http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-19

สัมภาษณ์วงศ์ศักดิ์, โคทม และ การสานเสวนาเพื่อความปรองดองฯ


.

สัมภาษณ์พิเศษ อธิบดีกรมการปกครอง วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ เปิดเบื้องหลังไม่ส่งปืนลูกซองฆ่าเสื้อแดง สาปส่งนักการเมือง ทำชาติหายนะ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 40


หลังจาก นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ถูกคำสั่งคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โยกย้ายจากอธิบดีกรมการปกครองไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ตามที่กระทรวงมหาดไทย ที่มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีว่าการ เป็นผู้เสนอ มีผลตั้งแต่วันรุ่งขึ้น

ทั้งๆ ที่เพิ่งเป็นอธิบดีกรมการปกครองมาได้ 1 ปี 5 เดือน

ในที่สุด นายวงศ์ศักดิ์ก็กลับมารับตำแหน่งเดิม ในวันที่ 3 สิงหาคม 2554

รวมเวลาที่นายวงศ์ศักดิ์ถูกดอง 1 ปีกับ 3 เดือนเศษ

การร้องทุกข์ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ว่าถูกย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย 4 เรื่อง ต่อมา ก.พ.ค. ก็มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นธรรม ทำให้ได้กลับมานั่งเก้าอี้เดิมอีกครั้ง เหลือเวลาทำงานแค่เดือนเศษก็จะเกษียณ

สาเหตุประการหนึ่งที่ถูกย้ายเกี่ยวกับ "ปืนลูกซอง" และ "นักการเมือง" นั่นคือ

กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งการด้วยวาจาทางโทรศัพท์ให้ นายวงศ์ศักดิ์ (อธิบดีกรมการปกครอง) สนับสนุนอาวุธปืนลูกซอง 5 นัด จำนวน 3,000 กระบอก พร้อมกระสุน ส่งมอบให้ ศอฉ. แต่นายวงศ์ศักดิ์ชี้แจงว่าตนไม่มีอำนาจสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจบังคับบัญชาผู้ว่าฯ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นายสุเทพ ผอ.ศอฉ.ประสานงานมายังกระทรวงมหาดไทยให้มีการสั่งย้ายนายวงศ์ศักดิ์

ต่อไปนี้คือการให้สัมภาษณ์


: เรื่องปืนลูกซองยาว 5 นัด จำนวน 3,000 กระบอกที่ไม่ส่งให้ ศอฉ. จึงถูกสั่งย้าย คนมีอำนาจตอนนั้นต้องการปืนไปปราบเสื้อแดงที่มาชุมนุมเมษายน พฤษภาคม 2553

เขาโทร.มาหาผมโดยตรง ผู้มีอำนาจใน ศอฉ. เป็นข้าราชการการเมือง มีตำแหน่งสำคัญใน ศอฉ. โทร.มาเอง เขาคงจะเอาไปใช้ปราบคนเสื้อแดง ผมก็บอกไปว่า ปืนนี้เป็นปืนที่ส่งไปให้ ชรบ. ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน ตามชายแดน เป็นปืนราชการที่ส่งไปเพื่อใช้ป้องกันพวกยาเสพติด พวกรักษาความสงบตามชายแดน ผมไม่มีอำนาจที่จะไปเอาคืนมาได้ ก็พูดไปอย่างนี้ เราปฏิเสธไปเลย

บอกว่า การที่จะสั่งการไปยังผู้ว่าฯ แล้วก็ส่งไปให้ ศอฉ. นั้นน่ะ เป็นการใช้ปืนผิดประเภท

ในใจส่วนลึกของผมนั้น บอกตรงๆ ว่า การที่จะใช้ปืนลูกซองยาวไปปราบพี่น้องคนไทยนั้น ผมไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเสื้อสีใดก็แล้วแต่

ปืนนี่ก็เอาไปใช้ยิงกันน่ะ ใช่ไหมฮะ ผมไม่เห็นด้วย มันเป็นเรื่องคุณธรรม เป็นเรื่องมนุษยธรรม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น ควรจะคุยกันรู้เรื่อง แก้ไขทางการเมือง ไม่ใช่มาแก้ไขด้วยอำนาจ ด้วยกระบอกปืน นี่ก็เป็นส่วนลึกในจิตใจของผม

ในทางกฎหมาย เราไม่สามารถสั่งปืนพวกนี้ไปใช้นอกวัตถุประสงค์นั้นได้ ปรากฏว่า ทางโน้นไม่พอใจ คล้ายกับว่า เราไม่ให้ความร่วมมือ แล้วเขาก็วางสายเลย

ฝากสื่อมวลชนไปติดตามดูหน่อยว่า ปืนที่ทางจังหวัดส่งไปให้ ศอฉ. ช่วงที่ผมถูกย้าย ยังได้คืนไม่ครบ 3,000 กระบอก เป็นความรับผิดชอบของใคร ปืนของหลวง เมื่อเอาไปใช้แล้วก็ต้องเอากลับมาที่เดิม


: เหตุจลาจลนองเลือดเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีการสลายคนเสื้อแดง มีการเผาเมือง เผาศาลากลางจังหวัด คิดว่าเป็นความบกพร่อง ผิดพลาดของกรมการปกครองหรือทางจังหวัดด้วยหรือไม่

เอาเป็นว่า ที่เกี่ยวข้องนะ หนึ่ง รัฐบาล สอง กระทรวงมหาดไทยที่ชัดเจน สำหรับรัฐบาลนั้น ผมคิดว่า ถ้าเราใช้นโยบายการเมืองนำในการเจรจา พูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือสีอะไรต่างๆ ที่เกิดม็อบ เจรจากับแกนนำในพื้นที่ และในกรุงเทพฯ ถ้าลงตัวกันตรงนั้น มันไม่น่ามีปัญหา

ใครจะใส่เสื้อสีอะไร เป็นสัญลักษณ์เฉยๆ แต่ดูสิว่า ม็อบเขาออกมาเพื่ออะไร เขาต้องการให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เพราะอะไร อย่างนี้ต้องว่ากันไปตามเกมการเมือง แต่ว่ามีการปราบปราม มีการฆ่า ผมไม่เห็นด้วย


: ช่วงหาเสียง คุณเฉลิม อยู่บำรุง ปราศรัยว่าจะย้ายผู้ว่าฯ ถือเป็นเรื่องผิดปกติของการเป็นข้าราชการหรือเปล่าที่นักการเมืองแสดงออกเช่นนี้

ถ้าผมเป็นท่านเฉลิม บางทีถ้าเกิดไปเห็นเหตุการณ์ ไปเห็นข้อเท็จจริง ถ้าเห็นนะ ผมอาจจะพูดมากกว่านั้น อาจจะย้ายมากกว่านั้น

เรามาดูว่า ผู้ว่าฯ นี่ วุฒิภาวะ และอำนาจหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ศรีของผู้ว่าฯ เป็นอย่างที่ท่านเฉลิมว่าหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างที่ท่านว่า

นั่นก็คือ ทำตัวเข้าไปเป็นเด็กรับใช้ของฝ่ายการเมือง แล้วก็ไปปลุกปั่นประชาชน โดยไม่ได้สร้างความปรองดอง สร้างความแตกแยกแตกสามัคคีอยู่ตลอดเวลา ผมก็ว่า ไม่ควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

สรุปสั้นๆ ก็คือ ผู้ว่าฯ ทุกคนต้องวางตัวเป็นกลาง ส่วนตัวนั้นจะนิยมชมชอบใคร ก็อยู่ในครอบครัว ในตัวเอง อย่าเอามาเกี่ยวกับงาน


: การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในมหาดไทยสมัยที่พรรคภูมิใจไทยมาคุมกระทรวงนี้เป็นอย่างไร เห็นมีข่าวอื้อฉาวอยู่ตลอด

ผมมีความรู้สึกว่า การโยกย้าย แต่งตั้ง มันเอาแต่พรรคพวกกันขึ้นมา แล้วก็ข้ามหัวข้ามหาง เพราะฉะนั้น คนที่เขาทำงานดีอยู่แล้ว ดูผมเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ว่าตัวเองทำดีหรอกนะ ก็ดูที่ผลงานที่ออกมานะ ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรผิดแล้วถูกย้ายไปนี่ ยังมีข้าราชการอื่นๆ อีก

เขาทำงานในพื้นที่ของเขาเป็นปกติดีอยู่แล้ว ก็ย้ายเขาออกไป ตั้งแต่ผู้ว่าฯ ลงมาถึงข้าราชการผู้น้อย รวมไปถึงอธิบดีกรมต่างๆ ในกระทรวงมหาดไทย


: 1 เดือนครึ่งที่เหลือจะทำอะไร

ผมจะเยียวยาข้าราชการ โดยเฉพาะนายอำเภอที่ถูกกลั่นแกล้ง นายอำเภอเกรดเอ หรืออำเภอชั้นหนึ่ง ย้ายไปเป็นนายอำเภอชั้นสี่โดยไม่มีเหตุผลอะไร ย้ายไปดื้อๆ แล้วไปย้ายนายอำเภอเกรดสี่ ขึ้นมาเกรดเอ ผมคงจะโยกย้ายอีกครั้งเพื่อความเป็นธรรม


: การโยกย้ายนายอำเภอและผู้ว่าฯ ถามจริงๆ ว่ามีการซื้อเก้าอี้หรือเปล่า เขาซื้อกันเท่าไร

ก็มีทั้งได้ยินข่าว มีทั้งคนมาบอกเล่า มีทั้งคนที่จ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้ มีคนมาเล่าให้ฟัง อย่างเข้าโรงเรียนนายอำเภอ บางคนก็บอก 7แสน, 8 แสนมั่ง, ล้านมั่ง แต่ถ้า ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ก็ 5 ล้าน, 10 ล้านไปโน่น หนังสือพิมพ์ก็เคยลง รวมทั้งมีคนมาเล่าให้ผมฟัง


: นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงภาวะผู้นำอย่างไรกรณีท่านถูกย้ายเข้ากรุมหาดไทย

ผมเองเคยไปคุยกับท่านครั้งหนึ่งหลังผมถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจฯ ผมไปชี้แจงท่านครั้งหนึ่งปัญหาเรื่องสมาร์ทการ์ด ท่านนายกฯ ก็บอกว่า เอ๊ะ มันใช้ได้นี่ บัตรสมาร์ท การ์ด มันไม่ผิด น่าจะเป็นประโยชน์ ท่านบอกว่า ท่านก็หนักใจ เพราะว่าท่านไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว

ใครจะว่าพายเรือให้โจรนั่งก็ทนฟัง ท่านก็พูดอย่างนี้


: ถือว่าหนักหนาสาหัสไหมสำหรับการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้ายในมหาดไทยยุคคุณชวรัตน์

สื่อมวลชนก็ลงมาตลอดนะว่า เป็นยุคที่เสื่อมที่สุด สื่อเกือบทุกฉบับ บางคนก็บอกว่า ตั้งแต่มีประวัติศาสตร์ตั้งกระทรวงมหาดไทยมา มียุคนี้ล่ะ เสื่อมที่สุด บางฉบับก็บอกว่า ในยุคร้อยปีที่ผ่านมา

ข้าราชการเก่าแก่ ผู้บังคับบัญชาเก่าๆ ทุกคน ไม่มีใครไม่โทร.ถึงผมเลยนะ อดีตผู้บังคับบัญชาระดับปลัดกระทรวง รัฐมนตรีก็มีรัฐมนตรีกระทรวงอื่น ก็มี ที่เป็นข้าราชการประจำแล้วมาเป็นรัฐมนตรีก็โทร.มาบอกว่า ไม่มียุคไหนที่เสื่อมยิ่งกว่านี้ มันเหมือนกับยุคมืด

อันนั้นเป็นความคิดคนทั่วไป ผมก็มีความคิดเช่นเดียวกันนั้นแหละ


: ฝ่ายการเมืองที่มาคุมมหาดไทยแล้วทำผิดกฎหมายที่เพิ่งพ้นอำนาจไป จะมีช่องทางได้รับโทษหรือไม่

พวกนี้นะ ทำให้ประเทศหายนะ ไม่ควรกลับมาทำงานการเมืองต่อ ถ้ากลับมาทำอีก จะทำให้ประเทศหายนะหนักเข้าไปอีก ผมยังคิดไว้ว่า ถ้ามาเจอแบบที่ผมเคยเจอแล้ว แล้วคนพวกนี้ยังเข้ามาทำงานอีก ผมคงหนีไปอยู่ประเทศลาวสักพักหนึ่ง มันรับไม่ได้

นี่ผมพูดจริงๆ ไม่ได้พูดเล่น



++

สัมภาษณ์พิเศษ "โคทม" ปูพรมปรองดอง คลายปมข้อหาคดีเหลือง-แดงก่อการร้าย ปัญหาภาคใต้ ยุคทักษิณ
ในประชาชาติ ออนไลน์ วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:49:15 น.


เมื่อ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ประกาศวรรคทองทางการเมือง "แก้ไข ไม่แก้แค้น"

เมื่อวาทกรรม "ปรองดอง" กลายเป็นปม ที่เพื่อไทยเป็นทั้งผู้มัดและผู้แก้

เมื่อ "ปม-ปรองดอง" ถูกโยนใส่มือ "ดร.คณิต ณ นคร" ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง

เมื่อแกนนำแดงเคลื่อนไหวในนามรัฐบาล ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาก่อการร้าย

ประชาชาติธุรกิจสนทนากับ "โคทม อารียา" ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 1 ในองค์กรที่ต้องร่วมวง "คลายปม" ประเด็นปัญหาและเส้นทาง "ปรองดอง"


- การเลือกตั้งจบไปแล้ว ความรุนแรงวันนี้จบด้วยหรือไม่

ความรุนแรงมันเริ่มที่ใจ ใจยังขุ่นเคือง และที่สำคัญกว่านั้นในสังคมของเรามันมีโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐบาลพูดถึงความปรองดอง แต่อาจอยู่ในระดับผิวเผิน ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องโครงสร้าง เอาเข้าจริงก็ต้องคุยกันเรื่องโครงสร้างและการปฏิรูป

ถ้าเอาจริงกว่านี้ก็ต้องมีทั้งองค์กรและกลไกมาดำเนินงาน ที่สำคัญต้องมีเวทีที่ให้คนที่เห็นต่างได้มาพูดคุย


- องค์กร หน่วยงานที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังไม่เพียงพอ

ผมเสนอว่า ต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังหรือการสานเสวนา และข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปของคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ที่ค่อนข้างจะชัด รัฐบาลจะต้องสานต่อให้เป็นรูปธรรมจริงจัง

ส่วนของคุณคณิต (ณ นคร) ออกรายงานมา 1 ฉบับ ว่าจะออกอีกฉบับประมาณกลางเดือนสิงหาคม แต่ผมก็รู้ว่าในข้อเท็จจริงก็ยังไม่มีอะไร ที่เรียกว่าสร้างข้อเท็จจริงหรือแสวงหาความจริงสมบูรณ์เท่าที่ควร การเยียวยาก็ต้องให้รัฐบาลใหม่เพิ่มความเอาใจใส่

ที่คณะกรรมการ คอป.เสนอมาก็คือ อย่าตั้งข้อหาที่มันเกินเลย นั่นหมายถึงข้อหาก่อการร้าย สมมติว่าจะตั้งข้อหาการร่วมชุมนุม มันก็โดนกันทั้งหมด เป็นหมื่น มันก็แรงเกินไป

ทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อหาผู้ก่อการร้าย


- ปรองดองกลายเป็นธงที่พรรคเพื่อไทยโยนมาให้ คอป.

โยนให้คุณคณิตไม่พอ ต้องทำอะไรมากกว่านั้น หากโยนไปให้ คอป.ก็ถือว่าเป็นการทำแค่พอเป็นพิธี มันต้องมีความสมบูรณ์ มีกรอบงาน มีคนมาร่วมจากหลายฝ่ายเพิ่มขึ้น จะเป็นไปได้หรือเปล่า


- แต่สังคมก็เห็น คอป.เคลื่อนไหวเฉพาะการเยียวยา แต่ไม่เห็นความคืบหน้าในการค้นหาความจริง

เรื่องมันยาก คือเราคิดเรื่องปรองดอง มันเป็นแนวคิดที่เข้าใจยาก ปฏิบัติยาก หนึ่ง ปรองดองหมายถึงการคืนดีกันหรือเปล่า นั่นหมายถึงต้องชำระจิตใจเราให้ผ่องใสไม่ขุ่นเคือง สอง ปรองดองแล้วจะให้ความยุติธรรมหรือไม่ สาม ปรองดองเราจะแก้ไขมูลเหตุหรือไม่

อย่างที่ผมว่าตัวโครงสร้าง ตัวระบบที่ไม่เป็นธรรม


- คอป.บอกว่ามีข้อเท็จจริงบางส่วนแล้ว ทำไมถึงยังไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงสู่สังคม

ผมฟังมาก็พบว่าหลายฝ่ายยังไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ฝ่ายราชการก็ต้องรอให้เขามาช่วยเต็มที่กว่านี้หน่อย เพราะราชการกลัวผิดให้ข้อมูลมากไปก็กลัวจะถูกกล่าวหาว่าไปทำร้ายใคร

แต่ความจริงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการเท่านั้น นอกจากความจริงมันต้องมีการคืนดี การให้อภัยที่จะต้องไปด้วยกัน ส่วนคู่ขนานไปก็ต้องมีความยุติธรรม มันมีอยู่ 2 แบบ คือ การลงโทษผู้กระทำผิด และมีความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการเยียวยา การที่ต้องออกมาพูดความจริงบางอย่าง การยอมรับ การขออภัย ให้อภัยกัน


- แต่ความจริงบางอย่างอาจทำให้ใครบางคนได้รับโทษ

คือคนที่ออกมาพูดคงไม่ถึงขั้นพูดว่าตัวเองได้รับโทษ ผมยกตัวอย่าง ผมถือปืนไปยิงคุณ ผมรับโทษเต็มที่ แต่หากผมดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดก็อีกเรื่องหนึ่ง

ภาคใต้ของเราคุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็เริ่มพูดแล้วว่า อาจจะใช้แนวคิดหนักเกินไป ใช้แต่ไม้แข็ง ทำนองว่าเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ

คุณทักษิณก็ไม่ได้ไปยิงใครเลย แต่คุณทักษิณต้องรับผิดชอบในทางมโนธรรม แต่ในทางกฎหมายก็ว่ากันไป แต่ต้องมีความกล้าหาญ

ที่จะออกมาบอกว่า ผมผิดพลาด ผมขอโทษ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็น่าจะรับได้

ผมก็อยากจะฟังเสียงจากฝ่ายผู้ชุมนุมที่ออกมายอมรับความผิดพลาดบ้าง มันต้องมาพร้อมกัน ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏภาพนี้ อันที่จริง ทุกฝ่ายมีข้อผิดพลาดร่วมกันอยู่

คอป.เขาเสนอเรื่องการตั้งข้อหาให้สมแก่เหตุ ก็น่าจะเป็นไปได้ เรื่องการ ปรองดองก็ต้องเข้าไปดูส่วนของการประกันตัว การเยียวยาน่าจะเป็นส่วนที่ทำได้ไม่ยาก ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

มันต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดง ต้องรวมไปถึงคนเสื้อเหลืองด้วย ถ้ารัฐบาลออกมาประกาศว่ายกเลิกข้อกล่าวหาเฉพาะคนเสื้อแดง อันนี้ยุ่งเลยนะ สังคมป่วนทันที


- จำเป็นต้องยกเลิกข้อกล่าวหาตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยายน

ผมไม่ได้หมายความว่า จะทำถึงอย่างนั้น ผมใช้คำว่า สมแก่เหตุ ยกตัวอย่างคุณกษิต (ภิรมย์) พูดบนเวทีสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลนี้ก็ต้องมองว่า การเอาคุณกษิตเข้าคุกไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความปรองดองอะไร ดังนั้นการขึ้นเวทีพูด ข้อกล่าวหาเล็กน้อย ก็มองข้ามไป

ต้องเอาคนที่เป็นผู้นำจริง ๆ หรือผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายจริง ๆ ต้องดูเจตนา ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เชื่อว่าการไปยึดสนามบินจะเป็นการก่อการร้าย แต่เจตนาทางการเมืองคือผลักไสรัฐบาลแน่นอน ซึ่งจะเรียกว่าก่อการร้ายก็เกินความรู้สึกไป


- สานเสวนาแห่งชาติ คือทางออกที่ดี

ประชาธิปไตยของเราจะคืบหน้าไม่ได้ หากเราไม่หันหน้ามาพูดคุยกัน หากเราเอาเจตนารมณ์ของการสานเสวนาเป็นตัวตั้ง มันไม่ดีกว่าหรือที่จะสร้างสังคมที่คุยกันได้ ตั้งใจฟังความเห็นที่แตกต่าง มันไม่ต้องบังคับกัน แต่ว่าหากอยากสร้างสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ฉันเสื้อแดง เสื้อเหลือง ฉันคนเหนือ คนใต้ ก็ทำได้ แต่ผมว่าสังคมจะน่าอยู่น้อยลง


- เป็นข้อเสนอที่ถูกมองข้ามมาตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร

เพราะคู่ขัดแย้งยังต้องการเอาชนะ ยังไม่ถึงช่วงเวลาที่มีความรู้สึกว่า ขัดแย้งกันพอแล้ว ต้องหันมาร่วมมือหาทางออกเพื่อสังคมส่วนรวม

เรายังไม่เคยมีความมุ่งมั่นทางการเมืองด้านนี้ มันก็เหมือนตบมือข้างเดียว ต่างฝ่ายก็โทษกันเองว่า ยังไม่พร้อมก็เพราะอีกฝ่ายนั่นละเป็นเหตุ หรือถ้าเราได้เปรียบเราก็คิดแต่จะเอาชนะเลย


- อะไรคือสัญญาณที่จะบอกว่าคู่ขัดแย้ง จะพร้อมทั้งคู่

สัญญาณในระดับชาติมันก็มีบ้าง แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลที่แล้วอยู่ข้างพรรคประชาธิปัตย์หมด

ไม่มีใครพูดถึงปรองดอง แต่พรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้พูดกันถึงเรื่องปรองดองหมด เสมือนกับว่าการเมืองในระดับชาติ ดูเหมือนว่าจะไปได้ ซึ่งสัญญาณก็ต้องมาจากระดับนี้

พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าจะเสนอเรื่องปรองดอง แต่ฝ่ายค้านสมัยนั้นไม่ขานรับ ทั้งจากคนเสื้อแดง จากพรรคเพื่อไทย ก็เลยเดินหน้าของตนเองแต่งตั้ง คุณอานันท์ คุณหมอประเวศ (วะสี) คุณคณิต คุณสมบัติ (ธํารงธัญวงศ์) ก็เป็นการตั้งใจดี แต่เมื่อตั้งมาแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลอย่างคุณสนั่น (ขจรประศาสน์) คุณสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ) สมัยนั้นก็ไม่มีใครออกมาบอกว่าปรองดอง ก็แสดงว่าที่คุณอภิสิทธิ์เสนอ มันยังไม่เป็นการจับมือกันของทุกฝ่าย


- หลายฝ่ายพูดเหมือนกันหมดว่าจะปรองดอง

พรรคประชาธิปัตย์ยังคอยท่าอยู่ เขาบอกว่าเราทำแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าพร้อมที่จะทำร่วมกับคนอื่นหรือเปล่า และคน อื่น ๆ พร้อมที่จะทำร่วมกันมากน้อยแค่ไหน หากเราทำกันแค่ฝ่ายเดียว หรือร่วมมือกันแค่ไม่กี่ฝ่าย จะปรองดองก็ คงยาก ดังนั้นวันนี้จะปรองดองหรือไม่

เราก็รอผู้บริหารระดับชาติอยู่

เราตั้งวงล้อมสานเสวนาก็ทำมาแล้วแต่มันยังไม่เป็นกระแส จนขยับเขยื้อนกันเป็นระบบ แต่หากมีสัญญาณระดับชาติที่ชัดเจน ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ ฉะนั้นไอ้สิ่งที่มันยากในเวลาหนึ่ง มันอาจจะเป็นไปได้ง่ายในอีกเวลาหนึ่ง


- เพื่อไทยมีมวลชนเป็นรัฐบาล อะไรจะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ไม่ครบเทอม

ผมไม่อยากจะคิดว่าจะมีรัฐประหาร ผมไม่อยากจะคิดว่าจะมีไม้เดิม ๆ อย่างยุบพรรค ไม่อยากจะคิดว่าจะมีกรณีงูเห่า ฉะนั้นอันตรายที่สุดตรงนี้คือ ประชาชนไม่เอาด้วย เสื่อมศรัทธา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ แม้จะเป็นพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ซึ่งมันเป็นไปได้เยอะแยะ


- วันนี้ประเทศไทยเดินหน้าไปถึงคำว่าสถาบันการเมืองแล้วหรือยัง

ยัง (เสียงแข็ง) พรรคการเมืองของเรายังป้อแป้อย่างที่เห็น ความเป็นพรรคการเมืองซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตย สมาชิกพรรครู้สึกมีความเป็นเจ้าของ รู้สึกหวงแหน พรรคนี้ฉันออกเงินบริจาค ฉันโอนเงินภาษีส่วนหนึ่งให้พรรค เพราะว่าเป็นพรรคของฉัน เรายังไม่เคยเกิดความรู้สึกตรงนี้เลย


- จะไปถึงการเมืองระดับนั้นอย่างไร

ต้องต่อว่าทั้งนักการเมือง ประชาชน สื่อมวลชน รวมถึงนักวิชาการ ชอบรุมกินโต๊ะนักการเมืองมาโดยตลอด ถามว่ามีมูลเหตุหรือไม่

มันก็มี แต่บางครั้งก็ทำเกินไป มันเสียทั้งตัวบุคคลที่ว่า คนดีก็ไม่อยากเข้า เสียทั้งสถาบัน



++

การสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (National Dialogue for Reconciliation)
โดย โคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:15:00 น.


เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่กับเราอีกนาน อย่างไรก็ดี ในการหา

เสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคการเมืองหลายพรรค ได้เสนอนโยบายแห่งการปรองดอง

จึงเป็นโอกาสอันดีที่หลายฝ่ายจะได้ช่วยกันเสนอแนวคิดว่าจะทำนโยบายดังกล่าวให้เป็นจริงได้อย่างไร

ในที่นี้ขอเสนอว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีปณิธานทางการเมือง การทำงานอย่างเป็นระบบและจริงจัง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง

ที่สำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องมีเวทีการพูดคุยกันในระดับต่างๆ ในลักษณะของการสานเสวนา

นั่นคือ ตั้งใจฟัง ใช้สัมมาวาจา เอาใจเขาใส่ใจเรา และเคารพผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง

แม้การสานเสวนาจะไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อย จะช่วยสร้างความไว้วางใจ ความทนกันได้ (tolerance) และการมองว่าเราควรหาทางร่วมมือกันมากกว่าจะทำเพียงการต่อว่าและกล่าวโทษ

จะเริ่มต้นอย่างไรดี

เราอาจเริ่มต้นจากสิ่งที่ได้ทำไว้แล้ว คือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ควรเสริมต่อโดยรวมฝ่ายต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มีที่มาซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น มีการเชื่อมประสานกัน

และมีสำนักงานที่มีบุคลากรเต็มเวลาที่มีคุณภาพและจำนวนเพียงพอต่องานที่สลักสำคัญเช่นนี้

กระบวนการปรองดองที่จะเริ่มกันใหม่อีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง อาจเริ่มที่การประชุมปรึกษาหารือเพื่อสร้างปณิธานทางการเมือง ขอเสนอว่าองค์ประชุมในเบื้องต้นควรประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธาน คอป. อดีตประธาน คปร. และประธาน คสป. เป็นต้น

ที่ประชุมอาจพิจารณาหลักการทำงานของการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งอาจรวมหลักการต่อไปนี้

- เป็นการทำงานที่มีอำนาจหน้าที่ (authoritative) และมีความสามารถที่เหมาะสมเพียงพอ (having appropriate capacity)

- เป็นการทำงานที่รวมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด (inclusive)

- ใช้การสานเสวนา คือถ้อยทีถ้อยรับฟัง ไม่ด่วนตัดสิน (using dialogue approach)

- มีความเป็นอิสระ (independent) ในความหมายที่ว่าไม่ถูกแทรกแซงหรือครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

- มีความเป็นกลาง (neutral) ในความหมายที่ว่า โดยรวมแล้วไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

- เน้นการเสนอแนะกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมือง (process-oriented) ที่ทุกฝ่ายอาจเห็นพ้องต้องกันได้ (consensus-building)

- เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในวงกว้าง (participatory) ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ

การปรึกษาหารือดังกล่าวอาจตกลงกันในเรื่องกรอบการทำงานของการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ดังนี้

- อยู่ในครรลองของประชาธิปไตย (democratic process)

- มีสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)

- ยึดถือการปกครองของกฎหมาย (rule of law)

- เป็นการขับเคลื่อนของประชาชนเพื่อสันติภาพและความเจริญก้าวหน้า (People for Peace and Prosperity PPP movement)

- เป็นการร่วมกันสร้างสัญญาประชาคม (searching for new social contract)

การปรึกษาหารือดังกล่าวอาจตกลงกันดังนี้

1) แต่งตั้งคณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (National Reconciliation Council) ประกอบด้วยบุคคลที่มาประชุมปรึกษาหารือกันดังกล่าว และตัวแทนของภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนพรรคการเมือง ตัวแทนภาคราชการทหารและพลเรือน ตัวแทนภาคธุรกิจ ตัวแทนภาควิชาการ ตัวแทนสื่อสารมวลชน และตัวแทนภาคประชาสังคม เป็นต้น

คณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

- อำนวยการการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ

- กำหนดกรอบและโครงสร้างการทำงาน

- แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ

- พิจารณาและดำเนินการสนับสนุนงบประมาณ ให้ความเห็นตามที่คณะกรรมการขอปรึกษา พิจารณาและดำเนินการตามที่เห็นสมควรจากข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมการ

- ประเมินผลการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ

2) กำหนดระยะเวลาการทำงานของการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติในเบื้องต้น เช่น 3 ปี แต่อาจขยายเวลาได้อีกตามมติของคณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ

3) แต่งตั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการของคณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ เพื่อรองรับการทำงานของคณะมนตรีฯ ประสานงานกับคณะกรรมการชุดต่างๆ และกำกับดูแลการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ

4) ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งทำงานแบบเครือข่ายมากกว่าแบบรวมศูนย์ โดยอาจมีส่วนงานดังนี้

- ส่วนงานที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมการชุดต่างๆ

- ส่วนงานกลาง

- ส่วนงานเฉพาะตามความเหมาะสม

การทำงานสามระดับในสถานการณ์ที่มีความหวาดระแวง มีความเห็นต่างอย่างชี้ถูกชี้ผิด และมีการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายกันเช่นนี้ เป็นการยากที่จะมีใครยอมใคร

และการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติจึงเป็นงานที่ยาก และจะมีประสิทธิผลหรือไม่เพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจัง และสนธิพลัง (synergy) ในอย่างน้อยสามระดับคือ

1) คณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับของ

- การสร้างปณิธานทางการเมืองและความไว้วางใจ

- การตัดสินใจทางการเมืองท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างและความระแวงใจสูง แต่พึงยอมรับความเสี่ยงหลังจากที่ได้มีการถกแถลง (deliberation) จนได้ข้อสรุป อย่างน้อยในเชิงกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง

- การมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมการเมือง เพื่อประโยชน์สุขในระยะยาว

คณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ อาจประชุมไม่บ่อยนัก เช่นปีละ 3-4 ครั้ง เว้นแต่มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องตัดสินใจ

2) คณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งขอเรียกเป็นชื่อรวม (generic name) ว่าคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ในเบื้องต้นหมายถึง

คณะกรรมการที่มีอยู่แล้ว และควรดำเนินการต่อเนื่องไป เช่น

- คอป.ดำเนินการเรื่องการปรองดองทางการเมืองเป็นสำคัญ

- คปร.ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และทางการปกครองเป็นสำคัญ

- คสป.ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางสังคมเป็นสำคัญ และ

- คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งอาจได้รับมอบหมายให้พิจารณาเรื่องกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และอาจรวมเรื่องการ

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เว้นแต่ว่าเรื่องนี้จะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการแยกต่างหาก

ทั้งนี้ อาจมีการแต่งตั้งบุคคลเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น (inclusive) ก็ได้

ในระยะต้น อาจให้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการที่มีอยู่เท่านั้นไปพลางก่อน เมื่อมีความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้น และกระบวนการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติดำเนินไปด้วยดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็อาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดอื่นอีก เพื่อมาพิจารณาปัญหายากๆ ที่ต้องช่วยกันขบคิด เช่น

- การปฏิรูปภาคความมั่นคง (Security Sector Reform SSR)

- การปฏิรูปเพื่อความยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ (for a sustainable monarchy)

- การประสานอัตลักษณ์ของชาติ ของภูมิภาคและชาติพันธุ์ ฯลฯ

คณะกรรมการชุดต่างๆ มีการประชุมกันสม่ำเสมอ เช่นทุกหนึ่งหรือสองสัปดาห์

3) สำนักงานคณะกรรมการเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานให้แก่คณะกรรมการชุดต่างๆ ในลักษณะเครือข่ายมากกว่าการรวมศูนย์ นอกจากหน้าที่โดยทั่วไปที่จะรองรับการทำงานของคณะกรรมการแต่ละชุดแล้ว อาจมีหน้าที่ที่ตอบสนองต่อคณะกรรมการทุกชุดด้วย นอกจากนี้หน้าที่สำคัญของสำนักงานอาจได้แก่

- การศึกษาวิจัย

- การสำรวจความคิดเห็น (Opinion survey)

- การจัดให้มี การล้อมวงสานเสวนา (dialogue circle) ในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของคณะกรรมการ รวมทั้งในหัวข้อเปิด โดยอาจใช้เทคนิคการสานเสวนาที่เรียกว่า การสานเสวนาแบบเปิดพื้นที่ (open space dialogue) ซึ่งผู้เข้าร่วมสานเสวนาเป็นผู้เลือกหัวข้อเองภายใต้แนวเรื่อง (theme) ที่กำหนด แล้วเลือกบางหัวข้อมาลงรายละเอียด โดยใช้การสานเสวนาแบบสภากาแฟ (world cafe dialogue) ทั้งนี้ อาจจัดให้มีการล้อมวงสานเสวนา ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ เพื่อการถกแถลงและการเรียนรู้ร่วมกันให้มากที่สุด

- การจัดทำรายงานที่เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ

- การสื่อสารกับสังคมโดยใช้สื่อต่างๆ ในเรื่องที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว รวมทั้งรายงานการศึกษาทั่วไป

สำนักงานคณะกรรมการเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ต้องมีบุคลากรประจำที่มีคุณภาพ ที่ทำงานเต็มเวลา ในจำนวนที่มากพอ เพื่อให้งานต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล


.