.
จับกระแส "ไม่มีเลือกตั้ง" จาก "พันธมิตร" ถึง "เพื่อแผ่นดิน"
ปิศาจ "ทักษิณ" อาละวาด อะไรก็เกิดขึ้นได้
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 11
ว่ากันว่าความเลวร้ายที่สุดของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือ ทำให้คนไทยไม่เชื่อมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะไม่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซงอีก
ไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะไม่มีการรัฐประหารอีก
ทุกครั้งที่การเมืองมีปัญหา ทุกคนจะถามว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ สะท้อนความเลวร้ายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
เพราะทันทีที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ประกาศยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม
คนเป็น "นายกรัฐมนตรี" ที่มีอำนาจยุบสภา ประกาศอย่างชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำอีก
ซึ่งหากเป็นประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทุกพรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้ง
ประชาชนต้องเตรียมใช้อำนาจในมือเพื่อเลือกผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้มาบริหารประเทศ
เพราะขั้นตอนต่อไปตามรัฐธรรมนูญก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 45-60 วันหลังการยุบสภา
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ ในวงสนทนาของ "นักการเมือง" ที่คุยเรื่องการเมือง
แทนที่คำถามแรกจะเป็นเรื่องผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดจะได้เสียงมากที่สุด
คำถามแรกกลับเป็น "จะมีการเลือกตั้งหรือเปล่า"
อย่าลืมว่านักการเมืองนั้นเป็นคนที่จมูกไวอย่างยิ่ง
ประสบการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงปี 2554 ทำให้ทุกคนเชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย
ไม่ว่าการรัฐประหารแบบเคลื่อนรถถังออกมาและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง
หรือ การ "รัฐประหารเงียบ" เหมือนที่จัดตั้งรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ในกองทัพ
หรือการใช้ "ตุลาการภิวัตน์" จัดการให้ กกต. พ้นสภาพ จนเกิดสุญญากาศทางการเมืองเหมือนเมื่อครั้งที่ กกต. ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เจอมาแล้ว
บทเรียนในอดีตเมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นำพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศ "บอยคอต" ไม่ส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง
เปิดช่องให้ "ตุลาการภิวัตน์" ทำงาน
และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ในที่สุด
"มือที่มองไม่เห็น" ในเมืองไทย มีจริง!!
แต่วันนี้ "อภิสิทธิ์" กำลังเผชิญกับ "อำนาจนอกระบบ" ในรูปแบบเดียวกัน
"ผมขอร้องทุกฝ่ายช่วยกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินหน้า"
เป็นคำขอร้องของ "อภิสิทธิ์" ในวันที่ผลักดันการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเข้าสภา
แต่ดูเหมือนว่า "เสียงกระซิบ" เรื่อง "ไม่มีการเลือกตั้ง" ก็ยังไม่หยุด
ยิ่งโพลภายในของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย กอ.รมน. และ ตำรวจ ตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสจะชนะเลือกตั้ง
เสียงกระซิบก็ยิ่งดังขึ้นกว่าเดิม
ความเชื่อของนักการเมืองข้อหนึ่งก็คือ "มือที่มองไม่เห็น" กลัว "ทักษิณ ชินวัตร" อย่างยิ่ง
และจะไม่ยอมเป็นอันขาดให้ "ทักษิณ" กลับมามีอำนาจ
ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจริง ก็เท่ากับเปิดประตูให้ "ทักษิณ ชินวัตร" กลับมา
จะมาทั้ง "ตัว" หรือแค่มีอำนาจควบคุม "อำนาจรัฐ" ก็ถือว่า "น่ากลัว" อย่างยิ่ง
เพราะครั้งนี้ "ทักษิณ" ย่อมซึมซับบทเรียนในอดีตสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
เขาคงไม่รอเวลาเหมือนในอดีต
ต้องจัดการทุกอย่างในช่วงที่กระแส "ความชอบธรรม" หลังการเลือกตั้งยังสูงอยู่
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายจึงจับตามองการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบไม่กะพริบตา
เพราะกลุ่มพันธมิตร คือ "มวลชน" ที่เปิดประตูให้เกิดการรัฐประหารเมื่อครั้งที่ผ่านมา
การปราศรัยบนเวทีพันธมิตร ตั้งแต่วันแรกที่ชุมนุมจนถึงวันนี้ จับสัญญาณชัดเจนคือ ปฏิเสธการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาจัดการ
จากเดิมที่เรียกร้อง "ผู้นำ" กองทัพ
แต่วันนี้ ถึงขั้นเรียกร้องนายทหารระดับคุมกำลังให้ออกมา
ปัญหาของกลุ่มพันธมิตรครั้งนี้มีเพียงอย่างเดียว คือ ปริมาณของ "มวลชน" ที่น้อยมาก
แต่เมื่อมีข่าวว่า พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร เพื่อนรัก จปร.7 ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้ามาช่วยและมีอดีตทหารเกณฑ์ของ ม.พัน 4 ทำหน้าที่การ์ดให้กับกลุ่มพันธมิตร
พร้อมกับประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 25 มีนาคม เพื่อคัดค้านการประชุมร่วมรัฐสภาในวาระพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรจึงยังน่าจับตามองเช่นเดิม
และยิ่งเห็นท่าทีของตำรวจที่แสดงอาการกล้าๆ กลัวๆ ในการ "ขอพื้นที่คืน" จากกลุ่มพันธมิตร ยิ่งทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า
เพราะฉายา "ม็อบมีเส้น" ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มี "ที่มา"
นอกจากนั้นแล้ว คำพูดของ นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่บอกว่าหากมีการกดดันให้ กกต. ลาออก หลัง "อภิสิทธิ์" ยุบสภา จะเกิด "สุญญากาศทางการเมือง" ขึ้นมา
และอาจทำให้เกิดการใช้ "มาตรา 7" ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา
ยิ่งทำให้เสียงกระซิบดังมากขึ้น
เพราะสอดคล้องกับคำพูดของ "สดศรี สัตยธรรม" ในงานสัมมนาเชิงวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง กระแสข่าวที่จะมีการบังคับให้ กกต. ลาออกจากตำแหน่ง
เพื่อทำให้เกิด "ทางตัน" ทางการเมือง
นอกจากนั้น "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังออกมาให้สัมภาษณ์ เรื่อง 4 สูตร การจัดตั้งรัฐบาล ที่ฟังดูแล้วแปร่งหูอย่างยิ่ง
เพราะเหมือนกับการส่งสัญญาณ "รัฐบาลแห่งชาติ"
ยิ่ง "หม่อมอุ๋ย" เป็นคนหนึ่งที่มีข่าวว่า เป็น "ตัวเลือก" ที่มีคุณสมบัติพร้อม คล้ายกับ "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย"
คลื่นกระซิบจึงยังไม่หยุด
เพราะนับตั้งแต่ปี 2549 อะไรก็เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย
เพียงแต่สถานการณ์ในวันนี้ แตกต่างจากวันก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวลชน "คนเสื้อแดง" ที่ประกาศต่อต้านการรัฐประหารอย่างเต็มตัว
ไม่ว่าจะรัฐประหารแบบไหน
ใช้อาวุธ หรือปฏิวัติเงียบ
นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ที่เข็ดขยาดกับผลพวงหลังการรัฐประหาร 19 กันายน 2549 และเตรียมพร้อมที่จะใช้อำนาจของตนตัดสินชะตากรรมของประเทศ ผ่านการเลือกตั้ง
คนกลุ่มนี้คงไม่ยอมกับ "อำนาจนอกระบบ" เหมือนในอดีต
กระแสต้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจนอกระบบ ของ "มือที่มองไม่เห็น" จะรุนแรงและหนักหน่วงยิ่ง
ทำนายได้เลยว่า หากไม่มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่
อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
++
จับสัญญาณ ยื้อเกมเลือกตั้ง
ในข่าวสดรายวัน วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7423 หน้า 3
ถึงแม้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำรัฐบาลหลายคน ตลอดจนบรรดาแม่ทัพนายกอง
จะออกมายืนยันสนับสนุนการเลือกตั้งตามแนวทางระบอบประชา ธิปไตย ตามที่หลายคนคาดการณ์ ว่าจะมีขึ้นประมาณปลายเดือนมิ.ย. หรืออย่างช้าต้นเดือนก.ค.
