.
ปล้นปืน 2 : 2554 - ยกระดับสงครามใต้!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 36
"ข้าศึกรุก เราถอย
ข้าศึกพัก เรากวน
ข้าศึกเพลีย เราตี
ข้าศึกถอย เราไล่ "
ประธานเหมา เจ๋อ ตุง
ธันวาคม ค.ศ.1936
กล่าวนำ
ล่วงเข้าปีที่ 8 ของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นดูจะไม่เป็นไปในทางบวกกับฝ่ายรัฐบาลเท่าใดนัก แม้จะยังคงมีวาทกรรมเดิมๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นประเภท "เราเดินมาถูกทางแล้ว" หรือ "ฝ่ายข้าศึกกำลังเพลี่ยงพล้ำ จึงออกมาใช้กำลังตอบโต้ฝ่ายเรา"
การนำเสนอวาทกรรมเช่นนี้อาจจะทำให้เราสบายใจได้บ้าง แต่ก็ดูจะเป็นความสบายใจแบบประเภทชั่วครู่ชั่วยาม เพราะไม่ทันข้ามคืน ความสบายใจเช่นนั้นก็อาจเปลี่ยนแปลงได้จากความรุนแรงชุดใหม่ที่เกิดขึ้น
ดังจะเห็นได้จากปฏิบัติการก่อความไม่สงบที่ต้องให้ความสนใจ ได้แก่ การลอบยิงชุดคุ้มครองพระสงฆ์ในช่วงปลายปี 2553 ในปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นชุดคุ้มครองถูกสังหาร โดยพระสงฆ์ไม่ได้ถูกทำร้ายแต่อย่างใด
และต่อมา รายการปีใหม่ก็เริ่มต้นด้วยการปล้นอาวุธจากฐาน บก. ร้อย ที่ จ. นราธิวาส อีกครั้ง พร้อมๆ กับการสังหารกำลังพลของทหารในฐานดังกล่าว!
หลังจากการเข้าตีฐาน บก. ร้อยแล้ว ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องตีความว่า สัญญาณความรุนแรงที่เริ่มขึ้นในปี 2554 จากการ "ปล้นปืน 2" เป็นเครื่องเตือนใจว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง
และอาจจะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดว่า ปฏิบัติการเหล่านี้กำลังเป็นสัญญาณของการ "ยกระดับสงคราม" ของขบวนการก่อความไม่สงบใช่หรือไม่?
หากปฏิบัติการปล้นปืน 2 เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการยกระดับสงครามจริงแล้ว ปี 2554 จะเป็นปีแห่งความรุนแรงอีกชุดหนึ่งที่กำลังเริ่มขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทฤษฎีสงครามยืดเยื้อ
โดยหลักการ สงครามก่อความไม่สงบ (หรือในความหมายของสงครามกองโจร) ถูกกำหนดไว้เป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นของการรับ การยัน และการรุก แม้จะบอกว่าแนวคิดในการจัดขั้นของสงครามเช่นนี้เป็นอิทธิพลของเหมาเจ๋อตุงที่เอาสงครามปฏิวัติจีนเป็นตัวแทน แต่ก็จะเห็นได้ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการมองสงครามก่อความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ของโลก มิใช่จะมองแต่เพียงว่าหลักการสงครามข้อนี้เป็นเรื่องของจีน และนำมาใช้พิจารณาการสงครามในพื้นที่อื่นไม่ได้
การจัดขั้นตอนสงครามเช่นนี้แตกต่างจากสงครามตามแบบโดยสิ้นเชิง เพราะสงครามก่อความไม่สงบมีลักษณะเฉพาะที่มีความเป็น "สงครามยืดเยื้อ" ที่ฝ่ายต่อสู้หรือกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น ไม่จำเป็นต้องมีตารางเวลาที่ชัดเจนเพื่อให้ได้ชัยชนะ
และการดำเนินการสงครามเพื่อให้ได้ชัยชนะ ก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับความเร็ว กล่าวคือ มิได้เป็นไปดังเข็มมุ่งของสงครามตามแบบที่ว่า "รุกเร็ว รบเร็ว ชนะเร็ว"
หากแต่สงครามที่เกิดขึ้นมีลักษณะทางธรรมชาติเป็นสงครามการเมือง มากกว่าเป็นสงครามการทหาร ในลักษณะของสงครามตามแบบที่คู่สงครามใช้กำลังรบเข้าต่อสู้กันโดยตรง และเป็นกำลังรบที่มีแบบแผนไม่แตกต่างกัน (หรือบางคนอาจจะบอกว่าเป็นลักษณะของ "สงครามสมมาตร")
ฉะนั้น ในความเป็นสงครามการเมือง ด้านหนึ่งพวกเขาต้องการเวลาสำหรับทำงานการเมือง
เพราะในความเป็นจริงก็คือ กองกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่ในสถานะที่อ่อนด้อยกว่ากองกำลังของฝ่ายรัฐอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่อนด้อยกว่าในเรื่องกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ตลอดรวมถึงทรัพยากรต่างๆ ในการสงคราม
และที่สำคัญก็คือ กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายก่อความไม่สงบนั้น แทบไม่มีอะไรเหมือนกับฝ่ายรัฐบาลเลย (ดังนั้น สงครามที่เกิดขึ้นจึงทำให้นักทฤษฎีเรียกว่า "สงครามอสมมาตร")
ปรากฏการณ์ที่เหมาเรียกว่า "ข้าศึกเหนือกว่า เราด้อยกว่า" เป็นเงื่อนไขประการสำคัญในช่วงแรกของการเปิดการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งนักรบกองโจรทุกคนรู้ดีว่าเงื่อนไขเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในระยะเวลาหนึ่งในช่วงต้นของการสงคราม
ดังที่เหมาได้กล่าวว่า "ในขั้นที่แน่นอนขั้นหนึ่งของการสงคราม ข้าศึกจะสามารถได้ชัยชนะในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่ง ส่วนเราจะประสบความพ่ายแพ้ในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่ง แต่ทว่าข้าศึกกับเราต่างก็ถูกจำกัดอยู่แค่ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในขั้นที่แน่นอนขั้นหนึ่ง และในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจที่จะล้ำหน้าจนกระทั่งเป็นชัยชนะทั้งหมด หรือความพ่ายแพ้ทั้งหมดได้" (ประธานเหมาเจ๋อตุง, พฤษภาคม ค.ศ.1938)
ดังได้กล่าวแล้วว่า เงื่อนไขของปรากฏการณ์ "ข้าศึกเหนือกว่า เราด้อยกว่า" เป็นสัมพัทธ์ มิใช่สภาวะที่เป็นสัมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อเวลายืดเยื้อออกไปทำให้เกิดความเสียเปรียบของฝ่ายรัฐบาลที่มากขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้ความได้เปรียบของฝ่ายก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้นคู่ขนานกันไป
อันทำให้เหมาสรุปว่า "เมื่อถึงขั้นที่แน่นอนใหม่ขั้นหนึ่ง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในทางระดับความแข็งอ่อน และในทางสถานการณ์ความเหนือกว่าด้อยกว่า และบรรลุผลซึ่งข้าศึกแพ้เราชนะ" (ประธานเหมาเจ๋อตุง, พฤษภาคม ค.ศ.1938)
การเปลี่ยนสถานะที่เป็นสัมพัทธ์ที่รัฐบาลเหนือกว่าและผู้ก่อความไม่สงบด้อยกว่านั้น เกิดขึ้นผ่านกระบวนการใน 3 ขั้นตอน ได้แก่
- ขั้นที่ 1 เป็นระยะการรุกทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐบาล และการรับทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อความไม่สงบ
- ขั้นที่ 2 เป็นระยะการป้องกันทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐบาล และการเตรียมการรุกโต้ตอบของฝ่ายก่อความไม่สงบ
