http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-15

เผด็จการ และ ธุรกิจล้นเกินในสื่อไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
เผด็จการ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 30


หนึ่งในสิ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน สมัยที่นาซีเรืองอำนาจ คือหุ่นมนุษย์ที่ทำด้วยแก้ว มองเห็นเส้นเลือดและอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งทำงานสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว

หุ่นนี้ไม่ได้เจตนาจะให้ความรู้ด้านกายวิภาคและสรีรวิทยา แต่ต้องการจะบอกว่ารัฐคือร่างกายมนุษย์ที่ทุกชิ้นส่วนย่อมทำงานสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว จึงมีระบบภายในที่เป็นระเบียบ ไม่ว่าอะไรจะเข้าไปก็สามารถเลือกใช้ประโยชน์หรือขจัดออกมาได้ มีศัตรูรุกราน ก็มีกลไกที่จะป้องกันตน ปราบศัตรูให้พ่ายแพ้หรือล้อมปราบและขจัดออกไปในที่สุด

ระเบียบในร่างกายมนุษย์นี้มาจากไหน นาซีไม่ได้บอก แต่ปราศจากระเบียบดังกล่าว อินทรียวัตถุใดก็ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะกลไกภายในจะไม่ทำงาน หรืออาจทำงานในเชิงขัดแย้งกันเอง

แน่นอน หากเป็นรัฐ ระเบียบย่อมมาจากนาซีซึ่งมีฮิตเลอร์เป็นผู้นำ



น่าสังเกตนะครับว่า "ระเบียบ" เป็นเป้าหมายสำคัญของระบอบเผด็จการทุกประเภท รัฐจึงมักถูกเปรียบเทียบเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถแสดงถึง "ระเบียบ" บางอย่างได้เสมอ เช่น เป็นร่างกายมนุษย์, เป็นเครื่องจักร, เป็นต้นไม้, เป็นปีรามิดหรือพระเจดีย์ ฯลฯ อันมี "ระเบียบ" คือการทำงานที่สอดประสานของส่วนต่างๆ หรือแรงโน้มถ่วง หรือกฎเทอร์โมไดนามิก ฯลฯ คอยกำกับ (แม้แต่ความวุ่นวาย ยังมี "ระเบียบ" ของความวุ่นวายเลยครับ)

นักวิทยาศาสตร์คิดว่าตัวกำลังค้นหา "ระเบียบ" ที่คอยกำกับปรากฏการณ์ต่างๆ อะไรที่ไม่เป็นไปตาม "ระเบียบ" ที่ได้คิดค้นขึ้น ก็ถือว่าเป็นสิ่ง "เหนือธรรมชาติ" (แปลว่า "งมงาย")

ฉะนั้น อาจจะโดยไม่เจตนา วิทยาศาสตร์จึงช่วยทำให้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ "ระเบียบ" ของรัฐ ที่เผด็จการโฆษณาว่าต้องมีดูเป็นศักดิ์เป็นศรีขึ้นแยะ

แต่น่าประหลาดนะครับ หากรัฐเกิด "ระเบียบ" ได้ดีเหมือนร่างกายมนุษย์ ความจำเป็นต้องมีฮิตเลอร์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะกลไกทุกอย่างทำงานของมันไปได้เอง "ระเบียบ" ที่เผด็จการใช้เป็นความชอบธรรมแห่งอำนาจที่ไม่มีการถ่วงดุลย์ของตน จึงกลับบ่อนทำลายเผด็จการเสียเอง

ดังนั้น หนึ่งในวิธีการที่เผด็จการต่างๆ จะรักษาอำนาจของตนไว้ได้ก็คือ การทำให้เกิดความไร้ระเบียบขึ้นในรัฐ หรือในการบริหารของตน


วิธีที่ฮิตเลอร์ใช้ก็คือ เขาจะสั่งงานลูกน้องและนายทหารให้ปฏิบัติงานเกือบจะซ้ำซ้อนกัน กล่าวคือไม่ค่อยมีอะไรต่างกันมากนัก เพื่อให้คนเหล่านี้แข่งขันกันเอง หรือแม้แต่ขัดแย้งกันเองเพราะอำนาจหน้าที่ทับซ้อนกัน

ด้วยเหตุดังนั้นคนใกล้ชิดฮิตเลอร์จึงเกลียดขี้หน้ากันอย่างยิ่ง เกอริงดูหมิ่นฮิมเลอร์หัวหน้ากองกำลังเอสเอส ซึ่งโตมาจากคนเลี้ยงไก่ ในขณะที่เกิบเบิลส์เหยียดหยามทั้งเกอริงและฮิมเลอร์ เพราะเขาเชื่อว่าตนเองเป็นคนเดียวที่สามารถเข้าถึงลัทธินาซีได้อย่างแท้จริง ส่วนริบเบนทรอปซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศดูถูกทุกคน ในขณะที่ทุกคนก็ชิงชังเขาอย่างเข้าไส้

จะเอาชนะศัตรูได้ก็ต้องแข่งขันแสวงหาความโปรดปรานของฮิตเลอร์คนเดียว

นอกจากความไร้ระเบียบทำให้ไร้คู่แข่งแล้ว ความไร้ระเบียบยังให้ความชอบธรรมแก่อำนาจของเผด็จการเหนือประชาชนด้วย เพราะประเทศกำลังถูกคุกคามจากภัยคอมมิวนิสต์, จีนแดง, เวียดนาม, เขมร, ขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง, ผู้ก่อการร้ายแยกดินแดน, ผู้ดูหมิ่นสถาบัน ฯลฯ เราจึงควรทนต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ

เผด็จการต้องไม่มีรายละเอียดด้วยนะครับ เอาพลังทั้งหมดทุ่มไปกับเป้าหมายที่สง่างาม, สูงส่ง, เป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม แต่ไม่สนใจว่าจะบรรลุวิถีทางนั้นได้อย่างไร หรือเมื่อบรรลุแล้วจะแก้ปัญหาที่ตามมาได้อย่างไร


ฮิตเลอร์ไม่เคยใส่ใจกับรายละเอียด เขาพูดแต่ว่าเยอรมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เหลือลูกน้องและกองทัพไปหาทางทำเอาเอง และโดยไม่รู้เรื่อง บางทีเขากลับปลดคนเก่งๆ ที่สามารถทำสิ่งที่เขาต้องการออกจากตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีคลังคนแรก ซึ่งเป็นพ่อมดทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว

ฮิตเลอร์รู้แต่ว่า พื้นที่เพื่อชีวิตของเยอรมันคือฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นของโซเวียตรัสเซีย แต่เขาให้ความสนใจน้อยเกินไปกับจังหวะที่จะเปิดสงครามกับรัสเซีย ฉะนั้น อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว คือเปิดสงครามกับรัสเซียเมื่อยังไม่สามารถปราบอังกฤษลงได้สำเร็จ

และในที่สุดก็แพ้สงครามราบคาบ



เผด็จการไม่เคยสนใจรายละเอียดเหมือนกันหมด รุกเข้าไปยึดเสียมราบ พระตะบองให้ได้ภายในสามวันเจ็ดวัน โดยไม่ต้องสนใจว่า สมรรถนะของกองทัพไทยจะทำได้หรือไม่ สมมติว่ายึดได้ จะต่อสู้กับสงครามกองโจรซึ่งเขมรเชี่ยวชาญอย่างมากได้อย่างไร เวียดนามจะยอมหรือไม่ นานาชาติจะกดดันไทยอย่างไร และเราจะเผชิญแรงกดดันนั้นอย่างไร

เป้าหมายที่ไร้รายละเอียดเหล่านี้แหละ ที่เปิดเสรีให้แก่การตีความของลูกน้อง ซึ่งมักจะตีความอย่าง "เดาใจ" เจ้านายมากกว่าเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ว่ากันที่จริงแล้วความหฤโหดของกองทัพนาซีที่ทำกับประชาชนผู้ถูกยึดครอง จำนวนมากไม่ได้เกิดจากคำสั่งของท่านฟือเรอร์ แต่เป็นการตีความของลูกน้องว่าควรทำอย่างนี้จึงจะถูกใจท่าน

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นาซีเชื่อในความเหนือกว่าของชนชาติอารยัน ผมนึกถามตัวเองว่าจำเป็นหรือไม่ที่เผด็จการต้องเหยียดเชื้อชาติหรือเหยียดผิวเหมือนนาซี อาจไม่จำเป็นหรอกครับ แต่ในขณะเดียวกันลัทธิเหยียดเชื้อชาติหรือเหยียดผิวนี้ ที่จริงแล้วคือการสร้างศัตรูภายในขึ้นต่างหาก

และศัตรูภายในนี่แหละครับที่ช่วยเสริมอำนาจของเผด็จการทุกชนิด ในขณะที่คนดำในสหรัฐถูกกีดกันต่างๆ นั้น คนดำก็เป็น "ภัยคุกคาม" ไปพร้อมกัน มันอาจบ้าระห่ำลุกขึ้นเผาเมือง หรือบังอาจผสมพันธุ์กับลูกหลานผิวขาว จนทำให้ "อารยธรรม" แปดเปื้อน ไม่ทำอะไรเลย คนดำทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นนักปล้น, นักฆ่า, นักข่มขืน, นักค้ายา, ฯลฯ

ในเมืองไทย นับตั้งแต่เรามีเส้นเขตแดนที่มหาอำนาจตะวันตกยอมรับ (แต่พวกเราบางกลุ่มกำลังไม่ชอบใจในปัจจุบัน) ศัตรูภายนอกของรัฐบาลไทยก็หมดไป จากนั้นเป็นต้นมาเราก็เฝ้าสร้างศัตรูภายในขึ้นนานาชนิด นับตั้งแต่ยิวแห่งบุรพทิศมาจนถึงผู้แยกดินแดนในภาคอีสานและภาคใต้ คอมมิวนิสต์ คนขายชาติ นักการเมือง ทักษิณ เสื้อแดง ฯลฯ

และอย่างที่กล่าวข้างต้น ศัตรูภายในให้ความชอบธรรมแก่อำนาจเผด็จการ (ซึ่งออกมาในรูปต่างๆ ได้มากกว่าหนวดจิ๋มเหนือริมฝีปาก เช่น ตุลาการภิวัตน์, อำนาจบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, มาตรา 112, รัฐนิยม ฯลฯ)

ศัตรูภายในจึงมีความจำเป็นแก่เผด็จการ ผมคิดยังไงก็คิดไม่ออกว่า เผด็จการอะไรที่ไม่สร้างและเลี้ยงศัตรูภายในเอาไว้



เวลาพูดถึงเผด็จการ เรามักนึกถึงบุคคล หนวดจิ๋มบ้าง, หนวดเฟิ้มบ้าง, แถมเคราด้วยอีกบ้าง, หน้าตี๋บ้าง, หน้าแป๊ะบ้าง ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เผด็จการไม่จำเป็นต้องหมายถึงการผูกขาดอำนาจเด็ดขาดไว้ที่บุคคลคนเดียวเสมอไป ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเผด็จการที่เป็นตัวบุคคลคนเดียวนี้เกิดขึ้นได้น้อยและเกิดขึ้นได้ยาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคณะบุคคลที่มองไม่ค่อยเห็นหน้าตาชัดๆ ร่วมกันเผด็จอำนาจไว้ในกลุ่มของตนเองมากกว่า (ที่เรียกกันว่าคณาธิปไตยหรือ oligarchy)

การเผด็จอำนาจของคณาธิปไตยมักไม่ทำในลักษณะที่มองได้ว่าเป็นไป "ตามอารมณ์" แต่จะสร้าง "ระเบียบ" บางอย่างขึ้นสำหรับการกดขี่ปราบปราม โดยเฉพาะกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในกำกับควบคุมของตน จุดมุ่งหมายหลักของ "ระเบียบ" ดังกล่าวคือ ลิดรอนอำนาจต่อรองของคนกลุ่มอื่นลง ให้น้อยกว่ากลุ่มของตนหรือไม่มีเลย

ว่ากันที่จริงแล้วเผด็จการในเมืองไทยไม่เคยเป็นบุคคลเลย แม้เราอาจใช้บุคคลเป็นสัญลักษณ์ก็ตาม (จอมพลป., สฤษฎิ์ เป็นต้น) แต่เป็นการผูกขาดอำนาจของคณาธิปไตยมากกว่า มีหลายคนหรือหลายกลุ่มถือหุ้นอยู่ในนั้น มองออกบ้าง มองไม่ค่อยออกบ้าง

สัญลักษณ์เหล่านี้จึงไม่จิรังยั่งยืน ถูกสภาโหวตออกบ้าง, ถูกทำรัฐประหารซ้อนบ้าง, ถูกจี้ให้ลาออกบ้าง ฯลฯ แต่กลุ่มหรือคณะที่เผด็จอำนาจไว้ต่างหากที่ดูจะจิรังยั่งยืนกว่า

คณาธิปไตยกับเผด็จการโดยชนชั้นนั้นเหลื่อมซ้อนกันมาก หากคณาธิปไตยสามารถสืบทอดอำนาจนั้นแก่ลูกหลานต่อไปได้เรื่อยๆ ก็กำลังเคลื่อนย้ายไปสู่ชนชั้น แต่ต้องระวังนะครับว่า ไม่ใช่ลูกของนายกฯ จะต้องได้เป็นนายกฯ ต่อไป แต่สืบทอดสถานะในกลุ่มอำนาจต่อไปได้ระดับหนึ่งต่างหากที่สำคัญกว่า ลูกนายแบ๊งค์ที่คอยให้ทุนอุดหนุนทำรัฐประหาร ก็ยังคงให้ทุนทำรัฐประหารต่อไปเหมือนพ่อ

อย่างนี้แหละครับที่คณาธิปไตยกำลังเหลื่อมซ้อนกับชนชั้นมากขึ้น



อํานาจที่ถูกเผด็จไปในระบอบเผด็จการทุกประเภทนั้น ไม่ใช่แต่เพียงอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจเท่านั้นนะครับ ที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นอย่างยิ่งก็คืออำนาจทางวัฒนธรรม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนที่คุณจะเผด็จอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ คุณต้องเผด็จอำนาจทางความรู้สึกและอารมณ์ของเหยื่อให้ได้เสียก่อน เช่น เราจะหลั่งเลือดจนหยดสุดท้ายเพื่อรักษาบุรณภาพทางดินแดนของชาติไว้ให้ได้แม้แต่หนึ่งตารางนิ้ว ฟังแล้วจะขนลุกซู่ ความดันโลหิตพุ่ง อะดรีนาลีนหลั่ง และพร้อมจะส่งลูกหลานไปตาย อาการอย่างนี้จะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับ "วัฒนธรรม" ครับ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นความรู้ซึ่งสังคมได้กล่อมเกลาเรามาแต่เล็กแต่น้อย

เผด็จการต้องกุม "ความรู้" ของสังคมให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่อาจกุมอารมณ์ความรู้สึกได้ และถ้ากุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ก็เลิกพูดถึงการเผด็จอำนาจด้วยวิธีต่างๆ ที่ผมกล่าวมาแต่ต้นเสียเลย เพราะทำไม่ได้

ฉะนั้น เงื่อนไขสำคัญของเผด็จการคือการเผด็จ "ความจริง" กล่าวคือเผด็จการต้องสร้างและพัฒนา "ความจริง" เอง อย่าปล่อยให้เป็นพื้นที่เสรีที่ใครๆ ก็มีสิทธิ์สร้างขึ้นได้ตามใจชอบเป็นอันขาด

เพื่อบรรลุอำนาจตรงนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจดิบผ่านดีเอสไอและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างเดียว อันเป็นวิธีที่ไม่ค่อยฉลาดนัก หากยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากที่แนบเนียนกว่า และผู้คนชื่นชมกว่า

ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวก็ได้นะครับ เช่น การให้รางวัลชนิดต่างๆ แก่ผู้สร้างและสืบสาน "ความจริง" ประเภทที่ตรงกับการผูกขาดของเรา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์, ศิลปินแห่งชาติ, นักวิจัยดีเด่น, เมธีวิจัยอาวุโส, แผ่นเสียงทองคำ, สุพรรณหงส์, ฯลฯ

ถ้าเห็นด้วยกับผมว่า เผด็จการมีความซับซ้อนกว่าที่เรามักเข้าใจอย่างง่ายๆ ด้วยหนวดจิ๋มของฮิตเลอร์ สักวันหนึ่งเมื่อเราหลุดพ้นจากรัฐบาลมือเปื้อนเลือดแล้ว ก็ใช่ว่าเราจะได้บรรลุถึงประชาธิปไตยไม่

ประชาธิปไตยเป็นสภาวะอุดมคติที่ไม่มีวันบรรลุถึง แต่ต้องต่อสู้ผลักดันเพื่อขยายขอบเขตของมันให้กว้างและลึกขึ้น จนลงไปสู่ระดับสมอง ทำไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด แม้เป็นสภาวะอุดมคติ แต่ก็ต้องยึดถือมันไว้ อย่างน้อยก็เพื่อบ่อนทำลายเผด็จการซึ่งซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งในใจเราเองด้วย


++

ธุรกิจล้นเกินในสื่อไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
facebook_com/MatichonOnline


ไม่นานมานี้ มูลนิธิฟรีดิค เอแบร์ท ได้แถลงรายงานการวิจัยเรื่อง "ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย" ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย เป็นรายงานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาแก่ผมไปด้วย

จากการรวบรวม คะแนนตัวชี้วัดต่างๆ 4 หัวข้อ แต่ละหัวข้อเต็ม 5 คะแนน ได้ดังนี้ เสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน 2.6 คะแนน ความหลากหลายของสื่อในประเทศ 2.4 คะแนน การกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีการเปลี่ยนแปลงสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง 3.6 คะแนน มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ 2.3 คะแนน รวมดัชนีชี้วัดประเทศไทยได้ 2.72 คะแนน

จะเห็นได้ว่าในสี่หัวข้อ สอบตกไปสองตัว ได้ปริ่มๆ หนึ่งตัว ส่วนข้อที่ได้คะแนนมากนั้น ผมก็สงสัยเหลือเกินว่าวัดความเป็นสาธารณะอย่างไร แม้ไม่ตั้งข้อสงสัยอะไรเลยกับโทรทัศน์ไทย ก็ยังต้องถามถึงช่อง 11 และการคุมสื่อโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ผ่านการโฆษณา และการคุมสัมปทาน คะแนนอันสูงนี้ได้มาอย่างไรไม่ทราบ ถึงกระนั้นก็ทำให้คะแนนรวมของสื่อไทยคาบเส้น คือสอบไม่ตกไปได้


งานวิจัยได้ชี้ว่า ภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองของไทยทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ความตกต่ำของสื่อไทยหลังการรัฐประหารที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างหนักนั้น มีคนพูดถึงมามากแล้ว และใครๆ ก็พอมองเห็นความตกต่ำนี้ได้ชัดอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เพราะสื่อเลือกข้าง ตราบเท่าที่สื่อไม่ได้ปิดบังว่าตัวอยู่ข้างไหน จะเลือกข้างอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นไร แต่สื่อเลือกที่จะไม่รายงานข่าวหรือรายงานข่าวของฝ่ายตรงข้ามอย่างบิดเบือนต่างหากที่ถือได้ว่าทรยศต่อวิชาชีพของตน

แต่การที่สื่อเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นพอเข้าใจได้ เพราะรัฐใช้เครื่องมือทุกอย่างในควบคุมของตนเพื่อรังแกสื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น, ไปจนถึงการกุมเงินโฆษณาจำนวนมหึมาของรัฐวิสาหกิจไว้ในมือ อย่างไรก็ตาม สื่อควรตระหนักด้วยว่า เส้นสำหรับการเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นมีสองเส้นให้เลือก เส้นแรกคือเส้นที่ถอยไปจนปลอดภัยที่สุด กับเส้นที่อยู่หน้าสุดซึ่งเปิดให้รุกคืบขยายพื้นที่เสรีภาพของตนต่อไปได้เรื่อยๆ

สื่อส่วนใหญ่เลือกจะถอยไปอยู่เส้นที่ปลอดภัยสุด และการที่สื่อเลือกเส้นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันของสื่อไทยไม่ใช่เป็นการแข่งขันด้านคุณภาพเท่ากับการแข่งขันด้านธุรกิจ (ทั้งๆ ที่งานวิจัยก็รายงานว่าสื่อไทยมีการแข่งขันกันรุนแรง)

และด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า มีความอ่อนแอบางอย่างในตัวสื่อของไทยอยู่แล้ว ที่ทำให้ภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองสร้างความเสื่อมโทรมแก่สื่อได้มากถึงเพียงนี้ งานวิจัยของมูลนิธิก็ได้กล่าวถึงไว้บางส่วนด้วย เช่น เมื่อมองจากแง่การเติบโตของเส้นทางอาชีพการงาน อาชีพสื่อให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น แต่สื่อมีอำนาจในสังคมสูง จึงมีความเสี่ยงว่าสื่อเองอาจใช้อำนาจนั้นไปในทางที่ขัดกับวิชาชีพของตน ในขณะเดียวกัน อำนาจต่อรองของคนทำสื่อกับทุนกลับมีน้อย คนทำสื่อของรัฐมีกฎหมายห้ามไม่ให้รวมตัวกัน สื่อเอกชนส่วนใหญ่ถูกขัดขวางจากนายทุนมิให้ทำสหภาพ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมสงสัยอย่างยิ่งว่า ความอ่อนแอของสื่อไทยนั้นมาจากความเป็นธุรกิจของสื่อเอง


สื่อกลายเป็นธุรกิจ และเป็นธุรกิจใหญ่ที่ทำเงินได้มากเป็นปรากฏการณ์ที่คงหลีกไม่พ้น เพราะเกิดขึ้นทั่วไปในโลก แต่จากพัฒนาการของสื่อสารมวลชนที่ต่างกัน ทำให้ความเป็นธุรกิจของสื่อในบางประเทศถูกถ่วงดุลจากปัจจัยอื่นๆบ้าง ปัจจัยเหล่านั้นไม่มีหรือมีพลังน้อยในเมืองไทย

ดังกรณีการรวมกลุ่มของคนทำสื่อที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อไม่รวมกลุ่มจึงมีพลังน้อย เมื่อมีพลังน้อย การต่อรองจึงเป็นการต่อรองด้านผลประโยชน์ตอบแทนจากการงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีการต่อรองด้านสภาพการทำงาน (เช่น ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่มักได้ทำงานที่ไม่ท้าทาย และไม่เป็นช่องให้เติบโตไปในวิชาชีพได้มากนัก) หรือด้านที่จะรักษาเสรีภาพให้ปลอดพ้นจากการแทรกแซงของเจ้าของทุน

น่าสังเกตด้วยว่า งานวิจัยระบุว่าสื่อไทยนั้นสอบตกด้านมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ


อันที่จริงเป็นความพยายามมานาน และออกมาในรูปกฎหมายบางส่วน ที่จะจัดความสัมพันธ์ที่ถ่วงดุลกันระหว่างเจ้าของสื่อกับผู้ทำสื่อ ในด้านหนึ่งก็ยอมรับผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ลงทุน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องถูกถ่วงดุลด้วย "อาชีวปฏิญาณ" ของผู้ทำสื่อด้วย แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เป็นผลในทางปฏิบัติกับสื่อชนิดใดในประเทศไทยเลย

สมาคมวิชาชีพเช่นสมาคมผู้สื่อข่าวนานาชนิด หามีพลังในตัวเองไม่ นักข่าวทุกสายไม่รู้สึกว่าสมาคมเป็นแหล่งรวมพลังของตนเอง ในด้านตรงกันข้าม สมาคมก็ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนทำสื่อ และแน่นอนว่าสมาคมไม่มีทั้งอำนาจและกึ๋นพอจะไปกำกับควบคุมด้านจรรยาบรรณของผู้ทำสื่อด้วย สมาคมจึงไม่ใช่ที่ซึ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรองของสื่อ ไม่ว่ากับเจ้าของสื่อ, แหล่งโฆษณา หรือรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ประชาชนและผู้รับสื่อเองก็ไม่ได้มีส่วนในการกดดันให้สื่อแข่งขันกันเองด้านคุณภาพนัก งานวิจัยกล่าวว่าสื่อกระแสหลักทอดทิ้งชนบท, กดขี่ทางเพศ และไม่สนใจทำข่าวเจาะ สื่อเชื่อว่าทั้งสามเรื่องนี้ไม่มี "ตลาด" (จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ในขณะเดียวกัน ผู้รับสื่อก็แบ่งแยกกันตามสถานภาพ เช่น 2 ใน 3 ของประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะราคาสูงเกินไป จึงรับแต่สื่อประเภทเดียวได้แก่โทรทัศน์ช่องที่ดูฟรีเป็นส่วนใหญ่ โทรทัศน์ช่องเหล่านี้อยู่ในกำกับของรัฐ (และทุน) อย่างหนาแน่น จึงไม่เป็นเชื้อให้ต้องการรู้ข่าวให้ลึกไปกว่าที่ได้ทราบทางรายการข่าวโทรทัศน์

เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้สื่อเชิงพาณิชย์ทุกประเภทใช้มาตรฐานทางธุรกิจเป็นหลักในการดำเนินงานเพียงด้านเดียว และดังที่กล่าวแล้วว่า แม้แต่ต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรง ก็ยังแข่งกันในเชิงธุรกิจล้วนๆ ไม่ใช่กลมกลืนมิติด้านธุรกิจเข้ากับมิติด้านคุณภาพ

งานวิจัยกล่าวว่าสื่อไทยมีความหลากหลายสูง (ทั้งประเภทสิ่งพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต และจำนวน) แต่นอกจากถูกควบคุมอย่างรัดกุมมากขึ้นจากรัฐ โดยสื่อเองเลือกที่จะไม่สู้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว (นอกจากสื่ออินเตอร์เน็ต) ผู้รับสื่อของสื่อแต่ละอย่างก็ยังดูจะแยกออกจากกันเป็นกลุ่มๆ ที่ไม่ค่อยเชื่อมโยงกันเองนัก ไม่ว่าจะมีภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองหรือไม่ ผู้คนก็แบ่งกันเองอยู่แล้ว การถือหางทางการเมืองอย่างเข้มข้นในภาวะแบ่งขั้ว ช่วยเน้นการแบ่งให้ชัดขึ้นเท่านั้น



เราได้ปล่อยให้รัฐไทยมีอำนาจเหนือสื่อสูงเกินไปมานาน จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากสักเพียงไร ในทางปฏิบัติสื่อก็ยังถูกควบคุมเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ (หากดูจากสื่ออินเตอร์เน็ต) งบโฆษณาของรัฐวิสาหกิจเพียงอย่างเดียวก็เพิ่มสูงขึ้นมาก บวกเข้าไปกับโฆษณาโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็เป็นจำนวนมหึมา เงินจำนวนนี้ก็มีพลังเพียงพอที่จะควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ได้ในทางอ้อมเสียแล้ว เพราะงบโฆษณาของบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ไปลงที่ทีวีและสื่ออื่นๆ (เช่น งานอีเว้นท์) งบโฆษณาที่น้อยลง ทำให้สื่อยิ่งแข่งขันกันเองอย่างสูง และยิ่งทำให้การแข่งขันเป็นไปในเชิงธุรกิจล้วนๆ มากขึ้นไปอีก

ภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองในเมืองไทยนั้น ว่ากันที่จริงแล้วเป็นการแบ่งขั้วสองด้าน คือด้านหนึ่งเป็นความขัดแย้งกันเองของกลุ่มทุน และอีกด้านหนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลเมืองใหม่ ที่เพิ่งเกิดสำนึกทางการเมืองไม่นานมานี้ กับกลุ่มที่เคยจับจองพื้นที่ทางการเมืองได้แน่นหนามาก่อน

ถ้าใช้ประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียวในการเลือกข้างของสื่อแต่ละค่าย ก็ดูไม่น่าแปลกใจนักไม่ใช่หรือว่า สื่อจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน เพื่อรักษายอดผู้อ่านและยอดของโฆษณาไว้ ในขณะที่ทุนอีกฝ่ายหนึ่งต้องหันไปสร้างสื่อของตนเอง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์, วิทยุ, และทีวีดาวเทียม

และไม่น่าแปลกใจอีกเหมือนกันที่สื่อเกิดใหม่เหล่านี้ จะเลือกยืนอยู่ฝ่ายใด

.