http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-07

นักเรียนช่าง และ ธรรมดากันบ้าง โดย คำ ผกา

.
บทความของปี 2553


นักเรียนช่าง
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1569 หน้า 83


อ่านบทความของ "ขุนสำราญภักดี" ในหัวข้อ "ช้าก่อน...พี่น้องสื่อ อาชีวะ-ช่างกล ไม่ได้แย่อย่างที่คิด" ในมติชนออนไลน์(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1283591738&grpid=&catid=02) แล้วให้เกิดความประทับใจ

เพราะมันได้สะท้อนความบิดเบี้ยวในระบบการศึกษาของไทยที่เน้น "ปริญญาบัตร" อันโก้เก๋ แต่บางครั้งก็กินได้ บางครั้งก็กินไม่ได้

ลูกหลานคนมีอันจะกวดวิชา ก็สามารถเข้ารับปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยต้นทุนทางสังคม สติปัญญา ความรู้ โอกาสที่จะได้ทำงานระดับแนวหน้าย่อมเปิดกว้าง ไม่ต้องพูดถึง กุมารา กุมารี ที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เพราะโภคทรัพย์ย่อมเป็นที่มาของปัญญา และเครือข่ายทางสังคมที่เหนือกว่ากลุ่มคนที่มีอันจะกวดวิชาเสียด้วยซ้ำ

ส่วนลูกหลานของกลุ่มคนที่มีอันจะกวดวิชาน้อยกว่า เข้าถึงโรงเรียนดีเด่นดังน้อยกว่า เด็กเหล่านี้อาจเป็นผลผลิตของโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนในเขตรอบนอกชนบท ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับเพลงโมสาร์ตและโปรแกรมสร้างอัจฉริยะของครูหนูดี คนเหล่านี้และพ่อ-แม่ของพวกเขาก็ยังฝันถึงวัน "รับพระราชทานปริญญาบัตร" เหมือนกันกับชนชั้นผู้มีอันจะกวดวิชา

ตลาดวิชาเพื่อให้มาซึ่งปริญญาสัก 1 ใบ และภาพถ่ายติดข้างฝาว่าได้เข้ารับพระราชทานปริญญาจึงสำคัญเสียยิ่งกว่าคำถามที่ว่า "เรียนอะไร? เรียนไปทำไม? เรียนแล้วจะไปทำมาหากินอะไร"

ตลาดที่เปิดมารองรับความต้องการของผู้บริโภค พิธีรับปริญญาจึงขยายตัวสูงมากทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน และจริงอย่างที่ขุนสำราญว่าไว้ว่า เรามีเด็กเรียน การตลาด บริหารธุรกิจ วารสาร สื่อสารมวลชน ประชาสัมพันธ์ เยอะแยะไปหมด เรียนกันไปอย่างนั้นสอนกันไปอย่างนั้น จบมาแล้วมีปริญญาติดข้างฝาแล้วกลับไปนั่งเล่นนอนเล่นเกาะพ่อเกาะแม่กินไปวันๆ ก็มากมาย หรือมาเป็นพนักงานขายของในห้าง เป็นพนักงานรับโทรศัพท์ที่เงินเดือนน้อยเสียจนไม่พอค่าลิปสติก

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่พวกเราประสบในชีวิตประจำวัน เช่น เรามักจะขาดแคลนช่างไฟฝีมือดีๆ บริหารงานอย่างเป็นเมืออาชีพ ทันสมัย รวมไปถึงช่างประปา ช่างที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสีและการทาสี แบบที่จะวิเคราะห์ และให้คำแนะนำลูกค้าได้ว่าพื้นผิววัสดุแบบไหนควรใช้สีประเภทไหนอย่างไร เป็นช่างเทคนิคที่ทันสมัย ไม่ตกยุค มีการอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ เทรนด์ใหม่ๆ ของโลกได้

มีช่างไม้ที่รู้ลึกในชีวิตและวิญญาณของไม้ เป็นช่างที่สามารถรักและภูมิใจในวิชาชีพของตนเอง และมีศักดิ์ศรีสูงส่งในความเป็น "อาชีพ" ไม่น้อยไปกว่าสถาปนิก อย่างนี้เป็นต้น

และคำตอบนี้มันควรจะอยู่ที่โรงเรียนอาชีวะ และโรงเรียนช่างทั้งหลาย



ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ที่โรงเรียนอาชีวะและโรงเรียนแบกรับภาพพจน์ของการเป็นสถานศึกษาอันมีไว้รองรับเด็กเหลือขอ เด็กที่สอบเข้าเรียนที่ไหนก็ไม่ได้ เด็กที่ไม่มีใครเอา เด็กเรียนไม่เก่งถูกโละมาจากที่อื่น จากนั้น ยังต้องมาแบกรับภาพพจน์ของสถาบันที่มีแต่นักเลงหัวไม้ ตีรันฟันแทง หยาบคาย

ปีที่แล้ว ฉันไปเรียนพิมพ์ดีดกับทำอาหารที่โรงเรียนสารพัดช่างในราคาชั่วโมงละ 1 บาท แล้วก็ต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าครูบาอาจารย์ทุ่มเทพลังงานในการเรียนการสอนอย่างเกินความคาดหมาย ทั้งๆ ที่วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้จะบุบเบี้ยว ครกบิ่น เขียงหัก ถ้วยตวงแตก คงไม่ต้องอธิบายว่ามันเป็นเรื่องของบประมาณ วิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันในโรงเรียนนั้นมีคุณภาพสูงเกินสภาพซอมซ่อของโรงเรียน

จนตัวฉันเองนึกละอายว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐที่มีตึกสวยๆ ห้องประชุมโอ่อ่า ครูบาอาจารย์ยังไม่ทุ่มเทกับนักศึกษาเท่านี้ ไม่นับว่าอาจารย์ผู้โด่งดังนอกจากจะไม่ค่อยสอนแล้ว ยังมักไปรับใช้นักการเมือง ไปรับใช้รัฐบาลเผด็จการ ไปร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลิดรอนสิทธิประชาชน หรือมีวันๆ คอยตบแป้งใส่สูทรอให้สัมภาษณ์นักข่าวกับออกโทรทัศน์

สื่อมวลชนนอกจากทำข่าวนักเรียนอาชีวะตีกันแล้วก็คงต้องทำข่าวผลงานอื่นๆ ของนักเรียนสายช่างกับสายอาชีพบ้าง ข่าวดีๆ คงไม่ใช่เรื่องการไปทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ของ สสส. แต่ควรเป็นข่าวที่เป็นคุณหรือข่าวที่สนับสนุนให้เห็นถึงคุณค่าศักดิ์ศรีในสายอาชีพของพวกเขา

รัฐบาลคงต้องมาทบทวนลำดับการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนสถาบันการศึกษากันใหม่ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มีศักยภาพในการหาทุน หารายได้ด้วยตนเอง ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ที่รัฐยังต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากอันเป็นภาษีของคนส่วนใหญ่ เพื่ออุดหนุนการศึกษาของคนส่วนน้อย แถมยังเป็นคนส่วนน้อยที่มีอันจะกินและมีอันจะกวดวิชา

ดังนั้น คนเหล่านี้ควรจะรับผิดชอบค่าหน่วยกิตที่แพงขึ้นได้ด้วย
ส่วนนักศึกษาที่ไม่มีอันจะกินแต่สติปัญญาเลิศก็จัดเป็นเรื่องทุนการศึกษาไปเสีย


โรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนช่าง โรงเรียนสารพัดช่าง ควรได้รับการเหลียวแลทางด้านงบประมาณ การส่งเสริมศักยภาพบุคลากร อาจารย์ การผลักดันคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ เข้าไปเป็นอาจารย์ และการปรับปรุงรูปลักษณ์ของอาคาร สถานที่ โรงเรียนอาชีวะควรมีตึกที่สวยมาก ทันสมัยมาก เป็นโมเดลของการใช้เทคโนโลยีอันน่าทึ่ง มีศูนย์รวมของงานดีไซน์ มีห้องสมุด ห้องนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของมนุษย์

และจะเก๋ไปกว่านั้น หากอธิบายได้ด้วยว่าเทคโนโลยีนั้นมันสัมพันธ์กับจิตสำนึกของผู้คนในสังคมอีกด้วย

ฉันกำลังนึกภาพแผนกคหกรรมของโรงเรียนอาชีวะโก้เก๋เป็นกอร์ดอนเบลอ เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารที่มีมาตรฐานระดับโลก เป็นศูนย์รวมความรู้ทั้งทางโภชนาการ ประวัติศาสตร์อาหาร พืชผัก สามารถผลิตทั้งเชฟผู้เปี่ยมทักษะ ผลิตทั้งนักโภชนาการที่สามารถออกไปเป็นทั้งที่ปรึกษาทางสุขภาพ ทำงานเกี่ยวกับโภชนาการในโรงพยาบาล ทั้งรู้จักลักษณะพื้นฐานของอาหารทั่วโลก มิใช่แค่สามารถแกะสลักแตงโมให้เป็นดอกบัวหรือลายประจำยาม

ฉันวาดภาพแผนกคหกรรมของโรงเรียนอาชีวะเชิญเชฟชื่อดังของโลกมาสาธิต มาบรรยาย มาสอน มาเป็นแขกรับเชิญ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน-บรรเจิด โก้เก๋ และคงทำให้เด็กเลิกคิดเสียทีว่าโลกนี้มิได้มีแต่วารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ ไม่ต้องรับปริญญาแล้วไปแต่งชุดไทยทำงานที่เคาน์เตอร์เช็กอินในโรงแรมได้อย่างเดียว

ความฝันของสาวๆ ไม่ควรหยุดแค่ขอให้ได้เป็นแอร์โฮสเตส หรือแย่กว่านั้น คือได้เป็นพริตตี้โฆษณาสินค้า


ถ้าเพียงแต่ในโรงเรียนอาชีวะสามารถยกระดับวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าให้เป็นทั้งการออกแบบและพัฒนาเทคนิคการตัดเย็บให้เนี้ยบโก้ ให้

เป็นช่างฝีมือที่มีฝีมือสูงส่งให้มีนวัตกรรม ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เราจะปั้นเด็กให้กลายมาเป็นศิลปิน เป็นกูรูแห่งการตัดเย็บ เราสามารถเปิดโลกทัศน์ให้พวกเขาออกมายืนแถวหน้าของการเป็นมืออาชีพได้เท่าๆ กับลูกคนรวยที่จบเซ็นต์มาร์ตินส์ เราจะดึงพวกเขาออกมาจากกรอบชาตินิยมหล้าหลัง

คนเรียนอาหารทำได้มากกว่าการแกะสลักแตงโมฉันใด คนเรียนเรื่องเสื้อผ้าต้องทำได้มากกว่าตัดชุดให้นางงามไทยใส่ไปประกวดชุดประจำชาติบนเวทีนางงามจักรวาลฉันนั้น

ลองคิดดูว่า หากทำได้จริง เราจะสร้างชนชั้นกลางที่มีรสนิยมมาป้อนสังคมไทยได้อีกสักเท่าไหร่



แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ เราจะหาช่างตัดกระโปรงสวยๆ สักตัวก็หายากหาเย็น ค่าตัดเย็บของช่างดีนั้นแพงกว่าเงินเดือนพนักงานรับโทรศัพท์ทั้งเดือนด้วยซ้ำ แล้วไยเราไม่สร้างคนให้มี "ฝีมือ" มาไว้ในสังคมเล่า?

ช่างกล ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟ ช่างประปา และอีกสารพัดช่าง หากการศึกษาของโรงเรียน "ช่าง" เหล่านี้ได้รับความสำคัญอย่างจริงจัง และเปลี่ยนค่านิยมใหม่ของสังคมได้ว่า "ช่าง" เหล่านี้แหละที่ "กินได้" ทำงานได้ หาเงินได้ เจริญก้าวหน้าในอาชีพได้

ช่างอาจจะมอมแมม แต่ก็มอมแมมแบบเท่ๆ หากพวกเขาภาคภูมิใจในอาชีพของเขา และพวกเขามีสิทธิเต็มร้อยที่จะภาคภูมิ เพราะพวกเรามีชีวิตอยู่ได้เสียที่ไหนโดยปราศจากช่างเหล่านี้

เคยสงสัยเหมือนฉันบ้างไหมว่า ซองเครื่องปรุงในมาม่า ทำไมไม่สามารถออกแบบให้ฉีกได้ง่ายกว่านี้ ทำไมจุกพลาสติกในขวดซีอิ๊วหรือน้ำมัน ถ้าเป็นยี่ห้อของไทยดึงแล้วขาดทุกที แต่ของเมืองนอกดึงแล้ว "ป๊อก" หลุดออกง่ายดาย

ทำไมฉลากราคาของสินค้าในเมืองไทยดึงแล้วหนุบหนับกาวติดล้างไม่ออก แต่ทำไมของเมืองนอกดึงออกแล้วไร้ร่องรอย ไม่มีกาวเหนียว?

ทำไมหีบห่ออาหาร เช่น ขนมจีบ ในเซเว่นฯ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เราได้เปิดกินอย่างมีมรรยาท แต่ต้องฉีกทั้งใช้ความรุนแรงกับถุงพลาสติกและสก็อตเทปจนสิ้นสวยกว่าจะได้กิน? ไม่นับซองน้ำจิ้มที่รังแต่จะทำให้เกะกะ เลอะมือ

ทั้งหมดนี้ เกิดจากการที่สังคมไทยเราให้ความสำคัญของการศึกษาในสาย "ช่าง" น้อยเกินไปหรือไม่ และในคำถามที่ใหญ่กว่านั้น ทำไมประเทศไทยเราจึงไม่สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใดๆ ได้เลย นอกจากการทำบั้งไฟ ต้มยำกุ้ง นวดแผนโบราณ และการแกะสลักมันเทศให้กลายเป็นดอกเบญจมาศ?

มันชวนให้ตั้งคำถามไหมเล่า ประเทศไทยทั้งประเทศจะหานักออกแบบรองเท้าที่เป็นที่ยอมรับสักคนยังไม่มี!



เด็กช่างกล เด็กอาชีวะอาจจะเลิกตีรันฟันแทง ถ้าพวกเขามิได้ถูกทำให้เป็นคนชายขอบของสังคม ถ้าสถาบันการศึกษาของพวกเขาคือศูนย์กลางของเทคโนโลยีอันทันสมัยของประเทศ ถ้าพวกเรารู้ว่าพวกเขาคือคนที่พวกเราต้องพึ่งพิงอย่างขาดเสียมิได้ (อย่างน้อยฉันก็ซ่อมปั๊มน้ำเองไม่เป็น) ถ้าพวกเขาคือคนที่ก้าวไปเป็นกลุ่มคนที่เป็นโปรเฟชชั่นแนล เหมือนคนที่เป็นหมอ เหมือนวิศวกร หากพวกเขาคือคนที่รู้ว่าตนเองกำลังจะเป็นคนที่เย็บกระโปรงได้สวยที่ที่สุดในโลก และเข้าใจว่างานตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นทั้งประติมากรรมและสถาปัตยกรรม

นิทรรศการ ห้องสมุด บุคลากรที่เจ๋งที่สุด ภูมิทัศน์ที่ได้รับการออกแบบผ่านการคิดมาอย่างตกผลึกให้สอดคล้องกับวิชาความรู้ที่พวกศึกษา ประกอบกันเป็นสถาบันที่เรียกว่าวิทยาลัยช่าง โรงเรียนอาชีวะ การจัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีของแต่ละสถาบันทั้งในและนอกประเทศ นักเรียนช่างของเราได้ไปดูงานออกแบบที่สวีเดน ฯลฯ เหล่านี้ หากเกิดขึ้นได้ในโรงเรียนช่างฯ ทั้งหลาย ฉันคิดว่าเด็กคงไม่มีเวลามาตีกัน เพราะชีวิตของพวกเขามีอะไรให้ทำ มีคุณค่า มีที่อยู่ที่ยืน มีศักดิ์ศรี

ไม่ใช่ความผิดของเด็กที่จะเข้าใจว่าจุดสูงสุดของชีวิตการเรียนหนังสือคือการได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร มีรูปมาติดผนังบ้านเป็นสักขีพยานให้โลกรับรู้ เพราะสังคมของเราก็ไม่เคยสร้างระบบการศึกษาที่จะรองรับจินตนาการว่าด้วยความสำเร็จในแบบอื่นๆ ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าพิธีกรรมรับปริญญานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสานความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายโครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิม เป็นการทำงานทางอุดมการณ์ที่ยัง active อยู่ในสังคมไทย

การยกระดับโรงเรียนช่างและโรงเรียนอาชีวะสู่ความเป็นมืออาชีพที่โก้เก๋ ทันสมัย ไม่แคร์ปริญญา นักเรียนโรงเรียนช่างสามารถเดินคู่กับนิสิตจุฬาฯ อย่างสง่าผ่าเผย มีความรู้ มีทักษะที่ต่างฝ่ายต่างเคารพในความรู้ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างหมดใจ

ถึงวันนั้น เราช่างไฟฟ้ากับท่านศาสตราจารย์ก็ต้องยืนคุยกันได้โดยมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ด้วยอีกฝ่ายต่างเคารพในวิชาชีพของอีกฝ่ายหนึ่งก็เท่านั้น

หากความฝันเพ้อเจ้อของฉันเป็นจริง เชื่อว่านักเรียนคงไม่ตีกันเพราะพวกเขาเป็นพระเอกได้โดยไม่ต้องมีปืน มีด ระเบิด หนทางการเป็นนางเอกพวกน้องๆ ก็มีมากกว่าการไปเป็นพริตตี้ยืนคู่กับรถยนต์



++

ธรรมดากันบ้าง
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1566 หน้า 91


ถ้าใครเป็นแฟนหนังสือซุบซิบดาราเหมือนฉันต้องเห็นเหมือนกันว่า เทรนด์คุณแม่ในช่วงสี่ซ้าห้าปีนี้มาแรงจริงๆ ตั้งแต่ แอนเจลินา โจลี มีลูกคนแล้วคนเล่า ทั้งลูกจริง ลูกบุญธรรมสหประชาชาติน่าเอาไปเล่นมิวสิกวิดีโอเพลง we are the world ของ ไมเคิล แจ๊กสัน เอามากๆ

คุณแม่เริ่ดๆ ของโลกยังมีอีกหลายคนไม่ว่าจะเป็น วิกตอเรีย เบกแฮ่ม, เกวน สเตฟานี, กวินเน็ธ แพตโธรว์, มาดอนนา ที่อุตส่าห์มีลูกบุญธรรมชาวมาลาวีอินเทรนด์กับเขาด้วย มีใครอีก? เจสสิก้า บีล, นิโคล คิดแมน, จูเลีย โรเบิร์ต และอีกหลายคนเอ่ยนามไม่หวาดไม่ไหว

แฟนหนังสือดาราจะต้องรู้อีกเหมือนกันว่า ถ้าดาราหรือนางแบบซุปเปอร์โมเดลสักคนเพิ่งเบ่งลูกออกมาหมาดๆ สิ่งแรกที่นิตยสารพวก

นี้กระเหี้ยนกระหือรือและสนใจนำเสนอเอามากๆ คือหัวข้อที่ว่าด้วย "พวกเธอกลับมาหุ่นดีดังเดิมได้ราวกับไม่เคยตั้งท้องมาก่อน!"

ภาพ Heidi Klum ที่เพิ่งคลอดลูกคนที่ 3 ไปไม่กี่อาทิตย์บนแคตวอล์กของ วิกตอเรีย ซีเคร็ต ทำเอาสาวๆ อ้าปากค้าง

"ว้าว เธอทำได้อย่างไร"

ขณะเดียวกัน ก็มีเซเลบริตี้นางหนึ่ง ฟ้องร้องนิตยสารฉบับหนึ่งที่ถ่ายภาพเธอหลังคลอดขึ้นปกว่า นิตยสารฉบับนั้นรีทัชเอาไขมัน เซล

ลูไลต์ อีกทั้งร่องรอยน่าเกลียดอันเป็นสภาวะปกติของร่างกายคุณแม่หลังคลอดออกจนเกลี้ยงเกลา เหตุผลที่เธอโกรธคือ

ภาพเหล่านี้จะทำให้ผู้หญิงทั้งโลกเข้าใจว่า การไม่กลับมาฟิต ผอม แอนด์เฟิร์มในเร็ววันนั้นเป็นอาชญากรรม

เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่ากระแสคุณแม่มาแรงนั้นไม่ใช่คุณแม่ "เฉยๆ" แต่ที่มาแรงคือกระแสซุปเปอร์คุณแม่ เพราะเทรนด์ของดาราเหล่านี้กำลังสื่อสารกับผู้หญิงธรรมดาสามัญอย่างพวกเราว่า คุณแม่ที่เจ๋งๆ นั้นผอม และสวยทันทีหลังคลอด คุณแม่ที่ดีนั้น ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน พวกเธอพร้อมจะกระเตงลูกๆ ไปด้วยเสมอ

แต่นิตยสารไม่ได้ถ่ายรูปพี่เลี้ยง นางนม อีกทั้งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของพวกเธอ ทั้งๆ ที่นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเธอสามารถคงสภาพซุปเปอร์มัมให้แม่สามัญอย่างพวกเราฉงน

นิตยสารเหล่านั้น บอกเราน้อยเกินไปเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าพวกเธอมีเทรนเนอร์ส่วนตัว และอยู่ติดตัวเสมอ อีกทั้งนักโภชนาการที่คอยทำอาหารไร้แป้ง ไร้ไขมัน ปราศจากน้ำตาลโดยสิ้นเชิง และอีกสารพัดซุปเปอร์ผักอินทรีย์เปี่ยมแร่ธาตุ และลืมไปเลยว่ารูปร่างที่ดีอย่างนางแบบนั้นมาจาก "กรรมพันธุ์" ที่ดีมากกว่าอะไรอย่างอื่น


อาการเห่อความเป็นแม่ของแต่ละสังคมนั้น มีขึ้นมีลงมีวนกลับไปมาไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ ความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ เช่น

ในอเมริกาทศวรรษที่ 30s ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ผู้ชายไปออกรบกันหมด ก็ต้องออกมาส่งเสริมให้ผู้หญิงเก่ง กล้า แกร่ง พร้อมทำงานนอกบ้านแบบผู้ชาย มีความทะเยอทะยานอยากก้าวหน้า เป็นตัวของตัวเอง

ครั้งสงครามจบ ระหว่างทศวรรษที่ 40s-50s กลับเป็นการรณรงค์เรียกร้องให้ผู้หญิงกลับไปอยู่บ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามี (พร้อมกับแฟชั่นเสื้อผ้าทรงนาฬิกาทรายที่เน้นอก เอว สะโพก อันเป็นคุณภาพของผู้หญิง) พร้อมคำขู่เล็กๆ ว่า ถ้าผู้หญิงมัวเมาอยู่กับความสำเร็จนอกบ้านแล้วละก็ อาจต้องแลกมาด้วยความหายนะของคนในครอบครัว ลูกเต้าใจแตก ผัวมีกิ๊ก เป็นต้น

พอมาถึงทศวรรษที่ 70s บรรดาเฟมินิสต์ก็ต้องออกมาเรียกร้องต่อสู้เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงแบบในนิยายเรื่อง The Stepford Wives


กรณีของไทย ในยุคหนึ่งการเป็นแม่ได้รับการเทิดทูนมหาศาลด้วยเหตุผลที่ตรงไปตรงมาว่า ผู้หญิงนั้นจะว่าไป ก็คล้ายๆ มดลูกของชาติมีหน้าที่ผลิตพลเมืองมาป้อนชาติ ผลิตแล้วก็ต้องเลี้ยงดูให้สมบูรณ์ แข็งแรงทางร่างกาย ทางจิตใจก็ต้องปลูกฝังที่ให้ลูกเต้ามีความภาคภูมิใจในชาติ ในประวัติศาสตร์ ในศิลปวัฒนธรรมของชาติตน อีกทั้งรู้รักสามัคคี เด็กฉลาด ชาติเจริญอะไรก็ว่าไป

สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการประกวดแม่ลูกดก ก็เป็นการเทิดทูนส่งเสริมความเป็นแม่ในบริบทเช่นนี้

ต่อมาในยุคข้าวยากมหมากแพง ทั้งองค์การอนามัยโลกคงจะเป็นห่วงว่าประเทศยากจนและด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้น มิควรผลิตพลเมืองออกมาให้รกโลกมานักตั้งแต่ปี 2500 ลงมา เราจึงตอบสนองนโยบาย "ลูกมากจะยากจน" หรือ "มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี"อย่างแข็งขัน ทั้งแจกยาคุม ทำหมันชายฟรี ฯลฯ

นั่นแปลว่ารัฐไทยเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นแม่มิใช่ที่ปริมาณของพลเมือง แต่สนใจอยากได้พลเมืองน้อยแต่มีคุณภาพ และเป็นเหตุให้รัฐและนักสังคมสงเคราะห์แอบคิดว่า ไม่อยากให้คนจนลูกมาก เพราะรังแต่จะผลิตพลเมืองด้อยคุณภาพมาให้ประเทศชาติ นโยบายวางแผนครอบครัวจึงมุ่งเน้นไปที่คนจนเป็นหลัก

ตามมาด้วย "วรรณกรรมเซอร์เรียล" ที่สังคมไทยใช้อธิบายเรื่องนี้ว่า "แหม ทีคนจนมีลูกเอ๊า มีลูกเอา เดี๋ยวท้องเดี๋ยวท้อง มีลูกง่ายดายจริง แต่ทีกับคนรวยๆ กว่าจะมีลูกสักคน ไปหาไม่รู้กี่หมอ เฮ้อ คนมีบุญที่จะมาเกิดในครอบครัวรวยๆ คงมีน้อย ที่ไปเกิดกะเฬวกะฬากยากจนก็คนบาปทั้งนั้น"

แหม คนจนเนี่ยะ เลี้ยงเสียข้าวสุก เอ๊ย เปลืองภาษีจริงๆ



นึกถึงเทรนด์การเป็นแม่ขึ้นมา ก็เนื่องจากข่าวซุบซิบดาราเช่นกัน หลังจาก ซุปเปอร์โมเดล จีเซล บุนด์เชน ออกมาโชว์หุ่นสวยเปรี๊ยะหลังคลอดลูกไม่กี่อาทิตย์ให้คุณแม่อ้วนเผละ ท้องลาย ขาบวมทั้งหลาย ต้องน้ำตาตกใน แถมเธอยังออกมาให้สัมภาษณ์เรื่อง การทุ่มเทให้กับบทบาทของความเป็นแม่ ลูกเป็นอะไรที่วิเศษที่สุด ความรักไร้ขีดจำกัด ความเติมเต็ม บลา บลา บลา

(แบบว่า อ่านแล้ว อยากเขวี้ยงหนังสือทิ้ง ช่วยเขียนบทใหม่ๆ เก๋ๆ กันมั่งได้ป่าว เบื่อแระ คำพูดเดิมๆ สูตรสำเร็จ)

แต่ที่พีกที่สุดในบทสัมภาษณ์ของเธอคือ การพร่ำพูดถึงความดีเลิศของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมทั้งอยากให้บรรดาแม่ๆ หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากนั้น บอกว่าอยากให้ออกกฎหมายบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ทันใดนั้น มันคือ ระเบิดเราดีๆ นั่นเอง และนี่คือตัวอย่างที่ดีของประเทศประชาธิปไตย ประเทศไทยที่ยังล้าหลังป่าเถื่อนโปรดดูไว้เป็นตัวอย่าง เพราะแม้แต่องค์กรที่ส่งเสริม รณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังออกมาประณามคำพูดของเธอว่าช่างบ้าอำนาจสิ้นดี เพราะการเลี้ยงลูกจะด้วยนมแม่หรือนมผงนั้นเป็น choice เป็นสิ่งที่แม่แต่ละคนเลือกให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของตนเอง

แม่ที่เปิดนมให้ลูกดูดที่ป้ายรถเมล์ไม่ควรโดนมองอย่างจาบจ้วงเท่าๆ กับที่แม่ผู้ดึงเอาขวดนมมายัดใส่ปากลูก มิควรถูกตัดสินลงโทษโดนแปะป้ายว่าเป็น second rate mother หรือ แม่ชั้นสอง แม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมอะไรเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตราบเท่าที่พวกเธอมีข้อมูลรอบด้านอยู่ในมือ จากนั้นเธอ "เลือก" เอง สังคมอย่ายุ่ง นางแบบอย่าเสือก

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีกว่านมวัวหรือไม่นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุด พอๆ กับเรื่องที่ว่า คนเราควรกินไข่วันละกี่ฟอง บางหมอก็ว่านมแม่ดีที่สุด บางหมอก็บอกว่า อี๊ มันเป็นแค่มายา เพราะความฉลาดหรือสุขภาพของเด็กยังขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนของแม่ โภชนาการของแม่ และอีกสารพันตัวแปรอันละเอียดอ่อน อีกทั้งสายใยผูกพันอะไรนั่น ยังขึ้นอยู่ปัจจัยอะไรอีกตั้งเยอะ

ไม่ต้องมาพูดถึง วิธี "รัก" ของแต่ละวัฒนธรรมที่ต่างกัน เช่น บางวัฒนธรรมความรักอาจแสดงออกด้วยการ "ตี" ดูอย่างสังคมไทยเรา

ที่บอกว่า "รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" นั่นปะไร (ก่อนที่เราจะเลียนแบบฝรั่งว่าต้องเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจและเป็นเพื่อนกัน)

จะว่าไป ชนชั้นสูงของเกือบทุกสังคมไม่เคยยอมให้ลูกดูดนมตัวเอง และการมีแม่นม หรือ wet nurse นั้น เป็นเรื่องแสนสามัญ จนกระทั่งศตวรรษที่ 18 คนแรกที่เริ่ม romanticized การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ รุสโซ ที่ออกมาเรียกร้องให้แม่ๆ back to the nature of mothering มาจนถึงยุคที่เชื่อว่า น้ำนมคือสายเลือดถ้าปล่อยให้ลูกเราไปกินนมไพร่ก็จะได้รับเชื้อเลือดไพร่ติดตัวมาด้วย

หรือที่เราเคยได้ยินกันว่า เด็กสมัยนี้ดื้อด้านเป็นวัวเป็นควาย เพราะไม่ได้กินนมคน แต่แม่ดันเลี้ยงด้วยนมวัวนมควาย เป็นต้น (อธิบายได้เซอร์เรียลอีกแล้ววว)

ส่วนการ romanticized การให้นมแม่ว่าเป็นเรื่องสายใยพันผูกลูกแม่ แม่ลูกสบตากัน ลูกเรียนรู้เรื่องความรัก (คงลืมเรื่องที่ฟรอยด์ชี้ให้เห็นถึงความสำราญทางเพศอันเกิดจากการ "ดูด") ของแม่ก็ในชั่วขณะการดูดดื่มนมจากเต้า พร้อมภาพรณรงค์แบบเด็กหลับตาพริ้ม เอานิ้วเกี่ยวนิ้วมือแม่ไว้ ส่วนแม่ก็หน้าตาเปี่ยมสุขสุดฤทธิ์ (ไม่เห็นมีใครถ่ายรูปตอนเด็กกัดหัวนมแม่ร้องจ๊าก-อันนี้ฉันเห็นเพื่อนๆ โดนลูกทำร้ายแบบนี้บ่อย)

วาทกรรมนี้ถูกผลิตขึ้นมาโดยองค์กร La Leach League ในปี 1956 และกลายเป็น "สัจจะคาถา" พลันแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงกลายเป็นอาชญากรของสังคมไปในบัดดล ดังที่ซุปเปอร์โมเดลเธอบอกว่าอยากให้ออกเป็นกฎหมายบังคับให้แม่ทุกคนต้องเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง

(แต่อย่างที่บอกในตอนต้นว่า ปัจจุบันนี้องค์กรที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ออกมาปกป้องสิทธิแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เต็มที่)


แม่หลายคนอาจจะบอกว่า โมเมนต์การให้นมลูกเป็นสิ่งพิเศษ เป็นความรัก พันผูกจริงๆ อันนี้ก็ไม่เถียง เพราะไม่มีวาทกรรมใดทำงานอยู่ได้โดยไม่มี "ความจริง" รองรับโดยสิ้นเชิง แต่กระบวนการที่ความจริงบางส่วนนั้น ถูกสถาปนาให้อยู่เหนือความจริงชุดอื่นๆโดยสิ้นเชิงต่างหากที่เราพึงระวัง

เมื่อวาทกรรมกลายเป็นสัจจะคาถาไปเสียแล้ว เราจึงลืมไปเลยว่าในความเป็นแม่นั้นยังมีอีกหลายเงื่อนไขให้พิจารณาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขทางชนชั้น

เทรนด์คุณแม่ผู้ทุ่มเททุกเวลานาทีเพื่อเลี้ยงลูกให้สมบูรณ์แบบ ทั้งฟังโมสาร์ตตอนท้อง ว่ายน้ำตอนหกเดือน เข้าค่ายอัจฉริยะตอนหนึ่งขวบ วาดรูปตอนขวบครึ่ง เรียนรู้เรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติตอนสองขวบ สามขวบเล่นเปียโน อ๋อ เป็นมังสวิรัติมาตั้งแต่เกิดด้วย เออ...ตกลงจะมีลูกหรือจะขุนสร้างเทวดาก็ยากจะเดา

เราเกือบจะลืมไปว่า คนที่จะเป็นแม่เต็มเวลา และทุ่มเทให้ลูกได้มากถึงเพียงนี้ต้องมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่พร้อมพรั่งมารองรับ แม่ที่ไม่ต้องทำงานนอกบ้าน หรือแม่ซุปเปอร์สตาร์ที่มีบริวารห้อมหน้าห้อมหลัง

ส่วนแม่ชนชั้นกลางที่ทำไม่ได้ก็ต้องตะเกียกตะกาย ดิ้นรน กดขี่ขูดรีดแรงงานตน แรงงานสามี หาเงินกันไปเพื่อจะบรรลุซึ่งความเป็นพ่อและแม่ในอุดมคติ-เหนื่อยกันบ้างไหมเล่า?-"ไม่เหนื่อยหรอก เห็นรอยยิ้มลูก ไอ้ที่เหนื่อยๆ หายเป็นปลิดทิ้ง"

นี่เป็นอีกหนึ่งความเซอร์เรียลในคำอธิบาย

ส่วนโรคไมเกรน เครียด นอนไม่หลับ หาเงินไม่ทัน ซึมเศร้า นั้นไม่รู้ว่ารอยยิ้มของลูกทำให้หายเป็นปลิดทิ้งไปด้วยหรือเปล่า?



จีเซล บุนด์เชน คงลืมนึกไปว่าในโลกนี้ที่มีแม่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้หาเงินได้ปีละ 33 ล้านยูเอสดอลลาร์ต่อปีอย่างเธอ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะอยู่บ้านให้นมลูกได้อย่างสบายอกสบายใจ แม่ทุกคนไม่ได้เป็นเหมือน จูเลีย โรเบิร์ต ที่พักงานได้สี่-ห้าปีเพื่อเลี้ยงลูกโดยไม่ห่วงว่าคนทั้งบ้านจะอดตายหากเราหยุดทำงาน

มีแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน ต้องฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยง มีแม่ที่เป็นเอดส์ มีแม่ที่จะต้องทำงานหลายกะทันทีหลังคลอดไม่กี่อาทิตย์ มีแม่ที่ระดับฮอร์โมนไม่เอื้ออำนวยให้มีน้ำนม

หรือแม้แต่แม่ที่ไม่แค่ไม่แฮปปี้ที่จะให้ลูกกินนมจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ หากเธอได้ไตร่ตรองและเลือกที่จะเลี้ยงลูกเธอด้วยนมแพะ นมวัว นมอูฐ หรือจ้างแม่นม นั่นเป็นสิทธิของเธอ

และอย่าพูดถึง "วรรณกรรม" ที่ยกย่องแม่จนๆ แม่พิการ แม่ชายขอบทั้งหลายที่ลำบากแค่ไหนก็ไม่มีวันยอมแพ้-ชีวิตนี้เพื่อลูก-เพราะวรรณกรรมเช่นนี้ ยิ่งบีบคั้นและสร้าง guilt หรือความรู้สึกผิดกดทับบนบ่าไหล่ของคนเป็นแม่สามัญธรรมดามากขึ้นไปอีกกับการตั้งคำถามกับตนเองว่า "ทุกวันนี้กูเป็นแม่ที่ดีกับเค้าหรือยัง?" ไม่นับเรื่องราวของแม่ลำบากยากจนเหล่านั้น ก็เป็นเพียงเครื่องประดับทางศีลธรรมของสื่อชั่วครั้งชั่วคราวอีกต่างหาก เพราะหมดกระแส "สื่อ" ก็พร้อมจะลืมเลือนพวกเขา

แม่แต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน ความรักระหว่างแม่ ลูก ในแต่ละวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน และเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เหมือนกันไปหมด-ไม่เบื่อกันบ้างหรือไรกับการพูดอะไรเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกัน แสดงความรู้สึกผ่านภาษาซ้ำไปซ้ำมาชุดเดียวกัน

เป็นแม่ที่บกพร่องบ้าง เห็นแก่ตัวบ้าง อ้วนบ้าง วีนบ้าง หวานบ้าง เลอะเทอะบ้าง โหดบ้าง อนุญาตให้ตัวเองเกลียดขี้หน้าลูกบ้าง เมาบ้าง สูบบุหรี่บ้าง และพึงรู้ว่าไม่ต้องเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่างทุกเรื่องบ้างก็คงไม่ใช่อาชญากรรม

ขอที่อยู่ที่ยืนให้ความธรรมดาสามัญบ้าง เท่านั้นเอง



.