http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-11

การเลือกตั้ง 2554 ยกที่ 7ฯลฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

การเลือกตั้ง 2554 ยกที่ 7?จุดหักเหของแนวทางการต่อสู้
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 20


การต่อสู้ทางการเมืองไม่มีที่ไหนไม่ยืดเยื้อ ที่เราได้ยินข่าว ได้เห็นภาพจากแอฟริกาเหนือ ในตูนีเซีย, อียิปต์, ลิเบีย และที่อื่นๆ อีกเจ็ดแปดประเทศ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นเพียงแค่ยก 1 ยก 2 ต้องมีอีกอย่างน้อย 10 ยก

สำหรับประเทศไทย การต่อสู้ครั้งนี้เริ่มมายาวถึง 6 ยกแล้ว การเลือกตั้งปี 2554 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เป็นยกที่ 7 ซึ่งผลของการเลือกตั้งอาจเป็นจุดหักเหของการต่อสู้ เป็นการหักเหระดับแนวทางการต่อสู้

หลังจากรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งนำโดยนายก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นรัฐบาลสมัยแรกตั้งแต่ 2544-2547 ก็สามารถบริหารงานได้อย่างราบรื่น ประสบความสำเร็จ มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

พ.ศ.2548 ในการเลือกตั้งครั้งใหม่หลังจากอยู่มาครบ 4 ปี ก็ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ได้ ส.ส. ถึง 377 จาก 500 คน ดูเผินๆ แล้ว การปกครองน่าจะราบรื่น แต่ก็มีการต่อต้านเล็กๆ เกิดขึ้น

นี่คือจุดเริ่มต้น เพราะเบื้องหลังการต่อต้านเล็กๆ นี้ มีพลังแฝงอย่างเข้มแข็งและทรงอำนาจ จากหลายกลุ่มที่สนับสนุนอยู่

ครั้งนั้นไม่มีใครเฉลียวใจว่านี่เป็นการเริ่มต้นของการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานเหมือนมวยที่ต้องต่อยกันถึง 12 ยก



ยกที่ 1 การเคลื่อนไหวของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พัฒนาไปเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง และเริ่มดุเดือดขึ้นในปี 2548 จนไปสิ้นสุดที่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 จบยกที่ 1 ด้วยการที่ทักษิณต้องออกไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ คมช. มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงผู้กุมอำนาจรัฐ

ยกที่ 2 พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ตัวแทนผู้กุมอำนาจใหม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับ 2550 ยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการพรรค 111 คน ยกนี้จบลงด้วยการเลือกตั้งปลายปี 2550 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยกที่ 3 ผลการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ไทยรักไทยซึ่งเปลี่ยนเป็นพลังประชาชน ก็ยังชนะเลือกตั้ง แม้เสียงจะหายไปพอสมควรเพราะถูกรุมจนสะบักสะบอม แต่ก็สามารถตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ครองอำนาจได้ไม่นานก็ถูกกดดัน ด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง และจบลงด้วยการตัดสินให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบบตุลาการภิวัฒน์

แม้จะต่อด้วยรัฐบาลนายกฯ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ก็ไม่รอดด่านตุลาการภิวัฒน์ไปได้ ยกที่ 3 พรรคพลังประชาชนซึ่งเริ่มต้นอย่างสวยงามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสองนายกฯ ในปลายปี 2551 และก็ถูกยุบพรรคในที่สุด

ยกที่ 4 เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้ารัฐบาลโดยกลุ่มผู้กุมอำนาจที่แท้จริง มีการตั้งรัฐบาลเทพประทานในค่ายทหาร มีการแปรพักตร์ของเนวินจากพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อไปเข้าร่วมกับประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งยอมทุกอย่าง ได้เป็นนายกฯ ฉลองปีใหม่ 2552 สมความตั้งใจของผู้ใกล้ชิดและผู้อุปถัมภ์ทั้งหลาย

ในขณะเดียวกัน พรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบก็แปลงกายเป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่เดือน การก่อเกิดของกลุ่มคนเสื้อแดงก็เริ่มขึ้นและเข้าปะทะกับรัฐบาลครั้งแรกในเดือนเมษายน 2552

ยกที่ 5 บทบาทของคนเสื้อแดงมีมากขึ้นจำนวนคนก็มากขึ้น การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม 2553 เพื่อบีบให้รัฐบาลยุบสภา แต่ถูกกระชับพื้นที่ และสลายการชุมนุมด้วยอาวุธจนมีคนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน เสียชีวิต 91 คน และคนเสื้อแดงถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ส่วนหนึ่งถูกจับไปขัง

ยกที่ 6 กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงเคลื่อนไหวอยู่นอกสภา ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภา รัฐบาล ปชป. และพรรคร่วมทนแรงกดดันอยู่ได้แปดเดือนก็เตรียมการยุบสภา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น ข่าวรัฐประหาร

มีการแก้รัฐธรรมนูญและให้ประกันแกนนำเสื้อแดง เป็นสัญญาณว่าจะยุบสภาและเลือกตั้งเร็วๆ นี้



การต่อสู้ 6 ยกที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ใช้เวลาถึง 6 ปีเต็ม มีรายละเอียดการต่อสู้ที่ซับซ้อนในแต่ละยก แต่ละปี ใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัด เป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดน่าศึกษายิ่งนัก ต่างกับสมัยก่อนที่ใช้เพียงการยึดอำนาจด้วยกำลังธรรมดาก็ปกครองต่อได้

แต่วันนี้ การยึดอำนาจธรรมดาและปกครองทำไม่ได้แล้ว ถ้าอยากชนะต้องได้กรรมการเสื้อเขียวเป็นพวก ต้องให้ผู้ตัดสินเสื้อดำเป็นพวก ถ้าอยากปกครองต่อต้องสร้างสถานะของการได้อำนาจว่ามาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย


ยกที่ 7 ศึกเลือกตั้งปี 2554 มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อสืบต่ออำนาจหรือโค่นอำนาจ จะเห็นว่าสัญญาณแข่งขันยังไม่ทันเริ่มต้น กรรมการไม่ทันลงสนาม นักกีฬาก็สู้กันไปแล้ว เพื่อสร้างโอกาสชนะให้สูงสุด

คนดูบางคนอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการแข่งขันเริ่มไปหลายวันแล้ว
ทำไมต้องทำอย่างนั้น?,
แต่ละกลุ่มมีเป้าหมายอย่างไร?
และมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับชีวิตประชาชน?

1. ปชป. จำเป็นต้องออกตัวก่อน ไม่สามารถรอให้มีการยุบสภาและให้มีการประกาศการเลือกตั้งจาก กกต. เพราะถ้ารอถึงวันนั้น กิจกรรมหลายอย่างจะทำไม่ได้ เพราะผิดกติกา

ช่วงนี้จึงเป็นนาทีทองของการโชว์ความหล่อของดาราลูกครึ่งไทย-อังกฤษ, ไทย-กัมพูชา การแจกของยังทำได้ ทางใกล้ใช้รถ ทางไกลก็ใช้เครื่องบิน การออกโทรทัศน์ก็ทำได้ง่ายมาก การชิงความได้เปรียบแบบนี้จะถูกทำด้วยอัตราความถี่สูงมาก จนกว่ากรรมการจะประกาศการเลือกตั้ง

2. เพื่อไทย จำเป็นต้องสกัดคู่แข่งหลังจากเงื้อหมัดค้างมานาน ด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จาก ปชป. และภูมิใจไทย รวม 10 คน แต่ฝ่ายไหนจะทำคะแนนได้มากน้อยในเกมสภา ยังไม่มีใครรู้

ในการอภิปรายครั้งนี้ มีคนชูคำขวัญว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการกินน้ำมันปาล์มก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน

3. การดึงตัว ส.ส. เพื่อไปเสริมสร้างกำลังในแต่ละพรรคไม่มีข้อจำกัด ขณะนี้ดาราดังก็มีค่าตัวคล้ายนักกีฬาฟุตบอล ข่าวว่าอยู่ระดับ 30-50 ล้าน (บาท ไม่ใช่ปอนด์)

4. เป้าหมายของ ปชป. อันดับหนึ่งคือได้ ส.ส. เกิน 250 คน ซึ่งยากมาก มีโอกาสไม่ถึง 5% เป้าหมายอันดับสองคือ ได้ ส.ส. เป็นที่หนึ่ง มากกว่าทุกพรรค ประมาณ 220 คน เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรกอย่างสง่าผ่าเผย เป้าหมายอันดับสามถ้าจำเป็นขอให้ได้ ส.ส. เป็นอันดับสอง ประมาณ 200 คนเพื่อสะดวกในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

5. เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย อันดับแรกคือ ให้ได้ ส.ส. เกิน 250 คน เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล คราวที่แล้วถูกรุมถล่มก็ยัง 233 เสียง แต่คราวนี้ ปชป. มีลูกเล่นเยอะมาก ลดแลกแจกแถม สารพัดแบบ จึงมีโอกาสไม่ถึง 20%

เป้าหมายอันดับสอง ให้ได้ ส.ส. เป็นอันดับที่หนึ่ง ประมาณ 220-230 คน เพื่อชิงการจัดตั้งรัฐบาลแม้จะมีโอกาสน้อย แต่ก็อาจจะใช้ในการบีบ ปชป. ในเกมรัฐสภาได้ต่อไป

6. เป้าหมายของพรรคร่วมและพรรคเล็ก อันดับหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะสกัดให้ ปชป. ได้ ส.ส. น้อยที่สุด ซึ่งควรจะต่ำกว่า 190 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้การต่อรองในการร่วมรัฐบาลง่ายขึ้น ส่วนเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 220-230 ก็ไม่เป็นไร เป้าหมายอันดับสอง คือทำให้พรรคตัวเองได้ ส.ส. มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่ควรน้อยกว่า 30 คน ถ้าจะให้ดีต้อง 50 คนขึ้นไป ถ้าพรรคเดียวทำไม่ได้ ก็ต้องมีการรวมพรรคเพื่อให้มีกำลังมากขึ้น

7. บทบาทของกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง มีข่าวว่าพรรคการเมืองใหม่จะส่งคนลงสมัครทั่วประเทศ ถ้าวางบทบาทดีก็อาจจะได้รับการเลือกตั้ง มีตัวแทนจากประชาชนจริงๆ เสียที แต่เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง

8. บทบาทของกลุ่มคนเสื้อแดงทุกกลุ่ม คนเสื้อแดงคงไม่มุ่งหวังว่าจะได้เป็นรัฐบาลแต่มีแนวร่วมเป็นพรรคเพื่อไทย ดังนั้น เป้าหมายของคนเสื้อแดงที่ปฏิบัติง่ายที่สุด คือสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะให้มากที่สุด ถ้ามีโอกาสส่งคนไปสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเพื่อไทย เสื้อแดงคงต้องทำ

แต่เรื่องนี้อาจจะไม่ส่งผลดีเพียงด้านเดียว ให้เตรียมรับปัญหาที่จะมีตามมาในภายหลังด้วย

เป้าหมายที่สองคือ ใช้เวทีหาเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม และเปิดโปงความอยุติธรรมชั่วร้ายในเรื่องต่างๆ ตลอดระยะเวลาหาเสียง

ส่วนการเคลื่อนไหวในเรื่องอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาการเลือกตั้ง ก็คงจะไม่ยุติลง โดยเฉพาะถ้ายังมีการกักขังคนเสื้อแดงไว้ในคุก การเคลื่อนไหวน่าจะแรงขึ้น ส่วนเรื่องคดี 91 ศพ และการก่อการร้ายคงจะต้องถูกผลักดันให้ขึ้นศาลอย่างรวดเร็ว ถ้ารัฐบาลตั้งรับไม่ดี เรื่องนี้อาจเป็นจุดตายของรัฐบาลได้

9. การชูนโยบายหาเสียง เราจะได้เห็นนโยบายประชานิยม, ประชานิยมกว่า และประชานิยมที่สุด ซึ่งจุดนี้คงมีนักวิชาการหลายคนช่วยกันชำแหละและอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ แต่จะมีนโยบายทางการเมืองที่เด่นอยู่เรื่องหนึ่ง คือการนิรโทษกรรม หมายถึงการนิรโทษกรรมทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อเขียว เสื้อฟ้า และสลิ่มอะไรก็ได้ โดยมีเหตุผลว่า เพื่อความสงบสุขของประเทศ

จะมีบางพรรคใช้เป็นจุดหาเสียง เพราะพวกเขารู้ว่าลึกๆ แล้ว คนไทยต้องการความสงบ และยอมรับนโยบายนี้ ไม่ว่าคู่กรณีจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ก็จะมีคนชูเป็นนโยบายขึ้นมาหาเสียงแน่นอน และจะกลายเป็นประเด็นทางทางการเมืองติดตามมาหลังเลือกตั้ง

10. สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจขณะเลือกตั้ง แรงบีบที่ทำให้ต้องเลือกตั้งเร็วขึ้น

ปัญหาข้าวยากหมากแพง เรื่องน้ำมันพืช และน้ำตาล ยังไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรง แม้จะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจรัฐบาล

แต่ที่น่ากลัวกว่า คือการที่รัฐบาลใช้เงินภาษีไปพยุงราคาแก๊ส น้ำมันดีเซล ซึ่งไม่น่าจะประคองต่อไปได้นานนัก เพราะต้องใช้เงินเป็นหมื่นๆ ล้าน รัฐบาลไม่กล้าปล่อยให้ลอยตัวในช่วงนี้ กลัวถูกด่า และคิดว่าได้คะแนนเสียงจากผู้ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งมีรถที่ใช้อยู่ประมาณ 5 ล้านคัน (เป็นรถบรรทุกและรถบัสประมาณ 1 ล้านคัน)

รัฐบาลลืมคิดไปว่านี่เป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ เพราะคนพวกนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่คนรวย มีรถเก๋งที่ใช้น้ำมันประเภทนี้ประมาณ 4.6 ล้านคัน คงเป็นรถแพงๆไม่ถึง 6 แสนคัน 4 ล้านคันเป็นรถเก๋งธรรมดาและรถเก่า แต่มีคนจนซึ่งใช้รถมอเตอร์ไซค์ประมาณ 17 ล้านคัน คนพวกนี้ไม่ใช่คนรวย ต้องเติมน้ำมันทุกวันจึงจะออกจากบ้านได้ ต้องไปโรงเรียน ไปทำมาหากิน ส่งของ รับจ้าง พวกเขาใช้งานสารพัดเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด

ทำไมคนพวกนี้ซึ่งจนอยู่แล้ว ต้องเสียภาษีน้ำมันสูงกว่า หรือว่ารัฐบาลไม่สนใจเสียงของคนพวกนี้ ในระบบภาษีน้ำมันไม่ควรมีสองมาตรฐาน

ช่วงเวลานี้มีการรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลลดภาษีน้ำมันหรือยกเลิกให้หมดทุกชนิด น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง และถ้าจะให้ดี ต้องกล้าบีบส่วนกำไรของผู้ค้าน้ำมันให้ลดลงไปอีก เพราะในปีนี้ วิกฤตการณ์ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน การตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอาจส่งผลร้ายให้กับระบบเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนทั้งประเทศในอนาคต



จุดหักเหเกิดขึ้นได้อย่างไร?

การต่อสู้ยกที่ 7 ที่เริ่มขึ้นไปแล้วก่อนกรรมการเป่านกหวีด คงอีกหลายเดือนกว่าจะสิ้นสุดลง ที่ยกมาให้ดูคือเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของกลุ่มต่างๆ แม้หลายคนมองว่าจะมีการเลือกตั้งสองครั้งซ้อน คือ 2554 และหลังกลางปี 2555 แต่ผลของการต่อสู้ยกนี้ก็สำคัญ เพราะอาจทำให้แนวทางการต่อสู้หักเหหลังจากรู้ผลแพ้ชนะ

ถ้า ปชป. ชนะแบบค่อนข้างใส ได้ตั้งรัฐบาล การเดินทางในระบอบรัฐสภาจะเดินต่อไปได้ไม่ยาก การต่อสู้ใน 5 ยกที่เหลือก็น่าจะต่อสู้กันไปในแนวทางนี้อีกหลายปี (ถ้าไม่มีเหตุการณ์สำคัญมาแทรก)

ถ้าเพื่อไทยชนะได้ที่หนึ่งแต่ไม่เกิน 250 คนคงไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ผู้กุมอำนาจจะใช้พ่อครัวคนเดิมให้ ปชป. จัดตั้งรัฐบาลแต่เปลี่ยนเมนูใหม่ เป็นรัฐบาลเส้นใหญ่ราดหน้ารวมมิตรแทนผัดซีอิ๊ว

การต่อสู้แบบกึ่งถนนกึ่งสภาก็ยังมีอยู่และลากยาวไปถึงยกที่ 8 ในกลางปี 2555 ซึ่งคนในบ้านเลขที่ 111 พ้นจากการกักขังทางการเมือง ถึงเวลานั้นก็ต้องมาดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้น

จุดหักเหที่สำคัญคือ ถ้าเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเกินครึ่ง แต่ไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหรือได้จัดตั้งรัฐบาลแต่ถูกล้มด้วยตุลาการภิวัฒน์หรือกองกำลัง

จุดนี้จะทำให้แนวทางการต่อสู้หักเห การต่อสู้อีก 5 ยกที่เหลือจะเป็นแบบไร้กติกา เพราะไม่มีใครยอมรับกรรมการอีกแล้ว

อิสรภาพของกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ก็จะไม่มีความหมายอะไร เพราะการต่อสู้ตั้งแต่ยกที่ 8 ไร้กติกา ไม่ต้องการเวที, ผู้กำกับเส้น, กรรมการตัดสิน สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่แนวทางรัฐสภา และการเลือกตั้งหลังกลางปี 2555 คงไม่เกิดขึ้นแล้ว

ถึงเวลานั้นค่อยเอาสถานการณ์ไปเปรียบเทียบกับประเทศในแอฟริกาเหนือดูว่าจะใกล้เคียงกับประเทศไหนและจะแก้ไขกันอย่างไรดี



.