.
ผลัดใบไม่พอ ต้องปลูกใหม่ทั้งต้น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
คนทำสื่อจากภาคใต้คนหนึ่งบอกผมว่า แม้ ปชป.กวาดที่นั่งทางใต้ได้หมดก็จริง แต่คะแนนเสียงของผู้ชนะกลับลดลง (กว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน) เป็นส่วนใหญ่ แสดงว่ามีแฟน ปชป.ที่ไม่ได้ลงคะแนนให้ ปชป.จำนวนหนึ่ง ส่วนหนึ่งคงเลือกพรรคอื่น อีกส่วนหนึ่งอาจโหวตโน (ซึ่งได้การสนับสนุนน้อยจนน่าสงสาร) และอีกส่วนหนึ่งนอนอยู่บ้านเฉยๆ
อะไรในโลกนี้มันก็บ่แน่หรอกนาย ภาคใต้อาจไม่ใช่ของ ปชป.อย่างเด็ดขาดในอนาคตก็ได้ อันที่จริง ปชป.เพิ่งครอบครองภาคใต้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรกในการเลือกตั้ง 2519 และในการเลือกตั้งที่ ปชป.ตกอับที่สุดในการเลือกตั้ง 2522 จำนวน ส.ส.ที่ได้จากภาคใต้ก็ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง หรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่เคยได้ในการเลือกตั้ง 2531
การครองภาคใต้อย่างเด็ดขาดของ ปชป.นั้นเปราะบาง จำเป็นต้องมีการปกป้องอย่างแข็งขันและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดมา คนใต้ไม่เลือกเสาไฟฟ้าอยู่บ่อยๆ
ในระดับประเทศ ปชป.ไม่เคยชนะการเลือกตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้ว และหันไปดูว่าตลอด 20 ปีนี้ เกิดอะไรขึ้นในการเมืองเรื่องเลือกตั้งของไทย ก็จะพบว่า มีแนวโน้มของการรวมกลุ่มกันของผู้กุมคะแนนเสียงในแต่ละภาคและจังหวัด ตั้งขึ้นเป็นพรรค หรือขยายจากพรรคขนาดกลางขึ้นเป็นพรรคขนาดใหญ่ ปชป.ไม่เคยเอาชนะพรรคใหญ่ที่เป็นคู่แข่งได้เลย ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ด้วย "อุบัติเหตุ" ทางการเมือง
ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ อาจหนักข้อกว่าทุกครั้งด้วย เพราะค่อนข้างชัดเจนว่า จำนวนไม่น้อยของคะแนนเสียงที่พรรคคู่แข่งได้ไป มาจากคนที่ตั้งใจจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ด้วยความสะใจของผู้คนเท่าครั้งนี้
แม้กระนั้น ตราบเท่าที่การเมืองในรัฐสภาไทยยังเป็นอย่างปัจจุบัน ปชป.ก็ยังมีภาษีที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวที่คนเชื่อว่ามีศักยภาพจะตั้งรัฐบาลแข่งได้ แต่พอถึงเดือน พ.ค.ปีหน้า คนบ้านเลขที่ 111 ก็จะได้รับการปลดปล่อยสู่เวทีการเมืองใหม่ จึงอาจเกิดพรรคใหม่, เกิดการขยายสถานะของพรรคเก่า ฯลฯ
ถึงตอนนั้นภาษีที่ ปชป.มีก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา
ปชป.มีภาพพจน์หรือมโนภาพที่คนทั่วไปเห็นว่า เป็นพรรคที่ร่วมมือกับอำนาจนอกระบบตลอดมา น่าประหลาดว่ามโนภาพที่ว่า ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยนั้น เกิดขึ้นได้เพราะประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมายาวนาน ปชป.เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอยู่ (มีแค่เงา) โดยคณะยึดบ้านยึดเมืองไม่ได้ผนวกเข้าไปร่วมถืออำนาจ (ระหว่าง 2491-2516)
แต่พอประชาธิปไตยเริ่มจะมีความสม่ำเสมอในบ้านเมืองมากขึ้น มโนภาพนั้นก็จางลงทุกที
อันที่จริง ตั้งพรรค ปชป.ได้ปีเดียว พรรคนี้ก็ร่วมมือกับทหารทำรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใน พ.ศ.2490
ปชป.ไม่เคยมีประวัติลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหาร ซ้ำยังพร้อมจะเปิดทางให้ผู้คุมกองทัพขึ้นเป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่ตนเองได้รับเลือกตั้งมาจำนวนมากที่สุด เพราะได้ "ข้อมูลใหม่" และท้ายที่สุดก็ยอมเป็นเครื่องมือให้กองทัพจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในค่ายทหาร
ตราบเท่าที่สังคมไทยยอมรับให้อำนาจนอกระบบเข้ามากำกับควบคุมการเมืองได้อย่างอิสระ ประวัติความร่วมมืออย่างดีกับอำนาจนอกระบบของ ปชป.ก็อาจเป็นจุดแข็ง เพราะ ปชป.คือตัวกลางที่จะประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำ กับคนทั่วไปได้โดยสงบราบรื่น
แต่สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว
เพราะมีคนจำนวนมากขึ้น (ซึ่งเรียนรู้การจัดองค์กรได้อย่างดีด้วย) ไม่ต้องการให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป ประวัติความสยบยอมของ ปชป.ต่ออำนาจนอกระบบ จึงเป็นจุดอ่อนไป
และน่าจะเป็นจุดอ่อนที่ชัดเจนมากขึ้นแก่คนทั่วไปด้วย
มโนภาพด้านอื่นของ ปชป.ไม่ได้ช่วย ปชป.มากนัก เมื่อสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น ปชป.คือพรรคของชนชั้นนำ (พรรคนิยมเจ้า, พรรคของข้าราชการ, พรรค "ผู้ดี", พรรคเสรีนิยม-แบบไทย--ฯลฯ), เป็นพรรคที่มีขันติธรรมสูงพอจะอยู่ร่วมกับพรรคเล็กได้ทุกพรรค ไม่ว่าอ้อมกอดของเขาจะเจือกลิ่นเน่าอะไร, อภิปรายได้น่าประทับใจ แต่บริหารงานไม่เป็น นอกจากปล่อยให้ราชการดำเนินงานของตนไป จึงเป็นพรรคที่ไม่มีวิสัยทัศน์
ถึงตอนนี้ ปชป.ต้องเลือกหัวหน้าพรรคใหม่
ถ้า ปชป.เชื่อว่า การเมืองไทยจะไม่เปลี่ยนไปกว่านี้ นั่นคืออำนาจนอกระบบจะเข้ามากำกับควบคุมการเมืองต่อไป โดยที่สังคมยอมรับการแทรกแซงนั้น สมาชิก ปชป. ก็ควรเลือกคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อีกครั้ง เพราะคุณอภิสิทธิ์นั้นได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากอำนาจนอกระบบทุกประเภท อย่างที่ไม่อาจหาได้จากสมาชิกพรรคทุกคน ทั้งนี้ เพราะคุณอภิสิทธิ์ไม่มีพลังต่อรองอะไรเหลืออยู่
อันที่จริง ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกที่ไม่มีพลังต่อรองเอาเสียเลย แต่ด้วยเหตุใดก็ตาม คุณอภิสิทธิ์ใช้พลังนั้นไม่เป็น นับตั้งแต่ตกอยู่ในอ้อมกอดอำมหิต หากคุณอภิสิทธิ์รู้จักใช้พลังต่อรองของตน พรรคภูมิใจไทยจะไม่ได้ที่นั่งใน ครม.มากเท่านี้ หรือกุมตำแหน่งสำคัญระดับนี้ เพราะถึงคุณอภิสิทธิ์ต้องการพรรคภูมิใจไทยก็จริง แต่พรรคภูมิใจไทยก็ต้องการคุณอภิสิทธิ์เช่นกัน และต้องการยิ่งกว่าด้วย
เมื่อขึ้นรับตำแหน่งนายกฯ แรกๆ ดูเหมือนคุณอภิสิทธิ์จะพยายามสร้างความปรองดองให้สำเร็จ เพราะความปรองดองจะเพิ่มพลังต่อรองให้แก่คุณอภิสิทธิ์
แต่แผนปรองดองของคุณอภิสิทธิ์นั้น ทั้งน้อยไปและช้าไป จนกระทั่งเกิดสงกรานต์เลือดขึ้น
นับจากนั้นคุณอภิสิทธิ์ก็ตกอยู่ในกระดองหอยของกองทัพเต็มตัว ดังนั้น จึงกลายเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งของอำนาจนอกระบบเท่านั้น หลังจากนั้นก็พฤษภามหาโหด และชัยชนะถล่มทลายของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น คุณอภิสิทธิ์จึงเป็นเบี้ยที่อำนาจนอกระบบเคยไม้เคยมือ หากได้โอกาสเลือกนายกฯคนใหม่โดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญอีก ชนชั้นนำส่วนหนึ่งย่อมพอใจจะเลือกคุณอภิสิทธิ์ ตราบเท่าที่ยังไม่อาจหาคนอื่นให้เลือกแทนได้
ยิ่งกว่านี้คุณอภิสิทธิ์ยังมีชนักติดหลังกรณีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์พฤษภามหาโหด จึงยิ่งอ่อนแอจนไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเหลืออยู่เลย ที่เคยเซื่องอยู่แล้ว ก็จะเซื่องขึ้นไปกว่านั้นอีก
ข้อได้เปรียบของคุณอภิสิทธิ์ข้อนี้ไม่จีรังยั่งยืนอะไรนัก เพราะชนชั้นนำอยากได้เบี้ยที่ปวกเปียกเช่นนี้หรือ คำตอบคือไม่ใช่ แต่เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นให้เลือกต่างหาก ถ้าเขาพบใครที่น่าไว้วางใจไม่น้อยไปกว่าคุณอภิสิทธิ์ ซ้ำยังสามารถทำงานให้เป็นที่ถูกใจของประชาชนด้วย (และตัวเขาเองด้วย)
เขาก็ย่อมทิ้งคุณอภิสิทธิ์ แล้วหันไปเลือกคนใหม่
การเลือกคุณอภิสิทธิ์นั้นมีอันตรายต่อชนชั้นนำและอำนาจนอกระบบ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจนอกระบบรับรองการล้อมปราบประชาชนในเหตุการณ์พฤษภามหาโหด (ซึ่งติดตัวคุณอภิสิทธิ์อย่างแกะไม่ออก ทั้งๆ ที่คุณอภิสิทธิ์เองก็อาจเป็นแค่เหยื่ออีกตัวเท่านั้น)
ยิ่งกว่านี้ คุณอภิสิทธิ์บริหารความแตกร้าวและแตกแยกไม่เป็น แม้แต่ในพรรคเองยังแตกแยกกัน (ดังคำให้สัมภาษณ์ของคุณพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล)
ฉะนั้น ในระยะยาวแล้วจึงอาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำเอง
และดังที่กล่าวในตอนต้น หากเชื่อว่าอำนาจนอกระบบจะเข้ามาอุ้มประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาลอีก ก็ขอให้เลือกคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องเลือกด้วยความสำนึกด้วยว่า แม้แต่สังคมยังเหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เงื่อนไขที่ทำให้คุณอภิสิทธิ์ได้เปรียบในฐานะเบี้ยของชนชั้นนำและอำนาจนอกระบบ ก็เป็นเงื่อนไขที่ไม่จีรังยั่งยืน
แต่หากสมาชิก ปชป.มองเห็นว่า สังคมไทยไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว และกำลังเปลี่ยนไปสู่สภาวะใหม่ซึ่งทำให้ชนชั้นนำและอำนาจนอกระบบมีอิทธิพลน้อยลง ปชป.จะอยู่รอดในสังคมชนิดใหม่นี้ได้ ก็ต้องไม่เลือกคุณอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีก
เพราะ ปชป.จะต้องไม่ดำรงอยู่เฉยๆ แต่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงขยายกว้างขวางขึ้นทั่วประเทศ เป็นตัวแทนของผลประโยชน์, จุดยืน, หลักการ, หรือกลุ่มคนใดที่ชัดเจน จะไม่ฉวยโอกาสชิงอำนาจด้วยการร่วมมือกับอำนาจนอกระบบอีกต่อไป
ถ้าอย่างนั้นก็ต้องคิดอะไรให้กว้างกว่าแค่หัวหน้าพรรค แต่ต้องคิดถึงการบริหารพรรคเพื่อจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนดังกล่าว แม้จะต้องเสียคะแนนของชาวใต้ในบางท้องที่ไปบ้าง ก็ต้องยอม เพราะถ้าสังคมกำลังเปลี่ยนจริง ในที่สุด ปชป.ก็จะได้แฟนหน้าใหม่เข้ามาอีกมาก
เพื่อการนี้ต้องทำอะไรกันอีกบ้างนั้นไม่สามารถคิดแทนได้ แต่แค่หัวหน้าพรรคไม่ใช่คำตอบ
++
โพลคอร์รัปชั่น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 28
เอแบคโพลล์สำรวจทัศนคติคนไทยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นอีกครั้งหนึ่ง ได้ผลไม่ต่างจากที่เคยสำรวจเมื่อปีกลายนัก
กล่าวคือ 64.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่ายอมรับการคอร์รัปชั่นได้ ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ประเทศ-ชาติเจริญรุ่งเรือง ซึ่งให้ประโยชน์แก่ผู้ตอบ
ก็เป็นโอกาสให้นักศีลธรรมได้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์แก่คนไทยหน้าขี้โกงอีกครั้งหนึ่ง
ผมไม่มีโอกาสได้อ่านรายงานการสำรวจฉบับจริง ได้แต่หารายละเอียดจากสื่อหลายฉบับซึ่งรายงานผลสำรวจเท่านั้น แต่ผมคิดว่าจะสรุปหาความจริงเกี่ยวกับสังคมไทยได้ไม่ง่ายอย่างนั้น
ผมยังไม่ค่อยแน่ใจว่า คำตอบของผู้ตอบแบบสอบถามชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของคนไทยขี้โกง เพราะในขณะที่ยอมรับการคอร์รัปชั่นในเงื่อนไขหนึ่ง แต่ก็บอกว่าพร้อมจะรายงานการทุจริตคดโกงของผู้นำชุมชน, ข้าราชการ, นักการเมือง, และรัฐมนตรี หรือแม้แต่ของคนที่อยู่ร่วมชายคา แก่บ้านเมือง ด้วยตัวเลขที่สูงพอๆ กันหรือสูงกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ
ผมไม่ทราบว่า แบบสอบถามตั้งคำถามอะไรแก่ผู้ตอบ เช่น หากถามตรงๆ ว่า สมมติว่าผู้บริหารคอร์รัปชั่น แต่สามารถทำให้บ้านเมืองเจริญได้ จะยอมรับหรือไม่ ก็ยากที่คนไทยจะตอบเป็นอื่นได้ นอกจากยอมรับ เพราะส่วนหนึ่งก็สอดคล้องกับลัทธิชาตินิยมที่ถูกอบรมมาตั้งแต่เล็ก นั่นคือขอให้ชาติเราไปโลด ด้วยวิธีการอย่างใดก็ได้
ชาตินิยมไทยเน้นแต่เป้าหมายปลายทาง แต่ไม่สนใจวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นไม่ใช่หรือ ขนาดยอมรับคำตัดสินของศาลโลกมาตั้ง 50 ปีว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา ยังมีนักการเมืองซึ่งต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีบอกว่า ตัวปราสาทนั้นอยู่ในอธิปไตยกัมพูชาก็จริง แต่ตัวดินแดนซึ่งตั้งตัวปราสาทยังเป็นของไทยอยู่
เอากะพ่อสิ วิธีการอะไรก็ได้ ขอแต่ให้ชาติเราได้เท่านั้น
ดังนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามจึงถูกดึงระหว่างความถูกความผิด (ที่เรียกว่าศีลธรรม) กับชาตินิยม อย่างไหนจะมีพลังกว่ากันในคนแต่ละกลุ่ม
นอกจากชาตินิยมแล้ว ยังอาจมีอะไรอีกบางอย่างที่มีผลต่อทัศนคติของคนไทยต่อการคอร์รัปชั่นด้วย
โพลจำแนกอายุและสถานภาพของผู้ยอมรับการคอร์รัปชั่นออกมาได้ดังนี้ คนที่อายุต่ำกว่า 20 ยอมรับ 70% คนที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทต่อเดือน (คนชั้นกลาง) ยอมรับได้ 71% นักเรียนรับได้ถึง 72.3% ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวรับได้ 67% พนักงานบริษัทห้างร้านรับได้ 64.9% เกษตรกรและแรงงานรับได้เพียง 56.4% ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจยิ่งรับได้น้อยลง เหลือเพียง 50.9% เท่านั้น
ยิ่งกว่านี้ในส่วนผู้มีการศึกษา ที่ต่ำกว่าปริญญาตรีรับได้ 66.7% ส่วนผู้มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป รับได้เพียง 58.4%ส่วนใหญ่ของคนที่รับไม่ได้กับการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าในเงื่อนไขอะไร คือคนที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน
ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่แคร์กับการคอร์รัปชั่น จึงน่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขการรับได้ของเด็ก, นักเรียน, คนชั้นกลาง และพนักงานบริษัทห้างร้าน ไม่มีความต่างที่มีนัยยะสำคัญอะไร (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ)
ผมคิดว่าตัวเลขไม่ได้บอกแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ แต่บอกว่าคนที่อยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ มีแนวโน้มที่จะยอมรับการคอร์รัปชั่น
หากทำให้บ้านเมืองเจริญได้ ตรงกันข้าม คนที่อยู่ในเศรษฐกิจ (ค่อนข้าง) สมัยเก่า เช่นเกษตรกรและแรงงาน (ซึ่งส่วนใหญ่ของแรงงานในประเทศไทย เป็นแรงงานนอกระบบ) กลับรับการคอร์รัปชั่นไม่ได้มากกว่า ความต่างของคนกลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญอย่างเห็นได้ชัด รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท (ซึ่งส่อว่ายังไม่ได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่เต็มตัว) ยิ่งรับการคอร์รัปชั่นไม่ได้มากกว่าไปด้วย
มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้คนสองกลุ่ม คือที่อยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ กับคนที่อยู่ในเศรษฐกิจตามประเพณี มีทัศนคติต่อการคอร์รัปชั่นต่างกัน
อะไรบางอย่างที่ว่านั้นคืออะไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน จำเป็นต้องมีการสำรวจใหม่ เพื่อตอบคำถามนั้น (การทำแบบสอบถามเพื่อตอบปัญหานี้คงยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว) ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่านี้
แม้กระนั้น ผมก็อยากเดาโดยไม่มีข้อมูล เพราะผมเชื่อว่าการเดานั้นมีความสำคัญ กล่าวคือช่วยทำให้ผู้ที่อยากศึกษาเรื่องนี้จริงจัง (โดยการวิจัยเชิงปริมาณหรือคุณภาพก็ตาม) มีสมมติฐานบางอย่างสำหรับทดสอบได้ ทดสอบแล้วอาจพบว่าสมมติฐานของผมเลอะเทอะ
ไม่เป็นเรื่อง ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องมีสมมติฐานสำหรับการทดสอบก่อน
ผมคิดว่าความต่างอย่างสำคัญระหว่างเศรษฐกิจสมัยใหม่กับเศรษฐกิจเชิงประเพณีคือ เศรษฐกิจสมัยใหม่กระทำโดยปัจเจกบุคคล ในขณะที่เศรษฐกิจเชิงประเพณีกระทำกันโดย "กลุ่ม" (ครอบครัว หรือชุมชน หรือเครือญาติ หรือกลุ่มเพื่อน เป็นต้น)
จริงอยู่หรอกครับ ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ เรามีห้างหุ้นส่วน-บริษัท, บริษัทมหาชน, สหกรณ์, กองทุนรวม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มทั้งสิ้น
แต่ลองคิดถึงบุคคลที่เข้าไปหากำไรในกิจกรรมเหล่านั้น เขาไม่ได้คิดถึงกลุ่มเท่ากับคิดถึงตัวเขาคนเดียวนะครับ บริษัทที่ให้ประโยชน์น้อยก็ถอนตัว เหมือนย้ายกองทุนรวมที่ให้เงินปันผลน้อยไปสู่กองทุนรวมที่ให้เงินปันผลมาก
วิธีคิดของคนในเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็คือ วัดผลได้ของตัวเองจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซีอีโอจะเรียกเงินเดือนสูงเกินไป และอาจจะโกงบ้าง (เช่น ซื้อเกาะในนามบริษัท แต่ตัวเองใช้คนเดียว) แต่ราคาหุ้นที่ถืออยู่กลับถีบตัวสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ใครจะแคร์เล่าครับ
นอกจากนี้ การรวมกลุ่ม (หรือทุน) เพื่อประกอบการในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ยังกระทำพร้อมด้วยกฎหมายและระเบียบที่ (เชื่อกันว่า) รัดกุม กฎหมายและระเบียบเหล่านี้ ปัจเจกบุคคลที่ร่วมประกอบการอาจใช้ในการปกป้องตนเองได้ เช่น โกงมากไปก็อาจฟ้องศาลหรือตลาดหลักทรัพย์
ตรงกันข้ามกับการรวมกลุ่มเพื่อประกอบการในเศรษฐกิจเชิงประเพณี ความสัมพันธ์ในกลุ่มเป็นอำนาจของวัฒนธรรมประเพณี และแทบจะหากฎหมายอะไรรองรับไม่ได้ เช่น ลูกชายที่ร่วมทำนาในครอบครัว เชื่อมั่นว่าครอบครัวจะสนับสนุนตนด้านการเงิน เมื่อจะแต่งงานกับอีสาวข้างบ้าน ทั้งนี้โดยไม่มีสัญญาอะไรผูกมัดพ่อ-แม่ไว้เลย
การถูกโกงในกงสีแบบเศรษฐกิจเชิงประเพณี จึงหมายถึงชีวิตที่ล้มละลายของทุกคน จะทำกินต่อไปในกลุ่มก็ไม่ได้ ซ้ำความมั่นคงในชีวิตก็หายไปหมด ย่อมเป็น "บาป" อย่างหนักทีเดียว (ถ้าโกงพ่อ-แม่, โกงเพื่อน, โกงครอบครัว, โกงเครือญาติ ฯลฯ)
จึงเป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้รับการคอร์รัปชั่นได้น้อยกว่าคนในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ก็โลกของเขาเป็นโลกที่ไม่มีพื้นที่สำหรับการโกงมากนักนี่ครับ
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงนึกเถียงว่า ถ้าเป็นดังที่ผมกล่าว หากไปทำโพลอย่างเดียวกันในสังคมที่อยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ทุกแห่ง เช่น อเมริกันหรือญี่ปุ่น ก็ต้องได้ผลทางเดียวกัน ตัวเลขการยอมรับการโกงน่าจะสูงกว่าไทยเสียอีก
ผมก็ไม่ทราบว่ามีใครเคยทำโพลทำนองนี้ในสังคมดังกล่าวหรือไม่ และได้ผลอย่างไร แต่สังคมอเมริกันและญี่ปุ่นที่ผมพอรู้จัก (โดยไม่ได้ทำโพล) นั้น ผมกลับเชื่อว่าหากไปทำโพลทำนองนี้ ตัวเลขของคนยอมรับการคอร์รัปชั่นจะน้อยกว่าในสังคมไทย
ผมจึงคิดว่ามีปัจจัยอย่างที่สองซึ่งเข้ามาเกี่ยวกับการยอมรับคอร์รัปชั่นในสังคมไทย นั่นคือศาสนาและการศึกษา
นับตั้งแต่การปฏิรูปใน ร.5 พุทธศาสนาของไทยก็ยิ่งตอบสนองต่อปัจเจกมากขึ้น มุ่งจะอำนวยความหลุดพ้นให้แก่ปัจเจก การปฏิรูปถอดเอาผีออกไปจากศาสนาไทย ซึ่งเคยมีหน้าที่ในการรักษากฎระเบียบของการใช้ทรัพยากรกลาง และขนบประเพณีทางสังคม วัตรปฏิบัติทั้งของพระและฆราวาสซึ่งเป็นที่รับรองของพุทธศาสนาฉบับทางการ ไม่เอื้อต่อชีวิตในชุมชนอีกต่อไป
ด้วยเหตุดังนั้น พุทธศาสนาฉบับทางการจึงสอนศีลธรรมทางสังคมได้ไม่ค่อยถนัด ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่การขโมยในโลกปัจจุบันนี้ มีหลายรูปแบบ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย พระไม่อาจเทศน์ให้เห็นได้ว่า การขโมยจากสังคมก็เป็นบาปอย่างหนึ่ง
น่าสังเกตด้วยนะครับว่า คนอายุเกิน 50 และมีรายได้น้อย กลับรังเกียจคอร์รัปชั่นยิ่งกว่ากลุ่มอื่น ก็เขาพอจะมีประสบการณ์จากศาสนาฉบับที่ไม่ใช่ทางการมาก่อน และคงอยู่ในเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ไม่เน้นปัจเจกบุคคลนิยมเหมือนกลุ่มอื่น
พุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปแล้วนี่แหละครับ ที่ไม่เหมาะกับกาลสมัย แต่กลับเป็นกระแสหลักของพุทธศาสนา ที่ถูกถ่ายทอดในโรงเรียน จนทำให้คนมีการศึกษาซึ่งเข้ามาอยู่ในสังคมสมัยใหม่ และเศรษฐกิจสมัยใหม่เต็มตัว หากกลับยึดถือศีลธรรมที่ไม่มีมิติทางสังคมอยู่เลย
ก็คนอื่นคอร์รัปชั่น เราไม่ได้เป็นคนคอร์รัปชั่นเอง เพียง-แต่รอรับผลประโยชน์โดยทางอ้อมจากการคอร์รัปชั่นของคนอื่นเท่านั้น จะผิดศีลธรรมที่ตรงไหน
นอกจากการศึกษาช่วยสร้างทัศนคติที่ทำให้คนยอมรับคอร์รัปชั่นแล้ว การศึกษายังไม่มีส่วนช่วยให้เกิดความคิดในการสร้างศีลธรรมระบบใหม่ที่เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วอีกด้วย (ซึ่งอาจวางอยู่บนฐานของคำสอนในพุทธศาสนาก็ได้ เพราะพุทธศาสนาไม่ได้ละทิ้งมิติทางสังคมอย่างพุทธศาสนาที่เป็นทางการ) เพราะการศึกษาไม่กระตือรือร้นที่จะนำเอาการตีความเกี่ยวกับศีลธรรม ทั้งที่คิดกันขึ้นในเมืองไทยและต่างประเทศมาเสนอให้นักเรียนได้รู้ และคิดตาม
ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ การศึกษาไทยสอนให้คนยิ่งมีสำนึกเป็นปัจเจกมากขึ้น สอนให้ปัจเจกแข่งขันกันเองอย่างหนัก เพื่อบรรลุเป้าหมายแคบๆ ในชีวิต (จบมหาวิทยาลัย)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย