.
การเมืองเรื่องสถูป "จอมเจดีย์" VS "พระธาตุ 12 นักษัตร"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 75
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "จอมเจดีย์" เชื่อว่าน้อยคนเคยได้ยิน ผิดกับเมื่อกล่าวถึง "พระธาตุ 12 นักษัตร" หลายคนต้องร้องอ๋อ
แล้ว "จอมเจดีย์" กับ "พระธาตุ 12 นักษัตร" ซึ่งดูเหมือนคนละเรื่องมาเกี่ยวพันกันได้อย่างไร
คำตอบคือ ทั้งคู่ต่างเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นผู้นำในสังคมดึงมาใช้ต่อสู้ทางการเมืองไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระหว่างลัทธิ "ราชาชาตินิยม" กับ "ท้องถิ่นนิยม"
นัยทางการเมืองเรื่อง "จอมเจดีย์"
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้บัญญัติคำว่า "จอมเจดีย์" ขึ้นมา โดยตรัสแก่สมเด็จพระวันรัต (กิตตโสภโณเถระ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ พ.ศ.2485 ว่า
"การที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระบวรพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธสถานกระจายกล่นเกลื่อนอยู่ทั่วประเทศ มีอายุและแบบศิลปกรรมแตกต่างกันตามคตินิยมและยุคสมัย ในบรรดาปูชนียสถานนับร้อยนับพันมีเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็น"จอมเจดีย์" แห่งสยาม"
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงมีอรรถาธิบายถึงเหตุผลแห่งการนำคำว่า "จอม" มาใช้ หากแต่เราทราบกันดีว่าเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชบิดาของพระองค์ ราวกับว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้คัดเลือกปูชนียสถานที่ทรงคิดว่าสำคัญที่สุดของไทย แล้วเฉลิมนามว่า "จอมเจดีย์" เพื่อถวายเป็นพระเกียรติแด่พระบรมราชชนก
เกณฑ์การคัดเลือกจอมเจดีย์มีเงื่อนไขใดบ้าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงอธิบายถึงความสำคัญของจอมเจดีย์แต่ละองค์ ประกอบเหตุผลไว้โดยย่อดังนี้
1. พระปฐมเจดีย์ เหตุเพราะสร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในสยามประเทศ
2. พระปรางค์พระศรีมหาธาตุละโว้ เหตุเพราะเป็นสถูปองค์แรกในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสยามประเทศ
3. พระธาตุหริภุญไชย ลำพูน เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในแคว้นล้านนาไทย
4. พระธาตุพนม เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในภาคอีสาน
5. พระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์องค์แรกในการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
6. พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนาในสยามประเทศ
7. พระเจดีย์ช้างล้อม ศรีสัชนาลัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
8. พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี
เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของ "จอมเจดีย์" ที่ถูกคัดสรรมา พบว่าปราชญ์แห่ง "วังวรดิศ" ใช้ความเก่าแก่ที่สุดของพระเจดีย์ในแต่ละภูมิภาคเป็นเงื่อนไขหลัก แบ่งได้เป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง-พระปฐมเจดีย์ ภาคเหนือตอนบน-พระธาตุหริภุญไชย ภาคเหนือตอนล่าง-พระมหาธาตุศรีสัชนาลัย ภาคใต้-พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช และภาคอีสาน-พระธาตุพนม
ส่วนจอมเจดีย์ที่เหลืออีก 3 องค์นั้น น่าจะใช้เกณฑ์คัดเลือกจากเจดีย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์โดยตรงของราชวงศ์จักรีในอดีตอันสืบย้อนไปถึงกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย และกรุงละโว้ ในฐานะเป็นต้นราชวงศ์
ในส่วนของกรุงศรีอยุธยานั้นได้เลือกที่จะเชิดชูสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ปกป้องแผ่นดินสยามแทนที่จะเชิดชูพระเจดีย์องค์อื่นๆ เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุอยุธยาหรือพระเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ ทั้งที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่กว่า
เช่นเดียวกับที่ศรีสัชนาลัย เมืองเก่าของสุโขทัยได้รับการเชิดชูมากถึงสองแห่ง แห่งหนึ่งเป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดในภูมิภาคดังได้กล่าวมาแล้ว (พระศรีรัตนมหาธาตุ) ส่วนอีกแห่ง (วัดช้างล้อม) เกี่ยวข้องโดยตรงกับกษัตริย์องค์สำคัญคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องอย่างสูง ทั้งยังมีพระราชประสงค์จะดำเนินรอยตามด้วยการประดิษฐ์อักษรอริยกะ ดังที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไท
ส่วนจอมเจดีย์แห่งสุดท้ายนั้น ให้ความสำคัญต่อการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่ละโว้ สะท้อนว่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมีความผูกพันใกล้ชิดกับนิกายมหายานหรือลัทธิพราหมณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพุทธเถรวาท
การสถาปนาความสำคัญของ "จอมเจดีย์" ทั้งแปดนี้ ได้รับการยืนยันปรากฏเป็นภาพเขียนในซุ้มคูหาเจาะลึกในผนัง 8 ห้องของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดซึ่งเป็นดั่งตัวแทนของการรวมศูนย์อำนาจในยุคสมบูรณาสิทธิราชย์ จอมเจดีย์ทั้งแปดจึงมีโครงสร้างของคติจักรวาลรูปแบบใหม่ ด้วยการวางผังเป็นรูปดาวกระจาย คล้ายกับให้ความสำคัญแก่ทุกแว่นแคว้นเท่าเทียมกัน อันไม่เคยปรากฏความเชื่อนี้มาก่อนบนแผ่นดินสยาม
ฉะนั้น เมื่อมองเผินๆ แล้วคล้ายกับเป็นการยกย่องเชิดชูท้องถิ่น เนื่องจากเมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็น "จอมเจดีย์" แล้ว ราชสำนักสยามได้กำหนดเป็นประเพณีว่าเมื่อพระมหากษัตริย์แรกเสวยราชย์จะต้องแต่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เทียนทอง ธูปเงิน พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยนำไปทำการสักการบูชาจอมเจดีย์ทั้งแปดทุกครั้ง
หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกรณียกิจต้องเสด็จพระราชดำเนินไป ณ เมืองนั้นๆ อยู่แล้วก็จักมีหมายกำหนดการให้ต้องถวายสักการะเวียนเทียน และสระสรงพระบรมธาตุ
ดั่งนี้แล้ว ควรเป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มปีติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณสำหรับเจดีย์ทั้งแปดที่ถูกคัดเลือกมิใช่หรือ?
แต่เหตุไฉน ท้องถิ่นในหลายภูมิภาคกลับไม่ยอมขานรับกับเกียรติยศแห่งจอมเจดีย์ โดยเฉพาะในดินแดนล้านนา กลับพอใจที่จะสร้างเครือข่ายพระธาตุ 12 นักษัตรแทน
การเมืองเรื่องพระธาตุ 12 นักษัตร
เราเคยตั้งคำถามกันบ้างหรือไม่ว่าความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของล้านนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นผู้กำหนดพระธาตุเจดีย์ให้คู่กับปี 12 นักษัตร?
"การชุธาตุ" หรือประเพณีการไหว้พระธาตุเพื่อเสริมบุญให้มีอายุยืนยาว เป็นสิริมงคล อีกทั้งยังป้องกันภยันตรายในการดำรงชีวิต โดยแยกตามปีเกิดเป็นความเชื่อของคนล้านนามาตั้งแต่อดีตจริงหรือ
หากไม่ใช่ แล้วคนล้านนาดั้งเดิมมีประเพณีการไหว้พระธาตุแบบใด หากใครอยากเห็นการไหว้พระธาตุของชาวล้านนาสมัยก่อนให้ดูได้ที่พระธาตุดอยกองมู แม่ฮ่องสอน หรือพระธาตุองค์อื่นๆ ในวัฒนธรรมพม่า-ไทใหญ่ นั่นคือการไหว้ที่ทิศทั้งแปด โดยแบ่งตามวันเกิดทั้งเจ็ดวัน เมื่อนับรวมพุธกลางคืนด้วยก็จะได้ครบแปดวัน-แปดทิศ กล่าวคือ ทุกคนสามารถไหว้พระธาตุองค์เดียวกันได้ทุกแห่ง เพียงนำกรวยดอกไม้ไปสักการะยังทิศประจำวันเกิดเป็นใช้ได้
แต่แล้ว การไหว้พระธาตุตามทิศวันเกิดก็เลือนหายไป เปลี่ยนเป็นการกำหนดพระธาตุ 12 นักษัตรขึ้นแทนที่ ดังนี้
1. ปีชวด-พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่
2. ปีฉลู-พระธาตุลำปางหลวง
3. ปีขาล-พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่
4. ปีเถาะ-พระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน
5. ปีมะโรง-พระพุทธสิงค์วัดพระสิหิงค์ เชียงใหม่
6. ปีมะเส็ง-ต้นศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ในอินเดีย อนุโลมไหว้ต้นโพธิ์ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด เชียงใหม่
7. ปีมะเมีย-พระธาตุตะโก้งหรือชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า อนุโลมให้ใช้พระบรมธาตุบ้านตาก จังหวัดตาก หรือพระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อำเภอลี้ ลำพูน ซึ่งทั้งสองแห่งจำลองรูปแบบศิลปะคล้ายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง
8. ปีมะแม-พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
9. ปีวอก-พระธาตุพนม
10.ปีระกา-พระธาตุหริภุญไชย ลำพูน
11. ปีจอ-พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อนุโลมให้ไหว้พระธาตุอินทร์แขวนในพม่า หรือพระเจดีย์วัดเกตุเชียงใหม่ หรือมิเช่นนั้นใช้วิธีจุดโคมประทีปลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
12. ปีกุญ (กุน)-พระธาตุดอยตุง เชียงราย
อนึ่ง ตำแหน่งของพระธาตุ 12 นักษัตร นั้นกำหนดตามคติการสร้างจักรวาล ประกอบด้วย
- พระเจดีย์จุฬามณี แทนปราสาทไพชยนต์ บนยอดเขาพระสุเมรุ
- พระศรีมหาโพธิ์ เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งการตรัสรู้ธรรมให้ร่มเงาแก่พระพุทธเจ้า
- พระพุทธสิหิงค์ เปรียบดั่งพระพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ ศูนย์กลางจักรวาล
- พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุช่อแฮ และพระธาตุแช่แห้ง เปรียบได้ดั่งทวีปทั้งสี่ในจักรวาล
- เจดีย์ชเวดากองและพระธาตุพนม เปรียบได้ดั่งกำแพงจักรวาลทิศตะวันตกและทิศตะวันออก
- พระธาตุศรีจอมทอง พระธาตุดอยสุเทพ และพระธาตุดอยตุง เปรียบเสมือนเขาตรีกูฏ หรือผาสามเส้าที่รองรับเขาพระสุเมรุ
ปริศนาเรื่องการกำหนดพระธาตุ 12 นักษัตรนี้ เดิมเคยเชื่อกันว่ามีมาแล้วตั้งแต่ล้านนาโบราณยุคพระเจ้าติโลกราช ตามแนวความคิดที่พระองค์ท่านเน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่ายกับอาณาบริเวณต่างๆ แต่ทว่า นักวิชาการท้องถิ่นหลายท่านกลับเชื่อว่าคติการกำหนดพระธาตุประจำปีเกิดนี้เพิ่งมีขึ้นมาใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่เกิน 100 ปีมานี่เอง อันเป็นผลพวงมาจากปฏิกิริยาตอบโต้ "การเมืองเรื่องเจดีย์"
ภายหลังจากที่ศูนย์กลางอำนาจได้รวมพระธาตุ "จอมเจดีย์" สำคัญทั่วประเทศไว้เพื่อประกาศความเป็นปึกแผ่นของสยาม ชาวล้านนาย่อมเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จึงลุกขึ้นมาสร้างเครือข่ายของตนเองบ้างผ่าน "พระธาตุ 12 นักษัตร" เป็นนัยทางการเมืองว่าแท้ที่จริงแล้วชาวล้านนามีความผูกพันกับชาวล้านช้าง และพม่ามากกว่าสยาม
การประกาศตัวตนผ่าน "พระธาตุ 12 นักษัตร" เกิดจากบริบททางสังคมสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นขอบเขตของสยามประเทศยังไม่ได้เป็นเหมือนด้ามขวานทองปัจจุบัน อย่างน้อยสถูปสององค์ใน "จอมเจดีย์" ก็ยังอยู่ในความครอบครองของ "ประเทศราช" มิใช่ส่วนหนึ่งของสยามโดยตรง นั่นคือพระธาตุหริภุญไชย ที่ลำพูนตั้งอยู่ใน "มณฑลลาวเฉียง" ส่วนพระธาตุพนมก็ตั้งอยู่ใน "มณฑลลาวพวน" ประเทศราชเหล่านี้ยังมิได้มีความผูกพันรวมเป็นหนึ่งเดียวกับราชอาณาจักรสยาม
ลองพิเคราะห์ดูว่าวัฒนธรรมใดบ้างที่เน้นการบูชาพระธาตุ 12 นักษัตร ไม่ปรากฏทั้งในอินเดีย ลังกา มอญ ขอม ทวารวดี ทั้งหมดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่อง 12 ราศี (เดือนเกิดไม่ใช่ปีเกิด) ยกเว้นแต่ "นครศรีธรรมราช" ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ประจำเมืองเป็นรูปเวียงบริวาร 12 นักษัตร
มีแต่ "จีน" ประเทศที่เดียวที่เน้นความเชื่อในเรื่อง 12 นักษัตรมากกว่าอารยธรรมเอเชียอื่นๆ จึงสันนิษฐานว่า ล้านนาน่าจะได้รับอิทธิพลคตินี้มาจากจีนผ่านทางแคว้นสิบสองปันนา
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดกุศโลบายในการจำลองผังจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางโลกมาเชื่อมโยงกับพระธาตุองค์ต่างๆ ทั่วแว่นแคว้นล้านนา ข้ามไปยังล้านช้างและพม่า จะใช่ครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือไม่
เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า ทำไมครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงนิยมปั้นรูปสัตว์สัญลักษณ์ประจำปีเกิดมาประดับในงานสถาปัตยกรรม ทั้งแผ่นหน้าบัน บานประตู หน้าต่าง แท่งเสา ผนังอาคาร โดยเฉพาะรูปเสือปีเกิดของท่านนั้นพบแทบทุกแห่งในวัดประคำ 108 เม็ดที่ท่านสร้าง
อย่างน้อยที่สุด ข้อสังเกตนี้สะท้อนว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อคติ 12 นักษัตรอย่างมาก กอปรกับความเป็นกบฏของท่านที่ปฏิเสธอำนาจการครอบงำของรัฐสยามทุกรูปแบบ ยิ่งทำให้นักวิชาการปักใจเชื่อว่า ประเพณีการบูชาพระธาตุ 12 นักษัตรนี้ ถูกสถาปนาขึ้นโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างไม่ต้องสงสัย
"จอมเจดีย์" ณ วันนี้แทบจะสูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คน เหตุเพราะหมดความจำเป็นด้านกุศโลบายการสร้างเอกภาพทางเชื้อชาติผนวกเอาดินแดนรัฐชายขอบมายกย่องไว้ภายใต้เศวตฉัตรให้มีฐานะเดียวกันหมด ด้วยความรู้สึกที่ว่า "ไม่มีไทย ไม่มีลาว"
หากทว่า "พระธาตุ 12 นักษัตร" นานวันกลับจะยิ่งเป็นที่นิยมชมชอบแพร่หลายมากขี้นในหมู่คนไทยทั่วทุกภูมิภาค ทั้งๆ ที่มีจุดเริ่มต้นเป็นเพียงแค่กุศโลบายใช้คานอำนาจกับ "จอมเจดีย์" แบบรู้ทัน
ปรากฏการณ์นี้ เปรียบได้ดังปฐมบทแห่งอาการ "ตาสว่าง" ที่ลุกลามไปทั่วอาณาสยามประเทศทุกวันนี้ ประหนึ่งสัญญาณแห่งการเรียกร้องสิทธิ์ให้เคารพท้องถิ่น และปฏิเสธการรวมศูนย์อำนาจผูกขาดไว้ที่บุคคลเพียงกลุ่มเดียว
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย