http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-11

เหยี่ยว-พิราบ-กระจอกฯ และ ข้อสอบวิชาความมั่นคง! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

เหยี่ยว-พิราบ-กระจอก กองทัพกับการเมืองไทย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 37


" ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด
ก็ยิ่งเหมือนเดิมมากขึ้นเท่านั้น "
สุภาษิตฝรั่งเศส


การเมืองไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จวบจนถึงปัจจุบัน ยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามหลักประการหนึ่งก็คือ ทหารจะแทรกแซงการเมืองหรือไม่... กองทัพจะทำรัฐประหารหรือไม่?

คำถามเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเมืองไทยแม้จะมีพัฒนาการในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ยังคงถูกพันธนาการอยู่กับบทบาทของกองทัพ การตัดสินใจของผู้นำกองทัพกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดของการกำหนดทิศทางและความเป็นไปของการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามในแต่ละยุคของการเปลี่ยนแปลงจึงมักจะถูกตอบจากปรากฏการณ์ที่เป็นจริงด้วยการหวนคืนสู่อำนาจของทหาร ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น

- การเปลี่ยนแปลงหลังจากยุค 2475 ซึ่งก็จบลงด้วยรัฐประหารสำคัญในปี 2490 และตามมาด้วยรัฐประหารอีกหลายครั้ง จนกระทั่งผู้นำทหารอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถรวบอำนาจได้จริงจากการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของเขาในปี 2501 และนำพาการเมืองไทยเข้าสู่ "ยุคทหาร" อย่างแท้จริง

- การเปลี่ยนแปลงหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็จบลงด้วยรัฐประหารในปี 2519 (เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ) และตามมาด้วยการรัฐประหารทั้งสำเร็จและล้มเหลว จนกระทั่งการเมืองไทยเริ่มจะมีเสถียรภาพได้ ดังปรากฏให้เห็นจากการขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องจบลงด้วยรัฐประหารในช่วงต้นปี 2534

- การเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตการณ์พฤษภาคม 2535 แม้จะดูเหมือนการเมืองภาคประชาชนชนะ พร้อมกับการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ในปี 2540 และตามมาด้วยการขึ้นสู่อำนาจรัฐบาลแบบ "ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในต้นปี 2544 แต่ก็เช่นกัน

ในที่สุดก็ต้องจบลงด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549



จากปรากฏการณ์อย่างหยาบๆ ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น บอกเราอย่างชัดเจนว่า การเมืองไทยยังถูกพันธนาการอยู่กับบทบาทของทหารอย่างไม่เปลี่ยนแปลง และเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากรัฐประหารในปี 2549 ที่ส่งเสริมให้บทบาทของกองทัพยิ่งขยายตัวมากขึ้นในการเมืองไทย แม้หลายๆ คนจะเคยตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพหลังจากวิกฤตการณ์ในปี 2535 นั้น จะลดบทบาทลงอย่างมากแล้วก็ตาม

การหวนคืนของรัฐประหาร 2549 และการขยายบทบาทอย่างมากของกองทัพในบริบทต่างๆ ทั้งในทางการเมืองและสังคม ได้กลายเป็น "โจทย์ยุทธศาสตร์" ของการเมืองไทยไปโดยปริยายว่า การสร้างประชาธิปไตยไทย จะต้องตอบคำถามเรื่องบทบาทของทหารกับการเมืองให้ได้

และทำอย่างไรที่การเมืองบนเส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตนั้น จะไม่ถูกสะดุด หรือถูกขัดขวางจากการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร จนกลายเป็น "วงจรอุบาทว์" ของการยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แน่นอนว่าในความเป็นจริง ไม่มี "สูตรสำเร็จ" ที่จะทำให้เกิดการถอนตัวของทหารออกจากการเมืองไทยอย่างยั่งยืน

ดังจะเห็นได้ว่า แม้หลังการถูกบังคับให้ต้องถอนตัวออกจากเวทีการเมืองในยุค 14 ตุลาคม 2516 แต่เมื่อมีภัยคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองในอินโดจีน ชนชั้นนำและผู้นำทหารก็อาศัยประเด็นดังกล่าวเป็นช่องทางในการกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2519 ระบอบการเลือกตั้งซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากการล้มลงของระบอบทหารจึงดำรงอยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ (ตุลาคม 2516-ตุลาคม 2519)

แต่ดูเหมือนหลังจากการยึดอำนาจในปี 2519 แล้ว กองทัพกลับต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะผลจากการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ทำให้คนเป็นจำนวนมากตัดสินใจเข้าสู่ชนบทร่วมกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

สัญญาณที่ชัดเจนจากการล้อมปราบและรัฐประหารในช่วงเวลาดังกล่าว กลายเป็นการบ่งบอกถึงโอกาสของการยกระดับสงครามภายในขึ้นเป็น "สงครามกลางเมือง"

ซึ่งก็คาดการณ์ได้ไม่ยากนักว่า ผลของสงครามกลางเมืองในไทยจะไม่แตกต่างจากสงครามในอินโดจีนอย่างแน่นอน!



ความกลัวต่อความพ่ายแพ้ในสงครามภายในกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทัศนะของผู้นำทหาร พวกเขาจำเป็นต้องปรับตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้นำกองทัพถูก "บังคับ" ให้ต้องปรับทัศนะทั้งทางการเมืองและการทหารหลังจากการล้อมปราบในปี 2519

ถ้าพวกเขายังแข็งขืนด้วยการดำเนินนโยบาย "ขวาสุด" อย่างที่ชนชั้นนำและกลุ่มการเมืองปีกขวาต้องการผลักดันแล้ว ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า การเมืองไทยจะเดินเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ชนชั้นนำและกลุ่มขวาจัดอาจจะยังมีความหวังว่า ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นว่านั้น สหรัฐอเมริกาก็จะเข้าแทรกแซง เพราะรัฐบาลวอชิงตันคงไม่ยอมปล่อยให้ไทยกลายเป็น "โดมิโนตัวที่ 4" หลังจากการล้มลงของโดมิโนทั้งสามตัวในอินโดจีน

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลอเมริกันได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากอินโดจีน ประกอบกับประชามติในสังคมและในรัฐสภาล้วนแต่ต้องการยุติบทบาทของการเป็น "ตำรวจโลก" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้นำทหารสายปฏิรูปในขณะนั้นดูจะตระหนักอย่างดีว่า พวกเขาไม่อาจพึ่งพาสหรัฐได้เช่นในอดีตของยุคสงครามเวียดนาม เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐต้องพึ่งพาฐานทัพอากาศในไทย สหรัฐจึงต้องปกป้องและคุ้มครองประเทศไทยอย่างเต็มที่ แต่เมื่อหมดยุคสงครามเวียดนามแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งฐานทัพอากาศในไทยอีกแต่อย่างใด

ยิ่งข้อจำกัดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางรัฐสภาในวอชิงตัน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลอเมริกันไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงได้อย่างอิสระ แต่ดูเหมือนว่าชนชั้นนำและกลุ่มขวาจัดยังคงคิดที่จะฝากความหวังไว้กับการแทรกแซงของวอชิงตัน

ผู้นำทหารอย่าง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น "หัวขบวน" ของการแหวกกระแสขวาจัดด้วยการทำรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2520 และโค่นรัฐบาลขวาจัดเพื่อก่อให้เกิดการปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย

อย่างน้อยพวกเขาหวังว่าการไม่ดำเนินนโยบายขวาจัดจะเป็นเงื่อนไขแรกของการ "ถอย" ประเทศไทยออกจากสงครามกลางเมือง พร้อมกันนั้นเงื่อนไขสำคัญอีกประการก็คือ การเตรียม "เปิด" ระบบการเมืองที่สร้างให้เกิดความเป็นเสรีนิยม (liberalization) ขึ้น

อันจะเป็นการปูทางไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) ให้เกิดขึ้นในระบบการเมืองไทย



วิธีคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้นำทหารเช่นพลเอกเกรียงศักดิ์กับชนชั้นนำและกลุ่มขวาจัดก็คือ พวกเขาคิดที่จะต่อสู้กับสงครามกลางเมืองและคอมมิวนิสต์ด้วยแนวทางที่ต่างกัน

ถ้าเรายอมรับว่ากลุ่มทหารแบบพลเอกเกรียงศักดิ์เป็นพวก "พิราบ" หรือแนวปฏิรูปแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า คนในกลุ่มนี้เลือกที่จะต่อสู้ด้วยแนวทางการเมือง

พวกเขาต้องการเดินไปในทิศทาง "การเมืองนำการทหาร" ที่สำคัญก็คือ พวกเขาไม่เชื่อว่าการปกครองแบบอำนาจนิยมจะเป็นคำตอบของชัยชนะในการต่อสู้กับ พคท.

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ทหารในกลุ่มนี้จะผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมต่อผู้ถูกจับกุมและผู้ที่เข้าร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แต่สำหรับกลุ่มทหารและพลเรือนขวาจัด (ที่รวมถึงชนชั้นนำและกลุ่มการเมืองปีกขวา) หรือที่เรียกว่าสาย "เหยี่ยว" แล้ว พวกเขาเชื่อในเรื่องของระบอบอำนาจนิยม พวกเขามองว่าถ้าต้องแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ก็จะต้องใช้แนวทางของการปราบปรามเป็นทิศทางหลัก

ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลทหารซึ่งเป็นรากฐานของระบอบอำนาจนิยมจึงเป็นคำตอบหลักในทางการเมือง พร้อมกันนั้นก็มักจะใช้นโยบายแข็งกร้าวในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ ทิศทางหลักก็คือนโยบาย "การทหารนำการเมือง" โดยมีพื้นฐานทางความคิดที่เชื่อมั่นในพลังอำนาจทางทหาร

และเชื่อว่าอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจะเป็นหนทางของการเอาชนะสงคราม พคท. ซึ่งดูเหมือนพวกเหยี่ยวจะลืมคิดไปว่า อำนาจทางทหารของสหรัฐที่เหนือกว่าในสงครามเวียดนามไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สหรัฐชนะสงครามได้แต่อย่างใด ดังนั้น พวกเหยี่ยวทั้งในกองทัพและนอกกองทัพจึงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในกรณี 6 ตุลาคม 2519 แต่อย่างใด ที่สำคัญก็คือ พวกเขามองว่าการกระทำดังกล่าวเป็น "การประนีประนอม" กับพวกบรรดาฝ่ายซ้ายทั้งหลาย

ทางเลือกจึงน่าจะต้องเป็นการใช้มาตรการแข็งกร้าว และหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการจัดการกับกลุ่มตรงข้ามอย่างเบ็ดเสร็จได้



แนวคิดของสายเหยี่ยวที่สำคัญอีกประการก็คือ หากเกิดปัญหาในทางการเมืองขึ้นเมื่อใดก็ตาม ทางออกก็คือ จะต้องใช้วิธีของการจัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยมเข้าบริหารประเทศ ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาผู้นำทหารให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการกดดัน เช่น การใช้การตบเท้าของหน่วยกำลัง อันเป็นเสมือนการแสดงพลังอำนาจทางทหารโดยตรง หรือการแสดงออกในลักษณะของการสร้างวาทกรรมหรือคำพูดต่างๆ ในทางการเมือง เป็นต้น หรืออาจจะเป็นรูปแบบของการแทรกแซงโดยตรง เช่น การเคลื่อนกำลังเพื่อการรัฐประหาร

แม้จะเคยมีความเชื่อกันว่า แนวคิดของผู้นำทหารสายเหยี่ยวน่าจะยุติไปแล้วจากผลพวงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 ตลอดรวมถึงการยอมรับถึงผลเชิงลบที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534

แต่แล้วในที่สุด เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แนวคิดสายเหยี่ยวก็ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และจบลงด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 รัฐประหารนี้จึงเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของการหวนคืนของแนวคิดสายเหยี่ยวในกองทัพไทย (เช่นเดียวกับในสังคมไทยด้วย)

และในขณะเดียวกัน ก็นำพาเอาผู้นำทหารสายเหยี่ยวให้สามารถเพิ่มพูนอำนาจทั้งในทางการเมืองและการทหาร หลังจากพวกเขาอยู่ในภาวะถดถอยหลังจากพฤษภาคม 2535 และในยุครัฐบาลทักษิณ

และที่สำคัญ การฟื้นตัวของบรรดาเหยี่ยวทั้งหลายก็คือ การปลุกกระแสชาตินิยมด้วยปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ที่สร้างให้เกิด "เหยี่ยว" ในหลายๆ กลุ่ม หลายๆ สาขาวิชาชีพ จนกลายเป็น "กับดัก" ของประเทศ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งผลให้ "เหยี่ยวทหาร" กลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการต่างประเทศไทย



ในอีกด้านหนึ่ง การฟื้นตัวของสายเหยี่ยวทำให้กองทัพไทยวันนี้ต้องเข้าไปยุ่งกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถถอนตัวออกจากการเมืองได้ด้วย มีแต่จะถลำลึกไป

จนกลายเป็นว่าวันนี้ผู้นำกองทัพก็ตัดสินใจเอาสถาบันทหารไปพันธนาการอยู่กับเวทีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไม่มีทางออก

ยิ่งแสดงพลัง ก็ยิ่ง "ติดกับ" การเมือง

แต่ขณะเดียวกันก็มองไม่เห็นว่า พวกเขาจะชนะสงครามทางการเมืองในครั้งนี้ได้อย่างไร

และยิ่งมองไปทั้งในเมืองและในชนบทก็เห็นการขยายตัวของกลุ่มต่อต้านการแทรกแซงของทหารในการเมืองอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว...

จนบางที "เหยี่ยว" ก็อาจกลายเป็นเพียง "นกกระจอกตัวเล็ก " ที่ติดบ่วงเอาตัวไม่รอด !



++

ข้อสอบวิชาความมั่นคง! โจทย์รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 37



"การเปลี่ยนจากการเล่นโปโลบนหลังม้า ไปเป็นโปโลในน้ำ
ไม่ได้เปลี่ยนหลักการหรือวัตถุประสงค์ของการเล่นแต่อย่างใด
หากแต่การแข่งขันถูกเปลี่ยนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างหาก
เช่น ผู้เล่นบางคนอาจจะเล่นเก่งบนหลังม้า มากกว่าเล่นเก่งในน้ำ "
Jonathan Kirshner
Globalization and National Security (2006)


กล่าวนำ

หนึ่งหัวข้อสำคัญที่ดูจะถูก "ละเลย" อย่างมากจากการหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็คือ แต่ละพรรคดูจะไม่มีนโยบายด้านความมั่นคงที่ชัดเจน

แม้พรรคใหญ่ทั้งสองจะกล่าวถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ้าง แต่กับปัญหาความมั่นคงจริงๆ แล้ว แต่ละพรรคดูจะไม่ได้มีท่าทีอะไรที่ชัดเจนเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงปัญหาหรือการนำเสนอแนวทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว เราพอจะกำหนดปัญหาความมั่นคงที่เป็นประเด็นสำคัญๆ และเป็นโจทย์หลัก

ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะต้องถือว่าเป็น "โจทย์เก่า" (ไม่ใช่เรื่องของปัญหาความมั่นคงใหม่) ให้แก่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1"



ข้อสอบ 3 ข้อ

โจทย์ข้อ 1 :

จะสร้างความมั่นคงทางการเมืองอย่างไร ?

หากพิจารณาถึงปัญหาการเมืองไทยปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญของความมั่นคงทางการเมืองก็คือ การขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ดังเห็นได้ชัดเจนว่านับตั้งแต่รัฐประหารกันยายน 2549 เป็นต้นมา ระบอบการเมืองไทยมีความไร้เสถียรภาพติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างกับในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะถูกยุติด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และผู้ชนะก็จะสถาปนาอำนาจทางการเมืองจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้น อันนำไปสู่การมีเสถียรภาพในทางใดทางหนึ่ง

ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นแบบแผนปกติของการเมืองไทย จนทำให้เกิดความเชื่อว่า การต่อสู้ทางการเมืองและการไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็น "ภาวะชั่วคราว" และมักจะดำรงอยู่ในระยะเวลาไม่นานนัก แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้ว่าระยะเวลาของการไร้เสถียรภาพมีภาวะต่อเนื่องและยาวนาน

ผลของการต่อสู้ทางการเมืองนำไปสู่ "สงครามเสื้อสี" ระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากลุ่มพลังจารีตนิยม-อนุรักษนิยม และแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยและไม่ยอมรับต่อกระบวนการเลือกตั้ง

ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้งและสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง การต่อสู้เช่นนี้ผูกโยงกับทั้งสถาบันที่สำคัญและกับตัวละครสำคัญหลายๆ คนในการเมืองไทย โดยเฉพาะในกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกสร้างขึ้นให้เป็นเสมือน "ผี" ในการเมืองไทย ไม่แตกต่างจากในอดีตที่มีการปลุก "ผีคอมมิวนิสต์"

แม้ผลการเลือกตั้งจะตัดสินชัยชนะด้วยการออกเสียงของประชาชน แต่ก็ไม่สามารถ "สถาปนาชัยชนะ" ได้อย่างแท้จริง

และแม้ว่ากลุ่มจารีตนิยม-อนุรักษนิยมจะพ่ายแพ้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จทุกครั้งในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


ดังนั้น ผลการเลือกตั้งหลังวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1" แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตลอดเวลาว่า รัฐบาลนี้จะมีอายุยืนยาวได้นานเพียงใด และหากรัฐบาลจะถูกทำให้ต้องยุติบทบาทลงจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ ผลที่เกิดขึ้นก็คือคำยืนยันว่า ปัญหาความมั่นคงที่สำคัญก็คือ ความไร้เสถียรภาพของระบอบการเมืองไทย หรือเราอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ปัญหา "ความมั่นคงของระบอบการปกครอง" (Regime Security)

โจทย์นี้ใช่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาท้าทายต่อรัฐบาลในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่จะต้องถือว่าเป็นโจทย์ของประเทศด้วย เพราะความไร้เสถียรภาพของระบอบการเมือง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงแห่งชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



โจทย์ข้อ 2 :

จะสร้างความมั่นคงชายแดนอย่างไร ?

ปัญหาสำคัญอีกประการก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและความมั่นคงตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่รัฐบาลกัมพูชาพยายามผลักดันให้ปราสาทพระวิหารได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลกในปี 2550 นั้น

ประเด็นนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเด็นในปี 2551 ด้วยการผูกโยงประเด็นเข้ากับการต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร และการโค่นล้มรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช พร้อมๆ กับการสร้าง "กระแสชาตินิยม" ภายใต้วาทกรรม "เอาเขาพระวิหารคืน" ซึ่งดูจะเป็นเสมือนการคืนชีพของขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนในยุคสงครามอินโดจีน (ช่วงปี 2483-2484)

กลุ่มจารีตนิยม-อนุรักษนิยมประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นการปลุก "กระแสชาตินิยมสุดขั้ว" และส่งผลให้เกิดความร้าวฉานอย่างรุนแรงในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และนำไปสู่การรบตามแนวชายแดนถึง 2 ครั้งในช่วงต้นปี 2554 (แนวรบที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์)

ในขณะเดียวกัน กระแสชาตินิยมสุดขั้วก็ผลักดันให้เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงเช่นกันใน "แนวรบยูเนสโก" จนในที่สุดผู้แทนไทยได้ตัดสินใจ "เดินออก" จากที่ประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก

และดูจะสร้างความตกใจอย่างมากกับประชาคมระหว่างประเทศถึง "ท่าทีสุดโต่ง" ของผู้แทนไทย ซึ่งก็อาจจะสร้าง "ความสะใจ" ให้กับบรรดากลุ่มที่สนับสนุนท่าทีที่แข็งกร้าวของไทย แต่ก็คงต้องยอมรับด้วยความมีเหตุผลว่า ท่าทีดังกล่าวกลับเป็นเสมือนค้อนที่ช่วยโหมทุบให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาต้องพังทลายลงมากขึ้นอีก

ความท้าทายต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คือ รัฐบาลจะช่วยซ่อมสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างไร โดยที่กลุ่มชาตินิยมสุดขั้วสามารถยอมรับได้และไม่ออกมาเคลื่อนไหวจนกลายเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มจารีตนิยม-อนุรักษนิยมใช้เป็นช่องทางผลักดันให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยม

หรือในระดับต่ำก็คือ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการเคลื่อนไหวด้วยกระแสชาตินิยม และนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองครั้งใหม่



โจทย์ข้อ 3 :

จะสร้างความมั่นคงในภาคใต้อย่างไร ?

ปัญหาความมั่นคงในกรณีนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่การปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 (ในสมัยรัฐบาลทักษิณ) นับจากเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออาจกล่าวได้ว่า จนล่วงเข้าปีที่ 8 (2554) แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ยัง "มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด"

ความรุนแรงเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่ง ชี้ให้เห็นบริบทของปัญหาความมั่นคงไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะในอดีตนั้นปัญหาความมั่นคงเป็นเรื่องของภัยคุกคามทางทหารที่มาจากตัวแสดงที่เป็นรัฐ ในรูปแบบของสงครามตามแบบ

หากปัจจุบันตัวแบบของปัญหาเป็นประเด็นของภัยคุกคามทางทหารที่มาจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ อีกทั้งปัญหามีความละเอียดอ่อนมากขึ้นเมื่อความรุนแรงถูกขับเคลื่อนด้วยความเชื่อและความศรัทธาในบริบทของศาสนา-วัฒนธรรม อีกทั้งยังผูกโยงอยู่กับเรื่องราวในประวัติศาสตร์


ความท้าทายของปัญหาในอีกด้านหนึ่งผูกอยู่กับขีดความสามารถในการบริหารจัดการตัวรัฐเอง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า องค์กรบริหารจัดการความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

แม้รัฐบาลชุดเก่าจะยืนยันว่า ศอ.บต. เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ และหากไม่เป็นจริงแล้ว องค์กรบริหารจัดการใหม่ควรจะเป็นเช่นไร

ปัญหานี้ยังรวมถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของพลเรือน ตำรวจ และทหาร ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องใช้องค์กรของทหารอย่าง กอ.รมน. เท่านั้นเป็นหลัก

และถ้าจะเอา กอ.รมน. ไว้ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแล้ว ทำอย่างไรที่องค์กรนี้จะไม่ใช่ "องค์กรฟอกเงิน" ของกองทัพ

ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้ท้าทายต่อการบริหารจัดการทรัพยากรว่า รัฐบาลจะจัดสรรต่อความขาดแคลนอุปกรณ์บางอย่างในทางความมั่นคงอย่างไร เช่น ชุดเก็บกู้ระเบิด เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจจับวัตถุระเบิด เป็นต้น

การจัดหาที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกล่องพลาสติกเปล่า จีที-200 หรือเรือเหาะล้วนสะท้อนถึงความล้มเหลวอย่างมากในการจัดซื้อเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในสนามของเจ้าหน้าที่

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 คงจะต้องตระหนักว่า ตัวแบบของความล้มเหลวเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่รัฐบาลจะต้องตอบให้ได้ว่า ในที่สุดแล้วรัฐบาลจะจัดระบบจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ อย่างไร

และคำถามที่ใหญ่มากขึ้นอีกระดับหนึ่งก็คือ ปัญหาการจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงในกรณีของภาคใต้ควรจะดำเนินการอย่างไร จะควบคุมการรั่วไหลอย่างไร และจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งบประมาณอย่างไร

ในอีกมุมหนึ่งของปัญหารัฐบาลจะจัดความสัมพันธ์กับองค์กรอิสลามโลกอย่างโอไอซีอย่างไร จะชี้แจงและจะสร้างความเข้าใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างไร

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโอไอซียังเป็น "ตัวแสดงสำคัญ" ในกระบวนการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่โลกมุสลิม และจะต้องแสดงให้เห็นทิศทางเชิงนโยบายที่ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยไม่มีความประสงค์ที่จะ "กดขี่หรือเบียดเบียน" พี่น้องมุสลิม

ตรงกันข้ามรัฐบาลมีความประสงค์ที่ต้องการให้เกิดความสงบและความสันติสุขเกิดแก่ประชาชนทุกศาสนาและทุกหมู่เหล่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้


อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งใน "ปัญหามหาหิน" ของการแก้ไขปัญหาความมั่นคงไทยร่วมสมัย ปัญหาเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาในบริบทของรัฐเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาในบริบททางสังคมด้วย

เพราะในอีกด้านหนึ่งก็คือ ประเด็นเรื่องของ "อัตลักษณ์ทางสังคม" ที่อาจจะเรียกได้ว่าเรื่องเช่นนี้เป็น "ความมั่นคงทางสังคม" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำรงอยู่ในบริบทที่หลากหลาย จะคิดเอาชนะแต่เพียงในรูปแบบการสู้รบในสงครามแบบเก่าไม่ได้ แต่จะไม่ทำงานยุทธการที่จะต้องเอาชนะทางการทหารก็ไม่ได้

ความท้าทายต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คือ จะทำอย่างไรที่รัฐบาลจะกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การเอาชนะทางการเมือง

พร้อมๆ กับการเอาชนะทางทหารที่ทำให้ฝ่ายรัฐสถาปนาความสงบและความสงบสุขให้เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่ให้ได้โดยเร็วอย่างแท้จริง!


.