http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-06

สามัญชนที่มิใช่คนธรรมดา และ ซามูไรแค้นแต่น้ำตาซึม โดย วีรกร ตรีเศศ

.
สามัญชนที่มิใช่คนธรรมดา
โดย วีรกร ตรีเศศ คอลัมน์ อาหารสมอง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 47


คนตายก็สามารถสอนคนเป็นได้ หากคนเป็นจัดการได้อย่างเข้าท่า และเหมาะเจาะกับกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตายคนนั้นเป็นคนสามัญที่เป็นคนพิเศษในใจของประชาชน

โทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นได้ทำซี่รี่ส์เรื่องราวของซามูไรธรรมดาๆ คนหนึ่งที่โด่งดังยาว 40 กว่าตอน และได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีการนำไปฉายในหลายประเทศ

Ryoma Sakamoto คือชื่อของซามูไรคนนั้นที่ถึงแม้จะตายไป 144 ปีแล้ว แต่คนญี่ปุ่นก็ยังรักใคร่อย่างโรแมนติกไม่รู้คลาย ชีวิตความเป็นฮีโร่ของเขาเป็นบทเรียนแก่คนญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

คนญี่ปุ่นเรียกเขาสั้นๆ ว่า Ryoma (เรียวม่า) เขาเกิดใน ค.ศ.1836 พ่อเป็นเจ้าของโรงต้มเหล้าสาเก ร่ำรวยพอจะซื้อตำแหน่งซามูไรชั้นล่าง มิได้เรียนหนังสือหนังหาอย่างเป็นทางการมากมาย แต่ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่ดีขึ้น กล้าแสดงออกและกล้ากระทำในสิ่งที่ยุคสมัยนั้นไปไม่ถึง

ทำให้เขาเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์



ในยุคสมัยที่เขาเกิด สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมชนชั้น ถึงมีจักรพรรดิแต่ก็อยู่ใต้อำนาจนักรบที่ครองอำนาจแท้จริงมายาวนาน โชกุลตระกูล Tokugowa (โตกูกาว่า) ซึ่งเป็น "รัฐบาลทหาร" สืบทอดอำนาจมายาวนานกว่า 260 ปี เมื่อเรียวม่าคิดจะเปลี่ยนแปลง

ระบบซามูไรซึ่งหมายถึงขุนนางศักดินามีมานานเหยียบพันปี โดยมีลำดับชั้นลดหลั่นลงมาตามความใกล้ชิดกับ "เจ้านาย" แต่อย่างไรก็ตาม ก็จบสิ้นลงในประมาณ ค.ศ.1877 หรือตอนต้นยุคปฏิรูปเมจิ (Meiji Reformation) และบุคคลที่มีส่วนอย่างไม่ตั้งใจในการที่ทำให้ระบบซามูไรสิ้นสุดลงก็คือซามูไรสามัญชื่อว่าเรียวม่าคนนี้แหละ

วัฒนธรรมของซามูไรนั้นเป็นผลพวงจากการผสมผสานของความเชื่อในศาสนาพุทธและ Zen และรวมไปถึงบางส่วนของปรัชญาขงจื๊อ (Confucianism ซึ่งขงจื๊อเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า) และชินโตด้วย พื้นฐานเหล่านี้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมญี่ปุ่นและความมีค่าของทรัพยากรมนุษย์ของสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน

เรียวม่าเป็นศิษย์ของ Katsu Kaishu ผู้มีบทบาทต่อความคิดของเขาอย่างมากในเรื่องการสร้างความทันสมัยให้สังคมญี่ปุ่น อาจารย์Katsu เคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและรับเอาความคิดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพมา

เรียวม่าเห็นว่าการครอบงำของตระกูล Tokugawa ทำให้ญี่ปุ่นล้าหลัง เพราะต้องการปิดประเทศไม่ค้าขายกับต่างประเทศ เขาต้องการเห็นรัฐญี่ปุ่นที่เสียงของประชาชนสำคัญกว่าเสียงของคนคนเดียว รัฐสภาภายใต้ระบบจักรพรรดิคือสิ่งที่เขามองเห็นไปไกล

เขามิได้หยุดแค่กล้าคิดปฏิรูประบบโชกุนเท่านั้นหากแต่กล้ากระทำด้วย ผลงานสำคัญของเรียวม่าคือการประสานกลุ่มอำนาจจากแคว้นใหญ่ Satsuma และ Choshu เข้าด้วยกันเพื่อไปสู้กับโชกุนตระกูล Tokugawa จนในที่สุดก็สามารถโค่นล้มลงได้

ถึงแม้จะเป็นซามูไรตัวเล็กๆ แต่ผู้คนก็เชื่อถือเขาเพราะบุคลิกและอุดมการณ์อันจริงใจมิได้หวังชื่อเสียงหรือผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เขากระทำในวัยปลายี่สิบต้นถึงสามสิบ และเขาก็มิได้มีส่วนร่วมอีกเลยเพราะเขาถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดในวัยเพียง 32 ปีเท่านั้น โดยมือปืนรับจ้าง (จริงๆ คือมือซามูไรรับจ้าง) จากฝ่ายตระกูล Tokugawa ที่หมดอำนาจลง

เขาถูกฆ่าอย่างโหดร้ายพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคน เลือดนองพื้นและสาดไปทั่วห้องซึ่งเป็นร้านตัวแทนค้าขายน้ำปลาญี่ปุ่นชื่อ Omiya ในเมืองเกียวโต นับว่าเป็นการจบสิ้นชีวิตของสามัญชนคนหนึ่งที่หาญกล้ายื่นคอออกมาต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าจนถูกสังหารก่อนวัยอันควร

การสิ้นชีวิตในวัยที่ไม่สมควรช่วยทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เฉกเช่นเดียวกับ เจมส์ ดีน และประธานาธิบดีเคนเนดี้ สำหรับคนอเมริกัน เช กูวารา สำหรับคนอเมริกาใต้ จำกัด พลางกูร และ จิตร ภูมิศักดิ์ สำหรับคนไทย



หากพิจารณาบทบาทของเรียวม่าก็จะเห็นว่าเขามีส่วนร่วมในการปูฐานสู่การปฏิรูปเมจิ (ซึ่งนำความเจริญอย่างรวดเร็วและอย่างมากสู่ญี่ปุ่น) ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้เห็น และเขามีส่วนร่วมในการล่มสลายของระบบโชกุนซึ่งครองอำนาจมายาวนานอย่างที่เขานึกไม่ถึง

เพราะทันทีที่เข้าสู่การปฏิรูปเมจิ จักรพรรดิก็ทรงสั่งเลิกการเป็นสมาชิกกองทัพของเหล่าซามูไรแต่เพียงกลุ่มเดียว และหันไปใช้ระบบใหม่คือการเกณฑ์ทหารใน ค.ศ.1873 นอกจากนี้ สิทธิ์ของซามูไรที่สามารถจะประหารคนธรรมดาที่ไม่แสดงความเคารพได้ก็ถูกเลิกไปด้วย

ไม่รู้ว่าเรียวม่าซึ่งพยายามเป็นซามูไรที่ดีตลอดชีวิต ฝึกฝนฝีมือดาบอย่างหนักได้ตระหนักหรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะตามมาหลังจากระบบโชกุนถูกโค่นลงแล้วจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชะตาชีวิตของเหล่าซามูไรทั้งหลายด้วย

ซีรี่ส์ Ryoma-den ครั้งนี้ทำให้ชีวิตและความใฝ่ฝันของเรียวม่าถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง Masaharu Fukuyama นักร้องนักแสดงคนดังของญี่ปุ่นรับบทเรียวม่าอย่างทำให้คนดูชื่นชม ก่อนหน้านี้ชีวิตของเรียวม่าปรากฏเป็นซีรี่ส์ในทีวีไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง เป็นภาพยนตร์ 5 ครั้ง เป็นการ์ตูน 7 ครั้ง และนวนิยาย 6 เล่ม

ในเดือนมีนาคมนี้ทีวีไทยจะนำมาให้คนไทยได้ดูคนสามัญที่ไม่ธรรมดาแสดงความกล้าหาญในการร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ในยุคที่สังคมญี่ปุ่นต้องการคนกล้าที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองที่คนญี่ปุ่นเบื่อหน่าย NHK ได้ปลุกชีวิตของเรียวม่าอย่างสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

ลองดูกันซิว่าเรียวม่ากล้าหาญขนาดไหน เท่ากับคนไทย 7 คนในคุกเขมร? เท่ากับคนไทย 7 คนในคุกไทย? เท่ากับกองเชียร์ฟุตบอลที่ไล่เหยียบกรรมการและผู้เล่นในสนาม?



เครื่องเคียงอาหารสมอง

ผู้ช่วยแม่บ้านสาวพูดกับคุณนาย "หนูขอขึ้นเงินเดือนค่ะ" "มีเหตุผลอะไรที่ฉันควรจะขึ้นเงินเดือนให้เธอ" เจ้านายถาม

"หนูมีเหตุผล 3 ข้อค่ะ ข้อหนึ่งหนูกวาดบ้านสะอาดกว่าคุณนาย" "ใครบอกเธอล่ะ" "คุณผู้ชายค่ะ" "จริงหรือ" น้ำเสียงเริ่มโมโหเพราะเลือดเริ่มพุ่งขึ้นสมอง

"ข้อสอง หนูทำกับข้าวเก่งกว่าคุณนาย" "ใครบอกแกล่ะ" "คุณผู้ชายค่ะ" "อะไรนะ" คุณนายส่งเสียงดังเมื่อความดันดันปรอทเกือบแตก

"ข้อสาม หนูเก่ง in bed มากกว่าคุณนาย" "ผัวฉันคงบอกแกอีกซิท่า" คุณนายประชดอย่างสะใจ "เปล่าค่ะ คนสวนเขาบอกหนู"
"เอ่อ...เอ้อ...แกจะขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่ก็ว่ามา"


น้ำจิ้มอาหารสมอง :
Health is better than wealth. (สุภาษิตอังกฤษ)
สุขภาพดีกว่าความมั่งคั่ง


++

ซามูไรแค้นแต่น้ำตาซึม
โดย วีรกร ตรีเศศ คอลัมน์ อาหารสมอง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1585 หน้า 40


หนังสือชื่อ "เรื่องท่านเล่า" โดย คุณศรีวรา อิสสระ รวบรวมนิทานแฝงธรรมะสนุกๆ ที่ท่านอาจารย์ชยสาโร ซึ่งเดิมชื่อ ฌอม ไมเคิล ชิเวอร์ตัน ใช้ในการแสดงธรรมตลอด 30 ปี ที่ผ่านมา ขออนุญาตนำนิทานเรื่องหนึ่งมาถ่ายทอดต่อ

นิทานชื่อ "พระขุดอุโมงค์" เรื่องมีดังนี้

"...เรื่องต่อไปนี้ท่านอาจารย์เล่าว่าเป็นเรื่องจริงที่เหมือนนิทานมาก เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 250 ปีมาแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า

พระธุดงค์องค์หนึ่งอายุสี่สิบกว่าปี ท่านเดินธุดงค์เข้าไปในเขตภูเขาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พวกชาวบ้านดีใจมากเมื่อเห็นพระ รีบนิมนต์ท่านไปสวดศพที่เพิ่งตกเหวตาย เมื่อเสร็จพิธีจึงพาท่านไปดูที่ๆ เกิดอุบัติเหตุ พร้อมกับเล่าให้ท่านฟังว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้านนี้กับอีกหมู่บ้านหนึ่ง เป็นทางที่จำเป็นแต่อันตรายมาก เพราะต้องเดินเลียบเลาะภูเขา เต็มไปด้วยหน้าผาและเหวลึก เวลาฝนตกเส้นทางเล็กๆ นี้จะลื่นมาก เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ มีคนตายอยู่เป็นประจำ

พระท่านฟังแล้วรู้สึกสงสารอยากจะช่วยชาวบ้าน ท่านจึงตัดสินใจยุติการธุดงค์ และปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านนี้เพื่อขุดอุโมงค์ให้เป็นเส้นทางใหม่ที่ปลอดภัยสำหรับชาวบ้านและลูกหลานของเขาในอนาคต

ท่านตรวจสภาพภูมิประเทศแล้วเห็นว่าจะต้องขุดอุโมงค์ทะลุภูเขายาวประมาณ 400 เมตร ซึ่งคงจะต้องใช้เวลายาวนานมาก อาจจะเกือบตลอดชีวิตของท่านทีเดียว แต่ท่านมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ

เมื่อท่านบอกชาวบ้าน พวกเขากลับสงสัยว่าท่านสติดีหรือวิปลาสกันแน่ มันเป็นภูเขาหินไม่ใช่ภูเขาดิน ท่านจะขุดภูเขาหินระยะทางตั้ง 400 เมตรได้อย่างไร นอกจากชาวบ้านจะไม่ให้กำลังใจและขอบคุณท่านแล้ว เขายังไม่สนับสนุนแถมบางคนยังหัวเราะเยาะท่านอีกด้วย

ไม่ว่าปฏิกิริยาของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ท่านก็ไม่หวั่นไหวเพราะจิตของท่านตั้งมั่นเสียแล้ว ท่านเริ่มลงมือใช้ค้อนตอกตะปูขุดเจาะภูเขา เสียงก๊อก...ก๊อก...ดังอยู่ต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจนมืดทุกวัน

แรกๆ ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจท่านนัก แต่ท่านก็ไม่ไปไหน ท่านปักหลักทำงานของท่านอย่างไม่ท้อถอย

วันเวลาผ่านไป...หนึ่งปี...สองปี...สามปี...ท่านก็ยังขุดเจาะภูเขาทุกวันไม่มีเว้น คิดเฉลี่ยแล้วท่านเจาะอุโมงค์ได้ประมาณวันละ 4-5 เซนติเมตร หรือปีละ 15 เมตร สามปีที่ผ่านมาท่านเจาะได้สัก 40-45 เมตร ท่านถือการขุดเจาะหินเป็นข้อวัตรปฏิบัติของท่าน

ท่านทำงานง่วนอยู่แต่ในถ้ำวันแล้ววันเล่า



มาถึงบัดนี้ชาวบ้านบางคนรู้สึกละอายใจ พระท่านตั้งใจทำงานหนักเพื่อพวกเขา แล้วเขาจะนิ่งดูดายอยู่ได้อย่างไร จึงเริ่มมีคนทยอยกันมาช่วยท่านเจาะอุโมงค์ แต่ทำกันได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องล่าถอยไป เพราะงานมันหนักเกินกำลัง และเขายังไม่มีศรัทธาแก่กล้าพอ

ในที่สุดก็เหลือแต่ท่านที่ยังคงทำงานอยู่ต่อไปองค์เดียว

ท่านขุดเจาะอุโมงค์ไปเรื่อยๆ ห้าปี... เจ็ดปี... เก้าปี...สิบแปดปี...เสียงก๊อก...ก๊อก...ก๊อก...ยังคงดังอยู่อย่างต่อเนื่อง

เวลานี้ท่านเป็นหลวงพ่อแล้ว สังขารก็เสื่อมถอยลงไปมาก ขาก็ไม่ค่อยดี ตาก็เริ่มฟาง ท่านรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าแต่ก่อน แต่ก็ช่างมันเถอะ จิตใจท่านมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง

กิตติศัพท์เรื่องหลวงพ่อขุดเจาะอุโมงค์เพื่อช่วยชาวบ้านขจรขจายไปถึงเมืองหลวง ทางการจึงส่งช่างมาช่วย เมื่องานขุดอุโมงค์สำเร็จไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้วด้วยฝีมือหลวงพ่อ

อยู่มาวันหนึ่ง ก่อนที่อุโมงค์จะสำเร็จเสร็จสิ้นลง ซามูไรหนุ่มคนหนึ่งเดินทางมาที่หมู่บ้านนี้เพื่อถามหาพระที่กำลังขุดอุโมงค์ เขาต้องการจะดูว่าท่านคือคนที่เขาตามหาอยู่หรือไม่ นานๆ ทีชาวบ้านจะได้พบคนใหญ่คนโตซักครั้ง พวกเขาจึงรีบอาสาพาซามูไรหนุ่มไปที่อุโมงค์และส่งคนเข้าไปตามหลวงพ่อ

เมื่อหลวงพ่อเดินออกมา ท่านทราบทันทีว่าซามูไรคนนี้คือใคร และมาตามหาท่านเพื่ออะไร

ความทรงจำเก่าๆ ไหลรินเข้ามาเป็นระลอกๆ



เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนที่ท่านจะบวชเป็นพระ ท่านเคยเป็นคนรับใช้ของเดมิโยหรือขุนนางคนหนึ่ง ท่านได้ลอบเป็นชู้กับเมียน้อยของเจ้านายและถูกจับได้ ท่านจับเชิงเทียนใหญ่ฟาดหัวเจ้านายจนตายก่อนที่ท่านจะพาผู้หญิงหนีออกมา

แม้จะหนีออกมาได้แล้ว จิตใจท่านก็ยังเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ท่านรู้สึกว่าท่านได้ทำบาปหนักสาหัสสากรรจ์ ฆ่าผู้มีพระคุณเพียงเพราะฤทธิ์ของกามตัณหา ความรู้สึกผิดกัดกร่อนจิตใจของท่านรวมถึงความหลงรักในตัวผู้หญิงด้วย ท่านไม่ได้มีความสุขกับผู้หญิงคนนั้นอย่างที่เคยฝันไว้ กลับต้องทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลา แถมท่านยังต้องกลายเป็นอันธพาลปล้นจี้เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วย สร้างบาปสร้างกรรมทบทวีคูณ

ท้ายที่สุด ท่านทนไม่ไหว จึงตัดสินใจขอแยกทางกับผู้หญิงที่ท่านเคยหลงรัก แล้วหันหน้าเข้าวัด ท่านยังไม่ได้คิดที่จะบวชหรอก เพียงแต่หวังจะทำบุญเสียบ้างก่อนจะฆ่าตัวตาย

ท่านเจ้าอาวาสรู้ทันความคิดของท่าน จึงแนะนำให้ท่านออกบวชเป็นพระ เป็นการตายไปจากโลกเดิม ถือพรหมจรรย์สร้างคุณงาม ความดีชำระบาปกรรมที่เคยก่อมา ท่านจึงออกบวชและรับการอบรมสั่งสอนจากครูบาอาจารย์สักระยะก่อนจะออกธุดงค์

จนมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้แหละที่ท่านคิดตัดสินใจปักหลักอุทิศตนสร้างความดีช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการขุดเจาะอุโมงค์ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนเพียงเพื่อชำระบาปในใจของท่าน แม้งานจะหนักหนาสาหัสเพียงใด ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ท่านก็จะอดทนต่อสู้จนกว่างานจะสำเร็จหรือท่านจะหมดลม วันเวลานั้นคงจะมาถึงแล้วล่ะกระมัง

หลวงพ่อ "โยมคงเป็นลูกชายของท่านเดมิโยใช่มั้ย"

"อโซ่...ใช่" ซามูไร รับคำห้วนๆ ด้วยท่าทางเย็นชาและสายตาส่งประกายเกลียดชังและสมหวัง เขาไล่ล่าตามหาฆาตกรที่ฆ่าท่านพ่อจนพบแล้ว มันช่างยาวนานกว่ายี่สิบปีทีเดียว และบัดนี้ถึงเวลาที่แค้นของเขาจะได้รับการชำระเสียที

ซามูไรหนุ่มชักดาบออกจากฝักเพื่อเตรียมสังหารคนชั่ว หลวงพ่อยืนนิ่งไม่แสดงอาการสะทกสะท้านใดๆให้ปรากฏ ก็สาสมอยู่หรอกที่ซามูไรจะฆ่าท่าน ส่วนงานของท่านก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว มีทางการรับผิดชอบทำงานต่อ ท่านไม่มีห่วงกังวลใดๆ ท่านพร้อมแล้ว

หลวงพ่อ "เชิญคุณทำสิ่งที่คุณเห็นสมควรเถิด หลวงพ่อคอยวาระนี้มานานแล้ว"

บรรดาชาวบ้านที่พากันมามุงดูอยู่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตกใจอ้าปากค้าง พอได้สติ บางคนก็เข้าไปยึดขาซามูไร บางคนเข้ายึดแขน และบางคนก็เข้าไปยืนกางกั้นหลวงพ่อไว้ เสียงอ้อนวอนขอร้องซามูไรดังระงม

ชาวบ้าน "อย่าทำร้ายหลวงพ่อเลยขอรับ... ให้ท่านทำงานของท่านให้เสร็จก่อนเถิดขอรับ... ท่านขุดอุโมงค์นี่มาสิบแปดปีแล้ว อีกไม่นานก็จะเสร็จแล้ว... หลวงพ่อท่านไม่หนีไปไหนหรอกขอรับ..."

ซามูไรหนุ่มคิดหนัก "ไหนๆ เราก็รอคอยมาได้นานขนาดนี้แล้ว จะอดทนรอต่อไปอีกหน่อยคงไม่เป็นไร ถ้าเราฆ่าพระนี่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านคงโกรธแค้นแน่ แต่ถ้าเรารอคอยตามคำขอร้อง ชาวบ้านคงเห็นใจเรา"

ซามูไรจึงตกลงรอให้หลวงพ่อขุดอุโมงค์ให้แล้วเสร็จเสียก่อน จึงจะลงมือแก้แค้น



ซามูไรหนุ่มรออยู่สามสี่วัน ก็ยังไม่มีวี่แววว่างานขุดอุโมงค์จะแล้วเสร็จ เขาเป็นคนใจร้อน เขาจึงรู้สึกอึดอัดใจมาก คืนนั้นเขานอนไม่หลับ เขาทนรอไม่ไหวแล้วจึงลุกขึ้นถือดาบไปที่กุฏิหลวงพ่อเพื่อจะไปจัดการจบความแค้นของเขาเสียที แต่หลวงพ่อไม่ได้อยู่ในกุฏิ

ซามูไรจึงเดินเข้าไปในอุโมงค์ ลึกเข้าไปๆ เขาได้ยินเสียง ก๊อก...ก๊อก...ก๊อก...อย่างต่อเนื่อง แม้จะดึกดื่นท่านก็ยังทำงานอยู่

เสียงสวดมนต์เบาๆ ของท่านก้องสะท้อนอยู่ในอุโมงค์จนซามูไรขนลุก เขารู้สึกสับสนจนต้องหันหลังเดินกลับออกไป เขาไม่กล้าฆ่าท่านอย่างที่ใจปรารถนามานาน ทำไมฆาตกรเลวๆ ที่ฆ่าท่านพ่อจึงกลายเป็นคนบริสุทธิ์เยี่ยงนี้

วันรุ่งขึ้นคณะขุดอุโมงค์ได้อาสาสมัครเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เป็นถึงคนใหญ่คนโตจากเมืองหลวง ซามูไรหนุ่มมาช่วยขุดอุโมงค์ เขาทำงานใกล้ชิดหลวงพ่อและคอยสังเกตนิสัยใจคอของท่าน ต้องการจะดูว่าท่านน่าเลื่อมใสจริงๆ หรือท่านเสแสร้งเก่ง

วันเวลาผ่านไปอีกเดือนเศษ ในที่สุดอุโมงค์ก็แล้วเสร็จ ทะลุจากเขาด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านได้เส้นทางสายใหม่ที่ทั้งสะดวกทั้งปลอดภัย เสียงไชโยลั่นภูเขาทั้งสองด้าน หลวงพ่อค่อยๆวางเครื่องมือลงและสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ท่านเคยทำร้าย แล้วหันหน้ามาหาซามูไร

หลวงพ่อ "หลวงพ่อพร้อมแล้ว เชิญท่านทำหน้าที่ของท่านได้"

ด้วยน้ำตานองหน้า ซามูไรหนุ่มหมอบกราบลงแทบเท้าหลวงพ่อ

ซามูไร "หลวงพ่อครับ ผมขอเลิกการจองเวรทุกๆสิ่ง โปรดเมตตารับผมไว้เป็นศิษย์ด้วยเถิดครับ"



เครื่องเคียงอาหารสมอง

1 ไอ้เศรษฐีคนนี้มันคุยว่ามันรวยมาก บ้านใหญ่ขนาดในห้องอาหารนาฬิกาบอกว่าหนึ่งทุ่ม แต่ในครัวเป็นเวลาสามทุ่ม

2 "คุณต้องทำอะไรกับฝาห้องสักหน่อยแล้วละครับ" คนเช่าบ้านบ่นกับเจ้าของ "เสียงจากโทรทัศน์คงดังผ่านฝาเข้ามารบกวนใช่ไหมครับ" เจ้าของถาม "อ๋อ เปล่าครับ ผมจะได้ดูโทรทัศน์ของเขาด้วย"

3 "เนื้อนี่นุ่มไหม" ลูกค้าถามเจ้าของร้านขายเนื้อ "มันนุ่มและอ่อนโยนเหมือนหัวใจผู้หญิงเลยละครับ" "ถ้าอย่างนั้น ช่วยหยิบไส้กรอกให้ผมแทน"

4 "นมนี่สดไหม" ลูกค้าถาม "สดครับ สดขนาดเมื่อ 3 ชั่วโมงที่แล้วยังเป็นหญ้าอยู่เลย"

5 สองหนุ่มเดินเข้าไปในบาร์และควักเอาแซนวิชมานั่งกินกัน คนเสิร์ฟเดินมาบอกว่า "ขอโทษครับ ที่นี่ห้ามกินอาหารที่คุณนำมาจากนอกร้านครับ" "ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราจะแลกแซนวิชกัน"

6 ร้านขายโลงศพมีการลดราคาโลงเป็นพิเศษตลอดอาทิตย์นี้ "แค่ 10,000 บาท คุณก็สามารถชวนเพื่อนไปด้วยได้อีกหนึ่งคน"

7 นักอ่านเดินเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ห้องสมุด "ช่วยบอกผมหน่อยได้ไหมครับว่าส่วนที่เป็น "Self-Help" อยู่ตรงไหน" "ถ้าผมบอกคุณมันก็เท่ากับทำลายวัตถุประสงค์ของการมี Self-Help ซีครับ"

8 "ตอนนี้เธอยอมรับแล้วนะว่าเธออายุ 40 จริง...เพียงแต่ไม่ได้บอกว่า 40 ตั้งแต่เมื่อไหร่"



น้ำจิ้มอาหารสมอง :
When you educate a man you educate an individual; when you educate a woman you educate a whole family.(Charled D. McIver (1860-1906) นักการศึกษาชาวอเมริกัน
เมื่อคุณให้การศึกษาผู้ชาย คุณให้การศึกษาแต่ละบุคคล หากคุณให้การศึกษาผู้หญิง คุณให้การศึกษาทั้งครอบครัว

.