http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-27

ปรัชญา, + คนดี โดย คำ ผกา

.

ปรัชญา
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 90


หลายๆ คนบอกว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้แรงกดดันหรือถูกขนาบด้วยสองอำนาจจนแทบจะเป็นรัฐบาลที่ต้องทำงานอยู่ระหว่างเขาควายสองข้าง (dilemma)
นั่นคือต้องรักษาสมดุลอำนาจกับกลุ่มอำนาจเก่า และการแสดงท่าทีประนีประนอมแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ทั้งนี้ เพราะกลัวว่าจะมีการปลุกมวลชนขวาจัดคลั่งชาติมาสร้างสถานการณ์เรียกร้องให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารอีก
อีกด้านหนึ่งรัฐบาลนี้ก็ถูกกดดันจากฝ่ายประชาชนเสื้อแดงที่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลนี้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่สามารถคะคานกับกลุ่มอำนาจเก่าและอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าอภิชน

แต่ฉันกลับไม่เห็นเช่นนั้น

แน่นอนว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมและการประสานผลประโยชน์
แต่ธงที่ใหญ่กว่านั้นคือ คุณจะประนีประนอมด้วย "ปรัชญา" ชุดไหน

เช่น การดำเนินนโยบายประนีประนอมด้วยการยึดเอาปรัชญาของประชาธิปไตยและประชาชนนำหน้าด้วย ต่างจากนโยบายประนีประนอมที่ยึดเอาปรัชญาของการเอาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องให้รอด หรือประนีประนอมด้วยการไม่มีปรัชญาอะไรเลยแต่เพียงแค่เอาตัวให้รอดไปวันๆ
ฉันไม่เห็นว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์จะต้องนำตัวเองไปอยู่ใน dilemma นั้น เพราะรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีความชอบธรรมทุกประการในการดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเอง
ไม่ใช่จะก้าวไปทางซ้ายก็กลัวฝั่งขวาจะเกลียด จะขยับขาไปขวาก็กลัวโดนทางซ้ายจะกระทืบ 
ผิดจากรัฐบาลชุดก่อนที่ไม่มีความชอบธรรมจากเสียงของประชาชนที่ยอมรับ ทั้งไม่ได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติเนื่องจากที่มาของอำนาจรัฐบาลไม่ชอบธรรม


อาจจะมีคนเถียงว่า รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยก็มาจากเสียงของประชาชนยังถูกรัฐประหารออกไปง่ายดาย แต่สถานการณ์ของพรรคไทยรักไทยในวันนั้นต่างจากสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ 

ความล้มเหลวของรัฐบาลไทยรักไทยในวันนั้นมาจากการให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับสังคมน้อยเกินไป และเกิดช่องว่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งก้าวหน้าในขณะที่นโยบายทางวัฒนธรรมกลับล้าหลัง (กระทรวงวัฒนธรรมยังเป็นแค่กระทรวงของแถม ทั้งๆ ที่กระทรวงนี้มีศักยภาพในการปฏิรูปจิตสำนึกของประชาชนได้มากเท่าๆ กับกระทรวงศึกษาธิการ) 
ตัวอย่างนโยบายทางวัฒนธรรมที่ล้าหลัง เช่น การตั้ง "ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม" หรือความไม่อ่อนไหวต่อนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไปสนับสนุนความคิดคลั่งชาติที่คับแคบในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจได้ก้าวข้ามพรมแดนของ "ชาติ" ไปไกล
ความไม่พยายามที่จะ "นิยาม" หรือ ก่อร่างสร้างจิตสำนึกของ "ชาติ" แบบใหม่ที่ทันสมัย อันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผนวกเอาคุณค่าว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างถึงที่ที่สุด การให้ความสำคัญกับ "ประชาชน" ในฐานะของสถาบันหลักของชาติ การให้ความสำคัญกับความเสมอภาค และเสรีภาพอย่างถึงที่สุด ท้ายที่สุดมันคือดาบที่กลับมาทำลายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเอง

เพราะ "เนื้อหา" ที่ใช้โจมตีรัฐบาลไทยรักไทยของคุณทักษิณนั้นไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นที่เป็นเรื่องหลักแต่เป็นเรื่อง "ขายชาติ" ไมว่าจะเป็นกรณีเทมาเส็กหรือเขาพระวิหารหรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน (แต่กฎหมายห้ามพูด) ไม่นับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยรักไทยปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร 
ถ้าเพียงแต่รัฐบาลในเวลานั้นใส่ใจกับการก่อร่างสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นเสรีนิยมทางวัฒนธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการทำงานทางวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์แบบถึงรากถึงโคนในทุกมิติ (ไม่ต้องทำเอง เพียงแต่เปิด เปิด และเปิด) การทำงานเชิงนโยบายของหน่วยงานบางหน่วยงานที่ไปสนับสนุนการรัฐประหารทางอ้อมจะไม่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้

และการรัฐประหารอาจจะไม่สำเร็จก็เป็นได้ เพราะประเด็น "ขายชาติ" จะปลุกไม่ขึ้น การตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าสำคัญกว่าวัฒนธรรมไทย, พุทธศาสนาแบบไทย และการบ้าคลั่งความดี และศีลธรรมแบบ สสส. หรือแม่ชี หลวงพี่ นู่น นั่น นี่ จะเป็นวัคซีนป้องกันการรัฐประหารให้รัฐบาลที่มาจากประชาชน



5 ปีผ่านไปนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ประชาชนไทย-อย่างน้อย 15 ล้านเสียงที่ไป vote ให้พรรคเพื่อไทย-ได้บทเรียนที่เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะตระหนักว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้งคือระบอบการปกครองที่แย่น้อยที่สุด

เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะเรียนรู้ว่า ไม่ต้องการคนดี มีศีลธรรมมาบริหารบ้านเมือง แต่เราต้องการระบบที่ตรวจสอบนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเรา 
เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะตระหนักว่าความหมายของ "ชาติ" ไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งการรักชาติอย่างบ้าคลั่งนั้นรังแต่จะนำความสูญเสีย ความอับอายในความไร้วุฒิภาวะของ "ชาติ" ที่เราสังกัดอยู่ 
และเราจ่ายไปแพงมากในการเป็นประจักษ์พยานว่า "อำนาจ" ที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้น ฆ่าประชาชนได้อย่างโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม
เราจ่ายไปแพงมากเพื่อจะเรียนรู้ว่า อยู่กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ห่วยดีกว่าอยู่กับเผด็จการที่ทรงประสิทธิภาพ


ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนที่อ้างตัวว่ามีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งกว่าผู้อื่น เจ้าของสื่อที่ชอบไปเดินตามหลังพระสงฆ์ชื่อดังของโลก นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ราษฎรอาวุโส ปราชญ์อาวุโส นักวิชาการผู้ทรงภูมิธรรม นักข่าวที่มุ่งมั่นในการทำข่าวสอบสวนเปิดโปงความชั่วของนักการเมือง ฯลฯ คนเหล่านี้พาเหรดออกมาแก้ผ้า เปิดเปลือยสันดานที่แท้ออกมาให้สาธารณชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ล่อนจ้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 
ไม่เคยมีครั้งไหนที่สังคมไทยจะเกิดกระแส "รู้ทันคนดี" ที่ซับซ้อนกว่าการ "รู้ทันทักษิณ" หลายร้อยเท่า



การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นเป็นการเลือกตั้งที่คนไทยและสังคมไทยต้องจ่ายไปด้วยราคาที่แพงที่สุด และเราจ่ายด้วยชีวิตของคนไทยที่ต้องไปตายเพียงเพราะออกมาเรียกร้องการบูรณะปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความเสมอภาค 
ไม่เพียงแต่ความตาย แต่ยังแลกมาด้วยอิสรภาพและคุณภาพชีวิตที่พึงมีพึงเป็นของประชาชนที่ออกไปต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

วันที่ 3 กรกฎาคม ประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากได้ออกไปแสดงเจตจำนงแล้วว่า
1.ไม่ต้องการพรรคประชาธิปัตย์
2.เลือกพรรคเพื่อไทยด้วยสมมุติฐานว่า พรรคเพื่อไทยยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร


การยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยนั้นคือการยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องไปเกรงต่อข้อครหาว่าทำเพื่อ "คนเสื้อแดง"

การปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย 
การลดอำนาจกองทัพ และการสร้างกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชนมิใช่กองทัพของ "ทหารเพื่อทหาร" 
ความจริงจังและจริงใจต่อนโยบายการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น  
การสร้างมาตรฐานเดียวในกระบวนการยุติธรรม 
การออกแบบนโยบายบนฐานปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 
การให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูด คิด เขียน 
การสร้างสำนึกของพลเมืองที่มีความเคารพในสิทธิของผู้อื่น 
การสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริหารและระบบราชการให้มีความเป็น "พิธีกรรม" น้อยลง มีความเป็น "มืออาชีพ" มากขึ้น

การให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนที่มิใช่การสัมภาษณ์รายวัน แต่คือความสามารถในการส่งผ่าน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ผ่านการแถลง ผ่านเว็บไซต์ หรือเปิดให้มีเวทีพิจารณ์ เวทีสาธารณะ การทำงานร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ต่อโครงการขนาดใหญ่ของแต่ละกระทรวง-ทว่า สภาพที่เป็นอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ในเวลานี้ กลับเต็มไปด้วย เนื้อหาเชิงพิธีกรรม ตราสัญลักษณ์ ข่าวประชาสัมพันธ์หัวหน้าหน่วยงาน และการเข้าถึงข้อมูล รายละเอียด งานวิชาการของแต่ละกรม แต่ละกระทรวง กลับเข้าถึงยากเย็น ซับซ้อน หรือไม่มีปรากฏในเว็บไซต์เลย 
เลิกเสียทีกับการเอาตรากระทรวงอันเต็มไปด้วยลายกนกและรูปป่าหิมพานต์มาเปิดเป็นหน้าแรกของเว็บ ตึ่งโป๊ะ ไม่อยากเห็น แต่อยากเห็นการจัดการเว็บไซต์ที่มุ่ง "สื่อสาร" กับประชาชนด้วยเนื้อหาของการทำงานจริงๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อ "ประชาชน" ทุกคน มิใช่การทำเพื่อ "เสื้อแดง"


การสะสางกระบวนการยุติธรรมของไทยที่คุณยิ่งลักษณ์จะต้องรู้ดีที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่ครอบครัวของคุณยิ่งลักษณ์เผชิญมาด้วยตนเองกับปัญหาสองมาตรฐาน การเมืองเข้าไปแทรกแซง ความล่าช้า หรือสถานะที่ละเมิด วิพากษ์วิจารณ์มิได้ เหล่านี้หากมีกระบวนการ modernization องคาพยพนี้เสียที ก็จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่สังคมไทยและคนไทยทุกคนไม่ว่าจะสีไหน มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เพราะในกระบวนการยุติธรรม คุณจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างเท่าเทียมกันทุกประการ
การคืนความยุติธรรม การเยียวยาผู้ที่ได้รับความสูญเสียนั้น รัฐบาลทำได้ทันที เพราะนี่ไม่ใช่เรื่อง "เสื้อแดง" แต่เป็นเรื่องของ "มนุษย์"

รัฐบาลสามารถทำงานร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานภาคประชาสังคมในการ "เยียวยา" ย้ำว่านี่ไม่ใช่ทำเพื่อ "เสื้อแดง" แต่เพื่อแสดง "สปิริต" ของรัฐบาลที่มาจากประชาชนว่า รัฐบาลนี้เคารพสิทธิมนุษยชน มีมนุษยธรรม และคือหมุดหมายที่บอกว่า ในอนาคต จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ในสังคมไทยอีก นั่นคือการเข่นฆ่าประชาชน 
รัฐบาลต้องกล้าหาญในการเข้าไปจัดการกับงบประมาณที่ใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น เรื่องของพิธีกรรมหรือการทำโฆษณาอันฟุ้งเฟ้อ ที่หน่วยงานราชการใช้อย่างไม่จำเป็น การพีอาร์ที่ดีที่สุดของหน่วยงานราชการคือพีอาร์ด้วย "ผลงาน" มิใช่การสร้างภาพซื้อโฆษณาในสื่อ เงินที่ใช้กับการทำป้ายโฆษณาตนเองของนักการเมืองหรือหน่วยงานติดข้างถนนอย่างไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์โภชผลใดๆ นอกจากสร้างทัศนะอุจาดต้องได้รับการทบทวน

คุณยิ่งลักษณ์และรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ในวันนี้เมื่อได้ "อำนาจ" ที่ประชาชนมอบให้ไปไว้ในมือแล้วต้องถามตนเองให้หนักและต้องหาคำตอบให้ได้อย่างชัดเจนว่า "ปรัชญา" ในการบริหารประเทศของคุณคืออะไร? 
เพราะตัว "ปรัชญา" นั้นจะบอกทิศทางและให้คำตอบแก่การดำเนินนโยบายทั้งหมดไม่ว่านโยบายใหญ่หรือโครงการเล็กๆ มันจะบอกได้ว่าคุณจะสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน มันจะบอกออกมาในตัวเลขงบประมาณของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับอะไรและไม่ให้อะไร
มันจะบอกในรายชื่อโยกย้าย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ 
มันจะบอกออกมาในนโยบายการเซ็นเซอร์ ในทิศทางการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม มันจะบอกออกมาแม้ในกระทั่งในตารางนัดหมายของผู้นำว่าไปพบใครหรือไม่พบใคร พบเมื่อไหร่ พบอย่างไร

เราในฐานะประชาชน และในฐานะที่เลือกคุณยิ่งลักษณ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ เราไม่ต้องการเห็นการทำงานและโปรโตคอลในกรอบคิดแบบเก่า นายกรัฐมนตรีพิสูจน์ตนเองด้วยการทำงาน ภาวะผู้นำ ความชัดเจนในปรัชญาการบริหาร มิใช่การไปปลูกต้นลำดวนตามสถานที่ราชการ หรือการสร้างพิธีกรรมการทำงานใน "ภาษา" ของระบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต ที่จะต้องแวดล้อมด้วย wall paper, คณะกันชน-ประชาธิปไตยคือการสร้าง "ภาษา" ให้คนสัมผัสได้ถึงความเป็น "ธรรมดาสามัญ" และ "เข้าถึงง่าย" ในระบบบริหาร

นโยบายวัฒนธรรมที่ต้องทันสมัย เป็นสากล การนิยาม "ชาติ" ที่พ้นไปจากความ "คลั่งชาติ" และการมุ่งสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความเสมอภาคเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ มิใช่การไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ และบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแต่การทำงานเพื่อประชาชนจึงจะทำให้ประชาชนยืนอยู่ข้างคุณ

อย่าลืมว่าประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะไม่ต้องการ "ปรัชญา" แบบพรรคประชาธิปัตย์



++

บทความปีที่แล้ว ( 2553 )

คนดี
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1535 หน้า 91


"เรามาร่วมกันส่งพลังจิตกำจัดคนเลวกันเถอะ" 
ฉันอ่านเจอประโยคนี้ในนิตยสารฉบับหนึ่งเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนชักชวนผู้อ่านทำเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่
อ่านแล้วให้สงสัยว่า เอ๊ะ คนเรามีพลังจิตที่จะกำจัดคนเลวได้ด้วยหรือ และนั่นแปลว่าคนที่คิดว่าตนจะส่งพลังจิตไปกำจัดคนเลวได้แปลว่า ต้องมีความเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี เพราะถ้าเราเป็นคนเลวเราคงไม่ส่งพลังจิตไปกำจัดตัวเราเอง ปัญหาที่ตามมาคือเรารู้ได้อย่างไรว่าตัวเราเป็นคนที่ดี (พอที่จะมีสิทธิส่งพลังจิตไปกำจัดคนเลว) และเรารู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนเลว

ซับซ้อนกว่านั้นเราเอาอะไรมาตัดสินว่าอะไรและอย่างไรที่เรียกว่าดีและเลว


นาย ก. ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ เขาเป็นนักธุรกิจที่มีประสบความสำเร็จ ทำกำไรจากธุรกิจได้มหาศาลร่ำรวย แต่ในสายตาของลูกจ้างเขาเป็นนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบ กดค่าแรงคนงาน ในฐานะพ่อค้าเขาถูกมองว่าเอาเปรียบผู้บริโภค 
ขณะเดียวกันในสายตาของเจ้าอาวาสหลายๆ วัดเขาเป็นพ่อค้าผู้ใจบุญ บริจาคเงินให้วัด และทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจ

นาย ข. เป็นนักโฆษณาที่มีชื่อเสียง เปี่ยมความสามารถ ผลงานของเขาได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานของเขาได้ชื่อว่าแปลกใหม่ สร้างสรรค์ สร้างความฮือฮาช่วยสร้างกระแส และทำให้สินค้าที่เขาทำโฆษณาให้ฮิตติดตลาดทุกตัว 
แต่มองอีกด้านหนึ่งเขามีส่วนทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เชื่อว่าน้ำผสมน้ำตาลผสมสี กลิ่น และรสชาติหวานเจี๊ยบคือชาที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงยอมจ่ายค่าน้ำหวานผสมสีและกลิ่นในราคาขวดละเกือบสามสิบบาทโดยไม่เกี่ยงงอน 
เราจะบอกว่านักโฆษณาไม่มีจรรยาบรรณหรือผู้ซื้อโง่เอง



ข้าราชการหรือนักการเมืองที่คอรัปชั่นกินสินบาทคาดสินบนอาจทำไปเพราะอยากมีเงินเยอะๆ ไว้ให้ลูกหลานได้อยู่สุขสบาย ในแง่นี้ พวกเขาอาจเป็นนักการเมืองที่เลว แต่ในฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่ พวกเขาอาจกำลังพยายามทำหน้าที่ของพ่อและแม่ที่ดีที่สุดอยู่ก็ได้ 
จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราอ่านสัมภาษณ์ ลูกหลานนักการเมืองที่คนทั้งประเทศประณามว่าชั่วช้า แต่พวกเขาจะบอกว่า 
"หากลองได้สัมผัสตัวตนของท่าน จะรู้ว่าท่านเป็นคนอ่อนโยน รักครอบครัว เป็นแฟมิลี่แมน ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน ต้องมากินข้าวกับคุณแม่ที่บ้านเสมอ ถ้าได้สัมผัสกับท่านอย่างใกล้ชิดจะรู้ว่าท่านหวังดีต่อบ้านเมือง บลา บลา บลา"

เมื่อเป็นอย่างนี้มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปแทบจะไม่ได้ที่เราจะบอกว่าคนๆ นี้เป็นคนดี คนคนนี้เป็นคนเลว เพราะนักการเมืองที่เลวอาจเป็นพ่อที่ดี เป็นสามีที่ประเสริฐ (เงินที่โกงบ้านโกงเมืองมาก็เอามาให้ลูกเรียนหนังสือ เก็บไว้ให้เมียได้ซื้อเพชร) 

พ่อที่เลวอาจเป็นนายจ้างที่ดี
ครูที่ประเสริฐสำหรับลูกศิษย์อาจเป็นแม่ที่ไม่เอาไหนของลูก 
แม่ที่ดีของลูก อาจเป็นลูกที่เลว ไม่ดูดำดูดีพ่อแม่ตัวเอง (มีเท่าไหร่เอาไปทุ่มให้ลูกตัวเองหมด) 
เมียที่ดีเลิศสำหรับผัวอาจเป็นคนที่เพื่อนไม่คบเพราะในสายตาเพื่อนเป็นคนที่ไม่มีน้ำใจกับเพื่อนฝูง 
เด็กบางคนน่ารัก เรียบร้อย ตั้งใจเรียน เชื่อฟังพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แต่ปฏิบัติกับคนรับใช้ราวกับเป็นมนุษย์อีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง คือไม่เคยรับรู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนเหมือนกับตัวเอง แต่เคยชินที่จะมองคนเหล่านี้ในฐานะกลไกหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของเขาเป็นไปอย่างสะดวกสบายขึ้นเท่านั้น

ตัวฉันเองเกลียดทั้งตำรวจ เกลียดทั้งทหารแทบแย่ แต่นั่นเป็นความเกลียดที่เราพูดโดยรวมว่าตำรวจแม่ง รีดไถ เบ่ง วางอำนาจ ตำรวจแม่งก็พวกคุมซ่อง คุมบ่อน เราก็รู้กันอยู่ว่าตำรวจเงินเดือนนิดเดียว แต่ทำไมรวยกันจัง เราก็เมาธ์กันถึงขนาดว่าหน้าที่ของตำรวจนั้นคล้ายๆยากูซ่าญี่ปุ่นหรือเปล่าคือมีหน้าที่เก็บค่าคุ้มครอง 
แต่ก็นั่นแหละ เราก็มีเพื่อนเป็นทั้งตำรวจ เป็นทั้งทหารและเพื่อนเราก็นิสัย ดี ดี๊ ดี เป็นสุภาพบุรุษกันทุกคน และในเวลาเดียวกัน หากเราจำเป็นต้องใช้เส้นสายของตำรวจหรือทหารที่เป็นเพื่อนของเราเพื่ออำนวยความสะดวกบ้างในบางโอกาส เราก็ไม่เคยรีรอที่จะใช้ 
ทั้งหมดนี้เราจะบอกได้ไหมว่าใครเป็นคนดี และใครเป็นคนไม่ดี ?


ปัญหาเกี่ยวกับความดีและความเลวนี้ทำให้ฉันนึกถึงความเห็นของอภิสิทธิ์เรื่องหวยอีก นายกฯ บอกว่าไม่อยากส่งเสริมให้ประชาชนเล่นหวย ไม่ว่าจะบนดิน ใต้ดิน จะออนไลน์ไม่ออนไลน์ นายกฯ ฝันถึงกระทั่งว่าอยากจะยกเลิกสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยซ้ำไป
ฉันจะไม่พูดไปถึงเรื่องที่ว่า ถ้าประชาชนของเราเกิดมาพร้อมกับความมั่งคั่งเหมือนท่านนายกฯ มีความรู้ มีการศึกษาดี มีงานทำ เงินเดือนเยอะ มีลูกเรียนเก่ง มีเมียรวย อนาคตสว่างไสว 
ถ้าชีวิตมันดีถึงเพียงนั้น เราคงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะไปฝากความหวังไว้กับล็อตเตอรี่


ยังไม่ต้องพูดว่า คนเล่นหวยก็มีหลายแบบ ทั้งเล่นเพื่อเป็นความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ เฉกเดียวกับการที่เราใช้เงินไปเพื่อความบันเทิงอย่างอื่น เช่น กินจังก์ฟูดส์ (รู้ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพแต่กินแล้วมีความสุข) ดูหนัง ไปร้องคาราโอเกะ 
แล้วก็มีคนที่เล่นหวยเป็นอาชีพเหมือนคนที่เล่นการพนันเป็นอาชีพ มีคนหมดตัวเพราะหวย มีคนรวยเพราะหวย 
เพราะฉะนั้น สำหรับฉันมันเป็นเรื่องที่ตัดสินลงไปไม่ได้ว่า หวยเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี คนเล่นหวยเป็นดี หรือเป็นคนเลว เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราต้องคำนึงถึงด้วย เหมือนกับการที่เราตัดสินไม่ได้โดยเด็ดขาดว่า นาย ก. เป็นคนดี หรือ นาย ข.เป็นคนเลว

นายกอภิสิทธิ์ ยังให้สัมภาษณ์อย่างเท่ว่า รัฐบาลไม่ปรารถนาจะหารายได้จากหวยใต้ดินซึ่งเป็นอบายมุขน่ารังเกียจ ฟังดูเป็นคนดีจัง
แต่ถามว่า เราเลือกแล้วหรือที่จะเป็นรัฐที่ปลอดราคี
ทีนี้ถ้าความดี ความเลว วัดกันได้ คัดทิ้งได้ เลือกที่จะมี จะเป็นได้ดั่งใจ ฉันก็จะลองสมมุติดูเล่นๆ ว่า ถ้ารังเกียจหวยจริงๆ ละก็ ยุบกองสลากวันนี้พรุ่งนี้เลยเป็นไง ?



ทีนี้หากเราบูชาความดี และศีลธรรมกันถึงเพียงนั้น ระหว่างหวยใต้ดินกับอาบอบนวด อันไหนถือเป็นอบายมุขที่น่ารังเกียจกว่ากัน?
(ไม่ได้แปลว่าฉันมีคำตอบในคำถามนี้ แต่กำลังถามว่า เรามีมาตรวัดระดับความเลวและบอกได้ว่าอะไรเลวมากหรือน้อยกว่ากันจริงๆ หรือ?)

แน่จริงรัฐบาลก็ไม่ต้องพึ่งภาษีจากอาบอบนวด สถานบันเทิงที่รู้กันอยู่ว่ามีการขายบริการแอบแฝง สั่งให้เหล้า บุหรี่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเลิกโรงงานยาสูบของรัฐบาล
เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า คนที่กินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน มีเพศสัมพันธุ์นอกสมรส มีประวัติในการเล่นหวย หรือเคยเป็นเจ้ามือหวย มาก่อน ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเป็น ส.ส. เหมือนที่เราเคยกำหนดว่าคนที่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไปด้วยเชื่อไปง่ายๆ ว่าปริญญาเป็นใบค้ำประกันคุณภาพ
ทั้งนี้ ไม่ต้องคำนึงว่ากฎเช่นนี้ปฏิเสธหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่วางอยู่บนหลักที่ว่าพลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน แล้วเหตุใดจึงยกว่าคนจบปริญญาตรีขึ้นไปให้อยู่เหนือคนจบ ป.หก ป.เจ็ด อนุปริญญา ปวช. ประกาศณียบัตรฯ หรือแม้แต่ไม่จบอะไรเลย?

ฉันประหลาดใจที่ช่วงหลังๆ ได้ยินเสียงเพรียกหาคนดีหนาหูขึ้นเรื่อยๆ บ้างก็ว่า เราไม่ต้องการคนเก่งแต่ต้องการคนดี 
บ้างก็ว่าประเทศชาติวิกฤติเช่นนี้เรายิ่งต้องเร่งขจัดคนเลว เสาะคนดีมีคุณธรรมมาปกครองแผ่นดิน 
บ้างก็ว่าประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะวิกฤติทางศีลธรรม คุณธรรม บ้านเมืองจึงวุ่นวายเยี่ยงนี้


แต่ถามว่า ในเมื่อเราอยู่บนโลกมนุษย์ไม่ได้อยู่บนสวรรค์ เราจะเนรมิตให้คนทุกคนเป็นคนดีได้อย่างไร และนั่นจึงเป็นเหตุให้มนุษย์พยายามคิดหาระบอบการเมืองการปกครองที่อำนวยให้คนทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขพอประมาณ 
(และเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่อำนวยสันติสุขแก่คนในสังคมได้ดีกว่าระบอบอื่นๆ)

และสันติสุขนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักที่จะเคารพในสิทธิของกันและกัน ดังนั้น การที่เราไม่ลุกไปตบใครเพียงเพราะหมั่นไส้นั้นไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนดี (ล้วนๆ) แต่เป็นเพราะเราเคารพในสิทธิของคนๆ นั้นที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็มีกฎหมายที่คุ้มครองคนๆ นั้นอยู่ จนเราไม่กล้าจะลุกไปตบเพราะกลัวถูกปรับหรือติดคุก
การที่สังคมๆ หนึ่งจะไม่มีคดีอาชญากรรม การลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่ได้เกิดจากการที่สังคมนั้นมีเทพจุติลงมาเกิดเป็นคนมากกว่าสังคมอื่น 
แต่อาจเป็นเพราะสังคมนั้นมีระบบเศรษฐกิจ การกระจายทรัพยากร การจัดการศึกษา การกระจายรายได้ การเก็บภาษีที่เป็นธรรม จนทำไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด คนก็ไม่เลยไม่ต้องลุกมาปล้น ฆ่า หรือลักขโมยกันมากนัก 
ยังไม่นับว่าการประกอบอาชญากรรมที่ร้ายแรงบางอย่างอาจเกิดขึ้นจากสภาพความป่วยไข้ทางใจ ไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนเลว



ท่ามกลางการเรียกร้องหาคนดี และโหยหาคุณธรรม ฉันไม่ค่อยได้ยินเสียงเรียกร้องถึงระบอบการเมืองการปกครองที่อำนวยความยุติธรรมแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
เราไม่ต้องการนักการเมืองที่เป็นคนดี แต่เราต้องการระบอบการเมืองที่เราสามารถตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองได้ต่างหาก

เพราะนักการเมืองจะไม่ทำความชั่วเพียงเพราะเขาเป็นคนดี (ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) แต่เขาไม่ทำชั่วหรือทำผิดกฎหมายเพราะกลัวการถูกตรวจสอบและการลงโทษ (ซึ่งมองเห็นได้ด้วยเปล่า) 
อาการบ้าคนดีจนกระทั่งเชื่อว่าหากคนดีมารวมพลัง (จิต) ร่วมอธิษฐานกันแล้วจะช่วยกันกำจัดคนเลวออกไปได้เป็นความคิดที่น่ากลัวมาก
จะมีอะไรน่ากลัวไปกว่าคนที่ทำ(ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น)ความดีแล้วบังเกิดความคิดที่ว่า เมื่อฉันเป็นคนดีแล้ว ฉันย่อมมีสถานะเหนือกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคนดีเท่ากับที่ฉันเป็น จากนั้นหน้าที่ต่อไปของฉันคือ มุ่งขจัดคนที่ไม่ดี (ตามมาตรฐานของฉัน)ให้สิ้นซาก

ถ้าฉันคิดว่าคนที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้นที่เป็นคนดี คนที่นับถือศาสนาอื่นเป็นคนเลว หน้าที่ของฉันคือต้องฆ่าคนที่ไม่ใช่พุทธให้สิ้นซาก
ถ้าฉันคิดว่าคนยิวเป็นคนชั่ว ฉันต้องฆ่าคนยิวทิ้งให้หมด
ถ้าฉันคิดว่าคนกินมังสวิรัติเท่านั้นเป็นคนดี ฉันต้องพยายามชักจูงให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่หากยังมีคนดึงดันจะกินเนื้อสัตว์ ฉันจะทำลายพวกมันให้หมดไปจากแผ่นดินของเรา หรือไม่ก็เนรเทศให้มันไปอยู่ที่อื่น


ฉันพยายามหาคำตอบว่า เมื่อมีใครสักคนพูดว่า "เรามาช่วยกันส่งพลังจิตกำจัดคนเลวกันเถอะ" ผู้พูดหมายถึงใคร? และคนๆ นั้น (หรือหลายคน) ได้กระทำสิ่งใดจึงเรียกว่า "เลว" (แต่ที่แน่ๆ คือคนพูดเป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้บอกว่าดีอย่างไร ทว่า นัยของมันคือทั้งผู้พูดและผู้ฟังต้องเข้าใจตรงกันว่าอะไรคือดี และอะไรคือเลว )

คนเลวของผู้พูดจะหมายถึงคนที่กินเนื้อสัตว์? คนยิว? หมายถึงพ่อค้ายาบ้า? หมายถึงแก๊งส์ซามูไร? หมายถึงนักการเมือง? หมายถึงคนที่ไม่รักชาติ? หมายถึงคนที่ทรยศต่อชาติ? (เช่นไปเข้าข้างเขมร?) หมายถึงคนที่ไม่ชอบในสิ่งที่คนอื่นชอบ? หมายถึงคนไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นๆ ทำ? หมายถึงคนที่ไม่เชื่อในสิ่งที่คนอื่นเชื่อ ?

ยิ่งพยายามคิด ฉันยิ่งผวาหวาดกลัวคนดี และไม่อยากเป็น"ยิว"ที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากไปกว่านั้น
ไม่อยากเห็นคนดีหน้าตาเหมือนฮิตเลอร์



.