http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-05

เงินเฟ้อราคาอาหารฯลฯ และ จ่ายค่าหมอด้วยถั่ว โดย วีรกร ตรีเศศ

.
เงินเฟ้อราคาอาหารและน้ำมัน
โดย วีรกร ตรีเศศ คอลัมน์ อาหารสมอง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 48


ในช่วงเวลาอันใกล้ต่อไป คนมีรายได้น้อยจะทนทุกข์ทรมานมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะมีทางโน้มที่ชัดเจนว่าราคาสินค้าจะขยับตัวเพิ่ม ยิ่งเหล่าเผด็จการในตะวันออกกลางกำลังจะกลายเป็นตัวโดมิโนร่วงหล่นกันไปทีละคน ความหวาดหวั่นว่าราคาน้ำมันจะพุ่งก็มีมากขึ้น

จะว่าไปแล้วเป็นคนจนมันก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ ไม่เพียงแต่รายได้ส่วนใหญ่จะหมดไปกับอาหารและสิ่งบริโภคอุปโภคแล้ว ยังมีแบบแผนการดำรงชีวิตที่ทำให้มีโอกาสตายสูงขึ้นอีกด้วย

ไม่ว่ามองไปทางไหนในเอเชีย ราคาอาหารก็สูงขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่บ้านเรา

การที่ราคาอาหารสูงขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น เนื่องจากค่าแรงมักขยับตัวตามราคาอาหาร ราคาน้ำมันก็ผันแปรตามความไม่แน่นอนของความต้องการของตลาดโลกและสถานการณ์การเมืองของแหล่งผลิตน้ำมัน

ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์อยู่ระหว่างเขาควาย กล่าวคือ จำต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อปราบเชื้อไฟของเงินเฟ้อ ซึ่งได้แก่ สินเชื่อจากการกู้ยืม การใช้จ่ายของประชาชนเมื่อเห็นผลตอบแทนจากการออมต่ำ ฯลฯ

ในทางตรงกันข้ามถ้าหากปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเร็วเกินไปก็จะทำให้อัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจช็อกไป การว่างงานก็จะสูงขึ้น

แต่ถ้าปรับอัตราดอกเบี้ยช้าไปก็จะควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อไว้ไม่อยู่



ธนาคารโลกได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าราคาอาหารโลกได้สูงขึ้นถึงระดับที่เป็น "อันตราย" เพราะสูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาที่สูงขึ้นของข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมัน ผลักดันให้ประชากร 44 ล้านคน เข้าไปอยู่ในข่ายยากจนสุดๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนของปี 2010 เป็นต้นมา

พวกเราคงยังจำสถานการณ์ราคาอาหารสูงขึ้นเพราะความขาดแคลนอาหารในปี 2008 กันได้ ครั้งนั้นถือได้ว่าหนักมากเพราะในบางประเทศเกิดความชุลมุนวุ่นวายแย่งชิงอาหารกัน แต่ครั้งนี้ยังดีเพราะฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านไปมีปริมาณของพืชผลออกมามากพอควรจนทำให้ไม่เหมือนปี 2008

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น สถานการณ์จึงอ่อนไหวต่อเงินเฟ้อด้านอาหารมากกว่าที่อื่น ซึ่งถึงแม้บริเวณเหล่านั้น เช่น แอฟริกา มีสัดส่วน คนยากจนสูง แต่ก็มีขนาดประชากรต่ำกว่า

ทุกครั้งที่อาหารมีราคาสูงขึ้นคนยากจนจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลงโทษ เพราะเมื่อเงินจำนวนเท่าเดิมซื้ออาหารได้น้อยลง (รายได้ที่แท้จริงลดลง) คุณภาพชีวิตก็ย่อมเลวลง

และอีกประการหนึ่งเมื่อคนจนไม่มีเงินออมหรือมีน้อยมากก็ขาดความคล่องตัวในการจัดการซื้ออาหารที่จำเป็นไว้ก่อนที่ราคาจะสูงขึ้น การมีทางเลือกที่น้อยจึงยิ่งทิ่มตำคนจนมากยิ่งขึ้น


ผู้คนถกเถียงกันมากว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญของราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ คำอธิบายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่คำตอบร่วมกันประการหนึ่งก็คือสภาวะอากาศที่ผันแปรไปสุดโต่งอย่างบ่อยขึ้นจนทำลายพืชผลไปมากมาย ซัพพลายไหลเข้าตลาดน้อยลงจนมีผลทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

น้ำท่วมหนักในออสเตรเลีย ปากีสถาน และอินเดีย มีผลทำให้พืชผลเสียหายเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับสภาวะฝนแล้งในอาเจนตินา ยุโรปตะวันออก และจีน (เลวร้ายสุดในรอบ 6 ทศวรรษจนบีบให้ข้าวสาลีซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกมีราคาสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2010 เป็นต้นมา)

นอกจากนี้ การที่จำนวนคนเอเชียชั้นกลางขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความต้องการอาหารมากขึ้นกว่าเดิม เพราะคนพวกนี้มีการบริโภคอาหารหลากหลายชนิดขึ้น ซึ่งหมายถึงความต้องการพืชผลที่เพิ่มขึ้นในหลายประเภท



ราคาพลังงานก็มีส่วนทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ (ค่าเดินทาง ค่าปุ๋ย ค่าโสหุ้ยต่างๆ สูงขึ้น) และราคาพลังงานที่สูงขึ้นนี้จูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชเพื่อเอาไปผลิตพลังงาน (Biofuels) ซึ่งมีส่วนทำให้เหลือพืชผลสำหรับใช้เป็นอาหารน้อยลง

ปัจจัยหลักของพลังงานก็คือน้ำมันดิบ (ซึ่งแปรเปลี่ยนมาเป็นน้ำมันเตา ก๊าซ ดีเซล เบนซิน ฯลฯ ด้วยการกลั่น) ซึ่งนับวันจะมีการบริโภคสูงขึ้นเป็นลำดับเนื่องจากยังคงเป็นพลังงานที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานที่มาจากต้นกำเนิดอื่นๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ

ในปี 2001 ทั้งโลกใช้น้ำมันดิบวันละ 76 ล้านบาเรล (1 บาเรลเท่ากับประมาณ 158.987 ลิตร) ในปี 2011 ใช้ 89 ล้านบาเรล และก่อนถึงปี 2015 คาดว่าจะมีการใช้ถึง 93.5 ล้านบาเรลต่อวัน

ในตัวเลขดังกล่าวซาอุดิอาระเบียมีสัดส่วนการผลิตสูงสุดคือวันละ 10.2 ล้านบาเรล ต่อวัน (ร้อยละ 11.7 ของโลก) อิหร่านวันละ 4.1 ล้านบาเรลต่อวัน (ร้อยละ 5.3 ของโลก) อิรัก 2.4 ล้านบาเรลต่อวัน (ร้อยละ 3.1 ของโลก)

หากโดมิโนของการลุกฮือของประชาชนลามไปถึงสองประเทศคืออิหร่านและซาอุดีอาระเบียจึงเป็นสิ่งน่ากลัวในระยะสั้นสำหรับชาวโลก สำหรับอียิปต์นั้นไม่น่ากลัวเพราะวันหนึ่งผลิตได้เพียง 662,000 บาเรล (ร้อยละ 0.8) ซึ่งเกือบทั้งหมดใช้สำหรับการบริโภคในประเทศ

น้ำมันที่ผ่านคลองสุเอซ (อยู่ในอียิปต์เป็นคลองเชื่อมระหว่างทะเล Red Sea กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) นั้นปัจจุบันมีเพียงวันละ 1 ล้านบาเรล ส่วนอีก 1.1 ล้านบาเรลต่อวันข้ามอียิปต์โดยผ่านท่อที่มีชื่อว่า Suez-Mediterranean ซึ่งเชื่อมต่อ Gulf of Suez ไปยังทะเล Mediterranean

ถึงแม้การขึ้นลงของราคาอาหารส่วนใหญ่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เราก็ไม่สมควรยอมจำนนมันโดยดุษฎีภาพ การแทรกแซงโดยรัฐในรูปของการให้เงินอุดหนุนในการผลิต การช่วยลดต้นทุนในการผลิต ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผลผลิตไหลเข้าตลาดมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น

เราไม่ยอมปล่อยให้คนจนล่องลอยตามยถากรรมฉันใด เราก็ไม่ควรปล่อยให้ราคาอาหารของประชาชนทั่วไปลอยตัวขึ้นไปอย่างไร้จุดหมายฉันนั้น



เครื่องเคียงอาหารสมอง

มนุษย์สับสนกับสัญลักษณ์ที่มีความหมายไม่ตรงกันหลายประการ ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

(1) เครื่องหมาย comma (,) ทั้งโลกใช้เครื่องหมายนี้หน้าตัวเลข 3 ตัว (หลักพัน) สุดท้ายและทุกๆ 3 ตัวตามที่มา เพื่อช่วยให้นับได้ง่ายขึ้น เช่น 3,000 คือ สามพัน 30,000 คือ สามหมื่น ฯ

อย่างไรก็ดี ในยุโรปบางประเทศใช้เครื่องหมาย comma นี้แทนจุด (.) เช่น 3,00 ยูโร หมายถึง 3.00 ยูโร/ หากมีคนเขียนว่า 3,050 ยูโร ก็มีความหมายว่าสามจุดศูนย์ห้ายูโร (หากเขียนแถมศูนย์อีกตัวตอนท้ายทศนิยม) ซึ่งในประเทศอื่นจะหมายถึงสามพันห้าสิบยูโร

(2) ในประเทศทั่วโลกเครื่องหมายหารในคณิตศาสตร์ คือ :- อย่างไรก็ดี ในอเมริกาใต้และยุโรปบางประเทศนั้นเครื่องหมายหารคือ : ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงสัดส่วน เช่น 2 : 1 คือสองต่อหนึ่ง ความสับสนเกิดขึ้นเมื่อเห็น 10 : 5 คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นสัดส่วน 10 ต่อ 5 มิใช่คำสั่งให้เอา 10 ตั้งและหารด้วย 5

(3) # ในสหรัฐอเมริกาหมายความถึง number หรือหมายเลข เช่น apartment # 3 (หมายเลข 3) ซึ่งต่างจาก * ซึ่งคนไทยเรียกว่าดอกจันทร์ ต้องระวังความสับสนนี้ให้ดี (คล้ายกับความแตกต่างระหว่างประเทศ Austria และ Australia/ Taiwan และ Thailand/ Iceland และ Ireland)


น้ำจิ้มอาหารสมอง : A man"s friendships are one of the best measures of his worth. (Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ค.ศ.1809-1882)
ความเป็นมิตรเป็นสิ่งบ่งบอกที่ดีที่สุดตัวหนึ่งของความมีคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่ง


++

จ่ายค่าหมอด้วยถั่ว
โดย วีรกร ตรีเศศ คอลัมน์ อาหารสมอง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1586 หน้า 42


คนไข้มานั่งคอยรับบริการแพทย์กันแน่นโรงพยาบาล บ้างก็อุ้มไก่ อุ้มหมู แบกถุงธัญพืชนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วลิสง เพื่อเอามาจ่ายเป็นค่าหมอและยา

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ฉากในภาพยนตร์ หากเป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ Zimbabwe ในแอฟริกา

ทำไมจึงไม่ใช้เงินสดจ่าย ลองตามมาดูกันว่าเหตุใดจึงทำอะไรประหลาดเช่นนี้

Zimbabwe มีพลเมือง 12.5 ล้านคน มีพื้นที่เกือบ 400,000 ตารางกิโลเมตร (เกือบเท่าไทยที่มี 500,000 ตารางกิโลเมตร) เดิมชื่อ Rhodesia มีประวัติความเป็นมาคล้าย South Africa ที่เป็นเพื่อนบ้านคือเป็นบริเวณที่คนขาว (คนอังกฤษส่วนใหญ่) มาตั้งรกรากทำมาหากินในดินแดนคนผิวดำและก็ตั้งขึ้นมาเป็นประเทศเสียเลย โดยเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ.1888 จนได้รับเอกราชในปี 1965 และเปลี่ยนชื่อเป็น Zimbabwe ในปี 1979

ประวัติศาสตร์ของ Zimbabwe เต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างคนขาว การต่อสู้เพื่อเอกราชจากคนขาวด้วยกันเอง การต่อสู้ระหว่างคนขาวและระหว่างคนพื้นเมืองดั้งเดิม ในช่วงปี 1965-1979 คนขาวครองอำนาจโดยนาย Ian Smith เป็นผู้นำสำคัญ เมื่อกระแสในเรื่องสิทธิมนุษยชนมาแรงในโลก การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นในปี 1979 โดยคนดำชนะเลือกตั้งท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่คุกรุ่นมาตลอด

นาย Mugabe คือผู้ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายครั้งนั้นและครองอำนาจยาวนาน 28 ปี เมื่อเริ่มต้นก็เป็นนักการเมืองที่ดีและกลายเป็นผู้ร้ายในที่สุด ฆ่าฟันฝ่ายตรงข้าม คอร์รัปชั่นมโหฬาร สนใจแต่การครองอำนาจ ไม่ใส่ใจความกินดีอยู่ดีของประชาชน

ในปี 2008 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีคู่แข่งสำคัญ 3 คน ผลการลงคะแนนปรากฏว่านาย Tsvangirai มีคะแนนนำนาย Mugabe มาก แต่เมื่อรัฐบาลนำคะแนนไปนับใหม่ นาย Mugabe ก็ชนะ เกิดการขัดแย้งกันหนัก ในที่สุด ก็ประนีประนอมให้ Mugage เป็นประธานาธิบดี และนาย Tsvangirai เป็นนายกรัฐมนตรี

