http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-14

การเมืองเรื่องสรรพนาม และ ข้อสอบ : เมดเลย์แห่งชาติ (National Medley) โดย คำ ผกา

.

การเมืองเรื่องสรรพนาม
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 89


หะแรกฉันเข้าใจไปอย่างไร้เดียงสาว่า gender does not matter กับการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนๆ กับที่เคยไร้เดียงสาว่า size does not matter ในสมัยยังสาว และในสังคมไทยอันแสนจะ unique ไม่เหมือนใครในโลกนี้ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่น่าจะ matter แต่ดัน matter

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

คงจะได้มีการหาคำตอบกันต่อไปจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง (และเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเป็นเราหรือสังคมไทยที่จะตายก่อนกัน)

ตามครรลองแล้ว ในสังคมที่ชายยังเป็นใหญ่ในทุกๆ อาณาบริเวณ อำนาจทั้งอำนาจทางกายภาพและอำนาจเชิงสัญลักษณ์ อุปสรรคของผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศคือไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนที่ยังเชื่อเหมือนอริสโตเติล หรือเซนต์ ออกัสติน ที่เห็นว่า ผู้หญิงนั้นเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีวิญญาณส่วนที่ใช้เกี่ยวกับเหตุผล (rational soul)

ซากเดนของวิธีแบบนี้ในปัจจุบันยังมีอยู่ในหนังสือประเภท "ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์" เป็นต้น

หรือให้ทันสมัยขึ้นก็อาจถูกต่อต้านโจมตีจากกลุ่มคนที่ยังเชื่อว่า ความเป็นใหญ่ของผู้หญิงนั้น ควรจำกัดไว้ภายในบริเวณบ้านและห้องครัว ผ่านวาทกรรมที่บอกว่า ผู้ชายต่อให้ใหญ่อยู่นอกบ้านขนาดไหน กลับเข้าบ้านไปก็ไม่ผิดอะไรกับแมวเซื่องๆ ตัวหนึ่งที่หาอาหารกินเองไม่ได้ รินน้ำดื่มเองไม่ได้ และมีภาวะพึ่งพาผู้หญิงอย่างสูงยิ่ง และนี่คืออำนาจที่แท้จริงของผู้หญิง เพราะเธอคือลมใต้ปีก คือผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่"

แปลอีกอย่างได้ว่า "ผู้หญิงอย่าได้ละทิ้งอาณาจักรของตนเองออกมาแย่งชิงความเป็นใหญ่กับผู้ชายในพื้นที่ที่เป็นของผู้ชาย ต่างคนต่างใหญ่ ต่างคนต่างอยู่ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้อะไรเลย"

ก่อนจะสำทับด้วยวรรณกรรมเกี่ยวกับความล้มเหลวในชีวิตคู่ และชีวิตครอบครัวของผู้หญิงเก่ง เช่น ผัวมีเมียน้อย ลูกติดยา ก่อนจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เจ็บปวด ตายไปตามลำพัง หรือไม่ก็บวชชี



ตามครรลองอีกเช่นกันที่ กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีจะออกมาต่อสู้กับ "อคติ" เหล่านี้ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เพื่อลดอุปสรรคที่จะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้ามาเป็นใหญ่ในพื้นที่ที่เคยเป็นของผู้ชาย เช่น พื้นที่การเมืองที่อยู่ในระบบ

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยในยามที่ผู้หญิงได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะถูกต่อต้านโจมตีจากบรรดาคนหัวโบราณ "อนุรักษนิยม" ที่อยากเห็นผู้หญิงไปเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือทำกับข้าวอยู่ที่บ้านมากกว่า กลับเป็นกลุ่มเฟมินิสต์หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเสียเอง ด้วยการวิ่งไปหยิบเสื้อนักสตรีนิยมสาย radical มาสวมโดยการบอกว่า คุณยิ่งลักษณ์ทรยศต่อความเป็นหญิงของตนเอง

"แม้ว่าร่างกายของเธอจะเป็นหญิง แต่เธอคิดแบบผู้ชาย และฉันไม่คิดว่าเธอจะทำอะไรให้กับผู้หญิงเป็นพิเศษ" อาภาพร สัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หรือ

"กลุ่มสตรีนิยมในประเทศไทยไม่สะดวกใจนักที่จะพูดว่า ชัยชนะของยิ่งลักษณ์เป็นชัยชนะของความเท่าเทียมทางเพศ พวกเขากล่าวว่า ชัยชนะของเธอไม่ใช่การทลายกำแพงทางเพศลงแต่อย่างใด ทว่า มันเหมือนกับ "การไต่หางเสื้อโค้ต" ผู้ชายเพื่อขึ้นไปยังจุดสูงสุดมากกว่า ... ... จะให้พวกเราภูมิใจได้อย่างไรกัน คนทั้งโลกก็รู้ว่าทั้งหมดนี่เป็นเรื่องของชายที่ชื่อทักษิณ"
สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล จากสถาบันวิจัย บทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI)
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310110336&grpid&catid=80&subcatid=8000

ล่าสุด คุณสุธาดาเจ้าเก่า ยังแสดงความเห็นอีกว่า
" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ คนแรกและคนเดียวที่เรียกตัวเองด้วยชื่อเล่น มันสะท้อนว่ายังไม่แยกแยะระหว่างการเป็นนายกฯ กับการเป็นปูมันต่างกันอย่างไร ตนคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เมื่อถึงวันหนึ่งเราอาจมีนวัตกรรมใหม่ คือมีนายกฯ เรียกชื่อเล่นตัวเองในการพูดกับแขกบ้านแขกเมืองซึ่งก็ดี แต่กังวลว่าการไม่แยกแยะแบบนี้จะเป็นการไม่แยกแยะในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือเปล่า อันนี้ตั้งคำถามไว้เล่นๆ วันหนึ่งคุณปูต้องแยกแยะความเป็นปูกับความเป็นนายกฯ ให้ได้ "
www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000098821

โอ้...ฉันอยากจะเอาลงกินเนสบุ๊กให้โลกลือเลยว่า ในประเทศไทยนั้นกลุ่มคนที่รังเกียจนายกรัฐมนตรีผู้หญิงที่สุด คือกลุ่มที่ได้ชื่อว่าทำงานเพื่อส่งเสริมและเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิง

ไม่นับการพูดอย่างไม่เป็นทางการในงานสัมมนาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่นักวิชาการสตรีนิยมผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า "ไม่มีความหวังกับการมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงเมื่อกลับบ้านก็ต้องไปเป็นแม่ ไปทำกับข้าว เลี้ยงลูก จึงไม่มีศักยภาพในการทำงานเท่าผู้ชาย"

พระเจ้าโปรดเป็นพยานแก่ข้าพระองค์ด้วย ว่านอกจากผู้หญิงจะไม่ได้เป็น "ฉายา" ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว นักสตรีนิยมในเมืองไทยยังหัดเอาหัวเดินต่างตีนเพียงเพราะนายกฯ หญิงของเราไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่พวกเขานิยม

ไม่เพียงแต่ความพยายามจะซอกซอนดูว่าความเป็นหญิงนั้นวัดกันที่ "จิ๋ม" หรือวัดกันที่ "ใจ"

(ยังไม่ต้องถามต่อว่า หากวัดกันที่ใจนั้น นักวิชาการอย่าง คุณอาภาพร เพียงแต่พูดง่ายๆ หรือมิได้ทำงานวิจัย "คุณยิ่งลักษณ์" แล้วอย่างถ่องแท้จึงกล้าฟันธงว่า วิธีคิดของเธอเป็น "หญิง" หรือ "ชาย" และโปรดแสดงระเบียบวิธีวิจัยให้แจ่มแจ้งแก่สังคมไทยก็จะเป็นวิทยาทานที่สำคัญยิ่งว่า การมอบ จู๋ และ จิ๋ม หรือการมอบ "gender" แก่สมอง วิธีคิด หรือโลกทัศน์ของมนุษย์ผู้หนึ่งนั้น ทำและวัดจากตัวชี้วัดอะไรบ้าง มีค่าที่ปรวนแปรหรือคงที่แค่ไหน อย่างไร แล้วอย่าบอกนะว่า สามารถดูจากวิธีการจอดรถที่จะบอกได้ว่า เป็นผู้หญิงจอดหรือผู้ชายจอด?)

แต่ที่คลาสสิคและเกือบจะได้เป็นบัวพ้นน้ำหากไม่ตาบอดด้วยอคติเสียก่อน ชาตินี้ก็คงมีโอกาสหูสว่างตาเปิดกับเขาบ้างคือ ความคิดเห็นล่าสุดของ ผอ. สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) (มีสถาบันอะไรอย่างนี้ด้วยแฮะ) คือ การตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้สรรพนามแทนตัวเองของนายกฯ



ปัญหาเรื่องการใช้สรรพนามในภาษาไทยนั้น ไม่ใช่ปัญหาของภาษา แต่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรม การเมือง เพศ และชนชั้น

หากคุณสุธาดาเป็นถึงนักวิชาการที่เป็นถึง ผอ. ของสถาบันวิจัย บทบาทหญิงชายและการพัฒนา คุณสุธาดาน่าจะพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับภาษาและอำนาจได้ลึกและตรงประเด็นกว่าการมานั่งค่อนแคะการเรียกตัวเองด้วยชื่อเล่นของนายกฯ ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ แยกบทความของความเป็น "ปู" ออกจากความเป็นนายกฯ ไม่ได้ บลา บลา

ทักษะแบบนี้ ถ้าเป็นการอภิปรายในเปเปอร์ของนักศึกษาปี 1 ให้เกรดไปคงได้แค่ D จะ F ก็ขี้เกียจให้มานั่งเห็นหน้าเรียนซ้ำชั้นกันอีกรอบ

สรรพนามที่ใช้ในภาษาไทยนั้น เป็นมรดกของโลกยุคเก่าก่อนที่เราจะรับเอาแนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน อันเป็นแนวคิดของฝรั่ง (อย่างปฏิเสธไม่ได้)

เมื่อเป็นเช่นนั้น สังคมไทยก่อนจะเชื่อตามฝรั่งว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน จึงมีสรรพนามอันร่ำรวยไปด้วยช่วงชั้นต่ำสูงตามสถานะอันติดตัวมาแต่กำเนิดและกรรมเก่า ตั้งแต่สรรพนามที่ใช้พูดกับพระมหากษัตริย์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เจ้าเมือง พระสงฆ์ ในบรรดาพระสงฆ์ก็มีชั้น มียศ อันซับซ้อน มีทั้งสรรพนามที่เป็นทางการ สรรพนามที่ไม่เป็นทางการและมีแต่ความคุ้นเคยหรือการมีวิถีชีวิตเช่นนั้นจริงๆ จึงจะสามารถใช้สรรพนามอันซับซ้อนเหล่านั้นได้ถูกต้อง

เช่น การใช้ราชาศัพท์นั้น คนที่อยู่ในวิถีชีวิต "เจ้า" จริงๆ เท่านั้นถึงจะรู้วิธีการใช้ราชาศัพท์ที่ผิดอย่างถูกต้องได้

ส่วนที่ใช้ถูกต้องตามตำราเป๊ะ แปลว่าเป็นพวกที่รู้เพราะเรียน ไม่ใช่รู้ว่า มี "ชีวิต" อย่างนั้นจริง (แปลว่าคนที่ไม่ได้เกิดมาเป็นเจ้าจะทำ fake เป็น ด้วยทักษะการพูดราชาศัพท์เปี๊ยบเป๊ะนั้น จะจับได้เลยว่า fake)

นี่คือกลไกอันซับซ้อนของหัสทางภาษาในการขีดเส้นจำกัดการละเมิดพื้นที่ที่สัมพันธ์กับชนชั้นอันเป็นโลกทัศน์ของสังคมไทยก่อนรับค่านิยมเรื่องมนุษย์เท่ากันของฝรั่งเข้ามา

ดังที่เราเห็นประโยคคลาสสิคในนิยายเรื่องสี่แผ่นดินเกี่ยวกับการใช้สรรพนามคือ

"เสด็จให้มาถามเสด็จว่าเสด็จจะเสด็จหรือไม่เสด็จถ้าเสด็จเสด็จเสด็จจะเสด็จด้วย"


จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยหลังปี 2475 แล้ว สิ่งที่หนึ่งที่รัฐบาลพลเรือนพยายามจะทำคือการปฏิรูปภาษาไทย - อันกลุ่มปัญญาชนอนุรักษนิยมโจมตีกันมากว่าทำให้ "ภาษาไทยวิบัติ" (นักเขียนบางคน เช่น มาลัย ชูพินิจ ถึงกับประท้วงด้วยการเลิกเขียนหนังสือไปช่วงหนึ่ง และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกดิสเครดิตด้วยเรื่องของการทำลายคุณค่าอันสูงส่ง มรดกเก่าแก่ของภาษาไทย) ทั้งนี้ เนื่องจากปัญญาชนเหล่านั้นรู้ว่า หากทำนบของการปกป้องสำนึกเรื่อง "ที่ต่ำที่สูง" อันอยู่ในภาษาถูกทำลายลงไป พวกเขาจะไม่เหลืออะไรอีก

การปฏิรูปและประดิษฐ์ภาษาใหม่นั้น นอกจากสร้างคำทักทาย "สวัสดี", "ราตรีสวัสดิ์" "อรุณสวัสดิ์" แล้ว ยังมีสรรพนาม ฉัน, เธอ, ท่าน เพื่อล้างจิตสำนึกเก่าเกี่ยวกับลำดับชั้นสูง และช่วงชั้นของคนอันผูกติดอยู่กับชาติกำเนิดอันไม่เท่าเทียมกันและจิตสำนึกนี้ทำงานผ่าน "ภาษา" ดังนั้น การสร้าง "ภาษา" ใหม่ ย่อมเป็นการปลูกจิตสำนึกใหม่ ฉัน และ ท่าน ท่านและฉัน ฉันและเธอ เธอและฉัน ให้ความรู้สึกเท่าเทียมทั้งแสดงความเคารพและให้เกียรติคู่สนทนา

ลองจินตนาการว่า การปฏิรูปภาษานี้ประสบความสำเร็จเราจะไปสั่งส้มตำกับแม่ค้าว่า

"ฉันขอส้มตำปูปลาร้าไม่เผ็ดสองที่นะคะท่าน"

"ท่านรอสักครู่นะคะ จะใส่ผงชูรสด้วยหรือเปล่า?"

หรือ ลองวาดภาพ คุณสุธาดาพูดกับแม่บ้านของสำนักงานว่า

"ขอรบกวนท่านมาหาดิฉันที่ห้องทำงานหน่อย"

"รอดิฉันสักครู่"

ฯลฯ

ทว่า การปฏิรูปภาษาครั้งนี้ไม่สำเร็จเท่าๆ กับที่การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ และการสร้างสำนึกที่ว่า

คนเราเกิดมาเท่าเทียมกันก็ไม่สำเร็จ ความล้มเหลวนี้สะท้อนอยู่ในสรรพนามอันหลากหลายซับซ้อนซ่อนเงื่อนในสรรพนามที่คนไทย

ใช้ เจ๊, หนู, ผม, ดิฉัน, เรา, มึง, กู, ไอ้ -อี, น้อง,หลาน, ลุง, ป้า, พี่ ,อาตี๋, อาหมวย, อาเจ็ก, อาซ้อ,เฮีย, นาย,กัน, บอส, นายหญิง,นายใหญ่, อย่าว่าแต่การเรียกชื่อเล่นคำว่า "ด๊อกเตอร์" หรือ "ท่านอธิการ" ก็กลายเป็นสรรพนามที่ใช้กันดาษดื่นอย่างน่างุนงง ล่าสุด ฉันพบว่า สมัยนี้ในร้านนวด ห้างสรรพสินค้า จะเรียกลูกค้า "คุณผู้หญิง" และ "คุณผู้ชาย" (แหม...น่าจะมี "คุณกะเทย" หรือ "คุณเกย์", "คุณเคียวร์" ด้วยดีไหม?)

ในชีวิตของฉันเคยได้ยินคนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ เรียกแทนตัวเองด้วยชื่อตำแหน่ง เช่น เรียกตัวเองว่า "ด๊อกเตอร์" บ้าง เรียกตัวเองว่า "อธิการบดี" บ้าง ไม่นับคำพื้นๆ ที่เราคุ้นกันแล้ว เช่น การเรียกแทนตัวเองว่า "อาจารย์" หรือ "หมอ" แทนที่จะเป็น "ดิฉัน" หรือ "ผม" อย่างธรรมดา


การที่นายกฯ เรียกตัวเองว่า "ปู" นั้น ถือว่าได้ทำลายข้อจำกัดเรื่อง "ที่ต่ำที่สูง" และโดยไม่รู้ตัว คุณยิ่งลักษณ์ได้ปฏิวัติบทบาท และ ตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นนายกรัฐมนตรี พลิกกลับจาก ภาพผู้ชายผู้ทรงอำนาจในทำเนียบ มาเป็น "คน" ที่จับต้องได้ สัมผัสได้

นายกฯ มิใช่ผู้ทรงอำนาจบารมี มีออร่าฉัพพรรณรังสี แต่คือคนที่ประชาชนเลือกมาอยู่ในตำแหน่ง แล้วก็จะหมดวาระไปตามกฎเกณฑ์-แสนธรรมดา สามัญ และนี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นมิใช่หรือ ?

ในฐานะที่เป็นประชาชนที่อยู่ประเทศที่ชินกับการต้องหวาดกลัวต่อ "ผู้มีอำนาจวาสนา" ฉันเชียร์ให้คุณยิ่งลักษณ์แทนตัวเองว่า "ปู" เพราะประชาชนอย่างฉันรู้สึกว่า "คุณปู" กับเราเท่าเทียมกัน

และไม่พึงให้ตำแหน่งนายกฯ มาทำให้คุณต้องสูญเสียสภาพของความเป็นมนุษย์ที่ ร้องไห้ หัวเราะ ยิ้ม ผิดหวัง หน้าบึ้ง ปวดอึ และปวดตดได้เหมือนมนุษย์ทุกคน



+ + + +

บทแทรก

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ชี้ การเรียกตัวเองว่า "ปู" ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมไทย
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.

หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มักเรียกตัวเองด้วยชื่อเล่น "ปู" ในพื้นที่สาธารณะว่า อาจถือเป็นการไม่แยกแยะว่า "ความเป็นนายกรัฐมนตรี" กับ "ความเป็นปู" นั้นแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไม่แยกแยะในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงประเทศไทยอาจมีนายกรัฐมนตรีที่เรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเล่นในการสนทนากับแขกบ้านแขกเมือง

ล่าสุด นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นที่เป็นปฏิกิริยาต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมติชนออนไลน์ขออนุญาตตัดทอน-แก้ไข-เรียบเรียงข้อความ และนำมาเผยแพร่ใหม่อีกครั้ง ดังนี้

คุณ "ปู" น่ะ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น เวลาเขาพูดกับ "แขกบ้านแขกเมือง" เขาเรียกตัวเองว่า "I" ครับ

อันที่จริง โดยส่วนตัวผมเฉยๆ (ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์) เรียกตัวเองว่า "ปู" ที่ผ่านมา ในขณะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ใช่นายกฯ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่าเป็นประเด็?นในการ "แยกบทบาทตัวเองไม่ออก" ได้อย่างไร ที่ผ่านมา ผมฟังคุณ "ปู" ก็ยังไม่เห็นเขาพูดเรื่องในลักษ?ณะ "ส่วนตัว" อะไร จะบอกว่า เป็นการสะท้อนการ "แยกบทบาทไม่ออก" ยังไงไม่ทราบได้

ผมเดาว่า เมื่อเป็นนายกฯ คุณปู คงเรียกตัวเองว่า "ดิฉัน" มากกว่า แต่ต่อให้เรียก "ปู" ผมก็มองไม่เห็นว่า จะเป็นประเด็น "แยกบทบาทไม่ออก" อยู่ดี

ป.ล. ทำไมผู้หญิงไทย ที่มีอายุหน่อย ชอบเรียกตัวเองด้วยชื่อเล่น ปัญหาคือ คำเรียกตัวเองของผู้หญิงในภาษาไทย มีปัญหาอยู่ เรียก "ดิฉัน" จะใช้กับหลายคนก็ไม่ได้ เพราะ "ประเพณีวัฒนธรรม" เช่น "นักการ" จนท. ประจำชั้น 8 คณะผม เธอจะเรียกตัวเองด้วยชื่อเล่นประจำ ไม่ยอมเรียก "ดิฉัน" เพราะเธอคงรู้สึกว่า ไม่เหมาะที่จะใช้กับ "อาจารย์" ครั้นจะใช้ "หนู" เธอ ก็อายุมาก 60 เศษแล้ว จะ "หนู" ก็ชอบกล (แต่ผมเคยเจอ หลายคนอายุมากๆ เจอผมในฐานะ "อาจารย์" ก็ยังอุตส่าห์เรียกแทนตัวเองว่า "หนู" เพราะไม่กล้าจะใช้คำว่า "ดิฉัน" หรือ "ชื่อเล่น")

เพื่อนอาจารย์ของผมที่เป็นผู้หญิง เวลาคุยกับผม ก็นิยมใช้ชื่อเล่นเรียกแทนตัวเอง เช่น อ.... ที่จุฬาฯ เรียกตัวเองว่า "เล็ก" อะไรแบบนี้

อ... ที่ภาควิชาผม เรียกตัวเองว่า "นก" ฯลฯ คนเหล่านี้ จะว่า "แยกบทบาทตัวเองไม่ออก" ยังไง ผมก็นึกไม่ได้เหมือนกัน อาจารย์บางคนที่อายุมากกว่าผม ก็จะเรียกตัวเองว่า "พี่" อายุน้อยกว่าผมมากหน่อย ก็จะเรียกตัวเองว่า "หนู" ไปเลย (ความจริง "อ.เล็ก" กับ "อ.นก" ก็อายุน้อยกว่าผม แต่ไม่มาก ก็เลยคงรู้สึกว่า การเรียกตัวเองด้วยคำว่า "ดิฉัน" หรือ "หนู" มันชอบกล)

สรุปแล้ว ปัญหาการเรียกตัวเองของผู้หญิง เป็นปัญหาที่สะท้อนวัฒนธรรมบางอย่างที่เป็นปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ปัญหาว่า คนโน้นคนนี้ ชอบเรียกตัวเองด้วยชื่อเล่น



++

ข้อสอบ : เมดเลย์แห่งชาติ (National Medley)
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 89


"ย้อนหลังไป 7 ปีที่แล้ว ผมยังไม่รู้จักขุนรองปลัดชู ตอนนั้น คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กับพวกมาชวนให้ไปเยี่ยมค่ายทหารและเยาวชนสำนึกรักบ้านเกิด แล้วไปแวะทำพิธีปลดปล่อยวิญญาณวีรชนกลุ่มหนึ่ง...

อะไรคือประเด็นหลักที่ต้องการสื่อสาร - ความรักชาติ ความเสียสละ ความกตัญญูกตเวที

อยากให้คนไทยได้เห็นถึงความเป็นอารยะของตัวเอง...นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยที่มีพลัง

ความสุขของผมในวันนี้คือการได้สะสมบุญเยอะๆ ผมเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่หรือไปเกิดในภพอื่น ผมเชื่ออย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ผมมีความสุขที่ได้สะสมบุญทุกวัน ได้ชื่นชมได้ช่วยให้แวดวงศิลปะได้เฉิดฉายเป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก ผมว่าในส่วนที่เป็นคนรักศิลปะ

เวลาที่ได้คุยกับศิลปินผมมีความสุข คุยเรื่องจินตนาการ คุยเรื่องรูปแบบงานศิลปะ ทำให้ได้คิด ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น

หลังจากนี้ ถ้างานสามส่วนนี้คือ ขุนรองปลัดชู พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และสำนึกรักบ้านเกิด สำเร็จ ผมก็ตายตาหลับ" (สัมภาษณ์ บุญชัย เบญจรงคกุล เรียกผมว่า Philanthropist: กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2554)



ตัวอย่างที่ 2

"เพราะพี่ อิจฉารากหญ้าครับ การที่อนุญาตให้คนที่ไม่เรียนมีสิทธิเท่าเทียมคนที่เรียน เป็นกติกาสากลสำหรับประเทศที่ระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงถึงขั้นปลอดภัยแล้วการเลือกตั้งของเค้าจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานได้ซึ่งไม่ถูกต้องสำหรับประเทศที่การศึกษาเฉลี่ยต่ำครับ เพราะจริงๆ แล้วสิทธิขั้นพื้นฐานเดิมนั้นกำหนดเฉพาะ เรื่องพื้นฐาน เช่น การนับถือศาสนา การสาธารณสุข การแสดงความคิด การสมรส สวัสดิภาพในการดำรงชีวิต ฯลฯ รวมไปถึงการศึกษา แต่ไม่รวมการเลือกตั้งเข้าไปในสิทธิขั้นพื้นฐานครับ อันตรายต่อความอยู่รอดของบางเผ่าพันธุ์ในทันที แต่เผ่าพันธุ์นั้นๆ จะไม่ค่อยรู้ เพราะดันไปสงสารเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ที่ควรกำจัดเพราะเป็นภาระเราไม่ได้ เกรงใจภาระเพราะเราใจดีนะครับ เราเกรงใจภาระเพราะเราขี้ขลาด เราเกรงกลัวพวกภาระครับ ภาระจึงได้ใจ ครอบครองเมืองโดยไม่ยอมพัฒนาพวกตน พี่อิจฉามันครับ

เมื่อการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานใครไม่ยอมเรียนก็ต้องถือว่าผู้นั้นละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็แปลว่าบกพร่องในหน้าที่ซึ่งโยงกับบางสิทธิ ผู้บกพร่องในหน้าที่ก็ควรถูกเพิกถอนบางสิทธิที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิในการตัดสินใจเรื่องอนาคตของประเทศชาติ เพราะเราจำเป็นต้องกำหนดที่การศึกษาครับ ไม่ใช่กำหนดที่อายุเหมือนประเทศพัฒนา ตายสิ

ระดับการศึกษาเฉลี่ยของเราต่ำกว่ามาตรฐานประเทศประชาธิปไตยในโลกครับ ไม่ต้องอาย ต่ำกว่ามากเลยจริงๆ ต้องยอมรับ ต้องแก้กติกาครับ ไม่งั้นตาย หลายศพแล้วด้วย และจะมีอีกครับถ้าไม่รีบแก้กติกา อย่าอาย เพื่อนร่วมชาติเราโง่ครับ ยอมรับซะจะได้แก้กติกากัน

อยุธยาช่วงนั้น สงบสุข น่าอยู่ เพราะไม่ทรงอนุญาตให้ไพร่ที่ต่ำช้าแสดงออกครับ มาวันนี้ที่ประชาธิปไตยเบ่งบานทะโล่ จัณฑาลก็บังอาจแสดงออกได้ และ ซื้ออำนาจเข้ามาปกครองบัณฑิต ซึ่งไร้น้ำยาเพราะพวกน้อยกว่า

ประเทศที่คนมีการศึกษามีจำนวนน้อยกว่าคนที่ไม่มีการศึกษาจะยังเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ครับ เพราะเสียงส่วนใหญ่จะโง่ จะวุ่นวายไม่จบสิ้น จะตะโกนแต่คำขวัญของกรรมกรคอมมิวนิสต์ ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แล้วก็ตีกันด้วยอารมณ์

อ้ายลาว น่านจ้าว โยนก เชียงแสน ล้านนา ทวาราวดี ศรีวิชัย หริภุญชัย สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี แตกหมดแล้ว เพราะไม่มีวิชาประวัติศาสตร์เรียนครับ

อาณาจักรเหล่านี้เอาคนเชื้อสายต่างด้าวเข้ามาปกครอง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา และลบประวัติศาสตร์ทิ้ง ให้หันมาเลื่อมใสเชื้อสายต่างด้าวที่รวยเอารวยเอาไม่เลิก เพื่อให้เลิกนับถือพ่อและหันมานับถือเตี่ยใหม่แทนพ่อ "
www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9510000123480



นักคิดและแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อฟาสซิสต์

1.Friedrich Jahn (1778-1852) ความเป็นชาติขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์, ต้องการให้ดินแดนของเยอรมนี ครอบคลุม

ออสเตรีย ฮอลแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์

2. Arthur de Gobineau (1816-1882) ความไม่เสมอภาคระหว่างเชื้อชาติ ผิวขาว ผิวเหลือและผิวดำ

3. Herbert Spencer (1820-1903) สร้างพลังให้กับลัทธิ ดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) เน้นความอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด

4. Gustave Le Bon (1841-1931) ฝูงชน (crowds) ไม่สามารถดูแลตนเองได้ จึงต้องการผู้นำที่สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดมานำ

5. Friedrich von Bernhardi (1843-1930) อำนาจคือธรรม สงครามคือบทพิสูจน์ความเป็นธรรมที่ดีที่สุด

6. Friedrich Nietzsche (1844-1900) เจตนารมณ์แห่งอำนาจเป็นคุณสมบัติของอภิมนุษย์ (superman)

7. George Sorel (1847-1922) การปฏิวัติสังคมนิยมแบบ syndicalism (มุสโสลินีนำมาปรับใช้ด้วยการสร้าง รัฐบรรษัทหรือ cooperate stateขึ้นมาในอิตาลี ใช้แนวคิดสร้างความเข้มแข็งและเอกภาพให้แก่เศรษฐกิจแห่งชาติ เน้นพึ่งตนเองเป็นพื้นฐาน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าปัจเจกบุคคลเพราะด้วยสำนึกชาติและเชื้อชาตินิยมทุกคนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของ "ชาติ" เป็นหลัก และมองว่าทั้งระบบทุนแบบเสรีนิยมและสังคมนิยมต่างก็สร้างความแตกแยกให้กับ "ชาติ")

8. Vilfredo Pareto (1848-1923) สังคมเปรียบได้กับปิรามิดที่มีชนชั้นนำเป็นยอดและมวลชนเป็นฐาน

9. Julius Langbehn (1851-1907) อำนาจของสายเลือด (power of blood) เป็นตัวแปรในการกำหนดชะตากรรมทางประวัติศาสตร์ของชาติ, ชูผู้นำ, เหยียดประชาธิปไตยโดยมวลชน

10. Houston Stewart Chamberlain (1855-1927) เชื้อชาติอารยันมีพรสวรรค์ทางด้านพันธุกรรมเหนือกว่าชาติอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นเชื้อชาติที่จะพบชัยชนะ

11. Karl Pearson (1855-1927) สงครามเป็นเครื่องมือที่ใช้กำจัดเผ่าพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพ

12. Maurice Barrer (1862-1923) ลัทธิชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมเป็นพลังสำคัญที่จะรวมชนชั้นคนงานไว้ด้วยกัน และนาซีรับเอาคำว่า สังคมนิยมแห่งชาติ (national socialism)ไปใช้ (จุดสังเกตความเป็นฟาสซิสต์ คือ เราจะชอบเติมคำว่า "แห่งชาติ" ไปท้ายคำต่างๆ อย่างไม่เห็นว่าผิดปกติ หมายเหตุต่อไปคือ เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ National (เนชั่นแนล) ยังต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พานาโซนิค อิอิ - คำ ผกา)

13. Gabriel D"Annunzio (1863-1938) ใช้เครื่องแบบและพิธีกรรม ธรรมเนียมนิยมมาทำให้ขบวนการฟาสซิสต์ได้แสดงออกอย่างยิ่งใหญ่ สง่างาม เน้นการสร้างบุคลิกภาพในอุดมคติ

14. Charles Maurras (1868-1952) ความเป็นระเบียบและเกียรติยศคือพลังสร้างความยิ่งใหญ่

15. Geovanni Gentile (1875-1944 การฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมันให้กลับคืนมาอีก

16. Alfredo Rocco (1875-1935) รัฐแบบอินทรียภาพ (การเปรียบรัฐเหมือนนิ้วมือ 5 นิ้ว ไม่เท่ากัน แต่ก็มีหน้าที่ต่างๆ กัน หรือการเปรียบองคาพยพของรัฐเหมือนอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น กษัตริย์คือหัว ลดหลั่นลงมาตามลำดับ เป็นต้น) เหมาะกับฟาสซิสต์

17. Robert Michels (1876-1936) ประชาชนไม่อาจดูแลสังคมได้ด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สังคมต้องการผู้นำจำนวนน้อยที่เข้มแข็ง

18. George Valois (1878-1945) เสนอสูตรที่ว่า ชาตินิยม+สังคมนิยม = ฟาสซิสต์

19. Gottfried Feder (1883-1941) นักเศรษฐศาสตร์ของนาซี แบ่งทุนออกเป็น 2 ประเภทคือ ทุนการผลิต และทุนการเงิน ทุนการเงินถูกยิวครอบงำดุจกาฝาก

20. Alfred Rosenberg (1893-1946) สนามรบสลายสำนึกทางชนชั้นได้ ทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นสหาย ทำงานเพื่อชาติ

21. Lulius Evola (1898-1974) ฟาสซิสต์ควรขึ้นมามีอำนาจด้วยการรัฐประหารมากกว่าการแสวงหาการสนับสนุนจากมวลชน ประชาชนเป็นได้แค่มวลชนเท่านั้น แต่ไม่อาจนำพอชาติได้ คนที่จะนำพาชาติไปสู่ความสำเร็จมีแต่ชนชั้นนำเท่านั้น และคุณสมบัติที่สำคัญของชนชั้นนำคือต้องเป็นทั้งทหารและพระในตัวคนเดียวกัน คือมีความกล้าหาญทั้งทางกำลังกายและจริยธรรม

(ลอกมาจาก : ศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ "อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย" กรุงเทพฯ : อักษรข้าวสวย, 2551)


ข้อสอบ : โปรดเชื่อมโยงตัวอย่างที่ 1 และตัวอย่างที่ 2 กับนักคิดและแนวคิดฟาสซิสต์ที่แสดงมาข้างต้น



ตัวช่วยในการทำข้อสอบ

"ในรายการของสถานีที่เรียกตัวเองว่าทีวีสาธารณะ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สถานีโทรทัศน์นำเสนอสารประโยชน์ และให้เวลากับเรื่องราวของประชาชนสามัญ รวมทั้งการพัฒนาทางเลือกอย่างมาก จนมีแซวกันว่าเป็นช่อง NGOs แต่ถ้ามองให้ลึกจะพบว่า สถานีได้ทำหน้าที่ชำระล้างประเด็นทางการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าอันตรายออกไป และก็จะเลือกสรรประเด็นการเมืองที่เห็นว่าสมควร ผู้เขียนอยากจะเรียกว่าการพาสเจอไรส์ (Pasteurization) ประเด็นทางการเมือง

โดยรวมๆ เราจึงเห็นสารคดีชาตินิยมล้าหลังแบบเนียนๆ สารคดีชีวิต/ชุมชน/การพัฒนาทาง เลือกแบบโรแมนติก การสนทนาประเด็นปัญหาที่วิพากษ์การพัฒนาอย่างเป็นนามธรรม ซึ่งมักจะด่าฝรั่งและความหลงผิดของคนไทย หากจะมีการวิจารณ์การเมืองก็จะมุ่งไปที่นักการเมือง แต่น้อยนักที่จะแตะต้องกลุ่มอำนาจในวงราชการและเครือข่ายอำนาจของชนชั้นสูง และแขกรับเชิญในรายการก็มักจะเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงภาคประชาชนของพวกเขา ทั้งหมดนี้คงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าสถานีนี้ได้ทำหน้าที่ โรงละครที่ตอบสนองรสนิยมของชนชั้นกลางชาวเมืองผู้มีการศึกษาที่สมาทาน อุดมการณ์ชาตินิยมกระแสหลัก คำถามก็คือ พื้นที่ในสื่อแบบนี้ ทำให้ขบวนการชาวบ้านเข้มแข็ง/มีอำนาจต่อรองมากขึ้นจริงหรือ ? "
พฤกษ์ เถาถวิล : คำถามถึงนักปฏิรูป...ก่อนจะปฏิรูปกันต่อไป
www.prachatai3.info/journal/2011/07/36186


คำช่วยในการค้นหา : สันติอโศก, ทุนต่างด้าว, เอาพระวิหารคืน, อยุธยายศล่มแล้ว, เผาบ้านเผาเมือง, เสียกรุงครั้งที่ 3, ควายแดง, บ้านนอก, โง่, จิตอาสา, งานสาธารณะ, สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, สามัคคีคือพลัง, ขุนรองปลัดชู, สะสมบุญ, สังคมนิพพาน, สามัคคี, น้ำหนึ่งใจเดียวกัน, ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง, ศิลปะ, วิปัสสนา, พุทธศิลป์, สัปปายสถาน, ฉันอยากเป็นชาวนา, ทุนสามานย์, รักชาติ, กตัญญูต่อบ้านเมือง, แทนคุณ, ลาว, เสี่ยว, ไทยพีบีเอส เป็นต้น



.