- ขั้นที่ 3 เป็นระยะการรุกโต้ตอบทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อความไม่สงบ และขณะเดียวกันก็เป็นการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐบาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าในขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การเดินทางไปสู่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐบาลนั่นเอง
หากพิจารณาดูจากประสบการณ์ของการก่อความไม่สงบทั่วโลกแล้ว จะเห็นได้ว่าพวกเขาใช้ยุทธศาสตร์ของ "สงครามยืดเยื้อ" ไม่แตกต่างกัน และทั้งยังใช้การกำหนดขั้นตอนสงครามไม่แตกต่างกัน
หรือในอีกด้านหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า ขั้นตอนทั้งสามไม่ใช่เป็นแค่เรื่องในทางทฤษฎีเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงก็เห็นได้ชัดเจนถึงลักษณะทั้ง 3 ขั้นดังกล่าวด้วย
แม้จะมีข้อถกเถียงของขบวนการก่อความไม่สงบในประเด็นเรื่องของพื้นที่ยุทธศาสตร์ในสงครามปฏิวัติว่าจะวางน้ำหนักไว้กับความเป็นเมือง หรือความเป็นชนบท อันจะทำให้ต้องเลือกเดินแนวทางในเรื่องของ "สงครามกองโจรในเมือง" หรือ "สงครามกองโจรในชนบท" ก็ตาม
แต่พวกเขาก็ไม่อาจปฏิเสธถึงลักษณะของความเป็นสัมพัทธ์ของเงื่อนไขการสงครามที่เกิดขึ้นว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธของนักรบกองโจร อย่างไรเสียก็จะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสงครามยืดเยื้อ และแบ่งเป็นตอนออกเป็น 3 ประการดังได้กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นกองโจรในเมือง หรือในชนบทก็ตาม
สงครามยืดเยื้อในภาคใต้
การกล่าวเป็นหลักการสงคราม หรือเป็นทฤษฎีในเบื้องต้นเช่นนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า โดยทั่วไปแล้ว บรรดานักรบกองโจรมองปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นจากการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ในทางยุทธศาสตร์อย่างไร หรืออย่างน้อยก็เป็นการทำความเข้าใจอย่างสังเขปว่า สงครามก่อความไม่สงบนั้นมีความแตกต่างจากสงครามตามแบบที่เป็นความคุ้นเคยของผู้นำการเมืองและผู้นำทหารทั้งหลาย และบางทีอาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจหรือความไม่คุ้นเคยก็แล้วแต่
พวกเขาจึงมักจะมีวาทกรรมเดิมประเภท "เราเดินมาถูกทางแล้ว" หรือไม่ก็ "ฝ่ายเรากำลังจะชนะแล้ว" เป็นต้น
แต่เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแต่สวนทางกับวาทกรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น
ดังนั้น ปรากฏการณ์ "ปล้นปืน 2" ที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับการตอกย้ำว่า จวบจนเข้าสู่ปีที่ 8 ของการทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบนั้น ฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังความมั่นคงของไทยยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์สงครามได้
และก็น่ากังวลว่าการปล้นปืนที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งอาจจะเป็นเสมือนการยั่วยุให้กองกำลังของฝ่ายรัฐ "ไม่อดทน" พอกับการทำงานการเมืองในพื้นที่ และหันกลับไปสู่การใช้มาตรการทางทหารเป็นหลักในการต่อสู้
เพราะคงต้องยอมรับว่าหลังจากปรากฏการณ์ "ปล้นปืน 1" (4 มกราคม 2547) แล้ว ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การพาตัวเองเข้าสู่สนามรบของสงครามก่อความไม่สงบของรัฐไทย โดยไม่ตระหนักว่า ยิ่ง "ควานหาปืน" ในท่ามกลางการสู้รบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ละเอียดอ่อนกับปัญหาทางการเมืองแล้ว นอกจากจะไม่พบปืนแล้ว รัฐไทยยังต้องพบกับ "กับดักสงคราม"
เหมือนเช่นบทเรียนของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียตที่ต้อง "ติดกับดัก" เช่นนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเวียดนามหรือในอัฟกานิสถานก็ตาม
กับดักสงครามเช่นนี้ไม่แตกต่างจากที่เหมาเจ๋อตุงกล่าวถึงกองทัพญี่ปุ่นต้องเข้ามาติดกับในจีน และต้องทุ่มงบประมาณและกำลังพลมหาศาลในการทำสงครามในจีน
แต่ในท้ายที่สุด เมื่อต้องเผชิญกับสงครามยืดเยื้อของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนแล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ค่อยๆ ถูกทอนกำลังจนความเหนือกว่าที่เคยเป็นมา กลายเป็นความอ่อนด้อยและเสียเปรียบ ซึ่งก็นำไปสู่การแพ้สงครามในเวลาต่อมานั่นเอง
บทเรียนเช่นนี้เป็นข้อเตือนใจอย่างดีกับสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย
อีกทั้งยังต้องตระหนักว่า การต่อสู้เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของรัฐ (ประเทศ) เท่านั้น หากแต่สงครามก่อความไม่สงบมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหนุนช่วยจากเวทีสากล ไม่ว่าจะเป็นสงครามในจีน เวียดนาม หรืออัฟกานิสถาน ล้วนแต่มีการสนับสนุนจากสากลเกิดขึ้นทั้งสิ้น
ในทางทฤษฎีการสงคราม เราจะกล่าวเสมอว่าปัจจัยภายในชี้ขาด ส่วนปัจจัยภายนอกเป็นเครื่องสนับสนุน แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ในสถานการณ์ที่ปัจจัยภายในล้วนดำเนินไปอย่างเพลี่ยงพล้ำและมักจะเป็นฝ่ายรับอยู่ตลอดเวลานั้น ปัจจัยภายนอกจะกลายเป็นแรงโถมสำคัญที่จะทำให้ดุลของความเป็นอสมมาตรของคู่สงครามนั้นเปลี่ยนไปได้ และอาจจะเปลี่ยนไปได้มากกว่าที่เราคิด เพราะเมื่อการหนุนช่วยจากเวทีสากลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลของความอ่อนแอของปัจจัยภายใน จะทำให้ฝ่ายก่อความไม่สงบยกระดับสงครามจากขั้นรับไปสู่ขั้นยันได้ไม่ยากนัก
อนาคต
ดังนั้นในปี 2554 หากปัจจัยในเวทีสากลถูกขับเคลื่อนได้เข้มข้นมากขึ้นจากการประชุมโอไอซีแล้ว ก็อาจจะต้องถือว่าสงครามในภาคใต้ไทยได้ถูกยกระดับขึ้นแล้ว ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงการยกระดับขึ้นสู่เวทีสากลเท่านั้น อาจจะต้องถือเป็นการยกระดับสงครามโดยรวมอีกด้วย
ฉะนั้น ผลของปรากฏการณ์ "ปล้นปืน 2" จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดด้วยความใส่ใจมากขึ้น และหากสงครามถูกยกระดับขึ้นได้จริงในปี 2554 แล้ว สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบของรัฐไทยในภาคใต้ ก็จะยิ่งลำบากและเหนื่อยยากมากขึ้นนั่นเอง
ปัญหาก็คือ อย่ามัวแต่คิดถึงสงครามชายแดนจนลืมสงครามปักษ์ใต้!
++
หมอตำแยกับเด็กดื้อ : ทหารกับการเมืองไทย 2554
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1587 หน้า 36
"ประชาชนไม่เคยยกเลิกเสรีภาพของพวกเขา
เว้นแต่ภายใต้ความหลงผิดบางประการ "
เอ็ดมันด์ เบิร์ก
นักปรัชญาชาวอังกฤษ (ค.ศ.1729-1797)
คําถามเก่าของการเมืองไทยยังคงตกทอดมาสำหรับปี 2554 ก็คือ ทหารจะยังคงมีบทบาทสูงในการเมืองหรือไม่ และถ้าจะมีต่อไปแล้ว พวกเขาจะมีอย่างไรเพื่อดำรงไว้ซึ่งบทบาทเช่นนั้น
คำถามประการแรกนั้น ตอบได้ไม่ยากนัก เนื่องจากเราสามารถพิจารณาจากบทบาทที่มีมาอย่างต่อเนื่องในปี 2553 โดยเฉพาะบทบาทในการ "ล้อมปราบ" ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทั้งในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553
ตลอดรวมถึงการทำหน้าที่เป็น "ผู้ทำคลอด" รัฐบาลปัจจุบัน ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลชุดนี้แม้จะไม่ใช่รัฐบาลทหารในตัวแบบเก่าของการเมืองไทย แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นในค่ายทหาร และดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจของทหาร
ฉะนั้น จากจุดกำเนิดของรัฐบาลในลักษณะเช่นนี้ กองทัพจึงเป็นมากกว่า "ผู้พิทักษ์" รัฐบาล (เช่น ในตำรารัฐศาสตร์) เพราะเมื่อกองทัพเป็น "หมอทำคลอด" เสียเองแล้ว กองทัพก็จะต้องทำหน้าที่ในการปกป้องรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะในอีกส่วนหนึ่งนั้น ผู้นำกองทัพเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่กองทัพให้ความไว้วางใจ ทั้งในการปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพ และในการต่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่กองทัพไม่ปรารถนา
ตลอดรวมถึงเหตุผลอื่นๆ ที่สำคัญที่เชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็น "หัวหอก" ที่จะใช้ต่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่ชนชั้นนำและผู้นำทหารไม่ต้องการ ดังจะเห็นได้จากการกระทำทุกอย่าง โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดผลกระทบทางการเมืองอย่างใดหรือไม่ เพียงเพื่อให้รัฐบาลนี้ดำรงอยู่
และแม้การกระทำเช่นนั้นจะมีค่าใช้จ่ายทางการเมืองเท่าใด แต่ดูเหมือนพวกเขาเชื่อว่า เมื่อ "ดีดลูกคิด" แล้ว พวกเขายอมจ่าย...จะสูงเท่าใดก็ยอมจ่าย เพราะรัฐบาลปัจจุบันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาในการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นอยู่
ดังนั้น คำถามว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทัพเป็นเสมือน "เปลือกหอย" และรัฐบาลเป็นตัว "เนื้อหอย" โดยอาศัยวาทกรรมทางภาษาของยุค 6 ตุลาคม 2519 เป็นเชิงเปรียบเทียบ ก็อาจจะไม่ตรง ดังได้กล่าวแล้วว่า รัฐบาลถือกำเนิดจากการทำคลอดของทหาร
ฉะนั้น การเปลี่ยนที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ผู้นำกองทัพจึงกลายเป็น "หมอตำแย" ในสภาพเช่นนี้ รัฐบาลจึงเป็นเสมือน "ลูกน้อย" ของกองทัพมากกว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของ "เปลือกหอย-เนื้อหอย" เช่นในปี 2519
(ส่วนจะเป็น "หมอเถื่อน" หรือไม่ ก็คงจะต้องไปว่ากันเองครับ!)
ปรากฏการณ์ "หมอตำแย" ของรัฐบาลเช่นนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการที่กองทัพสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างไม่มีอุปสรรค และจวบจนถึงปัจจุบัน ก็มองไม่เห็นถึงแนวโน้มในการจัดตั้ง "ระบบตรวจสอบ" ภายในกองทัพ หรือแม้จะกล่าวถึงระบบนี้จากภายนอกกองทัพก็เช่นกัน
และยิ่งพิจารณาย้อนกลับไปถึงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่า การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์เกิดขึ้นอย่างมาก ดังรายการจัดซื้อที่เป็นปัญหาแม้กระทั่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดแบบจีที-200 เรือเหาะ (ที่ถูกอ้างว่าซื้อไว้เพื่อใช้ในการตรวจการณ์ทางอากาศในจังหวัดชายแดนภาคใต้) รถหุ้มเกราะลำเลียงพลของยูเครน (ซึ่งต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์และยังใช้การจริงไม่ได้)
กรณีการจัดซื้อทั้ง 3 รายการใหญ่ เห็นคำตอบได้อย่างชัดเจนว่า เครื่องจีที-200 กลายเป็นเพียงกล่องพลาสติกเปล่าที่ติดแกนเหล็กไว้ และไม่ได้มีอุปกรณ์ใดๆ เพื่อให้สามารถใช้เป็น "เครื่องมือ" สำหรับกำลังพลตรวจจับวัตถุระเบิดได้จริง (แต่ก็มีคำรับประกันจากนักนิติวิทยาศาสตร์!)
ซึ่งเชื่อว่าในปี 2554 ชุดอุปกรณ์จีที-200 น่าจะถูกเก็บลงกล่องหมด และกำลังพลในสนามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อยู่บนความเสี่ยงกับการถูกวางระเบิดต่อไป
ส่วนเรือเหาะนั้น คาดว่าในปี 2554 ก็น่าจะยัง "เหาะ" ไม่ได้ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกอ้างสรรพคุณว่าจะใช้ในการตรวจการณ์ทางอากาศ ก็ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นจริงเพียงใดในทางปฏิบัติ
สำหรับรถหุ้มเกราะจากยูเครนนั้น จนถึงสิ้นปี 2553 ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะใช้ได้จริง และ 2554 คาดว่าก็น่าจะยังคงเป็นปัญหาต่อไป
ส่วนในอีกเหล่าทัพหนึ่ง ก็มีการจัดซื้อเครื่องบินรบกันอย่างเอิกเกริก การจัดซื้อมีรายการของแถมต่างๆ มากมาย จนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในกองทัพมาทุกยุคทุกสมัยกับปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงที่มีราคาแพง
ตลอดรวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อกองทัพอากาศไทยตัดสินใจเปลี่ยนแบบแผนการใช้เครื่องบินรบหลัก จากเดิมที่อยู่ในระบบอเมริกัน เป็นระบบสวีเดน
ซึ่งปัญหาเช่นนี้น่าสนใจที่จะต้องติดตามดูในอนาคตว่าจะส่งผลต่อขีดความสามารถทางยุทธการอย่างไรหรือไม่ แม้ปี 2554 อาจจะเป็นการฉลองว่าเป็น "ปีของกริพเพน" ในกองทัพอากาศไทยก็ตาม
ปรากฏการณ์อย่างสังเขปเช่นนี้ ยังรวมถึงการได้มาซึ่งงบประมาณต่างๆ ของกองทัพ และรัฐบาลซึ่งมีฐานะเป็น "ผู้ถูกทำคลอด" นั้น พร้อมที่โอนอ่อนผ่อนตามกับความต้องการของผู้นำทหารในแทบทุกกรณี
แม้ในวงการวิเคราะห์พยายามจะชี้ให้เห็นในอีกด้านหนึ่งว่าผู้นำรัฐบาลปัจจุบันดูจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกรณียุบพรรคแล้ว อันทำให้เกิดการตีความว่า เขาพร้อมที่จะแสดงบท "เด็กดื้อ" กับผู้นำกองทัพได้ไม่ยากนัก เพราะอย่างน้อยเขารู้เสมอ เช่นเดียวกับที่ผู้นำกองทัพก็รู้อยู่แก่ใจว่า กองทัพยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการของรัฐบาลชุดนี้ต่อไป (ดังได้กล่าวแล้วในข้างต้นว่า การใช้บริการเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงให้รัฐบาลอยู่ได้ก็เพียงพอแล้ว)
ข้อวิเคราะห์ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นประเด็นสำหรับ 2554 ว่าในที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์ "หมอตำแยการเมือง" จะทำให้กองทัพอยู่ในฐานะที่เหนือกว่ารัฐบาล (หรือปรากฏการณ์ "การควบคุมพลเรือนโดยทหาร") หรือว่ารัฐบาลจะสามารถสร้างปรากฏการณ์ "เด็กดื้อ" และท้าทายกองทัพ เพื่อสร้างภาพว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ในความควบคุมของผู้นำกองทัพ
แต่ก็มิได้หมายความว่าจะนำไปสู่ "การควบคุมทหารโดยพลเรือน" ซึ่งเป็นแนวคิดของวิชารัฐศาสตร์ในประเด็นเรื่องทหารกับการเมือง
หากแม้จะเกิดปรากฏการณ์ "เด็กดื้อ" ก็ใช่ว่ารัฐบาลไม่ต้องพึ่งพากองทัพเพื่อความอยู่รอดของตัว เพราะภายใต้เงื่อนไขของการต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น
รัฐบาลในปี 2554 น่าจะยังคงต้องพึ่งพากองทัพไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อไป
แม้นว่าการเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งช่วงใดของปี 2554 โดยเฉพาะหากเกิดในช่วงต้นปีแล้ว การต้องพึ่งพาดังกล่าวก็น่าจะมีอยู่สูง เพราะกลไกกองทัพจะยังคงถูกใช้เพื่อทำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการของชนชั้นนำและผู้นำทหารต่อไป
ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์พลิกผันมากนักในปี 2554 รัฐประหารอาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่จำเป็น เพราะราคาของการยึดอำนาจสูงเกินไป และอาจจะเป็นเครื่องมือที่ไม่ให้ความคุ้มค่า เว้นเสียแต่จะเกิดเหตุสำคัญบางอย่าง จนชนชั้นนำและผู้นำทหารเชื่อว่ารัฐประหารเป็นคำตอบประการสุดท้ายแต่เพียงประการเดียวของการแก้ปัญหาการเมืองไทย
และเมื่อนั้นเราก็น่าจะเห็นการกำเนิดของ "รัฐบาลแห่งชาติ" จริงๆ เสียที
เพราะในช่วงระยะเวลาที่ผ่านๆ มาได้มีการเคลื่อนไหวในทิศทางดังกล่าวมาพอสมควร แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ ซึ่งหากจะเกิดจริงได้ ก็จะต้องพักใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
เครื่องมือที่จะถูกใช้น่าจะเป็นเรื่องของ "เสนาภิวัตน์" อันเป็นการใช้กลไกทหารเพื่อการแทรกแซงทางการเมืองไม่ใช่ในลักษณะของการยึดอำนาจ แต่เป็นการใช้ในลักษณะของการสร้างแรงกดดันหรือเป็นในลักษณะของผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะเรียกว่ากองทัพจะแสดงบทบาทเป็น "ผู้จัดการ" ทางการเมืองก็คงไม่ผิดนัก และถ้าการจัดตั้งรัฐบาลเกิดหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว บทบาทนี้ก็จะกลายเป็น "หมอตำแย" นั่นเอง
นอกจากนี้ เพื่อให้ผลทางการเมืองออกมาดังความต้องการ คู่ขนานกับบทบาทของกองทัพจึงน่าจะเป็นเรื่องของ "ตุลาการภิวัตน์" ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ใช้ได้ในการเมืองไทย ดังปรากฏการณ์ของกรณีการยุบพรรค เป็นต้น แต่ก็ไม่แตกต่างกันแม้ว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์จะดูดี เพราะมีการอ้างมาตราหรือตัวบทกฎหมายรองรับ แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน
ฉะนั้น ทิศทางของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในการเมืองไทยในปี 2554 จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการต่อสู้โดยการใช้ "ปืน" และ "ค้อน" หรือกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่าถ้าไม่ใช่ "ทุบด้วยปืน" ก็ "ทุบด้วยค้อน"
และแม้ว่าจะต้องจ่ายด้วยราคาสูง แต่ก็เชื่อว่าคุ้มราคา เพราะยังทำให้ชนชั้นนำและผู้นำทหารสามารถควบคุมระบบการเมืองไว้ได้ (อย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่งข้างหน้า)
ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มการเมืองที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลก็มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด แม้ในช่วงปลายปี 2553 รัฐบาลจะทำ "สงครามชิงมวลชน" ด้วยการออกโฆษณา "โครงการประชานิยม" ทุกรูปแบบด้วยมูลค่ามหาศาล ก็น่าติดตามว่า ประชานิยมของรัฐบาลปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนในการช่วงชิงมวลชนจากกลุ่มการเมืองเดิมได้หรือไม่ (ไม่ว่าจะเอาหรือไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม)
ดังนั้น ในปี 2554 การขับเคลื่อนสงครามประชานิยมของรัฐบาลน่าจะเข้มข้นขึ้น และชนบทจะเป็น "สนามรบทางการเมือง" ที่รุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน
ถ้าชนบทเป็น "สนามรบทางการเมือง" สำหรับปี 2554 บทบาทของกองทัพในสงครามเช่นนี้ก็น่าสนใจด้วยเช่นกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.) ซึ่งเป็นองค์กรตกค้างจากยุคสงครามคอมมิวนิสต์จะยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับกองทัพในสงครามการเมืองชุดปัจจุบันหรือไม่ ดังนั้น แนวรบในชนบทของปี 2554 จะเห็นการขยายบทบาททั้งของรัฐบาลและกองทัพในสงครามแย่งชิงมวลชนมากขึ้น
น่าเสียดายว่า บทบาทของการต่อสู้ที่เข้มแข็งของกองทัพเช่นนี้เกิดขึ้นกับบริบทของการเมือง โดยเฉพาะกับศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ แต่กับสงครามอีกชุดหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะเป็นเรื่องราวที่ห่างไกลจาก "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์"
ฉะนั้น ปี 2554 บทบาทของกองทัพในสงครามภาคใต้ก็จะเป็นเช่นที่เห็นในปี 2552-2553 และยังไม่เห็นสิ่งที่จะเป็น "จุดผกผัน" ของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้แต่อย่างใด กองทัพยังไม่สามารถพลิกให้ตนเองเป็น "ผู้ดำรงความริเริ่ม" ในสนามรบของภาคใต้ได้แต่อย่างใด
ฝ่ายตรงข้ามต่างหากที่ดูจะเป็นผู้ดำรงสถานะดังกล่าวได้
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผู้นำทหารจะยังคงได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นนำและปีกอนุรักษ์นิยมในการเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลง
ปัญหาก็คือ ในขณะที่ความท้าทายของปี 2553 ยังไม่จางหายไป โดยเฉพาะจากกรณีการล้อมปราบที่เกิดขึ้น...ในปี 2554 กองทัพจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อีกอย่างแน่นอน และผู้นำทหารจะเป็น "หมอตำแย" ต่อไปอย่างไร
และขณะเดียวกันในปีเช่นนี้ รัฐบาลที่มีกองทัพเป็น "หมอตำแย" ตนเองนั้น จะสามารถแสดงตนว่าเป็น "เด็กดื้อ" ที่เป็นอิสระจากกองทัพได้เพียงใด?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย