http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-20

ชนะเลือกตั้งยังไร้อำนาจฯ, ปชป.จัดกำลังฯ, เสื้อแดง..บนเส้นทางแนวร่วม โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ชนะเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ นายกฯ หญิงต้องออกแรง...เสื้อแดงต้องกลืนเลือด
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 20


หลายคนคงแปลกใจว่าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. 265 เสียง เกินครึ่งสภา รวมกับพรรคที่จะร่วมรัฐบาลก็มีถึง 300 เสียง

ทำไมยังรู้สึกเหมือนต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ ผู้สมัคร ส.ส. และผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งยังต้องอยู่ในคุก

ฝ่ายเผด็จการซ่อนรูปยังลอยหน้าอยู่ได้สบายมาก ทั้งๆ ที่ชัยชนะครั้งนี้ มีฐานเสียงสนับสนุนของประชาชนรวม 20 ล้านคะแนน

มีผู้วิเคราะห์ว่าชัยชนะครั้งนี้ แม้เป็นความก้าวหน้าของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ยกระดับจากการตั้งรับหลังรัฐประหาร 2549 ขึ้นมายันกับกลุ่มอำนาจเก่าได้อย่างสูสี (ในช่วงเวลานี้) แต่ไม่ได้มีความเหนือกว่าจนสามารถทำอะไรตามที่ต้องการได้ทุกเรื่อง เพราะอำนาจที่ได้จากชัยชนะครั้งนี้เป็นอำนาจที่ได้จากการปฏิรูป ซึ่งจะแตกต่างกับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติ จึงเป็นชัยชนะที่มีขอบเขตของอำนาจตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าได้วางยาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550


สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง 2554 ...วิเคราะห์ตามโครงสร้างอำนาจได้ดังนี้

1. อำนาจนิติบัญญัติ ผู้ชนะเลือกตั้งเป็นฝ่ายได้เปรียบ มีเสียงในสภาผู้แทนฯ ถึง 300 คนจาก 500 คน แต่ในวุฒิสภา กลุ่มอำนาจเก่าก็สามารถตั้งสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาตามที่ตัวเองต้องการได้ประมาณ 70 คน จากวุฒิสภาทั้งหมด 150 คน

2. อำนาจบริหาร ผู้ชนะสามารถตั้งรัฐบาลผสมซึ่งมีเสียงสนับสนุนถึง 300 เสียง และจะมีอำนาจบริหารในอีกไม่กี่วันนี้

3. อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังการเลือกตั้ง ดังนั้น กลุ่มอำนาจเก่าจึงยังสามารถใช้กฎหมายและดุลพินิจ กดดันฝ่ายบริหารชุดใหม่ได้ต่อไป

4. อำนาจทางการทหาร ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้ฝ่ายบริหารสามารถตั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เข้ามาดูแลกำกับทหารทั้งหมด แต่สภาพความเป็นจริงในประเทศไทย รัฐมนตรีกลาโหมสั่งทหารไม่ได้

5. อำนาจนอกระบบและกลุ่มทุนเก่า ยังมีกำลังพอที่จะขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย แต่พลังเหลือน้อยทำได้แค่จุดประเด็น แล้วต้องผ่านไปให้องค์กรอื่นรับลูกต่อ

6. พลังมวลชนก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่และมีความเข้มข้นทางการเมืองสูงจนอาจเป็นอำนาจพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่ากลุ่มอำนาจทุกกลุ่ม สถานการณ์ล่าสุด ผู้ชนะการเลือกตั้งยังได้รับการสนับสนุนมากกว่าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพทางความคิด พลังนี้ถ้ายิ่งถูกบีบก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นและเข้มแข็งขึ้น แต่การจะใช้พลังส่วนนี้ไปพัฒนาและสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง ต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือความรุนแรงที่บีบคั้นมากๆ พลังส่วนนี้จะแรงไปตามสถานการณ์ทันทีและคาดว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดควบคุมได้

เมื่อประเมินอำนาจจาก 6 ฐาน จะพบว่า ณ ช่วงเวลานี้ กำลังของทั้งสองฝ่ายยันกันอยู่ได้พอดี การเดินเกมต่อไปทุกก้าวจึงมีความสำคัญ

เพราะกลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมแพ้

เสียงของประชาชน 35 ล้านคนที่เลือก ส.ส. ในวันนี้อาจยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแนวคิดของกลุ่มอำนาจเก่า ให้เข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ตัวอย่างกรณี คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ กกต. รับรองเป็นคนสุดท้ายเพราะถูกขังอยู่ในคุก ไม่ว่า กกต. จะมีข้ออ้างอย่างไร ฝ่ายกฎหมายของพรรคก็มีข้อมูลมาหักล้างได้ทุกอย่าง แม้หลายคนจะรู้ว่าถึงที่สุดก็ต้องรับรอง แต่จตุพรคงถูกแขวนไปจนถึงช่วงต่อเวลานาทีสุดท้าย

จนมีข่าวออกมาว่า มีคนพยายามบีบ กกต. เพราะต้องการสั่งสอนจตุพรให้เข็ดหลาบ ต้องการให้ติดคุกนานที่สุด พยายามขัดขวางไม่ให้ไปเข้าประชุมวันเปิดสภา แต่เรื่องแบบนี้คงไม่ทำให้คนระดับจตุพรเข็ดหลาบ แต่จะยิ่งทำให้แค้นฝังลึกและคนทั่วไปก็จะเข้าใจเรื่องสองมาตรฐานมากขึ้น เข้าใจว่า คนเสื้อแดงเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร ใครเป็นคนรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยแห่งความอยุติธรรมให้

ถ้ายังมีเหตุการณ์แบบปี 2549-2553 เกิดขึ้นอีก ความรุนแรงอาจตามมา ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุเท่านั้น



ต้องแก้ไขด้วยการร่างกติกาใหม่ที่เป็นธรรม

ตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในวันนี้ นักรัฐศาสตร์ชี้ว่า ทั้งอำนาจตุลาการและอำนาจทางทหาร ไม่มีสิ่งใดผูกพันกับเสียงของประชาชน

ถ้าผู้ใช้อำนาจทั้งสองระบบดำรงความยุติธรรมและเป็นกลาง ก็จะไม่มีความยุ่งยากเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีการกระทำที่เอนเอียงหรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามแรงผลักดันของอำนาจนอกระบบ ปัญหาจะเกิดซ้ำแบบเก่า กระทบทั้งประชาชนและรัฐบาล เช่น การรัฐประหารและการใช้ตุลาการภิวัตน์ ล้มรัฐบาล แบบที่ผ่านมา

การที่พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างท่วมท้น ก็เพราะประชาชนหวังว่าเสียงที่เลือก ส.ส. เกินครึ่งสภาจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย การแก้กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้ความร่วมมือของประชาชนช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

นักกฎหมายบางท่านที่รู้เกมในรัฐสภาแนะนำว่า งานนี้สภาผู้แทนฯ ควรเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ควรเปิดกว้างเพื่อสรรหากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการขัดขวางก็ต้องสู้กัน เพราะเราจะดำรงรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเผด็จการเป็นผู้ร่างและใช้เอาเปรียบคนทั้งสังคม เพื่อหวังสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อไปอีกไม่ได้แล้ว



สามก้าวแรกของนายกฯ หญิง
ต้องออกแรงเต็มกำลัง

แม้รู้ว่าทุกก้าวมีอันตราย แต่ต้องก้าวเดินออกไปทันที นายกฯ ควรตั้ง ครม. ให้เสร็จในสัปดาห์แรกที่รับตำแหน่ง แม้จะต้องการรัฐมนตรีที่ดูดีและชื่อเสียงดีแค่ไหน แต่ ครม. ชุดนี้ คงไม่ถูกใจไปทั้งหมด เพราะคนเก่งถูกนำไปขังไว้ในบ้านเลขที่ 111 หลายคน

หลักการตั้งรัฐมนตรีในสถานการณ์แบบนี้คือ ไม่ตั้งศัตรู ตั้งคนมีความสามารถและเสียสละ ปรึกษามิตรมากกว่าคนอื่น แจ้งให้รู้ว่าพร้อมจะปลดทุกคนที่มีปัญหา และประชาชนจะเป็นผู้ร่วมตรวจสอบ

เมื่อตั้ง ครม. เสร็จ ประชาชนหวังจะเห็นการทำงานสองเรื่องคือ เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท ปัญหาค่าครองชีพที่สูงมาก และปัญหาราคาน้ำมัน เรื่องที่สอง คือการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ

ในปัญหาปรองดองก็จะต้องย้อนไปดูความขัดแย้งและคู่กรณีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เรื่องสอบสวนข้อเท็จจริง คงไม่จบง่ายๆ ฝ่ายที่ปราบไม่มีใครต้องติดอยู่ในคุก แต่ฝ่ายคนเสื้อแดงทั้งตาย บาดเจ็บ และถูกขังคุก พวกเขาไม่มีอภิสิทธิ์เหมือนพวกยึดสนามบิน

ภาระหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องคืนความยุติธรรมให้กับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยพร้อมกับการทำงานด้านเศรษฐกิจ จึงจะได้รับความเชื่อถือ ซึ่งเป็นงานหนักทั้งสองด้าน ผลงานชิ้นแรกๆ ก็ต้องสำเร็จเพื่อให้ได้ใจกองเชียร์ เมื่อมีแรงสนับสนุนมากๆ ปัญหาใหญ่ๆ ก็จะแก้ง่ายขึ้น การเลือกลำดับงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ สามก้าวแรกนายกฯ และทีมงานจึงต้องมีแผนที่ดีและออกแรงเต็มกำลัง



คนเสื้อแดง ในฐานะกองหน้า
ต้องเสียสละกลืนเลือดไปก่อน

คนเสื้อแดงไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นแนวร่วมที่ขาดไม่ได้ในช่วงนี้ การต่อสู้ทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา จนถึงวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 บทบาทของคนเสื้อแดงมีมาอย่างต่อเนื่อง จนบางคนเข้าใจว่าคนเสื้อแดงเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ซึ่งที่จริงอาจจะมีทั้งที่เป็นและไม่เป็น

พวกเขาได้ร่วมต่อสู้จนมีลักษณะเป็นแนวร่วมที่ใกล้ชิด แต่มิได้หมายความว่าจะไม่ขัดแย้งกันหรือไม่อาจแยกจากกัน ความสัมพันธ์นี้จึงมีความละเอียดอ่อน ถ้าดำเนินต่อไปได้ดี ก็จะหนุนช่วยต่อไปให้งานสำเร็จ ถ้าขัดแย้งและแก้ไขไม่ได้ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ ตัวอย่างการหนุนช่วยที่เห็นชัดเจนคือช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่งเล่าว่า...

เบื้องหลังการต่อสู้ในศึกเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยปี 2554 มิได้ง่ายดายตามกระแสเหมือนกับที่สื่อประโคม เพราะทุกฝ่ายต่างก็ทุ่มกำลังและมีแผนการที่ซับซ้อน แผนของฝ่ายตรงข้าม ที่จะทำคะแนนใต้ดินอย่างเงียบๆ โดยไม่ต้องมีกระแสมานำ ถูกวางมาหลายชั้น

แผนทำลายกระแสสูงของพรรคเพื่อไทย แผนทำให้สับสนในการลงคะแนน ทันทีที่พรรคเพื่อไทยจับได้หมายเลข 1 แผนการต่างๆ ก็ถูกกำหนดละเอียด แต่กระแสยิ่งลักษณ์ที่ยิ่งพุ่งสูง นโยบายที่เหนือกว่า ทำให้วิ่งนำหน้าได้ตลอด และสุดท้าย คนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาและทำกระแสให้เป็นคะแนนได้ ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ไม่ว่าจะมีปัญหาใดมาเป็นอุปสรรคไม่มีคำอธิบายนอกจากคำพูดที่ถ่ายทอดกันมา

"พี่ ผมไม่ชอบผู้สมัครคนนี้เลย แต่ไม่มีทางเลือก ยังไงก็ต้องให้พรรคเพื่อไทยไว้ก่อน"

"คืนนี้ อย่าเพิ่งเข้ามาหาเสียง พวกนั้นจะมาแจกเงิน รอเก็บเงินพวกมันก่อน"

"กลัวชาวบ้านกาไม่ถูกช่อง ถ้าเป็นแบบนี้ คงเสียคะแนนไปหลายล้านคะแนนแน่"

"ไม่ต้องกลัว พิมพ์ใบปลิวมาหลายๆ ล้านใบ เราจะใช้คนห้าแสนคน ใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน จะคุยกับชาวบ้านให้รู้วิธีกาที่ถูกต้อง น่าจะทำได้เกิน 10 ล้านคน"

"เราจะเฝ้าดูมันทุกหน่วย มันจะโกงเราแบบปี 2550 ไม่ได้อีกแล้ว"

"สะใจจริงๆ มันแจกเงิน 3 รอบ บางหน่วยใช้หัวคะแนนสองคนแต่ได้ 0 คะแนน ขนาดหัวคะแนนยังไม่ลงคะแนนให้มันเลย"

จนถึงเวลาที่นับคะแนนเสร็จ เกือบทุกอุปสรรค ถูกทำลายด้วยแรงหนุนของคนเสื้อแดงและแนวร่วมต่างๆ พวกเขาเป็นกองหน้าอาสาศึก

ที่สู้โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรเป็นส่วนตัว แต่หวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น แก้ปัญหาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม คำพูดสุดท้ายเมื่อเสร็จศึกเลือกตั้ง

"ไม่เป็นไร พี่ ปีที่แล้วหนักกว่านี้ ยังดีที่รอดมาได้ อย่าลืมไปช่วยพวกที่อยู่ในคุกด้วยนะ"


จากการติดตามข่าวสารพบว่ายังมีบางคนที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ต้องมารับเคราะห์กรรมร่วมกับคนเสื้อแดง เช่น กรณีการจับกุมคนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเผาศาลากลาง เขาติดคุกอยู่นาน แต่ต่อมาตำรวจก็ออกมายอมรับผิดว่าจับผิดตัว เพราะอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 100 ก.ม.

แต่จนบัดนี้ก็ไม่ได้ออกจากคุกเพราะไม่มีเงิน 7 แสนบาทมาประกันตัว

แต่มีกรณีที่ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อคือ มีผู้ต้องหาหญิงเสื้อแดง ชื่อนฤมล ถูกฟ้องว่ายิงเฮลิคอปเตอร์ จะมีการตัดสินคดีวันที่ 10 สิงหาคมนี้

แต่จะจริงหรือไม่ก็ตาม เธอก็ติดคุกมาปีกว่าแล้ว ถึงแม้ว่าช่วงเวลาที่ชุมนุมไม่ได้ข่าวว่ามี ฮ. ตก แต่คงต้องตามดูคดีนี้ต่อไป

"ไม่เป็นไรอยู่ในคุกมา 1 ปี 3 เดือนแล้ว อีก 3 เดือนก็ได้ออก" นี่คือคำพูดของคนที่ถูกตัดสินแล้ว ชะตากรรมของพวกเรียกร้องประชาธิปไตยยุคนี้ ทำไมย้อนกลับไปเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ ปราบคอมมิวนิสต์

ยังมีผู้ถูกกักขังอยู่อีก 76 คนในคุกส่วนกลางและต่างจังหวัด ทั้งตัวผู้ต้องขังและครอบครัวต้องการความช่วยเหลือ องค์กรที่คอยติดตามดูแลอยู่คือ ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ซึ่งต้องการการสนับสนุนอย่างมาก

ดังนั้น โจทย์ข้อแรกของพรรคเพื่อไทยคือ จะคืนความยุติธรรมให้คนเหล่านี้อย่างไร

สถานการณ์หลังการต่อสู้ในเมษายน ถึง พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเสียชีวิตและบาดเจ็บ บางคนยังอยู่ในคุก บางคนยังหลบหนีอยู่ เป็นหนี้สิน ลูกเต้าต้องหยุดเรียนหนีตามพ่อ บางครอบครัวติดคุกทั้งสามี-ภรรยา วันนี้พวกเขายังต้องกลืนเลือดอยู่

ดังนั้น โจทย์ข้อแรกของพรรคเพื่อไทยคือ จะคืนความยุติธรรมให้คนเหล่านี้อย่างไร?

การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมยังมีขึ้นทุกแห่ง วันนี้ต้องแสดงความเสียใจต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวซีเรียที่ต้องเสียสละชีวิตไปนับร้อยคนในวันเดียว เพราะถูกกำลังทหารรัฐบาลสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม แบบนี้คงหยุดสงครามไม่ได้แล้ว

การต่อสู้ทางการเมืองก็จะไม่สิ้นสุดไม่ว่าคนที่มีอำนาจจะอยู่หรือตาย ทุกคนจึงต้องคิดให้ไกลออกไปจาก พรุ่งนี้ เดือนนี้ และปีนี้ ผู้นำบางคนอาจจะต่อสู้ไปได้อีก 5 ปี 10 ปี บางคนอาจจะไปต่อไม่ไหวแล้ว บางคนแม้อายุไม่มากแต่ก็ไม่มีศักยภาพพอ ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องย้อนดูตัวเองในวันนี้และคิดถึงอนาคตของตัวเองและลูกหลาน อีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า หรือนานกว่านั้น จึงจำเป็นจะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่ดี เข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ประชาชนและประเทศจึงจะอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี



++

ปชป. จัดกำลัง...ตั้งรับ เพื่อไทยจัดทัพ...ป้องกัน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 20


กําลังทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือช่วงชิงอำนาจรัฐขณะนี้น่าจะเหลือเพียง 5 กลุ่มคือประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง ทหาร และอำนาจนอกระบบ (ที่ใช้ผ่านองค์กรต่างๆ)

การเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการชุดใหม่ของ ปชป. ส่วนเพื่อไทยก็มีการจัดตั้งรัฐบาล

คนเสื้อแดงยังไม่ขยับส่วนบนเพราะขณะนี้แกนนำยังมีคดีการเมืองค้างคาอยู่ในศาล ประธานรักษาการคงต้องทำงานไปอีกพักหนึ่ง



การปรับกำลังของพรรคประชาธิปัตย์

เนื่องจากแกนนำพรรคมั่นใจว่าไม่มีวันถูกยุบพรรค ตามระบบยุติธรรมหลังรัฐประหาร 2549 ก็เลยแย่งกันเป็นกรรมการพรรคเยอะหน่อย ผลการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม ส่วน สุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกไปจริงๆ

พอสรุปภาพรวมได้ว่า

เลือกตั้งใหม่แต่ไม่เปลี่ยนแนวทาง การเลือกอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า 96% แสดงว่าแกนนำทุกระดับ ทั้งผู้บริหารพรรคชุดเดิม ส.ส. หัวหน้าสาขาพรรค ฯลฯ ยอมรับแนวทางการชิงอำนาจรัฐจากผู้ชนะเลือกตั้งกลางทาง กลางวาระที่ผ่านมา

แม้จะแพ้เลือกตั้งถึงหกครั้งซ้อนไม่ว่าจะแข่งกับใครแต่ด้วยเล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงทางการเมือง เคยใช้วิธีนี้ทำสำเร็จ 2-3 ครั้ง

แม้การชิงอำนาจรัฐครั้งสุดท้ายปลายปี 2551 จะทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองติดต่อกันหลายปี แต่ถึงวันนี้คงต้องสรุปว่าแนวทางนี้ คงเป็นทางเลือกที่ ปชป. ตัดสินใจแล้ว

ดูจากตัวกรรมการพรรคชุดใหม่ก็ล้วนแล้วแต่มีความสามารถที่จะช่วงชิงอำนาจรัฐกลางทางได้ทั้งสิ้น รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะประมาทไม่ได้ ถ้าเปิดจุดอ่อนในระหว่างบริหารงานก็จะถูกจู่โจมทันที ไม่ว่าจะมีหลักฐานมากน้อยเพียงไร

มีตัวอย่างแล้วเมื่อครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีสัญชาติของอดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา หรือการใช้ตุลาการภิวัตน์ต้อนเข้าค่ายทหารในปี 2551

แต่การแย่งชิงอำนาจกลางทาง กลางวาระ ครั้งต่อไปนี้ โอกาสสำเร็จยากมาก นอกจากพรรคเพื่อไทยจะแตกกันเละเท่านั้นถึงจะทำได้ เพราะเงื่อนไขทางการเมืองได้เปลี่ยนไปมาก



ชูอภิสิทธิ์...ชูจุดอ่อนหรือจุดแข็งของประชาธิปัตย์

การที่อภิสิทธิ์กลับมาเป็นผู้นำซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นความอยากของอภิสิทธิ์เอง หรือเป็นความต้องการของแกนนำทั้งหลาย แต่การลาออกแบบหลอกๆ ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่าคำพูดของอภิสิทธิ์เชื่อถือไม่ได้ เพราะได้ประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคต่อหน้าสื่อมวลชน ถ่ายทอดให้ผู้คนรับรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่การแสดงมารยาท แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบ เพราะได้สร้างปัญหาในขณะที่บริหารประเทศ และขณะที่เป็นผู้นำพรรคจนกระทั่งแพ้การเลือกตั้งยับเยิน การประกาศลาออกครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องสมควรทำอย่างจริงจังและจริงใจ

แต่การแสดงการลาออกมีเพียงไม่กี่วันก็กลับเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ทำให้ผู้คนงุนงงเพราะไม่คิดว่าผู้นำระดับประเทศจะแสดงละครแบบง่ายๆ ให้ดูอย่างนี้

ตามหลักการถ้าคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมา ถูกแล้ว ดีแล้ว ก็ไม่ต้องประกาศลาออก

แต่ถ้ายอมรับความผิดพลาด ก็ต้องลาออกไปเลย จะทำเป็น เหมือนการแสดงตลกคั่นรายการไม่ได้ มันเป็นการตอกย้ำคำว่า ดีแต่พูดโกหก ให้ฝังตัวติดกายไปตลอดชีวิต

ขณะนี้ละครที่แสดงในพรรคจบแล้วกำลังเข้าสู่เวทีชีวิตจริง ถ้าวิเคราะห์ในแง่ร้าย งานนี้อภิสิทธิ์เหมือนถูกส่งกลับมาเป็นแพะ คนที่เคยทำความผิดร่วมกันจะค่อยๆ หลบเข้าไปหลังฉากเพราะพวกเขารู้ดีว่าจากนี้ไป แผลทุกแผลจะถูกเปิด ข้อมูลที่ถูกปิดบังไว้จะถูกนำมาเผยและกระแสการโจมตีจะถล่มเข้ามาแบบไม่มียั้ง ด้านหลังอภิสิทธิ์จะไม่มีวอลล์เปเปอร์เก่าๆ ต่อไปแล้ว

การเลือกอภิสิทธิ์เป็นผู้นำจึงไม่ใช่การชูจุดแข็งของ ปชป. แต่เป็นการยกจุดอ่อนออกมาประจาน แผลเก่าซึ่งจะกลายเป็นจุดตายจะถูกฝ่ายรัฐบาลใหม่ขุดคุ้ยข้อมูลเมื่อครั้ง ปชป. เป็นรัฐบาลออกมาตอบโต้ซึ่งคาดว่าจะมีหลายเรื่องทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ



สุเทพ...นกรู้ทางลม

ผู้นำอีกคนคือสุเทพ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มีเขี้ยวทางการเมืองที่แหลมคม เมื่ออภิสิทธิ์ประกาศลาออก สุเทพก็ประกาศลาออกด้วย แต่กลับสนับสนุนให้อภิสิทธิ์ให้ไปเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

ดังนั้น วันนี้เป้าหมายของศัตรูจะไปรวมกันที่อภิสิทธิ์ สำหรับสุเทพ การที่ไม่ต้องมารับหน้าที่เลขาฯ พรรคแปลว่าเขาจะไม่ต้องจ่ายในขณะที่ผู้สนับสนุนหายากมากเพราะไม่มีอำนาจแล้ว

บางคนอาจสงสัยว่า ตอนปราศรัยที่ราชประสงค์ สุเทพได้ออกรับแทนอภิสิทธิ์ว่าเรื่องสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต เขารับผิดชอบเอง

ทำไมถึงแสดงตัวเป็นถึงผู้เสียสละปานนั้น

เรื่องนี้เป็นเพราะว่าพวกเขาต่างก็มั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง ปชป. จะได้ ส.ส. ประมาณ 180 คน และ เนวิน ชิดชอบ จะได้ถึง 62 คน เมื่อ

รวมกันก็จะได้เกือบครึ่งหนึ่งของสภา ชนะพรรคเพื่อไทย และสามารถจัดตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์จะได้เป็นนายกไปอีก 4 ปี พวกเขาจะสามารถบริหารประเทศและสามารถกลบเรื่องร้ายฝังดิน

แต่พอถึงเวลาเลือกตั้งจริง อาวุธลับที่เตรียมไว้ใช้ได้ผลเพียงเล็กน้อย เพราะพวกเสื้อแดงแก้เกมได้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนนับคะแนนเสร็จ

กระสุนที่ยิงเข้าไป ก็ถูกพวกรากหญ้าหลอกเอาไปกินหมด พอประกาศผลเลือกตั้งออกมา จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

คนเสื้อแดงจึงเป็นที่จงเกลียดจงชังเป็นอย่างมาก เพราะได้ทำลายแผนครองอำนาจระยะยาวของกลุ่มอำนาจเก่าให้พังทลายจนหมดสิ้นภายในช่วงเวลาเดือนเดียว


เมื่ออำนาจรัฐเปลี่ยนมือฝ่ายที่เคยไล่ล่า จะต้องถูกล่าบ้าง แต่ด้วยความเขี้ยวทางการเมือง สุเทพชิ่งหนีในขณะที่มีคนประคองอภิสิทธิ์ขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

คนที่แห่อภิสิทธิ์ขึ้นไปก็ไม่รู้ว่านี่คือการนำพาอภิสิทธิ์ขึ้นไปเป็นเป้าโจมตีและเป็นการนำพาพรรคไปสู่การตกต่ำอีกครั้งต่อเนื่องจากการร่วมมือกับอำนาจนอกระบบ มีผู้อาวุโสในพรรคบางคนพอคิดเรื่องนี้ออกแต่ก็ไม่สามารถทัดทานกระแสได้

ดังนั้น การปรับกำลังของ ปชป. ในครั้งนี้จึงมีด้านหลักที่เป็นการปรับเพื่อการตั้งรับ บางคนถูกผลักออกมารับหน้า หลายคนหลบฉากไป

โอกาสที่จะออกไปโจมตีเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐกลางทางไม่ใช่เรื่องง่ายอีกแล้ว

ที่จริง ปชป. เป็นพรรคเก่าแก่ ถ้ากล้าปรับกล้าเปลี่ยนจริงก็สามารถอาศัยพื้นฐานเดิมเดินอยู่บนถนนการเมืองได้ต่อไป วันที่ตกต่ำที่สุดก็เคยมี ส.ส. แค่ 30 กว่าคน วันนี้มีถึง 159 คน ถือว่าเยอะมาก แต่การมีกำลังมากแล้วเลือกเดินแนวทางไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นการบ่อนทำลายพรรคให้เสียหายไปเรื่อยๆ

อย่าว่าแต่ 4-8 ปีตามที่อดีตหัวหน้าพรรคเตือนไว้เลย อีกไม่นานก็จะครบรอบ 20 ปี ของการชนะเลือกตั้งครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้าจะชูคำขวัญ เดินหน้าต่อไป ต้องหาทางเดินให้เจอ


การปรับกำลังของพรรคเพื่อไทย

กําลังของพรรคเพื่อไทยปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าพรรคอื่นๆ และยังต้องการปรับโครงสร้างของพรรคให้แตกต่างกับพรรคทั่วไปเพราะในสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมามิใช่เป็นการแข่งขันกันในแนวทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แต่มีการใช้กำลังอาวุธมาโค่นล้มรัฐบาล ยุบพรรคการเมืองและสังหารประชาชน

จนถึงวันนี้ยังมีกลุ่มที่ตั้งใจโค่นล้มพรรคเพื่อไทยให้ออกไปจากวงจรอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมาล้มได้เพียงชื่อพรรค ล้มแล้วก็เปลี่ยนชื่อใหม่

พอลุกขึ้นการสนับสนุนของประชาชนก็ยิ่งมากกว่าเดิม แม้จะถูกฆ่า ถูกจับขังคุก มีคนไปขู่ถึงในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่อาจหยุดการสนับสนุนของคนเหล่านั้นได้

สภาพของพรรคเพื่อไทยวันนี้จึงมีลักษณะเป็นพรรคที่อยู่ในสถานการณ์สู้รบตลอดเวลา มีความแตกต่างจากพรรคไทยรักไทยที่เป็นต้นกำเนิดอย่างชัดเจน

1. มีผู้นำนอกพรรคที่มีอำนาจจริงแต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลังการรัฐประหาร 2549 แต่ประชาชนและสมาชิกพรรคสนับสนุนผู้นำคนนั้น

2. มีผู้ช่วยกรรมการบริหารนอกพรรค แต่มีโครงสร้างพรรคและกรรมการที่สามารถดำเนินงานเป็นไปอย่างปกติ มีแนวทางการต่อสู้แบบรัฐสภาแท้ๆ และ คนส่วนใหญ่ในพรรคยังอยากเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี แต่การรวมกลุ่มย่อยเพื่อต่อรองทำได้ยาก

3. มีแนวร่วมนอกพรรคที่มีความเข้มแข็ง มีความคิดก้าวหน้าเข้ามาสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาล เสียงสนับสนุนพื้นฐานแม้ยามตกต่ำที่สุด มากกว่า 13 ล้านเสียง

สถานการณ์แวดล้อมปัจจุบันต่างกับเมื่อ 4-5 ปีก่อน

1. พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่มีเสียงถึง 265 เสียงเกินครึ่ง เมื่อรวมกับพรรคร่วมรัฐบาลมีถึง 300 เสียง ทำให้สามารถ อุดรูรั่วได้กรณีที่มีปัญหา คือสามารถเปลี่ยนรัฐมนตรีได้ หรือแม้แต่อยากจะเปลี่ยนนายกฯ ก็ทำได้โดยไม่ต้องเลือกตั้ง เช่นเดียวกับที่นายกฯ ชวนมารับอำนาจต่อหลังจาก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออก แต่เสียงเกินครึ่งของพรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนายกฯ ให้พรรคอื่น

2. แรงบีบของอำนาจนอกระบบผ่านพลังมวลชนไม่มีน้ำหนักเท่าเก่า กำลังของเสื้อเหลืองลดลงไปมาก ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงเพิ่มจำนวนมากมายในขอบเขตทั่วประเทศแม้แต่ระดับสากล

3. สถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวยให้การรัฐประหารและอำนาจตุลาการภิวัตน์ออกมาปฏิบัติการได้ง่ายๆ เนื่องจากความตื่นตัวทางประชาธิปไตย และแรงกดดันจากต่างประเทศ เพราะถ้ามีกรณีปล้นอำนาจรัฐแบบปี 2549 และ 2551 การต่อสู้ทางการเมืองแบบรุนแรงก็จะเกิดขึ้นและอาจเปลี่ยนเป็นสงครามได้ไม่ยาก ถึงเวลานั้นก็จะเป็นการวัดกันว่ากำปั้นใครแข็งกว่าใคร ใครจะทนอยู่ในภาวะสงครามได้นานกว่า

สถานการณ์ปัจจุบันหลังจากชนะการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นจะต้องปรับกำลัง เพื่อรับงานเร่งด่วน 2 ด้าน

1. ปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเพื่อสนับสนุนการทำงานในฐานะรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนการเป็นฝ่ายบริหารครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเป็นจะต้องเตรียมการคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อทำหน้าที่รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า กระทรวงไหน จะต้องทำอะไร ให้สำเร็จในปีแรก ซึ่งจะมีตัวแปรที่มีผลทางการเมือง

นอกจากความสามารถของบุคคล เช่น ความสามัคคี การทุ่มเททำงาน ความไว้วางใจ แต่อำนาจและผลประโยชน์ จะให้คุณและโทษคู่กันเสมอ

ประชาชนไม่ควรหวังว่าจะได้ คนดีวิเศษ เก่งกาจเกินคนธรรมดา เพราะถ้ามีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ได้ กระทรวงที่จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลโดยตรงคือ 1. กระทรวงกลาโหม 2. กระทรวงยุติธรรม 3. กระทรวงการคลัง 4. กระทรวงพลังงาน 5. กระทรวงพาณิชย์ 6.กระทรวงแรงงาน 7. สำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องดูแลสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งคงจะได้มีโอกาสวิเคราะห์ เมื่อได้รับข้อมูลเพิ่ม

2. ปรับเพื่อประสานกับกำลังแนวร่วมในการที่จะเสริมความมั่นคงใช้รับมือกับการชิงอำนาจทางการเมืองทุกรูปแบบ ซึ่งตามสภาพจริงจะมีทั้ง ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ แต่ที่มีจำนวนมากมายคือคนเสื้อแดง ซึ่งทุ่มเทให้สุดกำลัง และก็ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่สูงมาก

งานแนวร่วมในช่วงเวลานี้จึงมีระดับความสำคัญเทียบเท่ากับกระทรวงด้านความมั่นคงทุกกระทรวงรวมกัน พรรคเพื่อไทยจะต้องปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทุ่มเทบุคลากรที่มีความสามารถ หลายๆ คน พร้อมงบประมาณ เพื่อรับงานใหญ่

ถ้ายังไม่เข้าใจและทำงานพลาด อาจเสียหายใหญ่หลวง

สถานการณ์ช่วงนี้เหมือนขึ้นหลังเสือไปแล้ว เป็นเสือทั้งฝูงที่กินความยุติธรรมเป็นอาหาร

สภาพของทั้งสองพรรคเวลานี้ จึงอยู่ในช่วงจัดกำลังเพื่อป้องกันทั้งคู่



++

เสื้อแดง...บนเส้นทางแนวร่วม เติบโตได้...และจะเป็นกำลังหลัก
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 20


ในรอบ 50 ปีนี้ ไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนจะตอบรับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมากมายเท่าครั้งนี้

ช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาจึงเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงต่อเนื่องกันหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงกระแสประชาธิปไตยที่ซึมลึกสู่คนชั้นล่าง แบบที่ว่า ไม่ต้องจ้างกูมาเอง

แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสอนให้เรารู้ว่า กำลังของฝ่ายประชาชนที่ขาดการจัดตั้งจะถูกโค่นล้มในช่วงระยะเวลาอันสั้นและระบอบเผด็จการก็จะหวนกลับคืนมาทุกครั้ง

แต่ครั้งนี้มีผู้วิเคราะห์ว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมทุกด้านและระบบการสื่อสาร เปิดโอกาสให้พลังฝ่ายประชาธิปไตยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา ก็มีความซับซ้อนและยืดเยื้อ ใช้ทั้งอาวุธและกฎหมาย ผลัดกันรุกผลัดกันรับหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 6 ปี และจะยังมีการต่อสู้ยืดยาวออกไปอีกประมาณ 4 ปี

จะจบแบบไหนไม่มีใครรู้ แต่กลุ่มคนเสื้อแดงคงจะเป็นตัวเอกในการต่อสู้ช่วงต่อไป



กำเนิดเป็นแนวร่วม แต่โตเองได้

กลุ่มคนเสื้อแดงกำเนิดจากนักการเมืองและคนรากหญ้า เป็นส่วนผสมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับอำนาจนอกระบบซึ่งโค่นรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชนลงไป จึงเป็นการต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยที่สมน้ำสมเนื้อ เป็นแนวทางการต่อสู้นอกสภาที่ถือว่าเหมาะสม

จากการต่อสู้ร่วมกัน มีอุดมการณ์ที่คล้ายกัน ทำให้คนเสื้อแดงกลายเป็นแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทย แต่ถึงอย่างไรกลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแบบพรรคการเมือง ไม่ได้เกิดพร้อมพรรคไทยรักไทย ไม่ได้โตแบบพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครมายุบได้แบบพรรคการเมือง

ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยจะหายไป คนเสื้อแดงก็จะยังอยู่ เป็นปลายแหลมของคมทวนที่พุ่งเป้าไปยังเผด็จการตลอดเวล

ถึงวันนี้ความเป็นแนวร่วมของกลุ่มคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยยังต้องดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น เพราะแม้จะชนะเลือกตั้งมาแล้วแต่ก็อาจถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกลุ่มอำนาจเก่า การปัดแข้งปัดขาขัดขวางการทำงานตามนโยบายหรือการโจมตีทางสื่อเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ สามารถโต้ตอบได้จัดการได้

แต่การโจมตีโดยใช้กำลังอาวุธและอำนาจตุลาการภิวัตน์ยังประมาทไม่ได้ จะต้องมีการวางแผนตั้งรับให้ดี เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ในสถานการณ์แบบนี้ ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง 4-5 คน ได้ร่วมกันวิเคราะห์ บทบาทของคนเสื้อแดงกับสภาพทางการเมืองในอนาคตไว้ดังนี้



ความคาดหวังของกลุ่มอำนาจเก่า

คนเหล่านี้ยังติดอยู่ในอำนาจจึงไม่ยอมแพ้ เพราะคิดว่ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นสัญลักษณ์การนำ จะต้องบริหารงานผิดพลาด ไม่สามารถทำตามนโยบายเรื่องใหญ่ๆ ได้ ซึ่งจะทำให้กระแสความนิยมลดลง

ถ้าผิดพลาดซ้ำอีกหลายครั้ง ก็จะมีลักษณะคล้ายรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งจะตกต่ำจนประชาชนเสื่อมศรัทธา และในท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความแตกแยกของพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย อีกทั้งก็น่าจะมีการแตกแยกของกลุ่มย่อยในพรรคเพื่อไทยเอง ในจังหวะเช่นนี้ก็จะสามารถโจมตีทางการเมืองจนทำให้พ่ายแพ้แบบที่จะฟื้นขึ้นมาได้ยากลำบาก

กลุ่มอำนาจเก่าจะไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ซึ่งมีเนื้อหาที่ยกเว้นความผิดให้กับผู้ทำรัฐประหารทั้งก่อนหน้าและหลังรัฐประหาร 2549 ไม่เอาผิดกับผู้ที่ทำงานตามคำสั่งหรือรับใช้คณะรัฐประหาร ซึ่งมาตรานี้ยังคงดำรงไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ที่จริงเป็นกฎเกณฑ์การต่อสู้ตามธรรมชาติที่ผู้ชนะจะแสดงความเป็นเจ้าและกำหนดให้ผู้แพ้เป็นโจร แต่จุดมุ่งหมายสำคัญคือ ยังต้องการคงอำนาจตามกฎหมายเพื่อจะได้มีอิทธิพลในการแต่งตั้งและควบคุมหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น องค์กรอิสระ วุฒิสภา กระบวนการยุติธรรม และอำนาจทางทหาร โดยพวกเขาจะปลุกปีศาจชื่อทักษิณขึ้นมาเป็นข้ออ้างขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองกลุ่มนี้ได้วิเคราะห์เส้นทางการเดินของกลุ่มคนเสื้อแดงไว้ว่าในสถานการณ์แบบนี้ กำลังสำคัญที่ค้ำยันฝ่ายประชาธิปไตยคือพลังมวลชน 16 ล้านคน ซึ่งมีกลุ่มเสื้อแดงเป็นหัวหอก

สถานการณ์ขณะนี้บีบบังคับให้คนเสื้อแดงจะต้องสู้ต่อ ถ้าหยุดอยู่แค่นี้ก็จะพ่ายแพ้ซ้ำ ถ้าสู้ผิดจังหวะก็อาจพ่ายแพ้อีก

การต่อสู้ครั้งนี้ต้องใช้ศิลปะที่ละเอียดอ่อน ถ้าทำได้ดี โอกาสชนะแบบไม่เสียเลือดเนื้อก็อาจเกิดขึ้นได้

ความหวังที่จะปรองดองบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรมก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แต่เรื่องนี้ก็มีผู้คัดค้านว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะได้รับชัยชนะแบบไม่ใช้ความรุนแรง

การคาดคะเนเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองจึงเกิดขึ้นสองแนวทาง คือ



แนวทางที่ 1

คาดการณ์ว่าการต่อสู้ทางการเมือง
จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด

ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้คาดว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะรอเวลาให้รัฐบาลทำงานพลาด แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ก็จะโจมตีทางการเมืองเพื่อให้ความนิยมลดลง จากนั้นจะใช้อำนาจตุลาการภิวัตน์เพื่อเปลี่ยนรัฐบาล

แม้จะใช้กำลังอาวุธค้ำยัน แต่ไม่น่าจะคุมสถานการณ์ได้เกิน 12 ชั่วโมง เพราะคราวนี้ฝ่ายคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม และความรุนแรงจะเกิดขึ้นบนท้องถนนแน่นอน เพราะคำว่า ปืนลูกซอง จะกลายเป็นสไนเปอร์และ M 16 การให้ยิงต่ำกว่าเข่า ก็จะถูกหัวกับหน้าอก แล้วคราวนี้ใครจะยอมให้ยิงฟรีๆ

ถ้าไม่สามารถจบลงได้ในระยะสั้น สงครามระยะยาวก็จะเกิดขึ้นแทน นั่นหมายถึงมีการสู้รบกลางเมืองหลายแห่ง ลักษณะชายแดนไทยที่ยาวเหยียดทำให้ไม่สามารถปิดกั้นการส่งอาวุธได้ สงครามจึงขยายไปได้อย่างกว้างขวาง สามารถเกิดขึ้นได้ หลายสิบแห่งในเวลาเดียวกัน

นั่นหมายถึงเป็นสภาพที่เกินกว่าจะควบคุม

สภาพสงครามแบบนี้จะทำให้ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้และจะทำให้เมืองใหญ่ทุกเมืองขาดแคลนอาหาร การผลิตทางด้านอุตสาหกรรมก็หยุดชะงัก การท่องเที่ยวก็จะยุติทั้งหมด และจะมีฝ่ายที่พ่ายแพ้ ซึ่งต้องถอยร่นไปอยู่ในเขตที่ปลอดภัย เพื่อเจรจา

แต่ในที่สุดแล้ว ก็จะต้องรบกันจนเกิดความพ่ายแพ้หรือชนะกันอย่างเด็ดขาด

ที่สูญเสียที่สุดคือคนไทยทั้งประเทศจะต้องสูญเสียอย่างย่อยยับ หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์



การคาดคะเนแนวทางที่สอง

ไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรงแต่สามารถปรองดองได้

มีคนมองในแง่ดีว่าโลกกำลังพัฒนาตามแนวทางประชาธิปไตย การสื่อสารก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถ้าพิจารณาจากจังหวะเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายในช่วงนี้ ทั้งการประนีประนอมและการต่อสู้ จะประคองให้สถานการณ์ไม่เกิดความรุนแรง เชื่อว่าพลังของคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจะไม่แตกแยกกันในช่วง 1-2 ปีนี้ และคาดว่าผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลจะมีประมาน 60%

แต่การเติบโตของพลังมวลชนจะทำให้กลุ่มอำนาจเก่าไม่กล้าใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกหัก ขณะเดียวกัน การประนีประนอมและแรงกดดันจากนานาประเทศจะทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการต่อสู้บนเส้นทางประชาธิปไตยต่อไป

การแก้รัฐธรรมนูญหรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นแต่ไม่รวดเร็วนัก กระบวนการนี้จะเสียเวลาในสภา แต่จะถูกเร่งด้วยการเคลื่อนไหวของประชาชน แรงกดดันของประชาชนฝ่ายที่ต้องการแก้ไขน่าจะชนะแรงต่อต้านของฝ่ายที่ต้องการปกป้องอำนาจ การสะสางความยุติธรรมจะถูกดำเนินการต่อไปซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วก็จะต้องมีบางคนถูกผลักออกมาให้รับผิดชอบ และคนส่วนหนึ่งพ้นผิดไป

ถ้าพลังคนเสื้อแดงกับพลังมวลชนตื่นตัวมากขึ้นและเพิ่มกำลังขึ้นก็จะไม่มีใครกล้าใช้กำลังตัดสินปัญหาอีกต่อไป แต่จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคตคือจะควบคุมพลังที่ก้าวหน้าส่วนนี้ได้อย่างไร

ถ้าช่วงเวลาของระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินต่อมาหลังการเลือกตั้ง 2554 สามารถอยู่ในระบอบได้ถึง 2 รัฐบาล หรือมีระยะเวลานานพอ เกินกว่า 4 ปี ก็จะมีเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาทั้งความคิดและองค์กรจัดตั้งให้มีประสิทธิภาพในการหนุนช่วยให้ทั้งระบบเดินหน้าต่อไป ปัญหาที่สำคัญของกระบวนการในช่วงนี้คือการควบคุมสื่อหรือความร่วมมือของสื่อ ในการที่จะช่วยผลักดัน ความคิดประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง

แต่ไม่ว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นแนวทางที่หนึ่งหรือแนวทางที่สอง กลุ่มผู้วิเคราะห์ได้ประเมินว่า

การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงน่าจะอยู่ในแนวทางนี้

1.ต้องรักษาความเป็นแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทยไว้ต่อไป ไม่ว่าจะมีปัญหามากน้อยอย่างไรก็ไม่มีเวลามานั่งน้อยอกน้อยใจ เพราะยังอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นความเป็นความตาย เหมือนนักมวยตอนพักยก ที่ต้องฟังพี่เลี้ยงแก้ทางมวย ดื่มน้ำ คัดเลือด เตรียมชกต่อ ถ้าอยากมีอำนาจ อยากใช้อำนาจ ก็ต้องรู้จักหา รู้จักใช้ เพราะนั่งทับมันอยู่ทุกวัน

2. กลุ่มคนเสื้อแดง จำเป็นต้องเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ การต้องต่อสู้คดีความและการจัดตั้งรูปแบบการบริหารที่จะต้องรองรับคนที่จะมาร่วมจำนวนมาก คาดว่าน่าจะเป็นรูปแบบการจัดตั้งองค์กรแนวราบขนาดใหญ่ มีคณะกรรมการจำนวนมากที่จะมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญ และจะต้องมีคณะกรรมการบริหารจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในความเคลื่อนไหว

3. แนวทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง คงเน้นการเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นส่วนใหญ่ อาจจะอยู่ในรูปการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวผ่านสื่อต่างๆ โดยมีประเด็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การเรียกร้องให้นำคนเสื้อแดงให้ออกมาจากคุกและดำเนินคดีอย่างยุติธรรม สะสางและเปิดเผยความจริงคดีการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และคดีของกลุ่มพันธมิตร เยียวยาและชดเชยผู้เกี่ยวข้อง

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อยุติข้อได้เปรียบของฝ่ายเผด็จการยังพอรอได้ การเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอาจไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหว และถ้าหากพรรคเพื่อไทยไม่รู้จักจัดการให้เหมาะสม ประเด็นเหล่านี้ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยได้

4. กลุ่มคนเสื้อแดงยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องโฆษณาอุดมการณ์ประชาธิปไตยผ่านสื่อหรือรูปแบบอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางความคิด และเป็นการยกระดับความเข้าใจซึ่งจะสามารถทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาจมีการเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ เกินเลยไปจนกระทั่งเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือรัฐกับประชาชน ซึ่งเมื่อเกิดความวุ่นวายแล้ว ก็จะเป็นข้ออ้างให้กลุ่มอำนาจเก่าออกมาโจมตีระบอบประชาธิปไตย

5. กลุ่มคนเสื้อแดงสามารถสนับสนุนนโยบายบางเรื่องของรัฐได้ เช่นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกเรื่อง และนโยบายใดก็ตามที่ดูแล้วมีปัญหาก็สามารถคัดค้านได้

ถ้าพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการบริหาร งานของกลุ่มเสื้อแดงก็จะเบาลงและขยายกำลังได้ง่าย แต่ถ้าบริหารล้มเหลว กลุ่มคนเสื้อแดงไม่เพียงแต่ต้องทำงานหนัก แต่อาจจะต้องแทรกแซงถึงขั้นเปลี่ยนคนในรัฐบาล



การพัฒนาองค์กรให้มีรูปแบบการจัดตั้งที่เหมาะสมเพื่อเป็นองค์กรนำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขนาดใหญ่เป็นเรื่องท้าทาย แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ถ้าเพิ่มกำลังได้ขึ้นอีกเท่าตัว พัฒนาความรู้ ความคิดแกนนำทุกระดับ สร้างความสอดคล้องกับภูมิศาสตร์การเมือง ก็จะไม่มีใครกล้าเข้าโจมตีฝ่ายประชาธิปไตยอีก จากนั้นจะมีโอกาสเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยลงในสังคมไทยซึ่งจะต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

ผู้วิเคราะห์กลุ่มนี้มีความเห็นว่า การเป็น หอก ดาบ โล่ห์ ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจ และต้องยอมรับว่ามันมีหน้าที่ต่างกับหม้อหุงข้าวและกระเป๋าถือ พร้อมตั้งคำถามง่ายๆ ทิ้งไว้ว่า

กลุ่มคนเสื้อแดงสามารถรวมกำลังกันได้ขนาดนี้เพราะอะไร ?

เมื่อรวมกำลังขนาดใหญ่ได้แล้ว ได้รับผลตอบแทนอย่างไร ?

อำนาจที่แท้จริงมาจากไหน ทำไมตอนที่ได้ ส.ส. 377 คนหรือตอนที่ได้เป็นรัฐบาลยุคนายกฯ สมัคร ถูกไล่เหยียบตลอดเวลาไม่มีใครเกรงใจบ้างเลย ?

ถ้าเดินหน้าขยายกำลังต่อไป ขยายความคิดประชาธิปไตยต่อไป จะเข้มแข็งกว่าเดิมหรือไม่ ?

วันนี้ทักษิณยังอยู่ต่างประเทศ เพื่อไทยเป็นรัฐบาล จตุพร พรหมพันธุ์ เป็น ส.ส., ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น ส.ส. แกนนำเสื้อแดงทุกคนยังอยู่ครบ มีเสียงสนับสนุนจากประชาชนถึง 16 ล้านเสียง แต่กลุ่มอำนาจเก่าก็ยังอยู่กันครบเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าทุกคนยังไม่ได้ลงจากเวที ยังต้องชกกันต่ออีก 5 ยก

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีหน้าที่การงานที่กำหนดไว้เต็มมือแล้ว จตุพร, ณัฐวุฒิ, หมอเหวง โตจิราการ และคนเสื้อแดงทั้งหมดจะต้องทบทวนหน้าที่ให้ดีเพราะมีงานหนักไม่แพ้กันรออยู่


.