http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-23

'ประชาธิปไตยแบบไทย', .36 ในการเมืองท้องถิ่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ประชาธิปไตยแบบไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1596 หน้า 29


ผมได้ยินรายการสนทนาเรื่องกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในรถแท็กซี่ รูปแบบก็อย่างที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วนะครับ คือมีผู้สนทนาหลักที่ต้องมีลูกคู่คอยเอิ๊กอ๊ากเสริมให้ถูกจังหวะ

เนื้อหาก็คือการยกเอากฎระเบียบว่าด้วยการชุมนุมในสหรัฐและอีกบางประเทศมาคุยให้ฟังว่า เขาบังคับให้เคารพสิทธิ์ของผู้อื่นอย่างไร เช่น เดินอยู่บนทางเท้าน่ะได้ แต่อย่าได้เอาขาลงมาเหยียบพื้นถนนเป็นอันขาด เพราะผิดกฎหมายและจะถูกจับ บางประเทศต้องขออนุญาตก่อนถึงจะชุมนุมได้ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาต เขาก็ประท้วงกันทีละคนโดยเอาป้ายมาแขวนคอ แล้วยืนตามสี่แยก บางประเทศห้ามใช้เครื่องขยายเสียงเด็ดขาด ฯลฯ

สรุปก็คือชุมนุมน่ะพอได้ แต่จะชุมนุมอย่างเสื้อแดงเสื้อเหลืองทำในเมืองไทย คือปิดถนนแล้วอยู่ยาวกันเป็นเดือนๆ อย่างนี้ไม่ได้



ก็ไม่แปลกอะไรนะครับ จะมีกฎหมายใหม่อะไรในเมืองไทย ก็มักจะไปดูว่ากฎหมายประเภทเดียวกันใน "นานาอารยประเทศ" เขาเขียนอย่างไร แล้วก็ลอกมาเขียนให้เป็นกฎหมายไทย

อันที่จริงการชุมนุมคือพื้นที่ต่อรองทางการเมือง ซึ่งไม่ได้มีแต่ในที่สาธารณะอย่างเดียวกัน พรรคการเมืองก็ใช่, หนังสือพิมพ์ก็ใช่, สหภาพแรงงานก็ใช่, สภาอุตสาหกรรมก็ใช่, ถวายฎีกาก็ใช่, อินเตอร์เน็ตก็ใช่, การประจบนายก็ใช่, โกนหัวแต่งดำก็ใช่, วางพวงหรีดก็ใช่ และยังมีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

พื้นที่สำหรับการต่อรองทางการเมือง ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แม้แต่สังคมไทยโบราณก็มี คนชั้นสูงใช้วิธีเพ็ดทูล ประชาชนธรรมดาใช้วิธีอพยพหนีเข้าป่า ก็ล้วนเป็นการต่อรองทั้งสิ้น แม้แต่หลานเราใช้วิธีร้องไห้ลั่นบ้าน ก็เป็นการสร้างพื้นที่ต่อรองอย่างหนึ่ง

ดังนั้น จะออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม ก็ต้องเริ่มที่ย้อนกลับมาดูว่า ในเมืองไทยมีพื้นที่ต่อรองทางการเมืองอยู่มากน้อยเพียงไร และที่มีอยู่นั้นทำงานได้ผลหรือไม่อย่างไร เช่น พรรคการเมืองรองรับการต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ หรือไม่ คนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหรือไม่ (ไม่ใช่เข้าไปอ่านนะครับ แต่เข้าถึงในความหมายว่าสื่อสะท้อนมุมมอง, แนวคิด และความเดือดร้อนมากน้อยเพียงไร) เช่นเดียวกับคนอีก 3/4 เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต โครงสร้างการบริหารนับตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงท้องถิ่น ไม่เปิดพื้นที่การต่อรองแก่ประชาชนในกระบวนการเลย ฯลฯ

ตามปรกติแล้ว การชุมนุมเป็นการสร้างพื้นที่ต่อรองที่ยากและเสี่ยง หากผู้คนสามารถต่อรองทางอื่นได้ ก็มักไม่อยากเข้าร่วมชุมนุม (เช่น ต้องนอนบนพื้นถนนซึ่งอุ่นไอแดดไปจนหลังเที่ยงคืน) แต่หากพื้นที่ต่อรองอื่นไม่ทำงาน ก็ไม่มีทางเลือก นอกจากสร้างพื้นที่ต่อรองของตนเองขึ้น คือการชุมนุมนั่นเอง


บังเอิญผมได้อยู่ในอเมริกาช่วงปลายสงครามเวียดนาม และได้เห็นการชุมนุมอยู่บ่อยๆ เดินกันค่อนถนนเลยครับ ผมขับรถสวนกลับขบวนอย่างช้าๆ และได้เห็นครูของผมคนหนึ่งถูกตำรวจตีหัวแบะ ถูกพยุงเดินหน้าขบวนพร้อมกับเลือดอาบใบหน้า ในเมืองหลวง แทบจะพูดได้ว่าผู้ต่อต้านสงครามยึดเมืองไปเลย ชุมนุมกินอยู่หลับนอนกันเต็มพื้นที่สาธารณะต่างๆ แล้วก็เดินขบวนเต็มถนน (คือ ปิดถนนนั่นเอง) ไปร้องตะโกนหน้าทำเนียบขาว และหน้าสภาคองเกรส

จะผิดถูกกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมของสหรัฐอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ในช่วงนั้น พื้นที่ต่อรองอื่นมันทำงานไม่ได้ผลไปหมดแล้ว จึงต้องสร้างพื้นที่ต่อรองกันใหม่



ความจริงแล้วผมไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม แต่กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างยิ่งเพื่อจะพูดถึงกระบวนการอีกอย่างหนึ่ง คือการควบคุมพลเมืองในนามของประชาธิปไตย

อย่างที่พูดกันอยู่บ่อยๆ นะครับว่า ประชาธิปไตยกำลังขยายตัวไปทั่วโลก แปลว่าอะไร ก็แปลว่าประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง จะเพราะสังคมเปลี่ยน หรือมีความจำเป็นทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม

สังคมที่กำลังเปลี่ยนนั้นอันตรายนะครับ เพราะมันจะเปลี่ยนไปเป็นยังไงก็ได้ทั้งนั้น ชนชั้นนำจะควบคุมความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ปราบปรามสกัดกั้นความเปลี่ยนแปลง ก็ไม่อาจตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน หรืออาจทำให้ระบอบของชนชั้นนำพังไปหมดเลยก็ได้ ครั้นจะปล่อยให้เปลี่ยนไปตามอัธยาศัย ก็ไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่อะไร อันอาจเป็นอันตรายต่ออำนาจและผลประโยชน์ก็ได้

ความเปลี่ยนแปลงกับการควบคุมดูจะเป็นสองสิ่งที่มักจะเคียงคู่กันไปเสมอ

ตามปรกติเรามักนึกถึงเรื่องนี้เฉพาะกับความเปลี่ยนแปลงจากระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว แม้ในระบอบประชาธิปไตยเอง ก็มีส่วนของการควบคุมที่ชนชั้นนำวางไว้เสมอ

ก็เหมือนระบอบการปกครองทุกอย่างในโลกนี้นะครับ ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่มิติของการปลดปล่อยเพียงด้านเดียว แต่ยังมีมิติของการควบคุมอยู่ด้วย

กระบวนการที่จะควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้นมีความสลับซับซ้อน แต่สรุปลงแล้วก็คือการสร้างสองอย่างให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป หนึ่ง คือสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่คนทุกคน และสอง คือสร้าง "ระบอบ" ปกครองให้ดูเป็นธรรมชาติและเป็นเหตุเป็นผล



ผมขอยกตัวอย่างเมืองไทยแล้วกัน เพราะเรารู้จักกันดีที่สุดอยู่แล้ว

แต่ก่อนประชาชนไทยเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สังกัดมูลนายหลากหลายประเภท อัตลักษณ์ของคนไทยก็คือเป็นไพร่ในสังกัดของใครหรือกรมใด ตัวระบอบปกครองก็เอื้อให้ไพร่ต้องพึ่งพิงมูลนาย นับตั้งแต่จะฟ้องร้องคดีความใดๆ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากมูลนายเสียก่อน มูลนายได้ดิบได้ดี ส่วนแบ่งของทรัพยากรที่ตกถึงมือไพร่ในสังกัดก็เพิ่มขึ้น

การปฏิรูปของ ร.5 ทำลายอำนาจควบคุมอันหลากหลายของมูลนายลง แล้วเอาไพร่ทั้งหมดมารวมศูนย์สังกัดพระราชบัลลังก์เพียงหนึ่งเดียว อัตลักษณ์ของไพร่เปลี่ยนมาเป็นข้าราษฎรที่ (โดยทฤษฎีแล้ว)เท่าเทียมกันหมด ระบอบปกครองก็เน้นความเหมาะสมโดยธรรมชาติและโดยการศึกษา ว่าเจ้านายเท่านั้นที่ควรเป็นผู้ปกครองและถืออำนาจ

การปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนข้าราษฎร มาเป็นพลเมืองของชาติ ฟังดูดีนะครับว่า เราทุกคนเป็นพลเมืองเท่ากันหมด และเป็นเจ้าของชาติเท่าๆ กัน ไม่มีใครมาคุมเราอีกแล้ว

แต่อัตลักษณ์ "พลเมือง" ก็เป็นสิ่งสร้างทางสังคมไม่ต่างไปจาก "ไพร่" หรือ "ข้าราษฎร" แต่อย่างไร สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมภายใต้ระบอบปกครองที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย

ลองคิดดูสิครับว่า เราทุกคนล้วนเกิดมาเป็น "คน" หรือ "ประชาชน" ก่อน แล้วก็ถูกสร้างอัตลักษณ์ให้ใหม่ จนกลายเป็น "พลเมือง" ซึ่งมีข้อจำกัดและภาระที่ต้องแบกรับกว่าเป็น "ประชาชน" มากมาย

พลเมืองของระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ "เสรีชน" หรอกครับ แต่เป็นคนที่ถูกบังคับควบคุม (subjection) ลงเป็นพลเมืองเท่านั้นเอ


"ประชาธิปไตย" ถูกให้ความหมายในแต่ละสังคมไม่เหมือนกันนัก (แม้ว่าต่างก็ท่องคำนิยามอันว่างเปล่าของลิงคอล์นมาเหมือนๆ กันก็ตาม) เพราะการให้ความหมายแก่ระบอบปกครอง (ที่เรียกว่าประชาธิปไตย) ของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน

อัตลักษณ์ "พลเมือง" ของไทยเป็นอย่างไร? ผมตอบยังไม่ได้หรอกครับ แต่อยากเตือนให้นึกถึง "การให้ความหมาย" แก่ประชาธิปไตยในเมืองไทย ซึ่งกระทำสืบเนื่องกันมาหลายทศวรรษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภายใต้เสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น พลเมืองไทยทุกคนย่อมสามารถใช้เสรีภาพนั้นได้ ภายใต้กรอบของอุดมการณ์ของชาติ นั่นคือชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ กรอบของอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ต่างหาก ที่เป็นผู้กำหนดขอบเขตของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายซึ่งร่างขึ้นโดยขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นไปตามกรอบอุดมการณ์ของชาติดังกล่าว ใช้บังคับอยู่มากมาย และเราต่างยอมรับโดยดุษณี ด้วยเหตุดังนั้น จึงแปลว่า ไม่ได้ขัดกับอัตลักษณ์ "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตยของเราเลย

ในเมืองไทย ผู้ใหญ่และระบบการศึกษาจะเน้น "หน้าที่" ของพลเมือง แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง "สิทธิ" ของพลเมือง สังคมจะดีได้ก็ต่อเมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตนเองอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่เกี่ยวอะไรกับสิทธิแต่อย่างใด

ผู้ใหญ่ไทยจะคอยเตือนถึงภยันตรายของเสรีภาพอันไร้ขีดจำกัด จนกระทั่งดูประหนึ่งว่า เสรีภาพนั้นไม่ได้มีไว้ให้ทุกคนเท่าๆ กัน เฉพาะคนดีมีศีลธรรมเท่านั้นที่อาจใช้เสรีภาพได้เต็มที่ โดยไร้ขีดจำกัด (เช่น ทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ)

ผู้ใหญ่ไทยเน้นเสมอว่ารัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ทำให้พลเมืองอยู่ดีมีสุข แต่ไม่มีใครพูดถึงความรับผิดชอบ (accountability) ต่อพลเมือง ฉะนั้น เพื่อให้พลเมืองอยู่ดีมีสุข ถึงจะฆ่า, อุ้มฆ่า, หรือจำขัง พลเมืองบางคนบ้างก็ไม่เป็นไร


คิดไปเถิดครับ ยังมีคำสอนเกี่ยวกับประชาธิปไตยของผู้ใหญ่ไทยอีกมากที่อาจยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างได้

พลเมืองไทยยอมรับอาญาสิทธิ์อันไม่มีขีดจำกัดของ "ชาติ" สถาบันที่มีคำว่า "แห่งชาติ" ต่อท้าย มีอาญาสิทธิ์พิเศษที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร เช่น สภาพัฒน์ ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครสักคนเดียว อย่าพูดถึง "พลเมือง" เลยครับ แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย

แทนที่เราจะรวมกลุ่มกันเพื่อวางแผนพัฒนาของกลุ่มเราเอง พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยทำได้แค่ทำความเข้าใจแผนของสภาพัฒน์ให้ปรุโปร่งเท่านั้น

การชุมนุมซึ่งมีชุกชุมขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกอย่างหนึ่งซึ่งต้องควบคุม จึงจำเป็นต้องผลิต "วาทกรรม" อีกหลายอย่างขึ้นในช่วงนี้ เพื่อควบคุมอำนาจของพลเมืองในสถาบันเกิดใหม่อันนี้ บางส่วนก็ดึงมาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดมาแล้ว บางส่วนก็ดึงมาจากฝรั่ง

เราอาจมองประชาธิปไตยว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการควบคุมในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม คือสร้างพลเมืองขึ้นในการบังคับควบคุม นักวิชาการฝรั่งสร้างศัพท์สำหรับปรากฏการณ์อย่างนี้ว่า democrasubjection

นี่ไงครับ ประชาธิปไตยแบบไทยซึ่งเป็น democra-subjection อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากอังกฤษ, อเมริกันและสิงคโปร์



++

.36 ในการเมืองท้องถิ่น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แกนนำสองคนของประชาชนตำบลอ่าวน้อย ซึ่งกำลังต่อต้านโครงการบ่อขยะ และสะพานปลาในพื้นที่ถูกมือปืนกระหน่ำยิงด้วยปืนเอ็ม 16 แต่ทั้งสองอาศัยความคุ้นเคยพื้นที่หนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

จากการสอบถามชาวบ้าน ได้ความว่าขบวนการประชาชนที่อ่าวน้อยเคยต่อต้านโครงการโรงเผาขยะได้สำเร็จมาแล้ว แต่โครงการนั้นก็ถูกเจ้าพ่อท้องถิ่นแปรจากโรงเผามาเป็นบ่อขยะ ซึ่งชาวบ้านก็รับไม่ได้อีกนั่นแหละ จึงเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้ต่อมา ในขณะเดียวกันเจ้าแม่แพปลาในพื้นที่ก็สร้างสะพานเทียบเรือยื่นไปในทะเลยาวเหยียด ขวางทางเดินเรือประมงของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงขยายการคัดค้านมาพ่วงเอาสะพานปลานี้ไว้ด้วยกัน

แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนึ่งในแกนนำถูกหมายปองชีวิต นั่นคือ แกนนำผู้นั้นมีทีท่าว่าจะให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเข้ามาแข่งขันกับกลุ่มเก่าในการเมืองท้องถิ่น การลอบสังหารจึงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุทั้งสามเรื่องปนๆ กัน เพราะกลุ่มผู้เสียประโยชน์เป็นกลุ่มเดียวกัน

นี่เป็นความรุนแรงของการเมืองท้องถิ่นใช่หรือไม่?

ผมตอบไม่ได้จนมาพบงานวิจัยของอาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ศึกษา "การลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นไทย : ในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543-2552)" ซึ่งสำนักข่าว "ประชาไท" (สื่อออนไลน์อิสระที่ถูกรัฐรังควานอย่างหนัก) ได้นำมาลงไว้ แม้เป็นงานวิจัยเบื้องต้นที่เก็บและวิเคราะห์สถิติเท่านั้น แต่ก็ทำให้มองเห็นความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นไทยตามความเป็นจริงได้มากกว่าสรุปเอาเอง และเปิดคำถามใหม่ๆ ในเรื่องนี้ขึ้นอีกมาก

เรามักสรุปเอาเองว่า การเมืองท้องถิ่นไทยนั้นมีความรุนแรงอย่างยิ่ง แต่เมื่อดูที่ตัวเลขแล้ว กลับไม่พบว่าอย่างนั้น จริงอยู่มีการลอบสังหารเกิดขึ้นมากทีเดียว ทั้งสิบปีที่อาจารย์ณัฐกรศึกษา มีการลอบสังหารถึง 481 ราย หรือ 459 กรณี เฉลี่ยเหตุที่เกิด 48.1 ราย และเสียชีวิตเฉลี่ย 36.2 คนต่อปี แต่เมื่อดูสถิติค่าเฉลี่ยของคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาของไทย จะพบว่ามีถึงเกือบปีละ 4,700 ราย ฉะนั้น กรณีลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นจึงมีไม่ถึง 1% ของคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นอกจากนี้ นักการเมืองท้องถิ่นในปัจจุบันมีประมาณ 160,000 คนทั่วประเทศ คดีลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นต่อปี ก็มีไม่ถึง 1% เช่นกัน

ผมยอมรับว่าตัวเลขคดีลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นอาจน้อยไปบ้าง เพราะไม่ได้รวมการลอบสังหารหัวคะแนน ดังที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการลอบสังหารแกนนำชาวบ้านที่อ่าวน้อย

การสรุปเอาเองว่าการเมืองท้องถิ่นไทยมีความรุนแรงนั้น อาจมาจากการรับรู้ข่าวสาร เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นมักเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ แม้ว่าความถี่ซึ่งเกิดขึ้นมีไม่ถึง 1% ของกรณีฆ่ากันตายโดยทั่วๆ ไป แม้กระนั้นผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า การลอบสังหารนักการเมืองเป็นความรุนแรงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในการเมืองท้องถิ่น แต่มูลเหตุอาจไม่ได้อยู่ที่การเมืองท้องถิ่นเท่ากับสังคม-วัฒนธรรมไทยเอง กล่าวคือ

เราอยู่ในสังคม-วัฒนธรรมที่ใช้ความรุนแรงค่อนข้างมาก จะยับยั้งความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นได้ ก็ต้องยับยั้งการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในสังคม-วัฒนธรรมไทยให้ได้



ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งการวิจัยค้นพบ ก็คือ เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรงในท้องถิ่น อาจไม่ได้อยู่ที่ภายในเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เกิดภายนอกท้องถิ่นด้วย ผู้วิจัยพบว่า การลอบสังหารเกิดขึ้นอย่างมากเป็นพิเศษในช่วง 2546 อันเป็นปีที่รัฐบาลทรท.ทำ "สงครามยาเสพติด" คือเปิดโอกาสให้แก่การฆาตกรรมในนามของ "ฆ่าตัดตอน" อย่างมาก เช่นเดียวกับใน พ.ศ.2550 อันเป็นปีที่ความรุนแรงในสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นไปอย่างหนัก กรณีการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ก็สูงขึ้นอย่างผิดสังเกตเช่นกัน

งานวิจัยยังพบอีกว่า เฉพาะจากกรณีที่จับคนร้ายได้ นายกฯ (อบต., เทศมนตรี, อบจ.) ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุทางการเมืองมากสุด (สัดส่วนการลอบสังหารนายกฯ 28.9%) แต่สมาชิกสภา (ตำบล, เทศบาล, จังหวัด) ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุส่วนตัวมากที่สุด (สัดส่วนการลอบสังหารสมาชิกสภาคือ 42.8%) ส่วนประธานสภานั้นไม่มีสักรายเดียวที่ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุทางการเมือง (สัดส่วนการลอบสังหารประธานสภาคือ 5.6%)

พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ที่ฆ่ากันไม่ใช่เพราะแย่งตำแหน่งทางการเมืองกัน แต่เพราะมีเหตุส่วนตัว หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง หมายความว่าจะมีหรือไม่มีการเมืองท้องถิ่น เมืองไทยก็เป็นสังคมแห่งความรุนแรงอยู่แล้ว

รัฐมีบทบาทน้อยมากในการระงับหรือยับยั้งความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่น ประมาณ 81% ของคดีลอบสังหาร ตำรวจไม่อาจสืบสวนจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้ และในจำนวนน้อยที่สามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ ก็ไม่สามารถสืบไปจนถึงผู้จ้างวานได้ สถิติการจับกุมระดับนี้ทำให้ต้นทุนการลอบสังหารแทบจะเป็นศูนย์ การลอบสังหารจึงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, ธุรกิจ หรือส่วนตัวที่ใช้ง่ายและคุ้มทุนที่สุดอย่างหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม สถิติการลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นกลับเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสองปีสุดท้าย จนผู้วิจัยคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มว่าการลอบสังหารจะยังลดลงในการเมืองท้องถิ่นต่อไป

ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ผู้วิจัย ในฐานะนักวิชาการ จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ในขณะนี้ แต่ผมในฐานะนักเขียนเล็กๆ คนหนึ่งอยากอธิบายดังนี้


ผมพยายามมองหาเหตุผลที่ทำให้ "ต้นทุน" การลอบสังหารสูงขึ้น รัฐคงไม่เกี่ยว เพราะฝีมือของตำรวจในการจับตัวคนร้ายไม่ได้ดีขึ้น

ในระยะ 2 ปีท้ายมาจนถึงบัดนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่พอมองเห็นได้ ก็คือ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขยายตัวขึ้น และเข้มแข็งมากขึ้น แม้ไม่ใช่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ข่าวคราวเหล่านี้สามารถเรียนรู้กันได้มากขึ้นผ่านสื่อ

กรณีอ่าวน้อยเท่าที่ผมได้รับทราบมาเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

ก่อนเกิดการไล่ยิงแกนนำ เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เลือกแสดง "บารมี" ของตน โดยให้ลูกน้องใช้ปืนตบหน้าชาวประมงที่ร้องคัดค้านการสร้างสะพานปลา เพื่อ "สั่งสอน"กลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวแนะนำให้เหยื่อของความรุนแรงแจ้งความ แม้จะแน่ใจว่าตำรวจในพื้นที่ไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ หรือถึงจับได้ก็คงเพียงแค่ถูกปรับ ถึงกระนั้นก็แนะนำให้เหยื่อแจ้งความ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เกิดบันทึกประจำวัน หนึ่งในแกนนำอธิบายให้ผมฟังว่า บันทึกประจำวันของตำรวจนั้นมีประโยชน์ในการต่อสู้ เพราะคำให้การจะเป็น "น้ำหนัก" ที่ตกลงบนชื่อเสียงของเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แม้เป็นน้ำหนักที่ไม่มากนัก แต่หากมีการแจ้งความในทุกกรณีที่ถูกรังแก "น้ำหนัก" ก็จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง "ผู้ใหญ่" ในอำเภอ, จังหวัด, และประเทศ ซึ่งแบกเจ้าพ่อ-เจ้าแม่นั้นอยู่ รู้สึกว่าเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หนักเกินไปที่จะแบกไว้ต่อไป จำเป็นต้องวางเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ลง

เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทั้งหลายในเมืองไทยนั้น ล้วน "หญ่าย" อยู่ได้ก็เพราะซื้อหรือฉกชิงอำนาจรัฐบางส่วนมาไว้ในมือ (นับตั้งแต่สินบนไปถึงอยู่ในเครื่องแบบ หรืออยู่ในตำแหน่งทางการเมืองที่สูง) ดังนั้น หัวใจสำคัญในการต่อสู้กับอิทธิพลท้องถิ่นก็คือ ทำให้อำนาจรัฐ "เป็นกลาง" (neutralize)ไปเสียให้ได้ หากทำได้สำเร็จ กฎหมายย่อมอยู่ฝ่ายชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายอยู่แล้ว

ผมไม่ทราบว่า ในที่สุดชาวประมงที่ถูกปืนตบหน้าได้ไปแจ้งความหรือไม่ แต่ขบวนการประชาชนที่ "รู้ทัน" เหล่านี้เติบโตขึ้น ในท้องที่ต่างๆ ของประเทศไทยมากขึ้น จนเริ่มมีนัยยะสำคัญในการเมืองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


"ต้นทุน" การลอบสังหารทางกฎหมายอาจน้อย แต่ "ต้นทุน" ทางการเมืองและสังคมเริ่มมีสูงขึ้น กรณีคุณเจริญ วัดอักษร แห่งตำบลบ่อนอก น่าสนใจในแง่นี้ แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้ บ้านเมืองยังไม่สามารถสืบสวนคดีของคุณเจริญไปจนถึงผู้บงการที่แท้จริงได้ (เพราะคงจะ "หญ่าย" ระดับชาติ) แต่การเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจังของชาวประจวบฯ ทำให้จับมือปืนได้ แม้ไม่อาจสาวไปถึง"เจ้าพ่อ"ตัวจริง-ผู้รับ"งาน"มา การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของประชาชนก็ยังไม่หยุด เป็นผลให้ต้องมีการ "ตัดตอน" และ "ผู้ใหญ่" ไม่กล้าอุ้มเจ้าพ่อต่อไปได้ ผลก็คืออิทธิพลและเส้นทางการเมืองในท้องถิ่น (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเมืองระดับชาติ) ซบเซาลงทันตาเห็น

ผมจึงเชื่อว่า หากขบวนการประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เคลื่อนไหวและมีพลังมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากยิ่งขึ้น

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นมากำกับดูแลการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร



.