http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-21

สมบัติผู้ดี, + ป๊อบใสๆ กรุ่นกลิ่นอายความรัก(1,2) โดย คำ ผกา

.

สมบัติผู้ดี
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 90


"หลักสูตรดังกล่าวเน้นเสขิยวัตร 75 คือ หลักธรรมที่ว่าด้วยกิริยามารยาทอันควรประพฤติของพระภิกษุสามเณรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของศีล 227 ข้อ แต่เสขิยวัตร 75

นั้นทาง ต.ส. ได้แยกส่วนออกมาเป็นหลักสูตรสมบัติผู้ดีของสามเณร จะมีลักษณะเฉพาะที่ว่าด้วยเรื่องกิริยามารยาท ซึ่งต้องไม่ลืมว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมกุฎราชกุมาร ได้รับการอบรมกิริยามารยาทจากสำนักพระราชวัง จึงส่งผลให้มีพระจริยาวัตรงดงาม เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน

ต.ส. จึงจะหยิบตัวอย่างและหลักการนี้มาปัดฝุ่นใหม่ นำมาจัดทำเป็นวิชาการให้สามเณรได้เรียนและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เป็นผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิฐาน โดยสามเณรรุ่นใหม่ๆ จาก ต.ส. จะต้องมี 3 ภูมิดังกล่าว รวมทั้ง ต.ส. จะมีการวัดผลหลักสูตรสมบัติผู้ดีของสามเณรอย่างเข้มข้นจากการศึกษา การสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

"อาตมาเชื่อว่าความศรัทธาจะมาซึ่งความเคารพนับถือของประชาชน หากพระภิกษุ สามเณร มีบุคลิกภาพที่ไม่สง่างามก็จะสั่นคลอนความศรัทธาได้ ขณะที่สังคมยกย่องให้พระภิกษุ สามเณร เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ต้องนำเขาได้ทั้งทางสติปัญญา บุคลิกภาพ ความน่าเคารพ เลื่อมใส พูดง่ายๆ ว่า ปัญญาเป็นเลิศ บุคลิกภาพดีเยี่ยม ศีลาจริยวัตรงดงาม ชวนให้กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ และเมื่อก้าวออกจากวัดไปก็เป็นพระธรรมทูตชั้นนำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรสมบัติผู้ดีของสามเณร" พระมหาวุฒิชัยกล่าว "
http://board.palungjit.com/



อะไรคือความเป็น "ผู้ดี"?

มีสำนวนไทยที่บอกว่า "ผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนเดิน" สำนวนนี้คงเอาไว้ถากถาง "ผู้ดี" ตีนบางขาวอมชมพู หากเดินโดยไม่ได้สวมรองเท้าก็จะกระย่องกระแย่ง น่าเห็นใจเป็นยิ่งนัก

สำนวนนี้ยังบอกให้เรารู้ว่า เครื่องหมายที่แบ่งผู้ดีกับผู้ไม่ดีออกจากกันก็คือ "รองเท้า" มีแต่ผู้ดีเท่านั้นที่มีสตางค์ซื้อหารองเท้ามาหุ้มตีนให้ "แดง" อยู่ได้

ความขัดแย้งหลักที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยในทศวรรษที่ 2470 เรื่อยมาจนถึงประมาณทศวรรษที่ 2490 วนเวียนอยู่กับ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การแต่งงานกับคนที่เรารักและเลือก หรือแต่งงานกับคนที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่เลือก เช่น นวนิยายเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน ซึ่งเรื่อง โอละพ่อ กลับกลายเป็นว่าคนที่นางเอกดึงดันจะแต่งงานด้วยโดยไม่แคร์พ่อแม่นั้นแท้จริงแล้วก็เป็นคนที่พ่อแม่หาให้นั่นเอง

นิยายเรื่องนี้จึงสอนสังคมไทยให้รู้ว่า อันความคิดเสรีนิยม เก่ง กล้า ก๋ากั๋น แบบฝรั่งนั้นคือความหุนหันพลันแล่นของคนหนุ่มสาว ทำเป็นเก่งไปเถอะ สุดท้ายก็ต้องมาสยบต่อวิจารณญาณของ "ผู้ใหญ่" ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน


อีกความขัดแย้งหนึ่งคือคำถามว่า "ใครคือผู้ดี" นักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษอย่างศรีบูรพา พยายามจะบอกว่า ความเป็นผู้ดีนั้น มิได้วัดกันที่ชาติกำเนิด ตัวละครอย่าง นายมาโนช รักสมาคม ลูกช่างไม้นั้น หากประพฤติตนได้น่านับถือ เป็นพลเมืองดีเป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา เป็นผู้มีคุณสมบัติของ "สุภาพบุรุษ" ก็นับว่าเป็น "ผู้ดี" ผิดกับลูกท่านเจ้าคุณที่มีกำเนิดสูงส่ง แต่หากประพฤติชั่ว เลวทรามก็มิอาจนับว่าเป็นผู้ดี

แต่นิยายเรื่อง "ผู้ดี" ของดอกไม้สด กำลังมองหาคำตอบว่า คน "เคย" เป็นผู้ดี ด้วยชาติกำเนิด วันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกขี้ครอกออกมาเดินถนน ผู้ดีตกยากที่ยากจนเสียแล้วนั้นจะคงความเป็นผู้ดีไว้ได้หรือไม่

"นิจ" ตัวละครเองจึงพิสูจน์ความเป็นผู้ดีของเธอด้วยการประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม จริยธรรม สอดคล้องกับคำสอนในโคลงโลกนิติที่ว่า "เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์" นั่นคือ "เงิน" ไม่ได้เป็นเครื่องวัดความเป็นผู้ดี "ชาติกำเนิด" ล้วนๆ ก็ไม่ได้วัดความเป็นผู้ดี แต่ความเป็นผู้ดีนั้นวัดกันที่ระดับของจริยธรรม ซึ่งตามท้องเรื่อง คือ ความรู้จักเก็บอาการ อดทน อดกลั้น ไม่โต้ตอบต่อความชั่วด้วยการกระทำที่ชั่วเสมอกัน

ต่อมาที่นิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ที่ความหมายของคำว่า "ผู้ดี" เลื่อนกลับมาที่ "ชาติกำเนิด" + "แบบแผนพฤติกรรม" ทั้งนี้ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นผู้ดี คือ เหล่าเจ๊ก จีน เศรษฐีที่ร่ำรวยจากการ "เซ็งลี้" ในช่วงสงคราม ประไพลูกสาวคนเล็กของแม่พลอยเลือกแต่งงานกับพ่อค้าเจ๊กเซ็งลี้ เห็นแก่ตัว หน้าเลือด ไร้จริยธรรม แทนที่จะแต่งงานกับหม่อมราชวงศ์ที่น่ารัก น่าเอ็นดูเป็นยิ่งนักในสายตาแม่พลอย



