http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-08

ไม่ราบรื่น, ชนักปักหลัง, ถึงเวลาต้องทบทวน,คนที่52 ของโลก โดย สุวพงศ์, มันฯมือเสือ, แม่ลูกจันทร์, ซูม

.

ไม่ราบรื่น
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:30:00 น.


คำแถลง มอบงานให้รัฐบาลใหม่เพื่อบริหารอย่างราบรื่น ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ คืนวันที่ 4 สิงหาคม ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น

มีการโชว์ตัวเลข
เงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เงินคงคลังมากแตะ 3 แสนล้านบาท
หนี้สาธารณะของประเทศ ต่ำกว่าร้อยละ 40

อันจะทำให้รัฐบาลใหม่บริหารงานง่ายขึ้น

ซึ่งก็ต้องให้ เครดิต รัฐบาลนายอภิสิทธิ์

กระนั้น ที่ไม่เห็นพ้องก็มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่อง "ต่างประเทศ"

นายอภิสิทธิ์บอกว่า สังคมโลกมีความมั่นใจไทยมากขึ้น

โดยยกเรื่อง การเลือกตั้งที่เรียบร้อย และการจะเป็นเจ้าภาพงานระดับโลกทั้งเวทีเศรษฐกิจ การกีฬา เป็นตัวอย่าง ซึ่งก็อาจจริง

แต่ไม่อาจตีขลุมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลงานที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ "บริหารอย่างราบรื่น" ได้

เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา สังคมโลก ตั้งแต่ระดับภูมิภาคอย่าง อาเซียน ไปจนถึงระดับโลกอย่าง ยูเนสโก คณะกรรมการมรดกโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่น่าจะเชื่อมั่นกับเราสักเท่าไหร่


เรื่อง "เขาพระวิหาร" เรารู้อยู่เต็มอก ถึงความโดดเดี่ยวและมีเพื่อนน้อยอย่างน่าใจหาย

ในคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ ดูจะตัดตอนเรื่องเขาพระวิหารเพียงประเด็นที่กัมพูชาฟ้องร้องต่อศาลโลก

จนดูประหนึ่งว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายก่อเรื่อง

และนายอภิสิทธิ์ก็อ้างว่า ได้มีการต่อสู้ไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วในประเด็นคำสั่งศาลโลก "ชั่วคราว"

ส่วนคดีหลัก ที่ตีความคำวินิจฉัยของศาลเมื่อปี 2505 นั้น รัฐบาลก็ได้เตรียมข้อมูล ข้อกฎหมายเอาไว้แล้ว

"รัฐบาลชุดต่อไปสามารถดำเนินการต่อสู้คดีเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์" นายอภิสิทธิ์ว่า

แต่กลับเลี่ยงไม่พูดถึง "เหตุ" ก่อนที่จะไปสู่ศาลโลก

มีคนไม่น้อยเห็นว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีส่วนในการสร้างเงื่อนไขให้ "บานปลาย" และเลยเถิดไปถึงศาลโลก

มีทางเดินอื่นให้เลือก แต่ไม่เลือก

เขาพระวิหาร จึงไม่ใช่สิ่งที่ "ราบรื่น" ของรัฐบาลใหม่อย่างแน่นอน

ตรงกันข้ามยังเป็นเผือกร้อนที่พร้อมจะลวกมือตลอดเวลา


และเผือกดังกล่าวก็ไม่ได้ มีหัวเดียว

การยึดและอายัดเครื่องบินพระที่นั่งในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โบอิ้ง 737 ของศาลเยอรมนี ภายใต้คำร้องขอของ บริษัท วอลเตอร์ บาว

ก็เป็นงานต่างประเทศ ที่ "ไม่ราบรื่น" และแถมยังละเอียดอ่อนยิ่ง

เป็นภาระให้รัฐบาลใหม่แบกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้เรื่องนี้ จะเกี่ยวพันรัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาล

แต่ในช่วง 2 ปี ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สื่อมวลชนของเยอรมนีระบุว่า หลังคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตัดสินให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินชดเชย 1,200 ล้านบาท เอกชนเยอรมนีได้เจรจากับไทยหลายครั้ง

ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

จนนำไปสู่ปฏิบัติการยึดทรัพย์สินของรัฐบาลไทย โดยมุ่งเน้นไปที่เครื่องบินโดยสารของรัฐ

การเพิกเฉย ละเลย ขาดความเอาใจใส่ ที่สุดก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ และละเอียดอ่อนเกินความคาดหมาย

"แถลงการณ์ในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" คือประจักษ์พยานนั้น

นี่ย่อมเป็นความบกพร่อง ผิดพลาดในการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐภายใต้การดูแลของรัฐบาลอย่างแน่นอน

เราไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะมีข้อยุติอย่างไร

แน่นอนคงไม่อาจจะสบายใจได้อย่างที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์พยายามบอกว่า มีช่องทางที่จะต่อสู้และคลี่คลายปัญหาได้



แต่บทเรียนจากพระวิหาร และมาถึงเครื่องบินพระที่นั่ง

พบว่าเอาเข้าจริงกลับบานปลาย และถลำลึกเข้าไปในปัญหายิ่งขึ้นทุกที

นี่เป็นความ "ไม่ราบรื่น" ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ส่งผ่านให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร



++

ชนักปักหลัง
โดย มันฯมือเสือ คอลัมน์ เหล็กใน
ในข่าวสดรายวัน หน้า 6 วันจันทร์ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7557


ผลประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามคาด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ แทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ขอปลีกตัวเอาเวลาไปสู้คดีกับเสื้อแดง

ขณะที่การเมืองปัจจุบันแน่นอนแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านหลักในสภา ซึ่งทำให้หลายคนอดเป็นห่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้

นอกจากนี้ อย่างที่รู้กันว่าฝ่ายต่อต้าน 'ทักษิณ' ไม่ได้มีเฉพาะประชาธิปัตย์ แต่ยังมีอื่นๆ อีกเป็นโขยง ทั้งกลุ่มอำมาตย์ กลุ่มไฮโซ นายทุน นักธุรกิจ ฯลฯ และกลุ่มพันธมิตรฯ

ถึงกลุ่มคนเหล่านี้จะสงบนิ่งมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง จนถึงวันที่เพื่อไทยเข้ายึดกุมอำนาจทางการเมืองเต็มตัว แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นความสงบนิ่งเพื่อรอคอยรัฐบาลทำสิ่งผิดพลาด

แล้วค่อยโป้งเดียวปิดบัญชี


อย่างไรก็ตามบางคนมองในแง่มุมแตกต่างออกไปว่า รัฐบาลใหม่ไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวฝ่ายค้านชุดนี้

เพราะผลจากที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่า ได้นำพาประเทศเข้าสู่วิกฤตข้าวยากหมากแพง สังคมแตกแยก เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น มโหฬาร

แค่ 2-3 เรื่องนี้ก็กัดกินต้นทุนประชาธิปัตย์จนไม่เหลือไว้ไปสู้กับใคร

โดยเฉพาะเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม 91 ศพ ที่เป็นตราบาปประทับหลอกหลอนอดีตรัฐบาลทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งไม่มีทางที่ญาติเหยื่อผู้เสียชีวิตจะลืมได้ แม้จะผ่านไปกี่ปีก็ตาม

ล่าสุดยังมีมือดี นำเอกสารลับคำสั่งใช้อาวุธปืนเข้าสลายม็อบช่วงเดือนเม.ย.2553 มาเผยแพร่ทางเว็บไซต์อินเตอร์เน็ต ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าจริงเท็จอย่างไร

ถ้าไม่จริงก็ต้องสืบสาวถึงตัวคนเผยแพร่

แต่ถ้าจริง ก็จะสอดคล้องกับกระแสข่าวขณะนั้น ว่าฝ่ายปฏิบัติการปราบม็อบ ต้องการคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายนโยบาย

เพื่อไว้เป็นหลักฐานป้องกันตัวเองจากเรื่องวุ่นๆ ภายหลัง หากอำนาจการเมืองเปลี่ยนมือไปอยู่กับฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

กับสิ่งที่เกิดขึ้นเหตุการณ์ปราบม็อบ 91 ศพ จึงกลายเป็นชนักปักหลังพรรคประชาธิปัตย์อย่างถาวร

ไม่ว่าสมัยเป็นรัฐบาล หรือในยามตกต่ำเป็นฝ่ายค้าน



++

ถึงเวลาต้องทบทวน
โดย "แม่ลูกจันทร์"
ใน นสพ.ไทยรัฐ ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2554, 10:18 น.


โฉมหน้าคณะ กก.บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดผ่าตัดยกเครื่องใหม่หลังพ่ายแพ้เลือกตั้ง ก็คลอดออกมาครบเซตทั้ง 19 คน

อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าพรรคอย่างเดิม

เฉลิมชัย ศรีอ่อน แหกด่านมะขามเตี้ยนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคคนใหม่

ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, จุติ ไกรฤกษ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคโควตากลาง

ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นรอง หน.พรรคภาคเหนือ, อิสสระ สมชัย รอง หน.พรรคภาคอีสาน, อลงกรณ์ พลบุตร รอง หน.พรรคภาคกลาง, กรณ์ จาติกวณิช รอง หน.พรรคภาค กทม., ถาวร เสนเนียม รอง หน.พรรคภาคใต้ และอีกหลายคนที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยนาม

“แม่ลูกจันทร์” ประเมินภาพรวมถือว่าไม่ขี้เหร่นะโยม

แต่ถ้าเอารายชื่อคณะ กก.ชุดใหม่ เทียบกับคณะ กก.บริหารชุดเก่าที่มี

“สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นซีอีโอ กระดูกมวยยังห่างกันหลายเบอร์

เพราะ “เทพเทือก” มีคุณสมบัติครบเครื่อง พรรษาการเมืองสูง บารมีการเมืองแน่น เขี้ยวการเมืองแข็ง คอนเน็กชั่นเป็นใยแมงมุม

ข้อสำคัญ “สุเทพ” ยังใจถึงพึ่งได้ ถึงไหนถึงกัน

แต่ถ้ามองแง่ดี การเปลี่ยนเลขาธิการพรรคคนใหม่พิสูจน์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ขึ้นกับใครคนใดคนเดียว

คนในพรรคประชาธิปัตย์สามารถทดแทนกันได้ทุกตำแหน่ง ทุกกรณี


แต่ที่ทดแทนกันไม่ได้ คือตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งยังไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

นี่คือเหตุผลที่ต้องอุ้ม “อภิสิทธิ์” ใส่ตะกร้าล้างน้ำกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ความจริงคนเป็นแม่ทัพใหญ่ที่นำทัพพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง 2 ครา ถือว่าเป็นสินค้าชำรุดทางการเมือง

ต้องเก็บเข้ากรุสถานเดียว!!

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน...บรรดาขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่มากมายยังไม่มีใครที่จะเหมาะสมจะเป็นผู้นำพรรคสักคนเดียว

ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องมอบความไว้วางใจให้ “อภิสิทธิ์” เป็นกระบี่มือหนึ่งตามเดิม

รอโอกาสล้างตากลับไปนั่งเก้าอี้ นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง...เมื่อชาติต้องการ


“แม่ลูกจันทร์” ขอให้กำลังใจ “อภิสิทธิ์” ให้ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯให้เต็มฝีมือ

“อภิสิทธิ์” อายุเพิ่ง 47 ปี เส้นทางยังยาวไกล ยังมีโอกาสลุ้นเก้าอี้นายกฯ อีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี

หวังว่า “อภิสิทธิ์” จะซึมซับบทเรียนที่ผ่านมา ทบทวนบทบาทตัวเองในช่วง 2 ปี 8 เดือน ที่เป็นรัฐบาล ทบทวนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องเดินหน้าต่อไป

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยที่ “อภิสิทธิ์” ประกาศว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ใส่ใจปัญหาของประชาชน จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วยข้อมูลมากกว่าการตอบโต้ทางการเมือง

พร้อมเปิดโอกาสให้คนในพรรคและคนนอกพรรคได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

“แม่ลูกจันทร์” กระชุ่น “อภิสิทธิ์ ” ให้แหวกตัวออกจากวงล้อมของแก๊งไอติม เปิดหูฟังคำตักเตือนของผู้ใหญ่ในพรรค เปิดโลกทัศน์ใหม่ด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่อยู่ไกลตัว

เปลี่ยนการใช้ชีวิตแนวคุณหนู ไปหัดกินไก่ย่างส้มตำตามตรอกซอกซอย

จะได้รู้ซะบ้างว่าหมูปิ้งไม้ละ 10 บาท แล้วนะตัวเอง.



++

คนที่ 52 ของโลก !
โดย “ ซูม ”
ใน นสพ.ไทยรัฐ ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2554, 05:00 น.


วันนี้ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านได้อ่านหนังสือสั้นๆประมาณ 3-4 ย่อหน้าสักวันเถิด...เพราะนั่งอ่านหนังสือ “นารีขี่ม้าขาว ” เรื่องราวของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อหลายวันก่อน พบว่าเขารวบรวมบัญชีหางว่าวชื่อนายกรัฐมนตรีหญิงทั่วโลกเอาไว้ครบถ้วน

ตามบัญชีดังกล่าวนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยนั้น จะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 52 ของโลก

ผมเห็นว่ารายชื่อนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะยังเรียนวิชาความรู้ทั่วไปกันอยู่ในขณะนี้ จึงขออนุญาตนำลงในคอลัมน์ผมอีกต่อหนึ่ง

บอกแล้วไงครับว่าไม่เกิน 4 ย่อหน้า ขอเชิญตรวจสอบได้ครับว่าประเทศไหนบ้างในโลกนี้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นสุภาพสตรี...?

รายนามนายกฯสตรีของโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 1.Sirimavo Bandaranaike อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 3 สมัยของประเทศศรีลังกา และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก 2.Indira Gandhi อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัยของประเทศอินเดีย 3.Golda Meir อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศอิสราเอล 4.Elisabeth Domitien อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของ Central African Republic 5.Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศอังกฤษ 6.Maria de Lourdes Pintasilgo อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศโปรตุเกส 7.Mary Eugenia Charles อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศโดมินิกา 8.Gro Harlem Brundtland อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 3 สมัยของประเทศนอร์เวย์ 9.Milka Planinc อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศยูโกสลาเวีย

10.Benazir Bhutto อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศปากีสถาน 11.Kazimiera Prunskiene อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศลิทัวเนีย 12.Khaleda Zia อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศบังกลาเทศ 13.Edith Cresson อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศฝรั่งเศส 14.Hanna Suchocka อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศโปแลนด์ 15.Kim Campbell อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศแคนาดา 16.Tansu viller อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศตุรกี 17.Sylvie Kinigi อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศบุรุนดี 18.Agathe Uwilingiyimana อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศรวันดา 19.Chandrika Kumaratunga อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศศรีลังกา

20.Reneta Indzhova อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศบัลแกเรีย 21.Claudette Werleigh อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเฮติ 22.Sheikh Hasina Wajed อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัยของประเทศบังกลาเทศ 23.Janet Jagan อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศกายอานา 24.Jenny Shipley อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศนิวซีแลนด์ 25.Irena Degutiene อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัยของประเทศลิทัวเนีย 26.Nyam-Osoriyn Tuyaa อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศมองโกเลีย 27.Helen Elizabeth Clark อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศนิวซีแลนด์ 28.Mame Madior Boye อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเซเนกัล 29.Chang Sang อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเกาหลีใต้

30.Maria das Neves Ceita Baptista de Sousa อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเซาตูเมและปรินซิปี 31.Anneli Tuulikki อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศฟินแลนด์ 32. Beatriz Merino Lucero อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเปรู 33.Lusa Dias Diogo อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศโมซัมบิก 34.Radmila Sekerinska อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัยของประเทศมาซิโดเนีย 35.Yuliya Tymoshenko อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัยของประเทศยูเครน 36.Maria do Carmo Silveira อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเซาตูเมและปรินซิปี 37.Angela Mekel นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเยอรมนี 38.Portia Simpson Miller อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศจาเมกา 39.Han Myung Sook อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเกาหลีใต้

40.Zinaida Greceanii อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศมอลโดวา 41.Michle Pierre-Louis อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเฮติ 42.Jhanna Sigurdard ttir นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไอซ์แลนด์ 43. Jadranka Kosor นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศโครเอเชีย 44. Cocile Manorohanta อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศมาดากัสการ์ 45.Roza Otunbayeva อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศคีร์กีซสถาน 46.Kamla Persad-Bissessar นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศตรินิแดดและโตเบโก 47.Mari Kiviniemi อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศฟินแลนด์ 48.Julia Gillard นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศออสเตรเลีย 49.Iveta Radicov นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศสโลวะเกีย

50.Rosario Fernandez Figueroa นายกรัฐมนตรีหญิงของเปรู 51.Ciss Mariam Kadama Sidib นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศมาลี 52.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไทย.



.