.
นโยบายการเมืองเป็นยาขม นโยบายประชานิยมเป็นของหวาน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 19
โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยฝีมือของมนุษย์และธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เกิดข้าวยากหมากแพง ทำให้ทั้งผู้นำและประชาชนทุกประเทศต้องปรับตัวตามให้ทัน หาวิธีตั้งรับและแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของผู้คน ด้วยระบบความคิดที่ก้าวหน้า เป็นวิทยาศาสตร์ อาศัยการรวมพลังของคนทั้งชาติและทั้งโลกจึงจะสามารถแก้ปัญหาฝ่าวิกฤติไปได้
แต่ถ้ามีผู้นำที่มีความคิดล้าหลังก็จะนำพาความพินาศมาสู่ประชาชน ประเมินกันว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาจะใหญ่ขึ้น มากขึ้น
แม้คนไทยสามัคคีกัน แต่โดยศักยภาพเท่าที่มีอยู่ในวันนี้ก็คงพอจะเอาตัวรอดไปได้เท่านั้น ถ้าหากความขัดแย้งยังดำรงอยู่ในระดับนี้ จะสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแน่นอน
วันนี้เราจึงต้องการผู้นำที่มีสายตายาวไกล มองเห็นปัญหาและมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ ทั้งยังจะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งชาติมากกว่าประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม
อนาคตของประเทศเราอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าดำเนินนโยบายผิดพลาด ไม่เพียงแต่จะพังพินาศ แต่จะเป็นตัวถ่วงความเจริญของภูมิภาคและของโลก
ช่วงเวลานี้พรรคต่างๆ ได้ชิงเสนอนโยบายแบบประชานิยม เช่น การอุ้มราคาแก๊ส ราคาน้ำมัน ราคาพืชเกษตร สวัสดิการต่างๆ
แต่ประเทศไทยวันนี้เหมือนคนป่วยหนัก ที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เป็นอาการป่วยที่เกิดจากโรคมะเร็งการเมืองการปกครอง
คนป่วยต้องการยามากกว่าของหวาน
ประชาชนอยากรู้ว่าพรรคการเมืองที่จะเข้าไปทำงานในสภาและบริหารประเทศ จะมีวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไร
มี 2 เรื่องใหญ่ 2 โรคใหญ่ ที่ทำให้ถึงตายได้
เรื่องแรก ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในประเทศ สถานการณ์ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน คนทั้งประเทศรับรู้ถึงปัญหาความแตกแยกทางความคิดที่ได้ขยายไปทั้งลึกทั้งกว้าง แม้เวลาผ่านมา 5-6 ปีแล้ว ก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติ
ถ้าย้อนดูบทเรียนหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ความขัดแย้งยกระดับจนถึงขั้นทำสงครามในเขตชนบทติดต่อกันถึง 6 ปี มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันคน แต่ก็ลดระดับและยุติได้ในที่สุด
แต่ ณ เวลาปัจจุบัน สถานการณ์ในประเทศเรายังไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะกลับไปสู่สภาพประชาธิปไตยแบบปกติ ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ในสภาพที่ตึงเครียด การประกาศกำหนดวันยุบสภา ไม่สามารถทำให้การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงลดระดับลง
เปิดจอโทรทัศน์ดูเมื่อวันก่อน ก็เห็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงเต็มถนนราชดำเนิน พวกเขาโจมตีนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการบริหารงานของรัฐบาลอย่างหนัก แม้จะสนับสนุนการเลือกตั้งที่จะมาถึง
พอเปลี่ยนช่องมาดูการชุมนุมพันธมิตรของเสื้อเหลือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ได้สรุปว่า จากการฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจและผลของการลงคะแนนซึ่งนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนผ่านหมด จะเห็นได้ว่า ความจริงและเหตุผลไม่มีประโยชน์ การตรวจสอบใช้ไม่ได้จริงในรัฐสภา ซึ่งเป็นที่รวมของพวกคนไม่ดี (ที่จริง คุณสนธิใช้คำพูดอื่นที่ไม่สามารถนำมาลงพิมพ์ได้) ระบบนี้จึงสมควรถูกเว้นวรรค 3-5 ปี เพื่อจะได้มีการชำระล้างความสกปรก
คุณสนธิบอกว่าความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ไม่กล้าต่อสู้กับสิ่งที่ผิด แต่ไม่ได้บอกว่าผู้ที่จะมาชำระล้างจะเป็นใคร ได้แต่บอกว่าพวกคนเลวเหล่านั้นใกล้จะถึงวันตายแล้วยังไม่รู้ตัวเอง
และปิดท้ายด้วยการเปิดเพลง "หนักแผ่นดิน" โดยผู้ชุมนุมลุกขึ้นยืนและร้องเพลงพร้อมกันเสียงดังสนั่น
บรรยากาศช่างเหมือนกับ ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เป็นอย่างยิ่ง
เปลี่ยนช่องไปดูฟุตบอลเห็นนิวคาสเซิลแพ้ สโต๊ก ซิตี้ 0-4 การต่อสู้เป็นทีม ประมาทไม่ได้เลย บางทีคิดว่าน่าจะชนะพอลงสนามจริงกลับแพ้ขาด
ผู้ที่มีความประสงค์อยากจะกวาดล้างบ้านเมืองให้สะอาด ไม่ได้มีเพียงกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองกลุ่มเดียว อาจจะมีกลุ่มที่หัวรุนแรงอื่นที่ต้องการทำแบบเดียวกัน
และในสายตาของคนกลุ่มนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็คือคนเลวที่จะต้องกวาดทิ้งเช่นกัน
ถ้าแต่ละกลุ่มต้องการมีอำนาจเด็ดขาด และกวาดล้างคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปจากวงจรอำนาจ การต่อสู้อย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
สภาพบ้านเมืองจะเป็นแบบ ลิเบีย, อิรัก, หรือ อัฟกานิสถาน คงต้องสู้รบกันไปจนกว่าจะมีผู้ชนะเด็ดขาดโดยฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งให้ตายให้หมด
หรือถ้าไม่มีใครชนะก็รบกันไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นแบ่งประเทศเป็นส่วนๆ
ในยุคที่นายกฯ ไม่มีอำนาจจริง สิ่งที่ไม่เคยขึ้นตาชั่ง ก็ต้องนำมาชั่ง เช่น ไข่ และธนบัตรใบละพัน (หนึ่งล้าน = หนึ่งกิโลกรัม) ส่วนสิ่งที่ควรนำมาขึ้นตาชั่ง เช่น ความยุติธรรมก็ไม่เคยนำมาชั่งสักครั้ง พอนำไปใช้ก็เลยไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ยืดเยื้อไม่รู้จักจบสิ้น
คนส่วนใหญ่อยากให้ความขัดแย้งยุติ แต่เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ง่ายๆ และในสภาพปัจจุบันยังสามารถพลิกผันไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง คือถ้าจัดการไม่เหมาะสมก็จะรุนแรงขึ้น ถ้าแก้ปัญหาได้ดีก็จะลดความขัดแย้งลง
ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังล้นออกนอกระบบ และอาจดึงให้ระบบประชาธิปไตยล้มคว่ำลง อย่างที่มีคนบางกลุ่มต้องการ ทุกพรรคที่ต้องการส่งผู้สมัครเข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้ง, และลงสมัคร ส.ส ชุดใหม่ จำเป็นต้องแสดงภูมิปัญญา ผ่านนโยบายของพรรค เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่านโยบายประชานิยม
ส่วนสำคัญในการแก้ปัญหานี้ คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และ อำนาจตุลาการ ซึ่งเหมือนไม้ 3 อันที่ค้ำยันกัน การยอมรับเสียงของประชาชน การตรวจสอบของประชาชน, การตรวจสอบของสื่อและระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้
แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่ายๆ พรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามารับการเลือกตั้ง ควรจะเสนอนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม มีคำมั่นสัญญาว่าจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ตั้งแต่ที่มาของอำนาจ วิธีถ่วงดุลอำนาจ ระบบตรวจสอบ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมาย มาตราใด ลดอำนาจให้ใคร เพิ่มอำนาจให้ใคร องค์กรใดถูกตั้งโดยใครและยุบโดยใคร การตัดสินลงโทษ เป็นอำนาจของใคร มีขอบเขตแค่ไหน แต่ละคน แต่ละฝ่ายที่มีอำนาจ จะต้องถูกตรวจสอบโดยใคร ทุกคนจะต้องถูกตรวจสอบได้
การรัฐประหารควรจะมีโทษอย่างไรมีสิทธิได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ จะมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือไม่ ฯลฯ
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะถ้าความขัดแย้งไม่ลดลงสู่ระดับปกติ จะสร้างปัญหาทุกด้านให้กับประเทศได้
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เราจะได้เห็นปัญหาและการแก้ไขของประเทศในแถบแอฟริกาเหนือซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นในอียิปต์ ที่เคยบอกไว้ว่า เริ่มต้นแบบ 14 ตุลาคม 2516 แต่การต่อสู้ทางการเมืองจะทำให้ประเทศอียิปต์ดำรงระบบประชาธิปไตยและพัฒนาไปได้ดีแค่ไหน
ในขณะที่เยเมนและบาห์เรน ถ้าผู้ประท้วงถูกปราบไปจนหมดท้องถนน จะหายลงไปใต้ดินซึ่งคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มกองกำลังอาวุธต่างๆ
ถ้ากองกำลังจากประเทศตะวันตกบุกเข้าไปในลิเบีย โฉมหน้าการต่อสู้จะเปลี่ยนไปอย่างไร จะเป็นศึกชิงบ่อน้ำมัน หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สงครามกองโจรหรือกระแสพัฒนาประชาธิปไตย อะไรที่จะมีอิทธิพลเป็นด้านหลักในประเทศเหล่านั้น อนาคตทางการเมืองของพวกเขาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก
สำหรับประเทศไทยของเรา ควรจะคาดการณ์ได้ง่ายกว่า แต่พอมาถึงวันนี้เหมือนมีพลังลึกลับมากดดัน ความไม่แน่นอนจึงกลับมีสูงคล้ายกับแอฟริกาเหนือ ประชาชนจะเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันการเมืองให้เข้าสู่ระบบ พวกเขาจึงควรได้รู้นโยบายและแนวทางปฏิบัติของพรรคที่ลงเลือกตั้ง เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคต
ปัญหาใหญ่เรื่องที่ 2 คือสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่กำลังยกระดับสูงขึ้นอย่างน่ากลัวหลังจากกรณีตากใบ
ผู้เขียนได้เคยคาดการณ์ ให้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งฟังว่า จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นทุกวัน มีคำถามตามมาว่า "นานเท่าไหร่" คำตอบคือ เป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี
เหตุผลก็เพราะผู้เขียนเชื่อว่า นโยบายและวิธีการแก้ปัญหาของผู้นำซึ่งเป็นนักการเมืองและผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นข้าราชการ จะยังคงใช้วิธีการทางทหารเป็นหลัก คน, อาวุธ และเงิน จะถูกทุ่มเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งจะไม่มีวันชนะเด็ดขาด มีแต่ยืดเยื้อ และทำให้พื้นที่ขัดแย้งขยายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนให้กับฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งมาจากที่อื่น ทั้งในเชิงอุดมการณ์และวัตถุ แต่ที่กำหนดเวลาไว้ 15 ปีเพราะผู้เขียนเชื่อว่า หลังจากแก้ปัญหาไม่ได้และปัญหาลุกลามใหญ่โต ก็จะมีการเปลี่ยนนโยบาย
ซึ่งวันนี้เวลาผ่านเกือบ 7 ปีแล้ว และปัญหาก็ใหญ่ขึ้นแล้วจริงๆ
สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นการยกระดับทางยุทธศาสตร์ ภาพล่าสุดที่เห็นจากกล้องวงจรปิด 2 เหตุการณ์ คือ ระเบิดคาร์บอมบ์ขนาดใหญ่ และการใช้อาวุธสงครามเข้าปล้นร้านทอง โดยเฉพาะการเข้าปล้นร้านทองมีรายละเอียดที่เห็นได้ชัดว่า กลุ่มโจรที่คลุมหน้าได้ยิงเจ้าของร้านที่ล้มลงหรือหมอบลงจนเสียชีวิตทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น มีลักษณะไม่เหมือนการปล้นธรรมดา
เรื่องนี้ทางการต้องสืบให้รู้ว่าเป็นของกลุ่มใด ถ้าหากเป็นโจรธรรมดาก็ถือว่าโหดผิดมนุษย์ ต้องเร่งจัดการทันที
ถ้าหากเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ถือว่าอันตรายมาก เพราะการกระทำครั้งนี้เป็นการยกระดับทางการทหาร เพื่อรุกทางยุทธศาสตร์ ให้มีผลต่อการขยายอิทธิพลทางการเมือง
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน มีการวางระเบิดขนาดเล็กในเขตพื้นที่นอกเมือง จากนั้น ก็ยกระดับมาเป็นคาร์บอมบ์ขนาดใหญ่ในเขตเมือง นี่เป็นการข่มขวัญชาวบ้านร้านถิ่นให้หวาดกลัวโดยทั่วกัน
ปัจจุบัน การเข้าโจมตีฐานที่ตั้งกองกำลังของรัฐบาลก็เป็นการยกระดับสงครามและแสดงความสามารถของกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายกองโจร ทั้งยังทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกไม่ปลอดภัยมากกว่าสมัยก่อน (ซึ่งจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยก็ต่อเมื่อออกลาดตระเวนไปยังท้องที่ต่างๆ )
แต่บัดนี้ แม้นอนอยู่ในค่ายพักก็อาจถูกโจมตีจนเสียชีวิตได้ ทำให้กำลังพลส่วนหนึ่งไม่อยากย้ายลงมาทำงานในสามจังหวัดภาคใต้
การเข้าปล้นที่ตั้งทางธุรกิจด้วยกำลังอาวุธร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นร้านทอง ธนาคาร หรือ ห้างร้าน บริษัทขนาดใหญ่ จะกลายเป็นการยกระดับทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะถ้าทำได้ในตอนกลางวันและเป็นกลางเมือง เพราะเป็นทั้งการท้าทายและข่มขวัญประชาชนทุกระดับชั้น ทำเหมือนกับว่ามองไม่เห็นอำนาจรัฐอยู่ในสายตา รัฐบาลจะปล่อยให้สิ่งนี้เกิดอีกไม่ได้ เพราะถ้าเกิดขึ้นและกลุ่มโจรหนีไปได้
ประชาชนจะต้องคิดว่า ไม่มีที่ไหนปลอดภัยสำหรับพวกเขาแล้ว
เมื่อก่อน ถ้ามีการวางระเบิดและมีคนได้รับบาดเจ็บ ยังพอพูดได้ว่า "โชคร้ายผ่านไปโดนลูกหลงพอดี" แต่ถ้าวันนี้ขายของอยู่ในร้านแล้วมีคนเอาปืนมาปล้น ถูกยิงเสียชีวิตคงพูดไม่ได้ว่าโชคร้ายแต่ต้องโทษว่า รัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนได้
ถ้าหากทหารอยู่ในค่ายก็ยังถูกโจมตีจนเสียชีวิต ทำธุรกิจอยู่ในร้านค้าตนเองก็ถูกปล้น เดินทางไปมาตามท้องถนนก็ถูกระเบิด สิ่งที่ประชาชนจะทำได้อย่างเดียวก็คือ ย้ายหนีออกจากเขตอันตราย ถ้าคนกลุ่มแรกเริ่มย้ายก็จะมีคนย้ายตามกันไปอีกหลายกลุ่ม นี่จะเป็นการพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่
ดังนั้น รัฐจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว จะใช้การทหารหรือการเมืองหรือทั้งสองอย่าง แต่ในระยะ 10 ปีหลังนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล
ใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเตรียมแก้ปัญหานี้ให้ดี
นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางยุทธศาสตร์และไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่ายๆ การแก้ปัญหาด้วยแนวทางเดิม ไม่สำเร็จแน่นอน
ผู้แทนฯ ในสามจังหวัดภาคใต้ต้องกล้าพูดกล้านำความคิดเห็นของชาวบ้านมาแสดงออก มาปรับเป็นนโยบาย เพื่อใช้แก้ไขปัญหาพรรคการเมืองที่จะบริหารประเทศต้องกล้ามีนโยบายใหม่ๆ ที่จะทำให้สงครามรายวันที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดยุติลงเสียที
บางทีเราอาจต้องย้อนไปดูวิธีปกครองบ้านเมืองสมัย100-200 ปีที่แล้วว่าเขาทำอย่างไรจึงไม่ต้องรบกันทุกวัน
สองปัญหาใหญ่ที่เสนอมา คือมะเร็งร้ายทางการเมืองการปกครอง
ถ้าเปรียบประเทศเป็นคนหนึ่งคนวันนี้เหมือนกับมีเชื้อมะเร็งที่ปอดกับที่ขาจำเป็นต้องรีบรักษาโดยด่วน
จะต้องผ่าตัดก็ยอม
คนไข้คนนี้จะมัวแต่ไปนั่งกินเค้กประชานิยม น้ำส้มสวัสดิการ ก็จะไม่มีทางหาย
คนที่จะเป็นรัฐบาลไม่ควรเสียเวลาไปแต่งหน้าเค้กเพื่อหลอกคนไข้ วันนี้มีแต่การกินยาขม การใช้เคมีบำบัด การผ่าตัดเท่านั้นจึงจะรักษาโรคได้
ประเทศเราอยากได้หมอที่รักษาคนไข้เป็น
วันนี้ยังไม่ต้องการคนทำของหวาน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย