http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-02

ชาตินิยมสู่อนาคต? โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

.
ชาตินิยมสู่อนาคต?
โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 13:00:00 น.



ชาตินิยมบ่มิสม

ทศวรรษ1990 คือทศวรรษแห่งโลกาภิวัตน์ ที่คนจำนวนมากเชื่อว่าโลกได้มาถึงขั้นตอนใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม พูดง่ายๆ คือองค์กรและจิตสำนึกแบบครอบโลกจะครอบงำจนพลังท้องถิ่นและจารีตประเพณีมีความหมายเปลี่ยนจากที่เคยเป็นมา แต่จากนั้นก็เกิดการตอบโต้โลกาภิวัตน์หลายรูปแบบตั้งแต่อิสลามแบบมูลฐานนิยม จนถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมแนวใหม่ข้ามชาติหลายลักษณะ

พลังของโลกาภิวัตน์มีแน่ แต่ก็พูดไม่ได้ว่าท้องถิ่นและจารีตประเพณีดั้งเดิมจะปิดฉากไปอย่างรวดเร็ว

ในประเทศไทยเองก็เกิดปรากฎการณ์คล้ายกัน นั่นคือทศวรรษ 2530 เป็นทศวรรษแห่งจินตนาการถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยที่รวดเร็ว และครอบคลุมทุกปริมณฑลชนิดไม่เคยมีมาก่อน มีความคิดใหม่ๆ อย่างการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า การเปิดเสรีการเงิน ความโปร่งใส การปรับโครงสร้างองค์กรฯลฯ หรือโดยรวมคือความเชื่อว่าชาติหรือชาตินิยมจะไม่มีความหมายอีกต่อไป

คนอย่างชัยอนันต์ (สมุทวณิช) หรือสนธิ (ลิ้มทองกุล) เป็นศาสดาของโลกานุวัตรในทศวรรษ 2530 แบบเดียวกับเป็นศาสดาของพันธมิตรในทศวรรษปัจจุบัน


อย่างไรก็ดี ทศวรรษ 2540 เป็นทศวรรษของการหักเลี้ยวของสังคมไทยสู่ความคิดแบบประเพณีนิยมและพลังท้องถิ่นในรูปการฟื้นชีพของชาตินิยมที่กลายเป็นกระแสการเมืองวัฒนธรรมสำคัญมาอีกนาน

คงไม่ลืมว่าในปี 2544 ยุทธวิธีที่พรรคไทยรักไทยใช้โจมตีพรรคประชาธิปัตย์คือการกล่าวหาว่าขายชาติจากกรณีไอเอ็มเอฟและบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ต่อมาพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้ข้อหาเดียวกันโจมตีทักษิณในกรณีเทมาเส็กจนนำไปสู่รัฐประหาร 2549 จากนั้นเขาพระวิหารก็กลายเป็นชนวนล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสองชุดในปี 2551 เช่นเดียวกับการขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2553 รวมทั้งการโหมโฆษณาความคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่มีใครจำได้แล้วในตอนนี้

การลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณบรรหารและพลเอกชวลิตก็เกี่ยวข้องกับประเด็นชาตินิยมด้วยเช่นเดียวกัน

ชาตินิยมเป็นไพ่ซึ่งชนชั้นนำทุกฝ่ายใช้ปลุกระดมมวลชนต่อต้านฝ่ายตรงข้ามโดยตลอด ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ชาตินิยมไม่ได้เป็นแค่พลังในการล้มรัฐบาล แต่ยังเป็นฐานของการเปลี่ยนระบอบการเมืองถอยหลังไปสู่สภาวะประชาธิปไตยภายใต้อำนาจเหนือกฎหมาย และเมื่อถึงตอนนี้คือเป็นฐานของการก่อสงคราม

แต่ชาตินิยมเคยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายอะไรหรือไม่?

คำตอบคือมี แต่ในขอบเขตที่น้อยมาก ตัวอย่างแรกคือการตื่นตูมลัทธิชาตินิยมใหม่ในหมู่ปัญญาชนและเศรษฐีตกยากในช่วง 2540 ไม่มีพลังพอทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนเป็นชาตินิยมใหม่ตรงไหน คนยากจนส่วนใหญ่ไม่สนใจความทุกข์ของเศรษฐีพอๆ กับที่ผู้มั่งมีเหล่านี้ก็ไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมอย่างจริงจัง

ชาตินิยมใหม่เป็นคำขวัญกลวงๆ เพื่อปลอบประโลมใจคนไทยที่ล้มเหลวในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีใครผูกพันกับชาติแบบเดิมอีกต่อไป จึงมีคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงสู่ชาตินิยมใหม่น้อยมากเมื่อเทียบกับพวกที่ต้องการชาติเพื่อปกป้องสถานะบางอย่างของตัวเอง

คำโจมตีของไทยรักไทยต่อประชาธิปัตย์เดินไปอีหรอบเดียวกัน นั่นคือการขายชาติเมื่อยกประเทศให้ไอเอ็มเอฟของฝ่ายหลังถูกแทนที่ด้วย มาตรการดึงดูดอภิมหาเศรษฐีข้ามโลกผ่านตลาดทุนหรือการค้าของฝ่ายแรก คำอธิบายเรื่องนี้ใช้ได้กับเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเพราะรัฐบาลที่พูดเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุดกลับหมกมุ่นกับการลงนามในเขตการค้าเสรีมากที่สุด เหมือนกัน


ชาตินิยมมุขแป้ก?

คนในทศวรรษ 2550 ตื่นเต้นกับสถานการณ์ไทย-เขมรเพราะหลายคนไม่รู้หรือจำไม่ได้ว่าความขัดแย้งตามแนวชายแดนแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เฉพาะที่ลุกลามถึงขั้นเป็นสงครามเต็มรูปแบบนั้นก็มีสงครามร่มเกล้าเมื่อสองทศวรรษก่อน ซึ่งปลุกพลังชาตินิยมได้กว้างขวางจริงๆ ขณะที่พันธมิตรรอบนี้มุขแป้ก ซ้ำความพยายามสร้างสถานการณ์หลายอย่างทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ก็ไม่ได้ผลมากอย่างที่ควรจะเป็น

ม็อบพันธมิตรรอบนี้กวาดทีมงานพันธมิตรตกเวทีประวัติศาสตร์หลังจากกวาดพรรคการเมืองใหม่ไปแล้วอย่างไม่ผิดความคาดหมายของใครหลายคน

ปรากฎการณ์พันธมิตรมุขแป้กและกระแสการโจมตีว่า "คลั่งชาติ" เป็นเรื่องที่ทั้งสำคัญและน่าสนใจ เพราะน้อยครั้งมากที่จะเกิดขบวนการมวลชนที่หยิบยืมวาทกรรมแบบซ้ายๆ อย่าง "ล้าหลังคลั่งชาติ" ไปโจมตีมวลชนอีกฝ่ายอย่างกว้างขวางในลักษณะนี้

ครั้งสุดท้ายของการพูดถึงชาติในแง่ลบขนาดนี้คือเมื่อไร? 2518-2519 ในยุคสมัยที่คนมีความเชื่อเรื่องสากลนิยมของคอมมูนิสม์และสังคมนิยม?


วาทกรรมคลั่งชาติเกิดใหม่อย่างย้อนแย้ง ในบริบทที่ชาตินิยมครอบงำสังคมไทยระดับใช้ล้มใครก็ชนะต่อเนื่องมากว่าสิบปี นี่ไม่ใช่เพราะความคิดใหม่มีอิทธิพลกว่าชาตินิยม แต่เพราะการเมืองภายในของไทยทำให้ยุคของการคิดเรื่องชาติที่เป็นเอกภาพเป็นอดีตที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

การปลุกระดมสงครามและวาทกรรมคลั่งชาติเป็นผลจากการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศที่ลุกลามจนคนมีความเห็นแตกต่างกันเรื่องระหว่างประเทศ ท่าทีของคนต่างกลุ่มต่อสงครามสัมพันธ์กับว่าสงครามทำโดยฝ่ายไหนมากกว่าจะเป็นทัศนวิสัยต่อสงครามจริงๆ เรื่องแบบนี้มีไม่บ่อย ยิ่งความเห็นต่างในเวลาสงครามนั้นยิ่งมีน้อยแสนน้อย

ตอนสงครามร่มเกล้าเกิดขึ้น ไม่มีใครค้านสักแอะ บทบาทของไทยทั้งลับและเปิดเผยในอินโดจีนนั้นไม่มีใครตั้งคำถามแม้จนวันนี้

บัดนี้สังคมไทยจินตนาการเรื่องชาติไม่เหมือนเดิม แต่ที่สำคัญกว่าคือจินตนาการนี้เป็นอาการแห่งการสั่นคลอนของความคิดความเชื่อที่เป็นฐานของความเป็นชาติ / ชาตินิยม


ชาตินิยมในฐานะอุดมการณ์ทำงานบนความคิดความเชื่อหลายอย่าง แต่ละสังคมมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ฮั่นนิยมสำคัญต่อชาตินิยมจีน เผ่าเป็นฐานของชาตินิยมตุรกี ศาสนาสำคัญกับชาตินิยมบางที่แต่ไม่สำคัญเลยกับที่อื่นๆ ขณะที่ชาตินิยมไทยพูดถึงสามสถาบันหลักซึ่งในที่สุดแล้วมีสถาบันเดียวเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

วาทกรรมคลั่งชาติในระยะไกลเป็นอาการว่าหมุดหมายซึ่งผูกโยงความเป็นชาติไม่มีประสิทธิภาพแบบที่เคยเป็นมา

ทุกวันนี้มีคนพูดกันมากขึ้นเรื่องสังคมไทยเปลี่ยนไป คนอยู่กันด้วยความเกลียดชังมากขึ้น ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมจริงๆ คือวิธีคิดที่คนมีต่อสถาบันต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับตัวสถาบัน


ปีศาจแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์ 2535 ปลุกความตายและการสูญเสียในปี 2553 ให้ออกลูกเป็นการรื้อฟื้น 2519 หรือย้อนไปไกลกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งเห็นและไม่เห็นในทุกพื้นที่คือปฏิกริยาตอบโต้การยกระดับความรุนแรงจากรัฐประหารเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย เหตุผลหลุดโลกสู่การสลายการชุมนุม การปราบปราม และการปกครองประเทศด้วยกฎหมายพิเศษเป็นเวลากว่าครึ่งปี

ฟังดูเหมือนชาตินิยมสั่นคลอนเพราะคนรับไม่ได้กับความโหดเหี้ยมที่ชนชั้นนำกระทำต่อคนมือเปล่า ข่าวร้ายคือสังคมไทยไม่ได้รักสันติและเกลียดความรุนแรงขนาดนั้น เพราะในปี 2547 เมื่อรัฐบาลทักษิณใช้ทหารสลายการชุมนุมของคนมลายูมุสลิมที่ตากใบจนมีคนตายขณะถูกจับกุม 85 ราย คะแนนนิยมรัฐบาลกลับเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด ฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ถึงขั้นไม่วิจารณ์กรณีนี้อีกนาน

ความตายของมลายูมุสลิมทำให้กระแสชาตินิยมไทยเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่อ่อนแอลง


การฆ่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับชาตินิยมไทย คนไทยไม่เคยมีปัญหากับการฆ่าคนด้วยกันที่แตกต่างทางศีลธรรม ศาสนา หรือเชื้อชาติ การประหารชีวิตและการประชาทัณฑ์เป็นวัฒนธรรมของประเทศนี้พอๆ กับการใช้กำลังสลายการชุมนุม แต่การฆ่าปี 2553 สร้างปัญหาเพราะไปฆ่าคนซึ่งคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นพี่น้องร่วมอุดมการเดียวกัน โดยไม่มีปูชนียบุคคลชั้นนำใดเรียกร้องให้รัฐหยุดใช้กำลังแม้แต่ครั้งเดียว

การเมืองภายในทำให้เราเข้าสู่ยุคที่การใช้ชาติเป็นเครื่องมือในการปกครองได้ไม่ยากและไม่ง่าย รัฐประหาร 2549 และกระบวนการหลังจากนั้นประสบความสำเร็จในการบ่อนเซาะฐานของความเป็นชาติมากกว่าขบวนการต้านระบบใดๆ เคยทำมา

นี่ไม่ได้เท่ากับว่าความเป็นชาติหรือชาตินิยมจะหมดสภาพ แต่ยาขนานเก่าปลุกใครไม่ได้เท่าเดิม ซ้ำหากเพิ่มปริมาณก็อาจเป็นเหตุให้ผู้ใช้หมดสติ หรือสังคมดื้อยาเป็นการถาวร


ชาตินิยมสู่อนาคต

ชาตินิยมไม่ได้มีสูตรเดียว ชาตินิยมเป็นฐานของภราดรภาพได้พอๆ กับการกดขี่มนุษย์ ชาตินิยมสำคัญต่อการเรียกร้องเอกราชและประชาธิปไตยเท่ากับที่สำคัญต่อกลุ่มคลั่งศาสนา ฟัสซิสต์ เผด็จการทหาร หรือกษัตริย์นิยม ปัญหาจึงมีอยู่ที่จะสร้างชาตินิยมบนความเป็นชาติที่มีความหมายกับคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร?

ชาติควรมีความหมายตายตัวหรือไม่? การคิดถึงชาติที่ยึดโยงกับคุณสมบัติบางอย่างที่เปลี่ยนไม่ได้นั้นเป็นต้นตอของการกดขี่ ความรุนแรง และสงครามหลายกรณี ชาติไม่ควรถูกนิยามอย่างแคบๆ ว่าหมายถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เผ่า ลัทธิ ศาสนา วัฒนธรรม หรือสถาบันประเพณีแบบใดแบบหนึ่ง เพราะเมื่อไรที่เริ่มนิยามแบบนี้ก็เท่ากับเปิดช่องให้ชาติฆ่าคนที่มีอัตลักษณ์ผิดจากนิยามนี้ได้ทันที

ความเป็นชาติคือการคิดถึงประโยชน์ร่วมของทุกคนและทุกกลุ่มในชุมชนชาติทั้งหมด นั่นหมายถึงชาติต้องเปิดกว้างและวางอยู่บนการเจรจาต่อรองของทุกชนชั้น ทุกค่านิยม ทุกอัตลักษณ์ และทุกแหล่งอำนาจในสังคม ชาติไม่ใช่การสืบทอดมรดกจากอดีต แต่ชาติเป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคต ความขัดแย้งและความเกลียดชังจึงเป็นฐานของความเป็นชาติเท่ากับการอยู่ร่วมและการต่อรองซึ่งกันและกัน

ประเด็นสำคัญคือต้องไม่อนุญาตให้คนกลุ่มไหนหรือสถาบันใดอ้างว่าตัวเองคือตัวแทนของความเป็นชาติทั้งหมด เสรีภาพและประชาธิปไตยจึงสำคัญต่องความเป็นชาติ ไม่ใช่อำนาจนิยมหรือการครอบงำความคิดจิตใจ


ชาตินิยมในสังคมไทยผูกพันกับราชาธิปไตย ประเด็นคือราชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เป็นอดีตไปแล้วแต่กลับทิ้งอุดมการและผู้นิยมความคิดนี้ครอบงำความเป็นชาติจนปัจจุบัน ในแง่นี้ปัญหาอันเนื่องจากความเป็นชาติหลายอย่างจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรเกิด แต่ในความเป็นจริงแล้วเกิดเพราะมรดกชาตินิยมสมัยราชาธิปไตย

ทุกวันนี้คนมีสติทุกคนก็รู้ว่าความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านอย่างเขมร ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะวิธีจดจำผ่านเรื่องเล่าที่กดเขมรและเจ้าเขมรเป็นเบี้ยล่างไทยไม่รู้จบ ประวัติศาสตร์ราชสำนักวาดภาพเขมรเป็นชาติเจ้าเล่ห์ คบไม่ได้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของไทย เขมรไม่ใช่ลูกหลานของขอมที่สร้างนครวัด ฯลฯ รวมทั้งดูถูกว่าเป็นเมืองขึ้นฝรั่งจนเทียบไม่ได้กับไทยที่เป็นเอกราชหลายร้อยปี

โรคละเมอว่าพระวิหารเป็นของไทยเป็นผลของการสะกดจิตตัวเอง ด้วยคาถาประวัติศาสตร์แบบนี้จนอย่างไรก็ยอมรับการสูญเสียพระวิหารตามกติกา กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ ปมเสียดินแดนแบบนี้เข้าใจได้และเคยเกิดขึ้นสมัย ร.ศ.112 แต่ไม่ควรเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในยุคสมัยของเรา


แน่นอนว่าปัจจัยภายในเขมรเกี่ยวแน่กับสถานการณ์นี้ ผู้นำเขมรเป็นนักชาตินิยมที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองในเรื่องพระวิหารไม่ต่างกับไทย และการจงใจให้ความสำคัญกับข้อพิพาทเขตแดนกับไทยมากกว่าข้อพิพาทเรื่องเดียวกันกับเวียดนามก็เป็นผลของการเมืองภายในเขมรเองจนเห็นได้ชัด แต่นี่ไม่ได้แปลว่าไทยไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาในเวลานี้

หนึ่งในเรื่องที่ต้องทำเพื่อหยุดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นคือเลิกคิดถึงความเป็นชาติใต้กรอบราชาธิปไตย สลัดปมเสียดินแดนในอดีตแล้วแทนที่ด้วยคิดถึงการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านตามกติกาอารยประเทศ หยุดได้แล้วกับการเขียนประวัติศาสตร์โดยโลกทัศน์ศตวรรษที่แล้วของชนชั้นนำไม่กี่คน

มีวิธีเขียนประวัติศาสตร์หรือวิสัยทัศน์สู่อนาคตเยอะแยะให้เลือกทำได้ เขียนถึงความเจ็บปวดที่เราและเขาเผชิญจากระบอบอาณานิคมในอดีต เขียนถึงอนาคตของการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน ขอโทษในเรื่องที่ควรขอโทษอย่างเขมรแดงและสงครามอินโดจีน คิดถึงความร่วมมือทางการศึกษาและวัฒนธรรมที่ทั้งรัฐบาลสองฝ่ายทำร่วมกันหลายปีก่อนจะที่ถูกขัดจังหวะด้วยเรื่องเหลวไหลอย่างปมอดีตของชนชั้นนำกับความต้องการสร้างสถานการณ์การเมืองแบบปี 2549 โดยคนกลุ่มเดิมที่มีปริมาณลดลง


ทั้งหมดนี้ฟังเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นไปได้ถ้าเข้าใจว่าชาตินิยมกับราชาธิปไตยไม่ใช่ผัวเมียที่ต้องอยู่กันไปไม่รู้จบ การแต่งงานแบบนี้เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ที่ถึงเวลาก็เลิกกันได้

กระบวนการสร้างความเป็นชาติหมายถึงการสร้างความเหมือนเพื่อยึดโยงคนทั้งหมด อัตลักษณ์นี้ไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียวและไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งในสถานการณ์ที่ตัวเชื่อมเดิมทำหน้าที่ไม่ได้ ยิ่งจำเป็นต้องคิดถึงอัตลักษณ์ใหม่อีกทวีคูณ หาไม่ก็ไม่มีโอกาสเห็นชาติในฐานะเครื่องมือปกครองอีกเลย

วาทกรรมคลั่งชาติเป็นสัญลักษณ์ว่าสังคมไทยกำลังออกเดินสู่เส้นทางของการคิดถึงชาติอีกแบบ โอกาสในการสร้างชาติที่คนอยู่ร่วมกันบนความคิดเรื่องภราดรภาพ รัฐธรรมนูญ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย มีมากพอๆ กับชาติใหม่ที่เป็นชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติเหมือนอย่างที่เป็นมา


อิสรภาพจากอดีตคือประตูสู่อนาคตที่สมควรเป็นของทุกคน


( หมายเหตุ ปรับปรุงจากคำอภิปรายในการสัมมนาหัวข้อ "ประชาธิปไตยบนขอบพรมแดน" วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 โดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ )
.