http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-04

"คุก" ของใคร ครอบทับไว้เหนือ "หอคำ" และ งาช้างเมืองน่านฯ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

"คุก" ของใคร ครอบทับไว้เหนือ "หอคำ"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 75


กรณีการสร้าง "คุก" หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า "คอก" ครอบทับ "หอคำ" ("คุ้มหลวง") กลางเวียงมหานครเชียงใหม่นั้น เปรียบเสมือน "หนามยอกอก" ที่คอยทิ่มแทงจิตใจชาวเมืองเหนือมาตลอดหนึ่งศตวรรษเศษ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนเชียงใหม่เริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ขอย้ายคุก ซึ่งยังคงเหลือเฉพาะในส่วนของ "ทัณฑสถานหญิง" ให้ออกไปนอกเมืองตามอย่างทัณฑสถานชาย ณ พื้นที่ที่เหมาะสม

ไม่ใช่เอาคุกมาตั้งประจานไว้เด่นหราท่ามกลางแหล่งอารยธรรมอยู่เช่นนี้ !

ปี พ.ศ.2544 ยุครัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยวางแผนให้ย้ายคุกดังกล่าวออกไปสร้างใหม่ที่อำเภอแม่แตง พร้อมกับมีโครงการให้รื้ออาคารทั้งหมดภายในคุกเพื่อจัดทำเป็น "ข่วงหลวง" หรือสวนสาธารณะลานคนเมือง

แต่จนแล้วจนรอดเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบ ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากกรมราชทัณฑ์ ทั้งๆ ที่เคยมีการจัดสรรงบประมาณก้อนแรกให้ดำเนินการย้ายนักโทษชายไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไฉนยังคงเก็บนักโทษหญิงไว้ที่เดิม

ปริศนาเรื่อง "คุก" กับ "หอคำ" นี้ โคจรมาพัวพันกันได้อย่างไร ทำไมอยู่ดีๆ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นถึง "หอคำ" หรือปราสาทพระราชวังหลวง จึงถูกปรับเปลี่ยนสภาพจนตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังเท้า กลายเป็น "คุก" ได้

และนับต่อแต่นี้ คนเชียงใหม่ควรมีท่าทีอย่างไรกับคุกนั่น?


หอคำ คุ้มหลวง เวียงแก้ว

ที่ตั้งของทัณฑสถานหญิงเมื่อครั้งอดีตย้อนกลับไปสู่ปี พ.ศ.1839 พระญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ใช้พื้นที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ จากแผ่นดินว่างเปล่าได้สถาปนาให้เป็นเขตพระราชฐาน หรือที่เรียกว่า "เวียงแก้ว"

ภายในเวียงแก้วเป็นที่ตั้งของ "คุ้มหลวง" หรือ "หอคำ" ซึ่งกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายทุกพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นี่อย่างต่อเนื่องมาตลอด จนแม้กระทั่งช่วงที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้วก็ตาม บริเวณนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงอยู่

คำว่า "หอคำ" กับ "คุ้มหลวง" ตกลงจะใช้คำไหน เหมือนหรือต่างกันอย่างไรหรือไม่ ผู้รู้หลายท่านอธิบายไว้ชัดเจนว่า

สมัยก่อนนั้น ที่อยู่ของเจ้าเมืองในล้านนาเดิมเคยเรียกกันง่ายๆ ว่า "โรง" (อ่าน "โฮง") อาจทำด้วยเครื่องไม้ หรือโรงดิน ค่อยๆ พัฒนามาเป็นอาคารที่ก่ออิฐถือปูน จึงเปลี่ยนไปเรียกว่า "หอ" ไม่เพียงแต่ชาวไทในล้านนาเท่านั้นที่เรียกวังว่า "หอ" แม้แต่คนไทอาหมแห่งรัฐอัสสัมของอินเดียตะวันออกซึ่งติดกับพม่า ก็เรียกที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมืองว่า หอนอน หรือ หอหลวง ด้วยเช่นกัน

ต่อมาคำว่า "โรง" ก็ดี หรือ "หอ" ก็ดี ถูกนำไปใช้เรียกอาคารอื่นๆ จนสับสนปนเปไปหมด เช่น โรงพระ หมายถึงกุฏิ หรือหอเจ้าที่ หอผี

จึงทำให้มีการเปลี่ยนจาก "หอ" เฉยๆ เพิ่มฐานานุศักดิ์ขึ้นอีกนิดเพื่อแสดงความแตกต่างจากอาคารอื่นเป็น "หอคำ" หมายถึง "ปราสาททอง"

ส่วนคำว่า "คุ้มหลวง" ก็ใช้ในความหมายเดียวกันกับ "หอคำ" ทั้งเป็นคำที่ปรากฏในเอกสารตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ด้วย ซึ่งหมายถึง พระบรมมหาราชวัง นั่นเอง

หากใช้ว่า "คุ้ม" คำเดียว หมายถึงที่ประทับของเจ้านายองค์อื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากกษัตริย์ คำว่าคุ้ม จึงหมายถึง "วัง" ในภาษาไทย กล่าวคือ คุ้มหรือวังมีได้หลายแห่งเพราะมีเจ้านายหลายคน

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าพระญามังรายได้สร้างอาคารต่างๆ หลายหลัง กอปรด้วย หอนอน ราชวังคุ้มน้อย โรงคัล (สถานที่เข้าเฝ้า) โรงคำ (ท้องพระโรงที่เสด็จออกราชการ) เหล้ม (พระคลังมหาสมบัติ) ฉางหลวง (ที่เก็บเสบียง) โรงช้าง โรงม้า ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้รวมกันอยู่ในบริเวณหอคำ

ฉะนั้น คำว่าหอคำ จึงมีความหมายสองนัย นัยแรกหมายถึงเฉพาะหอที่ประทับ (คุ้มหลวง) ส่วนอีกนัยหมายถึงบริเวณทั้งหมดที่เป็นเขตพระราชฐานของกษัตริย์ (เวียงแก้ว)

สรุปแล้ว "คุ้มหลวง" กับ "หอคำ" มีความหมายเดียวกัน ชาวเชียงใหม่ ลำปาง (นครขนาดใหญ่) นิยมเรียกว่า "หอคำ" ตามภาษาเดิม ส่วนชาวล้านนาในนครขนาดเล็กลงมา เช่น ลำพูน แพร่ น่าน นิยมเรียกว่า "คุ้มหลวง" หรือ "คุ้มเจ้าหลวง"



คอกทับคุ้ม เท่ากับ "ขึด"!

และแล้ว การเข้ามาของระบอบการปกครองหัวเมืองประเทศราชในยุคมณฑลเทศาภิบาล สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้จัดการรื้อคุ้มเจ้าหลวงหรือหอคำในล้านนาทิ้งลงหลายแห่ง เมื่อเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของแต่ละเมืองถึงแก่พิราลัย รัฐสยามได้ถือโอกาสส่งผู้ตรวจราชการมณฑลเทศาภิบาลเข้ามาดูแลหัวเมืองเหล่านี้แทนที่การแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครองค์ถัดไป

การปิดฉากบทบาททางด้านการบริหารบ้านเมืองของเจ้านายฝ่ายเหนือ ย่อมทำให้เกิดการอวสานของหอคำหรือคุ้มหลวงตามไปด้วย แต่แทนที่จะรื้อหอคำลงแบบธรรมดา หรือปรับเปลี่ยนไปเป็นศาลากลางจังหวัด ดังเช่นที่เมืองน่านและแพร่ แต่ในหลายเมืองกลับพบว่ามีการสร้าง "คุก" หรือ "คอก" ครอบทับพื้นที่หอคำเก่า

ปรากฏการณ์นี้ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับเชียงใหม่เพียงเมืองเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับนครลำปาง และลำพูนอีกด้วย

โชคดีที่นครลำปาง เทศบาลได้ทำการรื้อคุกที่มาตั้งประจานอยู่กลางเวียงเยื้องกับหอคำนั้นลงเสีย แล้วปรับพื้นที่ใหม่เป็นย่านตลาดร้านค้าทำให้พ้นจากสภาพทัศนะอุจาดไปได้แล้ว

ส่วนลำพูนนั้น คุกมิได้สร้างครอบทับ "คุ้มหลวง" หากแต่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น คุกยุคมณฑลเทศาภิบาลตั้งเด่นหราอยู่ตรงข้ามกับพระบรมธาตุหริภุญไชย ศูนย์รวมจิตใจชาวเหนือทั้งมวล โดยการรื้อ "วัดแสนข้าวห่อ" ซึ่งรัฐบาลยุคโน้นอ้างว่าบริเวณใจกลางเมืองเก่าลำพูนนั้นมีวัดเบียดแน่นมากเกินไป จึงได้วิสาสะทำการเปลี่ยนวัดให้กลายเป็นคุก

โดยหารู้ไม่ว่า การที่กลางเมืองลำพูนมีวัดชนวัดมากมายขนาดนี้ ก็เพราะคนในอดีตตั้งใจจะให้วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางศาสนจักรแห่งลุ่มแม่น้ำโขง-สาละวิน จึงได้สร้างวัดบริวารรายรอบองค์พระธาตุซึ่งเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุไว้แปดวัด แทนการเผยแผ่ศาสนาไปยังทิศทั้งแปด ได้แก่

วัดช้างสี-ทิศเหนือ วัดศรีบุญเรือง-ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วัดแสนข้าวห่อ-ทิศตะวันตก วัดไชยมงคล-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดสุพรรณรังษี-ทิศใต้ วัดธงสัจจะ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดเปลือกเต้า-ทิศตะวันออก (ถูกรื้อไปแล้วกลายเป็นบ้านพักของสรรพากรจังหวัด) และวัดช้างรอง-ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เหตุที่ไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้ จึงได้มารื้อวัดแสนข้าวห่อ (รวมทั้งวัดเปลือกเต้า) ลง ทำให้วัดบริวารที่รายล้อมพระธาตุหริภุญไชยควรมีครบ 8 ทิศต้องเหลืออยู่เพียง 6 ทิศ !

วัดแสนข้าวห่อตกอยู่ในสภาพคุกอยู่นานหลายสิบปี จนกระทั่ง พ.ศ.2518 กรมศิลปากรมีดำริจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยขึ้น จึงได้มีการย้ายเรือนจำออกไปสร้างใหม่ที่นอกเมืองแถวตำบลริมปิง

การสร้างคุกครอบทับหอคำเก่าที่เชียงใหม่และลำปาง หรือการเอาคุกมาวางประชิดกับองค์พระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์เช่นกรณีของลำพูนนั้น รัฐบาลสยามอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดให้นักโทษอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับศาลและสถานีตำรวจ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีที่ทำการอยู่กลางเวียง หากนักโทษจะหนีก็มิอาจรอดพ้นสายตาของทางการไปได้

แต่ทว่าในมุมมองของคนล้านนานั้น กลับเห็นต่าง คนที่มีอายุเกินครึ่งศตวรรษส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุกที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เหล่านี้ แท้ที่จริงแล้ว ชาวสยามสร้างขึ้นเพื่อต้องการทำลายพระราชวังของกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายรวมไปถึงราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนของพระญากาวิละ

คนเหนือเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า "ขึด"! กาลีบ้านกาลีเมือง หรือเสนียดจัญไร !

การเปลี่ยนหอคำให้กลายเป็นคุก ว่าไปแล้ว ก็คือการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ขึ้นข่มขวัญคนพื้นเมือง เป็นการสาปให้เจ้าต้องกลายเป็นนักโทษชั่วนิรันดร์

คุกกลางเวียงจึงเท่ากับคมหอกที่ปักลงกลางอกของคนเมือง คือกรงที่ขังจิตวิญญาณของคนล้านนาไว้มิให้มีอิสรภาพ ในขณะที่ชาวลำปาง ลำพูน ได้แปรสภาพคุกเป็นตลาดและพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ทว่าชาวเชียงใหม่เล่า...



ประวัติศาสตร์กับความทรงจำ
โบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ?

เมื่อกลางปี พ.ศ.2552 ได้มีการจัดเสวนาของกลุ่มนักขับเคลื่อนวัฒนธรรมล้านนา เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าหากมีการย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปอยู่ที่แม่แตงในอนาคตแล้ว จะปรับพื้นที่ 17 ไร่ที่เคยกุมขังนักโทษหญิงหลายพันชีวิตแห่งนี้ไว้ทำอะไร

ตอนแรก เทศบาลนครเชียงใหม่เคยเสนอว่า หากได้รับการถ่ายโอนให้เป็นผู้ดูแลสถานที่จากกรมราชทัณฑ์แล้ว จะทำการรื้ออาคารออกทั้งหมด แล้วปรับเป็นสวนสาธารณะ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงเวลาเดินผ่าน

แต่ทว่าความเห็นนี้กลับถูกตีแสกหน้ากลับมา

"สวนสาธารณะในเชียงใหม่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองแล้ว ไยจึงยอมจำนนอยู่แต่เพียงโจทย์เดิมๆ ที่พอพ้นจากคุกแล้วก็ต้องกลายมาเป็นสวน เหมือนคุกเก่าที่กลายเป็นสวนรมณีนาถกลางกรุงเทพฯ"

คำถามนี้ท้าทายให้นักประวัติศาสตร์และนักอนุรักษ์ท้องถิ่นต้องออกมาเสนอแนวคิดใหม่ว่า

"ไหนๆ คุกแห่งนี้ก็เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ล้านนาไปแล้ว ความทรงจำแม้จะขมขื่นเจ็บปวดเพียงใด แต่มันก็คือประวัติศาสตร์ อาคารที่ขังนักโทษนี้ อย่างน้อยก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่มีค่าแก่การรักษาไว้"

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งเปิดเผยว่าเคยเข้าไปถ่ายทำสารคดี แล้วพบว่าด้านในคุกแห่งนี้มีอุโมงค์ใต้ดิน เป็นห้องขังนักโทษแบบขังเดี่ยวสำหรับนักโทษชาย 5 ห้อง และยังมีคุกมืดใต้ดินที่อยู่ในสภาพค่อนข้างดี หากอนุรักษ์อาคารนี้ไว้แล้วเปิดให้คนเข้าไปชม คิดว่าเทศบาลน่าจะได้เม็ดเงินมากกว่าการทำเป็นสวนสาธารณะ เหมือนดั่งคุกในอิตาลีและคุกโบราณของยุโรปที่เปิดให้คนได้เยี่ยมชม

ตอกย้ำด้วยการโยนเผือกร้อนไปถามนักโบราณคดีของกรมศิลปากรว่า คุกแห่งนี้มีอายุเกินกว่า 100 ปีแล้ว (นับถึง พ.ศ.2554 ก็ครบ 108 ปี) จัดเป็นโบราณสถานได้หรือไม่ มุมมองของนักโบราณคดีบางคนก็เห็นดีเห็นงามว่าสมควรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ให้อนุรักษ์เก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เรือนจำชั่วกาลนานให้ลูกหลานไว้ดู เพราะครั้งหนึ่งพื้นที่นี้ก็มีคุณค่าอันซ้อนทับทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย

แต่ทำไมนักโบราณคดีกลับไม่มองให้ลึกลงไปถึงชั้นใต้ดินบ้างเล่า ว่าที่บริเวณนี้พบซากซุ้มประตูโขงอยู่ข้างคุก ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นงดงามสมัยล้านนา สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ส่วนล่างมีลายปูนปั้นรูปสิงห์สวยงามถูกทอดทิ้งเอาไว้ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของหอคำ-เวียงแก้ว

คนที่คัดค้านแนวคิดของการอนุรักษ์คุกที่ครอบทับหอคำในทุกเวที ชัดเจนและเปิดเผยมากที่สุดก็คือ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า

"คุกแห่งนั้นหาใช่อาคารที่มีคุณค่าในฐานะหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ล้านนาไม่ แต่มันคือเครื่องหมายของการทำลายหัวใจคนเชียงใหม่และล้านนาไปอย่างย่อยยับ ในอดีตผู้มีอำนาจขยายอาณาเขตเข้ามาครอบครองพื้นที่ในภาคเหนือ โดยจงใจใช้ที่คุ้มเจ้าหลวงเป็นคุกขังคน เหตุผลก็คือ ต้องการตัดไม้ข่มนาม มิให้คนชายขอบได้โงหัว"

เสียงขอร้องวิงวอนในเวทีประชาพิจารณ์ของคนเชียงใหม่เริ่มกลับมาดังก้องขึ้นอีกครั้ง กับว่าที่นายกรัฐมนตรีผู้เป็นแม่ญิงล้านนา พร้อมกับคำถามที่ควรได้รับคำตอบว่า

"ชาวเชียงใหม่อยากจะรักษาตึกอายุร้อยปีในเรือนจำต่างๆ เอาไว้เป็นคราบความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ว่าครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การกดขี่ชี้นำ หรือเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดซาก "หอคำ" ซึ่งเคยถูก "คุก" ครอบทับ ให้กลับคืนมา คืนจิตวิญญาณของชาวเชียงใหม่ที่ถูกกักขังนั้นด้วยการเปิดพื้นที่ "ข่วงหลวง" ให้เป็นสวนสาธารณะแก่ประชาชนชาวบ้าน"



++

งาช้างเมืองน่าน จาก "งาช้างดำ" ถึง "งาช้างหาย"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 77


ยังไม่มีอะไรคืบหน้าสำหรับข่าว "งาช้างเมืองน่าน" จากพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าราชบุตร ซึ่งสูญหายไปในคืนที่กรมศิลป์มาแสดงโขนฉลองครบรอบ 100 ปีพอดิบพอดี ผ่านมาแล้วสองเดือนเต็ม ท่ามกลางความลืมเลือนของผู้คนในสังคม ตามธรรมเนียมที่ว่า หากข่าวไหนไม่มีการประโคมซ้ำ เรื่องราวนั้นก็ย่อมเงียบหายคล้ายคลื่นกระทบฝั่ง

งาช้างหายไปได้อย่างไร เป็นงาช้างดำอันลือลั่น หรืองาช้างขาวทั่วไป คาดว่าจะได้คืนไหม แล้วหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างไร

ปริศนาทั้งหมดคือสิ่งที่ผู้คนสงสัย ดิฉันจึงไปเยี่ยมคุ้มเจ้าราชบุตรที่เมืองน่านเมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากจะยังไม่มีวี่แววว่าจะได้งาช้างกลับคืนแล้ว

มิหนำซ้ำทายาทผู้ดูแลคุ้มซึ่งควรจะเป็น "โจทก์" กลับถูกปรักปรำให้กลายเป็น "จำเลย" ด้วยการบังคับให้รับสารภาพว่า เจ้าของคุ้มคือผู้ขโมยงาช้างนั้นเสียเอง???


งาช้างดำ คำสาปแช่งแห่งเจ้าผู้ครองนครน่าน

ตอนที่ข่าวหลายฉบับพาดหัวว่า "ด่วน! งาช้างเมืองน่านหาย" หลายคนตกอกตกใจนึกว่า เป็น "งาช้างดำ" หนึ่งเดียวในประเทศไทย สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

แต่เมื่ออ่านรายละเอียดจึงได้รู้ว่า เป็นงาช้างขาวหรืองาช้างเผือกที่พบทั่วไป นักอนุรักษ์ต่างโล่งอกไปตามๆ กัน

อันที่จริงแล้ว ไม่ว่างาช้างดำหรืองาช้างขาว หากขึ้นชื่อว่าถูกขโมยหายไปจากพิพิธภัณฑ์ มองในแง่ความสะเทือนใจที่ต้องสูญเสียมรดกของแผ่นดินให้แก่มิจฉาชีพ ดีกรีความเจ็บปวดก็ไม่น่าจะแตกต่างกันเท่าใดนัก

งาช้างดำนั้นสำคัญไฉน ไยจึงต้องตื่นตระหนกยิ่งกว่างาช้างขาวหากจะต้องมีการสูญหาย

เหตุเพราะงาช้างดำที่เมืองน่าน มิใช่งาช้างธรรมดาแต่ได้มีการลงคำสาปแช่งไว้ในนั้นด้วย ที่มาของงาช้างดำเมืองน่านยังไม่เป็นที่ยุติ มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาหลายกระแส

บ้างก็ว่าได้มาตั้งแต่สมัยของพระญาสุมนเทวราช (พ.ศ.2353-2386) เกิดจากพรานชาวเมืองน่านผู้หนึ่งได้เข้าป่าล่าสัตว์ไปจนถึงเขตแดนระหว่างรัฐล้านนากับเขมรัฐ (เชียงตุง) ได้พบซากช้างงาสีดำสนิทตายในลำห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบพร้อมๆ กัน

พรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง ต่างคนก็นำมาถวายเจ้าเมืองของตน

ต่อมาเจ้าเมืองเขมรัฐได้ส่งสาส์นมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า ตราบใดงาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันจนกว่าจะหาไม่

ส่วนอีกตำนานเล่าว่างาช้างดำมีอายุเก่าแก่ไปกว่านั้นอีกถึงสี่ศตวรรษ นั่นคือราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตรงกับสมัยพระญาการเมือง เจ้าผู้

ครองนครน่านองค์ที่ 6 ทรงได้มาจากตอนยกทัพไปทำสงครามล้อมเมืองเชียงตุงอยู่นานหลายเดือน ชาวเชียงตุงเดือดร้อนอดอยากปากแห้ง โหรหลวงจึงทูลเจ้าเมืองเชียงตุงว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเชียงตุงมีงาช้างดำอยู่ด้วยกันหนึ่งคู่ ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วไม่ควรเก็บรักษาไว้ด้วยกันเนื่องจากมีฤทธิ์อำนาจแรง หากแยกออกจากกันอาจช่วยคลายอาถรรพณ์ลงได้บ้าง

เจ้าเมืองเขมรัฐตัดสินพระทัยเจรจาอย่าศึก ขอให้พระญาการเมืองยุติสงครามพร้อมกับถวายงาช้างดำเป็นบรรณาการ ขอร้องให้เก็บรักษางาช้างดำนี้ไว้คนละกิ่ง น่านได้รับมอบงาช้างดำข้างซ้าย ส่วนเชียงตุงเก็บงาข้างขวาไว้ แล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล

ฝ่ายเจ้าเมืองน่านได้ทำพิธีสาปแช่งเอาไว้ว่า จักเก็บรักษางาช้างดำนี้ไว้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ย่อมต้องมีอันเป็นไป

ด้วยเหตุนี้งาช้างดำกิ่งนี้จึงต้องเก็บไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น ไม่ว่าตำนานไหนจะคือข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ที่แน่ๆ เรื่องงาช้างดำต้องเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงตุง

เมื่องาช้างดำได้ลงคำสาปแช่ง แล้วงาช้างขาวสองคู่ของคุ้มเจ้าราชบุตรเล่า คนใจบาปที่ขโมยไปจักถูกฟ้าดินลงทัณฑ์ด้วยหรือไม่ ?


คุ้มเจ้าราชบุตร หมอกฟ้า ณ น่าน
เสียแรงร่วมสืบสานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) คือสถานที่เก็บรักษางาช้างหลายกิ่งที่ถูกขโมยไปในค่ำคืนวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งในอดีตยังเคยเก็บรักษา "งาช้างดำ" คู่บ้านคู่เมืองของชาวน่านมาก่อนที่จะส่งมอบให้กรมศิลปากรนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านในเวลาต่อมา

อันที่จริงเมืองน่านยังมีคุ้มเจ้านายที่งดงามหลงเหลืออยู่อีกหลายคุ้ม อาทิ คุ้มเจ้าเทพมาลา คุ้มเจ้าเมฆวดี คุ้มเจ้าจันทร์ทองดี ฯลฯ แต่คนทั่วไปรู้จักอยู่แต่เพียงคุ้มเจ้าราชบุตรเท่านั้น เนื่องจากคุ้มแห่งนี้ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้องกับเจ้าผู้ครองนครน่าน ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ให้แก่ผู้มาเยือนโดยไม่เก็บค่าเข้าชม เปิดบริการมาแล้ว 12 ปีเต็ม

ตัวคุ้มเจ้าราชบุตรนั้นตั้งอยู่ภายในกำแพงที่รายล้อมด้วยต้นไม้ดกครึ้ม ใจกลางเมืองน่าน เยื้องกับวัดหัวข่วงและวัดช้างค้ำ

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเรือนไม้สักทองสองชั้น ทรงปั้นหยา หลังคามุงกระเบื้อง ตกแต่งลูกกรงระเบียง บานหน้าต่างและช่องแสงด้วยลวดลายฉลุไม้แบบขนมปังขิง อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยรัชกาลที่ 5

คุ้มนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2398-2409 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2484 เดิมเป็นที่อยู่ของเจ้าน้อยพรหม ณ น่าน ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นนายพลตรีเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 จึงได้ย้ายไปประทับที่หอคำหลวง (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน)

ท่านจึงได้ยกคุ้มแห่งนี้ให้แก่เจ้าราชบุตรคือเจ้าประพันธ์พงศ์ หรือเจ้าน้อยหมอกฟ้า ณ น่าน ต่อมาตกเป็นของทายาทคือเจ้าโคมทอง ณ น่าน และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเจ้าสมปรารถนา ณ น่าน

เมื่อกระแสของการปรับคุ้มเจ้านายให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มาแรงในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าสมปรารถนา ณ น่าน ก็มีจิตสาธารณะที่ร่วมเปิดคุ้มเจ้าราชบุตรให้คนได้เยี่ยมชมเช่นกัน สิ่งของที่จัดแสดงภายในคุ้มดังที่เห็นในภาพนี้ กอปรด้วยภาพเก่าเล่าเรื่องของเจ้านายฝ่ายเหนือ ชุดเครื่องทรง หีบโบราณ ฉัตร ของเจ้าผู้ครองนครน่าน

และแน่นอนที่โดดเด่นสะดุดตามากเป็นพิเศษก็คืองาช้างขนาดใหญ่มากถึง 5 กิ่ง น่าเศร้าใจยิ่งนักที่ภาพนี้ได้กลายเป็นตำนานไปเสียแล้ว



ปริศนางาช้างหาย ใบสั่ง ข้อหา ประชาละเลย

ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าเมื่อกลับมาจากชมการแสดงโขนของกรมศิลปากร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ห่างไกลจากคุ้มเจ้าราชบุตรแต่อย่างใดเลย ขณะที่ไขกุญแจเข้ามายังคุ้ม หัวใจแทบวายเมื่อพบว่างาช้างได้หายไปสองคู่ (สี่กิ่ง) กิ่งใหญ่หนึ่งคู่ กิ่งเล็กอีกหนึ่งคู่ เหลือทิ้งไว้อยู่เพียงแค่กิ่งเดียวตรงกลาง คือกิ่งที่ไม่มีคู่ พร้อมด้วยเงินสดที่ผู้เข้าชมบริจาคด้วยจิตศรัทธาจำนวนสองหมื่นกว่าบาทในพาน

เจ้าสมปรารถนา ณ น่าน ในวัย 65 ปี กล่าวว่าโดยปกติตัวท่านกับสามี นายสถาพร สุริยา จะเฝ้าอยู่ที่คุ้มเกือบตลอดเวลาไม่ค่อยได้ออกไปธุระที่ไหนนานๆ อีกทั้งที่คุ้มไม่มีกล้องวงจรปิดหรือเลี้ยงสุนัข ด้วยเห็นว่าเป็นพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่สาธารณะคนเข้าคนออกเป็นประจำ หากเลี้ยงสุนัขแล้วเกรงจะไม่เป็นมิตรกับประชาชน

แต่เนื่องด้วยวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 วันเกิดเหตุ ช่วงเช้าก็ได้เปิดให้บริการตามปกติ แต่รีบปิดคุ้มเร็วเป็นพิเศษตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมง จากการรับเชิญไปร่วมงานของกรมศิลป์ กลับมาที่คุ้มเวลา 22 น. พบว่าประตูห้องด้านหลังถูกงัด ทะลุเข้ามายังห้องนอน และห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ งาช้างโบราณ 2 คู่ มีความยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร มูลค่านับล้านบาทสูญหายไป

งาช้างแต่ละกิ่งมีน้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัม และมีอายุกว่า 150 ปี เป็นสมบัติที่ตกทอดมาจากเจ้าเมืองน่าน ซึ่งงาช้างเหล่านี้มิใช่การล่าสัตว์จากป่า แต่ได้มาจากช้างที่เลี้ยงไว้ใช้งานภายในคุ้มเอง เรายังคงเห็นบรรยากาศรายรอบคุ้มดกครึ้มไปด้วยดงกล้วยหลายร้อยต้นซึ่งปลูกไว้เป็นอาหารของช้าง

ภายหลังจากแจ้งความแล้ว หนังสือพิมพ์หลายฉบับและทีวีทุกช่องลงข่าวแพร่ภาพอยู่เพียง 1-2 วันแล้วก็เงียบหาย ท่ามกลางความฉงนฉงายและข้อสันนิษฐานต่างๆ นานา

หลายคนสงสัยว่าอาจจะมีใบสั่งของนักสะสมไฮโซ

นกรู้บางคนงงว่าทำไมต้องมาหายในวันที่กรมศิลป์จัดการแสดง

ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น นอกจากจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ ของฝ่ายตำรวจที่ควรจะเร่งติดตามสืบสวนดำเนินคดีค้นหางาช้างกลับคืนมาแล้ว

ในทางกลับกันยังปรักปรำเจ้าสมปรารถนา ณ น่านและสามี ในทำนองว่า "สงสัยจะเป็นผู้ขโมยงาช้างสองคู่นั้นเสียเองแล้วแกล้งแจ้งความเท็จ เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมเมื่อมาเยี่ยมชมคุ้มแล้วไม่พบงาช้าง "

นี่คือความขมขื่นของทายาทเจ้าผู้ครองนครน่าน จนถึงกับทำจดหมายด้วยลายมือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมถึงผู้ใหญ่ในจังหวัด

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีคำตอบจากสวรรค์ เรื่องเงียบหายไปเหมือนกับกรณีความไม่เป็นธรรมในสังคมอื่นๆ หลายเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่



ฤาชาวน่านอยากให้ถึงจุดอวสาน
ของพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าราชบุตร ?

ในเมื่อพึ่งพาฝ่ายนิติรัฐไม่ได้ ถูกผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตราหน้าหยามหมิ่นเกียรติยศว่าเป็นโจรเสียเอง จึงขอถามใจฝ่ายดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตเมืองน่าน ไม่ว่าสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน สักคำเถอะว่า พวกท่านยังทนนิ่งดูดายกับเรื่องงาช้างหายไปสี่กิ่งนี้ได้อย่างไรกัน ไยจึงเพิกเฉยต่อความทุกข์ของผู้สนับสนุนงานวัฒนธรรมท้องถิ่นมาตลอดชีวิต

ในขณะที่กรมศิลป์เองก็มีนโยบายกระตุ้นให้ภาคเอกชนรณรงค์กันเปิดบ้าน เปิดวัด เปิดคุ้ม ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แล้วกรณีของพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าราชบุตรเล่า ต้องปิดตัวเองไปนานแล้วกว่าสองเดือน ภายหลังจากที่เจ้าของคุ้มได้รับความสะเทือนใจทั้งจากสมบัติล้ำค่าสูญหาย และจากการถูกปรักปรำอย่างไร้เหตุผลของคนมีสีเพียงเพื่อจะรีบๆ อำพรางคดี

แถมยังถูกทอดทิ้งจากองค์กรที่มีบทบาทในด้านวัฒนธรรมอีกด้วยล่ะหรือ?

นักขับเคลื่อนวัฒนธรรมเคยรวมตัวกันก่อตั้งชมรมคนรักษ์เมืองน่าน หรืออาสาสมัครอนุรักษ์เมืองเก่าน่าน อะไรต่อมิอะไรหลายชมรมมิใช่หรือ ไม่อยากเชื่อว่าชมรมเหล่านั้นก็มองว่า งาช้างที่หายไปไม่ใช่กงการอะไรของชาวน่าน หากแต่เป็นภาระของเจ้าสมปรารถนา ณ น่าน จึงทอดทิ้งให้ท่านรับชะตากรรมอย่างเดียวดาย

ฉายาที่ว่า "น่านเมืองน่าอยู่ น่านเมืองแห่งความสุขสงบ" จนถึงขนาดพวกอิ่มอุ่นนำไปแต่งเพลงเรียกร้องอยากให้ "น่านน่าอยู่นานนาน" คงหมดความไพเราะไปเสียแล้วกระมัง


ต่อไปนี้จะมีใครให้ความร่วมมือในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จากนี้ไป...บ้านทุกหลังในเมืองน่านต้องเลี้ยงสุนัขและติดตั้งกล้องวงจรปิดแล้วใช่ไหม

หรือถ้าถึงที่สุดของความอดทน เราอาจได้เห็นการขึ้นป้ายไวนิลหน้าคุ้มเจ้าราชบุตรตัวโตๆ ว่า

" ที่นี่งาช้างหาย เขาหาว่าเจ้าของคุ้มเป็นโจร ! "



.