ขณะที่พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างก็ออกมาขานรับ ทั้งยังร่วมมือผลักดันร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับ รองรับการเลือกตั้งและการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนสามารถผ่านสภาวาระแรกไปอย่างรวดเร็ว
คือพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ทั้งยังคืบหน้าไปอีกขั้นกรณีมีราชกิจจานุเบกษาลงประกาศ กกต. เรื่องจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด จำนวน 375 เขต ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2554
แต่กับกระแสข่าวที่สวนออกมาไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ หรือการกดดันให้ กกต.ทั้ง 5 คนลาออกหลังการยุบสภา เพื่อให้เกิดสุญญากาศทาง การเมือง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นำ 'คนนอก' เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องวิธีการ 'นอกระบบ' ดังกล่าว
การที่ นางสดศรี สัตยธรรม ถอดใจประกาศพร้อมลาออกจาก กกต. หากได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถึงจะมีการยืนยันว่า กกต.ที่เหลืออีก 4 คนยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีผลกระทบต่อปฏิทินการเลือกตั้ง
แต่ก็เป็นจุดทำให้ประชาชน จำนวนไม่น้อยเริ่มเกิดความไขว้เขว เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดเดือนมิ.ย.นี้ได้จริง หรือไม่
นอกจากนี้หลายคนยังวิเคราะห์สัญญาณแปลกๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง
ส่วนหนึ่งยังมาจากการประเมินผลเลือกตั้งของโพลหลายหน่วยงานที่ทำขึ้นทั้งในทางลับและเปิดเผย ชี้ตรงกันว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย
ส่งผลให้เครือข่ายทักษิณกลับมาผงาดบนเวทีการเมืองไทยอีกรอบ
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ถืออำนาจตัวจริงขณะนี้ทำใจยอมรับได้ลำบาก ตรงนี้เองจึงเป็นบ่อเกิดของกระแสข่าวการปฏิวัติ
อย่างไรก็ตามทหารยุคนี้เพิ่งจะผ่านบทเรียน 19 กันยาฯ 2549 รวมถึงเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.53 ที่ทำให้ภาพพจน์กองทัพไม่ค่อยดีนักในสายตาประชาชน
จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะให้สัมภาษณ์ยืนกรานว่า กองทัพพร้อมสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ไม่มีการทำปฏิวัติเด็ดขาด
กระนั้นคำยืนยันของพล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนไม่เพียงพอให้พรรคเพื่อไทยคลายความระแวง
จากล่าสุดที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยออกมาปูดข่าวดักคอกองทัพตั้งหน่วยเฉพาะกิจกอ.รมน.ไว้คอย 'บล็อก'แกนนำคนเสื้อแดง และผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้ง
แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ยังมีการเสนออ๊อปชั่นพิเศษจาก 'มือที่มองไม่เห็น' ว่า
ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 แต่ได้จำนวนส.ส.ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง ก็ให้นับจำนวนส.ส.ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้
หากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลรวมกันแล้วมากกว่า ก็จะยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแทน
ข้อเสนอนี้เป็นการจูงใจพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีพรรคการเมืองขนาดเล็กจูงมือไปพบปะกัน และประกาศร่วมมือกันในการเลือกตั้ง
"จึงอยากเรียกร้องให้ผบ.ทบ. ประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ลากคอพรรคการเมืองไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรือไม่ก็ปล้นส.ส. พรรคเพื่อไทยออกไปหลังการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว"
หน่วยเฉพาะกิจที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นำออกมาแฉ ถ้าเป็นจริงประเด็นก็ไม่ต่างจากแผนบันได 4 ขั้นในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนธ.ค.50
และถ้าเป็นเช่นนั้นผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างกัน คือถึงพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาลไม่ว่าจะในฐานะพรรคแกนนำหรือพรรคร่วมก็ตาม
แต่ปัญหาความขัดแย้งก็จะวนกลับมาที่เดิม เพราะพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงคงไม่ยอมแน่
อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแส วิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น การเมืองส่อเค้าถึงทางตันอีกรอบ
'พรรคประชาสันติ' ก็เลือกจังหวะเปิดตัวออกมาได้พอดิบพอดีในฐานะพรรคทางเลือกใหม่
ฮือฮาตรงที่มีการวางตัว ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค นายพันธ์เลิศ ใบหยก เป็นท่อน้ำเลี้ยง เป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่คะแนนเสียงคนกรุง
แต่ขณะเดียวกันผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุนพรรคยังมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงระดับบิ๊กในกองทัพ และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับประชาธิปัตย์
ตามข่าวที่ออกมาถึงจะดูซับซ้อนแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ และแน่นอนว่าการคืนสังเวียนการเมืองของ 'ปุระชัย' ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาสันติ
ย่อมก่อให้เกิดแรงสะเทือนต่อพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้งกทม. ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนส.ส.โดยรวมทั้งประเทศ
ในสถานการณ์ประชาธิปัตย์ตกอยู่ในภาวะ 'ถดถอย' อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอำนาจการยุบสภายังอยู่ในมือของ นายกฯ อภิสิทธิ์ เต็มๆ
ด้วยเหตุนี้เอง อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไป ขนาดนักการเมืองรุ่นเก๋า และเป็นถึงประธานสภาอย่าง นายชัย ชิดชอบ ยังไม่ปักใจเชื่อเต็มร้อยว่าจะมีการยุบสภาต้นเดือนพ.ค.ตามที่นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศไว้
ตราบใดที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาโปรดเกล้าฯ ลงมา ทุกอย่างยังมีโอกาสพลิกผันได้ตลอด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย