http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-26

สัมปทานนายก

.
รายงานพิเศษ คะแนนความนิยม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 8


คะแนนความนิยม ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดิ่งลง น่าใจหายยยย

ทั้งๆ ที่รูปหล่อ ทั้งๆ ที่พ่อและชาติตระกูลก็ดี ทั้งๆ ที่การศึกษาก็เป็นถึงนักเรียนอังกฤษ นักเรียนอ๊อกซ์ฟอร์ด

ทั้งๆ ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ได้รับการอุ้มชูอย่างเลิศลอย

แปลกเป็นอย่างยิ่งที่คะแนนนิยมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากเทียบกับเมื่อเดือนธันวาคม 2551 มาถึงเดือนมีนาคม 2554

ก็ต้องยอมรับว่า กำลังดิ่ง

เป็นดิ่งลง มิใช่ดิ่งขึ้น

เพียง 1 วันของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ การสำรวจของเอแบคโพลล์เรื่อง "ความคิดเห็นของประชาชน 17 จังหวัดต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล"

กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนรัฐบาล 5.69 จากคะแนนเต็ม 10

กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนฝ่ายค้าน 5.89 จากคะแนนเต็ม 10

เท่ากับยกที่ 1 ฝ่ายค้านชนะฝ่ายรัฐบาล 0.20 คะแนน ความหมายก็คือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ชนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยิ่งตามไปจนถึงยกสุดท้าย ยิ่งพบเห็นคะแนนที่แปรเปลี่ยนเด่นชัดมากยิ่งขึ้น



สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นของประชาชนในวันที่ 19 มีนาคม ปรากฏคะแนนมาอย่างน่าสนใจ

มิได้เป็นเรื่องน่าแปลก หาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ 6.42 จากคะแนนเต็ม 10

แต่ที่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเป็นอย่างมากอยู่ที่คะแนนของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้ 6.20 จากคะแนนเต็ม 10

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ 5.81 จากคะแนนเต็ม 10

หากประเมินจากคะแนนของฝ่ายค้าน คะแนนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แพ้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ได้ 6.17 ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ที่ได้ 6.09 นางฐิติมา ฉายแสง ที่ได้ 6.06 นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ที่ได้ 6.05 นายเจริญ จรรย์โกมล ที่ได้ 6.04 นางอรุณี ชำนาญหมอ ที่ได้ 5.96 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ที่ได้ 5.92 นายไชยา พรหมมา ที่ได้ 5.90


เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ กรุงเทพโพลล์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ยิ่งจะตระหนักในความแตกต่าง

คะแนนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ 6.48 จากคะแนนเต็ม 10

คะแนนการทำหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล ได้ 4.28 จากคะแนนเต็ม 10

ไม่เพียงแต่ชี้ว่า ฝ่ายค้านมีความเหนือกว่าถึง 2.28 หากแต่ที่ได้ 4.28 ยังเท่ากับเป็นการบ่งชี้ถึงการสอบตกของฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย

ในที่สุดแล้วก็คือ การสอบตกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ



แต่การสำรวจอะไรก็ไม่นำความเจ็บปวดมาให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่ากับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล พ.ศ.2553

เพราะเป็นการสำรวจโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-17 ธันวาคม 2553 โดยวิธีการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

ครัวเรือนละ 1 คน กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 5,800 คน

ปรากฏว่า รายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ประชาชนติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 6.2

ติดตามบางครั้งร้อยละ 54.6 ไม่เคยติดตามร้อยละ 39.2

ทั้งๆ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รูปหล่อ หน้าตาดี ทั้งๆ ที่สำนักอีตัน สำนักออกซ์ฟอร์ดได้ฝึกปรือวิธีการพูดให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างเข้มข้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจเป็นนายกรัฐมนตรีที่ "ดีแต่พูด"

กระนั้น การพูดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มี คนฟังน้อยมาก


++

คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 10


เปิดพรรค"ประชาสันติ" จับตา "ปุระชัย" รีเทิร์น "หม่อมอุ๋ย-หนั่น" แจม ลุ้นชิงนายกฯ ทางเลือก

หลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งสัญญาณยุบสภาช่วงสัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม

พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างเคลื่อนไหวคึกคัก ต้อนรับเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะมีขึ้นราวปลายเดือนมิถุนายน อย่างช้าต้นเดือนกรกฎาคม

นอกจากการวางนโยบายหาเสียง จัดทัพจัดแถวว่าที่ผู้สมัครเตรียมตะลุมบอนแล้ว การกำหนดตัวบุคคลที่จะชูเป็นนายกรัฐมนตรี คืออีกประเด็นสำคัญที่ประชาชนเฝ้าจับตา

ท่ามกลางสภาพการเมืองแบ่งแยกเป็น 2 ขั้วใหญ่ ประชาธิปัตย์ กับ เพื่อไทย ยังคงถูกยกเป็นมวยคู่เอกประจำศึกเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่ายังคงชูนายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นนายกฯ สมัยสอง ถึงจะมีการพูดถึง นายชวน หลีกภัย, นายกรณ์ จาติกวณิช และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่บ้างก็ตาม

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ยังมีปัญหาแย่งชิงอำนาจภายใน ระหว่างกลุ่มสนับสนุน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กับกลุ่มสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ท่ามกลางการต่อสู้ของ 2 ขั้วใหญ่ นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนลงความเห็นคล้ายกัน ไม่ว่าประชาธิปัตย์ หรือ เพื่อไทย เป็นฝ่ายชนะ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากไม่ยุติแล้ว ยังอาจปะทุรุนแรงอีกรอบ

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว กระแสข่าวพรรคทางเลือกที่ 3 รวมไปถึงการเพิ่มทางเลือกตัวบุคคล แข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ ย่อมได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ว่าประชาธิปัตย์ เพื่อไทย เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง


ในจำนวนนี้ พรรคประชาสันติ ที่วางตัว ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค ถือเป็นพรรคน้องใหม่ที่ต้องจับตา

ยังมีสัญญาณจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ว่าด้วยวัย 64 ปี ยังหนุ่มพอจะเป็นนายกฯ หรือแม้แต่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็มีชื่ออยู่ในโผนายกฯ ทางเลือกนี้ด้วยเช่นกัน



มีการตั้งข้อสังเกตทุกครั้งของการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับความนิยม และเหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ จะมีชื่อของ ร.ต.อ.ปุระชัย ติดอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอ

อย่างการสำรวจเมื่อกลางปี 2550 พบว่า ร.ต.อ.ปุระชัย อยู่ในอันดับแรก กระทั่งล่าสุด จากการสำรวจเอแบคโพลล์ สอบถามความเห็นคนกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ถึงบุคคลผู้เหมาะสมแข่งขันในตำแหน่งนายกฯ กับ นายอภิสิทธิ์

พบอันดับแรก ร้อยละ 41.2 สนับสนุน ร.ต.อ.ปุระชัย ส่วน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 34.7 และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อยู่ที่ร้อยละ 20.8

เสียงสนับสนุน ร.ต.อ.ปุระชัย นี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าว ร.ต.อ.ปุระชัย เตรียมเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ในฐานะพรรคทางเลือกที่ 3

ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันจาก นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธาน ส.ส.ร. ว่า

ตนเองและพรรคพวก อาทิ นายพันธ์เลิศ ใบหยก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นายนพดล อินนา เตรียมจัดตั้งพรรคประชาสันติ โดยทาบทาม ร.ต.อ.ปุระชัย มาเป็นผู้นำพรรค

วันที่ 21 มีนาคม นายเสรี เปิดเผยหลังการประชุมใหญ่ประจำปีพรรคธรรมาธิปัตย์ ซึ่งมีมติเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพรรคประชาสันติ

กรรมการบริหารพรรคชุดขัดตาทัพจำนวน 11 คน มีชื่อ นายพันธ์เลิศ เป็นรองหัวหน้าพรรค ส่วนนายเสรี รับเป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราว

เพื่อรอให้ ร.ต.อ.ปุระชัย มารับเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง พร้อมกับแถลงเปิดตัวกรรมการบริหารพรรคเป็นทางการอีกครั้งต้นเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของพรรคประชาสันติ ไม่เพียงเพราะมีชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เป็นหัวหน้าพรรค แต่เบื้องหลังกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคยังน่าสนใจไม่แพ้กัน



นายพันธ์เลิศ ใบหยก นักธุรกิจพันล้าน เจ้าของตึกสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย

เคยโดน ศอฉ. เรียกเข้ารายงานตัวชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เครือข่ายทักษิณและคนเสื้อแดง ครั้งนี้มาทำหน้าที่ท่อน้ำเลี้ยงให้พรรคประชาสันติ

ขณะเดียวกัน ตามที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ระบุมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนก่อตั้งพรรค

ยังทำให้เกิดคอนเน็กชั่นเชื่อมโยงอำนาจกันเป็นทอดๆ

เริ่มจาก พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ทั้งสามารถต่อไปยังพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอีกด้วย

ตรงนี้เป็นประเด็นน่าจับตา เนื่องจากเบื้องต้นมีการวิเคราะห์ว่า ชื่อของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ น่าจะขายได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

ถึงแม้จะเป็นอุปสรรคสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การที่พรรคประชาสันติ จะได้รับเลือกเป็นพรรคเสียงข้างมาก ส่งให้ ร.ต.อ.ปุระชัย ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง ยังไม่น่าจะเป็นไปได้

เว้นเสียแต่จะได้รับการหนุนเสริมจากพรรคขนาดกลางอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิใจไทย ที่แกนนำพรรคทั้งตัวจริงและนอมินี ต่างมีปัญหาภาพติดลบ สังคมไม่ยอมรับ

สรุปว่าหาก ร.ต.อ.ปุระชัย ตัดสินใจเข้ารับเป็นหัวหน้าพรรคประชาสันติ ไม่เพียงจะเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน แต่ยังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับพรรคภูมิใจไทย ที่กลับคืนสู่อำนาจภายหลังการเลือกตั้ง

ยิ่งกว่านั้น ร.ต.อ.ปุระชัย ถึงจะเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย แต่ก็มีประสบการณ์ถูกการเมืองสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เล่นงานจนต้องอำลาวงการการเมืองไปพักใหญ่

การกลับมาของ ร.ต.อ.ปุระชัย ที่ตัดขาดจากทักษิณ จึงเป็นเรื่องที่กองทัพยอมรับได้ เพราะนอกจากจะช่วยลดแรงกดดันเรื่องการทำปฏิวัติแล้ว

ยังจะเป็นทางออกให้กองทัพในการสลัดหลุดการทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็กอีกด้วย


นอกจาก ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์

ท่าทีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการ ธปท. ยังทำให้บางคนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องเก็บเอาไปคิดมาก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้รับการจับตามองถึงย่างก้าวทางการเมืองเช่นกัน เคยตกเป็นข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทาบทามให้มานั่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

แต่เนื่องจากตกลงเงื่อนไขบางอย่างไม่ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ เกรงว่าจะซ้ำรอยกรณี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่ตนเองคุมไม่อยู่ จึงพับแผนไปในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เป็นคนไม่ยอมอ่อนข้อให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ทางกองทัพยอมรับได้ หากสามารถนำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

"แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ จับมาเป็นประเด็น คือกรณีที่จู่ๆ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกมาเสนอ 4 สูตรการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับตอบคำถามนักข่าวถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

จะลงหรือไม่ลง ตอนนี้อายุ 64 ปี ก็ยังหนุ่มพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่การเป็นนักการเมืองมักจะถูกมองในทางลบ ทำให้เสียภาพลักษณ์


ขณะเดียวกัน ชื่อของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ยังเป็นอะไรที่มองข้ามไม่ได้

ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ให้เป็นนายกฯ สำรอง ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์ ประสบวิกฤตคดียุบพรรค

บวกกับผลงานการเดินสายสร้างความปรองดองกับคนทุกสี ทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงการมีส่วนช่วยให้ 7 แกนนำ นปช. ได้รับการประกันตัวออกจากคุก

ทำให้ชื่อของ พล.ต.สนั่น ยังเหนียวหนึบอยู่บนเส้นทางการลุ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีทางเลือกเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกรณี ร.ต.อ.ปุระชัย หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร หรือ พล.ต.สนั่น คือภาพสะท้อนถึงความเปิดกว้างของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในที่สุด

.