ในพื้นที่ของวรรณกรรม กลุ่มคนที่เข้ามาต่อสู้ ช่วงชิงพื้นที่ความเป็น "ผู้ดี" จึงมี 3 กลุ่มคือ

1. ผู้ดีที่วัดกันที่ชาติกำเนิด-ซึ่งเสียรังวัดไปในระยะเวลาสั้นๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

2. ปัญญาชนที่เป็นชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ที่เห็นว่าการศึกษาคือคุณสมบัติของความเป็นผู้ดีที่พยายามจะแต่งงานกับชนชั้นสูงด้วยการโน้มน้าวให้ลูกสาวชนชั้นสูงผู้ดีเห็นว่าสุภาพบุรุษอย่าง

พวกเขามีคุณสมบัติที่แข่งขันกับบรรดาลูกชายชนชั้นสูงที่ไม่เอาถ่านได้

3. เศรษฐีใหม่เชื้อจีนที่พยายามจะเข้าไปเป็นผู้ดีด้วยการแต่งงานกับคนที่เป็นผู้ดีจากชาติกำเนิด

(จะเห็นว่า ชาวบ้าน ชาวนา ชาวป่า ชาวเขา เป็นเสมือนมนุษย์อีกสปีชี่ส์หนึ่ง ยังไม่มีพื้นที่ในงานวรรณกรรมในฐานะอื่นใดนอกจากความเป็น "บ้านนอก")

ในตำราเรียนของไทยยุคหนึ่งในหมวดวิชาว่าด้วย ศีลธรรมและหน้าที่พลเมืองนั้นมีหนังสือเรียนว่าด้วย "สมบัติของผู้ดี" ที่แต่งโดย พระยาสุเรนทราบดี เนื้อหาในหนังสือ "สมบัติผู้ดี" นั้น เกือบทั้งหมดเป็นมารยาทของ "ชนชั้นกลาง" หรือที่ในสังคมตะวันตกยกย่องว่าเป็น สุภาพบุรุษ สุภาพสตรีที่น่านับถือ (respectable) เช่น

กายจริยา คือ

(1) ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน

(2) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้คนอื่นคอย

(3) ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย

(4) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า

จะเห็นว่า การตรงต่อเวลา หรือ มารยาทในการตอบจดหมายนั้นล้วนแล้วเป็น "ธุระ" อย่างสมัยใหม่ทั้งสิ้น หรือ

(1) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน

(2) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร

(3) ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

(4) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง

(5) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น

(6) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง

(7) ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง

(8) ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก

(9) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา


เหล่านี้สะท้อนจิตสำนึก "สมัยใหม่" อย่างกระฎุมพี หรือชนชั้นกลางแบบตะวันตก คือการแบ่งพื้นที่เป็น "ส่วนตัว" และ "สาธารณะ" ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยที่ยังทักทายกันว่า "ไปไหนมา?", "กินข้าวหรือยัง?" หรือการเดินเข้า-ออก หน้าบ้านทะลุหลังครัวของคนไทยในสมัยนั้นไม่ถือเป็นเรื่องผิดมารยาท อย่าว่าแต่ไปถามว่า "เขียนหนังสืออะไร" ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเวลาผู้ใหญ่คนไทยถามว่า "เธอลูกใคร?"

การพูดจาด้วยภาษาสุภาพก็เป็นเรื่องใหม่ อีกทั้งการบัญญัติว่าสิ่งใดสุภาพ สิ่งใดหยาบคาย อย่างเป็นระบบก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ผ่านเทคโนโลยีหลายชนิด

ทั้งนี้ พึงไม่ลืมว่าคนไทยเพิ่งเลิกใช้มือเปิบข้าวกันไม่นานมานี้ (ยกเว้นฉันและคนเหนือ คนอีสานอีกจำนวนมากที่เรายังใช้มือกินข้าวเหนียวและใช้นิ้วมือวน และคนหาอะไรที่อยากกิน

ในชามแกงร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอยู่ และพระมหาวุฒิชัยซึ่งเป็นคนเหนือเหมือนกันกับฉันก็น่าจะคุ้นเคยกับการ "งม" ชามแกงด้วยนิ้วมือ และการ "กุ๊ยจิ๊นลาบ" ด้วยมืออีกเช่นกัน)

เรื่องภาษาและจรรยามารยาทความหยาบโลนยิ่งเรื่องเพศนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ที่เรานับว่าเป็น "ผู้ดี" ด้วยชาติกำเนิด เขียนถึงเรื่องนี้ไว้น่าสนใจว่า

"ทางด้านศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศ ไพร่กับเจ้าเหมือนกัน คือพูดถึงเรื่องนี้ด้วยคำพูดอย่างเดียวกัน มีอารมณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อพูดจากันเรื่องเพศก็มักจะพูดกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ใช้ศัพท์ที่ตรงไปตรงมา กล่าวคือใช้ถ้อยคำที่ในภาษาอังกฤษของชนชั้นกลาง เรียกกันว่า คำสี่อักษร แล้วไม่ต้องใช้คำอื่นแทน" (ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่, คึกฤทธิ์ ปราโมช, หน้า 5)

แอบสงสัยว่าทำไม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มิได้เขียนถึงคำคำนั้นอย่างตรงไปตรงมาทั้งๆ ที่ท่านบอกว่าหากเป็นผู้ดีหรือไพร่ จะใช้คำเดียวกัน คำตอบก็คงเป็นเพราะว่าท่านไม่ได้เขียนหนังสือให้ไพร่หรือผู้ดีอ่าน แต่เขียนให้ "ชนชั้นกลาง" อ่าน จึงต้องพูดว่า "อักษรสี่ตัว" ไปตามจริตของชนชั้นกลาง



เรื่องหนังสือ ยังมีให้ย้อนความเก่าเล่าความหลังได้อีกเกี่ยวกับ "ผู้ดี" นอกจากแบบเรียนว่าด้วย "สมบัติผู้ดี" แล้ว ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังมีหนังสือเรียนเรื่อง "นายเถื่อนกับนายเมือง"

นายเถื่อนนั้นมาจากป่าเขา วิธีเปลี่ยนนายเถื่อนให้เป็นนายเมืองก็คือการให้นายเถื่อนมาได้รับการศึกษา มารยาทแบบ "ศิวิไลซ์" คือมารยาทของชนชั้นกลางตะวันตกที่ไทยรับเอามา

สำเร็จการศึกษาก็สลัดคราบคนป่าคนเถื่อนเป็น นายเมืองที่ศิวิไลซ์ อันสะท้อนความใฝ่ฝันของผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยว่าใฝ่ฝันอยากเห็นคนไทย "ศิวิไลซ์" อย่างเป็นสากล แปรสภาพจากไพร่มาเป็น สุภาพบุรุษ สุภาพสตรีที่น่ายกย่อง นับถือ ผ่านระบบการศึกษา (ไม่แคร์ชาติกำเนิด) อย่างเสมอหน้าและทั่วถึงกัน

หลายทศวรรษผ่านไป สังคมไทยผสมผสานค่านิยมและสร้างประวัติศาสตร์ไทยแบบใหม่ไม่เหมือนใครในโลกไว้เป็นมรดกแก่คนไทย และลืมไปเลยว่าคำว่า "ผู้ดี" ในความหมายของหนังสือ "สมบัติผู้ดี" แปลว่า "ชนชั้นกลาง"

จากนั้นเราบริโภคคำว่า "ผู้ดี" ผ่านสื่อสาธารณะ ทั้งนิยาย หนังจักรๆ วงศ์ๆ ละครหลังข่าว หน้าข่าวไฮโซ คอลัมน์ซุบซิบ คำพิพากษาทางศีลธรรมของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลของสังคม

คำว่าผู้ดีจึงผสมปนเปกันไปทั้งเรื่องชาติกำเนิด, ความมั่งคั่ง, แบบแผนพฤติกรรม, ภาษา, วิถีชีวิตและการบริโภค ฯลฯ



"ซึ่งต้องไม่ลืมว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมกุฎราชกุมาร ได้รับการอบรมกิริยามารยาทจากสำนักพระราชวัง จึงส่งผลให้มีพระจริยาวัตรงดงาม เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน"

ในสังคมที่เชื่ออย่างโบราณเช่นนี้ การเลื่อนสถานะทางสังคมทำได้ยากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับสังคมไทยโบราณได้เปิดโอกาสการเลื่อนชั้นทางสังคมได้บ้างสำหรับ "ผู้ชาย" นั่นคือทำได้ผ่านการบวชเรียน เพราะมีแต่สถานะของภิกษุเท่านั้นที่จะก้าวข้ามเรื่องชาติกำเนิด ไต่ชั้นทางสังคมขึ้นไปเป็นที่เคารพจากคนทุกชนชั้นได้

การเป็นที่กราบไหว้ นับถือ บนฐานคิดโบราณที่วัดความสูง-ต่ำ ของคนจากชาติกำเนิด ไม่สอดคล้องกับปรัชญาว่าด้วยคุณสมบัติของ "ผู้ดี" ในความหมายใหม่ที่แปลว่า respectable ไม่ใช่ Noble นี่ยังไม่นับว่า มารยาทแบบ respectable ของกระฎุมพี เป็นสิ่งที่ถูกทั้งถูกเย้ยหยันและตั้งคำถามทั้งจาก Noble และ ชนชั้นล่าง ในโลกหลังสมัยใหม่

ย่อมมีบางบุคคลที่ไม่เคารพนับถือในชาติกำเนิดและเพื่อนร่วมชาติกำเนิดของตน แต่ตาลปัตรพลัดหลงเป็นกาแต่พูดจาเหมือนหงส์ ไม่ยอมรับแม้กระทั่งสถานะกระฎุมพีของตนเอง

สำหรับฉันสิ่งแรกที่เราคนไทยพึงทำคือเขียนตำราว่าด้วย "สมบัติของกระฎุมพี" ไม่ใช่อะไรนอกจากเพื่อความภาคภูมิใจในความกระฎุมพีของพวกเรากันเอง

และจะได้เลิกป่วยด้วยโรค วันนี้อยากเป็นไฮโซ พรุ่งนี้อยากเป็นชาวนา อีกวันอยากวิปัสสนา-เป็นต้น



++

ป๊อบ ใสๆ กรุ่นกลิ่นอายความรัก (1)
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1558 หน้า 91


ฉันนั่งถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างเรากับสารพัดโครงการ เยียวยา ปลอบประโลม "ประเทศไทย" ที่ถูกผลิตทะลักทะล้นออกสู่ตลาด หลังโศกนาฏกรรมวันที่ 19 พฤษภาคม

(ขอนุญาตหมายเหตุว่า การเขียนของนักเขียนทุกวันนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก จะจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์แต่ละคำต้องคิดแล้วคิดอีก อันที่จริง ฉันอยากใช้คำอื่นที่ตรงกับความจริงมากกว่าคำว่า โศกนาฏกรรม แต่ก็ไม่กล้าใช้ ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ภายใต้การสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่ถูกสร้างขึ้นอย่างได้ผล พวกเราเหลืออีกกี่ทางเลือกกันในการแสดงออกซึ่งความคิดของตนเองต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา และฉันไม่ฉลาดลึกซึ้งพอที่จะแยบคาย)

กระแสตอบรับอย่างล้นหลามของชนชั้นกลางนั้นมากพอที่จะทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าตนเองมาถูกทาง ประเทศไทยทั้งประเทศถูกย่อส่วนให้เหลือเพียงห้างสรรพสินค้าไม่กี่แห่ง โรงหนัง และถนนไม่กี่สาย การเยียวยาหัวใจคนรักโรงหนังนั้นกระทำอยู่บนกี่หยดน้ำตาของกี่ล้านประชาชนที่ซมซานกลับบ้าน

สารพันเครื่องมือของวัฒนธรรมป๊อบฯถูกขุดมาใช้ เพลงมาร์ชปลุกใจแบบเอาทหารมายืนแถวตรงร้องเพลงถอยไปไกลๆ ต่อแต่นี้ไปกระบวนการโฆษณาความคิดของรัฐจะกระทำผ่านนักร้องหน้าสวยใส หล่อสะอาดสะอ้าน และสำเนียงเพลงร่วมสมัยเร้าใจคนพันธุ์ป๊อป เพลงแต่งโดยนักแต่งเพลงป๊อปที่ป๊อปปูล่าร์ที่สุดในประเทศ

แต่นั่นยังไม่ชวนขื่นขมเท่ากับกวี ผู้ซึ่งพานพบประสบการณ์การถูกกระทำอย่างไม่ธรรมโดยรัฐด้วยตนเองถึงขั้นระหกระเหินไปเดินป่าอยู่หลายปี ณ วันนี้ เธอออกมาแต่งกลอนสอนเราว่า "หมดเวลามากล่าวโทษ"

หญิงดอกทองสามานย์อย่างฉันถึงกับตาเหลือก อ้าปากค้าง "โอ๊ววว โนวว"

อยากถามต่อว่า "แล้วหมดเวลาที่ถามหาความจริง ความยุติธรรมของผู้คนที่ถูกกระทำด้วยหรือไม่?"

