http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-29

ตอบโจทย์เสื้อแดงฯ, อาเซียนฯ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ตอบโจทย์เสื้อแดง : ขบวนการประชาธิปไตยไทย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 36


"วัตถุประสงค์ประการแรกและประการเดียว ที่ชอบธรรมที่สุดของรัฐบาลที่ดีก็คือ
การดูแลชีวิตและความสุขของประชาชน ไม่ใช่การทำลายชีวิตของประชาชน"
โทมัส เจฟเฟอร์สัน
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
(ค.ศ.1743-1826)



สังคมไทยดูจะตื่นเต้นอย่างมากกับ "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางในต้นปี 2554

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมในตูนิเซีย ในอียิปต์ หรือการต่อสู้ที่ยังไม่รู้ผลชัดเจนในลิเบีย

รวมถึงกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจอร์แดน บาห์เรน และซีเรีย เป็นต้น

ความตื่นเต้นอย่างมากเช่นนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนลืมไปว่ากระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในปี 2552-53 ถ้าเรายอมรับข้อสังเกตเช่นนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าการก่อตัวของกระแสประชาธิปไตย เริ่มปรากฏชัดในการเมืองไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจจะกลายเป็นเรื่อง "ตลกร้าย" ที่จะต้องกล่าวว่า กระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลโดยตรงจากความสำเร็จของกองทัพในการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

และกระแสเช่นนี้ดูจะปรากฏเป็นรูปธรรมชัดขึ้นในช่วงปี 2552 ด้วยการชุมนุมของกลุ่ม "คนเสื้อแดง"

แน่นอนว่า การชุมนุมของพวกเขาจบลงด้วยความสูญเสียทั้งในปี 2552 และ 2553

แม้ขบวนการเมืองนี้จะถูกปราบปรามและจับไปผูกโยงกับการต่อสู้ทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำรัฐบาลที่ถูกโค่นล้ม จากการรัฐประหาร 2549 จนทำให้กลุ่มชนชั้นนำหรือผู้นำทหารมักจะนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทางการเมืองต่อขบวนเสื้อแดง

หากจะปฏิเสธว่า การโฆษณาเช่นนี้ไม่ได้ผลก็คงไม่ได้ เพราะบรรดาผู้คนในเมือง ซึ่งมีทัศนะไปในทางอนุรักษนิยมนั้นดูจะ "รับสาร" ดังกล่าวอย่างมาก จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยในสถานการณ์เช่นนี้ว่า คนในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางไม่ชอบพวกเสื้อแดง

และส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ไม่ชอบก็เพราะคนพวกนี้เป็น "ชนชั้นล่าง" และชนชั้นล่างเช่นนี้จะมารู้เรื่องการเมืองดีกว่าพวกเขาได้อย่างไร

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาซึ่งเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนดังภาพสะท้อนของ "การต่อสู้ทางชนชั้น" ไปแล้ว

กล่าวคือ กลุ่มคนเสื้อแดงมักจะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามจากบรรดาคนในเมืองไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงก็ตาม

ในสายตาเช่นนี้พวกเสื้อแดงซึ่งเป็น "ชนชั้นล่าง" นั้นถูกหลอก



ในสภาพเช่นนี้คนในเมืองดูจะปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อปรากฏการณ์ของความตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นล่างที่อาศัยอยู่ทั้งในเมืองและในชนบท และก็ปฏิเสธที่จะรับรู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงใช่แต่จะเป็นขบวนการของชนชั้นล่างเท่านั้น หากแต่ยังมีคนจากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมมากขึ้น จนมีลักษณะที่หลากหลายทางชนชั้น

แม้ฐานล่างของขบวนการจะเป็นชนชั้นล่าง โดยเฉพาะคนในชนบท แต่ข้อปฏิเสธที่สำคัญก็คือ พวกเขาไม่ยอมรับว่า ขบวนการของคน

กลุ่มนี้เรียกร้องประชาธิปไตย และต้องการให้อาศัยกลไกของการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสินการขึ้นสู่การเป็นรัฐบาล มากกว่าจะยอมรับในเรื่องของการยึดอำนาจ ตลอดรวมถึงการเรียกร้องหาความถูกต้องและเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยวาทกรรม "สองมาตรฐาน"

แต่สำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงแล้ว พวกเขาคิดแต่เพียงว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ เกิดขึ้นเพราะการสนับสนุนของทักษิณ

ถ้าคิดในแง่ดี อาจจะต้องพิจารณาว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้นในไทยเป็นการยกระดับทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เพราะหากย้อนอดีตจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เกิดขึ้นในวงแคบของผู้คนในสังคมไทย และสุดท้ายก็ถูกทำลายลงด้วยการยึดอำนาจในปี 2490 การเปลี่ยนแปลงในปี 2516 อาจจะขยายวงกว้างขึ้นก็จริง แต่ก็ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำกัดขอบเขตอยู่กับคนในเมืองพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาและกลุ่มหัวก้าวหน้าบางส่วน

และสุดท้ายในปี 2519 ผู้นำทหารก็ตัดสินใจยุติการเมืองแบบการเลือกตั้ง แม้ต่อมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 2535 จนทำให้ผู้คนในขณะนั้นเชื่อว่า การเมืองแบบการเลือกตั้งเป็นคำตอบเดียวและคำตอบสุดท้ายของสังคมไทย เพราะการต่อสู้ขยายขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น

เราดูจะเชื่อมั่นว่า การต่อสู้ในปี 2535 เป็นตัวแทนของ "ขบวนประชาธิปไตยไทย" ที่เทียบเคียงได้กับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในหลายๆ พื้นที่ของโลก

และอาจจะไม่แตกต่างจากขบวนการในจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หรือขบวนการในพม่าที่นำโดย นางออง ซาน ซูจี

เป็นแต่เพียงขบวนการในไทยอาจจะ "โชคดี" ที่ประสบความสำเร็จในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของประเทศได้ก็ตาม



ความเชื่อเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในการอธิบายในเวลาต่อมา เพราะในการรัฐประหาร 2549 ส่วนสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยในปี 2535 กลับแปลงเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร

พวกเขาสร้างคำอธิบายผ่านวาทกรรมเรื่องทุนนิยมสามานย์ การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ การแทรกแซงองค์กรอิสระ หรือเผด็จการรัฐสภา เป็นต้น

คำอธิบายเหล่านี้สรุปได้แต่เพียงว่า กลุ่มที่เปลี่ยนความคิดนั้นล้วนแต่มีทัศนะเชิงลบต่อการเลือกตั้งอย่างสุดโต่ง มองเห็นแต่ผลร้ายของการเมืองเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเชื่อถือและความศรัทธาต่อนักการเมือง แต่กลับฝากความหวังไว้กับ "คนกลาง" เช่น ผู้นำทหาร

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็สามารถเทียบเคียงได้กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดาชนชั้นกลางในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษของ ค.ศ.1960 และ 1970 ที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ด้วยความเชื่อว่า นักการเมืองไม่มีศีลธรรม ไม่รักชาติ แสวงหาอำนาจ และคอร์รัปชั่น เป็นต้น

ทัศนะเช่นนี้ทำให้พวกเขาเรียกร้องหา "การเมืองแบบคนกลาง" ที่ต้องการอาศัยคนกลางที่พวกเขาเชื่อว่ามี "ความบริสุทธิ์ทางการเมือง" เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศแทนนักการเมือง

และตัวแบบที่ชัดเจนก็คือ การเรียกร้องหารัฐบาลคนกลางนั่นเอง



ในสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน โจทย์สำคัญยังคงเป็นเรื่องของการสร้างประชาธิปไตย แม้พรรคการเมืองที่ไม่ใช่ปีกอนุรักษ์จะได้รับชัยชนะ แต่ก็เป็น "ชัยชนะเปราะบาง" เป็นอย่างยิ่ง และอาจจะถูกทำลายลงได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ปัญหาที่จะต้องคิดไปในอนาคตก็คือ จะทำให้เกิด "ขบวนการประชาธิปไตยไทย" ขึ้นมาจริงๆ ให้ได้อย่างไร เพราะจะต้องตระหนักว่า การต่อสู้ทางการเมืองของไทยอาจจะแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ

เช่น หากมองในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมไทยไม่เคยผ่านขั้นตอนของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อเรียกร้องเอกราชในยุคอาณานิคม

และแม้สังคมไทยจะผ่านเงื่อนไขของการต่อสู้ด้วยอาวุธในกรณีของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวาง

ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งผ่านการต่อสู้ในเวทีการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจจะพอเทียบเคียงได้กับขบวนการเรียกร้องเอกราชในยุคอาณานิคมที่ถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง หรืออาจจะเทียบเคียงกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในบางประเทศที่ถูกล้อมปราบอย่างรุนแรงเช่นกัน ถ้าพิจารณาในมิติเช่นนี้โจทย์ที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรจะสร้างให้กลุ่มเสื้อแดงเป็น "ขบวนการประชาธิปไตยไทย" ให้ได้ในอนาคต

โดยหวังว่าขบวนการเช่นนี้จะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองครั้งใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องนำเอาตัวเองเข้าไปผูกติดอยู่กับอุดมการณ์เก่าที่ถูกจองจำอยู่แนวคิดอนุรักษนิยม-จารีตนิยม

และที่สำคัญก็คือจะต้องไม่เอาขบวนการไปผูกโยงไว้กับตัวบุคคล จนขบวนต้องถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณชนในวงกว้าง และขณะเดียวกันก็ต้องขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้นไปสู่ชนชั้นต่างๆ

ในสภาพเช่นนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่กลุ่มเสื้อแดงจะต้องเข้าไปสู่การมีตำแหน่งทางการเมือง เพราะการมีตำแหน่งในรัฐบาล อาจจะผูกมัดให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นข้อครหาไม่แตกต่างจากการมีตัวแทนของกลุ่มเสื้อเหลืองในรัฐบาลที่ผ่านมาในฐานะ "รางวัลตอบแทน"

แต่ก็มิได้หมายความว่า กลุ่มควรจะปฏิเสธการต่อสู้ในเวทีรัฐสภา เพราะรัฐสภายังคงเป็นหนทางหลักของการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

และกลุ่มควรจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มิได้เป็นตัวแทนของอุดมการณ์อนุรักษนิยม-จารีตนิยม

และที่สำคัญก็คือแสดงบทบาทที่ชัดเจนต่อการคัดค้านเผด็จการและสนับสนุนประชาธิปไตย

สำหรับบทบาทเฉพาะหน้า กลุ่มยังจะต้องเรียกร้องหาความเป็นธรรมสำหรับกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการล้อมปราบในปี 2553 (เช่นกรณีอียิปต์ในปัจจุบัน) ตลอดจนการเรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ถูกจองจำในจังหวัดต่างๆ

ถ้ากลุ่มเสื้อแดงต้องเดินไปในทิศทางเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะมีส่วนช่วยต่อการยกระดับการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างและขยายฐานทางการเมืองไปสู่คนส่วนใหญ่ในสังคม มากกว่าจะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเป็นเพียงเรื่องของชนชั้นนำและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เช่นที่ผ่านๆ มา

และจะไม่ทำให้ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจ จนไม่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการเมืองไทยได้แต่อย่างใด



วันนี้อาจจะต้องยอมรับว่า การถูก "ล้อมปราบ" ไม่ว่าจะเป็นในปี 2552 หรือในปี 2553 ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงกลายเป็น "ขบวนการเมืองใหญ่" ของสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ ในด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าการถูกล้อมปราบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การต่อสู้เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวไม่อาจจะหนีการปราบปรามจากอำนาจรัฐเก่า อย่างน้อยตัวแบบร่วมสมัยในตะวันออกกลางเป็นคำยืนยันในกรณีนี้

การถูกปราบปรามยังเป็นการทดสอบว่าขบวนการดังกล่าวได้รับความสนับสนุนจากประชาชนจริงหรือไม่

เพราะหากขบวนการนี้ไม่ได้รับการหนุนช่วยจากประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว การถูกปราบปรามอาจจะหมายถึงจุดจบของการดำเนินการทางการเมืองได้ไม่ยากนัก เพราะไม่มีใครอยากเอาชีวิตเข้าเสี่ยงกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า การถูกปราบปรามเป็นเรื่องดี หากแต่ต้องยอมรับว่าการถูกปราบปรามเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก เพราะอำนาจรัฐและองค์กรติดอาวุธยังอยู่กับฝ่ายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

และที่สำคัญก็คือกลุ่มอำนาจเก่ามักจะใช้การปราบปรามเป็นเครื่องมือของการดำรงไว้ซึ่งสถานะเดิม



ดังนั้น หากสังคมไทยสามารถสร้างขบวนการประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นผลเชิงบวกต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะอย่างน้อยขบวนการเช่นนี้จะเป็นตัว "ถ่วงดุล" ที่สำคัญกับอำนาจนอกระบบ ตลอดรวมถึงการใช้อำนาจทหารเป็นเครื่องมือในการเมืองไทย

ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้ผู้นำทหารไม่ได้กลัวพรรคการเมือง แต่กลัวการเคลื่อนไหวของประชาชนต่างหาก

อย่างน้อยภาพข่าวจากตะวันออกกลางก็เป็น "ข้อเตือนใจ" อย่างดีสำหรับพวกเขา และหากปราศจากขบวนการประชาชนแล้ว บางทีการยึดอำนาจอาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ได้

ฉะนั้น การสร้างขบวนการประชาธิปไตยจะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการทำให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย (democratic consolidation) หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดความหวังว่าประชาธิปไตยไทยจะมี "อายุยืน" มากขึ้นด้วยการค้ำประกันของขบวนการประชาชน

เพราะไม่มีประชาธิปไตยในประเทศใดเกิดขึ้นได้เองโดยปราศจากการต่อสู้ และด้วยการทำเช่นนี้จะทำให้การบาดเจ็บและเสียชีวิตของชาวเสื้อแดงไม่สูญเปล่า !



++

อาเซียน 2015 : เส้นทางสู่ประชาคม
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 36


"เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แทนที่รัฐมหาอำนาจใหญ่จะดำเนินนโยบายด้วยการแบ่งแยกแล้วปกครอง
กลับสนับสนุนให้เกิดการสร้างประชาคมขนาดใหญ่ โดยรวมเอาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกแบ่งแยก
ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ "
Jean Monnet
(ค.ศ.1888-1979)


กล่าวนำ

บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยคำกล่าวของ Jean Monnet นักการทูตชาวฝรั่งเศส และเป็นบุคคลที่มีส่วนอย่างสำคัญในการก่อตั้งประชาคมยุโรป (European Community) ซึ่งเป็นเสมือน "บรรพบุรุษ" ของสหภาพยุโรป (European Union) หรือที่เราเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า "อียู" (EU) ในปัจจุบัน

คำกล่าวในข้างต้นของ Monnet มีขึ้นในปี ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างมากถึงความฝันของเขาที่อยากเห็นการรวมตัวของบรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปให้อยู่ภายใต้ประชาคมเดียวกัน

แม้เขาจะเป็นชาวฝรั่งเศส แต่เขาก็ใฝ่ฝันด้วยอุดมคติว่าสักวันหนึ่ง เขาจะสร้าง "รัฐยุโรป" ให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งที่ในยุคนั้นเป็นโลกของ "ลัทธิชาตินิยม" ที่เน้นในเรื่องของการสร้างชาติ มากกว่าการสร้างประชาคมใหญ่สวมทับรัฐในแบบขององค์กร "เหนือชาติ" (Supra-national Organization)

Monnet เป็นตัวแทนของ "นักภูมิภาคนิยม" ที่มีแนวคิดไปไกลมากกว่าความเป็น "นักชาตินิยม" ที่ต้องการผลักดันเฉพาะชาติของตนเองเท่านั้น หากแต่เขากลับเสนอให้มองไปไกลถึงการสร้างประชาคมด้วยการบูรณาการประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้อยู่ภายใต้ "หน่วยทางการเมืองเดียว" ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็น "ความใหม่" ของยุคสมัยทางการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างมาก

เพราะในช่วงทศวรรษของคริสต์ศักราช 1950-1960 นั้น ความเป็น "รัฐประชาชาติ" และลัทธิชาตินิยมในประเทศต่างๆ ยังคงมีอยู่สูงมาก

ข้อเสนอให้ต้องก้าวข้ามความเป็นรัฐในยุคสมัยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ทางการเมืองอย่างมาก

แม้หลายคนในยุคดังกล่าวอาจจะคิดว่า ความคิดของ Monnet ออกจะดู "ฝันเฟื่อง" มากกว่าจะเป็น "ฝันจริง" แต่ในที่สุดแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ยุโรปใช่ว่าจะก้าวข้ามความเป็นรัฐประชาชาติไปสู่ความเป็น "ประชาคม" เท่านั้น

หากแต่ในปัจจุบันยุโรปได้ยกสถานะจนกลายเป็น "สหภาพ" (union) ขึ้นได้อย่างแท้จริง...



การกำเนิดและความท้าทาย

ในอีกซีกโลกหนึ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ค่อยๆ ก่อตัวเป็น "องค์กร" ขึ้น โดยในวันที่ 8 สิงหาคม 1967 (พ.ศ.2510) ประเทศในภูมิภาค 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้มีความเห็นร่วมกันในอันที่จะจัดตั้งองค์กรขึ้นในภูมิภาค

ผลจากปฏิญญากรุงเทพฯ ได้นำไปสู่การกำเนิดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อย่อว่า "อาเซียน" (Association of Southeast Asian Nations-ASEAN)

จากการกำเนิดในปี 1967 (2510) ซึ่งเป็นยุคของสงครามเย็นที่เห็นถึงการเผชิญหน้าในภูมิภาค และที่สำคัญก็คือกรณีของสงครามเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นสงครามใหญ่ครั้งหนึ่งของศตวรรษที่ 20

แม้ว่าอาเซียนจะกำเนิดขึ้นจากบรรดารัฐนิยมตะวันตกในภูมิภาค แต่อาเซียนก็ไม่ได้เป็นองค์กรทางทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับภารกิจด้านความมั่นคงของยุคสงครามเย็น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติสมาชิกของอาเซียนมีความใกล้ชิดกับรัฐมหาอำนาจตะวันตกโดยตรง ดังนั้น เมื่อสงครามเวียดนามเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายในปี 1975 จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างมากว่า อาเซียนจะเข้ามารับบทบาทในการเป็น "องค์กรความมั่นคงในภูมิภาค" หรือไม่

อย่างน้อยก็เพื่อทดแทนต่อองค์กรป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Treaty Organization - SEATO) ที่จำต้องยุติบทบาทลงหลังจากการยุติของสงครามในเวียดนาม และการถอนตัวทางทหารของสหรัฐอเมริกาออกจากสงครามในเวียดนาม

แต่ผู้นำของอาเซียนดูจะชัดเจนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนสถานะขององค์กร ให้อาเซียนกลายเป็นองค์กรความมั่นคงแทนซีโต้ซึ่งปิดตัวไปในปี 1975 ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สงครามเย็นในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเวียดนามคือบททดสอบแรกของอาเซียน

อาเซียนผ่านบททดสอบนี้ได้ไม่ยากนัก แต่ความยุ่งยากก็รออยู่ข้างหน้า เพราะสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงในเวลาต่อมา อันเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากภูมิภาค และการกำเนิดของรัฐสังคมนิยมในอินโดจีน

อย่างไรก็ตาม ผลจากความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาที่มีมาอย่างยาวนาน จนแม้ทั้งสองประเทศจะมีสถานะเป็นเสมือน "พรรคพี่พรรคน้อง" ในภูมิภาค ที่ร่วมมือกันในการต่อสู้กับ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" ในสงครามเวียดนาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าในเบื้องลึกแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสองนั้นหาได้เป็นหนึ่งเดียวกันไม่

ในขณะที่พรรคกัมพูชามีความใกล้ชิดกับจีน พรรคเวียดนามก็มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งในภาวะเช่นนี้ รัสเซียและจีนเองก็มีความขัดแย้งกันอย่างมาก จนในที่สุดก็เกิดสงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชา และนำไปสู่การยึดครองกัมพูชาของเวียดนามในช่วงต้นปี 1979 (เป็นปีที่เป็นเสมือนการเริ่มต้นของ "สงครามเย็นยุคสอง")

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การกำเนิดของสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นสงครามใหญ่อีกสงครามหนึ่งหลังจากสงครามเวียดนาม แต่ในที่สุดแล้วอาเซียนเองก็ประคับประคองตัวเองให้รอดผ่านพ้นได้

อาจกล่าวได้ว่า บททดสอบนี้จบลงด้วยชัยชนะของอาเซียน พร้อมๆ กับการล่มสลายของลัทธิสังคมนิยม


ในปี 1984 (2527) บรูไน ดารุสซาลามได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกชาติที่ 6 ของอาเซียน และต่อมาในปี 1995 (2538) เวียดนามซึ่งเดิมเคยเป็นคู่ของการเผชิญหน้ากับอาเซียน ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 7 และตามมาด้วยลาวและพม่าเป็นสมาชิกในลำดับที่ 8 และ 9 ในปี 1997 (2540) จนสุดท้าย กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ในปี 1999 (2542)

สำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของกลุ่มประเทศในอินโดจีนนั้นเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง สภาวะของการแบ่งกลุ่มการเมืองแบบเก่าเป็นอันสิ้นสุดลง

อาเซียนยุคหลังสงครามเย็นขยายตัวด้วยการรับสมาชิกใหม่ แม้จะมีข้อโต้แย้งในกรณีของการรับลาว พม่า และกัมพูชา แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า การรับสมาชิกทั้งสามชาตินี้ในสุดท้ายแล้วทำให้อาเซียนเป็น "องค์กรแห่งภูมิภาค" อย่างแท้จริง เพราะอาเซียนเป็นองค์กรของทุกประเทศในภูมิภาค

ปัญหาของอาเซียนในยุคหลังสงครามเย็น ก็คือบททดสอบสำคัญเกิดจากขีดความสามารถในการจัดการวิกฤตการณ์ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

เช่น อาเซียนถูกวิจารณ์อย่างมากถึงความไม่สามารถในการควบคุมวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 (2540) และการไม่สามารถจัดการกับปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในชวาในช่วงปี 1997-1998 ตลอดรวมถึงวิกฤตการณ์ในติมอร์ตะวันออก

ผลของวิกฤตเหล่านี้ในเชิงองค์กรของการบริหารจัดการให้คำตอบว่า อาเซียนอาจจะคงมีความอ่อนแออยู่พอสมควร!

ถ้าพิจารณาในแง่ดี ข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ล้วนมีส่วนผลักดันอาเซียนให้ต้องพิจารณาตัวเองมากขึ้น และขณะเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้อาเซียนปรับตัวมากขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของโลกหลังสงครามเย็นในภูมิภาค



จากความฝันสู่การบูรณาการ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำของอาเซียนยังคงมีความฝันอยู่ตลอดเวลาว่า สักวันหนึ่งอาเซียนอาจจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาค... ว่าที่จริง ความฝันเช่นนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่ Jean Monnet ได้กล่าวไว้ในข้างต้นที่ใฝ่ฝันว่า วันหนึ่งยุโรปจะเป็นประชาคม!

และวันหนึ่งก็มาถึง... การประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียในปี 2003 (2546) ได้มีการตกลงใจที่สำคัญในอันที่จะนำพาอาเซียนให้ก้าวไปสู่อนาคตด้วยความเป็นประชาคม การตัดสินใจดังกล่าวยังรวมไปถึงแผนปฏิบัติการฮานอย และแผนปฏิบัติการเวียงจันท์ ที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการเป็นประชาคมในอนาคต แม้วิสัยทัศน์เก่าจะกำหนดกรอบเวลาไว้ถึง 20 ปี โดยคาดหวังว่าอาเซียนจะเป็นประชาคมให้ได้ในปี 2020 (2563)

แต่ผลจากการประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2007 (2550) ได้ตกลงเลื่อนเวลาขึ้นมาอีก 5 ปี คือมุ่งหวังที่จะเป็นประชาคมให้ได้ในปี 2015 (2558)

อีกทั้งในปี 2004 (2547) ยังได้มีการจัดทำ "กฎบัตรอาเซียน" ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน และเป็นกรอบทางกฎหมายให้แก่ชาติสมาชิกทั้งปวงในการกำหนดความสัมพันธ์ต่อกัน

ประเด็นสำคัญก็คือ ได้มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจนที่จะสร้างเสาหลัก 3 เสาเพื่อรองรับต่อความเป็นประชาคมที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community - APSC), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC)

นอกจากนี้ การประชุมสุดยอดที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผู้นำอาเซียนยังได้เร่งรัดให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ภายในอาเซียน (ASEAN Connectivity) โดยหวังว่าการเชื่อมต่อดังกล่าวจะเป็นหนทางหนึ่งของการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนให้เกิดขึ้นให้ได้

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในภูมิภาคโดยตรง เพราะความเป็นประชาคมย่อมนำมาซึ่งการข้ามแดนอย่างเสรี อันจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชาชนข้ามเส้นเขตแดนของรัฐเป็นไปอย่างเสรี

แตกต่างจากการข้ามแดนในสภาวะปัจจุบันที่เส้นเขตแดนของรัฐยังคงมีความสำคัญและมีความ "ศักดิ์สิทธิ์" อยู่มาก บุคคลย่อมไม่สามารถข้ามเส้นเขตแดนของรัฐโดยปราศจากคำยินยอมและปราศจากเอกสารกำกับ อันเป็น "ใบอนุญาต" จากรัฐได้แต่อย่างใด

แนวคิดในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรมด้วยปรากฏการณ์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างกันในภูมิภาค เขตการค้าเสรีอาเซียน ตลอดรวมถึงส่งผลให้เกิดการข้ามแดนอย่างเสรี

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดปรากฏการณ์ของการเปิดพรมแดนเสรี ไม่แตกต่างจากตัวแบบของสหภาพยุโรปในรูปแบบใหม่ที่เส้นเขตแดนของรัฐที่มีลักษณะเป็น "Soft Border" มากกว่าจะเป็น "Hard Border" เช่นเส้นเขตแดนแบบเก่า

เช่นในอนาคต ชาวต่างภูมิภาคที่เดินทางเข้ามาในอาเซียนอาจจะขอวีซ่าผ่านแดนเพียงจุดเดียว ก็สามารถเดินทางได้ทั่วทั้งภูมิภาค เช่นเดียวกับ "เชงเกนวีซ่า" ของยุโรป

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ ลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศในแถบนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับการที่ความสำคัญของเส้นเขตแดนในแบบเก่าที่มีลักษณะเป็นแบบ "Hard" จะเปลี่ยนไป

แต่ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า เส้นเขตแดนไม่ได้หายไป เป็นแค่หมดความสำคัญลง ไม่ได้อยู่ภายใต้วาทกรรมของลัทธิชาตินิยมแบบเก่า

การก้าวของยุโรปไปสู่ความเป็นสหภาพ ก็เป็นคำตอบของการก้าวข้ามบริบทความขัดแย้งไปสู่การบูรณาการและการอยู่ร่วมกันในภูมิภาค

และถ้าอาเซียนทำสำเร็จได้จริงแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่สอง ที่เกิดการบูรณาการในระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง

ปัญหาสำหรับไทยก็คือ แล้วรัฐบาลและสังคมไทยเตรียมตัวกับความเป็นประชาคมของอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นนี้มากน้อยเพียงใด...

หรือจะคิดง่ายๆ ว่า เหลืออีกตั้ง 4 ปี ก็เลยไม่ต้องคิดเตรียม !


.