http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-19

รสนิยม โดย คำ ผกา

.
รสนิยม
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1596 หน้า 89


หากเกิดเรื่องหรือคำอธิบายที่ทำให้เราต้องตบอกอุทานว่า "เป็นไปได้อย่างไร!" หรือที่วัยรุ่นชอบพูดกันว่าปรากฏการณ์เซอร์เรียล

สำหรับฉันสิ่งที่ทำให้ตัวเองต้องตบอกอุทานกับตนเองอยู่บ่อยๆ ว่า "เซอร์เรียล" น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวพันกับการอยู่กับ "ศาสนา"

โดยเฉพาะศาสนาพุทธของคนไทย

เราควรจะต้องยอมรับกันในเบื้องต้นว่า ศาสนาพุทธในสังคมไทยนั้น นับถือและปฏิบัติกันอยู่ในหลายระดับ และไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าจะมีการปฏิรูปคณะสงฆ์และสถาปนาการบริหารจัดการองค์กรสงฆ์ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีรูปแบบเดียวกันกับระบบบริหารราชการของรัฐไทย

แต่ก็ทำได้สำเร็จในระดับหนึ่ง นั่นคือ สามารถทำลายนิกายย่อยของพุทธศาสนาในท้องถิ่น โดยมีตำแหน่งบริหารส่วนภูมิภาคของพระสงฆ์ขึ้นตรงต่อศูนย์กลางที่เมืองหลวง

พระสงฆ์ไทยอาจต้องเรียนตำราเล่มเดียวกัน สอบข้อสอบชุดเดียวกัน อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ใช้เงื่อนไขของการเลื่อนชั้นพัดยศฉบับเดียวกัน มีกฎเกณฑ์การนุ่งห่ม สีของจีวร เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศก็จริงอยู่

แต่วิถีปฏิบัติของพุทธที่อยู่ในชีวิตประจำวันนั้น มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก



"พุทธ" แบบ "บ้านๆ" ที่ฉันรู้จัก-และไม่จำเป็นว่าคนอื่นจะต้องรู้จักเหมือนกันกับตัวฉัน เพราะอย่างที่บอกว่า วิถีพุทธในสังคมไทย น่าจะหลากหลายกว่าที่เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามากนัก และไม่ได้แปลว่าวิถีของใครดีกว่าของใคร-เป็นพุทธชนบทของภาคเหนือที่ไม่มีความเคร่งครัด ตึงเปรี๊ยะ

การล้อเลียนหรือแม้กระทั่งด่าทอพระสงฆ์ฉันท์ญาติมิตร เป็นเรื่องที่ไม่มีใครถือสา และมีกาละเทศะอันเป็นที่เข้าใจกัน

เช่น เราคงไม่ลุกขึ้นล้อเลียนท่านเจ้าอาวาสขณะเทศน์หรือสวดมนต์ แต่หากท่านเจ้าอาวาสออกมาเดินเล่นแถวๆ หน้าวัดก็อาจโดน "แซว" กันบ้าง

และบางครั้งอาจถึงขั้นคะยั้นคะยอให้พระกินข้าวมื้อเย็น การละเมิดกฎบางข้อ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่กลับเป็นเรื่องขำๆ หรืออีกนัยหนึ่ง การละเมิด หรือ ความอ่อนแอของพระ อันนำไปสู่การละเมิดวินัย กลับให้เราสบายใจในแง่ที่ว่า "เฮ้ย พระก็คนๆ เหมือนกันกับเรานี่แหละ มีพลาดบ้าง อยากบ้าง อะไรบ้าง"

การเห็นพระเป็นคนต่างหากที่เพิ่มสติมิให้หลงไปว่าพระคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือมนุษย์ขึ้นไปอีก จนเราต้องกราบไหว้อยู่สถานเดียว หรืออาจถึงขั้นมัวเมาพระ พูดอะไรก็ถูกไปหมด ดีไปหมด

นอกจากนี้ พุทธศาสนาที่มีชีวิตอยู่ปะปนไปกับความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผี หรือ พิธีกรรมคนพื้นเมืองดั้งเดิมก็ไม่ใช่เรื่องชวนตระหนกตกตื่นแต่อย่างใด เพราะกว่าพุทธศาสนาจะเดินทางมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ ในเชียงใหม่ก็คงต้องผ่านการแต่งงานกับหลายอารยธรรม หลายวัฒนธรรม ความเชื่อ ไม่นับว่ากาลเวลาก็ยิ่งจะทำให้พุทธศาสนาอยู่ห่างไกลจากคำว่า "บริสุทธิ์"

มิเช่นนั้น พุทธก็คงไม่มีหลายนิกาย หลายวิถีปฏิบัติ

มิเช่นนั้น พุทธที่อินเดีย ศรีลังกา ทิเบต จีน ญี่ปุ่น ก็คงเหมือนกันไปหมด



แต่อาการโหยหาความ "บริสุทธิ์" ของพุทธศาสนานั้น พึงตั้งข้อสังเกตว่า มักเกิดกับชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาดี ที่ยืนอยู่ระหว่างความรู้ที่เน้นการใช้เหตุผลแบบตะวันตก ขณะเดียวกัน ก็มีความหลงใหลคลั่งไคล้ในความเป็นไทย ไม่อยากยอมรับความจริงว่า กรุงรัตนโกสินทร์นั้นไซร้ อายุน้อยกว่าร้านขายเต้าหู้บางร้านในเกียวโตเสียด้วยซ้ำไป

มองซ้ายมองขวาไม่เห็นอะไรก็ไปอุปโลกน์พุทธศาสนาว่า แท้จริงแล้ว แก่นแท้และปรัชญาของพุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นปรัชญา มีความเป็นเหตุเป็นผล จนถึงขั้นเขียนหนังสือประเภท "ไอน์สไตน์ถามพระพุทธเจ้าตอบ"

และพยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมโยงพุทธศาสนาเข้ากับฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งโยงเข้ากับแนวคิดโพสต์โมเดิร์น โดยอ้างว่า หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้านั้น ตั้งคำถามกับ "ความจริง" เหมือนแนวคิดหลังสมัยใหม่

ฟังแล้วได้แต่เอ๋อ เพราะทุกสำนักคิดในโลกนี้มันก็เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับความจริงเป็นเบื้องต้นทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นี่นา

ส่วนไอน์สไตน์ไปถามและตอบกับพระพุทธเจ้าอย่างไร พุทธเป็นฟิสิกส์อย่างไร สาธุชนน่าจะต้องใช้หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้าในการอ่านและคล้อยตามอย่างยิ่งยวด


เมื่อชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาเกิดอาการ "นอยด์" กับพุทธศาสนาที่ปนเปื้อนผี เปื้อนไสยศาสตร์ เปื้อนพราหมณ์ รังเกียจอาการขูดตะเคียนขอหวยของชาวบ้านผู้ไร้การศึกษา ไปจนถึงพระบ้านนอกผู้มีจรรยามารยาท ไม่ต้องรสนิยมคนมีการศึกษา

กลุ่มอาการนี้คล้ายคลึงกันกับที่คนมีการศึกษารังเกียจนักการเมืองท้องถิ่น ห้อยพระเครื่องพวงโตๆ เสียงดัง วางก้าม แต่ถ้าเป็นนักการเมืองผิวบางหน้าบางเป็นนักเรียนอังกฤษแล้วละก็ ทำอะไรก็ดูน่ารักน่าเอ็นดู

กลุ่มคนเหล่านี้จึงพยายามหาเครื่องมือเจียระไนแยกแยะหาว่าอะไรคือพุทธที่แท้ อะไรคือพุทธที่เทียม



กระบวนการแยกพุทธแท้ออกจากพุทธเทียมอาจจะเริ่มตั้งแต่ดูที่วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ คนมีการศึกษาจะให้ความสำคัญกับ "ภาพ" ดังนั้น พระสงฆ์ที่อยากเอาชนะใจคนชั้นกลางต้องรู้ว่าจะ act หรือจะ pose ท่าอย่างไรให้ถูกจริตคนเหล่านั้น

จากนั้นมาดูที่วัตรปฏิบัติ เมื่อคนมีการศึกษาเบื่อหน่ายพระชาวบ้านที่ติ๊ดชึ่งบ้าง เฮฮาบ้าง ดิบบ้างสุกบ้าง จึงเกิดการเปรียบเทียบพระสายบ้านกับพระสายป่า

โดยมองว่า พระแท้ พระจริง แน่จริงต้องเข้าป่า อยู่ถ้ำ สงบ สำรวม นั่งวิปัสสนา มุ่งหานิพพานอย่างไม่ย่อท้อ สละแล้วซึ่งทางโลกอย่างสิ้นเชิง

อันนี้คนใจบาปหยาบช้าอย่างฉันก็งงๆ นิดหน่อยว่า ก็พระท่านอุตส่าห์ไปปลีกวิเวกขนาดนั้น พวกเราเหล่าศรัทธาเหตุไฉนไม่ปล่อยให้ท่านได้บำเพ็ญธรรมอย่างวิเวกสมใจท่าน ทว่า การณ์กลับกลายเป็นว่ายิ่งพระรูปไหนหนีเข้าป่า ทำท่าไม่พูดไม่จากับคนมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งแห่แหนกันไปขอพบขอเจอ ขอชมบุญบารมีมากเท่านั้น

เข้าทำนองของยิ่งหายากยิ่งมีค่า ยิ่งเข้าพบยากยิ่งมีค่า จนเกิดการอิจฉาริษยากันระหว่างศิษย์ หรือมีการประชันขันแข่งกันว่าใครเป็นศิษย์รัก ศิษย์โปรด ใครเข้าหาใครแล้วจะได้อยู่ใกล้พระอาจารย์

เอ๊ะ ตกลง คนเหล่านี้อยากนิพพานจริงหรือเปล่านะ?


มิพักต้องถามว่า การเข้าป่าปลีกวิเวกนั้นเป็นการหาทางรอดส่วนบุคคล (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผิด แต่อยู่ในทำนองใครใคร่ทำ ทำ มากกว่า) แต่การเป็นพระสาย "บ้าน" ย่อมหมายถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน ส่วนตัวเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักคือ เป็นพระที่ช่วยเหลือเจือจานบริการชาวบ้านไปตามประสาน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

คำพังเพยประเทศล้านนาของฉันถึงมีล้อ (ด้วยความเอ็นดู) พระกันนักว่า "หนูบ่เข้า ตุ๊เจ้าบ่ควี" หมายความว่า ปีไหน หนูไม่มากินข้าวในนา และไม่ต้องเอาข้าวไปเลี้ยงดูพระสงฆ์มากเกินไป ปีนั้นก็อยู่สบายหน่อย-และนั่นไม่ได้แปลว่าพระสาย "บ้าน" จะน่าเคารพน้อยกว่าพระสาย "ป่า" ปลีกวิเวกอย่างที่พยายามจะไปเจียระไนให้ค่ากัน

ก่อนจะพ่วงมาด้วยการจัดลำดับชั้นต่ำสูงของ "ศรัทธา" ชาวบ้านที่เคารพพระบ้านๆ คือคนที่ไม่เข้าใจพุทธศาสนา งมงาย ตื้นเขิน ลุ่มหลงอยู่กับวัตถุ การสร้างโบสถ์ วิหาร พระพุทธรูปองค์โตๆ ส่วนคนที่ไปนับถือพระปลีกวิเวกถูกให้ค่า (หรือให้ค่าตนเอง) ว่าเป็นกลุ่มคนที่มองเห็นแก่นแกนหัวใจของศาสนาพุทธ ไม่ยึดติดกับพิธีกรรมและวัตถุ

สอดรับกับกระแสพอเพียงเรียบง่าย เซ็น มินิมัลลิสต์ มังสวิรัติ รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพอดิบพอดี



จากนั้น สุดยอดของการวัดระดับ "พุทธ" ของเหล่าคนมีการศึกษาคือวัดกันด้วยว่าใครอ่าน text เจนจบมากกว่ากัน

อันนี้เป็นทั้งทางออกของคนที่ไม่ต้องการบวช ทั้งด้วยเหตุผลที่ว่า ยังต้องการทำมาหากิน ยังอยากมีเมีย อยากอึ๊บหญิง อยากอึ๊บหนุ่ม อยากกินเหล้า อยากหาเงิน อยากรวย แต่จะมีการแก้เกี้ยวกันว่า การเข้าถึง "พุทธ" นั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ชีวิตนักบวช แต่อยู่ที่การศึกษาทำความเข้าใจพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ แตกฉาน ก่อนจะเคลมว่าตนนั้นอ่านพระไตรปิฎกเจนจบ พระบางรูปยังไม่เคยอ่านเลยพระไตรปิฎก สู้คนสามัญไม่ได้บวชอย่างฉันได้ป่าว?

คำสอนของพระดังๆ ทั่วประเทศไทยอ่านมาหมดแล้ว พระจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ทิเบต ศึกษา เปรียบเทียบจนเจนจบ นี่พุทธศาสนาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น

ศาสนาพุทธ คือปรัชญา เหตุผล ไม่ใช่พุทธงานวัดอีลุ่งตุ้งแช่ ที่สำคัญ พุทธศาสนาไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน เพียงแต่ทำงานหาเงินให้มากๆ แล้วจะได้มีเวลา มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะไปวิปัสสนา ไม่ต้องกลัวอดตาย

ว่าแล้วหลังจากทำมาหากินมีเงินสักห้า-หกร้อยล้าน ก็ไปนั่งสมาธิสักปีสองปี ก่อนจะออกมาสั่งสอนเพื่อนร่วมโลกว่า เห็นมั้ย ศาสนาพุทธสอนให้ผมหรือดิฉัน ณ ขณะนี้ รู้จักความสงบ ความพอเพียง วันนี้พอแล้ว ไม่อยากได้เงินแล้ว อยากมีชีวิตอิ่มเอมอยู่กับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ดังนั้น จะสร้างสถานวิปัสสนาที่สวยกว่าโรงแรมห้าดาวกลางป่าสงวน เพื่อจะได้สงบ สะอาด รักธรรมชาติกันจุใจ


มัวแต่วัดคุณค่ากันด้วยว่าใครอ่านพระไตรปิฎก ใครจำเนื้อหาในพระไตรปิฎกได้แม่นยำกว่ากัน ใครพูดจาภาษาธรรมะ บาลีได้น่าเลื่อมใสกว่ากัน จนลืมไปเลยว่า ครั้งหนึ่งในสังคมไทย ประเพณีการสร้างหอพระไตรปิฎกนั้น หากเป็นไปได้ สร้างไว้กลางน้ำด้วยซ้ำ อาจจะเพราะกลัวปลวก มอด แมลง

แต่อีกความหมายหนึ่ง พระไตรปิฎก ไม่ได้มีไว้สำหรับอ่าน แต่เป็น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" เอาไว้เคารพบูชา ดังนั้น ในยุคหนึ่ง ไม่มีใครมาวัดความแท้ของการเป็น "พุทธ" กันด้วยความสามารถในการอ่านและจดจำ ตัว text ทั้งยังอาจตีความได้ว่า การผูกขาด text ก็คือการผูกขาดความรู้ อำนาจไว้กับคนจำนวนน้อย

นั่นแปลว่า ศาสนาใดๆ ก็ตามคือเครื่องมือพยุงอำนาจของชนชั้นนำด้วยเสมอ แต่ในกาลต่อมา การผูกขาดอำนาจกลับสามารถทำได้

ในทางกลับกันคือพยายามผูกขาดว่า "กูอ่านมามากกว่ามึง"



เขียนมาทั้งหมดนี้ด้วยเพลียหัวใจกับกระแสคลั่งพุทธศาสนาที่ดูเหมือนจะมาแรงกว่ากระแสคลั่งชาติที่ปลุกไม่ขึ้น (และถือว่าสังคมไทยได้ก้าวหน้ามาระดับหนึ่งทีเดียว)

แต่พอมาถึงเรื่องศาสนา สังคมไทยกลับยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้น้อยมาก และอาจพูดได้ว่า การวิจารณ์พุทธศาสนาของไทยนั้น อนุญาตให้วิจารณ์ได้เฉพาะพระบ้านๆ พระกินเหล้า พระเอาสีกา ซึ่งเป็นความเลวร้ายระดับพฤติกรรมที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนข่มขืนผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นพระหรือเป็นคนธรรมดาก็ต้องถือว่า ผิดกฎหมายต้องมีความผิดทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด

ทว่า การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ทั้งด้านบวกและลบ ด้านที่มีความเป็นเผด็จการนาซี ด้านที่ใช้เปลือกผิวของความดีมาทำมาหากินเขียนหนังสือขายไปวันๆ ก็เยอะ

หากการกินเหล้าเท่ากับความชั่ว เราจะบอกว่าคนไม่กินเหล้าเท่ากับคนดี? มันง่ายและผิวเผินอย่างนั้นเลยหรือ?

อย่าลืมว่า ฆาตกรอำมหิตจำนวนมากในโลกนี้เป็นมังสวิรัติทั้งไม่แตะต้องสุรากันก็หลายคน ฮิตเลอร์ก็ถือตนเองว่าเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดอย่างยิ่ง-เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เหตุใดเราจึงสงวนพื้นที่ของพุทธศาสนามิให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งควรจะต้องล้อเลียนได้ด้วยซ้ำไป

ทั้งยังไม่ลืมว่า ศาสนา และวิถีปฏิบัติทางศาสนาและความเชื่อนั้นควรได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็น "รสนิยมส่วนบุคคล" เฉกเดียวกับการกินเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ใครใคร่กินส้มตำก็กินไป ใครใคร่กินสะเต๊กก็กินไป แต่คนกินสะเต๊กมิควรมาอวดอ้างรสนิยมของตนดีกว่าของคนอื่น

และมิพึงโกรธเกรี้ยวหากจะใครมานั่งรื้อถอนว่า เหตุใดคนกินสะเต๊กจะมีความรู้สึกว่าตนเองอยู่เหนือหรือสูงส่งกว่าผู้อื่น

ศาสนาคือเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่มนุษย์มีไว้ใช้เพื่อรับมือกับความทุกข์ หรือความคับข้องใจในชีวิตที่เกินกำลังตนเองจะรับมือ และเช่นกัน ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยี บางคนอาจพึงใจใช้โพรแซ็กส์ เพราะเห็นผลเร็วดี

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนใช้โพรแซ็กส์จะมีระดับทางศีลธรรม คุณธรรมต่ำกว่าคนนั่งวิปัสสนา เผลอใช้ไม่เป็น ทำไม่เป็น ก็ทำเอาเพี้ยนไปได้ด้วยกันทั้งสองวิธี

เป็นเช่นนี้ เมื่อมานั่งดูสารพัดหนังสือธรรมมะของทั้งพระทั้งชีทั้งฆราวาสที่อ้างว่าแจ้งแล้วในทางธรรม-ฉันก็บอกตัวเองว่า-มันก็แค่ รสนิยม รสนิยม รสนิยม

.