http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-18

จุฑารัตน์: ความเหลื่อมล้ำฯยุติธรรมไทย, นวลน้อย: ที่ดิน เรื่องวุ่นฯ, และภาครัฐสางปัญหาบุกรุกที่ดิน

.
บทความ2 - ที่ดิน เรื่องวุ่นๆ ของประเทศที่ไม่จบง่าย โดย นวลน้อย ตรีรัตน์
บทความ3 - ภาครัฐสางปัญหาบุกรุกที่ดิน นายทุนกระอัก-วังน้ำเขียวกระเจิง วังวนผลประโยชน์เกินห้ามใจ
________________________________________________________________________________

ปาฐกถาพิเศษ ดร.จุฑารัตน์ "ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม"ในกระบวนการยุติธรรมไทย
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.


เมื่อวันพุธที่ 17 ส.ค. ได้มีการปาฐกถาเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย" โดย ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ดร.จุฑารัตน์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม เกิดจากความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่เริ่มแรก "ใครมีอำนาจทางเศรษฐกิจ-มีอำนาจทางสังคมก็เป็นผู้ที่สร้างความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่ไม่มีอำนาจ" รวมถึงความแตกต่างระหว่างอำนาจในเชิงพื้นที่ทางสังคม

"โดยนิยามแล้ว ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมก็คือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มีโอกาสกับผู้ที่ขาดโอกาส ซึ่งโอกาสในที่นี้ก็คือโอกาสในการเข้าถึงและจัดการกลไกต่างๆ โดยเฉพาะกลไกภาครัฐ อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยพ.ร.ก.ดังกล่าวนั้นเขียนไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไปกระทำการใดๆ ประชาชนไม่มีสิทธิไปฟ้องศาลปกครองว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด ซึ่งนี่เป็นการตัดสิทธิทางศาลปกครอง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้จะถูกตัดโอกาสในการเข้าถึงการเรียกร้องความเป็นธรรม"

ดร.จุฑารัตน์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนั้น บางครั้งก็เป็นเหตุ ในขณะที่บางครั้งก็เป็นผลในตัวเอง ที่เป็นเหตุเพราะความเหลื่อมล้ำจึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือเนื่องจากคนเกิดมา "ไม่เท่ากัน" จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พันกันไปมา


ดร.จุฑารัตน์ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีราคาแพงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

"จากฐานคติที่ว่า "ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่าย" ซึ่งเป็นการใช้ฐานคติเดียวกับการขึ้นทางด่วน ที่ใครจะขึ้นทางด่วนก็ต้องจ่ายสตางค์" นั้นเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้บริการ โดยในกระบวนการยุติธรรม ถ้าท่านจะไปฟ้องคดีแพ่งท่านจะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมบริการ สมมติว่าคุณเดินไปในซอยแล้วถูกข่มขืน เสร็จแล้วคนที่ทำติดคุก แต่ท่านอยากจะฟ้องร้องค่าเสียหายเช่นในกรณีที่ถูกข่มขืนแล้วท้อง ต้องมีค่าเลี้ยงดูลูก ฯลฯ ถ้าจะไปเรียกร้องต้องฟ้องที่ศาลแพ่ง เขาจะคิดค่าธรรมเนียม เช่นถ้าจะร้องเรียกเงิน 5 ล้าน สมมติว่ามีค่าธรรมเนียม 5 แสนบาท ท่านก็จะต้องมีเงินไปจ่าย อ้าว ก็รัฐดูแลเราไม่ดี เราเดินไปในซอยแล้วถูกข่มขืน แล้วทำไมเรากลับกลายต้องหาเงินมาจ่าย"

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของโทษปรับ ที่ต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมมาก "เช่น ปรับ 2 แสนบาท ซึ่งสำหรับคนมีสตางค์แล้วอาจจะถือว่าพอจ่ายได้ แต่ถ้าเป็นซาเล้งหรือคนขายซีดีอยู่ตามถนนละ ซึ่งนี่มาจากวิธีคิดของกฏหมายที่ว่าคนเท่ากัน"

"แต่ในโลกของความเป็นจริงคนไม่ได้เท่ากัน คนมีชนชั้น เมื่อคนมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว แล้วไปสู้คดี คนที่ด้อยกว่าก็ไม่มีแต้มต่อพอที่จะไปสู้ได้ สิ่งที่เกิดตามมาคือ "ยอมรับสารภาพไปเถอะ ไม่ต้องสู้คดีหรอก เสียเงินเป็นแสนๆนะ" "

"ในเมื่อไม่ผิด แต่ว่าไม่อยากสู้คดีเพราะเสียเงินแพงกว่า จึงรับสารภาพ ซึ่งนี่เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และก็เป็นคำแนะนำของทนายความหรือ "ผู้รู้" ทั้งสิ้น"


ดร.จุฑารัตน์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศนั้นพบว่า จากคดีอาชญากรรมเป็นแสนๆคดีที่เกิดขึ้นในปี 2550 นั้น มีอาชญากรรมที่ถูกรายงานเพียงแค่ 34.8 % ในขณะที่อาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน (ตัวเลขมืด) มีอยู่ 65.2 % เพราะฉะนั้น อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงๆมันเยอะกว่านี้มาก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากความที่คนเบื่อหน่ายกระบวนการยุติธรรมที่มีความล่าช้า

"อีกประการหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงคือ กระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนาน ทำให้มูลค่ามันสูงเกินจริง ไหนจะเงินเดือนผู้พิพากษา เงินเดือนอัยการ ตัวอย่างเช่นคดีฉ้อโกงคดีหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 แต่ต้องรออีก 17 ปีถัดมาศาลชั้นต้นถึงจะมีคำพิพากษา (ในปี พ.ศ. 2548) แล้วก็มีจำเลยที่ถูกขังตายไปเยอะแยะ ถามว่าเวลาที่ใช้ยาวนานขนาดนี้มันคุ้มไหม แล้วสังคมได้ประโยชน์อะไร"

ดร.จุฑารัตน์กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น การพิจารณาคดีบางอย่างต้องรวดเร็ว ต้องตัดสินโทษทันทีทันใด การรอเวลาทำให้ต้นทุนแพงขึ้น การรอเวลาทำให้ "ต้องเลี้ยงข้าวคนในเรือนจำทุกๆวันตั้งกี่ปี กับคนตั้งกี่ร้อยกี่พันคน?"

"นอกจากนี้ พอมาถึงคุก คุกรับไม่ไหว เพราะคุกในเมืองไทยมีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับ 2 ของโลก คดีที่เยอะที่สุดคือคดียาเสพติด รองลงมาเป็นคดีหลบหนีเข้าเมือง อันดับสามคือคดีการพนัน ซึ่งทั้งสามประเภทนี้รวมกันใช้พื้นที่ของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักของประเทศไทยไปประมาณ 65.3 % แปลว่าอีก 35.7 % คือคดีอื่นๆที่สมควรทำ"

"ถ้าเมื่อไหร่กระบวนการยุติธรรมใช้พื้นที่หลักไปกับเรื่องที่ไม่สมควรทำก่อจะก่อให้เกิดต้นทุน การแก้ปัญหาบางอย่างนั้น บางทีเราไม่ต้องแก้ที่กระบวนการยุติธรรม แต่แก้ตรงที่อื่น แล้วทำให้คดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมันลดลง"

ดร.จุฑารัตน์กล่าวต่อว่า ในเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้น เหตุมาจากทั้งตัวบทกฏหมาย ทั้งการเลือกปฏิบัติ เช่นในจำนวนวงเงินเดียวกันนั้น สำหรับคนมีสตางค์กับคนไม่มีสตางค์มันต่างกัน การต่อสู้คดีต้องใช้เงินมหาศาล ต้องมีค่าทนาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของช่องว่างทางกฏหมาย ที่ผู้ที่รู้กฏหมายกับผู้ไม่รู้กฏหมายซึ่งตกเป็นเหยื่อ

"ในข้อหาเดียวกันนั้น มีโทษเป็นค่าปรับ 1 แสนบาท คนมีสตางค์จ่าย 1 แสนแล้วกลับบ้านไป ส่วนคนไม่มีสตางค์นั้นจะทำอย่างไร ก็สามารถใช้การกักขังแทนค่าปรับได้"

"เมื่อรถในการกระทำผิดถูกยึด ถ้าเป็นรถเบนซ์ ถ้ามีหลายคันคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรถซาเล้งที่ใช้ขนของแล้วถูกยึด หรือรถขายส้มตำละ ก็หมายความว่ารายได้ของคนนั้นจะขาดหายไป ซึ่งก็จะมีผลตามมาอีกมากมาย"



นอกจากนี้ เนื่องด้วยลักษณะของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้คนที่รู้ภาษากฏหมาย ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นคดีความก็ต้องไปจ้างทนาย ต้องเสียเงิน ซึ่งก็อยู่บนหลักที่ว่าใครอยากใช้บริการต้องจ่ายเงิน นอกจากนี้ ช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นมีช่องทางเดียวคืออยู่ที่รัฐ ซึ่งบางทีกระบวนการยุติธรรมของรัฐก็ไม่ได้อธิบายความยุติธรรมที่เป็นจริงในสังคม

ท้ายนี้ ดร.จุฑารัตน์ได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายไว้เช่นว่า ควรมีการปรับปรุงระบบการลงโทษอาญาตามกฏหมาย ลดทอนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบยุติธรรมของคนยากจน เช่นการขยายโอกาสให้คนยากจนได้รับบริการทางกฏหมายจากทนายความมืออาชีพ หรือนักกฏหมายของรัฐอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เสริมพลังความสามารถในการต่อสู้คดีแก่คนยากจน เช่นการให้อิสรภาพชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวที่เหมาะสม รวมทั้งกระบวนการที่เรียกว่า "พหุนิยมทางกฏหมาย"

"บางแนวคิดสามารถนำพหุนิยมทางกฏหมายมาใช้ได้ โดยใช้อธิบายเวลาที่มีการทับซ้อนของกฏหมาย 2 ชุดในพื้นที่เดียวกัน เช่นในประเทศที่เป็นมุสลิม ก็อาจมีกฏหมายเฉพาะอยู่ก่อนแล้ว แต่พอมีกฏหมายตะวันตก ก็เกิดการทับซ้อนกันขึ้น หรือในเมืองไทย ที่เรารับความคิดอาณานิคมมาเต็มๆ อย่างการรับชุดกฏหมายของตะวันตก ซึ่งทำให้บางทีกฏหมายนั้นไม่ยอมรับการมีอยู่ของกฏหมายจารีตประเพณีหรือกฏหมายท้องถิ่น"


นอกจากนี้ เราอาจต้องมองถึง "กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งน่าจะนำมาใช้กับสถานการณ์พิเศษได้ โดยกระบวนการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้กันในประเทศที่มีความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งพอเอาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วมันตอบยากว่าใครผิด

กระบวนการยุติธรรมแบบแบ่งแยกขาว-ดำ,ไม่ผิดก็ถูก อาจจะกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ประเทศแยกเป็นเสี่ยงๆ วิธีคิดของกระบวนการนี้ก็คือเพื่อให้สังคมเคลื่อนไปได้ แต่ไม่ได้เป็นการใช้เพื่อลดทอนกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก

นอกจากนี้ ดร.จุฑารัตน์ยังได้ฝากไว้ด้วยว่า กฏหมายเป็นสิ่งที่ "นิ่ง" (static) เป็นสิ่งที่อยู่เฉยๆ ในขณะที่สังคมมีลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น "การเอาสิ่งซึ่งมันไม่นิ่งไปอยู่ในสิ่งซึ่งมันนิ่งทำให้บางทีกฏหมายและสังคมไม่ไปด้วยกัน" กฏหมายจึงต้องมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม



++

ที่ดิน เรื่องวุ่นๆ ของประเทศที่ไม่จบง่าย
โดย นวลน้อย ตรีรัตน์ คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:15:00 น.


ปัญหาที่ดิน เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลมากี่ยุคกี่สมัยแล้วก็ตาม ที่ดินมักจะเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข ทั้งนี้ก็เพราะการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน มักจะแก้กันเป็นเฉพาะเรื่องไป แต่ขาดการแก้ปัญหาพื้นฐาน และขาดการดูแลหรือบริหารจัดการในภาพรวมที่ชัดเจน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินที่ออกมา จึงอยู่ในสภาพบังคับใช้บ้าง ไม่บังคับใช้บ้าง หรือบังคับใช้กับคนบางกลุ่ม ไม่บังคับใช้กับคนบางกลุ่ม การจัดการที่ดินจึงเป็นไปอย่างไม่เป็นระบบ ไม่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาใช้ดุลยพินิจได้ค่อนข้างมาก และกระทั่งมีการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ

เราจะพบเห็นการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาที่ดินในหลายรูป หลายลักษณะด้วยกัน ตั้งแต่ปัญหาเกษตรกรยากจนไม่มีที่ดินทำกิน ต้องขอให้รัฐบาลจัดสรรหรือจัดหาที่ดินทำกินให้ ชาวบ้านถูกจับกุมเพราะรุกที่ป่า การเข้าไปซื้อเอกสารสิทธิ์จากชาวบ้าน ทั้งที่เป็นประเภทที่ดินจัดสรรเพื่อเกษตรกรรม เช่น สปก. หรือที่ดินที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ที่ชัดเจนแต่อย่างใด เช่น ภบท. หรือ สค. 1 หรือการเข้าจับจองโดยตรงของนายทุนในที่ดินป่า หรือแม้กระทั่งข่าวนายทุนต่างชาติเริ่มเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตร โดยมีคนไทยเป็นนอมินี

จนกระทั่งมาถึงปัญหาการเวนคืนที่ดินเพื่อให้มีการก่อสร้างถนน ก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ การจ่ายค่าชดเชยหรือเวนคืนที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาการเก็งกำไรที่ดินจากการรู้ข่าววงในว่าจะมีโครงการพัฒนาของรัฐลงไปในพื้นที่



ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นประเด็นความขัดแย้ง แย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์จากที่ดิน และความอ่อนแอของรัฐในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน

ตัวอย่างในเรื่องการเวนคืนที่ดิน เช่น การพัฒนาโครงการของรัฐ ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน กลายเป็นทั้งสวรรค์และนรกของคนกลุ่มต่างๆ สำหรับกลุ่มที่ไม่โดนเวนคืนที่ดิน ราคาที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของจะมีมูลค่าสูงขึ้น โอกาสทางธุรกิจมีเพิ่มมากขึ้น ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น

สำหรับคนเหล่านี้ การทำโครงการของรัฐทำให้ได้รับประโยชน์ต่างๆ เต็มที่ ขณะที่กลุ่มที่ถูกเวนคืนจะพบว่าตนเองได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะกลายเป็นผู้ที่ถูกเบียดขับจากผลประโยชน์ในการพัฒนา เพราะถูกรัฐเวนคืนที่ดิน บ้าน หรือแม้กระทั่งที่ประกอบธุรกิจของตนไป

ราคาค่าเวนคืนอย่างดีที่สุดก็จะเป็นราคาที่ดินก่อนที่รัฐจะมีการพัฒนาโครงการ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่ถูกเวนคืนมักจะรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะยังมีทรัพย์สินที่ไม่ใช่ที่ดินที่มักจะถูกตีราคาต่ำกว่า หรือไม่ได้ถูกนำมาคิดเลย

ทรัพย์สินเหล่านี้ ได้แก่ บ้านและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มักจะได้รับราคาประเมินต่ำกว่าราคาตลาด และยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่อาจจะจับต้องไม่ชัดเจนแต่มีมูลค่าตั้งแต่มากไปถึงน้อย เช่น สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย ย่อมมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ตนเองอยู่ จะต้องไปอยู่ที่อื่น ต้องเริ่มต้นใหม่กับสภาพวดล้อมใหม่ และเงินที่ได้จากการเวนคืนก็มักจะไม่พอกับการหาที่อยู่อาศัยในบริเวนใกล้เคียงกับที่เดิม เพราะราคาที่ดินในบริเวณนั้นย่อมมีราคาสูงขึ้นไปแล้ว

ส่วนกลุ่มผู้ทำธุรกิจนั้นจะพบว่า การย้ายสถานที่ทำธุรกิจมักจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจตั้งแต่ระดับสูงมากไปจนถึงปานกลาง และน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ

สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการขนาดเล็ก เช่น ร้านค้า ร้านขายอาหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในย่านดังกล่าว มีลูกค้าประจำ เมื่อต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ย่อมต้องหาลูกค้าใหม่ ต้องเริ่มต้นใหม่

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีเครือข่ายการค้ากว้างขวางก็อาจจะกระทบไม่มากนักในด้านธุรกิจ แต่พนักงานคงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก


ดังนั้นการเวนคืนที่ดินต่างๆ ควรจะต้องมีการคำนึงถึงทรัพย์สินอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่เช่นนั้น เราก็คงจะเห็นภาพข่าวการประท้วงการเวนคืน และการสู้ตายของคนบางกลุ่มที่ถูกเวนคืนที่ดินต่อไป

ภาพความขัดแย้งในเรื่องที่ดินเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเมือง ชนบท และเขตป่าเขา

คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงเกิดปัญหาการบุกรุกที่ป่า การยึดครองที่สาธารณะ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน

การออกเอกสารปลอม การออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ตลอดจนการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดการของรัฐ ความไม่เท่าเทียมกันในการรับผลประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐ


ถ้าจะวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา คงมีอยู่หลายเรื่อง หลายประเด็น และมีทั้งที่เป็นสาเหตุพื้นฐาน และสาเหตุเฉพาะเรื่อง

ในบทความนี้ต้องการจะชี้เฉพาะประเด็นพื้นฐานประการหนึ่งของการจัดการที่ดิน นั่นก็คือ ต้นทุนในการจับจองที่ดินหรือเป็นเจ้าที่ดิน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด และเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ

ปัญหาเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้กลไกทางด้านภาษีทรัพย์สินมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้วย เพราะภาษีทรัพย์สินจะมีผลให้การถือครองที่ดินต่างๆ มีต้นทุนในการถือครองเกิดขึ้น

ในประเทศตะวันตก ภาษีทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดเป็นร้อยละ 2-3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศ สำหรับประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สามารถจัดเก็บภาษีเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง และสามารถจัดเก็บได้ในระดับประมาณร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศ

การจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ทั่วโลกมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มที่เห็นด้วย จะอยู่ในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถทางเศรษฐกิจของผู้ถือครองได้ เพราะใครมีทรัพย์สินมากย่อมมีความสามารถในการใช้จ่ายหรือบริโภคได้มากกว่าคนที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า และยังสามารถสร้างหรือมีโอกาสในการสร้างรายได้ได้มากกว่าผู้มีทรัพย์น้อยกว่า

นอกจากนี้แล้วผู้มีทรัพย์สินมากย่อมแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ตนเองได้รับจากรัฐ หรือโครงการพัฒนาของรัฐสูงกว่าคนกลุ่มที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า

คนกลุ่มเหล่านี้จึงควรที่จะจ่ายภาษีให้รัฐสูงกว่ากลุ่มอื่น



แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อโต้แย้งจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยว่า การมองแต่เพียงทรัพย์สิน ไม่มองหนี้สินด้วย ทำให้การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินอาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ และการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินอาจจะทำให้การออมลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่นำเงินออมมาลงทุนซื้อที่ดิน

จากประเด็นเหล่านี้ ทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว จะมีการพัฒนารูปแบบของภาษีทรัพย์สิน เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศของตนมากที่สุด เช่น การจัดเก็บตามมูลค่า เพราะโดยทั่วไปแล้วทรัพย์สินประเภทที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐ

การจัดเก็บในอัตราที่ไม่สูงจนเกินไป หรือมีการกำหนดค่าลดหย่อนจำนวนหนึ่ง เพื่อไม่ให้คนจนหรือมีรายได้น้อยเดือดร้อน การจัดเก็บอัตราก้าวหน้าสำหรับผู้มีที่ดินเป็นจำนวนมาก หรือการจัดเก็บอัตราพิเศษสำหรับผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้นำไปทำประโยชน์เพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน เพราะที่ดินเป็นทรัพยากรของชาติที่มีจำนวนจำกัด และเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ

การถือที่ดินเพื่อเก็งกำไร จึงทำให้โอกาสของประเทศในการสร้างผลผลิตและรายได้ลดลง


นอกจากนี้ในบางประเทศยังมีการจัดเก็บภาษีเฉพาะที่ เกี่ยวกับที่ดินที่ได้รับการพัฒนาเป็นกรณีไปอีก เช่น จัดเก็บภาษีอัตราพิเศษเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ที่รัฐเข้าไปลงทุนในการพัฒนา เช่น การก่อสร้างรถใต้ดินหรือรถไฟฟ้า เพื่อนำเงินภาษีมาใช้ในการลงทุนของโครงการ เป็นต้น

ในลักษณะเช่นนี้ การลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ จึงจะไม่เป็นภาระทางภาษีกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ มากเกินไป และทำให้กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียประโยชน์ โดยการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียประโยชน์ต้องคำนึงถึงต้นทุนและผลกระทบของกลุ่มนี้ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

ในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์มีการประกาศตั้งแต่เป็นรัฐบาลใหม่ๆ ว่า จะผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ในช่วงการเป็นรัฐบาลอยู่ประมาณ 2 ปีครึ่ง ก็ปรากฏว่า ไม่สำเร็จ ยังคงไม่มีการยื่นร่างพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนแต่อย่างใด

ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า การออกพระราชบัญญัติฉบับนี้กลุ่มคนที่จะมีผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มที่มีที่ดินที่ถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก คนที่เก็งกำไรที่ดิน และจากบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองกับ ป.ป.ช. ก็แสดงให้เห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ถือครองที่ดินกันไว้เป็นจำนวนมากทั้งสิ้น

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นร่างที่มีนักการเมืองน้อยราย อยากจะเห็น


การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการจัดการที่ดินของประเทศได้บ้าง เพราะการแก้ปัญหาทั้งหมด คงจะต้องแก้กันที่โครงสร้างการจัดการปัญหาที่ดินทั้งหมด

ก็ขอให้กำลังใจอธิบดีกรมป่าไม้และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่สุจริตใจทุกท่าน ที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาที่ดินที่วังน้ำเขียว ที่ปล่อยให้เป็นปัญหาหมักหมมมาอย่างยาวนาน

และอยากจะเห็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ในพื้นที่เขตอื่นๆ ของประเทศด้วย


อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า นอกจากจะพยายามแก้ปัญหาต่างๆ เฉพาะหน้าแล้ว อยากให้พิจารณาการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย

โดยเฉพาะในเรื่องที่ดิน โดยการผลักดันร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ปรากฏเป็นจริง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ

และทำให้การบริหารจัดการที่ดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น



++

ภาครัฐสางปัญหาบุกรุกที่ดิน นายทุนกระอัก-วังน้ำเขียวกระเจิง วังวนผลประโยชน์เกินห้ามใจ
คอลัมน์ เศรษฐกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 22


ดูเหมือนว่าปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อทำเป็นบ้านพักตากอากาศ และรีสอร์ตหรู รองรับนักท่องเที่ยวของกลุ่มนายทุนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากต่อการแก้ไข

ล่าสุด กับกรณีการบุกรุกที่ดินทั้งพื้นที่ป่าไม้ และ ส.ป.ก.4-01 ใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อนำไปก่อสร้างรีสอร์ต ที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของภาครัฐในขณะนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพชัดว่าปัญหาเรื่องนี้ใหญ่และซับซ้อนมากเพียงใด

ตรวจสอบข้อมูลล่าสุด พบว่ามีจำนวนรีสอร์ตมากกว่า 50 แห่งขึ้นไป รวมพื้นที่หลายพันไร่ เข้าไปบุกรุกอยู่ในพื้นที่ของทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

และคาดว่าตัวเลขน่าจะสูงมากกว่านี้ ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการประสานงานข้อมูลภายในกับอำเภอวังน้ำ

เขียว พบว่าในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีจำนวนสิ่งปลูกสร้างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอยู่จำนวน 196 แห่ง แยกเป็น โรงแรม 1 แห่ง รีสอร์ต 174 แห่ง และโฮมสเตย์ อีก 21 แห่ง

ในจำนวนสิ่งปลูกสร้างทั้ง 196 แห่งนี้ มีจำนวนสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 90% ที่ถูกระบุข้อมูลทางลับว่ามีปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐอย่างชัดเจน

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจำนวนสิ่งปลูกสร้างที่เข้าไปบุกรุกอยู่ในพื้นที่ของรัฐ ที่ อ.วังน้ำเขียว จะมีจำนวนเท่าไร แต่ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อนำไปก่อสร้างรีสอร์ตของกลุ่มนายทุนในพื้นที่นี้ ในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก



มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ทำให้กลุ่มนายทุนเข้ามาจับจ้องพื้นที่นี้เพื่อใช้ในการก่อสร้างรีสอร์ตจำนวนมาก เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีทำเลดี สภาพแวดล้อมและอากาศดีและสวยงาม ถึงขนาดได้รับการยกย่องเป็น "สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน"

ขณะที่ราคาการจัดซื้อที่ดินก็ไม่แพงมากนัก ไร่ละหลักหมื่นบาทเท่านั้น นายทุนบางราย จากที่ตั้งใจจะซื้อเพื่อปลูกบ้านพักตากอากาศ

สำหรับครอบครัว ในเริ่มแรกก็เปลี่ยนใจ เมื่อเห็นช่องทางทำธุรกิจรีสอร์ตได้ ช่วยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยใช้เวลาไม่กี่ปีก็สามารถคืนทุนได้

ขั้นตอนการซื้อขายที่ดินก็ทำได้ไม่ยาก เพราะแม้เอกสารการซื้อขายที่ดินจะมีเพียงแค่ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภบท.5 เท่านั้น ไม่ใช่

โฉนดแสดงกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินเหมือนที่ดินถูกกฎหมายทั่วไป แต่ในขั้นตอนการดำเนินงานจะมีข้าราชการระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาช่วยเซ็นชื่อเป็นพยานรับรองให้

และการเปิดตัวรีสอร์ตของผู้ประกอบการบางราย ยังมีข้าราชการระดับสูงของทางจังหวัด ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเป็นประธานเปิดรีสอร์ตด้วย

ที่สำคัญ ยังประกาศเสียงดังว่าพร้อมสนับสนุนพื้นที่วังน้ำเขียวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ สร้างความมั่นใจให้กลุ่มนายทุนเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่รีสอร์ตบางแห่ง ถูกระบุว่าก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ของนักการเมืองท้องถิ่นหลายคน ซึ่งบางคนในอดีตมีฐานะเป็นเพียงแค่เกษตรกรที่ได้รับแจกเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินของรัฐเหมือนเกษตรกรรายอื่นทั่วไป แต่ได้ดิบได้ดีจากการกว้านซื้อที่ดินของเกษตรกรมาขายต่อให้กับนายทุนในราคาแพง สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ มีทุนในการเล่นการเมืองระดับชาติ แถมยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางคนเสียด้วย

จึงเป็นธรรมดาของสังคมไทย สังคมขี้เกรงใจ ข้าราชการในพื้นที่เลยไม่ทำอะไร เพราะกลัวถูกโยกย้ายแบบไม่รู้ตัว



ส.ป.ก. ก็ประสบปัญหาถูกกดดันจากผู้มีอิทธิพลไม่ต่างกัน ส่งผลทำให้งานตรวจสอบปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินรัฐ ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้ามากนัก

นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือดังออกมาจากกระทรวงทรัพยากรฯ ว่า เหตุผลที่กรมป่าไม้ออกมาตรวจสอบปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดิน อ.วังน้ำเขียว อย่างเข้มข้นในช่วงนี้ เป็นเพราะมีใบสั่งมาจากข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรฯ รายหนึ่ง ที่เป็นกังวลว่าอาจโดนเด้งหลังรัฐบาลใหม่เข้าบริหารงานแล้ว จึงใช้เรื่องวังน้ำเขียวเป็นยันต์กันผี ให้ตัวเอง

ขณะที่หน่วยงานจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร อย่าง ส.ป.ก. ก็ยิ่งถูกจับตามองอย่างมาก เพราะในการเดินหน้าตรวจสอบปัญหาเรื่องวังน้ำเขียว นอกจากจะออกตัวในการนำกฎหมายมาบังคับใช้ล่าช้ากว่าหน่วยงานอื่นแล้ว ยังออกมาขายไอเดียสุดหรู เสนอนโยบายประกาศให้พื้นที่วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่พิเศษ คืนที่ดิน ส.ป.ก. ที่ถูกตรวจพบว่ามีปัญหาหลายร้อยไร่คืนกรมธนารักษ์เป็นพื้นที่ราชพัสดุ

เปิดให้นายทุนทำสัญญาเช่าที่ดิน เก็บเงินเข้ารัฐแทน โดยอ้างเหตุผลว่าไม่อยากจะมีปัญหากับกลุ่มนายทุน และชาวบ้านในพื้นที่ ที่ไม่ต้องการทำการเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว

โชคยังดีที่ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนปัจจุบันไหวตัวทัน กลัวว่าจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมตีกลับในข้อหาช่วยเหลือนายทุน และอาจเป็นช่องโหว่ให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของกลุ่มนายทุนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะบุกรุกที่ดินรัฐแล้ว นอกจากไม่มีความผิด ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐด้วย จึงสั่งเบรกแนวคิดดังกล่าว

พร้อมสั่งการให้ ส.ป.ก. เดินหน้าจัดการปัญหาการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. ของกลุ่มนายทุนที่นำไปสร้างรีสอร์ต และปัญหาการเปลี่ยนมือซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. ใน อ.วังน้ำเขียว โดยยึดหลักการทางกฎหมาย ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และให้ขยายผลการตรวจสอบไปยังจังหวัดอื่นด้วย

ส.ป.ก. จึงจำเป็นต้องยอมพับไอเดียซุกหีบไว้ก่อน พร้อมกับเดินหน้าตรวจสอบปัญหาการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. ใน อ.วังน้ำเขียว แบบกลัวๆ กล้าๆ อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน



ขณะที่กลุ่มนายทุนเจ้าของรีสอร์ต ก็ออกอาการผิดหวังไปตามๆ กัน ไม่คิดว่าภาครัฐจะแข็ง เจ้าของรีสอร์ตบางรายยอมถอดใจ รับสภาพการถูกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพราะหลังเป็นข่าวแทบไม่มีลูกค้าเข้าใช้บริการ แต่บางรายพร้อมสู้คดีในชั้นศาล เพราะเชื่อว่าคงเป็นหนังม้วนยาวกว่าจะได้ข้อสรุป หรืออาจกลายเป็นแค่คลื่นที่เงียบหายไปกับทะเล

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และ ส.ป.ก. คงไม่เหลือทางเลือก นอกจากการเดินหน้าตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อเรียกศักดิ์ศรีขององค์กรกลับคืนมา

และนอกจากปัญหาใน อ.วังน้ำเขียว ก็ควรขยายผลการสอบสวนไปยังพื้นที่อื่นอย่างจริงจัง เพื่อล้างบางปัญหานี้ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยโดยเร็ว

หรือไม่ปล่อยให้การบุกรุกที่ดินรัฐจากกลุ่มนายทุนเป็นไปอย่างที่เห็น เบียดเบียนพื้นที่การเกษตรที่ควรสงวนไว้ให้เกษตรกรผู้ยากไร้ไปเรื่อยๆ จนความรู้สึกของคนไทยในประเทศเห็นเป็นเรื่องปกติ

เหมือนเอแบคโพลล์เผยผลสำรวจล่าสุด ว่าประชาชน 65% ยอมรับได้หากรัฐบาลโกงแต่มีผลงาน *


+ + + +

* บทความน่าอ่านประกอบ

ฯ โพลคอร์รัปชั่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/blog-post.html



.