.
แบบอย่างของการประหยัด
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 96
เจ้าชายวิลเลี่ยม และ ดัชเชส เคท แต่งงานครบ 3 เดือนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เป็นเรื่องปกติที่ ดัชเชส เคท จะถูกจับตาในเรื่องของการวางตัวและแต่งตัว ซึ่งสื่อมวลชนทั้งหลายให้ความเห็นตรงกันว่า ดัชเชส เคท วางตัวเหมาะสม ไม่ฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการแต่งตัวที่ไม่เพียงแต่จะสวมเสื้อยี่ห้อธรรมดาราคาไม่แพง คนทั่วไปสามารถซื้อใส่ได้ ดัชเชส เคท ยังได้รับคำชื่นชมในเรื่องการสวมเสื้อผ้าซ้ำออกงานด้วยความมั่นใจ
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในงานแต่งงานของ ซาร่า ฟิลลิปส์ ธิดาของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ซึ่งเป็นพระธิดาของพระราชินีเอลิซาเบธ ดัชเชส เคท ก็สวมเสื้อโค้ตสีทองชุดเดียวกับที่เธอเคยสวมเมื่อ 5 ปีก่อนในงานแต่งงานของลูกสาว คามิลล่า พาร์กเกอร์ โบว์ลส์ พระชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
ไม่ว่า ดัชเชส เคท เลือกที่จะสวมชุดซ้ำออกงาน หรือได้รับคำแนะนำว่าควรสวมชุดซ้ำ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
การที่ ดัชเชส เคท สวมชุดซ้ำแสดงให้เห็นว่าเธอก็เหมือนคนธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ได้ทำตัวเหมือนคนดังที่สวมชุดออกงานหนเดียวแล้ววนกลับมาใช้อีกไม่ได้
นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าเธอใส่ใจกับสภาพเศรษฐกิจอังกฤษที่ตอนนี้มีอัตราคนว่างงาน 7.7 เปอร์เซ็นต์ หากเปลี่ยนชุดไม่ซ้ำเวลาออกงาน ก็จะถูกวิจารณ์ว่าฟุ่มเฟือย
การเวียนสวมชุดซ้ำเป็นเรื่องปกติที่ควรทำ การที่คนดังหรือดาราไทยบางท่านให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแต่งตัวอยู่เรื่อยๆ ว่าชุดไหนใส่ออกงานแล้วนำกลับมาใส่อีกไม่ได้ ถือเป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ที่ว่าการสวมชุดซ้ำเป็นเรื่องน่าอาย เพียงเพราะว่าคนอื่นจำได้
ทำให้สาวๆ สมัยนี้เวลาได้รับเชิญไปงานแต่งงานมักเครียดเรื่องหาชุดใหม่มาสวม
เครียดเรื่องชุดพอๆ กับเจ้าสาวเลยทีเดียว!
คนดังระดับโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องการสวมชุดไม่เคยซ้ำคือ ดอลลี่ พาร์ตัน นักร้องเพลงคันทรี เจ้าของเพลงฮิตตลอดกาล I will always love you เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่เคยสวมชุดซ้ำเลย
ชุดไหนที่สวมแล้วแม้เพียงหนเดียว เธอเก็บใส่เข้าตู้ทันที และจะไม่เห็นชุดนั้นอีกตลอดชีวิต
แม้ ดอลลี่ พาร์ตัน จะไม่เคยสวมชุดซ้ำ แต่เธอก็ถูกวิจารณ์เสมอว่าเป็นคนแต่งตัวแย่ ไร้รสนิยมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเธอไปแล้ว
ซึ่งเธอก็ตอบกลับด้วยอารมณ์ขันและกลายเป็นประโยคอมตะว่า " It costs a lot of money to look this cheap." แปลว่า "ฉันใช้เงินไปเยอะในการแต่งตัวให้ดูเป็นเสื้อผ้าราคาถูกแบบนี้"
ในขณะที่ ดัชเชส เคท แม้จะสวมชุดซ้ำเป็นประจำ แต่ได้รับการยกย่องให้เป็น Fashion Icon เสื้อผ้าชุดไหนที่เธอใส่ออกงาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปรากฏตัว ชุดนั้นจะขายหมดทันที หรือถูกนำมาประมูลทาง Ebay โก่งราคาขึ้นอีกหลายเท่าตัว
การมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากมายเกินความจำเป็น เปลี่ยนเสื้อผ้าไม่ซ้ำ ไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจทั่วโลกฝืดเคือง
แม้แต่ อีเมลด้า มาร์กอส ที่ทิ้งรองเท้าเบอร์ 8.5 ไว้ที่ทำเนียบมาลากันยังถึง 2,700 คู่ ตอนหอบสมบัติหนีออกนอกประเทศเมื่อปี 1986 ยังออกมาแก้ตัวว่าเธอไม่ได้มีรองเท้าเป็นพันคู่อย่างที่ร่ำลือกัน
โดยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อีเมลด้า มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของฟิลิปปินส์ออกมาให้สัมภาษณ์พิเศษเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 82 ปีของเธอ เธอเล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาตลอดจนเรื่องรองเท้า โดยบอกว่าความจริงแล้วเธอมีรองเท้าไม่ถึง 200 คู่ ตอนที่เธอพบรักอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส เธอสวมรองเท้าแตะปัจจุบันนี้เธอแทบจะไม่สวมรองเท้าในชีวิตประจำวัน
การแต่งตัวดีไม่จำเป็นต้องใช้ของราคาแพง ตามแฟชั่น หรือสวมเสื้อผ้าไม่ซ้ำ
แต่การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาดสะอ้าน ถูกกาลเทศะต่างหากที่ผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ไม่มีวันเชย
. . . . . . . . . . .
Kate Middleton and Her Regal Fashion and Style
http://www.youtube.com/watch?v=MM-m0oPbqLQ&feature=related
++
เรื่องความเป็นความตายที่ถูกมองข้าม
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 96
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บิล เกตส์ ได้บริจาคเงิน 1,260 ล้านบาท เพื่อพัฒนาส้วมในประเทศกำลังพัฒนา
เงินบริจาคของ บิล เกตส์ จำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะใช้ในการคิดค้นวิธีสร้างห้องน้ำราคาประหยัดที่ถูกสุขลักษณะ ทำให้คนประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสใช้ห้องน้ำที่สะอาด และนำสิ่งปฏิกูลกลับมาใช้เป็นพลังงาน
ชักโครกที่มีรูปแบบ และกลไกใกล้เคียงกับชักโครกสมัยนี้ได้รับการประดิษฐ์และจดสิทธิบัตรเมื่อปี ค.ศ.1775 โดยช่างทำนาฬิกาชื่อ อเล็กซานเดอร์ คัมมิ่งส์ (Alexander Cummings)
เวลาผ่านไปตั้ง 200 กว่าปี แต่ปรากฏว่ามีประชากรของโลกเราถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่มีโอกาสใช้ส้วมชักโครกเพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยนั้นแพงมาก
ไม่เคยมีใครบริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อค้นคว้าพัฒนาห้องน้ำอย่างนี้มาก่อน
บิล เกตส์ ไม่ได้มีความคิดแปลก แต่คิดถึงปัญหาที่คนมักจะมองข้ามเพราะเรื่องห้องน้ำเป็นประเด็นที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงกัน พูดไปแล้ว
คิดภาพตามอาจทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน ทำให้กลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในการนำมาเป็นหัวข้อสนทนา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวกับความเป็นความตายเลยทีเดียว
บิล เกตส์ และเมลินด้าภรรยาของเขาเคยให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อปีกลายว่าภายใน 5 ปี จะบริจาคเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 45,000 ล้านบาท เพื่อทำการวิจัยและผลิตวัคซีนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ส่วนการวิจัยพัฒนาสร้างห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะเมื่อมีสุขอนามัยดีจะช่วยลดอัตราเจ็บป่วยจากเชื้อโรค
ห้องน้ำสกปรกไม่ถูกหลักอนามัยเป็นต้นเหตุของโรคร้ายหลายชนิด เช่น อหิวาต์ โรคบิด โรคทางเดินอาหาร และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ ยิ่งอันตรายขึ้นไปอีกหากไม่มีห้องน้ำใช้เลย ปวดที่ไหน ถ่ายที่นั่น ทำให้อุจจาระ ปัสสาวะปะปนกับน้ำ อาหารที่ใช้ดื่มใช้กิน
ทุกปีมีเด็กเสียชีวิตจากการดื่มน้ำ ทานอาหารที่ปนเปื้อนของเสียที่คนขับถ่ายปีละ 1.2 ล้านคน
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) พบว่าพลโลกของเราจำนวนถึง 1,200 ล้านคน ไม่มีห้องน้ำใช้สร้างปัญหากองโตที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา
ถามว่าบ้านที่ไม่มีห้องน้ำใช้ คนในบ้านมีวิธีปลดทุกข์อย่างไร
คำตอบก็คือ Flying Toilet หรือส้วมบิน ซึ่งไม่ใช่ส้วมบนเครื่องบิน แต่เป็นคำเรียกวิธีการขับถ่ายที่ปฏิบัติกันในชุมชมแออัดในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาที่ไม่มีห้องน้ำใช้ในบ้าน จึงต้องขับถ่ายใส่ในถุงพลาสติก เมื่อเสร็จกิจก็เหวี่ยงถุงลอยออกนอกหน้าต่างให้พ้นๆ บ้านตัวเอง ซึ่งตกตามทางเดินบ้างหรือหลังคาบ้านบ้าง ก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก
อันตรายทันทีก็คือโดนส้วมบินตกใส่ตามเนื้อตามตัวถ้าเจ้าของ Flying Toilet เหวี่ยงถุงแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ
แม้เหวี่ยง Flying Toilet ออกไปแล้วไม่มีผู้โชคร้ายโดนถุง อันตรายต่อมาก็คือถุงพลาสติกที่มีของเสียจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
กล่าวกันว่าการจะดูว่าประเทศนั้นๆ เจริญหรือไม่ คนในประเทศมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือเปล่า สามารถดูได้จากความสะอาดของห้องน้ำสาธารณะ
สมัยที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิคปี 2008 รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณถึง 1,800 ล้านบาท สร้างห้องน้ำสาธารณะในกรุงปักกิ่งให้เป็นส้วมที่ได้มาตรฐานสากล โดยสร้างห้องน้ำสาธารณะในปักกิ่งถึง 5,355 แห่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่ทันสมัย คนจีนมีระเบียบวินัย ลบล้างคำพูดล้อเลียนห้องน้ำในประเทศจีนที่ว่า "เวลาหาห้องน้ำในเมืองจีน ให้หลับตาเดินตามกลิ่นก็หาเจอ"
เนื่องจากห้องน้ำสาธารณะในเมืองจีนมีชื่อเสียงเรื่องความสกปรกอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่บ้านเมืองสะอาดติดอันดับต้นๆ ของโลกได้เริ่มรณรงค์ให้คนเพิ่มระดับความสะอาดของห้องน้ำภายใต้เแคมเปญ LOO ซึ่งแปลตรงตัวว่าห้องน้ำ เอามาจากชื่อเต็มว่า Let"s Observe Ourselves หรือมาสำรวจตัวเองกันหน่อยซิ โดยรัฐบาลแจกคู่มือมารยาทในการใช้ห้องน้ำอย่างถูกวิธีให้กับประชาชน
จุดประสงค์ของแคมเปญ LOO คือต้องการผลักดันมาตรฐานของห้องน้ำสาธารณะในสิงคโปร์ที่มีอยู่ 30,000 แห่ง ให้มีความสะอาดในระดับ 3 ดาวเป็นอย่างน้อย (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) ภายในปี 2013
สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับห้องน้ำมากถึงกับมีสมาคมห้องน้ำชื่อ Restroom Association ประธานของสมาคมบอกว่ามารยาทในการใช้ห้องน้ำสะท้อนถึงวัฒนธรรมของคนในประเทศ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความศิวิไลซ์ของคนในประเทศ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย