http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-09

วงศาคณาญาติ และ บ้านนอก-นอกคอกนา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

วงศาคณาญาติ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


สำนักข่าว TCIJ รายงานว่า ในสภาที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาครั้งนี้ มี ส.ส.89 คนที่มีญาติอยู่ในสภาเดียวกัน เพราะต่างมาจากตระกูลการเมือง 42 ตระกูล

คอลัมนิสต์ท่านหนึ่งของบางกอกโพสต์บอกว่า ที่จริงมีมากกว่านี้เสียอีก เพราะมี ส.ส.ที่นามสกุลไม่ตรงกัน แต่เป็นญาติกันอีกจำนวนหนึ่ง ซ้ำหากมองให้กว้างกว่านั้นขึ้นไปอีก คือรวมไปถึงนักการเมืองที่ถูกห้ามเล่นการเมือง ก็ยังมีพ่อ, เมีย และญาติสายอื่นๆ เข้ามานั่งในสภาอีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

การเมืองในระบบสภาของเรา จึงเป็นเรื่องของการต่อรองกันระหว่างกลุ่มตระกูลหรือครอบครัว (และเครือข่าย) เพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น

ใครๆ ก็คงเห็นพ้องต้องกันว่า นี่เป็นอาการเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะของประชาธิปไตยไทยแน่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าความเจ็บป่วยนี้เกิดขึ้นจากอะไร หลายคนคงยกความผิดให้แก่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฝ่ายเดียว

คนเหล่านี้มี "บารมี" อย่างสูงในท้องถิ่นของตน

เป็นที่พึ่งของคนในท้องถิ่น ทั้งครอบครัวและเครือข่ายได้รับความภักดีจากคนในท้องถิ่น จนสมัคร ส.ส.เมื่อไรก็ได้รับเลือกตั้งเมื่อนั้น

นี่เป็นวิธีมองที่ว่า การเถลิงอำนาจของครอบครัวการเมืองเป็น "กิริยา" กล่าวคือเป็นการกระทำของนักการเมือง (ชั่วๆ) เอง แต่เราอาจมองในทางกลับกันได้ว่า การเถลิงอำนาจของครอบครัวการเมืองเหล่านี้เป็น "ปฏิกิริยา" กล่าวคือครอบครัวตอบสนองต่อเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง โดยการรวมพลังของกลุ่มใกล้ชิดที่เรียกว่าครอบครัว เพื่อเข้าไปหาประโยชน์ในเงื่อนไขดังกล่าว

ถ้ามองให้กว้างกว่าสภา (และการเมือง) ครอบครัวคือสถาบันที่เข้มแข็งที่สุดของสังคมไทย เพราะสามารถปรับตัวรองรับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ดีกว่าสถาบันใดๆ ในประเทศไทยทั้งสิ้นด้วย

จากการร่วมแรงและเฉลี่ยทรัพย์สินในครอบครัว เพื่อการผลิตพอยังชีพในอดีต เผชิญกับภัยพิบัติตามธรรมชาติ และภัยจากโจรและรัฐมาจนถึงยุคทุนนิยม ครอบครัวไทย (และไทยจีน) ปรับตัวมาตลอด ร่วมทุนเพื่อเข้าสู่ตลาดอย่างมีพลัง ส่งสมาชิกไปหาเงินสดในเมือง

หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ใช้ครอบครัวเป็นฐานในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและอำนาจ (นับตั้งแต่ลูกสาวได้เป็นเจ้าจอมไปจนถึงได้เป็นเมียเก็บผู้มีอำนาจ)


ไม่เฉพาะแต่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น หากมองไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมดในประเทศไทย ไม่ใช่ครอบครัว (และเครือข่าย) หรอกหรือที่กุมทรัพย์สินส่วนใหญ่ของบริษัทไว้ในมือมาหลายชั่วคน แม้ระเบียบของธนาคารชาติและตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่เคยสามารถละลายการยึดกุมธุรกิจสาธารณะเหล่านี้จากครอบครัวได้

มองการเมืองให้ไกลจากสภา แล้วสังเกตนามสกุลของ "ผู้ใหญ่" ในกรมกองราชการกับกองทัพให้ดี ไม่เคยได้ยินนามสกุลอย่างนี้มาก่อนหรือ เหตุใดคนนามสกุลอย่างนั้นๆ จึงได้ดีเด่นดังมาเป็นชั่วโคตรได้อย่างนี้ แล้วยังสถาบันทางการเมืองอื่นๆ นอกสภาอีกมาก ไม่ใช่ครอบครัวหรอกหรือ

การเมือง (ในความหมายกว้าง) ของไทยทั้งหมด คือธุรกิจครอบครัวทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว



ยิ่งไปกว่านี้ ยังน่าสนใจอย่างยิ่ง หากวิเคราะห์ลงไปถึงว่า ครอบครัวซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองไทยเป็นใครมาจากไหน สร้างสายสัมพันธ์ข้ามไปสู่ครอบครัวอื่นๆ หรือไม่อย่างไร ก็จะมองเห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงและความไม่เปลี่ยนแปลง และนี่คือการวิเคราะห์ "ชนชั้นนำ" ท้องถิ่นของไทย ในบริบทของ "ชนชั้นนำ" ระดับประเทศ หรือภาวะการนำระดับประเทศ

และดังที่กล่าวแล้วว่า นี่เป็นการมองบทบาทของครอบครัวในเงื่อนไขทางสังคม ไม่ใช่มองระดับปรากฏการณ์ว่าครอบครัวใดแผ่อิทธิพลอย่างไร ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงจึงไม่น่าสนใจเท่าความไม่เปลี่ยนแปลง

นับแต่การเลือกตั้งครั้งแรกๆ ส่วนใหญ่ของ ส.ส.ประเภทหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัดคือชนชั้นนำท้องถิ่น และจำนวนไม่น้อยของคนเหล่านี้ สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชนชั้นนำตามประเพณีในท้องถิ่น เช่นเป็นลูกหลานเจ้าเมืองเดิม ชนชั้นนำตามประเพณีในท้องถิ่นเคยมีสายสัมพันธ์โยงไยมาถึงชนชั้นนำตามประเพณีในส่วนกลาง จึงไม่แปลกอะไรที่บางคนในกลุ่ม ส.ส.ชนชั้นนำท้องถิ่นร่วมสร้างพรรค ปชป.ขึ้นด้วย

นี่ก็เป็นเรื่องของครอบครัวเหมือนกัน

ในเวลาต่อมา ส.ส.เริ่มมีชนชั้นนำท้องถิ่นรุ่นใหม่เข้ามาปน คนเหล่านี้เป็นครูหรือผู้มีการศึกษาในท้องถิ่น บางคนอาจเชื่อมโยงกับชนชั้นนำท้องถิ่นตามประเพณี แต่ก็เป็นรุ่นหลังซึ่งสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำตามประเพณีในส่วนกลางเจือจางลงแล้ว คนเหล่านี้หันมาสนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ ซึ่งแม้เชื่อมโยงกับชนชั้นนำตามประเพณีของส่วนกลางอยู่บ้าง แต่ก็ค่อนข้างห่าง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นนำตามประเพณีนัก

อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะท่านปรีดี แม้แต่ศัตรูหรือคู่แข่งของท่านอื่นๆ ในคณะราษฎร ก็ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชนชั้นนำตามประเพณีเพียงห่างๆ เหมือนกัน แต่คณะราษฎรยังสามารถกำราบชนชั้นนำตามประเพณีในส่วนกลางได้ ก็ด้วยเหตุผลสองประการ คือคณะราษฎรยังคุมกองทัพได้อยู่ และในขณะนั้น มีความแตกร้าวในหมู่ชนชั้นนำตามประเพณีอย่างสูง



ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะก่อให้เกิดการแตกตัว (diversification) ของชนชั้นนำทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างมโหฬาร

ในส่วนกลาง ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ของเขาทำให้กองทัพเข้ามาเป็นแกนกลางของการเมืองไทยเต็มตัว ครอบครัวและเครือข่ายของนายทหารจำนวนมากสร้างฐานะจากระดับรองๆ หรือปลายแถวของชนชั้นนำ ขึ้นมาเป็นระดับแนวหน้า รวมถึงข้าราชการพลเรือนบางครอบครัว และ "นักวิชาการ" ที่สฤษดิ์ดึงเข้าไปทำงานในหน่วยงาน "พัฒนา" ใหม่ๆ ด้วย

ในขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ของตน สฤษดิ์ก็ฟื้นฟู "ภาวะการนำ" เชิงสัญลักษณ์ให้แก่ชนชั้นนำตามประเพณี เป็นโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้าง ดังนั้นจึงเกิดขั้วของภาวะการนำขึ้นสองขั้วในส่วนกลาง

ได้แก่ขั้วของ "ขุนนางใหม่" ของระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ขั้วหนึ่ง และขั้วของชนชั้นนำตามประเพณีอีกขั้วหนึ่ง

ที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นนำตามประเพณีสามารถผนวกกลืนเอาอีกขั้วหนึ่ง เข้าไปให้เชื่อมโยงกันได้อย่างสนิทแนบแน่น มีการแต่งงานข้าม "ชนชั้น" กันหลายกรณีในช่วงนี้ จนเราเคยชินที่จะเห็น ม.ร.ว.นามสกุลเจ๊ก จะว่าไปความสำเร็จสุดยอดของชนชั้นนำตามประเพณี ที่สามารถขยายอำนาจของตนในเศรษฐกิจและการเมืองได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและผันผวนครั้งนี้ ก็คือการสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหล่าคนที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีนได้อย่างสนิทแนบแน่น กลายเป็นกลุ่มครอบครัวชนชั้นนำที่ยึดกุมเศรษฐกิจและการเมืองไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของชนชั้นนำจึงมีฐานที่ครอบครัวและเครือข่ายของครอบครัว แต่น่าเสียดายที่การแตกตัวของชนชั้นนำไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เกิดชนชั้นนำรุ่นใหม่ในส่วนกลางตามมาอีกอย่างไม่หยุดหย่อน

ชนชั้นนำตามประเพณีต้องขยายเครือข่ายของตนออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่เหมือนสถาบันชนชั้นนำในทุกสังคม กล่าวคือมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยน "สถานะ" ของตนเองไปเป็น "ชนชั้น" การผนวกกลืนจึงทำได้ยากขึ้น และอาจไม่ประสบความสำเร็จในหลายกรณี


เช่นเดียวกับในส่วนกลาง ในท้องถิ่นก็เกิดการแตกตัวของชนชั้นนำอย่างรวดเร็วเหมือนกัน การผลิตเชิงพานิชย์อย่างเข้มข้นขึ้นเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้เกษตรกรรมไทยเปลี่ยนไป และภายใต้เงื่อนไขใหม่นี้ก็เกิดชนชั้นนำรุ่นใหม่ขึ้นทั่วไป ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

คนเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องสืบเนื่องอย่างไรกับชนชั้นนำตามประเพณีในท้องถิ่น เป็นคนที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีนที่ไม่ได้ผ่านการอบรมของกระบวนการการศึกษาแบบที่ชนชั้นนำตามประเพณีได้วางเอาไว้ (เช่นไม่ได้จบจุฬาฯ, หรือจปร. หรือออกซ์ฟอร์ด)

และคนเหล่านี้แหละที่ส่งตนเองหรือคนในครอบครัวและเครือข่ายมาเป็น ส.ส. ซ้ำเป็น ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาด้วย แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกผนวกกลืนเข้าไปในกลุ่มชนชั้นนำส่วนกลาง และด้วยเหตุดังนั้น สภาจึงเป็นเครื่องมือควบคุมการเมืองของชนชั้นนำได้น้อยลง

ส.ส.เหล่านี้น่ารังเกียจเย้ยหยัน และสภาก็เป็นเวทีตลกร้ายของชนชั้นนำตามประเพณีและเครือข่ายของตนมากขึ้นทุกที


ในขณะที่ปัญหาเก่าซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมยังแก้ไม่ได้ ชนชั้นนำที่ส่วนกลางกลับต้องเผชิญปัญหาใหม่ การเลือกตั้งที่ผ่านมาสองครั้ง ชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้สมัครจะอาศัยเครือข่ายของครอบครัว แต่ประชาชนผู้เลือกตั้งอาจไม่ได้เลือกจากเครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างครอบครัวของนักการเมืองกับครอบครัวของตนอีกแล้ว (อย่างน้อยก็ประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทีท่าว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย)

ผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งในท้องถิ่นเริ่มกลายเป็นปัจเจกบุคคล
(แทนที่จะเป็นสมาชิกของครอบครัวและเครือข่ายตรง )..ตามอุดมคติประชาธิปไตยที่ชนชั้นนำส่วนกลางชอบอ้างสั่งสอน (แม้ว่า ตัวชนชั้นนำเองกลับใช้ครอบครัวเป็นฐานในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ) แต่เพราะใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งแบบปัจเจกนี้แหละ ที่ทำให้คนซึ่งได้เป็น ส.ส.นับวันก็จะไร้หัวนอนปลายตีนมากขึ้น

เวลานี้ หัวหน้า "ไพร่" ได้เป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ครั้งหน้าก็จะมีหัวหน้า "ไพร่" ได้เป็น ส.ส.เขต

ความไม่เปลี่ยนแปลงของการเมืองระบบครอบครัวของชนชั้นนำที่ส่วนกลาง จึงน่าสนใจตรงนี้



++

บ้านนอก-นอกคอกนา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 30


แค่มีลูกเล็กต้องส่งโรงเรียนคนเดียว มอ"ไซค์หนึ่งคันก็ทำให้ประหยัดไปมากแก่ผู้คนในกรุงเทพฯ มันส่งลูกได้ถึงประตูโรงเรียน ส่งเมียไปทำงาน และนำตัวเองไปถึงที่ทำงานได้ทันเวลา

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่คงเข้าใจ อย่างเดียวกับที่คนฮานอย, ดานัง, จาการ์ตา, พนมเปญ ฯลฯ เข้าใจ และมีชีวิตอยู่ร่วมกับมอ"ไซค์ที่หนาแน่นบนท้องถนนได้ แม้ว่าอาจรำคาญเสียงและการฉวัดเฉวียนใกล้เฉียดรถเก๋งคันงามของตนบ้าง ก็เพียงแต่เหยียดให้มันกลายเป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งในนามว่า "แมงกะไซค์"

เป็น "สิ่งอัปลักษณ์ที่จำเป็น" ของเมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป ไม่อย่างนั้นจะกินพิซซ่าที่ยังอุ่นอยู่ได้อย่างไร


แต่จำนวนมากทีเดียวของคนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจว่า คน "บ้านนอก" จะมีมอ"ไซค์ไปทำไม ก็ไม่ได้ทำงานประจำ โรงเรียนก็อยู่ใกล้บ้าน เดินไปก็ได้ คงอยากมีไว้ขี่โฉบไปโฉบมาอวดสาวเท่านั้น

น่าตกใจที่ในจำนวนมากของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เข้าใจนี้รวมถึงนักวางแผนเศรษฐกิจในภาครัฐด้วย



หลายปีมาแล้วก่อนที่ คุณทักษิณ ชินวัตร จะขึ้นมาเป็นนายกฯ ผมเคยเขียนเล่าว่า มอ"ไซค์ช่วยขยายตลาดงานรับจ้างแก่คน "บ้านนอก" อย่างไร ผมเคยพบคนที่อยากไปทำงานประจำในนิคมอุตสาหกรรม แต่ไปไม่ได้เพราะจนเกินกว่าจะซื้อมอ"ไซค์ได้ ทำให้ต้องรับจ้างรายวันในหมู่บ้านซึ่งไม่มีงานให้ทำตามฤดูกาลเท่านั้น มอ"ไซค์ยังช่วยส่งพืชผลการเกษตรหรือขนปุ๋ยในไร่นาขนาดเล็ก ทั้งการส่งลูกไปโรงเรียนก็กลายเป็นความจำเป็น เพราะโรงเรียนลูกไม่ได้อยู่ใกล้บ้านอย่างจินตนาการของคนกรุงเทพฯ อีกแล้ว

มอ"ไซค์ระบาดไปทั่ว "บ้านนอก" ไม่ใช่เพราะคน "บ้านนอก" อยากเอาอย่างคนกรุงเทพฯ แต่เพราะ "บ้านนอก" ไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว

แทบไม่มีครอบครัวไหนทำเกษตรเลี้ยงตนเองอีกต่อไป การเกษตรที่ทำกันอยู่ล้วนเพื่อป้อนตลาด ยิ่งในหมู่บ้านที่ใกล้เมืองใหญ่ แทบจะหาคนทำเกษตรไม่ได้เลย คนส่วนหนึ่งหันมาทำการค้ารายย่อย นับตั้งแต่ร้านชำ, เสริมสวย, ทำขนมส่งตลาด, รับเหมารายย่อย, เป็นนายหน้าแรงงาน, ขายก๋วยเตี๋ยว, รับงานโรงงานมาทำส่งเป็นรายชิ้น, และอีกส่วนหนึ่งได้งานประจำกับหน่วยราชการหรือบริษัทร้านค้า

กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงาน (มากกว่าโรงงานประกอบรถยนต์เสียอีก เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุนบาทต่อบาท) และนี่คือแหล่งงานของคนที่เหลือ คือรับจ้างแรงงาน นับตั้งแต่รับจ้างในภาคเกษตรซึ่งไม่มีงานทำตลอดปี ไปจนถึงรับจ้างซักผ้าทำความสะอาดบ้านให้แก่คนที่ทำงานประจำในหมู่บ้าน ไปจนถึงช่วยขายของในร้านชำ ล้างชามให้ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นลูกน้องของเสี่ยรับเหมา หรือนายหน้าแรงงานในหมู่บ้าน ฯลฯ

เครือข่ายทางเศรษฐกิจของคน "บ้านนอก" จึงขยายตัวกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่แต่ในหมู่บ้านดังเคย ต้องการ "ปัจจัยการผลิต" ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อชีวิตและงานที่เปลี่ยนไป

(ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ค่าแรงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ฉะนั้น ถึงจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ยังไม่กระทบต่อนายจ้างในทันทีแน่นอน)

ภาพความเปลี่ยนแปลงของ "บ้านนอก" ดังที่กล่าวนี้ เห็นได้ชัดในสถิติระดับชาติ, ระดับภาค, และระดับจังหวัด แต่แปลกที่ไม่ค่อยซึมเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเท่าไรนัก



ในช่วงที่มีการต่อต้านคุณทักษิณ อดีตเลขาธิการของสภาพัฒน์ท่านหนึ่งกล่าวว่า ชาวบ้านที่กู้เงินกองทุนหมู่บ้านไปใช้ หาได้นำไปใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการผลิตของตน เพียงแต่นำเงินไปซื้อมือถือ, ตู้เย็น และทีวีเท่านั้น

ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้สำรวจจริง แต่ผมก็เชื่อว่าจำนวนไม่น้อยของผู้ที่ได้เงินกู้ไป นำเงินไปซื้อสินค้าสามตัวนั้นจริง

แต่มือถือ, ตู้เย็นและทีวีเพิ่มสมรรถภาพการผลิตของเขาอย่างมากทีเดียว หากคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มองสินค้าสามตัวนี้จากชีวิตของตนเอง ก็จะเข้าใจว่าล้วนไม่มีความจำเป็นและไม่เกี่ยวอะไรกับการ "ผลิต" ทั้งสิ้น เพราะการ "ผลิต" ในงานการของคนชั้นกลาง ไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ในขณะที่การ "ผลิต" ของคน "บ้านนอก" แยกสองอย่างนี้ออกจากกันไม่ได้

น่าสังเกตนะครับว่า สองในสินค้าสามตัวนี้คือเครื่องมือการสื่อสาร ที่ทำให้ชีวิตของคน "บ้านนอก" เข้าไปอยู่ในเครือข่ายทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวกว้างขวางขึ้น เปิด "โอกาส" นานาชนิดให้แก่เขา ทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจ, การศึกษา, และการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายกับบุคคลและสถาบัน แน่นอนว่าเปิด "กับดัก" นานาชนิดให้แก่ชีวิตของเขาด้วย เช่น เล่นพนันบอล แต่ปัจจัยการผลิตอะไรๆ ก็เปิด "กับดัก" ให้แก่ทุกคนได้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือคน "บ้านนอก"

มือถือเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายของนายหน้าแรงงาน ทั้งที่อยู่ในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน รวมทั้งเครือข่ายของผู้รับเหมาทั้งในและนอกหมู่บ้านด้วย สะดวกแก่แม่ค้าในตลาดที่จะสั่งขนมเพิ่ม สะดวกที่โรงงานเย็บผ้าจะเร่งงาน หรือผัดผ่อนงาน ฯลฯ มือถือจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสมรรถภาพการผลิตของคน "บ้านนอก" อย่างมาก

เช่นเดียวกับทีวี แม้ดูแต่ละครน้ำเน่า ก็ยังได้ข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นอยู่นั่นเอง เพราะดึงให้ได้เข้าไปในกลุ่มสนทนาที่กว้างขวางขึ้น ได้รู้ว่าทีวีเตือนเรื่องพายุจะมา หรือเล่ห์กลการตกทอง ฯลฯ จากวงสนทนาอีกต่อหนึ่ง และแน่นอนมีทั้ง "โอกาส" และ "กับดัก" จากทีวี เช่นเดียวกับที่คนกรุงเทพฯ โดน

ตู้เย็นล่ะครับ ตู้เย็นช่วยประหยัดค่าอาหารลงได้ไม่น้อย นับตั้งแต่เก็บอาหารเหลือไว้กิน ไปจนถึงไม่ต้องไปจ่ายตลาดทุกวัน อย่าลืมว่าชีวิตของหลายครอบครัวใน "บ้านนอก" มีเวลาจำกัดไม่ต่างจากคนชั้นกลางในเมือง เมียต้องไปทำงานที่โรงบ่มแต่เช้า ผัวไปกับทีมรับเหมาแต่เช้าเหมือนกัน ไม่เหลือใครไว้จ่ายตลาด (แม้แต่มีรถพุ่มพวง ก็ไม่มีคนอยู่ซื้อ) ทำกับข้าวอีกแล้ว ต้องอาศัยอาหารถุงไม่ต่างจากคนในเมือง ยิ่งเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหรือทำขนมส่ง

ตู้เย็นเป็นปัจจัยการผลิตโดยตรงเลยทีเดียว



เมื่อต้องมีปัจจัยการผลิตในวิถีการผลิตแบบใหม่ ก็ต้องเข้าถึงทุน แต่คน "บ้านนอก" ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ มีหนี้สินจากเงินกู้นอกระบบมากมาย กองทุนหมู่บ้านจึงเข้ามาตอบปัญหาส่วนหนึ่งของเขาอย่างแน่นอน

ผมไม่ทราบหรอกว่า เมื่อตอนคุณทักษิณริเริ่มโครงการกองทุนหมู่บ้านนั้น คุณทักษิณทำไปด้วยความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงใน "บ้านนอก" มากน้อยเพียงไร ถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนในระยะแรก คุณทักษิณจะให้ความสำคัญแก่การขจัดเงินกู้นอกระบบมากกว่า ซึ่งก็ได้ผลส่วนหนึ่ง แต่ไม่สู้จะมากนักเพราะความจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งทุนมีมากกว่าที่กองทุนหมู่บ้านจะเข้าไปแทนที่เงินกู้นอกระบบได้หมด

อย่างไรก็ตาม กองทุนหมู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องช่วยในการปรับระบบสู่วิถีการผลิตชนิดใหม่ ซึ่งคน "บ้านนอก" ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ในทางปฏิบัติ จะช่วยได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมเคยอ่านงานวิจัยของอาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่ง ที่ไปประเมินเรื่องนี้แล้วพบว่า ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของเงินนี้ ถูกใช้ไปเพื่อหนุนช่วยการ "ประกอบการ" ของชาวบ้านที่ต้องการได้จริง แต่อีกครึ่งที่เหลือถูกกระจายไปในหมู่เครือญาติและพรรคพวกของคณะกรรมการกองทุนฯ

คนเหล่านี้มีฐานะค่อนข้างดีอยู่แล้ว จึงเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบทางอื่นได้สะดวกกว่า กองทุนหมู่บ้านจึงกลับไปช่วยให้คนเหล่านี้ยิ่งขยายการประกอบการของตนได้ง่ายขึ้น จึงเท่ากับถ่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจใน "บ้านนอก" ให้กว้างขึ้น

แต่มอ"ไซค์, มือถือ, ตู้เย็น และทีวี หรือหนทางที่ชาวบ้านซึ่งได้เงินไปจากกองทุน จะเอาไปใช้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญใดๆ จะพิจารณาได้ดีไปกว่าตัวชาวบ้านเอง ที่เอาไปสุรุ่ยสุร่าย ซื้อสินค้าที่ไม่ช่วยเสริมสมรรถภาพการผลิตของตนก็มีแน่ แต่อย่าตีขลุมโดยไม่เข้าใจวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชาวบ้าน การพิจารณาว่าอะไรคือสินค้าฟุ่มเฟือย อะไรจำเป็น ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินกันได้ง่ายๆ

เมื่อผมเป็นเด็ก องุ่นถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะต้องนำเข้าทั้งหมด



พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะขยายกองทุนหมู่บ้านขึ้นไปอีกไม่ต่ำกว่า 50% ฉะนั้น คำวิจารณ์เก่าๆ เหล่านี้ก็คงกลับมาอีก อันที่จริงถ้ามีกำลังจะเพิ่มให้มากกว่านี้ ก็ควรจะเพิ่มมากกว่า เพราะการเข้าถึงแหล่งทุนยิ่งนับวันก็ยิ่งจำเป็นแก่คน "บ้านนอก" มากขึ้น

แต่มิได้หมายความว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านไม่มีอะไรบกพร่องที่ควรแก้ไข และพัฒนาต่อไปนะครับ

จะบริหารกองทุนอย่างไรจึงจะทำให้เงินกระจายไปสู่คนในหมู่บ้านอย่างกว้างขวางจริง ก็เป็นเรื่องที่ควรคิดให้ดี โดยเฉพาะกลไกที่จะทำให้เกิดการคานอำนาจกันเองภายในหมู่บ้านมากขึ้น

นอกจากทุนแล้ว ชาวบ้านยังต้องการความรู้ในการเข้าสู่ตลาดเต็มตัวด้วย แต่ความรู้อย่างนี้หาไม่ได้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก แต่หาได้จากชาวบ้านด้วยกันเอง โดยเฉพาะจากผู้ที่ประสบความสำเร็จซึ่งมีอยู่ในหมู่บ้านไม่น้อยเหมือนกัน ทำอย่างไรจึงจะจัดองค์กรให้ความรู้เหล่านี้สามารถถ่ายทอดออกไปได้ นี่เป็นเรื่อง KM (การจัดการความรู้) ซึ่งเป็นหัวข้อที่ขอการสนับสนุนจาก สกว. ได้เป็นหลายร้อยล้าน

ทำอย่างไรจึงจะเอาไปปฏิบัติได้จริงในบริบทของ "บ้านนอก" ไทย นอกตำราและนอกการปาฐกถาของผู้เชี่ยวชาญชาวบ้านยังสามารถเรียนรู้ได้เองอีกมาก หากจัดให้ชาวบ้านเข้าถึง "การศึกษา" ที่ดีกว่านี้ การศึกษานะครับ ไม่ใช่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องคิดถึงสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้อื่นๆ อีกหลายอย่าง (นอกจากคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตแล้ว ยังมีอะไรอีกมากที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้)

กองทุนหมู่บ้านช่วยตอบปัญหาสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในชนบทไทย แต่จะตอบได้ดีกว่านี้อีกมากนัก หากคิดให้รอบด้าน

โดยจับประเด็นให้ถูกว่า กองทุนหมู่บ้านหรือการเข้าถึงแหล่งทุนสัมพันธ์อย่างไรกับชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปของชาว "บ้านนอก"


.