http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-10

บทบาททหารฯที่อาหรับ และ กองทัพกับประชาธิปไตย โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

.

บทบาททหารในการลุกฮือที่อาหรับ
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ คอลัมน์ โลกทรรศน์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 19


การลุกฮือที่โลกอาหรับนี้ หลายคนใช้คำว่า Arab Spring แต่เนื่องจากผู้เขียนมีความรู้น้อยมากเรื่อง โลกอาหรับ จึงไม่รู้จะใช้คำไทยอย่างไร จึงใช้คำว่า การลุกฮือ

ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีใครกล่าวถึง ทหาร อันเป็นสถาบันหลักของโลกอาหรับในช่วงก่อนและหลังการลุกฮือมากนัก ท่าที ความคิดทางทหารเมืองและธรรมชาติของทหารในโลกอาหรับ นับเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในแง่มุมการวิเคราะห์การลุกฮือโค่นล้มระบอบการเมืองเก่าลง มีแต่การสรรเสริญแก่ โซเชียล เน็ตเวิร์ก กับพลังของคนหนุ่มสาว

ถึงแม้เราไม่เห็นด้วยกับบทบาทต่างๆ ของทหารอันเป็นสถาบันทางการเมืองหลักของโลกอาหรับ แต่เพราะความไม่รู้และการไม่เรียนรู้ถึงผู้นำเหล่าทัพ เราจึงไม่รู้และไม่รู้ต่อไปต่อคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่และน่าสนใจนี้

โชคดีที่ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับโลกอาหรับ การเขียนเพื่อทำความเข้าใจนี้จึงง่ายและไม่ต้องเกร็งอะไรเกินควร


ท่าทีและธรรมชาติของทหารในโลกอาหรับ

อันที่จริง โลกอาหรับมีผู้นำทางการเมืองที่ยาวนานมาก มูอามาร์ กาดาฟี (Muammar al-Qaddafi) ปกครองลิเบียตั้งแตปี 1969

ครอบครัวอัสซัส (Assad) ปกครองซีเรียตั้งแต่ปี 1970

อาลี อับดุลเราะห์ ซาเร (Ali Abdullah Saleh) เป็นประธานาธิบดีเยเมนตั้งแต่ปี 1978

ฮอสนี่ มูบารัก (Hosni Mubarak) เป็นผู้นำอียิปต์ในปี 1981

Zine el-Abidine Ben Ali ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของตูนิเซียเมื่อ1987

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปกครองโลกอาหรับมาอย่างยาวนานในจอร์แดนตั้งแต่ 1920 ครอบครัว al-Suad ปกครองซาอุดีอาระเบียที่เป็นปึกแผ่นเมื่อ 1932 ส่วนราชวงศ์ Alaouite ในโมร็อกโกก้าวสู่อำนาจครั้งแรกในศตวรรษที่ 17

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และครอบครัวเก่าดำรงเอาตัวรอดมาได้หลายทศวรรษ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในภูมิภาคอื่นๆ เช่น เอเชียตะวันออก ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และซาฮาร่าย่อยแอฟริกา ทั้งหมดนี้ แนวคิดว่า ระบอบอำนาจนิยมเป็นระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพในโลกอาหรับ


แต่ ณ เวลานี้ แนวคิดนี้กลายเป็นภาพลวงตา คลื่นแห่งการลุกฮือในโลกอาหรับเป็นระลอกคลื่นที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ด้วยก้อนหินบ้าง หนังสติ๊กบ้าง ปืนอาหรับประดิษฐ์บ้าง อาวุธที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ก่อประสิทธิภาพ เมื่อความอดอยากอาหาร การตกงานและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนปะทะประสานอย่างได้ผลกับ โซเชียล เน็ตเวิร์ก

ท่ามกลางความตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกอาหรับที่ทรงเสถียรภาพ หลายฝ่ายขาดการวิเคราะห์ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ วัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) ของคนอาหรับ ความคิด และธรรมชาติของทหาร ตามลำดับ

มีบทวิเคราะห์ไม่มากนักกล่าวถึง วัฒนธรรมคนอาหรับยังคงภักดี และมีจารีตต่อการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยอย่างไร เราจะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยเป็นที่นิยมและก่อผลอย่างเป็นจริงเมื่อมีการเลือกตั้ง

นั่นคือ คนอาหรับต่างออกมาลงคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย นั่นช่วยให้เราเข้าใจด้วยว่า คนอาหรับไม่ได้ยอมรับต่อการปกครองระบอบอำนาจนิยม

หากตั้งต้นจากอัลจีเรียจนถึงซาอุดีอาระเบีย ชนชั้นผู้ปกครองรักษาอำนาจไว้ได้นานกว่า 40 ปี เพียงด้วยการกดขี่อย่างป่าเถื่อนและโหดร้าย ยามเมื่อประชาชนลุกฮือด้วยไม่ว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองหรือต่อความอดอยากหิวโหย พวกเขามีพลังการประท้วงมาตลอด

เพียงแต่ว่า ก่อนปี 2011 ผู้ปกครองเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และกักขังพวกเขาเอาไว้



การทำความเข้าใจในพลังขับเคลื่อนว่า ทหารในโลกอาหรับแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการต่อต้านของประชาชน อย่างแรกคือ องค์ประกอบทางสังคมของทั้งระบอบปกครองและทหาร และสองคือ ระดับความเป็นสถาบัน (institutionalization) และความเป็นอาชีพ (professionalism) ของกองทัพเอง

หลายประเทศที่ทหารมีความเป็นสถาบัน ทหารจะเข้าข้างประชาชนผู้ประท้วงรัฐบาล อียิปต์และตูนิเซียเป็นสองประเทศที่เป็นสังคมที่มีความใกล้เคียงกันสูงในโลกอาหรับ ทั้งสองประเทศเป็น สุหนี่ ทั้งอียิปต์และตูนิเซีย ทหารมีแนวโน้มเป็นทหารอาชีพ ทั้งยังไม่ได้เป็นเครื่องมือส่วนตัวของผู้ปกครอง

ผู้นำกองทัพบกของทั้งสองประเทศ ยอมรับว่าสถาบันทหารสามารถแสดงบทบาทสำคัญภายใต้ระบบการปกครองใหม่ และดังนั้น พวกผู้นำทหารบกประสงค์จะเสี่ยงภัยต่อการขับไล่ผู้นำเก่า


ประเทศอาหรับอื่นๆ ที่กองทัพมีความเป็นสถาบันน้อย ซึ่งการทำงานด้านความมั่นคงของกองทัพ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ปกครองและครอบครัวของพวกเขา ปฏิกิริยาของกองทัพในประเทศเหล่านี้แตกแยกหรือไม่ก็ล่มสลายเมื่อเผชิญหน้ากับการประท้วงของประชาชน

ทั้งในลิเบียและเยเมน หน่วยทหารนำโดยครอบครัวของผู้ปกครองต่างสนับสนุนรัฐบาลของตัว ในขณะที่กองทหารหน่วยอื่นๆ ยอมแพ้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล บางหน่วยเฝ้ามองอยู่ห่างๆ หรือกลับกรมกองไปเลยก็มี

ส่วนในสังคมที่มีการแบ่งแยกทางสังคมหลายๆ อย่าง สังคมแบบนี้ รัฐบาลเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย เช่น ชาติพันธุ์ นิกายหรือแม้แต่ท้องถิ่น และสร้างกองทัพที่ครอบงำโดยชนกลุ่มน้อย

ดังนั้น กองทัพของสังคมประเภทนี้ สนับสนุนรัฐบาลของตนอย่างมาก กองกำลังของสุหนี่ในบาร์เรนจะต่อต้านกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สุหนี่

กองทัพบกจอร์แดนจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าเกิดการต่อต้านในประเทศที่มีคนปาเลสไตน์เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

กองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) ของซาอุดีอาระเบียนำเอาชนเผ่าจากอาหรับกลางและตะวันตกเพื่อพิทักษ์ราชวงศ์ อัล ซูด (al-Suad)

ตรรกะของกองทัพในประเทศพวกนี้คือ ถ้ารัฐบาลล่มสลายและประเทศถูกยึดครองโดยประชาชนคนกลุ่มใหญ่ ความเป็นผู้นำของกองทัพบกจะถูกแทนที่ไปด้วย


เราควรค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากคือ ความคิดและธรรมชาติของทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบ้านเรา เพราะคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านภูมิภาคนี้ด้วย

จากฤดูใบไม้ผลิในอาหรับสู่ฤดูร้อน ฤดูร้อนเป็นบ้าของสุวรรณภูมิ



++

บทความเมื่อปีที่แล้ว

กองทัพกับประชาธิปไตย
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ คอลัมน์ โลกทรรศน์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1563 หน้า 26


ในแวดวงรัฐศาสตร์ ประเด็นการศึกษาเรื่องกองทัพและประชาธิปไตยยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะกองทัพนั้นเป็นสถาบันการเมืองหลักสำคัญในการผลักดันและรักษาให้กระบวนการประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้

ประเด็นทหารกับประชาธิปไตยเคยถกเถียงกันมากในเอเชียตะวันออก อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย มีเพียงเกาหลีใต้และไต้หวันเท่านั้น ที่กองทัพมีส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตย โดยดูได้หลายแง่มุม เช่น การมีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายน้อย การมีบทบาทน้อยในสถาบันรัฐสภา ที่สำคัญ การควบคุมโดยพลเรือนต่อกองทัพถูกสร้างขึ้นอย่างมั่นคงในเกาหลีใต้และไต้หวัน

แง่มุมที่กองทัพถูกควบคุมโดยฝ่ายพลเรือนและการมีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายในอินโดนีเซียและไทยเป็นตัวบ่งชี้บทบาทของกองทัพและการเสริมสร้างประชาธิปไตยน้อยด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจการเมืองที่สลับซับซ้อนและมีพัฒนาการ

เราควรให้ความสำคัญกับบทบาทกองทัพอย่างมาก เพราะกระบวนการประชาธิปไตยกำลังถอยหลังอย่างสำคัญ หากเราไม่ผลักดันเรื่องบทบาทกองทัพกับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างจริงจัง



กองทัพอินโดนีเซียแปลงร่าง

กองทัพอินโดนีเซียมีพัฒนาการพิเศษควบคู่กับการประกาศเอกราชและประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย ในยุคที่กองทัพเรืองอำนาจในอินโดนีเซียคือ ยุคระเบียบใหม่ (New Order) ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต

ยุคนั้นกองทัพอินโดนีเซียเขาเรียกว่า Armed Forces of the Republic of Indonesia-ABRI

ยุคนั้น กองทัพเป็นเสาหลักเพื่อพิทักษ์เสถียรภาพของระบอบซูฮาร์โต กองทัพครอบงำภาคความมั่นคงทั้งหมด และยังได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง เช่น คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น

ด้วยผลอันนี้ มีการควบรวมโครงสร้างอำนาจของระบบการเมือง กองทัพมีอิทธิพลอย่างมหาศาลในการคัดสรรผู้นำทางการเมืองระดับต่างๆ กองทัพมีส่วนในการตัดสินใจทางนโยบายและการบริหารราชการในระดับต่างๆ

มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้น ระบอบซูฮาร์โตสิ้นสุดลงประมาณปี ค.ศ.1998 ทั้งนี้ มีหลายเหตุผลด้วยกัน ส่วนหนึ่งวิกฤตเศรษฐกิจทำลายความชอบธรรมโดยตรงต่อระบอบซูฮาร์โต อีกปัจจัยหนึ่งคือ มีศูนย์อำนาจอื่นๆ ท้าทายระบอบซูฮาร์โตนานแล้ว

แน่นอน ผู้นำกองทัพอยู่ในศูนย์อำนาจนั้นๆ ด้วย

เมื่อกระบวนประชาธิปไตยเริ่มต้นในอินโดนีเซีย การลดทอนบทบาทกองทัพมีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง

กองทัพอินโดนีเซียประกาศยกเลิก "อุดมการณ์" ของกองทัพคือ ทวิลักษณะ หรือที่เรียกเป็นภาษาบาฮาซาอินโดนีเซียว่า " Dwifungsi"

อุดมการณ์นี้กองทัพมีหน้าที่หลักอยู่สองประการในเวลาเดียวกัน คือรับผิดชอบป้องกันประเทศและมีสิทธิในอำนาจทางการเมืองและสังคมในการมีส่วนร่วมบริหารประเทศร่วมกับรัฐบาล

ดูเหมือนกองทัพอินโดนีเซียจะเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่และเป็นสถาบันหลักในการเสริมสร้างประชาธิปไตย อุดมการณ์ทวิลักษณ์ถูกแทนที่ด้วย แนวคิด "New Paradigm" ซึ่งสนับสนุนให้แยกบทบาทแบบตำรวจหรือการดูแลความมั่นคงภายในประเทศออกจากทหาร

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีอีกแนวความคิดหนึ่งเรียกว่า Kekaryaan ซึ่งหมายถึง การยังคงสนับสนุนให้บุคลากรในกองทัพทำหน้าที่ที่ไม่ใช่หน้าที่ทหารได้ด้วย

แนวคิดนี้เอง ที่เปิดช่องให้กองทัพมีบทบาทอื่นๆ ในสังคมการเมืองอินโดนีเซีย มีการเรียกชื่อกองทัพอินโดนีเซียใหม่เป็น Tentara Nasional Indonesia หรือภาษาอังกฤษคือ Armed Forces of Indonesia-TNI ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่ใช้เรียกกองกำลังอินโดนีเซียในยุคทำสงครามปลดปล่อยจากอาณานิคมของดัตช์

แต่นี่เป็นเพียงการแปลงร่างของกองทัพ กองทัพยังมีบทบาทในการสนับสนุนรัฐบาล กองทัพอินโดนีเซียยังมีบทบาทหลักในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น อาเจห์ สุมาตราปาปัว กาลิมันตัน

ผู้นำทหารระดับสูงยังมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ คนเหล่านี้คุมผู้นำกองทัพในระดับภาคที่ได้ค่าจ้างจากบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในพื้นที่ความขัดแย้ง

คนพวกนี้ตั้งบริษัทยามรักษาการณ์เพื่อคุ้มครองการลงทุนของบริษัท มีการแบ่งหน้าที่ด้วยเช่น ทหารเรือในระดับภาคคุมท่าเรือ มีการค้าสิ่งผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์



การฟื้นตัวใหม่ของกองทัพไทย

มีนักวิชาการจำนวนมากชี้ว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ค.ศ.1992 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กองทัพถอยกลับเข้ากรมกอง การถอยเข้ากรมกองเกิดขึ้นเพียงสั้นๆ แนวความคิดการปฏิรูปกองทัพ การ reengineering กองทัพเกิดขึ้นจริง แต่มีผลในทางปฏิบัติน้อย การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นบ้างด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ

ประการที่หนึ่ง การสิ้นสุดของสงครามเย็น

การสิ้นสุดสงครามเย็น หมายถึงหน้าที่ด้านความมั่นคงต้องนิยามใหม่ แต่ในไม่ช้า ผู้นำกองทัพและพลังจากภายนอกก็สร้างภัยจากความมั่นคงใหม่ขึ้นมาอีก เช่น ภัยจากการก่อการร้าย ภัยจากสิ่งข้ามชาติต่างๆ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ โรคภัยไข้เจ็บ ภัยจากธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงเก่า (Conventional security) คือ การทำสงครามระหว่างรัฐ ยังเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่สำคัญ กระบวนการหล่อหลอมและเข้าใจภัยคุกคามประเทศไทยในแง่มุมที่หลากหลายเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ประการที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ.1997 ส่งผลต่องบประมาณของกองทัพโดยตรง ความพยายามลดขนาดองค์กร พร้อมด้วยแนวคิดการปฏิรูปกองทัพได้เกิดขึ้นควบคู่กัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดฝ่ายพลเรือนควบคุมกองทัพได้รับการนำมาปฏิบัติน้อย ในเวลาเดียวกัน

กองทัพเป็นผู้กำหนดและควบคุมนโยบายด้านความมั่นคงเป็นสำคัญโดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่ามีการแทรกแซงทหารโดยนักการเมือง นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา รัฐบาลพยายามดึงเอาผู้นำรุ่นต่างๆ ในกองทัพเข้ามาสนับสนุนรัฐบาล ในเวลาเดียวกัน ผู้นำกองทัพก็ต้องพึ่งพานักการเมืองเพื่อความมั่นคงในตำแหน่งและความก้าวหน้าของตน

จนในที่สุด ความขัดแย้งทางการเมืองภายในได้เปิดโอกาสให้ผู้นำกองทัพเข้ามาอยู่ในการต่อสู้ทางการเมืองนั้น ดังเช่น การรัฐประหารกันยายน ค.ศ.2006

หลังจากนั้นมา ผู้นำกองทัพเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการตัดสินงบประมาณทหารโดยตรง น่าสนใจมาก มีข้อเสนอตั้งกองพลที่ราบที่ 7 ซึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้านบาท มีกำลังพล 8,000 นาย ทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาความมั่นคงอะไรในภาคเหนือ ที่สำคัญ การตัดสินนโยบายการเมืองยังต้องพึ่งพาผู้นำกองทัพด้วย รัฐบาลไหนๆ ต่างอยู่ไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำกองทัพ

การตัดสินใจเลือกผู้นำกองทัพ สิทธิ์ขาดอยู่ที่ผู้นำกองทัพไม่ใช่ผู้นำฝ่ายพลเรือนอีกต่อไปแล้ว

การฟื้นตัวใหม่ของกองทัพไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อกองทัพเอง ทิศทางของกองทัพขึ้นอยู่กับผู้นำของ "รุ่น" การเมืองของรุ่นสร้างความแตกแยกในกองทัพอย่างเห็นได้ชัด และแต่ละรุ่นก็ขาดประสบการณ์ทางการเมือง กองทัพจึงขาดการพัฒนาในความหมายของทหารอาชีพ

การฟื้นตัวใหม่ของกองทัพจึงเป็นการฟื้นตัวที่ผิวเผินและกำลังถูกนักการเมืองใช้ประโยชน์ หากคิดว่า การเมืองไทยขาดการสนับสนุนของกองทัพไม่ได้ กองทัพก็อยู่เหนือการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น การฟื้นตัวใหม่ของกองทัพจึงไม่เปิดโอกาสให้กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอะไรทั้งสิ้น



+ + + +

บทความอันลือลั่นที่ตั้งแง่คิดให้แก่กองทัพบก

กองทัพกับ "โรคอ้วน"
โดย นายปราบ รักไฉไล
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:00:00 น.


จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์กองทัพตกที่แก่งกระจานติดต่อกันถึง 3 ลำ

เป็นเรื่องที่อดสงสัยไม่ได้ว่า สาเหตุของการตกไม่น่าเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุอีกต่อไป

เนื่องจากหากเรามองกองทัพให้เป็นองค์กรหนึ่ง

ในด้านการจัดการองค์กร

กองทัพไทยกำลังเป็น "โรคอ้วน"

เพราะได้รับการเลี้ยงดูมา "ดีเกินไป"

จาก 1.1% ของ GDP ก่อนรัฐประหาร พุ่งเป็นเกือบ 2% ของ GDP ในปี 2553

งบประมาณทางทหารของไทยได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหาร 2549

เมื่อองค์กรใดก็ตามได้รับงบประมาณที่มากเกินไป

องค์กรดังกล่าวจะมีพฤติกรรม ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

และให้ความสำคัญกับการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพน้อยลง


กองทัพบกจึงมี "ไขมันสะสม" หรือการใช้จ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์จำนวนมาก

ไหนจะก้อนไขมันที่ชื่อ "GT200"

ไหนจะพุงย้อยๆจาก "รถหุ้มเกราะยูเครน"

และน่องขาโป่งๆ จาก "เรือเหาะ" เจ้าปัญหา "

กองทัพตัวอ้วนๆ ตัวนี้ จึงโชคไม่ดี เกิดอาการหอบหืดสะดุดล้มทันที

เมื่อต้องวิ่งทำภารกิจบริเวณชายแดนครั้งล่าสุด

จนเกิดกรณีที่เฮลิคอปเตอร์ตกติดต่อกันถึง 3 ลำ

จึงเกิดคำถามที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่า งบประมาณที่ได้รับอย่างมหาศาล

ไปถึงหน่วยงานบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มไม้เต็มมือหรือไม่


หรือผู้บริหารคิดแต่จะซื้อใหม่ จนลืมใช้งบประมาณที่มีมาดูแลสิ่งที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ

การให้งบประมาณเพิ่มเพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เหมาะสม

เพราะยิ่งจะสนับสนุนพฤติกรรมการจัดการองค์กรที่มีปัญหานี้

ให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก

----

ตัดภาพไปที่ กองทัพเรือ

แม้ล่าสุดที่ต้องผิดหวังกับการชวดเรือดำน้ำอีกครั้ง

กลับพบว่า ภายใต้การจัดการของกองทัพฉายา "ลูกเมียน้อย" ทัพนี้

มีเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัยของกองทัพเรือเอง

ให้คนไทยได้ภูมิใจกับกองทัพเรือไทยเต็มไปหมด

ทั้งเรือตรวจการณ์ลำใหม่ที่ต่อเอง และยานใต้น้ำจากการวิจัยของทัพเรือเอง

นี่คือตัวอย่างขององค์กรที่ถูกบีบให้ใช้เม็ดเงินที่ได้มาน้อยอย่างคุ้มค่า


ถึงเวลาหรือยัง ที่ต้องปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณของกองทัพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบกเสียที

ไม่อยากให้มีทหารไทย ต้องมาเสี่ยงภัยจาก "โรคอ้วน" ของกองทัพอีกแล้ว


.