ปัญหาที่หนักหนาสาหัสของ Zimbabwe ก็คือเงินเฟ้อที่รุนแรงอย่างน่าอัศจรรย์ในช่วงปี 2003-2009 ในปี 1998 ราคาข้าวของแพงขึ้นโดยเฉลี่ยหรือที่เรียกว่าเงินเฟ้อในระดับ 32 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนับว่าสูงมากแล้ว แต่ในปี 2008 เงินเฟ้อสูงขึ้นในระดับ 11.2 ล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสภาพการณ์อย่างนี้เรียกว่า Hyperinflation หรือสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างสุดๆ

อัตราที่ยากจะเข้าใจนี้ หากแปลความง่ายๆ ก็คือระดับราคาจะสูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งเท่าตัวทุกๆ 1.3 วัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงอันดับสองในประวัติศาสตร์ อัตราสูงที่สุดคือฮังการีในปี 1946 ซึ่งระดับราคาสูงขึ้นหนึ่งเท่าตัวทุกๆ 15.6 ชั่วโมง

ในปี 2006 รัฐบาลได้กำหนดหน่วยเงินใหม่เพื่อความสะดวกในการซื้อขายก่อนที่ประชาชนจะตาลายและสำลักเลขศูนย์ตาย โดยกำหนดให้หนึ่งดอลลาร์ใหม่เท่ากับ 1,000 ดอลลาร์เก่า แต่เงินเฟ้อก็พุ่งไม่หยุด รัฐบาลต้องปรับหน่วยเงินใหม่อีกครั้งโดยให้ 1 เหรียญใหม่เท่ากับ 1,000,000,000,000 เหรียญเก่า

แค่อ่านก็เวียนหัวแล้ว คน Zimbabwe ต้องใช้เงินเหรียญทั้ง 2 ชนิดคู่กันไป คิดดูก็แล้วกันว่าจะต้องเก่งคณิตศาสตร์กันแค่ไหนจึงจะอยู่ได้ในประเทศนี้ เงินเฟ้อก็เดินหน้าต่อไปไม่หยุด จนสุดท้ายรัฐต้องประกาศยกเลิกการใช้ดอลลาร์ของ Zimbabwe ในเดือนเมษายน ปี 2009 และให้มาใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นทางการ และคราวนี้เงินเฟ้อหยุดได้ทันที


คำถามก็คือทำไมมันเฟ้อกันได้ขนาดนี้?

คําตอบง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลปั๊มธนบัตรออกมาใช้จ่ายเหมือนแบงก์กงเต็กเพราะเก็บภาษีไม่ได้แต่ต้องมีรายจ่าย ในขณะที่ข้าวของกินของใช้มีปริมาณเท่าเดิมและจำกัดมาก ราคาจึงสูงขึ้น ข้าวยากหมากแพงเป็นผลจากการที่รัฐบาลไปยึดที่ดินของคนขาวที่มีเพียงร้อยละ 1 ของประชากร (ปัจจุบันเหลืออยู่ในประเทศไม่ถึง 20,000 คน) แต่ครอบครองที่ดินร้อยละ 75 ของทั้งประเทศ เมื่อรัฐบาลยึดมาแล้วก็
ไม่มีปัญญาไปทำอะไรกับมัน จึงต้องทิ้งให้รกร้าง

ที่ดินเหล่านี้เคยเป็นแหล่งผลิตสินค้าและเกษตร เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ แต่เมื่อคนผิวดำมีอำนาจ การเมืองก็ยุ่ง มีแต่การแย่งอำนาจและแย่งกันคอร์รัปชั่น ประชาชนกว่า 3.4 ล้านคนอพยพออกนอกประเทศไป South Africa และ Botswana ตั้งแต่กลางปี 2007 ผู้คนระส่ำระสายกันทั่ว อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 80 พร้อมกับบริการสาธารณสุขที่เลวลงเป็นลำดับ

การแลกสิ่งของกัน (bartering) หรือใช้ของบางอย่างเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนบนสภาพการณ์เงินเฟ้อรุนแรงเช่นนี้ หรือในสังคมที่ขาดความเชื่อมั่นในเงินสกุลของตนเองนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

ในพม่าเมื่อ 15 ปีก่อน บุหรี่ 555 และวิสกี้ตราแดง (Red Label) กลายเป็น "เงินสกุล" สำคัญแทนเงินจั๊ด เหตุที่ไม่ใช้ทองคำก็เพราะไม่มีใครมีเงินมากพอจะมีทองคำและมันก็มีราคาสูงจนไม่อาจแบ่งเป็นมูลค่าย่อยๆ ได้สะดวก

Zimbabwe ก็เหมือนกัน ในสภาพการณ์ที่ราคาขึ้นสูงไม่หยุด ใครรับเงินสกุลท้องถิ่นไว้ภายใน 2 วันก็เอาไปซื้อสิ่งของได้จำนวนนิดเดียว (ค่าเงินลดลงมากเพราะราคาสินค้าสูงขึ้นมาก) ดังนั้น จึงต้องรับไว้เป็นสินค้าแทน เพราะสินค้าที่รับมาก็จะมีราคาสูงขึ้นต่อไปด้วย

เงินสกุลหลักอื่นๆ เช่น ปอนด์ ยูโร ดอลลาร์สหรัฐ ก็มีการใช้กันในช่วงเงินเฟ้อรุนแรง เพราะเป็นตัวกลางที่เชื่อได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของมันกับเงินสกุลท้องถิ่นจะปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อด้วย เพราะค่าของเงินสกุลเหล่านี้ผูกโยงกับของมีค่าอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ เช่น ทองคำ อีกทั้งเงินสกุลเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมาก จนอัตราแลกเปลี่ยนของมันสูงขึ้นด้วย



การที่โรงพยาบาลรับค่าบริการเป็นถั่วลิสง (ราคาบริการพบหมอหนึ่งครั้งเท่ากับถั่วหนึ่งในสี่ของถัง) ทำให้ได้ถั่วเอาไปทำถั่วบดทาแผ่นแป้งหรือทำซุปเป็นอาหารให้คนไข้ และหากเก็บไว้ราคาของมันก็จะสูงขึ้น เช่นเดียวกับไก่ หมู และธัญพืชอื่นๆ

การที่รัฐบาลประกาศใช้ดอลลาร์สหรัฐแทนก็เท่ากับเป็นการผูกมือรัฐบาลให้พิมพ์ธนบัตรของ Zimbabwe เพิ่มอีกไม่ได้เพราะได้ใช้สกุลต่างประเทศแล้ว เมื่อผู้คนตระหนักว่าจะไม่มีเงินท้องถิ่นไหลเข้ามาโดยภาครัฐอีก การคาดคะเนเช่นนี้ ก็ทำให้แรงกดดันเก็งกำไรสินค้าลดลงไปทันที นอกจากนี้ อำนาจซื้อของประชาชนที่เข้าไม่ถึงดอลลาร์สหรัฐก็จะลดไปเช่นกัน สินค้าออกสู่ตลาดในขณะที่อำนาจซื้อลดลงไป ราคาก็จะไม่พุ่งสูงขึ้น

แต่คนที่เข้าไม่ถึงดอลลาร์ก็จะใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากัน แต่เมื่อราคาหยุดพุ่ง ความบ้าคลั่งก็จะหมดไปจนความเป็นปกติอาจกลับคืนมาได้

เงินเฟ้อเปรียบเสมือนภาษีที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นโดยไม่ต้องออกกฎหมาย มันทำร้ายผู้คนได้ร้ายแรง โดยเฉพาะคนจนผู้ขาดความคล่องตัวในการทำมาหากินและการปรับตัว



เครื่องเคียงอาหารสมอง

(1) คนไทยใช้คำว่า take care กันมากในปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อลาจากกัน ความหมายของมันก็คือ (ก) จงตื่นตัวระมัดระวัง (ข) จงดูแลตัวเองดีๆ (ค) เสมือนคำว่า goodbye บ่อยครั้งที่ take care ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษนอกเสียจากเป็นการใช้ตอนลาจากกัน เหมือนที่คนไทยบอกว่า "แล้วเจอกัน"

(2) คำหนึ่งที่คนคุ้นเคยกับยุโรป ชอบใช้กันคือคำอิตาเลียนว่า Ciao (ออกเสียงว่า "เชา") ซึ่งหมายความว่า hello และ goodbye ด้วย

(3) สำหรับคำอวยพรของคนพูดภาษาไทยในถิ่นอื่นนอกประเทศไทยบางแห่งจะบอกว่า "จงอยู่ดี กินหวาน" และนี่คือคำสวัสดีปีใหม่ครับ


น้ำจิ้มอาหารสมอง : It is not the horse that draws the cart, but the oats. (สุภาษิต)
ม้าไม่ใช่สิ่งที่ขับเคลื่อนรถลาก หากแต่เป็นข้าวโอ๊ตที่ล่อใจม้า

.