.
การระส่ำระสายในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 38
โลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ต้องมีผู้แสดงสำคัญทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือตำรวจโลกเพื่อคอยดูแลรักษาระเบียบโลกนี้ไว้ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และวัฒนธรรม ศูนย์กลางของโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐซึ่งเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งและมีแสนยานุภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
กล่าวกันว่าจักรวรรดิยิ่งใหญ่แบบนี้จะมีแต่สหรัฐที่เดียว หลังจากนี้ไปแล้วก็ยากที่จะมีประเทศใดมีอำนาจเท่ากับสหรัฐได้อีก
แต่ถึงกระนั้น จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งที่สุดก็ต้องอ่อนเปลี้ยลง เหมือนกับจักรวรรดิอื่นเช่นจักรวรรดิโรมันในอดีต
ความอ่อนแอล่มสลายของจักรวรรดิทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญอยู่ชุดหนึ่ง (กล่าวตาม จาเรด ไดอะมอนด์) ได้แก่
1) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งในสมัยใหม่อาจรวมมลพิษ
2) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งสมัยปัจจุบันรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
3) เพื่อนบ้านที่เป็นอริศัตรู
4) คู่ค้าสำคัญเกิดล่มสลาย
5) การไม่สามารถปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาสังคมได้
6) สำหรับสมัยใหม่ ยังมีการขาดแคลนพลังงาน และเราสามารถเพิ่มเติมเหตุปัจจัยอื่นอีก เช่น ค่าใช้จ่ายทางทหารเพื่อรักษาจักรวรรดิสูงจนเกินผลได้ การใช้จ่ายเกินตัวของทุกภาคส่วนจนเกิดวิกฤติหนี้ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในจักรวรรดินั้น เนื่องจากไม่ยอมทนให้ทรัพยากรและความมั่งคั่งถูกปล้นไปต่อหน้าได้อีก
ในที่นี้จะกล่าวเน้นในเรื่องการขาดแคลนพลังงาน แสนยานุภาพที่มีความจำกัด และการอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก่อให้การการระส่ำระสายไปทั่วโลก
ศูนย์กลางโลกาภิวัตน์ปัจจุบันเป็นอย่างไร
ศูนย์กลางโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน มีอยู่ 3 ศูนย์ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่รวมตัวกันภายใต้การนำของสหรัฐ นั่นคือศูนย์กลางอื่นยากที่จะมีนโยบายต่างประเทศแยกไปจากของสหรัฐ
การรวมตัวที่สำคัญได้แก่กลุ่ม 7 (G7) ซึ่งได้ขยายตัวออกไปเป็นโออีซีดีหรือสโมสรประเทศพัฒนาแล้ว
สำหรับยุโรปและสหรัฐที่เป็นพันธมิตรแอตแลนติกมีการรวมตัวกันที่สำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป ซึ่งในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก และองค์การนาโต้ ที่มีค่าใช้จ่ายทางทหารเกือบร้อยละ 70 ของโลก
ศูนย์กลางทั้งสามมีอิทธิพลเหนือองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ องค์การการค้าโลก เป็นต้น และอาจรวมองค์การสหประชาชาติในระดับที่แน่นอน
การเป็นศูนย์กลางโลกนี้ เป็นทั้งด้านการค้าตลาดโลก การเงิน การลงทุน การทหาร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รวมไปถึงทางวัฒนธรรม
ศูนย์กลางดังกล่าวเป็นแกนให้แก่ประเทศอื่นได้เข้ามาเกาะเกี่ยวเพื่อการพัฒนาประเทศของตน
ศูนย์กลางดำรงอยู่โดยมีชายขอบ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีความเจริญหรือมีอำนาจน้อยกว่าต้องติดต่อพึ่งพากับศูนย์กลาง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่อยู่ระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ ที่มีอำนาจหรือความเจริญพอสมควร ทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ช่วยธำรงรักษาระบบ และการเข้ามาท้าทายอำนาจจากศูนย์กลาง ได้แก่ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่สำคัญได้แก่กลุ่มบริกส์ ประกอบด้วย จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ และยังสามารถนับ อินโดนีเซีย ตุรกี อิหร่าน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เข้าด้วย
ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มั่งคั่งขึ้นเมื่อน้ำมันราคาแพง ได้กลายเป็นศูนย์การเงินและจุดเดือดใหญ่ของโลก ประเทศในละตินอเมริกา และทวีปแอฟริกาก็ได้ถีบตัวสูงขึ้น
ทั้งหมดทำให้ภาพศูนย์กลางโลกาภิวัตน์เริ่มพร่ามัว
เมื่อสหรัฐ-ศูนย์กลางโลกาภิวัตน์อ่อนแรง
กล่าวได้ว่ายุคทองของสหรัฐได้สิ้นสุดในทศวรรษ 1970 ในทศวรรษนี้ เราได้เห็นการทรุดตัวอย่างรอบด้านของสหรัฐ คือ
1) การผลิตน้ำมันถึงขีดสูงสุดในปี 1970 ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน ทั้งนี้ เพราะเห็นได้ว่าการขึ้นสู่การเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐเกิดจากแสนยานุภาพ และการผลิตทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อาศัยน้ำมันราคาถูกของตนเป็นส่วนสำคัญ ในช่วงทศวรรษ 1930 สหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ซึ่งระบาดไปทั่วโลก แต่ในสมัยนั้นสหรัฐยังมีน้ำมันเหลือเฟือ ช่วยให้สามารถฟื้นตัวขึ้นใหม่ได้ แต่ในครั้งนี้เกิดความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีกด้านหนึ่ง
2) การเลิกผูกค่าเงินดอลลาร์เข้ากับทองคำในปี 1971 สมัยประธานาธิบดีนิกสัน ซึ่งเป็นการทิ้งความตกลง เบรตตัน วูด ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพการเงินโลก มีผลให้ค่าเงินดอลลาร์ลดฮวบ และโลกเข้าสู่ยุคธนบัตรกระดาษ ส่งเสริมการเก็งกำไรหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
3) การประสบวิกฤติน้ำมันปี 1973 จากการที่กลุ่มโอเปกงดส่งน้ำมันให้แก่สหรัฐและพันธมิตร จนมีข่าวว่าสหรัฐคิดอย่างจริงจังที่จะใช้กำลังเข้าไปยึดทุ่งน้ำมันในตะวันออกกลาง ผลที่เห็นได้คือ สหรัฐค่อยๆ สูญเสียการควบคุมทุ่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบียอันเป็นแหล่งสำรองน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 1973 ให้ซาอุดีฯ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทอะรามโกของสหรัฐ (Arabian American Oil company-ARAMCO) ร้อยละ 25 และปี 1980 ซื้อหุ้นส่วนทั้งหมดร้อยละร้อย และตั้งเป็นบริษัทอะรามโกของซาอุดีฯ (Saudi Arabian Oil Company) ในปี 1988 โดยควบคุมการบริหารจัดการและด้านเทคนิคทั้งหมด
4) การพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามปี 1975 แสดงความจำกัดของแสนยานุภาพในการเอาชนะสงครามประชาชน
5) การเริ่มเสียเปรียบดุลการค้าตั้งแต่ปี 1975 ปี 1975 ถือว่าเป็นปีสุดท้ายที่สหรัฐได้เปรียบดุลการค้ามูลค่าหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นได้เริ่มเสียเปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้น การเสียเปรียบดุลการค้าหมายถึงการสูญเสียความเหนือกว่าทางการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม นำมาสู่การเสียเปรียบดุลงบประมาณ เกิดหนี้ภาครัฐบาลทับถมมากขึ้นจนเป็นวิกฤติใหญ่ในขณะนี้
6) การปฏิวัติอิหร่านปี 1979 และการที่สถานทูตสหรัฐถูกบุกยึด จับตัวเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐเป็นตัวประกัน เป็นการสูญเสียแหล่งน้ำมันใหญ่และพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลาง ทำให้ภูมิภาคนี้ไม่อาจไว้วางใจได้อีกต่อไป
วิกฤติต่างๆ ที่สหรัฐเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้น กล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการอ่อนแรงในทศวรรษที่ 1970 แต่รุนแรงกว่า เช่น การผลิตน้ำมันได้ลดน้อยลง จำต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยจนในปัจจุบันตกราวร้อยละ 60 ของที่บริโภค การสงครามในทศวรรษ 1970 สหรัฐเกี่ยวข้องกับสงครามที่เวียดนามเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันก่อสงครามถึง 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ อิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ลิเบีย เยเมน ค่าใช้จ่ายทางทหารก็สูงกว่ากันมาก การขาดดุลการค้าก็เพิ่มขึ้น
จนในปี 2010 ขาดดุลการค้าราว 761.5 พันล้านดอลลาร์ การแปรเศรษฐกิจเป็นแบบการเงิน เร่งการเก็งกำไร ก่อให้เกิดฟองสบู่ใหญ่ขึ้น เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในปี 2008 ก็ลามเข้าสู่สถาบันการเงินอย่างรวดเร็ว
ความระส่ำระสายในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน
ผลสำคัญ หากจะสรุปเป็นประโยคเดียวก็คือ กระแสการเป็นแบบท้องถิ่นแรงขึ้น การเป็นแบบท้องถิ่น (Localization) เป็นด้านตรงข้ามของโลกาภิวัตน์ และดำรงอยู่คู่กัน ในช่วงที่กระแสโลกาภิวัตน์แรง เช่น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 การเป็นแบบท้องถิ่นก็ดำรงอยู่เหมือนเป็นเครื่องพ่วงแก่โลกาภิวัตน์ กระแสการค้าข้ามพรมแดน การเปิดเขตความตกลงการค้าเสรีก็จะสูงตามไปด้วย
แต่นับแต่ย่างขึ้นศตวรรษที่ 21 กระแสการเป็นแบบท้องถิ่นสูงขึ้น ท้าทายต่อกระแสโลกาภิวัตน์ เกิดการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมเอาลัทธิชาตินิยมแก่กล้าไว้ด้วย ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติ 2008 ก็เกิดกระแสต้านรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากอิทธิพลจากศูนย์กลางอ่อนลง เปิดให้ชายขอบได้มีอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น กระแสการเป็นแบบท้องถิ่นนี้มีทั้งที่เป็นขวาจัด ไปจนถึงฝ่ายซ้าย
จะยกตัวอย่างกระแสดังกล่าวตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างย่อๆ ดังนี้
1) การเคลื่อนไหว เช่น Tea Party ในสหรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัด และการต่อสู้ของพนักงานรัฐที่รัฐวิสคอนซิน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านสงครามและโลกาภิวัตน์ที่เป็นปีกซ้าย การต่อสู้เหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นเพื่อรักษาฐานะชนชั้นกลางของตนไว้ เนื่องจากถูกทำลายโดยลำดับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และอย่างรวดเร็วตั้งแต่วิกฤติ 2008
2) การต่อสู้ของประชาชนที่ไอร์แลนด์ กรีก สเปน และโปรตุเกส เป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ของประชาชนในยุโรปที่ต้องว่างงาน ค่าครองชีพสูง และรัฐบาลตัดงบประมาณเพื่อแก้วิกฤติ 2008 การต่อสู้ครั้งนี้รุนแรงถึงขั้นโค่นรัฐบาล เช่นในไอร์แลนด์และโปรตุเกส (โดยการเลือกตั้ง) และโยกคลอนฐานะรัฐบาลอย่างหนักในกรีกและสเปน โดยรัฐบาลสเปนแพ้การเลือกตั้งในระดับเทศบาลอย่างหมดรูป และจำต้องประกาศเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด
3) การปริร้าวในสหภาพยุโรปและวิกฤติเงินสกุลยูโร ความปริร้าวนี้แสดงในความแตกต่างทางแนวคิดในการแก้ปัญหาวิกฤติ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศเช่นกรณีทิ้งระเบิดลิเบีย ที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่การที่เดนมาร์กตั้งด่านตรวจคนที่ชายแดน ในด้านเงินยูโรก็ประสบปัญหาหนัก เนื่องจากหลายชาติรวมทั้งอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามในสกุลเงินยูโรเกิดปัญหาหนี้สาธารณะมากเกินไป วิกฤติทั้ง 2 ด้านนี้รุนแรงถึงขั้นมีผู้วิจารณ์ว่าไม่สหภาพยุโรปก็เงินสกุลยูโรต้องล่มสลาย
4) การขยายตัวของสังคมนิยมในลาตินอเมริกา ซึ่งพื้นฐานยังเป็นชาตินิยมทางน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอิสระจากอิทธิพลและนโยบายของสหรัฐ ขยายจากเวเนซุเอลาไปยังโบลิเวียและชิลี
5) การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ เพื่อเป็นอิสระจากชนชั้นผู้ปกครองที่สนิทสนมกับศูนย์กลางโลกคือสหรัฐ-นาโต้ ยกเว้นกรณีลิเบียและซีเรีย การลุกขึ้นสู้เหล่านี้ยังไม่จบเช่น ที่อียิปต์ เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถก่อความปั่นป่วนแก่โลกได้สูง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญ
6) การลุกขึ้นสู้และการประท้วงใหญ่ของประชาชนในที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย ที่ค่อนข้างคาดไม่ถึงได้แก่ การประท้วงที่มาเลเซีย เพื่อให้จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม และการลุกขึ้นประท้วงของชาวอิสราเอลทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม
7) การเสื่อมถอยขององค์กรปกครองโลก เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และแม้แต่องค์การสหประชาชาติ เมื่อศาลอาชญากรรมโลกประกาศจับกาดาฟีแห่งลิเบีย
สหภาพแอฟริกา (African Union) ประกาศไม่ยอมรับ เพราะทำให้กรณีพิพาทในลิเบียแก้ไขได้ยากขึ้น ทั้งเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ มีแต่ผู้นำในแอฟริกาที่ถูกประกาศจับ แต่เพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่ตะวันตกที่ก่อคดีไว้มากมายในอิรัก อัฟกานิสถาน และปากีสถาน (voanews.com 050711)
การต่อสู้ของกลุ่มทุนโลก
กับความจำกัดของการเติบโต
ปัญหาน้ำมันแพงเป็นตัวการหรือตัวแทนสำคัญของความจำกัดของการเติบ (Limits to Growth) เมื่อผสมกับวิกฤติอื่น ได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้หนี้เพื่อขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ทับถมจนระเบิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ก็ได้กลายเป็นวิกฤติความเป็นความตายของโลกาภิวัตน์ที่นำโดยตะวันตก
ในวิกฤตินี้เราได้เห็นความพยายามของกลุ่มทุนโลกซึ่งที่สำคัญอยู่ที่ศูนย์กลางในการต่อสู้ปัดเป่าวิกฤติครั้งนี้ออกไปให้ได้ ในท่ามกลางของความระส่ำระสาย ได้มีแนวคิดใหญ่อยู่ 2 ทาง
ทางหนึ่งอยู่ในวงนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน เป็นต้น เน้นความสามารถในการแก้ปัญหาในระบบทุน กล่าวว่า ในที่สุดโลกก็จะพ้นจากวิกฤติไปได้ แม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้าง
อีกแนวคิดหนึ่งเป็นของนักเคลื่อนไหวและนักสิ่งแวดล้อม เน้นความจำกัดของความเติบโต เห็นว่ายากที่จะผ่านวิกฤติไปได้ เนื่องจากติดขัดในการหาพลังงานราคาถูกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม และยังดูได้จากการคลี่คลายของเหตุการณ์ที่เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งก็เกิดปัญหาอื่นมาเพิ่ม
เช่น แก้หนี้เสียอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐยังไม่ทันหมด หนี้เสียในยุโรปก็ปะทุขึ้นมาอีก คราวนี้เป็นถึงระดับรัฐบาล ซึ่งคาดกันว่ายังจะส่งผลกระทบกว้างไกลไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นความจำกัดในการแก้ปัญหาภายในระบบทุนที่น้อยลง และอารยธรรมมนุษย์สมัยใหม่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อาจสรุปได้เบื้องต้นว่า ถ้าหากไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความระส่ำระสายก็น่าจะสูงขึ้น จนโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่ยากที่จะดำรงอยู่ได้
++
ระบบนิเวศกับพลังงาน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 38
วิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ควบคู่วิกฤติเศรษฐกิจ ในปัจจุบันเริ่มเห็นกันว่าวิกฤติสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นต้น มีส่วนทำให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดถี่ รุนแรง และแก้ไขได้ยากขึ้น
และวิกฤติสิ่งแวดล้อมหรือวิกฤติระบบนิเวศนี้ มีส่วนสำคัญเนื่องจากการใช้พลังงานโดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเป็นทวีคูณในระยะ 200 กว่าปีมานี้ เกิดการขยายตัวใหญ่ทางการผลิตและ การบริโภค จนทำให้ระบบนิเวศทั่วโลกตายหรือไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
แม่น้ำกลายเป็นแหล่งระบายสิ่งโสโครกและเน่าเสีย
ที่ดินอุดมกลายเป็นทะเลทราย
มหาสมุทร กล่าวกันว่ากำลังตาย
ทุกวันนี้เราจะได้พบข่าวอุบัติภัยที่เนื่องด้วยสิ่งแวดล้อม เช่น ในช่วงนี้เป็นหน้ามรสุมในซีกโลกเหนือ ก็จะพบข่าวน้ำท่วมโคลนถล่มที่โน่นที่นี่ทั่วโลก
ซึ่งบางแห่งดูคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เช่นการที่ฝนตกหนักโคลนถล่มที่ใกล้กรุงโซล นครหลวงเกาหลีใต้ ในปลายเดือนกรกฎาคม 2011 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 60 คน บริเวณที่เกิดโคลนถล่มส่วนหนึ่งมีการพัฒนาที่ดินให้เป็นรีสอร์ตและโรงแรม
ระบบนิเวศของมนุษย์ยังได้ขยายตัวไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการใช้พลังงาน ที่ที่มนุษย์ไม่เคยได้อยู่อาศัย เช่น อวกาศ ก็มีการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์ผลัดกันเข้าไปอยู่เป็นประจำ
หรือการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อให้ความร้อนและกระแสไฟฟ้าก็เปลี่ยนระบบนิเวศโลกไปตลอดกาล
เมื่อระบบนิเวศของมนุษย์ขยายออก ปัญหาก็มากตามไปด้วย เช่น เกิดขยะอวกาศ นอกจากนี้ ยังมีดาวเทียมสื่อสารจำนวนมากโคจรอยู่ ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราหลายอย่างที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางไกลเป็นไปได้ เช่น การทำธุรกรรม การตรวจตำแหน่งบนพื้นโลก เป็นต้น
พายุสุริยะอันเป็นกระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารุนแรงจากดวงอาทิตย์ ที่แต่ก่อนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรามาก เนื่องจากมีแม่เหล็กโลกคอยคุ้มกัน แต่ปัจจุบันพบว่า สามารถทำความเสียหายแก่ดาวเทียมสื่อสารได้ ซึ่งก่อความเสียหายได้มาก
ดังนั้น พลังงานมีทั้งด้านที่ทำให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ขยายระบบนิเวศของมนุษย์ออกไปอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่ก่อให้เกิดวิกฤติแก่ระบบนิเวศพร้อมกันไป
อนึ่ง การที่น้ำมันขาดแคลนดูจะไม่ช่วยให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัว แต่กลับจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อย
ระบบนิเวศเป็นอย่างไร
ระบบนิเวศก่อนอื่นก็คือมันเป็นระบบ ความหมายทั่วไปของระบบก็คือประกอบด้วยหน่วยย่อยที่มีปฏิสัมพันธ์พึ่งพากัน มีการปฏิบัติร่วมกันเหมือนเป็นหน่วยเดียว
ระบบนิเวศก็คือชุมชนของชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มีปฏิสัมพันธ์พึ่งพากัน เป็นระบบปฏิบัติหนึ่งเดียว
ในระบบนิเวศทุกสิ่งจึงเกี่ยวข้องกัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าหน่วยชีวิตหนึ่ง สปีชีส์หนึ่ง หรือกลุ่มประชากรหนึ่งเป็นอะไร จนกว่าจะได้มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นในระบบ
เช่น เราไม่สามารถบอกว่ามดตัวหนึ่งเป็นอะไร จนกว่าจะได้เห็นมันทำหน้าที่ในรังมด และเราก็ไม่สามารถบอกว่ารังมดหนึ่งเป็นอะไร จนกว่าจะเข้าใจว่ามันมีบทบาทอะไรในระบบนิเวศ บุคคลตัวตนของมนุษย์ก็เป็นทำนองเดียวกันนี้
จากที่กล่าวมา ระบบนิเวศมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่
1) ส่วนที่มีชีวิต (Biotic Component) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดระบบนิเวศ จำแนกได้เป็น
ก) สิ่งที่สร้างอาหารได้เอง (Autotroph) ถือว่าเป็นผู้ผลิต (Producer) ที่สำคัญได้แก่พืช นอกจากนี้มีแบคทีเรียบางชนิด
ข) ชีวิตที่ต้องกินอาหารจากที่อื่น (Heterotroph) แบ่งย่อยเป็นผู้บริโภค (Consumer) ได้แก่ สัตว์นักล่า และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ได้แก่แบคทีเรีย เชื้อรา มดปลวก และสัตว์กินซากเป็นต้น
(2) ส่วนที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Component) ได้แก่
ก) พลังงานจากดวงอาทิตย์ ซึ่งให้พลังงานเกือบทั้งหมดต่อระบบนิเวศ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด หากขาดพลังงานนี้โลกก็ไม่สามารถรองรับชีวิตได้
ข) ลม ความชื้น อุณหภูมิ ที่มีอิทธิพลสูงต่อสิ่งมีชีวิต จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กำลังกังวลนี้ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์อย่างมาก
ค) สารอนินทรีย์ เช่นกำมะถัน โบรอน ที่ไหลเวียนในระบบนิเวศ มีผลต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและที่ไม่มีชีวิต
ง) สารอินทรีย์ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์ประกอบที่เป็นชีวิต และไม่ใช่ชีวิตเข้าด้วยกัน (ดูบทบรรยายชื่อ Energy flow in ecosystems ใน csun.edu)
อนึ่ง เมื่อมนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมมากขึ้น ก็ได้ขยายสิ่งแวดล้อมออกไปให้หมายถึงขั้วแม่เหล็กโลก แรงโน้มถ่วง ความร้อนใต้พิภพ การเคลื่อนที่ของแผ่นทวีป พายุสุริยะว่ามีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่และพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
แม้กระทั่งรังสีคอสมิกก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นแกนให้ไอน้ำมาเกาะจนเป็นหยดน้ำและก้อนเมฆ
ระบบนิเวศมีขอบเขตเพียงใด
ระบบนิเวศเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชีวิตด้วยกัน และระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องเป็นหน่วยเดียวกัน มีขนาดและขอบเขตที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ตามแต่ที่จะศึกษา เช่น ระบบนิเวศอาจจำกัดอยู่ในบึงเล็กๆ หรือบริเวณยอดไม้ และอาจใหญ่เป็นระบบนิเวศลุ่มน้ำและทะเล หรือป่าไม้ทั้งป่าได้ ในวิชานิเวศวิทยา บางทีเรียกระบบนิเวศในภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ว่า ชีวนิเวศ (Biome) เช่น ชีวนิเวศป่าฝน ชีวนิเวศทะเลทราย
นอกจากนี้ ระบบนิเวศอาจขยายไปจนหมายถึงโลกทั้งโลก บางทีเรียกว่าชีวภาคหรือชีวมณฑล (Biosphere)
ลักษณะทั่วไปของระบบนิเวศเป็นอย่างไร
ระบบนิเวศมีความซับซ้อนและหลากหลายมาก ต้องใช้เวลา ความพยายามและความคิดนึกอย่างสูงจึงได้ค่อยๆ มีความเข้าใจลึกขึ้นทุกที จนในปัจจุบันนี้ มีผู้สรุปลักษณะทั่วไปของระบบนิเวศว่ามีอยู่ 5 ประการสำคัญได้แก่
1) การมีระเบียบหรือหน้าที่ แม้ระบบนิเวศจะดูซับซ้อน แต่มันก็มีด้านที่เป็นระเบียบ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ประกอบในระบบนิเวศนั้น เช่น สิ่งมีชีวิตส่วนหนึ่งเป็นผู้ผลิต อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้บริโภค มีการไหลเวียนของสสารและพลังงานที่มีกฎระเบียบที่สามารถศึกษาได้แน่นอนในระดับหนึ่ง
2) มีพัฒนาการ ระบบนิเวศไม่ใช่ระบบที่หยุดนิ่งแต่มีพัฒนาการของมัน การพัฒนาอย่างหนึ่งคือพัฒนาไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพจนมากที่สุด เมื่อถึงจุดนั้นแล้วก็พยายามรักษาสถานะนั้นไว้ การพัฒนาอีกทางหนึ่งคือการพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ให้มากที่สุด เช่นป่าดิบชื้นที่รับแสงจนแทบไม่มีตกถึงพื้น
3) มีกระบวนการย่อยสลายหรือเมแทบอลิสม์ หรือการไหลเวียนของพลังงาน
4) มีการไหลเวียนของสสาร ในข้อที่สามและสี่นี้จะได้กล่าวให้ละเอียดขึ้นต่อไป
5) มีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศจำต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ จากการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบอันหลากหลาย ความสามารถในการปรับตัวนี้ทำให้บางคนเรียกระบบนิเวศว่าเป็นระบบที่ปรับตัวได้ (Self-regulating System) เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินและพัฒนาต่อไปได้
6) มีขอบเขตที่ให้สิ่งอื่นแทรกซึมเข้ามาในระบบได้ เช่น แสงอาทิตย์สาดส่องมาได้
จากนี้ กล่าวได้ว่าระบบนิเวศที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้จะมีความสามารถในการปรับตัว ก่อให้เกิดความคงทน แต่ก็มีด้านที่เปราะบาง ล่มสลายได้ง่าย เนื่องจากความเสียหายที่จุดหนึ่งจะกระทบไปยังจุดอื่นด้วย
ระบบนิเวศทำงานอย่างไร
ระบบนิเวศทำงานโดยอาศัยกลไกของการไหลเวียนของสสารหรือสารอาหารและพลังงานที่สิ่งมีชีวิตเป็นผู้กระทำที่สำคัญ การไหลเวียนของสสารมีที่สำคัญ ได้แก่
ก) การไหลเวียนของน้ำ
ข) การไหลเวียนของสารอาหารมีคาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจน เป็นต้น
ในการไหลเวียนดังกล่าว การไหลเวียนของน้ำนั้นถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำหรับการไหลเวียนของสสารอื่น
เนื่องจากชีวิตในโลกนี้ประกอบด้วยน้ำเป็นสำคัญ
สำหรับการไหลเวียนของคาร์บอนไดออกไซด์นั้น กล่าวได้ว่าพืชมีบทบาทสำคัญที่สุด เพิ่งมาไม่กี่ร้อยปีมานี้เองที่มนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการไหลเวียนของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งที่สำคัญมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีน้ำมัน ถ่านหินและแก๊สธรรมชาติ ดังนั้น จึงควรให้ความสนใจแก่การไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศให้มาก
การไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศมีประเด็นที่ควรกล่าวถึงดังนี้คือ
1) เริ่มต้นด้วยการสังเคราะห์ด้วยแสง ที่พืชทำหน้าที่นี้ เป็นการเปลี่ยนพลังความร้อนจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเคมี ที่ใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่การเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประโยชน์น้อยเป็นคาร์โบรไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
อาหารสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จากพลังงานความร้อนทั้งหมดที่ได้รับมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น พืชที่เปลี่ยนเป็นพลังงานทางเคมี พืชสร้างอาหารขึ้นเพื่อที่มันจะใช้เอง ไม่ใช่เพื่อให้สัตว์อื่นมากิน
พืชใช้พลังงานเคมีที่สร้างขึ้นเป็นส่วนใหญ่โดยการหายใจ (Respiration) หรือการนำมารวมกับออกซิเจน โดยการสังเคราะห์ด้วยแสงทำในช่วงกลางวัน การหายใจทำตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน พืชจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่การสังเคราะห์ด้วยแสงมากกว่าการหายใจ นอกจากนี้ ยังมีการสังเคราะห์ทางเคมีที่แบคทีเรียหลายอย่างทำ-สร้างไนโตรเจน
ปรากฏการณ์นี้เป็นไปตามกฎอุณหพลศาสตร์ข้อที่ 1 ว่า ในระบบนิเวศ สสารและพลังงานอาจเปลี่ยนจากรูปหนึ่งไปอีกรูปหนึ่งได้ แต่สสารและพลังงานเหล่านี้ไม่สามารถทำลายหรือสร้างขึ้นใหม่ได้
2) จากการผลิตอาหารโดยพืชแล้ว ก็เกิดโซ่อาหาร (Food Chain) หรือระดับการบริโภค (Trophic Level) หรือการบริโภคเป็นระดับไป นิยมแบ่งเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ก) ผู้ผลิตอาหาร ได้แก่พืช ข) ผู้บริโภคขั้นต้น เช่น สัตว์กินพืช ค) ผู้บริโภคขั้นกลาง เช่นสัตว์กินสัตว์ ง) ผู้บริโภคขั้นท้ายซึ่งอยู่ชั้นบนสุด ไม่มีสัตว์อื่นมากิน เช่น มนุษย์
โซ่อาหารนี้ในธรรมชาติมีความซับซ้อน นั่นคือกินกันไปมาอย่างซับซ้อน เรียกกันว่าโยงใยอาหาร (Food Web) โยงใยอาหารนี้เป็นกลไกสำคัญให้มีการไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศ
3) ในการกินกันเป็นโซ่อาหารนี้ พบว่าการบริโภคแต่ละขั้นได้พลังงานเพียงราวร้อยละ 10 ของทั้งหมด ที่เหลือสูญเสียไปเป็นความร้อน เช่นวัวที่กินหญ้าใช้พลังงานส่วนหนึ่งไปเพื่อการเติบโต การหาอาหารและการหนีจากสัตว์ผู้ล่า เป็นต้น เสือที่กินวัวได้พลังงานเพียงร้อยละ 10 ของที่วัวได้รับ ดังนั้น ผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงยิ่งมีพลังงานน้อยให้บริโภคและใช้ประโยชน์
ปรากฏการณ์นี้เป็นไปตามกฎอุณหพลศาสตร์ข้อที่ 2 ว่าในระบบนิเวศพลังงานมีแนวโน้มสูญเสียความเข้มข้นลงไปเรื่อยๆ และนี่เป็นปัญหาใหญ่มากของมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคระดับสูงสุด
4) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมนุษย์จึงได้ประดิษฐ์การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ขึ้นเมื่อราว 1 หมื่นปีมาแล้ว เพื่อควบคุมโซ่อาหาร
เช่นการเลี้ยงแกะป้องกันไม่ให้หมาป่ามาแบ่งกิน หรือการเพาะปลูกก็ทำให้ไม่ต้องไปแย่งกับสัตว์กินพืชอื่น หรือป้องกันไม่ให้พืชอื่นที่ปัจจุบันเรียกว่าวัชพืชมาแย่งอาหาร
การปฏิวัติทางการเกษตรนี้ทำให้มนุษย์สามารถสร้างอารยธรรมเมืองและจักรวรรดิขึ้นได้ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรเช่นป่าไม้และดิน น้ำมากเกินไปจนมีส่วนทำให้จักรวรรดิหลายแห่งต้องล่มสลาย
5) การปฏิวัติการเกษตรครั้งแรกก็ยังกระทบต่อระบบนิเวศโลกรุนแรง มนุษย์ยังคงใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์ในการทำต่อมาอีกหลายพันปี แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ได้เปลี่ยนทุกอย่างไป มนุษย์ได้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีถ่านหินและน้ำมัน เป็นต้น เพื่อเป็นแรงในการทำงาน เป็นการเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้กลายเป็นพลังงานเครื่องกล (Mechanic Energy) จากนั้น เปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าได้อีก ก่อให้เกิดการก้าวหน้าใหญ่มีการใช้เครื่องจักรกลและเครื่องจักรอัตโนมัติ การผลิตสินค้าปริมาณมาก
การเอื้อมมือไปทุกมุมโลกรวมทั้งใต้มหาสมุทรลึกเพื่อนำสสารและพลังงานขึ้นมาใช้อย่างดูเหมือนไม่สิ้นสุด มันทำให้มนุษย์เกิดความคิดขึ้นว่าตัวเขาเองสามารถก้าวพ้นจากความจำกัดของพลังงานที่จะนำมาบริโภคและใช้งานได้อย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศมีความเปราะบาง และพลังงานก็มีความจำกัดเมื่อมีการบริโภคและการเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การปฏิบัติเช่นนี้ได้เกิดผลหลายด้าน
ด้านหนึ่งเกิดการทำลายระบบนิเวศของโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มนุษย์เข้ามาแทรกแซงในการไหลเวียนของคาร์บอนไดออกไซด์ จนมีส่วนสำคัญในการสร้างภาวะเรือนกระจกในโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
อีกด้านหนึ่งเกิดการหมดไปของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีคุณภาพนั่นคือน้ำมัน และมนุษย์อาจต้องย้อนกลับไปอยู่ในยุคการเกษตรอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม
++
การใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลัง กับวิกฤติระบบนิเวศโลก
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 40
การเพิ่มเชิงกำลัง (Exponential Growth) เป็นสิ่งที่อธิบายให้เข้าใจได้ไม่ยาก
ที่ยากนั้นอยู่ที่การเห็นประจักษ์แจ้งแก่ใจ เนื่องจากว่ามันขัดกับความรู้สึกและความเคยชินที่คุ้นกับการเพิ่มแบบบวกที่พบเห็นทั่วไปในธรรมชาติ
มีเรื่องเล่าและคำทายเกี่ยวกับการเพิ่มเชิงกำลังที่ควรเล่า 2 เรื่อง
เรื่องแรก เป็นชายผู้คงแก่เรียนได้คิดประดิษฐ์หมากรุกขึ้นเป็นครั้งแรก ได้นำไปเสนอพระราชาที่ได้ทดลองเล่นและชอบมาก จึงจะให้รางวัลตอบแทน ถามว่าต้องการอะไร
ชายนักประดิษฐ์ซึ่งคงเป็นนักคำนวณด้วย ตอบว่า ขอข้าวสารช่องแรก 1 เมล็ด แล้วเพิ่มช่องละเท่าตัว คือช่องที่ 2 เป็นสองเมล็ด ช่องที่สาม 4 เมล็ดไปจนครบ 64 ตาของกระดานหมากรุก
พระราชาคิดว่าเป็นข้อเรียกร้องที่น้อยมาก แต่เมื่อปฏิบัติดู ปรากฏว่านำข้าวที่เก็บไว้ในคลังทั้งหมดแล้วก็ยังไม่ถึงตาที่ 64 เลย
อีกเรื่องเป็นคำทายปริศนาบัวบาน ทายกันแต่ยังเด็ก เป็นทำนองนี้ ว่า บัวกอหนึ่งบานเท่าตัวทุกวัน เมื่อถึงวันที่ 6 บานไปครึ่งสระ ถามว่าอีกกี่วันจึงจะบานเต็มสระ
คำตอบคือ อีกวันเดียว เพราะว่ามันเป็นการเพิ่มอย่างทวีคูณหรือเพิ่มเชิงกำลัง
ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ การเพิ่มมักมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น มีเกิดก็มีตาย สัตว์ที่อยู่ในระดับการบริโภคสูงสุดมักมีลูกน้อย เนื่องจากมีความจำกัดของอาหารที่จะบริโภค
แต่ในสังคมมนุษย์หรือระบบนิเวศมนุษย์ที่ปัจจุบันมีเมืองเป็นแกนสามารถทำสิ่งที่เรียกว่าการเพิ่มเชิงกำลังต่อเนื่องกันนานเป็นพันปี โดยเฉพาะในระยะ 200 ปีท้ายนี้
ทั้งนี้ ดูได้จากการเพิ่มประชากรและการเพิ่มการใช้พลังงานแบบเชิงกำลัง จนเกิดความเข้าใจว่านี่คือความเจริญและอารยธรรม
การเพิ่มเชิงกำลังก่อให้เกิดวิกฤติระบบนิเวศโลกอย่างน่าตกใจ
สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอังกฤษที่โด่งดัง ได้กล่าวเตือนอีกครั้งในปี 2010 ว่า มนุษย์จะต้องเร่งหาทางอพยพจากโลกไปตั้งถิ่นฐานในดาวเคราะห์อื่นภายใน 200 ปี หาไม่แล้วจะต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ใหญ่ในระยะยาว
ฮอว์กิงชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายประการ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเพิ่มของประชากรเชิงกำลัง ความเสื่อมสิ้นไปของทรัพยากรโลก และอันตรายจากสงครามนิวเคลียร์
การใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลังจะไปได้นานอีกเท่าใด
แม้จนถึงปัจจุบันก็มีความคิดกันว่า พลังงานมีไม่สิ้นสุด จนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น กล่าวกันว่าเรายังมีถ่านหินที่สามารถใช้ได้นานอีกหลายร้อยปี หรือกระทั่งเป็นพันปี
ยิ่งกว่านั้น เรายังมีพลังงานที่ดูเหมือนไม่จบสิ้นจากดวงอาทิตย์ เฉพาะที่ส่องมาที่โลกเพียงไม่กี่ชั่วโมงมนุษย์ก็ใช้ได้เป็นปี
แต่มีนักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เห็นเช่นนั้น โดยชี้ว่าการใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลัง ทำให้แหล่งพลังงานสำหรับมนุษย์รวมถึงดวงอาทิตย์และทุกดวงดาวในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกต้องหมดลงเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ
ท่านผู้นี้ชี้ว่า ระหว่างปี 1650 จนถึงปี 2009 การใช้พลังงานทั้งหมดนับแต่ ไม้ฟืน ชีวมวล เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์และอื่นๆ ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี
เพื่อสะดวกแก่การคำนวณหากลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี ก็จะทำให้การใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 10 เท่าทุก 100 ปี (ซึ่งตัวเลขการใช้พลังงานเพิ่มนี้ ก็ดูเหมือนสอดรับกับการคาดแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก และก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวระหว่างร้อยละ 4-5 ซึ่งก็ดูเหมือนเหมาะสมดีอีกเช่นกัน)
ผู้เขียนได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับพลังงานจากดวงอาทิตย์ สรุปความได้ว่าหากมีการใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลังโดยเพิ่ม 10 เท่าทุก 100 ปี มนุษย์จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงสู่โลกทั้งหมดภายในเวลาเพียง 400 ปี และจะใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์โดยตรงหมดภายในไม่ถึง 1,400 ปี จะใช้พลังงานจากทุกดวงดาวในกาแลกซี่นี้หมดในเวลาไม่ถึง 2,500 ปี (ดูบทความของ Tom Murphy ชื่อ Galactic-Scale Energy ใน Do the Math 120711)
การคำนวณนี้ กล่าวเป็นแบบภาษาพูดว่า "เอาให้สุดๆ ไปเลย" แต่ในทางเป็นจริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความจำกัดทางเทคโนโลยี ความจำกัดทางสังคมและความจำกัดทางระบบนิเวศ ความจำกัดทางเทคโนโลยี เช่นยากที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถใช้พลังงานได้มากดังที่กล่าว
ความจำกัดทางสังคม เช่น ไม่ว่าจะมีพลังงานใช้เหลือเฟือเพียงใด แต่หากมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง จะก่อให้เกิดความไม่พอใจ การลุกขึ้นสู้ และการจลาจล ไปจนถึงสงครามกลางเมืองดังที่ปรากฏทั่วโลกในปัจจุบัน
แม้แต่ที่ในสหรัฐก็ดูจะเลี่ยงไม่พ้น โดยจากการสำรวจประชามติชาวสหรัฐในต้นเดือนสิงหาคม 2011 พบว่าประชาชนทั่วไปหมดความไว้วางใจชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาลหรือในรัฐสภา ซึ่งล่อแหลมที่จะเกิดเหตุร้ายต่างๆ ที่คาดไม่ถึง
ในความจำกัดของระบบนิเวศโลก การใช้พลังงานมากขนาดนั้นย่อมทำให้โลกมีความร้อนที่เป็นของเสียเกิดขึ้นมากมาย จนระบบนิเวศยากจะดำรงอยู่ เราจะได้กล่าวถึงประเด็นหลังนี้
วิกฤติระบบนิเวศโลก : การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
วิกฤติระบบนิเวศโลก กล่าวอย่างกว้างๆ ก็คือ การที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปจนไม่ได้เป็นที่ที่เหมาะสมแก่สิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่จะอาศัยอยู่ ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ โดยถือกันว่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเหมือนสิ่งแสดงสุขภาพของระบบนิเวศ และการสูญพันธุ์ใหญ่แสดงอาการป่วย ซึ่งเป็นการมองจากจุดของมนุษย์
ชีวิตในโลกเริ่มมีความหลากหลายขึ้นเมื่อเกิดมีสิ่งมีชีวิตบนบกราว 540 ล้านปีมาแล้ว จากนั้นได้เกิดมีการสูญพันธุ์ใหญ่ 5 ครั้ง และการสูญพันธุ์ย่อยๆ อีกราว 7 ครั้ง
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่น้อยนี้ยังไม่ชัดเจน ที่กล่าวกันเช่น ภูเขาไฟระเบิด ระดับน้ำทะเลลดลงซึ่งน่าจะเกิดจากยุคน้ำแข็งที่บางครั้งคลุมไปเกือบทั้งโลก และดาวเคราะห์น้อยตกใส่
สาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศรุนแรง จนชีวิตจำนวนมากไม่อาจอยู่รอดได้
แต่กล่าวกันว่าการสูญพันธุ์ขนาดใหญ่และขนาดย่อมอาจเป็นสิ่งเร่งวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต การสูญพันธุ์จึงไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด
อนึ่ง มากกว่าร้อยละ 99 ของสปีชี่ส์ต่างๆ ที่มีการบันทึกได้สูญพันธุ์ไป ดังนั้น การสูญพันธุ์จึงเป็นสิ่งปรกติธรรมดา แต่ถ้ามนุษย์ต้องสูญพันธุ์ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา
และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความกังวลต่อการสูญพันธุ์ใหญ่ของมนุษย์ที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า
เรากำลังฆ่าโลกและฆ่าตัวเอง
ในทางธรณีวิทยา ถือว่าปัจจุบันอยู่ในสมัยโฮโลซีน อันเป็นสมัยต่อเนื่องกับปลายยุคเพลสโตซีนที่สิ้นยุคน้ำแข็งสุดท้าย เมื่อราว 1 หมื่นปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน (บางคนนับย้อนไปจนถึงราว 12,500 ปี) ในห้วงเวลานี้ มนุษย์ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานทั่วโลก และได้คิดการเกษตรขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์จำนวนมาก และอัตราการสูญพันธุ์นี้มีมากขึ้นทุกที บางคนเรียกการสูญพันธุ์นี้ว่า การสูญพันธุ์สมัยโฮโลซีน (Holocene Extinction)
สัญญาณที่แสดงว่ามนุษย์จะกลายเป็นตัวการให้ชีวิตอื่นสูญพันธุ์ ปรากฏขึ้นเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ได้แก่การสูญพันธุ์ของมนุษย์นีอันเดอธัล ซึ่งเป็นเผ่ามนุษย์ที่เกือบเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบัน
มีนักวิชาการบางคนเสนอว่าอาจมีการผสมพันธุ์ข้ามกันระหว่างมนุษย์ปัจจุบันกับนีอันเดอร์ธัล มนุษย์นีอันเดอธัลได้สูญพันธุ์เมื่อราว 25,000 ปีมาแล้ว จากการถูกเบียดขับจากมนุษย์ปัจจุบัน
การที่มนุษย์สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์ได้มากมาย อย่างที่ไม่ปรากฏว่ามีสัตว์ชนิดใดทำเช่นนี้ได้มาก่อน เกิดจากความสามารถของมนุษย์ในการสร้างระบบนิเวศของตนที่แยกต่างหากหรือเป็นอิสระอย่างสัมพัทธ์กับระบบนิเวศในพื้นที่ โดยสร้างระบบนิเวศการเกษตรขึ้นมา ไม่ต้องอาศัยพืชและสัตว์ในระบบนิเวศธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด
มีการบำรุงพันธุ์พืชและสัตว์ตามที่ต้องการ
มีการจัดระบบชลประทานหรือการไหลเวียนของน้ำ การป้องกันการบุกรุกของสปีชี่ส์อื่นที่เป็นอันตรายของสังคมของตน ตั้งแต่สัตว์ใหญ่และวัชพืช ไปจนถึงแบคทีเรีย
การก้าวสู่ระบบนิเวศอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้ระบบนิเวศมนุษย์ดูจะเป็นต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศธรรมชาติมากขึ้น
ความเกี่ยวข้องที่เด่นก็คือการนำเอาพลังงานและสสารจากระบบนิเวศในธรรมชาติมาใช้ในระบบนิเวศมนุษย์
ความสามารถในการสร้างระบบนิเวศของตนที่ต่างหากออกมานี้ ทำให้จำนวนประชากรมนุษย์มากขึ้นโดยลำดับ จากราว 1-10 ล้านคนเมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว เป็นราว 7 พันล้านคนในปัจจุบัน
มนุษย์ได้ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ที่นิยมเรียกว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (The Sixth Extinction) โดยทำสิ่งใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้คือ
ก) การทำลายระบบนิเวศหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ในที่นั้นอย่างรุนแรง เช่น ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูก การขยายเมืองและถนน
ข) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตมากเกินไป เช่น จับปลามากเกินไป ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากจนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
ค) การก่อมลพิษ
และ ง) การนำสปีชี่ส์ต่างแดนเข้ามาในระบบนิเวศธรรมชาติ
ในปี 1993 มีผู้ประมาณว่ามีสปีชี่ส์ราว 30,000 สปีชี่ส์สูญพันธุ์ไปทุกปี หรือ 3 สปีชี่ส์ต่อชั่วโมง (ดูบทความของนักบรรพชีวินวิทยา ดร. Niles Eldredge ชื่อ The Sixth Extinction ใน actionbioscience.org, 2005)
แม้ว่าเราจะสามารถสร้างระบบนิเวศที่เหมือนเป็นต่างหากออกไป แต่เราก็ยังคงอยู่ในธรรมชาติ การทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ จึงเหมือนกับเป็นการทำลายบ้านของตน ทำลายแหล่งอาหาร ทำลายทรัพยากรต่างๆ อันมีประโยชน์ ไปจนถึงทำลายที่พักผ่อนหย่อนใจของเรา
โดยรวมก็คือ ทำให้โลกที่อาศัยอยู่ได้นี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยไม่ได้สำหรับพืชและสัตว์จำนวนมาก
ท้ายที่สุดก็ย่อมมาถึงตัวมนุษย์เองที่เป็นผู้บริโภคระดับสูงสุด เป็นการฆ่าตัวตายทีละน้อย
ในปัจจุบันพบตัวเลขการเจ็บป่วยเสียชีวิตเนื่องจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
เช่น ประมาณว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะโลกร้อนราว 150,000 คน และเจ็บป่วยราว 5 ล้านคน
ความเสียหายเนื่องจากภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ทั้งยังได้เกิดผู้อพยพจากสิ่งแวดล้อมจำนวนหลาย 10 ล้านคน
วิกฤติระบบนิเวศโลก
: การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ดูจากสาเหตุการสูญพันธุ์ใหญ่ของสิ่งมีชีวิตที่ผ่านมา ก็จะพบสาเหตุร่วมกันอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าสิ่งมีชีวิตใช้อากาศเป็นตัวการสำคัญในกระบวนการสร้างและใช้อาหาร (Metabolism)
ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของบรรยากาศ อุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลม ย่อมส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อสิ่งมีชีวิต โลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอยู่ตลอดตั้งแต่ยังไม่มีมนุษย์ จากเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ การเอียงของโลก ภูเขาไฟระเบิด การเคลื่อนที่ของทวีป กระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นต้น สิ่งมีชีวิตเองก็น่าจะมีบทบาทในการกำหนดภูมิอากาศของโลกด้วย
เช่น ราว 30 กว่าปีมานี้เอง ได้เริ่มเป็นที่สังเกตว่าโลกร้อนขึ้น สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้นทุกที นับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว จนกล่าวได้ว่ามนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันนี้รุนแรงจนบางคนเรียกว่าเป็นวิกฤติภูมิอากาศ
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติภูมิอากาศ เช่นเกิดภาวะแห้งแล้งบริเวณกว้างและยาวนาน เช่นที่จีน ออสเตรเลีย และสหรัฐ ที่เป็นแหล่งปลูกธัญพืชที่สำคัญ การเกิดพายุฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วม โคลนถล่มไปทั่วโลก เกิดความวิปริตทางลมฟ้าอากาศ เช่น หิมะตกในทะเลทราย ธารน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งละลายหายไปมาก เกิดคลื่นความร้อนจนทำให้ผู้คนตายนับหมื่นคน
เมื่อการผลิตน้ำมันเริ่มเข้าสู่จุดสูงสุดขึ้น มีความคิดกันว่าอาจทำให้มนุษย์ปรับตัวใช้น้ำมันหรือพลังงานน้อยลง
แต่การณ์กลับเป็นตรงข้าม มนุษย์ยังคงขุดเจาะหาน้ำมันจากแหล่งที่ไม่ธรรมดา เช่น ทรายน้ำมัน หินน้ำมัน หรือจุดเจาะลงใต้ทะเลลึก ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษมากขึ้น
ร้ายกว่านั้นคือหันไปใช้ถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษสูงตั้งแต่การจุดเจาะ การขนส่ง ไปจนถึงในการใช้
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามนุษย์เสพติดการใช้น้ำมัน และเสพติดวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มีความสะดวกสบายรวดเร็ว ทั้งระบบเศรษฐกิจที่เน้นความเติบโตและการแข่งขันก็ไม่อนุญาตให้มนุษย์ผ่อนคลายการใช้พลังงานลง เป็นการแข่งขันที่ทำลายตัวเอง โดยประสงค์ให้ผู้อื่นตายก่อน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย