http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-30

ทางเลือกเชิงนโยบาย, วัฒนธรรมการทูตไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ทางเลือกเชิงนโยบาย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


น่าเสียดายที่นโยบายเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศของพรรค พท.ถูกเปลี่ยนเป็นเพิ่มรายได้ไปเสียแทน เพราะแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลย ถึงอย่างไรทุกวันนี้ก็ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ 300 บาทอยู่แล้ว เขาก็จะยังไม่ได้ถูกปลดปล่อยจากแถวการผลิต เพื่อมีเวลาสำหรับการพัฒนาตนเองและลูกหลาน อันรวมถึงการรักษาความผูกพันในครอบครัวด้วย

แม้กระนั้น เพิ่มก็ยังดีกว่าไม่เพิ่ม

แน่นอนว่าการเพิ่มค่าแรงหรือรายได้ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาเสมอไป ความห่วงใยต่อผลกระทบในทางลบเพียงอย่างเดียว จะทำให้ละเลยต่อผลกระทบในทางบวก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นต้นทางของการปรับตัวของประเทศให้หลุดพ้นจากทางตันซึ่งมองเห็นอยู่ไม่ไกลข้างหน้า

ค่าแรง 300 บาทจะทำให้สินค้าขึ้นราคาหรือไม่? ถามใหม่ว่า เมื่อคนจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการบางอย่างน่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่? ก็น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่สินค้าและบริการทุกอย่าง รถเบนซ์ไม่เกี่ยว สปาก็ไม่น่าจะเกี่ยว สินค้าแลบริการที่ราคาสูงขึ้นคือสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นสำหรับตลาดภายใน เช่นอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โรงงานที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ย่อมได้กำไรมากขึ้น และไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น

แต่เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้น ในไม่ช้าก็จะมีผู้อื่นมาผลิตแข่งบ้าง ทำให้ราคาสินค้าลดลงจนกระทั่งกำไรที่ได้ไม่มากเท่าเดิม ถึงตอนนี้ พ่อค้ามี

ทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือลดปริมาณการผลิตและปลดคนงาน หรือสองคือปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง หรือผลิตให้มีคุณภาพกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน

ปัญหามาอยู่ที่ว่าพ่อค้าไทยเลือกอะไร ที่ผ่านมาพ่อค้าส่วนใหญ่เลือกทางที่หนึ่ง หากลดปริมาณการผลิตไม่ได้ ก็เลือกการหลบเลี่ยงภาษี

การย้ายโรงงานไปอยู่ชายแดนเพื่อขูดรีดแรงงานข้ามชาติ หรือหากทำได้ก็เลือกลงทุนทางการเมืองเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง หรือเอาเปรียบประชาชนระดับล่าง

นี่คือเหตุผลที่อุตสาหกรรมไทยกำลังจะไปไม่รอด เพราะไม่อาจแข่งขันกับจีน เวียดนาม หรืออินโดนีเซียได้ ดังนั้น หากโรงงานใดที่สารภาพว่า ไม่อาจจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมได้ ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ปราศจากเงื่อนไขที่ไร้ความเป็นธรรม พวกเขาไม่มีกึ๋นที่จะอยู่รอด

และควรจะสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์

แต่อย่าโทษพ่อค้าเพียงฝ่ายเดียว ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐเอาแต่อุ้มนายทุนอันเป็นเด็กไม่ยอมโตเหล่านี้เสมอมา รัฐสร้างเงื่อนไขที่ทำให้พ่อค้าไม่อยากโต แม้มีพ่อค้าหรือแม้แต่ชาวบ้านที่ต้องการจัดการด้านการตลาดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพวกอยากโตเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็เกิดยาก เพราะถูกพวกเด็กไม่อยากโตกีดกันต่างๆ นานา

ค่าแรง 300 บาทจะเป็นจุดเริ่มต้นของเงื่อนไขที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทย รวมทั้งเอสเอ็มอี จำเป็นต้องปรับตัว พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ทั้งในและต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ 300 บาทเฉยๆ รัฐบาลต้องมีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นทั้งแรงบีบและแรงจูงใจในอันที่จะช่วยให้การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยประสบความสำเร็จ ในส่วนพ่อค้าที่ไม่มีสมรรถภาพในการปรับตัว ก็ต้องปล่อยให้เลิกกิจการไป ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเอาทรัพยากรของส่วนรวมไปอุ้มไว้ต่อไป และไม่ต้องกลัวด้วยว่าไดโนเสาร์เหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น มีกึ๋นจะแข่งในตลาดที่เสรีกว่าไทยได้ที่ไหนกัน

(ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ยินไดโนเสาร์หน้าด้านให้สัมภาษณ์ก็คือ การขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหาเสียงของรัฐ ฉะนั้นรัฐก็หาเงินมาสมทบค่าแรงเอาเอง ส่วนพ่อค้าก็เก็บกำไรของตนเท่าเดิมต่อไป นายทุนที่ทำอุตสาหกรรมได้แทบไม่ต่างจากโจรกรรมเช่นนี้ ควรที่เราจะทะนุถนอมเอาไว้หรือ)

ไม่เฉพาะแต่ค่าแรง 300 บาทเท่านั้น การวางนโยบายพลังงาน ก็ควรทำด้วยความกล้าหาญทางการเมือง เพื่อให้เกิดทางเลือกซึ่งจะเป็นการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ

เช่นเดียวกับนโยบายอุตสาหกรรม ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นโยบายพลังงานถูกตัดสินกันด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ทุกคนรู้มานานแล้วว่า เราต้องลอยตัวราคาก๊าซ เราต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้โครงสร้างการนำเข้าน้ำมันมีความสมดุล แต่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทั้งพรรคการเมืองและนักรัฐประหาร ต่างช่วยกันบิดเบือนตลาดพลังงาน เพราะกลัวว่า หากราคาก๊าซหุงต้มและดีเซลเป็นไปตามราคาตลาด จะกระทบค่าครองชีพของประชาชนจนทำให้ถอนการสนับสนุน

ดังนั้น คนจึงซื้อรถดีเซล เพราะรู้ว่า ถึงอย่างไรรัฐก็จะสนับสนุนราคาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจนได้ คนใช้รถเบนซินเปลี่ยนเป็นก๊าซแอลพีจี เพราะรัฐช่วยจ่ายให้เกือบครึ่ง เพื่อประกันว่าก๊าซหุงต้มจะต้องราคาต่ำกว่าตลาดโลกให้ได้ ส่วนก๊าซเอ็นจีวี แม้ว่ารัฐถือเป็นนโยบายที่จะส่งเสริม เพราะไม่ต้องนำเข้า รัฐกลับไปกดราคาไว้เพื่อไม่ให้ราคาขึ้นเท่าตลาดโลก ทำให้การลงทุนเพื่อขยายบริการให้ทั่วถึงเกิดขึ้นไม่ได้

แม้รู้ว่า การผลิตไฟฟ้าในเมืองไทยพึ่งพาพลังงานก๊าซสูงเกินไป แต่รัฐกลับมองหาแหล่งพลังงานใหม่จากนิวเคลียร์ ซึ่งคือการพึ่งพาอีกอย่างหนึ่ง (ทั้งที่มาของเชื้อเพลิง, การทิ้งกาก, เทคโนโลยี, ทุน, และการรับมือเมื่อเกิดอุบัติภัย) ในระยะหลังเริ่มยอมรับพลังงานหมุนเวียน แต่ในด้านการดำเนินการเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ไม่ได้ทำอะไรเลย

ที่สำคัญ การเลือกใช้พลังงานประเภทต่างๆ เหล่านี้ของประชาชน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คนย่อมเลือกใช้พลังงานที่ตัวคิดว่าให้ "กำไร" แก่ตนมากที่สุด ดังนั้น ในเงื่อนไขที่เอื้อให้การใช้ก๊าซ ไฟฟ้า หรือน้ำมัน ฯลฯ สามารถผลักความรับผิดชอบให้ผู้อื่นมาร่วมรับได้ คนเราย่อมเลือกพลังงานอย่างนั้น และมักใช้อย่างไม่ประหยัดด้วย

การลอยตัวราคาพลังงานอย่างมีขั้นมีตอน จึงไม่ใช่เพียงแค่ทำให้นโยบายสอดคล้องกับความเป็นจริงเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวของคนทุกฝ่ายที่จะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยจะมีผู้แสดงความต้องการอย่างจริงจังมากขึ้น

การลงทุนทำที่จอดรถในจุดที่อาจใช้บริการขนส่งได้สะดวกมีความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

ไม่แต่เพียงเท่านั้น การคิดค้นและปรับปรุงเพื่อใช้พลังงานจากแหล่งที่ถูกทิ้งขว้าง ก็จะเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างกว้างขวาง ดังที่กล่าวกันว่า ความจำเป็นคือมารดาของการประดิษฐ์ หลุมหรือถังส้วมประจำบ้านจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหุงต้มอย่างสำคัญ ความพิถีพิถันของภาคอุตสาหกรรมและบริการในด้านการใช้พลังงานจะเกิดขึ้นทั่วไป ลดพลังงานไฟฟ้าลงได้แค่ 2% ก็หมายถึงเงินเป็นล้านต่อปี



การลงทุนใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าในครัวเรือน จะให้ผลตอบแทนทันตาเห็น ซึ่งหลายครัวเรือนพร้อมจะลงทุน ฯลฯ คิดไปเถิดครับ จะมีคนใช้หัวสมอง และศักยภาพของตนเอง เพื่อการใช้พลังงานอย่างฉลาดเต็มไปหมด

เขื่อนแก่งเสือเต้นก็เช่นเดียวกัน ท่านนายกฯ สุขุมพอที่จะไม่ด่วนรับปาก แต่ขอศึกษาก่อน เพราะที่จริงแล้ว มีงานศึกษาเรื่องนี้ซึ่งหลายฝ่ายหลายสำนักได้ทำมามากทีเดียว ล้วนเห็นว่าไม่คุ้มทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมฝนแล้ง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์

ไม่นานมานี้กลุ่มอนุรักษ์แม่ยมทำข้อเสนอการจัดการลุ่มน้ำยมอย่างละเอียด ซึ่งเป็นแผนที่มีความละเอียดรอบคอบอย่างมาก

หลักการคือฟื้นฟูกลไกธรรมชาติให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม


ส่วนที่ธรรมชาติถูกทำลายไปจากการพัฒนา จนยากแก่การฟื้นฟูให้คงเดิมได้ ก็ปรับเปลี่ยนธรรมชาติส่วนอื่นที่พอจะฟื้นฟูได้ให้กลับมาทำงานแทน เช่น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง สร้างแหล่งเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากให้มากขึ้น เพื่อมิให้น้ำที่จะไหลเข้าเมืองและชุมชนมีปริมาณมากเกินไป ทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับฤดูแล้งด้วย ฯลฯ

แทนที่จะลงทุนด้วยเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งประชาชนไม่อาจควบคุมจัดการเองได้ ก็หันกลับมาใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีขนาดพอเหมาะ กระจายไปตลอดลุ่มน้ำ และอยู่ภายใต้การจัดการดูแลของคนในท้องถิ่น

นี่คือการจัดการน้ำแบบใหม่ ซึ่งได้พิสูจน์ในระดับท้องถิ่นมาหลายแห่งแล้วว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่ด้วยเขื่อน ซึ่งก็ได้มีการพิสูจน์มาหลายแห่งหลายครั้งแล้วว่าล้มเหลว ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม อันเป็นเทคนิควิธีที่ชาว

บ้านมีส่วนร่วมและกำกับควบคุมได้จริง ยังเป็นโอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีในเรื่องนี้ มากกว่าการจัดการน้ำด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ อันเป็นเทคโนโลยีที่ฝรั่งใช้ในระบบนิเวศแบบของเขา

ทั้งหมดนี้คือทางเลือกเชิงนโยบาย อันเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการที่สุด อาจต้องการเสียยิ่งกว่าความปรองดองด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่า เรากำลังเดินเข้าสู่ทางตันในเกือบทุกทาง เป็นธรรมดาที่ทางเลือกเชิงนโยบายย่อมต้องถูกคัดค้านต่อต้าน เพราะนโยบายเก่าเป็นทั้งความเคยชินและเป็นทั้งแหล่งพักพิงของประโยชน์ปลูกฝังชนิดต่างๆ ของคนหลากหลายกลุ่ม ทางเลือกเชิงนโยบายย่อมมีผลกระทบต่อฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเก่า แต่ทางเลือกย่อมเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หากจัดการให้ดี ผลดีที่จะได้รับจากทางเลือกจะมีมากกว่าผลกระทบ

จนแม้แต่ผู้ที่เสียประโยชน์ในวันนี้ ก็จะได้รับผลพวงของสิ่งดีๆ ที่อาจเกิดขึ้นในวันหน้าด้วย



++

วัฒนธรรมการทูตไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 28


ใครๆ ก็คงเห็นด้วยนะครับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐต่างๆ ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่มีมาในประวัติศาสตร์ (หมายถึงอดีตที่มีผู้เขียนบรรยายไว้ ไม่ได้หมายถึงอดีตที่เกิดขึ้นจริงๆ) มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ว่าเฉพาะในประเทศไทย ก็พูดถึงเรื่องนี้กันมานาน เช่น ว่ากันว่าเราไม่ค่อยไว้ใจพม่า เพราะพม่าถูกปั้นให้เป็นศัตรูประจำชาติ เราดูถูกเขมรและลาว เพราะประวัติศาสตร์ปั้นให้สองประเทศนี้เป็นลูกไล่ของเรา

แต่ผมสงสัยว่าอิทธิพลของประวัติศาสตร์ในแง่นี้อาจไม่มากนักก็ได้ เช่นหัวเมืองมลายู ก็เคยถูกถือว่าเป็นประเทศราชของเราหลายเมืองด้วยกัน แต่ครั้นไปรวมกันกลายเป็นมาเลเซียซึ่งรวยกว่าเรา คนไทยก็เลิกมองมาเลเซียเป็นลูกไล่ไปแล้ว และถึงอย่างไรก็อาจแก้ได้ด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ให้ตรงกับความเป็นจริงตามระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโบราณ ซึ่งไม่เหมือนปัจจุบันเลยได้

และระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโบราณนี่แหละครับ ที่ผมคิดว่ามีอิทธิพลต่อวิธีคิดต่อประเทศอื่นๆ ของคนไทยในปัจจุบันมากเสียยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ คนไทยในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงชาวบ้านร้านช่องทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ผู้นำทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม ต่างก็คิดไม่ต่างไปจากชาวบ้าน

แม้แต่ความสำเร็จของไทยในสมัย ร.5 ที่ยกย่องกันว่าเราสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างชาญฉลาด จนทำให้เรารอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก คิดไปคิดมาก็น่าจะมาจากวิธีคิดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโบราณ มากกว่าความเข้าใจในระบบใหม่ และยักย้ายไปตามระบบใหม่จนเอาตัวรอดมาได้



ผมควรกล่าวด้วยว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามสถานการณ์ของโลกสมัยใหม่ ระบบดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนหลักการว่า ทุกประเทศเอกราชมีสถานะเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ (แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าไม่จริง) เพราะต่างสัมพันธ์กันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศมีสิทธิและความรับผิดชอบต่อประเทศอื่นเหมือนกัน และทุกประเทศมีสิทธิและความรับผิดชอบต่อพลเมืองของตนเหมือนกัน

ระบบนี้ไม่ได้หยุดนิ่งกับที่ แต่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดมา เช่นความรับผิดชอบต่อพลเมืองของรัฐตามมาตรฐานขั้นต่ำระดับหนึ่ง แต่ก่อนก็ไม่ถือว่าสำคัญนัก แต่ปัจจุบันอาจถูกยกเป็นข้ออ้างสำหรับการแทรกแซงจากรัฐอื่นได้ และแทรกได้แรงๆ เสียด้วย เพราะขนาดทำสงครามด้วยยังได้ เช่นกรณีลิเบีย

ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องเลยทีเดียวกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐซึ่งคนไทยเคยชินมาแต่โบราณ เรามีระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเปิดให้มีการค้าขายระหว่างกันในระดับหนึ่ง เปิดให้มีการจาริกแสวงบุญเข้าไปในดินแดนซึ่งอยู่ใต้บารมีของกษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และเปิดให้มีการอพยพข้ามแดนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอีกที่หนึ่งได้

ทั้งหมดนี้ ทำได้เมื่อโอกาสอำนวยนะครับ ซึ่งต้องถามต่อไปว่าโอกาสอะไร และโอกาสนั้นอำนวยแก่ใครด้วย แต่ผมขอไม่พูดเรื่องนี้ต่อล่ะครับ



ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เราเคยชินนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานอะไรบ้าง ผมขอสรุปอย่างคร่าวๆ ดังนี้

คำว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ประเทศ" ชวนให้สับสน เพราะเมื่อยังไม่มีรัฐประชาชาติ "แผ่นดิน" คือสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่ออยุธยาไปสัมพันธ์กับอังวะหรือละแวก จึงไม่ได้หมายความว่าประชาชนไทยไปสัมพันธ์กับประชาชนพม่าหรือเขมร ทั้งหมดเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินที่ตั้งราชธานีอยู่ที่อยุธยา, อังวะ และละแวก ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาชน (นอกจากถูกเกณฑ์ให้ไปรบแทนนาย)

สงครามระหว่างพม่าและไทยนั้น เอาเข้าจริงคือความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชธานีสองแห่ง ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยหรือรัฐพม่า

ในยุโรปสมัยกลาง ประชาชนที่อยู่นอกป้อมค่ายยิ่งไม่เกี่ยวกับสงครามของเจ้านายขึ้นไปใหญ่ หากเจ้าครองแคว้นถูกเกณฑ์ให้ไปรบ เขาก็นำเอาอัศวินของเขาไปช่วยรบ ไม่ได้เอาไพร่ในสังกัดไปด้วย

เมื่อหน่วยที่สัมพันธ์กันไม่ใช่รัฐ แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน เพราะพระเจ้าแผ่นดินของภูมิภาคอุษาคเนย์ (หรือที่จริงเกือบทั้งเอเชีย) ต่างถือว่าตัวอยู่สูงสุดเหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายทั้งสิ้น ต่างองค์ต่างมีพระนาม เช่น "บรมราชาธิราช" บ้าง, "ตะปูอันเป็นแกนโลก "บ้าง, "พระเจ้าปราสาททอง" บ้าง (หมายความว่าปราสาทของคนอื่นไม่ใช่ทองน่ะครับ) "ผู้เป็นใหญ่อันทรงเกียรติสูงสุด" บ้าง

ดังนั้น โดยทางทฤษฎีแล้ว จะหาใครมาเท่าเทียมกับพระองค์ย่อมเป็นไปไม่ได้ ใครส่งทูตไปหาใคร ก็ล้วนเป็นการถวายเครื่องราชบรรณาการไปทั้งสิ้น

แต่ในความเป็นจริงเชิงปฏิบัติ ความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์จะแข็งโป๊กตามทฤษฎีเช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินในอุษาคเนย์ด้วยกันเอง ก็มีพระเจ้าแผ่นดินที่แข็งแกร่งเท่าเทียมกันอีกมาก หรืออยู่ไกลจนเกินกำลังจะไปแสดงพระบรมโพธิสมภารได้ถึง ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน (หรือ ผอ.บริษัท) ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีกำลังกล้าแข็งกว่าพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์ มาก เช่น จีนและฝรั่ง เป็นต้น ซ้ำทั้งสองมหาอำนาจนี้ก็เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์อย่างมาก ทั้งในเชิงการค้า หรือเมื่อจำเป็นก็เชิงแย่งอำนาจ

ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์กับพระเจ้าแผ่นดินอื่นหรือรัฐอื่น จึงอาจแบ่งออกได้เป็นสองทาง ใครที่มีอำนาจกว่า ก็ยอมอ่อนน้อม ส่งทูตไปถวายบรรณาการแก่ฮ่องเต้เป็นระยะ (ที่เรียกว่าจิ้มก้อง) เพราะรู้อยู่ว่าต้องพึ่งพาฮ่องเต้ในการค้าขายและเป็นแหล่งป้อนวัสดุสินค้าที่ต้องการ (มาในภายหลังนักปราชญ์ไทยพยายามอธิบายว่า จิ้มก้อง ไม่ใช่การส่งเครื่องราชบรรณาการ อย่างเดียวกับที่นักปราชญ์มาเลเซียพยายามอธิบายว่า บุหงามาสหรือดอกไม้เงินดอกไม้ทองก็ไม่ใช่เครื่องราชบรรณาการเช่นกัน)

ดังนั้น ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ เราก็ยอมรับตลอดมาว่า สถานะของ "แผ่นดิน" นั้นไม่เท่าเทียมกัน มี "แผ่นดิน" ใหญ่ที่จำเป็นต้องสัมพันธ์ด้วยในเชิงอ่อนน้อม และมี "แผ่นดิน" เล็กที่สัมพันธ์ด้วยในเชิงนาย-บ่าว



ในส่วน(บริษัท)ฝรั่งนั้น แม้เป็นคนที่มาจากนอกระบบความสัมพันธ์แบบนี้ แต่เมื่อมาอยู่ในเอเชียไม่นาน ก็สามารถปรับระบบความสัมพันธ์ของตนให้เป็นไปตามประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเอเชียจนได้ ถ้าต้องติดต่อกับฮ่องเต้ ก็ยอมอ่อนน้อม แต่หากต้องติดต่อกับสุลต่านชวาก็ถืออำนาจบาตรใหญ่

จนพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์ไม่ได้มอง(บริษัท)ฝรั่งว่าเป็นคนนอกแต่อย่างไร หากเห็นเป็นอำนาจท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่งในภูมิภาค ที่สามารถเอามาใช้เป็นประโยชน์ในการเมืองภายในได้

เมื่อเรายอมทำสนธิสัญญาเบาริง ร.5 ก็ทรงชักชวนให้มหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยในลักษณะเดียวกันบ้าง และมักจะอธิบายกันว่าเป็นพระบรมราโชบายที่ชาญฉลาด กล่าวคือ เอามหาอำนาจเข้ามาคานกันเอง แต่ที่จริงแล้ว การคานอำนาจ, ชิงอำนาจ, ท้าทายอำนาจ ฯลฯ ภายใน โดยอาศัยกำลังของคนนอก ทั้งจีนและฝรั่งหรือญี่ปุ่นญวนและไทย ฯลฯ เป็นนโยบายเก่าแก่ที่ชนชั้นนำอุษาคเนย์ทำกันมาแต่โบราณทุกรัฐ

ใครอยากเป็น "บรมราชาธิราช" เขาก็ต้องใช้ประโยชน์จากอำนาจทั้งหมดที่เขาเข้าถึง เพื่อชิงความเป็นราชาผู้สูงสุดเหนือราชาทั้งหลายให้ได้ ความคิดว่าฝรั่ง, จีน, ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็น "ต่างชาติ" ซึ่งไม่มีสิทธิ์แทรกแซงการเมืองภายใน เป็นความคิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อ "แผ่นดิน" ไม่ได้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินคนเดียว หากเป็นของราษฎรทั้งหลายต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นรัฐประชาชาติก่อน

มองจากแง่นี้ การแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐในช่วงสงครามเย็น ย่อมเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำไทยเห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ซ้ำยังเป็นโอกาสที่จะขจัดศัตรูทางการเมืองของตนด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐมอบให้ และข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหน่วงพัฒนาการทางการเมืองไปสู่ความเป็นรัฐประชาชาติ เพราะรัฐประชาชาติจะทำให้คนไทยไม่อาจยอมรับการแทรกแซงของต่างชาติได้


ในทำนองเดียวกันนะครับ ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงกับกัมพูชา ก็เพราะในวัฒนธรรมของชนชั้นนำไทย ยากที่จะยอมรับได้ว่า กัมพูชา (หรือลาว) เป็นรัฐที่มีสถานะเท่าเทียมกับไทย อันที่จริงเรามีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ แต่จะบานปลายกลายเป็นเรื่องรุนแรงถึงกับปะทะกันแค่สองประเทศ คือลาวและกัมพูชาเท่านั้น

ทำไมหรือครับ ?

เพราะชนชั้นนำไทยไม่ยอมรับความเป็นรัฐประชาชาติของไทย จึงทำให้ไม่สามารถขยับตัวเองจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเก่า มาสู่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบปัจจุบันได้

วัฒนธรรมกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มากกว่าที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าใจ


.