http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-24

"สกายวอล์ก", เมืองใหม่-ถมทะเล?, เริ่มต้นกันใหม่, นโยบายสิ่งแวดล้อม โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

บทสรุป "สกายวอล์ก"
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 39


ความพยายามของกรุงเทพมหานคร ในโครงการก่อสร้างทางลอยฟ้าหรือซูเปอร์สกายวอล์กบนถนนสายต่างๆ โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ยังแสดงปฏิกิริยาติติงต่อโครงการดังกล่าว ด้วยการทำหนังสือไปยัง กทม. ให้ทบทวนถึง 3 ฉบับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการไม่โปร่งใส ไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ

หลังจาก กทม. รับหนังสือของ สตง. แล้ว เพิ่งมาคิดออกว่าจะต้องทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ทั้งเปิดเวทีให้รับฟังและตั้งตู้เปิดรับฟังความเห็นตลอดแนวก่อสร้างสกายวอล์ก รวมถึงผ่านเว็บไซต์ให้ประชาชนตอบแบบสอบถามได้สะดวก

ผมไม่ทราบว่าทำไม กทม. จึงไม่คิดเรื่องกระบวนการประชาพิจารณ์มาตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท

การก่อสร้างมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน อย่างแน่นอน ทั้งระหว่างก่อสร้างและภายหลังเสร็จสิ้นโครงการแล้ว

การที่กทม.อ้างว่า โครงการนี้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนเป็นเรื่องที่คิดเอาเองทั้งสิ้น



"สกายวอล์ก" แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ระยะทาง 16 กิโลเมตร ก่อสร้างบนพื้นที่ถนนสุขุวิท ระหว่างซอยนานา-แบริ่ง ถ.พญาไท รามคำแหง และวงเวียนใหญ่

ระยะที่ 2 บริเวณราชดำริ, สีลม, สาทร, เพชรบุรี, รามคำแหง, เอกมัย, ทองหล่อ, พหลโยธิน, กรุงธนบุรี และบางหว้า ระยะทาง 32 กิโลเมตร งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

เพิ่งทราบว่า หลัง กทม. ประกาศคลอดโครงการออกมาไม่นาน ทาง กทม. เดินหน้าจัดประกวดราคาโครงการระยะที่ 1 มูลค่า 5,200 ล้านบาท ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท

กทม. ไม่ได้เปิดเผยว่า บริษัทก่อสร้างชื่ออะไรที่เสนอราคาได้ต่ำกว่า กทม. ตั้งเอาไว้ และไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมการเสนอราคาจึงลดวูบเหลือ 2,000 ล้านบาท


ส่วนโครงการซูเปอร์สกายวอล์กระยะที่ 2 ระยะทาง 32 กิโลเมตร งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 ทาง กทม. ยกเลิกออกไป เนื่องจากต้องรอโครงการระยะที่ 1 ให้มีความชัดเจนเสียก่อน

รู้สึกแปลกใจกับคำพูดของ นายธีระชน มโนมัยพิบูล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ว่า "โครงการสกายวอล์ก เฟส 2 คงต้องพับไปก่อน ตราบใดที่สังคมยังมีข้อสงสัย แต่อยากบอกว่าสมน้ำหน้าคน กทม. หากโครงการเฟส 1 ไม่เกิด เพราะจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เอง"

ไม่ทราบว่า นายธีระชนให้สัมภาษณ์เช่นนี้ เพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่ แต่การใช้คำว่า "สมน้ำหน้า" มีความหมายเชิงดูถูกภูมิปัญญาของประชาชนเกินไปหน่อย

ความจริงแล้ว เงินที่ใช้ในโครงการสกายวอล์กจำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาท เป็นเงินที่ กทม. เก็บจากภาษีของประชาชน นายธีระชน เป็นเพียงผู้ที่ประชาชนจ้างมาให้ดูแลจัดการบริหาร กทม. มติของประชาชนเท่านั้นที่เป็นผู้ชี้ขาด มิใช่นายธีระชน

ที่น่าสงสัยกว่านั้นก็คือ ผู้บริหาร กทม. ใช้อะไรเป็นเครื่องชี้วัด ว่าซูเปอร์สกายวอล์กเป็นโครงการสำคัญที่ต้องทำ?

ในเมื่อ กทม. ยังไม่เคยสำรวจความเห็นของประชาชนก่อนประกาศโครงการ

ผมคิดว่า "ซูเปอร์สกายวอล์ก" น่าเป็นโครงการลำดับท้ายๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ "ปัญหา" ที่ชาว กทม. เผชิญอยู่ในขณะนี้

คน กทม. เผชิญหน้ากับอากาศเป็นพิษจากปัญหาจราจรที่คับคั่งแออัด

ถนนในกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้แล้ว

ระบบการขนส่งมวลชน ยังไร้ประสิทธิภาพ รถเมล์ขาดแคลน หรือแม้จะเพิ่มจำนวนรถเมล์ แต่เมื่อการจราจรติดขัด รถเมล์ไม่สามารถวิ่งได้ราบรื่น



ส่วนรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดิน มีจำกัด วิ่งเฉพาะในเมือง ขณะที่ประชากรกระจายตัวไปอยู่ตามชานเมืองรอบนอก กทม. คนเหล่านี้ต้องเดินทางมาทำงานในเมือง ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เช่นรถไฟฟ้าใต้ดินไม่มี รถเมล์ขาดแคลน จำเป็นต้องซื้อรถส่วนตัวมาใช้

เมื่อซื้อรถยนต์กันทุกบ้านทุกครัวเรือน แน่นอนว่าถนนไม่มีพอให้รถวิ่ง แม้จะขยายถนนกว้างสักกี่เลน หรือทุบทิ้งพื้นที่สาธารณะเพื่อก่อสร้างทางอีกเป็นร้อยเป็นพันไร่ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้เลย เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอด

วันนี้ "กทม." ควรยืดอกเป็นผู้นำในการดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมแก้ปัญหาจราจร ดีกว่ามานั่งคิดหางบฯ เป็นหมื่นล้าน ละเลงกับโครงการ "ซูเปอร์สกายวอล์ก"



++

เมืองใหม่-ถมทะเล คิดรอบคอบแล้ว ?
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 41


ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยนั้น ผลักดันนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ในช่วงระหว่างหาเสียงให้เป็นจริงดังที่สัญญากับประชาชน

"ถมทะเล" เป็นหนึ่งในแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นำมาพูดช่วยพรรคเพื่อไทยช่วงปลายเดือนเมษายน

พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะทำเขื่อนลึกลงไปในทะเล 10 กิโลเมตร

การทำเขื่อนนี้ไม่ต้องกู้เงิน แต่ถมทะเลไปได้พื้นที่ใหม่ 300 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2 แสนไร่ ก็จะได้เมืองใหม่ทั้งเมืองและเท่ากับป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครไปในตัว

ต่อมาทางแกนนำพรรคเพื่อไทยนำแนวคิดดังกล่าวมาปราศรัย รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ระหว่างไปช่วยหาเสียงในพื้นที่บางขุนเทียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกกับชาวบ้านที่นั่นว่า บางขุนเทียนประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี อีกทั้งยังเจอมรสุมและการกัดเซาะพื้นที่ริมตลิ่งจนพื้นที่ชายฝั่งหายไปจำนวนมาก หากไม่ดำเนินการใดๆ ภายใน 4-5 ปี พื้นที่ริมตลิ่งอาจจะหายไปมากกว่านี้

"พรรคเพื่อไทยจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ จะปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย เป็นระยะห่างจากฝั่ง 10 ก.ม. และยาว 30 ก.ม. จะทำให้มีพื้นที่เกิดขึ้นกว่าแสนไร่ และจะเป็นเสมือนเมืองใหม่ การดำเนินการทุกขั้นตอน พรรคเพื่อไทยจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก" น.ส.ยิ่งลักษณ์ปราศรัยในวันหาเสียง

คำปราศรัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเหมือนสัญญาประชาคม


แต่ปรากฏว่าแนวคิด "ถมทะเล-สร้างเมืองใหม่" ที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้นั้น หลายๆ ฝ่ายพากันนำมาเป็นประเด็นโจมตี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามว่า การถมทะเลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ คิดนั้นป็นไปได้หรือ

ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอสงสัยว่าน่าจะเป็นนโยบายขายฝันของพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะการถมทะเลนั้นเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

กระแสน้ำจะเปลี่ยนทิศ น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลออกสู่ทะเลไกลอีก 10 กิโลเมตร ป่าชายเลนบริเวณโดยรอบจะได้รับผลกระทบ

ชุมชนชายฝั่งจะย้ายไปอยู่ที่ไหน?



ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ เคยจัดทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ระบุไว้ว่า ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไทยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลเสียและคุกคามต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายฝั่งทะเล

ผลกระทบที่ตามมานั้นคือ พื้นที่ชุ่มน้ำตามป่าชายเลนหลายส่วนได้ถูกทำลาย ความเสียหายได้เกิดขึ้นแก่แนวปะการังตามชายฝั่ง รวมทั้งชาวประมงเองก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการที่จำนวนสัตว์น้ำได้ลดลงอย่างมากมาย

การสูญเสียพื้นที่และทรัพยากรชายฝั่งนี้ ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

ธนาคารโลกระบุว่า ในแต่ละปีพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยโดยรวมได้ถูกกัดเซาะไปมากถึงสองตารางกิโลเมตรทีเดียว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงหกพันล้านบาท

บ้านขุนสมุทรจีนใน จ.สมุทรปราการ เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ หมู่บ้านตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอด

ระยะเวลาเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา ชายหาดของหมู่บ้านนี้ได้ถูกกัดเซาะไปเป็นเนื้อที่ถึงหนึ่งตารางกิโลเมตร ทำให้อาคารบ้านเรือน โรงเรียน และสถานที่ราชการต่างๆ ต้องถูกอพยพโยกย้ายหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้หลายร้อยหลายพันคนถึงกับเบื่อหน่าย ย้ายออกจากหมู่บ้านไปก็มี

การกัดเซาะที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่บ้านขุนสมุทรจีน มีต้นเหตุมาจากการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งของหมู่บ้านไปเป็นจำนวนมาก


ตามธรรมชาติแล้ว ป่าชายเลนช่วยรักษาเสถียรภาพของแนวชายหาด ช่วยยึดและดักจับตะกอนตามแนวชายฝั่ง และบรรเทาแรงปะทะที่เกิดจากคลื่นลม หากปราศจากป่าชายเลนแล้ว แนวชายหาดจะไม่สามารถต้านทานกระแสแรงลมและคลื่นถาโถมเข้าใส่ตลอดเวลาได้

ขณะที่สภาวะทางธรรมชาติคือต้นตอของปัญหาการถูกกัดเซาะของชายฝั่งในแถบทะเลอันดามัน

การกระทำด้วยน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทราย การก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เขื่อนกั้นน้ำ หรือ ท่าเทียบเรือ และการขุดเจาะน้ำบาดาล ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยต้องถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ การนำพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้ทำฟาร์มเพาะกุ้งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพในการต้านการกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งทะเลลดลง

ธนาคารโลกเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ 5 แนวทางด้วยกัน 1.ลดการถูกกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งทะเล 2.สนับสนุนวางแผนการประมงแบบยั่งยืน 3.เพิ่มมาตรการและส่งเสริมประสิทธิภาพของการกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล 4.กระตุ้นให้ส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท และ5.ส่งเสริมนโยบายและการบริหารทรัพยากรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ใน 5 แนวทางที่ธนาคารโลกแนะไว้ ไม่มีคำว่า "ถมทะเล" ไม่มีคำว่า "สร้างเมือง" แต่ถ้ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" คิดและตั้งใจเดินหน้าทำเรื่องนี้ ต้องศึกษาวิจัยถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ให้รอบคอบก่อนออกไปถามประชาชน นักวิชาการว่าเห็นด้วยด้วยหรือไม่



++

เริ่มต้นกันใหม่
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 40


การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนว่า เข้มข้นที่สุดอีกครั้งเท่าที่ได้เห็นมา ทุกฝ่ายอยากรู้ว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งชนิดฟ้าถล่ม ดินทลาย เหมือนที่ทำนายกันไว้หรือเปล่า

หรือว่าหลังเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พรรคประชาธิปัตย์ใช้เกมเก๋าจับมือกับพรรคเล็กๆ จัดตั้งรัฐบาลเหมือนเก่าอีก?

แต่ไม่ว่าพรรคไหนได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ยังต้องจับตาดูกันต่อว่า บริหารประเทศให้ราบรื่นกลับมาสู่ความสงบสุข ไม่มีสี ไม่แบ่งฝ่ายไม่ฆ่าหมู่กลางเมือง?

หวังลึกๆ ไว้ว่าการเลือกตั้งที่มีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนโฉม ทุกฝ่ายเริ่มต้นกันใหม่

และถ้าหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ได้ หวังไว้ว่าจะเป็นรัฐบาลเข้มแข็ง มีรัฐมนตรีรอบรู้สามารถ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์

ส่วนในด้านการบริหารประเทศนั้น หวังไว้ว่า รัฐบาลใหม่จะระดมสติปัญญาสร้างบ้านสร้างเมืองในทิศทางที่ถูกต้อง นั่นคือการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสมดุลทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า ประเทศจะถอยหลังเข้าคลองกับไปสู่อดีตไม่ได้ ต้องหารายได้มาพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างคนสร้างเมือง

แต่รัฐบาลต้องไม่คิดเพียงแค่หารายได้เข้าประเทศในระยะสั้นๆ เหมือนอดีตและระยะยาวเกิดปัญหาตามมาอย่างใหญ่โต


"มาบตาพุด" เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลในอดีตล้มเหลวในการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

แม้โรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดเติบโตทำรายได้มหาศาล แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและชุมชนได้รับความเดือดร้อนกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดต่อๆ มายังแก้ไม่ได้

ฉะนั้น พรรคไหนได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องมีคำตอบเรื่องมาบตาพุดที่ชัดเจน

เช่นเดียวกับเรื่องพลังงานของประเทศ เป็นโจทย์อีกข้อที่สำคัญ รัฐบาลใหม่ต้องจัดการวางแผนจะให้ประเทศเดินหน้าไปทางไหน

จะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ทุกวันนี้หน่วยงานภาครัฐยังโฆษณาชวนเชื่อว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็น "อนาคต" ของประเทศ เพราะเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่าแหล่งผลิตพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม หรือพลังงานชีวมวล อีกทั้งยังอ้างว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานสะอาด

โดยไม่ได้มองในเรื่องของพึ่งพาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ซึ่งมีราคาแพงมหาศาล ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิรวมถึงการควบคุมกำจัดกากนิวเคลียร์

รัฐบาลต้องคิดวางแผนในระยะยาว ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะใช้พลังงานอะไรมาทดแทนน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน



การจัดงบประมาณในด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล หรือพลังงานอื่นๆ เป็นนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องทำเป็นเรื่องสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา มีการพึ่งพาเทคโนโลยีพลังงานจากต่างประเทศตลอด รัฐบาลไม่ได้ใช้สมองคิดเรื่องการลงทุนศึกษาวางแผนพัฒนาวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ

ตรงกันข้ามกับประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก ให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมาก และมั่นใจป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลกอนาคต

ยุโรปลงทุนคิดค้นเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์อย่างเอาจริงเอาจัง จนกระทั่งสามารถจะสร้างแผงโซลาร์เซลล์ในราคาที่ถูกและส่งเสริมให้ครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรมใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอื่นๆ

บ้านเรากลับทิ้งขว้างการวิจัยพัฒนาโซลาร์เซลล์อย่างน่าเสียดายทั้งๆ ที่มีการทดลองค้นคว้าพลังงานแสงอาทิตย์มานานกว่า 30 ปี หากลงทุนค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องเหมือนยุโรปหรือจีน ป่านนี้เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ของไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกก็เป็นได้

เช่นเดียวกับพลังงานชีวมวล ในบ้านเรามีวัตถุดิบจำนวนมากที่เหมาะนำมาทำเชื้อเพลิงไบโอแมส หากได้รับการส่งเสริมพัฒนาและลงทุนค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีไบโอแมสจะเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญในอนาคตเช่นกัน

รัฐบาลใหม่ ต้องสร้างหมู่บ้านตัวอย่างในหลายๆ พื้นที่นำเทคโนโลยีพลังงานด้านต่างๆ มาผสมผสาน เช่น โซลาร์เซลล์ ไบไอแมส หรือแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

อีกทั้งสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีแผนลดภาษีให้กับโรงงานที่ใช้น้ำมัน หรือก๊าซหรือถ่านหิน จัดงบประมาณส่งเสริมทุกสถาบันการศึกษาคิดค้นวิจัยพลังงานทดแทน

พรรคไหนได้เป็นรัฐบาลต้องมีคำตอบเรื่องนี้ให้ประชาชน



++

นโยบายสิ่งแวดล้อม
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 32


อีกเพียงสัปดาห์เศษ จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม แต่ตลอดหนึ่งเดือนกว่าของการหาเสียง มีพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรคที่พูดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่มีถึง 40 พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง

ไม่น่าแปลกใจที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ผลสรุปจากกลุ่มตัวอย่าง 1,230 คน ทั่วประเทศ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ว่า ร้อยละ 86.75 ไม่เคยรับทราบว่าพรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม

มีเพียงร้อยละ 13.25 เท่านั้น ที่เคยได้ยิน ในจำนวนนี้ได้ยินจากพรรคประชาธิปัตย์แค่ร้อยละ 3.82 จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 3.74 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 0.89 จากพรรคอื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคกิจสังคม ร้อยละ 4.80

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความสามารถในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หากพรรคการเมืองต่อไปนี้ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 12.93 เชื่อมั่นพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5.69 เชื่อมั่นพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.63 เชื่อมั่นในพรรครักษ์สันติ ร้อยละ 1.14 เชื่อมั่นพรรคกิจสังคม ร้อยละ 1.22 เชื่อมั่นพรรคมาตุภูมิ ร้อยละ 0.65

นิด้าโพล สรุปผลสำรวจในภาพรวม ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบและไม่แน่ใจเกี่ยวกับความสามารถของพรรคการเมืองต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

เมื่อพิจารณาสัดส่วนของประชาชนที่มีความเชื่อมั่นระดับมากต่อพรรคการเมือง ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าประชาชนมีแนวโน้มเชื่อมั่นพรรคเพื่อไทยสูงกว่าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจน



นั่นเป็นผลสำรวจของนิด้าโพล ผมไม่แน่ใจว่าในการสำรวจได้เจาะลึกกลุ่มตัวอย่างที่รับรู้นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน

ทำไมจึงมีความเชื่อมั่นว่าพรรคเหล่านั้นมีความสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้?


แต่สำหรับผมแล้ว พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ยังไม่เคยเห็นพรรคการเมืองใด ทำตามที่ให้สัญญาประชาคมในนโยบายสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เคยจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วอย่างพรรคไทยรักไทย ที่ปัจจุบันกลายพันธุ์มาเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตยที่กำลังบริหารในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว สามารถเห็น และจับต้องได้

ตัวอย่างแรก คือ การแก้ไขปัญหาอากาศเป็นพิษเนื่องจากการจราจรในเมืองใหญ่

ทั้งพรรคไทยรักไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ บริหารจัดการเรื่องนี้ล้มเหลว ทุกเมืองใหญ่ การจราจรติดขัดอย่างมาก จำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนถนนเพิ่มขึ้น สวนทางกับระบบการขนส่งมวลชนซึ่งแทบไม่ปรับปรุงพัฒนาเลย

เมืองภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีชื่อเสียง ไม่มีระบบขนส่งมวลชน นักท่องเที่ยวต้องโหนรถสองแถว ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขณะที่การจราจรในตัวเมืองติดขัดอย่างหนักในช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งที่ควรจะปั้นให้เมืองนี้ปลอดมลพิษ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพราะคนมาเที่ยวเกาะภูเก็ตต้องการสัมผัสธรรมชาติ ทะเล แสงแดด หาดทราย และสายลมบริสุทธิ์

เช่นเดียวกับเชียงใหม่และขอนแก่น หรือหาดใหญ่ มีเสียงบ่นเรื่องการจราจรติดขัดมาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่วิธีแก้ปัญหาทำได้แค่ก่อสร้างขยายถนนเท่านั้นเอง

ไม่ต้องพูดถึงกรุงเทพฯ เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ประกาศจะแก้รถติดให้ได้ใน 6 เดือน ปรากฏว่ารัฐบาลโดนทหารปฏิวัติ

พรรคถูกยุบไปแล้ว ปัญหารถติดยังคงอยู่และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลประชาธิปัตย์ มีเสียงบ่นพึมมากขึ้น

สรุปแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลชุดต่างๆ แทบไม่ได้ทำอะไรเลยกับปัญหา "รถติด" และไม่ได้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนใดๆ เลย



ตัวอย่างที่ 2 การแก้ปัญหาขยะของเสียอันตราย ทั้งรัฐบาลไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ ล้มเหลวเรื่องนี้เหมือนๆ กัน

ตามข้อมูลไทยมีปริมาณขยะทั่วประเทศประมาณ 15 ล้านตันต่อปี หรือกว่า 4 หมื่นตันต่อวัน แต่ในเขตเมืองใหญ่ๆ มีความสามารถกำจัดได้เพียงร้อยละ 37 ส่วนพื้นที่นอกเมือง มีขยะแค่ร้อยละ 9 ที่เก็บเอาไปจำกัด ที่เหลือทิ้งขว้างกระจัดกระจาย กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสียและแหล่งรวมเชื้อโรคนานาชนิด

สถานการณ์ขยะของเสียอันตรายไม่เคยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น



ตัวอย่างที่ 3 การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ รัฐบาลไทยรักไทยในอดีตล้มเหลว

พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายมากถึง 2,500 ตารางกิโลเมตร หรือเฉลี่ยปีละ 500 ตารางกิโลเมตร ขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ตามข้อมูลของสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สรุปได้ว่าทำได้เพียงประคับประคองสถานการณ์ป่าไม้ไม่ให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมเท่านั้นเอง

ทีดีอาร์ไอระบุไว้ว่า พื้นที่ป่าทั้งหมดของประเทศ 107,615,181 ไร่ หรือคิดเป็น 33.56% และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 64,826,658 ไร่ หรือคิดเป็น 20.22% ของพื้นที่ประเทศ

ทุกปีพื้นที่ป่าจะสูญเสียราว 3 ล้านไร่ แต่ปี 2553 พื้นที่เพิ่มขึ้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 4 แสนไร่


.