.
เสียงจากผู้นิยมกษัตริย์ในอเมริกา
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
ระเบียบการเมืองหนึ่งจะจัดการกับผู้มีแนวคิดแหกคอกนอกลู่นอกทางทวนกระแสสุดโต่งสุดขั้วอย่างไรดี? ปราบปรามขับไล่เขาออกไปอยู่นอกกฎหมายใต้ดิน? หรือจะให้เขาอยู่ได้อย่างถูกกฎหมายบนดินแต่นอกระบบ? หรือจะให้เขาเข้ามาในระบบ มาต่อสู้กับคนอื่นทางความคิดด้วย เหตุผลข้อถกเถียงอย่างถูกกฎหมายโดยสันติและเปิดเผยตามความเชื่อของตน?
น่าสนใจที่สหรัฐอเมริกาเลือกให้ผู้นิยมระบอบกษัตริย์อย่าง เจ. แอนโธนี แมคคาลิสเตอร์ กับพวกเข้ามารณรงค์ต่อสู้ทางความคิดตามความเชื่อของตนอย่างเปิดเผยและถูกกฎหมายในระบบ กับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ซึ่งนิยมระบอบประธานาธิบดีที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อ 230 ปีก่อน
โดยที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ว่ารัฐมนตรีกลาโหมหรือเสนาธิการทหารแม่ทัพนายกองอเมริกันไม่ได้แสดงปฏิกิริยาหวาดวิตกเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด
ทำให้ชาวอเมริกันและผู้ฟังทั่วไปได้มีโอกาสสดับตรับฟังทรรศนะเหตุผลของเขาในรายการ The Changing World ตอน For King or Country? Part 2 ทางสถานีวิทยุ BBC เมื่อ 5 เมษายนศกนี้ ว่าทำไมอเมริกาจึงควรเปลี่ยนไปปกครองในระบอบกษัตริย์แทน?
(www.thechangingworld.org/archives/2011/wk17.php)
เจ. แอนโธนี แมคคาลิสเตอร์ หนุ่มอเมริกันผิวดำเชื้อสายสก๊อตกับแคนาดาวัย 29 ปี ผู้เกิดที่ลอสแองเจลิสคนนี้เป็นนักดนตรีเชลโลคลาสสิกโดยวิชาชีพ และเป็นประธานสันนิบาตนิยมกษัตริย์สากล สาขาลอสแองเจลิส โดยอุดมการณ์ทางการเมือง ( International Monarchist League, Los Angeles Chapter www.monarchistleaguela.org/ )
เขาชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนแต่ต้นว่าระบอบกษัตริย์ที่เขาสนับสนุนนั้นคือระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy, ไม่ใช่ระบอบเจ้าแผ่นดินที่ปกครองด้วยอาญาสิทธิ์แบบโบราณ,
พูดง่ายๆ ว่าเขาอยากได้ระบอบกษัตริย์เหมือนที่อังกฤษมีทุกวันนี้นั่นแหละ กล่าวคือกษัตริย์ทรงมีบทบาทเพียงเท่าที่ประชาชนเห็นชอบด้วย, มีตัวบทกฎหมายระบุรองรับบทบาทนั้นๆ ของพระองค์อย่างชัดเจน, และมีสภาผู้แทนราษฎรคอยประกบประกอบอยู่
แมคคาลิสเตอร์ลำดับเรียบเรียงเหตุผล 3 ประการที่รองรับสนับสนุนระบอบกษัตริย์ว่า: -
1) ธรรมชาติของมนุษย์
มนุษย์มีความปรารถนาโดยธรรมชาติที่จะเฉลิมฉลองชนชั้นนำในหมู่พวกตน, ต้องการความรู้สึกอัศจรรย์ใจ, โหยหาความวิเศษสง่างามแห่งพระราชาและราชสำนัก
ดังนั้นเองจะเห็นได้ว่าในอเมริกา เมื่อไม่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือนัยหนึ่งราชบัลลังก์ว่างเปล่า ชาวอเมริกันก็เอาดาราเซเล็บฮอลลีวู้ดมายกย่องปลาบปลื้มเทิดทูนเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าแทน เพราะดาราเหล่านี้แสดงออกซึ่งความรวยหรูเลิศอลังการ มีคฤหาสน์พำนักโอ่โถงสง่างามเยี่ยงราชวัง
หรือในกรณีประธานาธิบดีอเมริกัน ก็มีธรรมเนียมประเพณีประพฤติปฏิบัติหลายอย่างเทียบเคียงเลียนเยี่ยงกษัตริย์ อาทิ Camp David อันเป็นค่ายพักผ่อนสำหรับประธานาธิบดี ก็เลียนแบบพระตำหนักแปรพระราชฐานตามหัวเมือง, State of the Union Address อันเป็นคำปราศรัยสำคัญของประธานาธิบดีเพื่อรายงานสถานการณ์ของประเทศประจำปีต่อสภาคองเกรส ก็เทียบได้กับพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา, การจุดพลุและเดินขบวนพาเหรดฉลองวันชาติสหรัฐ ก็เทียบได้กับงานฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา, หรือการตั้งสมญาทำเนียบประธานาธิบดีสมัยเคนเนดี้ว่าเปรียบประดุจปราสาทราชวัง Camelot ในตำนานสมัยพระเจ้าอาเธอร์ของอังกฤษ เป็นต้น
เหล่านี้ว่าไปแล้วก็คือการสร้างเรื่องเล่าเพื่ออวยเกียรติยศศักดิ์ศรีให้สามัญชนที่ขึ้นกุมอำนาจรัฐ มันสะท้อนความโหยหาที่จะปลาบปลื้มเฉลิมฉลองชนชั้นนำซึ่งแฝงฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอของคนเรา
2) วิพากษ์ทรรศนะแบบฉบับของฝ่ายนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยต่อระบอบกษัตริย์
พวกนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยในอเมริกามักแสดงท่าทีเกลียดกลัวและโจมตีระบอบกษัตริย์ว่าเป็นยุคมืด กดขี่ราษฎร ดังที่ชาวอเมริกันเคยลุกขึ้นก่อกบฏต่อกษัตริย์อังกฤษเพื่อกู้อิสรภาพมาแล้วในอดีต
พวกเขากล่าวอ้างว่าเมื่อเทียบกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยแล้ว ระบอบกษัตริย์ไม่สามารถผนวกรวมประชาชนเข้ามาด้วยกันได้มากเท่า เพราะเป็นระบอบปกครองทรราชย์อาญาสิทธิ์
แมคคาลิสเตอร์มองสวนทรรศนะแบบฉบับอเมริกันดังกล่าวว่า เอาเข้าจริงสถาบันกษัตริย์ เป็นศูนย์รวมเอกภาพ ความสามัคคี ความมั่นคงและอุ่นใจของคนในชาติต่างหาก
ในทางกลับกัน นักการเมืองมาแล้วก็ไป และต่อให้ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จที่สุด ก็ยังบกพร่องอย่างลึกซึ้ง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ Charles A. Coulombe นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการสังกัดสันนิบาตนิยมกษัตริย์สากลได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยกลับคืนว่าการเลือกตั้งก่อเกิดมายาคติแห่งประชาธิปไตยว่าลำพังเพียงแค่หย่อนบัตรลงหีบเท่านั้น.....
1) มันก็สามารถเชื่อมต่อประชาชนผู้ออกเสียงเข้ากับนักการเมือง และ
2) มันช่วยให้ประชาชนคุมนักการเมืองได้จริงๆ
ซึ่งดูจากประสบการณ์ก็จะพบว่ามันหาได้จริงเช่นนั้นไม่ ดังปรากฏนักการเมืองทุจริต บิดเบือนฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบ ทรยศหักหลังประชาชนมากมาย อย่างไรก็ตาม ด้วยมายาคติข้างต้นนี้ เราก็ให้อำนาจมหาศาลแก่นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง เช่น อำนาจประกาศสงคราม, อำนาจในการเปลี่ยนตัวผู้นำ ฯลฯ
ทั้งที่หากอำนาจทำนองเดียวกันตกเป็นของผู้นำที่สืบเชื้อสายสันตติวงศ์มาแล้ว เรากลับหวาดระแวงและคอยจับตาดูตลอดเวลา
นอกจากนี้ ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยมักโจมตีว่าจุดอ่อนข้อบกพร่องของระบอบกษัตริย์คือเราไม่อาจโหวตให้กษัตริย์พ้นจากตำแหน่งได้
ต่อเรื่องนี้ Coulombe ตอบว่าหากกษัตริย์พระองค์ใดไม่ดีจริงก็มักอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน โดยสมาชิกราชวงศ์ที่เหลือจะช่วยกันแก้ไขปัญหาให้พ้นไป ทว่าเหตุทำนองนี้ก็ไม่เกิดบ่อยนัก เพราะเอาเข้าจริงระบอบกษัตริย์มักปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้มาก แม้ว่าลักษณะดังกล่าวจะสรุปถอดถอนออกมาเป็นสูตรสำเร็จทางวิชาการไม่ได้และค่อนข้างยุ่งเหยิงยุ่งยากก็ตาม
ในทางกลับกัน ตัวประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งต้องคอยระวังตัวกลัวถูกคนอื่นแย่งอำนาจ มันสะท้อนว่าเนื้อแท้แล้วระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบ่งแยกคนให้แตกกัน ก่อเกิดบาดแผล แก่ระเบียบการเมืองซึ่งต้องค่อยๆ เยียวยาอยู่ช้านานกว่าจะหาย ยกตัวอย่างเช่นการกล่าวร้ายโจมตีกันวุ่นวายระหว่างนักการเมืองพรรคเดียวกันและต่างพรรคในช่วงรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของอเมริกาที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ เป็นต้น
ฉะนั้น ในบรรดาประเทศที่โค่นกษัตริย์ออกไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้มาแทนมักจะเป็นแก๊ง ก๊วนต่างๆ ที่แก่งแย่งกันทุจริตรีดไถเหมือนๆ กัน
ผู้นิยมสาธารณรัฐมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบแทนตนที่ชอบธรรมแต่เพียงระบอบเดียว เป็นวิธีการเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดทรราชได้
แต่เอาเข้าจริงประชาธิปไตยบรรลุได้เพียงแค่อำนาจสูงสุดของเสียงข้างมากชั่วคราวเท่านั้น (the supremacy of a temporary majority) ขณะที่ระบอบกษัตริย์ปกครองจากหลักการที่สูงส่งกว่าแค่การเดินตามกระแสเลือกตั้ง และในระบอบที่ผสมผสานสถาบันกษัตริย์เข้ากับประชาธิปไตยนั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ต่างหากที่คอยพิทักษ์ปกป้องส่วนที่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้
สำหรับฐานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบผสมผสานดังกล่าว ปกติกษัตริย์จะไม่ทรงมีอำนาจจริงในการเมืองประจำวัน แต่ทรงมีศักยภาพทางอำนาจในภาวะวิกฤตคับขันเมื่อรัฐบาลทำงานไม่ได้
นอกจากนี้กษัตริย์ยังทรงมีบทบาทถ่วงดุล-ปรับดุลในการเมืองประจำวันด้วย เพราะพระองค์เป็นหลักเป็นแกนมาตรฐานของบ้านเมืองให้นักการเมืองเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท จึงทรงมีผลต่อการเมืองที่เหลือ
ในฐานะนักดนตรีคลาสสิก แมคคาลิสเตอร์เปรียบเปรยว่ากษัตริย์ยังทรงดูแลผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เสมือนวาทยกรวงซิมโฟนีออเคสตราคอยกำกับดูแลไม่ให้เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งชิ้นใดเล่นผิดโน้ตหรือดังสนั่นเกินขนาดจน (ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง) ไปกลบเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นหรือไม่สอดคล้องกลมกลืนกับผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะไปกลบกดทับผลประโยชน์ของชนส่วนน้อย
ฉะนั้น หากไร้กษัตริย์ ประเทศก็จะแตกแยก คนส่วนหนึ่งในวงก็อาจจะยึดเอาทั้งประเทศไปครอง
ส่วนที่หาว่ากษัตริย์ย่อมเหินห่างและฉะนั้นจึงไม่สนองผลประโยชน์ของประชาชนก็ไม่จริง ดังจะเห็นได้ว่าทรงสามารถบันดาลใจให้ราษฎรภักดีต่อชาติได้ผ่านการภักดีต่อพระองค์ อีกทั้งราษฎรก็รู้สึกว่าการสัมพันธ์กับพระองค์มีความหมายอิ่มเอิบลึกซึ้งกินใจกว่าสัมพันธ์กับนักการเมืองธรรมดา โดยแมคคาลิสเตอร์ได้อ้างคำสัมภาษณ์ของหญิงไทยวัยกลางคนผู้หนึ่ง ณ วัดไทยในลอสแองเจลิส เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประกอบว่า (แม้ไวยากรณ์และศัพท์แสงอังกฤษของเธออาจผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เนื้อความชัดเจนจนไม่จำต้องแปลเป็นไทย):
"The King is the best of the whole world. I love the King the most of the whole world. I love him more than my own life. Everybody do that, believe me. I can die for him. 100%."
ทำไมพระองค์จึงบันดาลใจคนไทยให้เกิดความรู้สึกอันแรงกล้าได้มากขนาดนั้นล่ะครับ?
"Because he do a lot of good things. It?s not he talk only but he do it. You know you are a king, why do you have to go to the forest, to the jungle, to the mountain. You are the King you can stay very good in the palace. But he don?t. He pity on the people. He want the people to live in a good life."
อนึ่ง ชนชั้นนักการเมืองนั้นมีบุคลิกโดยธรรมชาติที่ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ทุ่มสุดตัว หิวอำนาจ เหี้ยมเกรียม ไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่สงสารผู้แพ้ แรงขับเคลื่อนในจิตใจสูงมาก ซึ่งก็ดีต่อการเป็นผู้นำพาประเทศให้ก้าวรุดหน้าไป ทว่าก็ต้องมีคนคอยถ่วงดุลไว้บ้าง ซึ่งก็คือกษัตริย์นั่นเอง
3) กษัตริย์ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจ
กษัตริย์ยังทรงเป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นตัวแทนศีลธรรมที่ถูกที่ชอบทางจิตใจ ด้วยความที่สถาบันกษัตริย์มีรากเหง้าอยู่ในประวัติศาสตร์แต่อดีต และเป็นตัวแทนความต่อเนื่องไปในอนาคต สถาบันกษัตริย์จึงดำรงอยู่เกินกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าปัจจุบัน อยู่เหนือความผูกพันกับการดำรงอยู่ของเราในฐานะปัจเจกบุคคล แมคคาลิสเตอร์อุปมาอุปไมยว่าในแง่นี้กษัตริย์จึงเปรียบเสมือน
พ่อแม่ที่อยู่เหนือกาลเวลา
แมคคาลิสเตอร์และ Coulombe ผลัดกันสรุปตบท้ายว่าผู้นิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยมักอ้างเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะปกครองตนเอง แต่เอาเข้าจริงใครล่ะที่ได้ปกครองในทางปฏิบัติ? ก็คนคนเดียวที่มาจากการเลือกตั้งนั่นแหละ คือตัวประธานาธิบดีไง ซึ่งก็มีอำนาจราวกับกษัตริย์แต่ก่อน ชั่วแต่ว่ากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากสืบสันตติวงศ์มา, อยู่เหนือการเมืองเรื่องแบ่งพรรคฝักฝ่าย และยึดถือผลประโยชน์ของทุกคน
สาธารณรัฐนั้นเข้าท่าบนแผ่นกระดาษ, ส่วนประชาธิปไตยก็ดีในเชิงนามธรรม แต่เมื่อใดเราว่ากันบนพื้นฐานความเป็นจริงและประสบการณ์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ กำจัด กวาดล้างกัน ส่วนฝ่ายค้านก็ถูกข่มเหงรังแก
ฉะนั้น หากถามว่าจะ For King or Country ดีแล้ว? แมคคาลิสเตอร์ตอบในทำนองราชาชาตินิยมว่าเอาทั้งคู่นั่นแหละ เพราะแยกจากกันไม่ได้
แน่นอนว่าย่อมมีชาวอเมริกันและผู้ฟังทั่วไปทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างจากทรรศนะเหตุผลประการต่างๆ ของแมคคาลิสเตอร์กับพวกดังยกมาข้างต้นเป็นธรรมดา อาทิ ข้อคิดเห็นโต้แย้งของ Mona Broshammar กับพวกที่สังกัดสมาคม Republikanska Foreningen ในสวีเดน (http://www.repf.se/) ซึ่งปรากฏในตอน For King or Country? Part 1, 29 มีนาคม 2011
ทว่าประเด็นสำคัญอยู่ตรงระเบียบสถาบันการเมืองอเมริกันยินดีเปิดรับการท้าทายโต้แย้ง ด้วยเหตุผลข้อถกเถียงดังกล่าวอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา อันจะนำไปสู่การสานเสวนาแลกเปลี่ยน เรียนรู้หรือนัยหนึ่งทะเลาะกันอย่างสันติที่อาจก่อตัวเป็นพลังพลวัตทางปัญญาในสังคมและจุดประกายให้เกิดกระแสการปรับตัวเปลี่ยนแปลงปฏิรูประเบียบสถาบันการเมืองในที่สุด
มันอาจไม่นำไปสู่ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญอย่างที่แมคคาลิสเตอร์กับพวกมุ่งหวัง แต่มันย่อมมีส่วนช่วยเปิดเผยบ่งชี้จุดอ่อนช่องโหว่ข้อบกพร่องในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยอเมริกันดังที่เป็นอยู่ และเป็นโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตัวมันเองให้ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย
เทียบกับการตวาดข่มขู่ปิดกั้นเหยียบกดผู้เห็นต่างสุดโต่งให้เงียบด้วยความกลัวแล้ว วิธีแบบอเมริกันนับว่าฉลาดกว่าและเป็นคุณต่อระเบียบการเมืองและสังคมของตัวเองยิ่งกว่ามากมายนัก
++
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทิศทางและวิธีการ
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.
www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2011/06/act01100654p1.jpg
(เรียบเรียงเพิ่มเติมจากคำอภิปรายของผู้เขียนในวงสนทนาแบบเปิดข้างต้นในภาพ)
หากจะเข้าใจความหมายนัยของการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตที่เกิดขึ้น ก็จำต้องยึดกุมทิศทางหลักๆ ของการเปลี่ยนแปลงให้ได้เสียก่อน
ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งมีทิศทางหลัก 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ: -
1) การเปลี่ยนย้ายอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ จากชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง >>ชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
แสดงออกเป็นรูปธรรมผ่านความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำในระบบราชการและกลุ่มทุนเก่าที่เป็นพันธมิตร ซึ่งมักเรียกกันว่า "อำมาตย์" กับกลุ่มทุนใหม่ที่เข้าสู่วงการเมืองโดยตรงขนานใหญ่ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งผ่านพรรคไทยรักไทย (พลังประชาชน-เพื่อไทยในกาลต่อมา) ซึ่งมักเรียกกันว่า "ทุนสามานย์"
2) การเปลี่ยนผ่านจากการเมืองของชนชั้นนำ >>การเมืองของมวลชน
แสดงออกผ่านการปรากฏขึ้นและบทบาทโดดเด่นครอบงำสังคมการเมืองของขบวนการมวลชนระดับชาติ 2 ขบวน ที่ก่อตัวจัดตั้งกันขึ้นโดยค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐราชการ ได้แก่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) โดยที่ต่างฝ่ายก็มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ภายใน การเคลื่อนไหวต่อสู้ขัดแย้ง ระหว่างสองขบวนการภายใต้ร่มการนำหลวม ๆ ของแกนนำกำหนดให้การเมืองระยะที่ผ่านมา กลายเป็น "การเมืองเสื้อสี" หรือ "สงครามระหว่างสี" ไป
3) การปรับเปลี่ยนด้านนโยบายเศรษฐกิจ จากนโยบายการพัฒนาที่ชี้นำโดยเทคโนแครต >>นโยบายการกระจายความมั่งคั่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังการเมือง
แสดงออกผ่านการปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายของ "การเมืองบนท้องถนน" หรือ "ม็อบ" ชุมชนชาวบ้านหลายท้องที่ทั่วประเทศ ซึ่งประท้วงและเรียกร้องต่อภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ในประเด็นการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจจัดการทรัพยากรสำคัญแก่ประชาชนในรูป การต่างๆ
เหล่านี้ทำให้แบบวิถีการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจแต่เดิมซึ่งเปรียบประหนึ่ง (เทคโนแครตปิดห้องประชุมวางแผนกันเองตามหลักเหตุผลทางเศษฐกิจ โดยกลุ่มทุนธุรกิจคอยล็อบบี้อยู่ข้างห้อง และกำลังทหารตำรวจล้อมวงเป็น รปภ.กันม็อบอยู่ภายนอก) มิอาจดำเนินได้ต่อไป
ต้องปรับเปลี่ยนไป (ตัวแทนกลุ่มธุรกิจการเมืองต่างๆ กับทีมที่ปรึกษาเปิดห้องประชุมวางนโยบายเศรษฐกิจกัน โดยพยายามปรับหาสมดุลที่พอรับได้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ กับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มข้าราชการเทคโนแครตนั่งคอยเสนอคำแนะนำทางเทคนิค กฎหมาย และปฏิบัติตามนโยบายอยู่ข้างห้อง และบรรดา ส.ส.ตัวแทนฐานเสียงเลือกตั้ง กับม็อบสารพัดกลุ่มกดดันอยู่ภายนอก)
การจัดระเบียบอำนาจใหม่จึงส่งผลออกมาเป็นนโยบายประชานิยม สวัสดิการเบื้องต้น ภายใต้ยี่ห้อสูตรผสมต่างๆ ของรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกชุดทุกฝ่าย อันจะประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยทางการเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป
ประจวบกับบริบทของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคก็เปลี่ยนแปลงไปในทางสอดรับกัน กล่าวคือ วิกฤตซับไพรม์ในอเมริกาและเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก ทำให้ความไม่สมดุลระดับโลกของ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา (ที่เรียกกันว่า "จีเมริกา": อเมริกานำเข้า/ จีนส่งออก, อเมริกาบริโภค/จีนอดออม, อเมริกาติดหนี้/จีนเกินดุล, อเมริกานำเข้าทุน/จีนส่งออกทุน) ไม่อาจธำรงไว้ให้ยืนนานต่อไป จีนต้องหันมาเน้นตลาด-อุปสงค์-การบริโภค-เสริมเพิ่มรายได้ค่าแรง-สวัสดิการสังคมในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดส่งออกตะวันตกที่อ่อนเปลี้ยลง
ไทยในฐานะที่เข้าร่วมขบวน "คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นหัวหน้า" ร่วมกับนานาประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์มาระยะหนึ่งแล้ว (หลังจากขบวนห่านบินที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูงตกต่ำแตกกระจัดพลัดกระจายตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง) ก็จำต้องปรับตัวตาม โดยค่อยๆ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างกำลังแรงงาน รายได้ดีขึ้นและสวัสดิการสูงขึ้น เพื่อเป็นฐานพลังผู้บริโภคและอุปสงค์ในประเทศแก่เศรษฐกิจไทย ชดเชยช่องทางที่ฝืดเคืองและตีบแคบลงของตลาดโลกตะวันตก ที่เคยรองรับเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกแต่เดิมมา
กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางหลักดังกล่าวข้างต้น ดำเนินไปผ่านวิธีการสำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ: -
1) การดึงมวลชนเข้าร่วมการเมืองขนานใหญ่
น่าสนใจว่าชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง คือฝ่ายชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องการรักษาระเบียบการเมืองแบบเดิมไว้ กับ ฝ่ายชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องการสร้างระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมา ต่างก็หันไปดึงมวลชนเข้ามาร่วมการต่อสู้ข้างตนอย่างขนานใหญ่ด้วยกันทั้งคู่
กล่าวคือ ฝ่ายแรกก็พบว่าลำพังกำลังชนชั้นนำกลุ่มตนถ่ายเดียวไม่พอจะปกปักรักษาระเบียบการเมืองแบบเดิมไว้ จึงต้องดึงมวลชนเสื้อเหลืองมาเป็นพวกเพื่อช่วยต่อต้านและโค่นยุบรัฐบาลทักษิณ-สมัคร-สมชาย กับพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทยรวมทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540
ส่วนฝ่ายหลังก็พบเช่นกันว่า ลำพังกำลังชนชั้นนำกลุ่มตนถ่ายเดียวก็ไม่พอจะสร้างระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมา จึงต้องดึงมวลชนเสื้อแดงมาเป็นพวกเพื่อช่วยต่อต้านและโค่น คปค., รัฐบาล สุรยุทธ์-อภิสิทธิ์รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ พ.ศ.2550
ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ขบวนการมวลชนทั้งสองเป็นแค่เครื่องมือหรือลิ่วล้อหางเครื่องที่คิดเองไม่เป็น-ทำเองไม่ได้ของชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย, ดังจะเห็นได้จากพลวัตของการเคลื่อนไหวมวลชนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งบ่อยครั้งและนับวันจะเลยธงและนอกเหนือการกำกับชี้นำและเป้า ประสงค์ของกลุ่มชนชั้นนำหัวขบวน
เพียงแต่การก่อตัวจัดตั้งเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนแต่ละฝ่ายต่างก็ได้รับการอุดหนุน ช่วยเหลือเอื้ออำนวยจากชนชั้นนำฝ่ายตนอย่างทุ่มเทเปิดตัวและเปลืองตัวเต็มที่ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ช่วยให้การก่อตั้งและยืนหยัดต้านรับแรงเสียดทาน และปราบปรามจากกลไกอำนาจรัฐของ ขบวนการเหล่านี้สะดวกง่ายดายและเหนียวแน่นทนทานขึ้นมาก
2) การใช้วิธีการนอก/ผิดรัฐธรรมนูญ
อีกเช่นกัน ทั้งฝ่ายชนชั้นนำกับพันธมิตรมวลชนที่ต้องการรักษาระเบียบการเมืองเดิมไว้ และฝ่ายชนชั้นนำกับพันธมิตรมวลชนที่ต้องการสร้างระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมา ต่างก็พบว่าถึงจุดหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตน มิอาจจำกัดวิธีการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองไว้ภายในกรอบ กติการัฐธรรมนูญ ทั้งสองฝ่ายจึงพร้อมจะล่วงละเมิดกฎกติกาและใช้วิธีการนอก/ผิดรัฐธรรมนูญ ในการให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นถวายพระราชอำนาจคืนโดยอ้างมาตรา 7, รัฐประหาร, ตุลาการธิปไตย, ก่อจลาจล, ลุกขึ้นสู้, ยึดทำเนียบ, ยึดสถานีวิทยุ/ดาวเทียม, ยึดสนามบิน, ยึดย่านธุรกิจกลางเมือง, ก่อการร้ายกลางเมือง, ก่อการร้ายโดยรัฐ ฯลฯ
3) การดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมือง ในฐานะแหล่งความชอบธรรมต่างหากไปจากประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ
สะท้อนออกโดยการกล่าวอ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาเข้าข้างฝ่ายตนในบริบทการต่อสู้หักโค่นทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม พร้อมทั้งโจมตี กล่าวหา ฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างดกดื่นมากมายมหาศาล เป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผลลัพธ์รวมของปฏิบัติการฉวยโอกาสทางการเมืองเหล่านี้ทำให้สถานะที่อยู่เหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์กระทบกระเทือน และหลักการที่ว่าสถาบันกษัตริย์เข้ากันได้และไปกันได้กับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานรองรับความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคลอนแคลน
ส่งผลให้ระเบียบการเมืองเก่าหรือระบอบความเป็นไทยค่อยเสื่อมถอยลง
เกิดปรากฏการณ์ (อำนาจนิยมของฝ่ายรัฐ-รัฐบาล) ควบคู่กับ (อนาธิปไตยบนท้องถนน) ตลอดระยะรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา
กล่าวคือไม่ว่าฝ่ายใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่างก็ใช้กฎหมายและกลไกเครื่องมือเผด็จอำนาจ จำกัดสิทธิเสรีภาพและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยมทารุณและไม่พร้อมรับผิด เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551, กฎหมายอาญามาตรา 112, กอ.รมน., การส่งกำลังตำรวจ-ทหารติดอาวุธสงครามร้ายแรงเข้าเผชิญหน้าการชุมนุมของมวลชน เกาะติดควบคุมมวลชนในพื้นที่
ในทางกลับกัน ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็หันไปใช้ท้องถนนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็นนิจศีล โดยที่ในกระบวนการนั้น การประท้วงอย่างสันติวิธี, การใช้ความรุนแรงเพื่อป้องกันตนเองจากม็อบฝ่ายตรงข้ามและเจ้าหน้าที่รัฐ, และการลอบสังหารและก่อการร้ายกลางเมือง ฯลฯ กลืนกลายเข้าหากันอย่างยากที่จะจำแนกแยกแยะขึ้นทุกที เกิดเป็นภาวะบ้านเมืองวุ่นวายไร้ขื่อแปและอนาธิปไตย ที่ส่งผลเสียหายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองและประเทศชาติมหาศาล ทว่ากลับยากที่จะพิสูจน์ทราบตัวการผู้รับผิดชอบชัดเจน
(ยังมีต่อ)
..... ค้นไม่พบ ตอนต่อ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย