด้วยการปล่อยให้กองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองด้วยการใช้กำลังแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นที่ไคโร!



ปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองเช่นนี้ ว่าที่จริง กลายเป็น "สองด้านของเหรียญเดียวกัน" กล่าวคือ สหรัฐในยุคสงครามเย็นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานต่อการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการบ่อนทำลายรัฐบาลนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นในอิหร่าน อาร์เจนตินา หรือชิลี ก็ตาม

แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็ให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ กับการเรียกร้องเสรีภาพของขบวนการคนงานในโปแลนด์ หรือกดดันจนรัฐบาลมาร์คอสของฟิลิปปินส์ต้องหมดอำนาจลง

เช่นเดียวกับการกดดันจนรัฐบาลก๊กมินตั๋งในไต้หวันยอมยกเลิกกฎอัยการศึกและนำพาการเมืองเข้าสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย เป็นต้น

ดังนั้น การกดดันและ/หรือแทรกแซง จึงกลายเป็นทางเลือกที่สหรัฐจะต้องตัดสินใจว่าจะแทรกแซงเพื่อให้ระบอบเผด็จการอยู่ต่อ หรือจะกดดันเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น หรือในอีกด้านก็คือ ผู้นำสหรัฐต้องเลือกว่าเขาจะให้ความสนับสนุนกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในประเทศที่รัฐบาลเป็นศัตรูกับสหรัฐ หรือจะสนับสนุนรัฐบาลบางประเทศให้จัดการกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เป็นศัตรูกับสหรัฐ (โดยอาจจะไม่ต้องคำนึงว่า รัฐบาลในประเทศดังกล่าวเป็นอำนาจนิยมหรือเสรีนิยม)

ปัญหาการกระจายประชาธิปไตย จึงกลายเป็นประเด็นของความท้าทายสำหรับรัฐบาลโอบามา

และน่าคิดว่าถ้ากระแสประชาธิปไตยขยายตัวอย่างกว้างขวางจากตะวันออกกลางมาสู่เอเชียด้วยแล้ว ประธานาธิบดีโอบามาจะเล่นบทอย่างไรในแต่ละประเทศ...จะเลือก "ตัวแบบไทย" หรือ "ตัวแบบอียิปต์"

อีกทั้งหากเกิดสถานการณ์ชุมนุมใหญ่อีกครั้งและตามมาด้วยการล้อมปราบที่กรุงเทพฯ วอชิงตันจะเลือกปฏิบัติอย่างไร

.