คำถามนี้ไม่ได้มีถึงกวีคนเดียวแต่ถึงอดีตผู้มีอุดมการณ์เพื่อประชาชนทุกท่านที่บัดนี้ถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเกียรติยศผู้มีอันจะกินของประเทศไปเสียแล้ว



เพลงเพราะๆ มิวสิควิดีโอซึ้งๆ ให้อารมณ์ของการถูกฆ่าทางจิตวิญญาณอย่างละมุนละม่อมจนอยากจะมอบเพลง killing me softly ให้รัฐบาลเอาไปทำโฆษณาต่ออีกสักเพลงจะเป็นไร

ไม่เพียงแต่เพลง ป้ายรณรงค์อย่าง Together we can หรือ I love Bangkok ที่เลียนแบบมาจาก I love NY หรือตัวตุ๊กตาหมีมีป้าย เรารักกรุงเทพฯ ฟอนต์ที่ใช้ สี และสัญลักษณ์ทั้งปวงบอกอย่างแจ่มแจ้งว่า การรณรงค์ทั้งหมดนี้สื่อสารกับ "คนรุ่นใหม่" ในเมืองใหญ่

ไม่ใช่ป๊อปบ้านๆ ดาษดื่น แต่กินอาณาเขตไปถึงป๊อบฯแบบเด็กแนว คนดูหนังนอกกระแส คนฟังเพลงที่ก้าวหน้าไปกว่า "แกรมมี่" แบบพื้นๆ คนที่รักสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ไม่ใช่พวกเสพแต่วัด และ วัง

ความสัมพันธ์แบบแปรผกผันระหว่างรสนิยมทางศิลปะ การศึกษา พฤติกรรมการบริโภค กับ ความรู้และจุดยืนทางการเมือง อันประจักษ์ต่อสายตาอย่างแจ่มแจ้งเป็นครั้งแรกนี้น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับคนที่สนใจเรื่อง ชนชั้น วัฒนธรรมการเมือง และอุดมการณ์

งานนี้ชนชั้นกลางในเมืองเดือดร้อนกันมาก เพราะโดนกล่าวหาว่าเป็นสลิ่มกิมกลวง หรือมีวิกฤติอะไรขึ้นมาก็โทษชนชั้นกลางดะไปหมด ประมาณว่า เกิดมาเป็นชนชั้นกลางนี่มันผิดตรงไหนฟะ?

บ้างก็ว่า ชั้นก็ลูกคนจนเพียงแต่ได้รับการศึกษามานิดหน่อย ค่อยๆ ถีบขยับตัวเองมาเป็นชนชั้นกลาง ทำมาหากินอยู่ในเมืองหลวง

ชีวิตนี้อยากมีความก้าวหน้า อยากเห็นลูกเล่นเปียโน ตีเทนนิส หรือเต้นบัลเลต์ อยากให้ลูกเต้าได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นดี อยากช็อปปิ้ง ชอบเดินห้าง อยากอยู่ในบ้านเมืองที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย อยากเห็นคนไทยรักกัน อยากเห็นชาวนา ชาวไร่พอเพียง ไม่เป็นเหยื่อบริโภคนิยม เป็นกลุ่มคนที่คอยอนุรักษ์ความเป็นไทย คอยเลี้ยงควาย ไว้ให้ลูกหลานของตรู ที่อยู่ในเมืองไปทัศนศึกษา ไปชื่นชมว่า เออ...นี่ไงวิถีชีวิตของชาวบ้านอันงดงาม เรียบง่าย ก่อนจะกลับมาเต้นบัลเลต์ต่อที่กรุงเทพฯ

ตรูคิดแบบนี้แล้วมันผิดตรงไหน ?



พลันฉันนึกถึงคำเตือนที่ให้ระแวดระวังการศึกษาที่จัดการโดยรัฐว่าการศึกษานั้นไซร้อีกด้านหนึ่งของมันคือการ "ล้าง" สมองผู้เรียนให้หันมา เชื่อ และ คิด อย่างเดียว และ แบบเดียวกันไปหมด

ชะรอยจะมีสิ่งผิดปกติในระบบการศึกษาหรือในแบบเรียนของไทยกระมัง กลุ่มชนชั้นที่การศึกษาจึงพากันแสดงความรังเกียจประชาธิปไตยกันอย่างออกนอกหน้าถึงเพียงนี้

มีคนศึกษาและเขียนถึงประวัติศาสตร์ "แบบเรียน" ของไทย หลายต่อหลายชิ้น (และชิ้นสำคัญคือ ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์-ซึ่งเขียนมากว่า 15 ปีแล้ว แต่สมควรนำมาอ่านใหม่เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ชนชั้นกลวง ณ ปัจจุบันสมัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะชนชั้นกลวงของวันนี้คือผลผลิตของแบบเรียนในยุคที่บทความนั้นกล่าวถึง)

อันชี้ให้เห็นว่า แบบเรียนไทยพยายามกล่อมเกลา และสร้างคนไทยแบบไหนขึ้นมาให้กลายเป็น___(โปรดเติมคำในช่องว่างตามใจชอบ) อย่างทุกวันนี้ แต่งานศึกษาเหล่านั้นคงไม่มีคนอ่านมากเท่ากับหนังสือธรรมะบินได้ จึงไม่มีใครระวังอันตรายของการศึกษาเท่าไร

สิ่งที่ "แบบเรียน" สอนจึงยังมีพลังชี้นำและครองอำนาจเหนือวิธีคิด จิตใจของคนไทยที่มักเชื่อตามตำรา เชื่อตามครู และเชื่อเพียงเพราะเห็นว่าผู้พูดดูเป็นคนดีมีศีลธรรม โดยมิได้สำเหนียกว่ามนุษย์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แต่ใจสัตว์นั้นมีอยู่ดาษดื่นเหลือเกิน


ชนชั้นกลางค่อนไปทางกลวงมักอธิบายประชาธิปไตยว่า

- ประชาธิปไตยเป็นของฝรั่ง ไม่เหมาะกับเมืองไทย คนไทย

- คณะราษฏรชิงสุกก่อนห่าม

- คนไทยไร้การศึกษาจึงไม่มีวิจารณญาณในการเลือกผู้แทน เพราะฉะนั้น ควรกำหนดวุฒิการศึกษาของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

- ประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้นักเลือกตั้งเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ มีแต่คนเลวๆ มาเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้น เราควรมีระบอบธรรมาธิปไตยมาถ่วงดุลย์กับประชาธิปไตย

- ชาวบ้านไทยมีประชาธิปไตยทางตรงอยู่แล้ว ไม่ต้องมีระบบประชาธิปไตยผ่านตัวแทน

- ถ้าในสังคมมีคน 100 คน เป็นนักเลง 70 คน เป็นคนดี 30 คน หากปกครองด้วยประชาธิปไตยเสียงข้างมาก คนดีต้องถูกปกครองโดยนักเลง? ถ้างั้นไม่เอาด้วย ขอระบอบการปกครองแบบไหนก็ได้ที่เราจะได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง

- ถ้าเป็นแผด็จการแล้วเจริญแบบสิงคโปร์ เป็นเผด็จการดีกว่า

- ชาวบ้านไม่ได้เข้าใจว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร

- คนทั่วไปเรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนฉลาดเรียกร้องสิทธิที่จะพ้นทุกข์ (!???!!!!) อันนี้พระพูดแล้วดันมีคนเชื่อจริงๆ

ฯลฯ



เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงพอเห็นที่มาที่ไปของวิธีคิดของสลิ่ม เอ๊ย ชนชั้นกลางกระแสหลัก

(ไอ้ชนชั้นที่ว่านี่ ไม่ได้นับที่รายได้อย่างเดียว แต่วัดกันที่อุดมการณ์ รสนิยม ความไฝ่ฝัน คนที่คุณเลือกมาเป็นผัวหรือเมีย เช่น รับประกันได้ว่าคนที่เลือก คำ ผกา เป็นเมีย ไม่มีวันเป็นชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมไปได้ อาจเลยเถิดไปถึงท่วงท่าในการร่วมเพศ ไปจนถึงเสียงกรีดร้องขณะถึงจุดสุดยอดว่าต้องเกี่ยงเนื่องสัมพันธ์กับจุดยืนทางการเมืองของคนๆ นั้นแน่ๆ)

ว่าคือผลผลิตของส่วนผสมของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยหลังปี 2490 บวกกับการเลือกหยิบเฉพาะบางส่วนของแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น การใช้คำว่า "the tyranny of the majority"

วาทกรรมนี้ถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายรังเกียจประชาธิไตยในเมืองไทย โดยละเลยที่จะพูดถึงมันในประเด็นที่ว่า ความห่วงใยเรื่อง "the tyranny of the majority" ไม่ได้หมายถึงการ เอาประชาธิปไตยทิ้งไป และเที่ยวไปควานหา "คนดี" มีธรรมะ มาทำการปฏิรูปสังคม ทว่า เป็นการแสวงหากลไกการถ่วงดุลย์ที่ยืนอยู่หลักการประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง (มิใช่การถ่วงดุลย์ด้วยการโยนการเลือกตั้งทิ้งแล้วตั้งกรรมการกลางมาปฏิรูปประเทศ)

คนที่เลือกตัดตอนคำพูดอันโด่งดังนี้ จงใจละเว้นการพูดถึงพัฒนาการแนวคิดประชาธิปไตยในศตวรรษต่อมาว่าท้ายที่สุดแล้วไม่มีวิธีไหนที่ดีไปกว่าการที่นักการเมืองต้องออกมาช่วงชิง "คะแนนเสียง" ใน "ตลาด" การเมือง และต้องมีความรับผิดชอบต่อ "เสียง" ที่เลือกตนเองมาเป็นตัวแทน ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองเดียวที่จะสร้างดุลยภาพของการต่อรองทางอำนาจทางการเมืองของสังคมสมัยใหม่อันดำเนินไปบนความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มคนร้อยพ่อพันแม่หลายศาสนา หลายชนชั้น หลายอุดมการณ์

(อันเป็นเรื่องสามัญของมนุษย์ขี้เหม็น)



ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยหลัง 2490 เป็นอย่างไร ในด้านของการอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เขียนและถูกยกระดับให้กลายเป็น "ความจริง" หรือ "ข้อเท็จจริง" เพียงชุดเดียวที่ประชาชนไทยต้องจำพร้อมกับถูกทำให้ลืมข้อเท็จจริงๆ ชุดอื่นๆ เสีย

นั่นคือ การอธิบายความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ให้เหลือเพียงการชิงสุกก่อนห่ามของคนหนุ่ม "หัวนอก"

จากนั้นเขียนประวัติศาสตร์ที่เลอะเทอะเอา--สมบูรณาญาสิทธิราชย์+การทำประเทศให้ทันสมัย+การนำประชาธิปไตยมาสู่ปวงชน+การเลิกทาส+สิทธิมนุษยชน+การรวมศูนย์อำนาจผ่านระบบบริหารราชการแบบเจ้าอาณานิคม+การยกเลิกระบบศักดินาแบบเดิม+การสร้างเมืองจำลอง--มาปนกันไปหมดจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร

จากนั้นจึงรวบหัวรวบหางสร้างคำอธิบายคลาสสิคเป็นมรดกแก่ชนชั้นกลวงที่มีการศึกษาว่า

"เราเลิกทาสตั้งตาสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น เราจึงไม่มีชนชั้น ไม่มีไพร่ ไม่มีอำมาตย์ อย่ามั่ว! เราผ่านการต่อสู้กับอาณานิคมด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย ฝรั่งยังซูฮก เรารอดพ้นจากการเป็นอาณานิคม เราเจริญก้าวหน้า ปัญญาชนไทยตอกหน้าพวกฝรั่งไปหลายหน"

(เชื่อเช่นนี้จึงมีคนเขียนจดหมายไปด่า CNN สันนิษฐานคงถูกวิญญาณของแม่มณีในเรื่องทวิภพเข้าสิงด้วย เลยนึกว่าตนเองเกิดมาเพื่อกอบกู้ประเทศชาติมิให้โดนฝรั่งเหยียดหยาม)

ชนชั้นนำไทยเข้าใจประชาธิปไตยดีที่สุดโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชนชั้นนำของประเทศอื่น และรู้ด้วยว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจึงพร้อมที่จะมีประชาธิปไตย เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลง

การปกครองโดยที่ประชาชนไม่พร้อม และพวกเขายังมีความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ ไม่เคยเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง นับแต่นั้นประชาชนไทยก็อยู่ภายใต้กรงเล็บอันโฉดชั่วของนักการเมืองที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน

เพราะฉะนั้น หนทางที่จะเยียวยาประเทศไทยได้คือ กำจัดนักการเมืองออกไป เอา "คนดี" มาปกครอง คนบ้านนอกนั้นให้ทำตัวน่ารัก เลี้ยงเชื่องๆ เหมือนปลาในเขตอภัยทาน ถึงเวลาจะ

ไปโยนขนมปังให้กิน และหน้าที่ของคนบ้านนอก คือเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นไทยในแฟนตาซีของชนชั้นกลางในเมือง

ถ้าคนในเมืองเบื่อวัตถุนิยม พวกเขาไปตักตวงเอาความเป็นไทยอันเรียบง่ายใสซื่อจากพวกท่าน เบื่อแล้วค่อยกลับ ชาวบ้านอย่าได้ริอยากมีไอพอด ไอแพด อย่าไปอยากบริโภคอะไรเหมือนคนในเมือง เพราะ หนึ่ง จนแล้วต้องเจียม สอง คนบ้านนอกไม่ฉลาดพอจะ "ใช้" ของเหล่านั้น แถมยังไม่จำเป็นต่อชีวิตเรียบง่ายของพวกเขา เพราะฉะนั้น จงดักดานอย่าเหิมเกริม มากินมาอยู่เทียมหน้าเทียมตาคนมีการศึกษาในเมือง เป็นชาวบ้านเก็บผักเก็บหญ้ากินกันไป โง่แล้วอย่านอนเตียง จนแถมยังไร้การศึกษาอย่ามาสะเออะใช้บีบี มีโน้ตบุ๊กส์

คนชั้นกลางมีเครื่องอำนวยความสะดวกเรียกว่าการเพิ่มคุณภาพชีวิต แต่ถ้าคนบ้านนอกอยากซื้อสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกบ้างจะถูกหาว่าเป็นเหยื่อนายทุนและการโฆษณา น่าสมเพช"

อาทิตย์หน้าจะมาพล่ามต่อถึง "วิธีคิด" ของชนชั้นกลางค่อนไปทางกลวงต่อว่า ด้วยการถูกหล่อหลอมความคิดมาแบบนี้ ชนชั้นที่ควรจะเป็นแนวร่วมของฝ่ายเสรีนิยมกลายเป็นกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยแบบไร้จุดยืน และง่ายต่อการถูกล้างสมอง และแสดงออกผ่านวัฒนธรรมป๊อปสวยไสที่เหมือนจะไร้พิษสงอีกทั้งยังกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายของความรักอย่างไรบ้าง



++

ป๊อบ ใสๆ กรุ่นกลิ่นอายความรัก (จบ)
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1559 หน้า 91


อาทิตย์ที่แล้วสรุปรวบยอดวิธีคิดของสลิ่ม เอ๊ย ชนชั้นกลางที่มีต่อประชาธิปไตย อันชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นกลางไทยมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่วิปริตผิดเพี้ยนอย่างไรบ้าง และเพื่อตอบคำถามว่า แม้ชนชั้นกลางเหล่านั้นจะได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี มีโอกาสไปร่ำเรียนในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ หรือ อเมริกา มีรสนิยมทางวรรณกรรม ดนตรี ศิลปะเป็นเลิศ ก็หาได้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อทางปัญญาที่รัฐไทยได้ครอบงำเอาไว้อย่างหมดจดนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา นั่นคือการที่รัฐได้สร้างองค์ความรู้เรื่องเมืองไทย
ชาติไทย คนไทยไว้ให้คนไทยเชื่อได้ประมาณนี้

- ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สั่งสมความเจริญ ก้าวหน้า ฝ่าฟันอุปสรรค เอาชนะอริราชศัตรูมาได้ด้วยพระปรีชาสามารถของผู้ปกครอง ดังนั้น เราจึงเป็นหนี้บุญคุณของ

บรรพบุรุษที่ได้ปกป้องผืนแผ่นดินไทยมาสู่ลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน ควมเชื่อที่ว่าประวัติศาสตร์ประเทศไทยเดินเป็นเส้นตรงและสืบเนื่องตกทอดต่อกันมาหลายร้อยปีด้วย "บุญคุณ" และ "การทำงานหนัก" ของบรรพบุรุษคือที่มาของวาทกรรม "ลูกอกตัญญูที่ไม่สมควรอยู่ในบ้านหลังนี้"

- เชื่อว่าคนไทยมีลักษณะพิเศษ มีความสามารถพิเศษ มีพรสวรรค์ เก่งกาจไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้

- เชื่อว่าศิลปะวัฒนธรรมของชาติไทยนั้นวิจิตร ลึกซึ้ง ซับซ้อน สูงส่ง ใครหน้าไหนก็สู้ไม่ได้ น่าภาคภูมิใจเป็นที่สุด

- เชื่อว่าภาษาไทย วรรณคดีไทยมีความเก่าแก่ ศักดิ์สิทธิ์ วิจิตรเลิศเลอไม่แพ้ของชาติใดในโลกนี้

- เชื่อว่าเมืองไทยเรานี้แสนดีนักหนา อุดมสมบูรณ์ที่สุด ข้าวเราดีที่สุด ผลไม้เราดีที่สุด อาหารเราอร่อยที่สุด ข้าวแช่เราเป็นผู้ดีที่สุด

- เชื่อว่าคนไทยมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีมิตรจิตมิตรใจ ไม่รังเกียจรังงอนคนต่างชาติต่างภาษา ยึดถือในสุภาษิตที่ว่า ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ เราคนไทยอยู่กัน

อย่างร่มเย็น สงบสุข เพราะคนไทยใจดี เมตตา ไม่ชอบความรุนแรงมาแต่บรมสมกัลป์ (แต่มีข้อแม้ว่าคนต่างชาตินั้นต้องรักและภูมิใจในสิ่งเดียวกับเรา)

- เชื่อว่าประเทศไทยเริ่มตกต่ำเพราะไปรับวัฒนธรรมเลวๆ ของตะวันตกเข้ามา เชื่อว่าคนไทยเริ่มสูญเสียอัตลักษณ์แสนดี เอื้อเฟื้อโอบอ้อมเพราะการทะลักไหลบ่าของทุนนิยมตะวันตก

จนละเลยมิติทางจิตวิญญาณแบบไทยๆ

- เมื่อเป็นเช่นนี้คนไทยจึงถูกสอนให้เกลียดและกลัวโลกาภิวัตน์จนขึ้นสมอง ความกลัวอันนี้ถูกผลิตออกมาเป็นแพ็กเกจสำเร็จรูปคือ วัฒนธรรมตะวันตก, โลกภิวัฒน์, ทุนนิยม, ทุนต่างชาติ, บริโภคนิยม, วัตถุนิยมคือศัตรูของวัฒนธรรมและความดีงามแบบไทยๆ

- เชื่อว่า นายทุนเท่ากับความฉ้อฉล ชาวบ้านเท่ากับเหยื่อ

- เชื่อว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ ขณะเดียวก็ศักดิ์สิทธิ์เสียจนห้ามวิพากาษ์ วิจารณ์ การวิจารณ์คำเทศนาของพระสงฆ์ที่มีภาพพจน์ดียิ่งเป็นสิ่งที่คนไทยทั่วไปรับไม่ได้

สถาบันทางสังคมที่หล่อเลี้ยงความเชื่อเหล่านี้เอาไว้นอกจากตำราเรียน แล้วยังมีวรรณกรรมทั้งเพื่อชีวิต และโรมานซ์ หรือแม้แต่วรรณกรรมที่ว่ากันว่าก้าวหน้าที่สุด รางวัลสถาปนาทั้งหลายตั้งแต่ซีไรท์ รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ รางวัลศิลปินแห่งชาติ เพลง ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ทั้งอิงและไม่อิงประวัติศาสตร์ บทสัมภาษณ์คนมีชื่อเสียง ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางวัฒนธรรม เช่น

"ชาติ มิได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยจำนวนประชากร พื้นที่และระบอบการเมืองการปกครองแต่เพียงเท่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดของการรวบรวมเลือดเนื้อเข้าเป็นเชื้อชาติได้ ต้องอาศัยพลังของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสิ่งซึ่งสามารถหลอมรวมผู้คนร้อยพ่อพันแม่ให้ผนึกเป็นปึกแผ่นได้ คือเบ้าแห่งศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทรงพลานุภาพอันมั่นคงเหนือกาลเวลาจาก สยามสู่ประเทศไทย ใช่เพียงยุคสมัยและชื่อเรียกเท่านั้นที่แปรเปลี่ยน แม้เปลือกบางแห่งศิลปวัฒนธรรมก็ผันตามกระแสธารแห่งวัฒนธรรมต่างถิ่นที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นระลอกริ้ว นานวันเข้าแก่นแท้แห่งศิลปวัฒนธรรมก็ลางเลือน ลูกหลานหลงลบลืมจนแทบสิ้นสลาย ความหวังสุดท้ายจึงกลายเป็นพันธกิจสำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะสร้าง เสริม และซ่อมแซม รากเหง้าแห่งความเป็นชาติเหล่านี้ให้ฟื้นคืนกลับมาหยั่งรากลงสู่จิตสำนึกของ ประชาชนอีกครั้ง"
(
บทสัมภาษณ์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=619 )



ท่ามกลางความล้าหลังและอนุรักษ์นิยมบนฐานคิดของการ "คลั่ง" ความเป็นไทยนี้ สังคมไทยก็เปิดรับเอาความทันสมัยเข้ามาในชีวิตอย่างเบิกบาน ท่ามกลางการรังเกียจฝรั่ง "ชนชั้นมีการศึกษาและมีรสนิยม" ของไทยก็ชื่นชมอุปรากรฝรั่ง ดนตรีคลาสสิค ปรัชญาตะวันตก วรรณคดีคลาสสิค สะสมงานของศิลปินระดับโลก อาหาร มารยาท เสื้อผ้า แฟชั่น สถาปัตยกรรม ฯลฯ โดยอธิบายว่าตนสามารถรับเอาความเป็น "ตะวันตก" เข้ามาในชีวิตได้เนื่องจากมี "ความรู้" และ "รสนิยม" ที่ดีพอจะ "คัดสรร" แต่สิ่งดีๆ และคัดทิ้ง กากและขยะของ "ฝรั่ง ออกไปได้ (ผิดกับชาวบ้านที่ขาดความรู้ รสนิยม และวิจารณญาณ ดังนั้น เราจึงต้องปกป้องพวกเขาจากสิ่งเหล่านั้น)

ผลึกความรู้นี้ถูกผนึกเข้ากับวัฒนธรรมป๊อบและกลายเป็น "ความรุนแรง" ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างน่าพรั่นพรึงและได้สำแดงตัวตนของมันอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญกับการลุกขึ้นทวงสิทธิของประชาชน และไม่ยอมเป็นปลาในเขตอภัยทานรอรับเศษขนมปังจากผู้ใจบุญอีกต่อไป

คนทั่วไปมักมองว่า หนังสงครามยิงกันเปรี้ยงปร้าง เลือดกระฉูด สมองกระจาย เกมส์ออนไลน์ ที่ให้วิ่งฆ่ากันเป็นว่าเล่นนั่นเป็นที่มาของความรุนแรงในสังคม แต่ไม่มีใครมองว่า วัฒนธรรมป๊อบลั้ลลานั้นส่งผ่านความรุนแรงสู่สมาชิกในสังคมได้มากกว่า เนื่องจากความรุนแรงไม่ได้มาพร้อมการฆ่า ไม่ได้มาพร้อมอาวุธเสมอไป แต่มาพร้อมกับเพลงรักหวานแหวว มาพร้อมกับหนังรักอ่อนหวาน มาพร้อมกับนวนิยายโหยหาอดีตอันงดงาม มาพร้อมมิวสิควิดีโอเพลงหวานซึ้งตรึงจิต ฯลฯ

หนัง เพลง วรรณกรรม ซีรี่ย์ละครในโทรทัศน์ วรรณกรรม ฯลฯ เหล่านี้ช่วยกำหนดสร้างอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยที่เรารับมาโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจากเราคิดว่ามันคือ "ธรรมชาติ" เช่น เราคิดว่า การเดินเตะกระป๋องโค้ก เอามือล้วงกระเป๋ากางเกงยีนส์ ท่ามกลางสายฝน พร้อมกับมองขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วยสายตาที่เจ็บปวดนั้นคือ สิ่งผู้คนมักจะกระทำหลังจากอกหักหรือถูกสาวทิ้ง

ถามว่า คนอกหักทุกคนทำอะไรอย่างนี้เมื่ออกหักหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่สิ่งที่ "วรรณกรรม" เหล่านี้ให้กับสังคม คือ การไฮไลท์บางปฏิกิริยาให้กลายเป็นปฏิกิริยา "หลัก" หรือ "มาตรฐาน" ต่อกลุ่มอาการทางอารมณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องชวนหัวและขบขันเมื่อ มนุษย์ (ของจริง) อย่างเราๆ ท่านๆ บางครั้งต้องอธิบาย อารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นด้วยตาตนเองว่า "เฮ้ย เหมือนในหนังเลย" เช่น เมื่อเห็นภาพห้างใหญ่กลางกรุงมีไฟลุกท่วม หรือ เกิดเหตุการณ์ยิงกันเปรี้ยงปร้าง เลือดอาบก็อาจรำพึงกับตนได้ว่า "เฮ้ย ยังกะในหนัง"


วัฒนธรรมป๊อปๆ ลดทอนความหลากหลายทางอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น เราควรจะมีปฏิกิริยาต่ออาการอกหักได้มากกว่าการชกกำแพง หรือ เดินเตะกระป๋องโค้กท่ามกลางสายฝน หญิงสาว โสด และสวย ที่อยู่ตามลำพังอาจจะกวาดบ้าน ล้างส้วม แคะขี้มูก นอนช่วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องนั่งเอนหลังอยู่ในไฟสลัวทำท่ามีความสุขกับตัวเองอย่างสุดๆ อย่างที่เราเห็นในฉากภาพยนตร์ หรือคำพรรณาตามขนบอย่างที่อ่านพบกันอย่างดาษดื่น

ฉันนึกถึงความรุนแรงของป๊อปปูล่าร์คัลเจอร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเปิดโทรทัศน์แล้วพบว่าเรากำลังถูกกระหน่ำด้วยเพลงรักหวานซึ้งให้รักประเทศไทย ให้คนไทยรักกัน ปรองดอง กอบกู้กรุงเทพฯ เอาความสุขของเรากลับมา และอีกหลายความหวานซึ้ง ฟูมฟายต่อ ประเทศ ชาติ บ้านเมือง คนไทย ประเทศไทย ผ่านสรรพสำเนียงแบบเจ้าพ่อวงการเพลงป๊อบของเมืองไทย

ฉากการฆ่าอย่างโหดร้าย ทหาร เครื่องแบบ รถถัง อาวุธสงครามซึ่งตำแหน่งแห่งหนของมันไม่ควรจะมาสถิตอยู่กลางเมือง และปลายกระบอกปืนเหล่านั้นไม่ควรจะหันมาหาประชาชนมือเปล่าที่ไม่ได้เข้ามาทำอะไรนอกจากมาทวงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ร่วมแผ่นดิน

ทว่าฉากอันโหดร้าย และชวนให้ตั้งคำถามสำคัญว่า "รัฐมีสิทธิ อำนาจอันใด ในการออกมาฆ่าประชาชน?" กลับกลายมาเป็นเพียงฉากหลังอันเบาบางของบทเพลงขอความสุขของเรากลับมา!

ภาษา และไวยากรณ์ ของมิวสิควิดีโอเพลงป๊อบ ทำให้การสังหารหมู่ประชาชนโดยรัฐกลายมาเป็นอะไรที่ "เหมือนในหนัง" ที่เมื่อไฟสว่าง ป๊อบคอร์นหมดถุง โค้กหมดแก้ว เราก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปัญหาทางการเมืองอันซับซ้อน หมักหมมมาหลายทศสวรรษ ความขัดแย้งทางชนชั้น ปัญหาการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองของคนไทถูกลดทอนให้เหลือเพียงการ "ลืม" และการ "อภัย" จากนั้นคือการร่วมแรงร่วมใจเยียวยา บูรณะ เมืองหลวงให้กลับมาสวยงามน่าอยู่อีกครา

ดารา นักร้อง นักแสดง เซเล็บ ไฮโซ พาเหรดกันออกโทรทัศน์ พูดผ่านวิทยุ ขอร้องให้คนไทยรักกัน ขอให้เรากลับไปเป็นเหมือนเดิม มันน่าประหลาดใจว่า ในนาทีที่ถนนเกลื่อนไปด้วยศพ ญาติมิตร คนรัก พ่อ แม่ และ ลูกของเพื่อนร่วมชาติของเราถูกปลิดปลิวไปราวกับใบไม้ร่วง พวกเขาไปอยู่กันเสียที่ไหน จึงไร้สติ ปัญญา เหตุผล และหน้าด้านพอที่จะออกมาพูดให้คนไทยรักกันและยังคงรอยยิ้มอันสดใสบนใบหน้าเอาไว้ได้เสียด้วย



แต่เมื่อมาทบทวนอีกครั้งถึง "ฐานความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ของคนไทยเป็นอย่างที่ลิสต์มาข้างต้นก็ต้องทำใจว่า เขาและเธอเหล่านั้นก็เป็นผลผลิตขององค์ความรู้นั้น

และพลันพวกเขากลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกันกระทืบซ้ำสร้างความรุนแรงต่อสังคมไทยผ่านรอยยิ้มไร้เดียวสา ดวงตาเว้าวอน น้ำตาที่คลอเบ้าและคำว่า "รัก" ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

(การเขียนเช่นนี้ก็สุ่มเสี่ยงต่อสำเนียง "ยกตนข่มท่าน" ว่าคนที่คิดนอกเหนือไปจาก "ลิสต์" เท่านั้นจึงเจ๋ง ซึ่งอันที่จริงต้องการชี้ให้เห็นว่าการคิดนอก "ลิสต์" อาจช่วยลด "ความรุนแรง" ได้บ้างเท่านั้น เพราะมันจะทำให้เรา "อ่าน" การกระทำของอำนาจรัฐจน "แตก" พอที่จะไม่ยื่นใบอนุญาตฆ่าหรือแม้กระทั่งเพิกเฉยต่อการฆ่านั้น มิพักต้องพูดถึงการล่าแม่มดในอินเทอร์เน็ตหรือกลุ่มเสพศพในโลกไซเบอร์)

ผู้บริโภควัฒนธรรมป๊อปพากันฟูมฟาย แสดงอารมณ์รัก เห็นใจ ให้อภัย โอบกอด และแย่งชิงกันเป็นพระเอกนางเอกที่จะมากอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากหายนะ ทั้งไม่ลืมที่จะยื่นใบอนุญาตฆ่า "ผู้ร้าย" "ผู้บุกรุก" "ผู้หลงผิด" และส่งแรงเชียร์ให้ พระเอกของพวกเขา ไปตามล่า ตามล้าง "จอมบงการ" และ "หัวหน้าขบวนก่อการล้างโลก" มาลงทัณฑ์

ใบหน้าของพระเอกถูกแจกจ่ายออกไปบนปกนิตยสาร พร้อมบทสัมภาษณ์เยินยอ ยกย่อง

ในโลกป๊อบๆ ไม่มีพื้นที่สำหรับ เลือด ความตาย ความอยุติธรรม การลงพื้นที่ชนบทของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อกวาดล้าง จับกุม คุกคาม ข่มขู่ ประชาชน ในโลกป๊อบๆ ไม่มีพื้นที่สำหรับความทุกข์ยาก การต่อสู้ แต่ยินดีต้อนรับทุกความสุข ทั้งเชื่อว่าความสุขหาได้ง่ายจัง แค่มองฟ้า มองดาว แค่กอดแม่ ก็มีความสุขแล้ว พ่อ แม่ หรือลูกคนอื่นตายช่างหัวมัน

กระบวนการปรองดองที่ถูกโหมกระหน่ำโฆษณาคือการขีดเส้นแบ่งระหว่างผู้ร้ายกับพระเอก และให้เวลาประชาชนเลือกข้างว่าจะอยู่กับฝ่ายไหน? การปรองดองในที่นี้จึงหมายถึง การให้โอกาสกลับตัวกลับใจหันมาให้ความร่วมมือ ปรองดองกับฝ่ายพระเอก และสมานฉันท์ช่วยกันออกตามล้างตามเช็ดฝ่ายผู้ร้าย และหากเป็นไปได้ ต้องช่วยกันกำจัดให้สิ้นซาก

จากนั้นเมื่อ "โลก" ของพวกเราเหลือแต่ฝ่ายพระเอก นางเอก เพื่อนๆ พระเอก นางเอกที่จิตใจอ่อนโยน โอบกอด รักกัน ให้อภัยกันแล้ว ท้องฟ้าของเราจะสดใส วิ้ง วิ้ง เปี่ยมไปด้วยรังสี ออร่า แห่งความสุขสงบ เอื้อเฟื้อ

นานาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน นานาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน อีกหลายพันฉากของการฆ่า อีกหลายพันฉากของการบาดเจ็บล้มตาย อีกหลายเงื่อนงำของความขัดแย้งที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย อีกหลายล้านใบหน้า อีกหลายหยดน้ำตากำลังจะถูก faded out ไปจากฉากของมิวสิควิดิโอเพลงป๊อบเหล่านั้น

นี่คือความรุนแรงโดยปราศจากอาวุธหลังการใช้อาวุธ คือการลงมีดที่กรีดลึก ประณีต และชำนาญการอย่างยิ่ง


.