http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-21

เลสเตอร์ บราวน์ แปลเรียบเรียงโดย เกษียร เตชะพีระ

.
"เลสเตอร์ บราวน์: จากวิกฤตอาหารโลกสู่การปฏิวัติมวลชน" 1
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


เลสเตอร์ บราวน์ ปัญญาชนสิ่งแวดล้อมชื่อดังของโลก
ผู้แต่งหนังสือ โตล้นโลก: ปัญหาท้าทายเรื่องความมั่นคงทางอาหารในยุคน้ำใต้ดินลดและโลกร้อน


หลังเที่ยวเดินหาซื้อตามซุปเปอร์ มาร์เก็ต มาหลายวัน ผมกับภรรยาดีใจมากที่เจอน้ำมันปาล์ม ฝาชมพูและน้ำมันถั่วเหลืองเข้าจนได้ ต่างกุลีกุจอแบ่งกันหยิบคนละ 2 ขวดตามโควต้า ทว่าไม่ทันไร พนักงานขายของก็แจ้งข่าวร้ายใหม่ให้ทราบว่าน้ำตาลทรายเกลี้ยงห้างตั้งแต่เช้า ไม่เหลือแม้แต่ถุงเดียว ขอให้ลองมาหาซื้อใหม่วันพรุ่งนี้.....

สอดรับกับข่าวชิ้นหนึ่งที่ผมได้ฟังทางสถานีวิทยุ Voice of America-Special English เช้ามืดวันที่ 4 มีนาคม ศกนี้ว่า: -

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แจ้งว่าราคาอาหารโลกในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาถีบตัวขึ้นไปสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยแพงขึ้นติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 8 แล้ว ขณะนี้ราคาสินค้าอาหารทุกชนิดล้วนแพงขึ้น ยังแต่น้ำตาล ทั้งนี้ เนื่องจากอุปสงค์ต่ออาหารสูงขึ้น แต่อุปทาน ด้านเมล็ดธัญพืชกลับลดต่ำ อีกทั้งสภาพอากาศเลวร้ายได้บั่นทอนการผลิตพืชผลในบางประเทศผู้ ผลิตอาหารลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชหลักอื่นๆ ได้แพงขึ้นไปแล้วราว 70% นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ศกก่อนเป็นต้นมา

อนึ่ง ธนาคารโลกรายงานเร็วๆ นี้ด้วยว่าราคาอาหารโลกแพงขึ้นเกือบ 30% ในรอบปีที่ผ่านมา.....

ผมฟังแล้วก็ได้แต่ปลงว่าสงสัยน้ำตาลคงจะแพงขึ้นเร็วๆ นี้แน่ รวมทั้งข้าวของอย่างอื่นด้วย


เลสเตอร์ บราวน์ ปัญญาชนสิ่งแวดล้อมชั้นนำของอเมริกาและประธาน The Earth Policy Institute ผู้แต่งหนังสือกว่า 50 เล่มรวมทั้ง Outgrowing the Earth (หรือ "โตล้นโลก" ค.ศ.2005) ว่าด้วยปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลก (ดูภูมิหลังของเขาที่ www.voanews_com/english/ news/a-13-2008-02-07-voa42-66807262.html?rende=) ได้ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมชื่อ Living on Earth ทางสถานี Public Radio International (PRI) วิเคราะห์แจกแจงเหตุผลเชื่อมโยงระหว่างราคาอาหารแพงและการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในหลายประเทศแถบตะวันออกกลาง ปัจจุบัน เมื่อ 24 ก.พ. ศกนี้ดังนี้: -

ผู้ดำเนินรายการ: อะไรเป็นเหตุให้ราคาอาหารโลกพุ่งสูงตอนนี้ครับ? มันเกี่ยวโยงกับปัญหาประชากรเพิ่มหรือดินฟ้าอากาศแปรปรวนหลังๆ นี้อย่างไร? อะไรอยู่เบื้องหลังมันครับ?

เลสเตอร์ บราวน์: ในแง่อุปสงค์ ตอนนี้เรามีเหตุปัจจัย 3 ประการที่เป็นที่มาของอุปสงค์ต่อธัญพืชเพิ่มขึ้น ประการแรกคือจำนวนประชากรเพิ่ม

เรื่องที่สองคือความมั่งมีศรีสุขขึ้นของผู้คน มันเกี่ยวข้องก็เพราะมีคน 3 พันล้านคนในโลกทุกวันนี้ที่อยากโยกย้ายระดับฐานะของตนในห่วงโซ่อาหารให้สูงขึ้นและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เลี้ยงที่ใช้ธัญพืชเข้มข้นในการผลิตมากขึ้น อันได้แก่เนื้อสัตว์, นม, และไข่

เรื่องที่สามก็คือบัดนี้เรากำลังผันเปลี่ยนธัญพืชปริมาณมากพอควรให้กลายเป็นน้ำมัน-ซึ่งก็คือสารเอทานอลนั่นเอง และสิ่งที่เราเห็นตอนนี้ก็คือเกษตรกรของโลกกำลังประสบปัญหาในการผลิตให้ทันกับอุปสงค์ที่เพิ่มพูนขึ้น

ในแง่อุปทาน เหตุปัจจัยสำคัญก็คือภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนหากเราประสบเหตุ อากาศวิปริตแปรปรวนบางที่ในโลก เช่น ลมมรสุมไม่มาตามฤดูกาล เกิดภัยแล้งในอดีตสหภาพโซเวียตหรืออะไรก็ตามแต่ เราย่อมรู้ว่าถ้าเราทนฟันฝ่าพ้นปีนี้ไปได้ สิ่งต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติ ทว่าตอนนี้ไม่มีสภาพปกติอะไรให้เรากลับไปหามันแล้ว ภูมิอากาศโลกอยู่ในภาวะแปรปรวนตลอดเวลา


ผู้ดำเนินรายการ: คุณพูดถึงปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิกำลังสูงขึ้นทั่วโลก แล้วธัญพืชกับพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ มันมีปฏิกิริยาตอบต่อภาวะเหล่านี้อย่างไรบ้างครับ?

เลสเตอร์ บราวน์: เกณฑ์วัดง่ายๆ ก็คือทุกๆ หนึ่งองศาเซลเชียสที่อุณหภูมิร้อนขึ้น เราคาดการณ์ได้เลยว่าผลิตผลธัญพืชจะลดต่ำลง 10%

ผู้ดำเนินรายการ: นั่นก็แปลว่าต่อให้เป็นเป้าหมายปัจจุบันที่บางคนตั้งไว้ว่าจะคงอุณหภูมิ โลกไม่ให้ร้อนขึ้นถึง 2 องศาเซลเชียส มันก็ยังจะส่งผลให้ผลิตภาพอาหารโลกตกต่ำลงถึง 20% น่ะ ซีครับ?

เลสเตอร์ บราวน์: ใช่ครับ ถ้าหากอุณหภูมิเป็นแบบนั้นในช่วงฤดูเพาะปลูกของเราพอดี นั่นคือสภาพที่เราจะเห็น

ผู้ดำเนินรายการ: แล้วจะเกิดอะไรขึ้นล่ะครับถ้าเราประสบภัยแล้งหรือคลื่นความร้อนแบบที่รัสเซียเจอเมื่อปีก่อน?

เลสเตอร์ บราวน์: นั่นเป็นคำถามที่มีประโยชน์ซึ่งมาพร้อมกับคำตอบที่น่าวิตกครับ เพราะถ้าศูนย์กลางคลื่นความร้อนซึ่งอยู่ที่มอสโกดันย้ายมาอยู่ที่ชิคาโกเข้า แล้วเราสูญเสียผลผลิตธัญพืชไป 40% อย่างที่รัสเซียเสียละก็ เราจะเสียธัญพืชไปถึง 160 ล้านตัน ไม่ใช่แค่ 40 ล้านตัน

ถ้าเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้น ตอนนี้ตลาดธัญพืชโลกก็คงจะโกลาหลอลหม่านกันไปหมดแล้วล่ะครับ ราคาอาหารคงจะแพงขึ้นทั่วโลก บรรดาประเทศผู้ส่งออกธัญพืชคงจะจำกัดการส่งออกเพื่อกดราคาอาหารในประเทศให้ต่ำไว้ อันเป็นการลดทอนอุปทานธัญพืชที่จะส่งออกได้ลง น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดว่าบรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำมันคงจะเริ่มแลกเปลี่ยนน้ำมันของตนกับธัญพืชเพื่อให้มั่นใจ ว่าพวกตนจะได้ธัญพืชที่จำเป็นมา และบรรดาประเทศที่เหลือในโลกจำนวนมากรวมทั้งประเทศ กำลังพัฒนาและรายได้ต่ำหลายประเทศก็คงจะถูกทอดทิ้งให้กลุ้มรุมแย่งชิงเศษข้าวที่หลงเหลือกัน ชุลมุนวุ่นวาย สภาพเช่นนั้นจะนำไปสู่ภาวะรัฐบาลถูกโค่น, จลาจลปล้นชิงอาหาร และการชุมนุม แสดงพลังในขอบเขตกว้างใหญ่อย่างที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน เพราะเวลาคนเราจนตรอกเข้าจริงๆ ก็พร้อมจะทำสิ่งที่บ้าระห่ำถึงขั้นเลือดเข้าตา


ผู้ดำเนินรายการ: คุณคิดว่าปัญหาอาหารและน้ำ มีบทบาทแค่ไหนอย่างไรในภาวะไร้เสถียรภาพปัจจุบันในอียิปต์และประเทศอื่นๆแถบตะวันออกกลาง?

เลสเตอร์ บราวน์: มันยากที่จะจำแนกแยกแยะบทบาทของเหตุปัจจัยต่างๆ จากกัน ทั้งภาวะว่างงาน, ราคาอาหารแพงขึ้น และความอุกอั่งคับข้องใจที่อยู่ใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จ แต่กระนั้นก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในบรรดาดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ตัวที่ล่อแหลมที่สุดทางการเมืองคือราคาอาหาร

น่าสนใจว่าในกรณีอียิปต์ เรามีประเทศที่นำเข้าธัญพืชที่ตนบริโภคเกินกว่าครึ่ง และผลิตส่วนที่เหลืออีกไม่ถึงครึ่งนั้นโดยอาศัยน้ำที่นำเข้ามาผ่านแม่น้ำไนล์ ที่ลำบากตอนนี้ก็คือในสภาพการแย่งยึดเข้าครอบครองที่ดินทุกวันนี้โดยชาวจีน ชาวเกาหลี ชาวซาอุดีอาระเบีย และชนชาติอื่นๆอีกหลายชาติในดินแดนของบรรดาประเทศที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ตอนบนอย่างซูดาน และเอธิโอเปีย เมื่อคนเหล่านี้ได้ที่ดินดังกล่าว พวกเขาก็พลอยได้น้ำในที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ตอนบนนั้นด้วย ซึ่งหมายความว่าจะมีน้ำเหลือให้อียิปต์ผลิตอาหารน้อยลง

ดังนั้น อียิปต์จึงต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงมากขึ้น ในด้านอุปทานอาหารของตน ทั้งเนื่องจากประเทศต่างๆ ในโลกแก่งแย่งกันนำเข้าอาหารมากขึ้น

และเนื่องจากอียิปต์เองกำลังจะได้น้ำจากแม่น้ำไนล์น้อยลง

(ต่อสัปดาห์หน้า)


++

"เลสเตอร์ บราวน์: จากวิกฤตอาหารโลกสู่การปฏิวัติมวลชน" 2
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:30:00 น.


(ต่อจากสัปดาห์ก่อน)

ผู้ดำเนินรายการ : ในหนังสือเล่มล่าสุดของคุณเรื่อง World on the Edge (ค.ศ.2011) คุณเอ่ยถึงสิ่งที่เรียกว่า "ฟองสบู่อาหารบนฐานน้ำ" (water-based food bubble) พอจะอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่าคุณหมายถึงอะไร?

เลสเตอร์ บราวน์ : คืออย่างนี้ครับ ขณะที่อุปสงค์ต่ออาหารเพิ่มพูนขึ้นทั่วโลกเรื่อยมา หลายประเทศได้พากันขยายการชลประทานออกไป (เพื่อผลิตอาหารมาตอบสนองเพิ่มขึ้น-ผู้แปล) ถึงแม้นั่นจะหมายถึงว่าต้องสูบน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifer) มาใช้เกินขนาด

คราวนี้ถ้ามันเป็นชั้นหินอุ้มน้ำประเภทฟอสซิล มันจะไม่มีน้ำเติมเต็มขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ถ้าคุณใช้มันเหือดแห้งลง มันก็จะหมดไป นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย และเป็นเหตุผลที่ทำไมการผลิตน้ำซ้ำโดยสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ของพวกเขาพังทลายลงในไม่กี่ปีหลังนี้และจะสูญสลายไปหมดภายในปีสองปีข้างหน้า

ผู้ดำเนินรายการ : แต่มีคนไม่เยอะเท่าไหร่ในซาอุดีอาระเบียนี่ครับ?

เลสเตอร์ บราวน์ : ไม่เยอะครับ แต่มีคนเยอะมากในอินเดีย และในอินเดียนั้น ชั้นหินอุ้มน้ำส่วนใหญ่เป็นประเภทเติมเต็มใหม่ได้ ดังนั้น ถ้าคุณสูบน้ำขึ้นมาใช้เกินขนาดในอินเดีย เมื่อใดที่คุณสูบจนชั้นหินอุ้มน้ำเหือดแห้งลง อัตราน้ำที่สูบขึ้นมาใช้ได้ต่อไปย่อมจะต้องลดลงเหลือเท่ากับอัตราน้ำที่ไหลซึมเติมเต็มเข้ามาใหม่ และนั่นคือสิ่งที่ประเทศอย่างอินเดียและจีนกำลังเผชิญ

ผู้ดำเนินรายการ : สถานการณ์อาหารในสองประเทศนั้นเป็นไงบ้างครับ? และมันจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐอย่างไร?

เลสเตอร์ บราวน์ : ทั้งสองประเทศนั้นตกอยู่ในภาวะล่อแหลมเนื่องจากสูบน้ำขึ้นมาใช้เกินขนาด ตอนนี้ดูท่าจีนคงจะเข้าสู่ตลาดโลกในปีนี้เพื่อหาซื้อธัญพืชปริมาณมากพอควร แทบแน่ใจได้เลยว่าพวกเขาคงจะมาหาซื้อจากสหรัฐ เพราะสหรัฐเป็นประเทศส่งออกธัญพืชชั้นนำของโลกที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆไปไกลโข

ดังนั้น สำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันแล้ว นี่นับเป็นฉากฝันร้ายเลยทีเดียว เพราะเรากำลังเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่คนจีน 1.4 พันล้านคน ผู้กำลังมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะโดดเข้ามาร่วมวงแก่งแย่งผลผลิตธัญพืชกับเรา และถีบราคาอาหารของเราให้พุ่งพรวดขึ้น

เอาล่ะ คุณก็พูดได้เหมือนกันว่าถ้ามันถีบราคาอาหารของเราขึ้นสูงเกินไป เราจะจำกัดการส่งออก แต่จีนเป็นนายธนาคารของเรานะครับ

พวกเขาถือพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐอยู่ถึง 9 แสนล้านดอลลาร์ จะชอบหรือไม่ก็ตาม เรากำลังจะต้องแบ่งปันผลผลิตธัญพืชของเรากับชาวจีน ไม่ว่ามันจะถีบราคาอาหารให้สูงขึ้นแค่ไหนก็ตามที

ผู้ดำเนินรายการ : คุณพอจะทำนายได้ไหมครับว่ามันจะทำให้เราต้องจ่ายเพิ่มแค่ไหน?

เลสเตอร์ บราวน์ : เราได้รับการคุ้มกันจากผลกระทบของมันอยู่บ้าง เพราะถ้าเราซื้อขนมปัง แถวหนึ่งในราคา 2 ดอลลาร์ ต้นทุนข้าวสาลีในขนมปังแถวนั้นอาจจะตกราวๆ 10 เซ็นต์

ดังนั้น ถ้าราคาข้าวสาลีแพงขึ้นเท่าตัว คุณก็เพิ่มต้นทุนขนมปังแถวหนึ่งอีกเพียงแค่ 10 เซ็นต์ แต่ถ้าคุณอาศัยอยู่ภาคเหนือของอินเดียหรือปากีสถาน แล้วคุณซื้อข้าวสาลีของคุณที่ตลาดเอากลับมาบ้าน และโม่เป็นแป้งเพื่อทำโรตีกิน หากราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเท่าตัว คุณจะรู้สึกถึงผลกระทบโดยตรง

นั่นคือความแตกต่างระหว่างโลกกำลังพัฒนากับโลกอุตสาหกรรม



ผู้ดำเนินรายการ : ถ้างั้นละก็ เกิดโทรศัพท์ดังขึ้นมานะครับคุณเลสเตอร์ บราวน์ แล้วทางทำเนียบขาว (ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ-ผู้แปล) อยากได้รายงานสรุปว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เบื้องหน้าสถานการณ์อาหารโลกตอนนี้ คุณจะบอกอะไรพวกเขา? โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณจะนิยามความมั่นคงของเราว่าอย่างไร?

เลสเตอร์ บราวน์ : ก่อนอื่นเลย ผมจะบอกว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกับราคาอาหารแพงขึ้นครั้งก่อนๆ ในรอบครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้ว ตรงที่มันไม่ได้ถูกผลักดันจากเหตุการณ์เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่ง หากแต่ถูกผลักดันจากแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงโดยรวม (not event-driven but trend-driven) นี่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์เฉพาะหนึ่งๆ อย่างคลื่นความร้อนในรัสเซียจะไม่ส่งผลต่อมัน แต่ตัวการผลักดันที่แท้จริงคือแนวโน้มต่างหาก ดังนั้น เราต้องมองที่แนวโน้มแล้วจัดการกับมัน

แนวโน้มที่ว่ารวมถึงเรื่องอย่างการตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างรวดเร็วยิ่ง เพื่อทำให้ภูมิอากาศมีเสถียรภาพ มันหมายถึงการขจัดความยากจนและเร่งการเปลี่ยนขนาดครอบครัวให้เล็กลงทั่วโลก มันหมายถึงการฟื้นฟูระบบธรรมชาติที่ค้ำจุนเศรษฐกิจ อาทิป่าไม้, ดิน, ชั้นหินอุ้มน้ำ, ทุ่งหญ้า, ประมง เป็นต้น


ท่านประธานาธิบดีครับ ไม่เคยมีอารยธรรมใดอยู่รอดได้ในสภาพที่ระบบธรรมชาติซึ่งค้ำจุนมันถูกทำลายลงอย่างไม่หยุดยั้ง อารยธรรมของเราก็จะไม่รอดเช่นกัน สิ่งที่เผชิญหน้าเราคือความจำเป็นที่จะต้องนิยามความมั่นคงเสียใหม่ เราได้สืบทอดนิยามความมั่นคงมาจากศตวรรษก่อนซึ่งถูกครอบงำโดยสงครามโลกสองครั้งและสงครามเย็น และดังนั้น เมื่อจินตนาการถึงความมั่นคงแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ผู้คนก็จะคิดถึงเรื่องการทหารโดยอัตโนมัติ แต่วันนี้ถ้าเราลองนั่งลงทำใจให้ปลอดอคติ และถามว่าอะไรคือภัยคุกคามตัวเอ้ต่ออนาคตของเราแล้ว ก็จะพบว่ามันได้แก่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การเพิ่มจำนวนประชากร, ระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลง, ราคาอาหารแพงขึ้น, และรัฐที่กำลังล้มเหลว

ผมจะบอกว่าท่านประธานาธิบดีครับ เราไม่เพียงแต่ต้องนิยามความมั่นคงกันใหม่ในทางแนวคิดเท่านั้น หากต้องนิยามมันใหม่ในทางการคลังด้วย เพราะสิ่งที่จำเป็นเพื่อขจัดความยากจน, รักษาจำนวนประชากรให้มีเสถียรภาพ, ฟื้นฟูผืนดินและป่าไม้และอย่างอื่นทั้งหมดที่เอ่ยมา คิดสะระตะแล้วเป็นงบประมาณรายจ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี นั่นเป็นเงินจำนวนมาก แต่มันยังน้อยกว่าหนึ่งในสามของงบประมาณการทหารของสหรัฐ และต่ำกว่าหนึ่งในเจ็ดของงบประมาณการทหารของโลก

ดังนั้น คำถามก็คืออารยธรรมดังที่เรารู้จักจะสามารถอยู่รอดจากแรงกดดันที่พอกพูนขึ้นนี้ได้หรือไม่ หากเราไม่หันเหแนวโน้มบางอย่างที่ก่อกำเนิดแรงกดดันดังกล่าวให้มันกลับตาลปัตรเสีย?

ผู้ดำเนินรายการ : ถ้างั้นแก่นแท้ของสิ่งที่คุณกำลังบอกก็คือความมั่นคง มันไม่ใช่เรื่องของปืนผาหน้าไม้อะไรมากมายอีกต่อไป หากเป็นเรื่องของขนมปังกับเนยเสียมากกว่าใช่ไหมครับ?

เลสเตอร์ บราวน์ : ใช่ครับ ท่านประธานาธิบดีนั่นแหละคือสารที่ผมต้องการสื่อ


ผู้ดำเนินรายการ : แล้วถ้าคนเขาถามคุณว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อช่วยเรื่องนี้ได้บ้างในระดับปัจเจกบุคคลล่ะครับ?

เลสเตอร์ บราวน์ : นั่นเป็นคำถามที่ผมเจอบ่อยกว่าคำถามอื่นใด และผมรู้ดีว่าคนเขาคาดหมายให้ผมตอบว่า "ก็เปลี่ยนหลอดไฟของคุณเป็นแบบประหยัดซะ หรือเอากระดาษหนังสือพิมพ์เก่าของคุณมาเวียนใช้ใหม่ซี" ซึ่งของพวกนี้ก็สำคัญเหมือนกัน

แต่ตอนนี้ที่เราต้องเปลี่ยนคือตัวระบบทั้งระบบ ผมไม่ได้หมายถึงการปฏิวัติทางการเมือง หากหมายความว่าเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่หมดในลักษณะที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างฮวบฮาบ นั่นมันจะต้องอาศัยแรงสนับสนุนทางการเมืองมาก ดังนั้น เราควรหันมาแข็งขันเอาการเอางานทางการเมือง เลือกประเด็นที่คุณคิดว่าสำคัญ มันอาจเป็นการสร้างโครงการรีไซเคิลระดับมาตรฐานโลกขึ้นมาในชุมชนของคุณ, หาทางปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังถ่านหินลง, หรือเข้าร่วมกลุ่มพลเมืองเพื่อรักษาจำนวนประชากรให้มีเสถียรภาพ ฯลฯ

นี่คือสิ่งที่จะชี้ชะตาอนาคตของพวกเราครับ

.