http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-12

อยู่อย่างไรกับทหารในระบอบประชาธิปไตย และ 92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิตฯ (1,2,3) โดย เกษียร

.

อยู่อย่างไร กับทหารในระบอบประชาธิปไตย
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.



" ถ้าประเทศไทยหรือคนไทยไม่เรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ก็อย่าอยู่กันเลย เสียเวลาเปล่า "
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ...มติชนออนไลน์, 26 ก.ค.2554


ด้วยความเคารพท่านผู้บัญชาการทหารบก วิธีเดียวที่คนไทยจะอยู่ร่วมกับทหารในระบอบประชาธิปไตยคือต้องให้ทหารอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของพลเรือน (civilian supremacy)

หมายความว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบมีสิทธิอำนาจควบคุมทหารที่เป็นข้าราชการประจำตามกรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ (civilian control of the military)

โดยที่หลักการให้พลเรือนได้ควบคุมทหารนี้เป็นเงื่อนไขจำเป็นอันขาดเสียมิได้ (sine qua non) ในการให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เพราะหากทหารไม่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบแล้ว มันก็ไปกันไม่ได้กับหลักแกนกลาง 3 ประการซึ่งเปรียบประดุจพระรัตนตรัยของระบอบ ประชาธิปไตย อันได้แก่: -

1) อำนาจอธิปไตยของประชาชน เพราะมันจะกลายเป็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของทหารไป

(อ้างจาก Democracy under Stess: Civil-Military Relations in South and Southeast Asia, 2010, p. 29)

2) ความเสมอภาคทางการเมือง เพราะมันจะกลายเป็นทหารมีอภิสิทธิ์เหนือประชาสามัญชนคนอื่นทางการเมือง

3) หลักนิติธรรมโดยรัฐธรรมนูญ เพราะมันจะกลายเป็นทหารมีอำนาจเหนือกฎหมายในทางปฏิบัติ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถาบันต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองจากอำนาจนั้น

อนึ่ง มักหลงเข้าใจกันไปว่าหลักการให้พลเรือนควบคุมทหารในระบอบประชาธิปไตยหมาย ความแค่ทหารต้องไม่ก่อรัฐประหารเท่านั้น (the fallacy of coup-ism)

แต่อันที่จริงต่อให้ทหารถอยทัพจากทำเนียบรัฐบาลกลับค่ายแล้ว ก็ยังอาจส่งอิทธิพลจากค่ายทหารมาแทรกแซงการเมืองได้ เช่น เล่นบทเถ้าแก่/พ่อสื่อแม่ชักเป็นธุระจัดหาสู่ขอหว่านล้อมให้พรรคต่างๆ ที่ทหารชอบใจร่วมหอลงโรงประชุมจัดตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร เป็นต้น

ฉะนั้นจึงจำต้องสถาปนาเขตอำนาจสูงสุดของพลเรือนที่ทหารต้องเชื่อฟังคำสั่ง 5 เขตไว้ใน ระบอบประชาธิปไตยด้วย


เขตอำนาจพลเรือนสูงสุดทั้ง 5 ในระบอบประชาธิปไตยนี้ได้แก่: -

A) การคัดสรรผู้นำการเมือง (Elite Recruitment)

B) การกำหนดนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

C) ความมั่นคงภายใน (Internal Security)

D) การป้องกันประเทศจากภัยภายนอก (External Defense)

E) การจัดองค์การในกองทัพ (Military Organization)

โดยเฉพาะเขต A กับ B เป็นหัวใจชี้ขาดความเป็นประชาธิปไตยขั้นมูลฐาน

ขณะที่เขต C, D, E ยังสำคัญรองลงไปและอาจยืดหยุ่นชะลอออกไปได้บ้าง ด้วยเหตุผลด้านความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและวิชาชีพเฉพาะของทหาร แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย, เคารพ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง และไม่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่โต

เพื่อบรรลุการสถาปนาเขตอำนาจพลเรือนสูงสุดข้างต้น รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอาจพิจารณาดำเนินกุศโลบายเพื่ออยู่กับทหารดังนี้คือ: -

1) รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้มีอำนาจเหนือทหารในด้านต่างๆ อย่างมีจังหวะก้าวและขั้นตอน เริ่มจากเขตอำนาจ A+B ก่อนเป็นรุ่นแรก แล้วทยอย ขยับไปสู่เขตอำนาจ C+D+E ในรุ่นหลัง ที่สำคัญต้องพยายามทำให้ประจักษ์อุ่นใจแก่ทหารว่าผลประโยชน์ของสถาบันกองทัพและกำลังพลแต่ละคนจะได้รับการดูแลต่อไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

2) ธำรงรักษาฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนให้สูงไว้เป็นพลังถ่วงทานกดดันต่อรองให้กองทัพยอมรับเขตอำนาจพลเรือนสูงสุดต่างๆ ในทางเป็นจริง

3) บริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและชอบธรรม, รักษาแนวร่วม/พันธมิตรประชาธิปไตยให้มั่นคง ด้วยการเคารพกฎกติกาประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือบิดเบือนฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบจนเสื่อมเสียความชอบธรรม และกลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการก่อการต่อต้านล้มล้างประชาธิปไตย

4) สร้างพรรคการเมืองให้จัดตั้งดีและมีกำลังเข้มแข็งทั้งระดับแกนนำและมวลชน
มีแต่เพียรพยายามดำเนินตามหลักการและกุศโลบายดังกล่าวมาเท่านั้น ประเทศไทยและคนไทยจึงจะอยู่ร่วมกับทหารไทยได้โดยชอบตามระบอบประชาธิปไตย



++

92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต : เกิดอะไร? อย่างไร? และทำไม? (ตอนต้น)
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ท่ามกลางวิวาทะ "ใครรับผิดชอบต่อ 92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต?" ที่สนั่นอื้ออึงร้อนแรงขึ้นมาอีกด้วยกระแสหาเสียงเลือกตั้ง น่าจะเป็นประโยชน์ที่สังคมไทยจะตั้งสติและสดับตรับฟังข้อมูล ค้นคว้าศึกษาเรื่องนี้ในทางวิชาการด้วยจุดยืนและมุมมองสันติวิธี อย่างเป็นภาววิสัยและสงบเย็น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ซึ่งมีศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นประธาน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553" ที่พยายามประมวล ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อสรุปบทเรียนสำคัญ 2 ประเด็นว่า "การชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นโดยสันติเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร? และอะไรเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?"

แทนที่จะปล่อยให้ใครต่อใครใช้ 92 ศพเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง สังคมไทยควรใช้โอกาสการเลือกตั้งเป็นประโยชน์ในการทบทวนสรุปบทเรียน ไม่ให้เกิดศพทำนองนี้อีกในอนาคต

เกิดอะไร?

คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีได้ประมวลเหตุการณ์ประท้วง (ที่อยู่นอกสถาบันการเมืองปกติ) ทั่วประเทศ ทั้งโดยฝ่าย นปช. และฝ่ายที่ตอบโต้, ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ประท้วงโดยสันติวิธีและที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงเชื่อมโยงกับการประท้วง ซึ่งปรากฏรายงานในหนังสือพิมพ์หลัก 6 ฉบับ โดยสอบทวนทุกแหล่งข่าวจากอีกแหล่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพื่อความน่าเชื่อถือและลดอคติ พบว่า : -



จากวันที่ 13 มีนาคม-6 กรกฎาคม พ.ศ.2553 เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 408 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่ (40%) เกิดในกรุงเทพฯ ที่เหลือเกิดหนาแน่นในภาคอีสานและภาคเหนือ ทว่า เบาบางในภาคใต้และภาคตะวันออก โดยมีจังหวะเวลาการเกิดเหตุประท้วงเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน 2 ช่วงใหญ่ ที่สถานการณ์รุนแรง ได้แก่ 10 เมษายน และ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 (ดูแผนที่ประกอบ)
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309521490&grpid=no&catid=02

หากถือว่าเหตุการณ์รุนแรงคือการจงใจทำร้ายชีวิตร่างกายผู้คนหรือทำลายทรัพย์สินโดยตรง ซึ่งอาจแยกย่อยเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) สองฝ่ายใช้กำลังเข้าปะทะหรือเผชิญหน้า 2) มีการยิง 3) มีระเบิดจากฝ่ายหนึ่ง 4) วางเพลิงและอื่นๆ แล้ว ก็สามารถจำแนกประเภทเหตุการณ์ประท้วง โดยทุกฝ่าย 408 เหตุการณ์ได้ดังนี้ (ดูตารางที่ 1)

คณะทำงานฯตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ประท้วงส่วนใหญ่ (60.54%) เป็นไปโดยสันติวิธี


อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นและยึดครองพื้นที่แม้เป็นสัดส่วนข้างน้อยของการประท้วงโดยสันติ แต่ก็ถือเป็นวิธีการหลักของการเคลื่อนไหว เพราะกินเวลาต่อเนื่องยาวนาน (ยึดครองสะพานผ่านฟ้าลีลาศและถนนราชดำเนิน 32 วัน, ยึดครองแยกราชประสงค์ 47 วัน หากตัดวันทับซ้อน 12 วันออก ก็กินเวลาโดยรวมที่มีการยึดครองพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯถึง 67 วัน) ส่งผลรบกวนและสร้างความคับข้องใจแก่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทั้งด้านธุรกิจ ชีวิตความเป็นอยู่และการจราจร

กล่าวเฉพาะการเคลื่อนไหวประท้วงของ นปช. ส่วนใหญ่แล้ว (79.2%) เป็นไปโดยสันติ ส่วนการประท้วงแล้วเกิดเหตุรุนแรงเชื่อมโยงกันด้วยนั้นรวมศูนย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกว่าครึ่ง (56.2%) ของเหตุประท้วงรุนแรงดังกล่าว ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ดูตารางที่ 2)

ผลลัพธ์โดยรวมจากเหตุการณ์ประท้วงมีนา-พฤษภาอำมหิต 2553 ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายและถูกจับกุมคุมขังที่เป็นฝ่ายต่างๆ ดังตารางด้านล่างนี้ (ดูตารางที่ 3)

และหากกล่าวเฉพาะผู้เสียชีวิต 92 ราย โดยนำมาวิเคราะห์แยกแยะว่าผู้เสียชีวิตเป็นใครอยู่ ฝ่ายไหนในความขัดแย้ง? และเขาหรือเธอเสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงที่ฝ่ายใดเป็นผู้ริเริ่มปฏิบัติการแล้ว? ก็จะปรากฏผลดังตารางข้างล่างนี้ (ดูตารางที่ 4)


คณะทำงานได้ชี้ปัญหาสำคัญของความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดย "ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้" หรือที่มักเรียกกันว่า "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" (ซึ่งแปลว่าเราไม่รู้ว่าคนลงมือเป็นใคร? สังกัดหรือมาจากฝ่ายไหนบ้าง? มีกองกำลังอยู่ฝ่ายเดียวหรือต่างฝ่ายต่างก็ทำ? ฯลฯ) ว่า : -

-เป็นผู้ริเริ่มปฏิบัติการในเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนโดยตรง 11 ราย

-ทำให้ทหารเสียชีวิต 5 รายจากการโจมตีด้วยระเบิดที่สี่แยกคอกวัว

-ซุ่มยิงระยะไกล (สไนเปอร์) ใส่ผู้สนับสนุนเสื้อแดง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย

คาดเดากันกว้างขวางว่า "ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้" เป็นใครบ้าง? แต่ยังไม่มีข้อเท็จจริงระบุชัด ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ นปช.ต่างเชื่อว่าเป็นแผนการส่วนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามกับตน ความไม่รู้ในเรื่องนี้ทำให้ความจริงโดยรวม-->ความรับผิดชอบ-->ความยุติธรรม-->การให้อภัย-->และการปรองดองสมานฉันท์ยากที่จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยหลังความขัดแย้งมีนา-พฤษภาอำมหิต

ฉะนั้นหากไม่ต้องการให้ความจริง-->ความรับผิดชอบ-->ความยุติธรรม-->การให้อภัย-->และการปรองดองสมานฉันท์บังเกิดขึ้นในสังคมไทย (อาจเพราะเกรงมันจะคุกคามสั่นคลอนอำนาจ ฐานะของตน) ก็จักต้องปิดบังอำพรางกลบเกลื่อนและขัดขวางการสืบหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้เอาไว้ อย่างสุดความสามารถต่อไปและตลอดไป

และสังคมที่ธำรงรักษาไว้ซึ่งความเท็จ-->ความไม่พร้อมรับผิด-->ความอยุติธรรม-->ความเจ็บแค้น-->และการขัดแย้งหวาดระแวงชิงชังอย่างยั่งยืน ย่อมเอื้อให้เกิด "ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก" - มิไยว่าจะเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม


++

92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต : เกิดอะไร? อย่างไร? และทำไม? (ตอน 2)
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:30:00 น.


หลังจากประมวล ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงมีนา-พฤษภาอำมหิตแล้ว งานวิจัยเรื่อง "บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม- พฤษภาคม 2553" ของคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สกว. ที่มีศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นประธาน ได้ตั้งคำถามหลักที่มุ่งค้นคว้าหาคำตอบไว้ 2 ประการคือ: -

1) การชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นโดยสันติเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร? และ

2) อะไรเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?


อย่างไร?

งานวิจัยตอบคำถามนี้โดยพยายามจับและยึดกุมพลวัต (dynamics) ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายขยายตัวของเหตุการณ์ ว่ามีการขยายขอบเขตและเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างไรในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประท้วงและศูนย์รวมเหตุการณ์รุนแรง ทั้งในมิติเชิงเวลาและสถานที่

พวกเขาค้นพบว่ากล่าวสำหรับเหตุการณ์รุนแรงที่เชื่อมโยงกับการประท้วงของ นปช. (ซึ่งส่วนใหญ่เกือบ 80% เป็นไปโดยไม่ใช้ความรุนแรง) มีเหตุปัจจัยและลักษณะอันนำไปสู่การยกระดับ ความรุนแรง (escalation) ดังนี้: - (โปรดดูแผนที่ประกอบ)
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310126474&grpid=no&catid=02

1) การยึดครองพื้นที่รอบแยกราชประสงค์อย่างยาวนานนั้นล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุรุนแรงกว่าการยึดครองพื้นที่ย่านสะพานผ่านฟ้าฯ เพราะเป็นพื้นที่ธุรกิจโดยตรง, มีนัยเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองน้อยกว่า, และฝ่ายผู้ประท้วงก็วิตกกังวลต่อการปราบปรามที่จะตามมามาก

แผนที่เหตุการณ์รุนแรงในกรุงเทพฯ (มี.ค.-พ.ค.2553)
สัญลักษณ์แทน : ระเบิด, การเผา, การต่อสู้, การยิง, ถนนหลวง/ถนนสายหลัก, เขตจังหวัด, แม่น้ำ


2) "ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้"/"กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" (ซึ่งอาจมีหลายพวกก็ได้) เป็นตัวการก่อความรุนแรง เพื่อมุ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งคงอยู่ต่อไปและยกระดับมันให้รุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดพื้นที่การเมืองของผู้สนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างสันติทั้งสองฝ่ายลง โดยสามารถแบ่งลักษณะของการก่อความรุนแรงดังกล่าวออกเป็น 2 ช่วงคือ: -

ก) ก่อนปฏิบัติการขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้าและบริเวณโดยรอบเมื่อ 10 เม.ย.2553 มีการใช้ระเบิดและเอ็ม 79 เป็นหลัก โจมตีสถานที่ราชการและอาคารธุรกิจที่ห่างไกลจุดประท้วงในตอนกลางคืน น่าจะเป็นไปได้ว่าเพื่อพยายามสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นแก่สาธารณชนสูงสุด โดยไม่มุ่งประสงค์ทำอันตรายคนที่ไม่เกี่ยวข้อง นับเป็นการยั่วยุฝ่ายรัฐบาลที่คาดการณ์ไว้แล้วอย่างรอบคอบ

ข) เมื่อการยั่วยุได้ผล รัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้าฯและบริเวณโดยรอบเมื่อ 10 เม.ย.2553 ส่งผลให้ทหาร 5 คน, ผู้ชุมนุมเสื้อแดง 19 คน และบุคคลอื่น 2 คน เสียชีวิต หลังจากนั้นแบบแผนการโจมตีของ "ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้"/"กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ก็แตกต่างไปจากเดิมกล่าวคือหันมามุ่งโจมตีโดยตรงต่อผู้คน พลเมืองและผู้ไม่เกี่ยวข้องในบริเวณใกล้พื้นที่ประท้วง เพื่อเพิ่มการยั่วยุและแรงกดดันทั้ง ต่อรัฐบาลและผู้ประท้วง

แผนภาพจำนวนเหตุการณ์รุนแรงในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำแนกตามสัปดาห์และผู้กระทำ
(แถบดำ = ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้/แถบเทาทึบ = ทหาร/แถบลายประ = นปช.)


3) อาจกล่าวได้ว่าในกระบวนการยกระดับความรุนแรงที่ขับเคลื่อนโดย "ผู้ใช้ความรุนแรง ที่ไม่อาจระบุได้"/"กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" เป็นตัวการสำคัญนั้น ฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุม นปช.ต่างก็มีส่วนตัดสินใจผิดพลาดและเต้นไปตามแรงยั่วยุกดดันนั้นด้วยกันทั้งคู่ ที่สำคัญได้แก่: -

-การที่รัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าเผชิญหน้าและปะทะกับผู้ชุมนุม นปช.ที่สะพานผ่านฟ้าฯและบริเวณโดยรอบในเวลากลางคืน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553

-การที่ นปช.ไม่สนใจข้อเสนอแนะทางยุทธวิธีให้กลับไปชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯทั้งหมด

-การชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรงของ นปช.บริเวณแยกราชประสงค์ลดขนาดลง แต่กลับถูกทำให้มีลักษณะสู้รบอย่างทหาร (militarized protest) มากขึ้น โดยก่อตั้งรั้วไม้ไผ่เป็นป้อมปราการปิดกั้นถนน ในขณะที่ฟากตรงข้ามกองกำลังทหารก็มาตั้งประจันหน้าเพิ่มขึ้น

-โอกาสของการพูดคุยเพื่อปรองดองกันผ่าน Road Map ของนายกรัฐมนตรีล้มเหลวเพราะการผลัดกันแข็งขืนดื้อรั้นของทั้งสองฝ่าย ทำให้จังหวะคับขันที่อาจยุติความขัดแย้งลงได้โดย ไม่เกิดความรุนแรงมากไปกว่านี้พลัดหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย

-ปฏิบัติการของรัฐบาลโดยกองกำลังทหารต่อผู้ประท้วงแยกราชประสงค์จาก 14-19 พ.ค.2553 นำไปสู่การต่อสู้กันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบของ นปช.ด้วยความรุนแรงเช่นกัน (ดูแผนภูมิประกอบ)


งานวิจัยสรุปพลวัตของความรุนแรงมีนา-พฤษภาอำมหิตไว้ว่า:

"การประท้วงของ นปช.ในกรุงเทพฯ อาศัยการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลักมาแต่แรก ขณะที่การโต้ตอบของฝ่ายรัฐก็อาศัยแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลัก แต่เมื่อกลุ่มบุคคลที่ไม่อาจระบุได้หนึ่งกลุ่มหรือมากกว่า ได้ใช้กลยุทธ์ยกระดับความรุนแรง และได้สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ (pretext) การใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ "กระชับพื้นที่" ที่สะพานผ่านฟ้าฯ ผลที่ตามมาคือทำให้ความขัดแย้งมีลักษณะรุนแรงสุดโต่งมากยิ่งขึ้น (radicalized) เมื่อผนวกกับการใช้ความรุนแรงในรูปต่างๆ ของกลุ่มบุคคลที่ไม่อาจระบุได้และการตัดสินใจใช้กาลังทหาร "กระชับพื้นที่" ของรัฐบาล


จนที่สุดฝ่ายผู้ประท้วงก็โต้ตอบด้วยการใช้ความรุนแรงในฐานะปฏิกิริยาต่อต้านการใช้กำลังของฝ่ายทหารในครั้งที่ 2"


++

92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต: เกิดอะไร? อย่างไร? และทำไม? (ตอนจบ)
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310727805&grpid=&catid=02&subcatid=0207


ทำไมการชุมนุมประท้วงที่ริเริ่มขึ้นอย่างสันติของ นปช. และความพยายามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จะตอบสนองต่อการชุมนุมดังกล่าวอย่างสันติด้วยเช่นกัน กลับต้องจบลงด้วยความรุนแรง?


งานวิจัยเรื่อง "บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม- พฤษภาคม 2553" ของคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สกว. ฟันธงตอบว่า

เพราะกระบวนการตัดสินใจของทั้งฝ่าย นปช.กับฝ่ายรัฐบาลมีปัญหา!

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการตัดสินใจของทั้ง 2 ฝ่าย พอประมวลสรุปได้ 4 ประการด้วย กัน ได้แก่: -

1) ลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งครั้งนี้

2) กรอบคิดและวาทกรรม "สงคราม" และ "การก่อการร้าย"

3) เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรง

4) ฐานความเชื่อและนิยามบางอย่าง



1) ลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งครั้งนี้

ความขัดแย้งครั้งนี้มีอำนาจรัฐเป็นเดิมพันทำให้แก้ไขยาก ต่างจากปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ที่รัฐบาลเผชิญในการชุมนุมมวลชนต่างๆ เช่น กรณีสมัชชาคนจน เป็นต้น

ลักษณะของความขัดแย้งแบบนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะส่วนอย่างเรื่องเขื่อน ท่อก๊าซ หรือโรงไฟฟ้า รัฐบาลเองกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงอย่างไม่อาจวางตัวเป็นอื่น ขอบเขตของผลกระทบและผู้ถูกกระทบ/มีส่วนได้เสียก็กว้างขวางหลายฝ่าย ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็เข้ามาร่วมเป็นตัวแสดงในความขัดแย้ง รวมทั้งฝ่ายอำนาจนอกระบบสถาบันการเมืองปกติด้วย เหล่านี้ส่งผลให้: -

-เจรจาต่อรองประนีประนอมยาก บางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์หรือไม่เห็นด้วยอาจขัดขวาง

-ผู้ชุมนุมเลือกยุทธวิธีเผชิญหน้าท้าทาย ขัดขวางระบบการเมืองปกติ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันยุทธวิธีดังกล่าวก็ย่อมส่งผลขยายวงผู้ถูกกระทบกว้างออกไปด้วย แม้ยุทธวิธีเหล่านี้จะไม่รุนแรง แต่ก็เสี่ยงสูงที่จะถูกปราบปรามจากฝ่ายรัฐ หรือตอบโต้จากฝ่ายอื่น รวมทั้งง่ายที่จะถูกอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงเข้าเล่นงานในบริบทสังคมไทย

-ฝ่ายรัฐบาลเองในฐานะผู้รับผิดชอบ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยหน้าที่ หากปล่อยให้การประท้วงและเหตุรุนแรงโดยผู้กระทำที่ไม่ทราบฝ่ายดำเนินต่อไป ย่อมถูกตราหน้าได้ว่า ขาดประสิทธิภาพและถูกสังคมกดดันให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด


2) กรอบคิดและวาทกรรม "สงคราม" และ "การก่อการร้าย"

กลไกรัฐฝ่ายต่างๆ ใช้วาทกรรม "สงคราม" และ "การก่อการร้าย" มามอง ประเมินค่า ทำความเข้าใจ และชี้นำวิธีปฏิบัติต่อการชุมนุมของ นปช. เห็นได้จากคำอธิบายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ และข้อกล่าวหาต่อแกนนำ นปช. หลังเหตุรุนแรงย่านสะพานผ่านฟ้าวันที่ 10 เมษายน 2553 นอกจากนี้ฝ่ายรัฐยังพยายามเชื่อมโยงการชุมนุมอย่างสันติของ นปช. เข้ากับการก่อเหตุรุนแรงโดยผู้กระทำไม่ทราบฝ่าย ถึงขั้นที่แม้แต่วิธีการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง หากเป็นแค่สัญลักษณ์อย่างการเทเลือด ก็ยังถูกฝ่ายรัฐถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำรุนแรง

ตรรกะของวาทกรรมดังกล่าวจึงกำหนดนำให้มองการประท้วงและผู้ประท้วงว่า เป็นภัยก่อการร้ายที่ต้อง "จัดการ" ให้ได้ ในเมื่อเป็นสภาวะสงครามที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ก็จำต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าต่อสู้เพื่อเอาชนะ แทนที่มาตรการทางการเมือง แม้จะเกิดความรุนแรงหรือสูญเสียขึ้นก็ตาม


3) เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรง

เหตุรุนแรงสืบเนื่องจากการที่ฝ่ายรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้า "ขอคืนพื้นที่" บริเวณสะพานผ่านฟ้าและถนนราชดำเนิน รวมทั้งการปะทะและปรากฏตัวของกลุ่มติดอาวุธ "ชายชุดดำ" ที่ยังไม่สามารถระบุฝ่ายได้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการลื่นไถลไปสู่ความรุนแรง เพราะมันส่งผลต่อการรับรู้ของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย เสมือนหนึ่งฝันร้ายที่สุดของแต่ละฝ่ายได้ปรากฏประจักษ์เป็นจริงขึ้นต่อหน้าต่อตา กล่าวคือ

สำหรับฝ่ายผู้ชุมนุม เหตุการณ์นี้กลายเป็นเสมือนข้อพิสูจน์ยืนยันว่า ฝ่ายรัฐบาลพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับตน ได้ใช้ให้เห็นแล้ว และย่อมจะต้องใช้อีก ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปหาวิธีตั้งรับหรือ ตอบโต้ด้วยความรุนแรงบ้างเช่นกันในนามของ "การป้องกันตนเอง" ขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ กลับยิ่งไปเสริมฐานะความชอบธรรมของฝ่ายหัวรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งเอาเข้าจริงเป็นคนส่วนน้อยในขบวนผู้ชุมนุม ให้ขึ้นมามีอิทธิพลต่อขบวนสูงขึ้น

สำหรับฝ่ายรัฐบาล การปรากฏตัวและปฏิบัติการของ "ชายชุดดำ" อันนำไปสู่การสูญเสียของฝ่ายทหาร กลายเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันสมมุติฐานที่มีมาแต่เดิมแล้วว่า การเคลื่อนไหวของ นปช.ไม่ใช่ขบวนการสันติวิธี ช่วยเสริมฐานะความชอบธรรมของปีกเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยวที่นิยมความรุนแรง ให้ขึ้นครอบงำปฏิบัติการของรัฐ ส่งผลให้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งหลัง มีลักษณะทำสงครามมากกว่าสลายการชุมนุมธรรมดา คือเน้นการโจมตีก่อนเพื่อป้องกันฝ่ายตนสูญเสีย

เจตคติต่อกันดังกล่าว กลายเป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือตระเตรียมและพัฒนามาตราการวิธีการที่รุนแรงมากขึ้น เพื่อตอบโต้กันในนามของการป้องกันตนเอง ทำให้การจัดการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปในแนวทางสันติทำได้ยากขึ้น แม้ว่าผู้คนส่วนหนึ่งทั้งในฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุมจะยังเชื่อมั่นยืนยันแนวทางสันติก็ตาม

กล่าวเฉพาะแกนนำ นปช. การตัดสินใจไม่ย้ายกลับมาชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า หากรวมศูนย์การชุมนุมทั้งหมดไว้ที่แยกราชประสงค์ และการตัดสินใจของแกนนำบางส่วนที่ปฏิเสธแผน Road Map ความปรองดองแห่งชาติของนายกฯอภิสิทธิ์ ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัดและยากที่จะเข้าใจได้ นับเป็นการพลาดโอกาสสำคัญในอันที่จะรักษาชีวิตผู้ร่วมขบวน และหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการสูญเสียเพิ่มเติม


ประเด็นนี้สามารถเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับแนวทางประท้วงโดยสันติวิธีของสมัชชาคนจน ที่เมื่อเผชิญสถานการณ์เสี่ยงก็มักยอมถอยทางยุทธวิธี หรือแม้แต่ยอมแพ้ชั่วคราวใน บางลักษณะเพื่อถนอมรักษาชีวิตผู้คน

ในส่วนมวลชนผู้เข้าร่วมชุมนุมของ นปช. นอกจากมีจำนวนมาก ทำให้คุมได้ยากแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการฝึกอบรมหรือทำความเข้าใจแนวทางสันติวิธีมาอย่างดีก่อนประท้วง เป็นไปได้ว่าสันติวิธีในความเข้าใจของพวกเขาคือ "การไม่ใช้ความรุนแรงก่อน" เท่านั้น ทำให้เมื่อถูกปราบปราม หรือกระทำโดยรุนแรง ทางเลือกในการตอบโต้ที่คิดได้จึงมีลักษณะรุนแรงอย่างเป็นไปเองมากกว่าสันติ


4) ฐานความเชื่อและนิยามบางอย่าง

คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมีฐานความเชื่อและนิยามบางอย่างที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงดำรงอยู่ในวิธีคิดเรื่องการจัดการความขัดแย้ง และจินตนาการถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ของตน ที่สำคัญได้แก่

ก) ถือว่าเป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ เพื่อเป้าหมายสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงหรือรักษาสถานภาพเดิมทางการเมืองไว้ หากต้องใช้วิธีความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียไปบรรลุมัน ก็จำเป็นต้องทำ/หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้วิธีการที่ใช้แก้ไขปัญหานั้นแหละ กลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง

ข) มองปัญหาความขัดแย้งเชื่อมโยงไปที่ประเด็นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันการเมืองอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์สูงส่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย เมื่อคู่ขัดแย้งนำสถาบันศักดิ์สิทธิ์มาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมส่งผลให้ง่ายมากที่ความขัดแย้งจะไต่บันไดสูงขึ้น กลายเป็นความรุนแรง ไม่ต่างจากความขัดแย้งเรื่องศาสนา อันเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในสังคมต่างๆ ของโลก

สรุป

งานวิจัยสรุปบทเรียนที่ได้จากกรณีนี้ โดยมุ่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงของรัฐว่า เมื่อเผชิญปัญหาความมั่นคงในกรณีความขัดแย้งที่ผูกพันกับสถาบันอันเป็นแกนกลางของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสถาบันที่เชื่อมโยงจินตนาการความเป็นชาติของคนทั้งประเทศเข้าด้วยกัน ด้วยแล้ว


การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้วิธีการรุนแรงหรือสันติวิธีเข้าแก้ไข พึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมลึกซึ้งใหญ่หลวงต่อความรู้สึกยึดมั่นร่วมเป็นสังคมเดียวกัน และชาติเดียวกันของผู้คนทั้งหลายต่อไป

การตัดสินใจดังกล่าวพึงตั้งอยู่บนงานข่าวที่ผสานเชื่อมโยงเข้ากับความเข้าใจภาพใหญ่โดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะทิศทางที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป อย่าให้ความเชื่อบดบังความจริง อย่าเลือกเฉพาะข่าวที่ตอบสนองจริตเป้าหมายของตนเอง และอย่ามองแต่ในกรอบนิยามความมั่นคงอย่างแคบ โดยอาศัยกำลังทหารเป็นหลัก

อุปมาอุปไมยได้ว่า ความรู้สึกเป็นสังคมเดียวกันชาติเดียวกันนั้น เหมือนแก้วอันเปราะบาง ปริร้าวแล้วก็อาจแตกเลย ยากจะรักษาให้คืนดีดังเดิมได้


การจะปกป้องรักษาแก้วมณีดังกล่าว จึงมิควรมองแคบคิดตื้น เอะอะก็เอาแต่จะเงื้อตะบองเหล็กเข้ากระหน่ำทุบด้วยกำลัง เพราะแรงสะเทือนของมันอาจส่งผลตรงข้าม จนแก้วนั้นแตกแหลกละเอียดไปหมดก็เป็นได้

ดังที่ 92 ชีวิตและดวงใจของญาติมิตรของพวกเขาอีกมากมายหลายร้อยหลายพันดวง ต้องแหลกลาญสลายไประหว่างมีนา-พฤษภาอำมหิตของปีที่ผ่านมา

จะรักษาแก้วใจแห่งชาติให้กลับฟื้นคืนดี หลังการฆ่าหมู่แบบนั้นได้อย่างไร ?


.