http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-15

อยู่ได้แต่.., แค่ทำตามที่ประชาชนบอก, ฯ นำหน้าไปแล้ว, ทั้งน่าเศร้าและน่าอาย โดย นายดาต้า

.

อยู่ได้แต่ไม่ค่อยสุข
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 21


คุณค่าของชีวิตนั้นอยู่ที่การพึ่งพาตัวเองได้ แต่ความสุขของชีวิตอยู่ที่การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรืออยากทำ ดังนั้น หากต้องการรู้ว่า คนไหนมีความสุขในชีวิตหรือไม่ ให้ดูว่าเป็นผู้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หรือชอบหรือไม่

เราอาจจะมองว่า คนไม่ต้องรับภาระอะไร ใช้ชีวิตสบายๆ ไปวันๆ เป็นคนมีความสุข เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เลย หากใครเคยมีประสบการณ์ในชีวิตแบบนั้น จะพบว่าแม้จะมีเงินใช้สบายๆ แต่ชีวิตไม่เคยมีความสุข

ความห่อเหี่ยวในชีวิตเกิดจากความรู้สึกว่าพึ่งพาตัวเองไม่ได้

คุณค่าของชีวิตเกิดจากการทำงาน

ความสุขของชีวิตเกิดจากได้ทำในงานที่ตัวเองชอบ

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า ชีวิตคนไทยมีความสุขกันแค่ไหน คงต้องดูจากการทำงาน



เมื่อไม่นานมานี้เองมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับ "ความก้าวหน้าของประเทศ พ.ศ.2554" ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันจัดทำขึ้นมามีตัวเลขน่าสนใจ

ประชากรไทย ร้อยละ 83.5 มีงานทำ ร้อยละ 60.7 เชื่อว่ามีความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงาน ร้อยละ 60.1 มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ที่บอกว่ามีระบบสวัสดิการจากการทำงาน ร้อยละ 54.5

จากตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่อย่างน้อยมากกว่าครึ่ง ไม่มีปัญหาความรู้สึกเรื่องชีวิตไม่มีคุณค่า ส่วนใหญ่มีงานทำ สัมผัสได้ถึงความมั่นคงในชีวิต และมีรายได้ที่น่าพอใจ

แต่อย่างที่บอก หากต่อยอดไปถามว่า แล้วชีวิตที่เป็นอยู่มีความสุขดีหรือไม่

ข้อมูลสถิติจากการสำรวจครั้งนี้ จะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง ประชากรไทยที่สามารถทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมามีแค่ร้อยละ 33.5

ได้ทำงานตรงกับสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือชอบ ร้อยละ 29.7 มีที่ดินทำกันของตัวเอง ร้อยละ 27.4 มีโอกาสทำงานในภูมิลำเนา หรือในท้องถิ่นของตัวเอง ร้อยละ 26.5 มีความภูมิใจในหน้าที่การทำงานที่ตนทำ ร้อยละ 21.4 มีชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม ร้อยละ 14.8 มีงานรองรับสำหรับหากต้องตกงาน หรือมีการส่งเสริมการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ร้อยละ 0.2

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า แม้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมั่นคง แต่สำหรับความสุขในชีวิตนั้น ดูท่าจะเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยได้สัมผัสนัก

มีคนส่วนน้อยเท่านั่นที่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ ในเรื่องของความภาคภูมิใจในงานที่ทำยิ่งไปกันใหญ่ เพราะมีคนไม่ถึง 1 ใน 4 ที่มีความรู้สึกเช่นนั้น

การไม่มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ เป็นปัญหาด้านจิตวิทยา ที่ทำให้ชีวิตไม่ได้สัมผัสถึงความสุขที่แท้จริง

โดยสรุปของผลการสำรวจชิ้นนี้คือ ประชากรไทยอยู่ได้ แต่อยู่อย่างไม่มีความสุขนัก



ความภาคภูมิใจในงานที่ทำเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของค่านิยมทางสังคม

สังคมให้ความชื่นชมกับบางอาชีพ แต่กลับรังเกียจเดียดฉันท์ในบางอาชีพ

ให้เกียรติกับคนที่ทำงานโดยใช้สมอง และเงินทุน มากกว่าให้เกียรติคนที่มีอาชีพใช้แรงงงาน

ทั้งที่ถ้าจะว่าไป บางครั้งคนที่ใช้แรงงานทำงานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

การทำให้คนส่วนใหญ่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่หากทำให้คนส่วนใหญ่ชอบงานที่ตัวเองทำ ดูจะเป็นเรื่องง่ายกว่า

ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนค่านิยมของคนในสังคม ให้เห็นว่างานสุจริตทุกงานเป็นอาชีพที่มีเกียรติ
ให้เกียรติกันที่ความดี ความเสียสละต่อส่วนรวมมากกว่าจะให้กันโดยมองในงานที่ทำ

ถ้าเปลี่ยนแปลงค่านิยมนี้ได้ ประชาชนไทยจะมีความสุขขึ้นอีกมาก

และจะว่าไปแล้ว สสส. ซึ่งงานหลักอยู่ที่การสร้าง "สุขภาวะ" ให้คนไทย ควรจะใช้ผลสำรวจที่อุตส่าห์ลงทุนไปทำมาให้เกิดประโยชน์

ตั้งโครงการรณรงค์ให้คนให้เกียรติในความดีมากกว่าประเมินค่าของคนที่ประเภทของอาชีพ



++

แค่ทำตามที่ประชาชนบอก
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 21


ยังไม่ทันได้เริ่มต้นทำงาน รัฐบาลภายใต้การนำของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศก็เริ่มถูกตั้งคำถามแล้วว่า "จะอยู่ได้นานแค่ไหน" หรือ "ประชาชนจะให้เวลากี่เดือน"

คำถามหลังไม่ใช่ใคร แม้แต่ตัว "ยิ่งลักษณ์" เองก็อยากรู้

ที่มีคำถามแบบนี้ขึ้นมา ทุกคนรู้ดีว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาทำงานสถานการณ์ของประเทศเต็มไปด้วยโจทย์ยากในทุกเรื่อง

เศรษฐกิจที่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่ต้องถมด้วยนโยบายประชานิยมในยามประเทศขาดแคลนงบประมาณ

สังคมที่เสื่อมทรุดด้วยความเจริญด้านวัตถุที่ที่โหมเข้ามาทำลายจริยธรรม ที่ต้องรื้อและปลูกฝังกันใหม่ในภาวะที่ต้องประเทศให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เพื่อดูแลกลไกทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ การเมืองที่เต็มไปด้วยความแตกแยกต้องหาหนทางปรองดองในยามที่ฐานเสียงเรียกร้องให้ชำระแค้น

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้หลายๆ คนคิดว่าแค่นี้ก็ไปไม่รอดแล้ว



ที่สำคัญกว่านั้นก็คือความจริงที่ว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กับ "พรรคเพื่อไทย" ได้เข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางความพยายามอย่างสุดความสามารถของอีกฝ่ายที่เป็นการรวมตัวกันของหลายพวก หลายกลุ่มที่ทำทุกวิถีทางไม่ยอมให้ "เพื่อไทย" ชนะ

คนเหล่านี้ไม่เพียงยังไม่เลิกรา และรอจังหวะทำลายล้างอยู่ทุกลมหายใจ แต่ยังมีอำนาจ อิทธิพลอย่างล้นเหลือในประเทศไทย จะมากเสียกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำ

นี่คือต้นทางของคำถามว่า "ยิ่งลักษณ์จะนำรัฐบาลอยู่ได้สักกี่ปี"

ฟังดูแล้วเหมือนกับอยู่ไม่ได้นาน

แต่นั่นเป็นมุมมองในเชิงลบ ที่เห็นแต่อุปสรรค

หากพลิกความคิดมามองในมุมบวกบ้าง จะมองเห็นไปในอีกแนวโน้ม



ผลสำรวจของ "เอแบคโพลล์" ล่าสุดที่ถามประชาชนทั่วประเทศว่า อยากฟัง "เพลงปลุกใจ" เพลงไหนมากที่สุดในช่วงนี้ คำตอบร้อยละ 77.4 เลือก "รักกันไว้เถิด"

เพลงที่กระตุ้นให้คนไทยเกลียดชังกันอย่าง "หนักแผ่นดิน" มีคนอยากฟังอยู่แค่ร้อยละ 6.4

ขนาดที่การสำรวจนี้ให้กาเลือกได้ทุกเพลง

แปลว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศโหยหาความสามัคคี ความปรองดอง ปฏิเสธความขัดแย้งแตกแยกทำลายกัน

นี่คือปัจจัยใหญ่ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาล

แม้จะถูกต่อต้านจากอำนาจทั้งในและนอกระบบ แต่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นำ "พรรคเพื่อไทย" เข้ามาด้วยชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง

หมายถึงเป็นผู้ที่มีประชาชนเป็นฐานส่งให้ขึ้นมามีอำนาจ

อิทธิพลของฝ่ายต่อต้านแม้จะมีอยู่ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะเสี่ยงต่อการปะทะกับอำนาจของประชาชน ซึ่งถือเป็นอำนาจที่ชอบธรรมที่สุดของระบอบประชาธิปไตย

หากอาศัยอำนาจที่ชอบธรรมที่สุดนั้น บริหารประเทศไปสู่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือความรู้สึกโหยหาความรักในกันและกัน

ทำให้เห็นว่า "รักกันไว้เถิด" ที่ประชาชนเรียกหานั้น เป็นงานที่รัฐบาลจะทุ่มเททำให้เกิด

นี่คือ "ยันต์กันปีศาจ" ที่จะทำหลอกหลอนทำลายผู้ที่มีจากอำนาจของประชาชนได้ดีที่สุด



++


ประชาชนเดินนำหน้าไปแล้ว
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 21


ประเทศไทยเราเริ่มการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 และปลูกฝังความเชื่อกันว่าประชาธิปไตยจะทำให้การบริหารประเทศเป็นไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่จนถึงวันนี้เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแทบนับครั้งไม่ถ้วน

ประชาธิปไตยก็ยังไม่เป็นอย่างที่พยายามบอกกล่าวกัน

รัฐธรรมนูญปี 2550 ผู้ร่างมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นการให้การเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวตามที่พรรคการเมืองเล็กเรียกร้อง เพื่อให้อิทธิพลของผู้สมัครมีผลต่อผลการเลือกตั้ง ให้เลือกคนแทนที่จะเลือกพรรค การตัดสิทธิ ส.ส. ที่ไปเป็นรัฐมนตรีไม่ให้โหวตในญัตติที่รัฐบาลเสนอต่อรัฐสภา ด้วยการระบุว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อทำให้พรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องมี ส.ส. เกินกว่าครึ่งมากๆ เป็นการบังคับกลายๆ ให้ไม่มีพรรคไหนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว

ทั้งที่เป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วโลกว่ารัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพจะไม่สามารถบริหารประเทศได้ดี แต่ผู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทยยังมีความพยายามที่จะนำพาการปกครองของเราไปในทิศทางนั้น

คำว่า "เคารพการตัดสินของประชาชน" เป็นเพียงแค่ข้ออ้างเพื่อให้ดูสวยหรู

ทว่า ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนรู้เรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาธิปไตยไทยไม่เป็นไปอย่างที่ผู้อวดอ้างว่ามีความรู้พยายามออกแบบกันไว้

ประชาชนส่วนใหญ่ยังเลือกพรรคมากกว่าที่จะเลือกคน ประชาชนเป็นผู้นำประชาธิปไตยไปสู่ระบบสองพรรค พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้ ส.ส. แต่ที่สุดแล้วเป็นความพยายามที่ล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่

นั่นคือความต้องการของประชาชน ที่สวนทางกับความพยายามของผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย

ไม่ใช่เพียงประชาชนเดินหน้าสวนทางกับรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจเขียนขึ้นมาเท่านั้น

แม้กระทั่งการลงลึกถึงการตรวจควบคุมรัฐบาล น่าเชื่อว่าประขาชนก็กำลังทำอยู่



ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ล่าสุด คำถามคือ ประชาชนชอบอะไรกับการเมืองไทยในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 76.9 บอกว่าชอบในท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อปัญหา เช่นเดียวกับชอบท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 70.7

หากจะสรุปว่านั่นคือการที่ประชาชนส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าเขาพร้อมที่จะสนับสนุนคนที่เขาเลือกอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ในคำถามที่ว่า สิ่งที่ "ไม่ชอบ" ต่อกระแสช่วงจัดตั้งรัฐบาลและร่างนโยบายคืออะไร

ร้อยละ 74.3 บอกว่า ไม่ชอบข่าวรัฐบาลจะไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ทันที วางเงื่อนไขในสิ่งที่จะเป็นนโยบายแต่ไม่บอกชาวบ้านในช่วงเลือกตั้ง

ร้อยละ 72.8 ไม่ชอบข่าวการเอาคนที่มีภาพลักษณ์ไม่ดี หรือ "ยี้" มาเป็นรัฐมนตรี ร้อยละ 71.7 ไม่ชอบข่าวการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี



นั่นเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเมืองไทยที่พยายามออกแบบกันไว้ ไม่เอื้อให้รัฐบาลสามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะทุกอย่างติดเงื่อนไขของการตรวจสอบมากกว่าทั้งจากกฎระเบียบราชการ กลไกของรัฐบาล องค์กรอิสระ แม้แต่ภาพธุรกิจ ภาคเอกชน

จะเห็นได้ว่านโยบายที่วางกันไว้ในช่วงหาเสียง ถูกต่อต้านกันยกใหญ่ จากหลายภาค หลายส่วน จนน่าเชื่อว่าจะไม่สามารถเดินได้สะดวก

เช่นเดียวกับโครงสร้างการวางตัวคนมาเป็นรัฐมนตรี เต็มไปด้วยเงื่อนไขของโควต้า ตามกรอบที่ผู้มีอำนาจพยายามวางไว้

ความต้องการของคนส่วนใหญ่ติดขัดที่ระบบ และพัฒนาการทางความคิดของนักการเมืองเอง

เรามักได้ยินเสนอว่า ประชาธิปไตยไทยเรายังไม่พัฒนา เพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แต่หลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้อาจจะต้องมาพิจารณากันใหม่ ว่าอุปสรรคประชาธิปไตยในวันนี้คืออะไรกันแน่

ประชาธิปไตยไทยเดินหน้าไปไม่ราบรื่น เป็นประชาชนยังขาดความเข้าใจ หรือเพราะนักการเมืองยังก้าวไม่พ้นกรอบเก่า

กรอบที่เอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง



++

ทั้งน่าเศร้า และน่าอาย
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 21


ใครก็อยากให้บ้านเมืองเดินไปสู่ความสุขสงบ ต่างคนต่างคิดว่าควรตั้งต้นกันใหม่ หลังจากเละตุ้มเป๊ะมานานหลายปี แต่อย่างว่ามนุษย์เรามักเป็นเช่นนี้

อยากให้บ้านเมืองกลับสู่ความเรียบร้อยนั้นจริงอยู่ แต่ที่เกือบทุกคนทุกฝ่ายอยากมากกว่าคือ "สุขสงบในกรอบที่ตัวเองคิดว่าน่าจะเป็น"

ทำใจรับได้ยากหากไม่ออกมาอย่างที่ตัวเองคิด

หลังเลือกตั้ง และหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติประกาศรับรอง ส.ส. ที่ได้เลือกตั้งเข้ามาใหม่แค่ 300 กว่าคน จากทั้งหมด 500 คน

คนที่ถูกแขวนรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกเข้ามากว่า 15 ล้านเสียง และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกเข้ามากว่า 11 ล้านเสียงด้วย

หัวจิตหัวใจของผู้คนที่วาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งการเมืองจะดีขึ้นห่อเหี่ยวไปในทันที

ผลสำรวจของเอแบคโพลล์บอกว่าหลังจาก กกต. ประกาศข่าวนี้ออกมา ประชาชนร้อยละ 71.3 รู้สึกงุนงงสงสัย ไม่ชอบ ไม่พอใจ มีร้อยละ 13.8 เท่านั้นที่เห็นด้วย ที่เหลือร้อยละ 14.9 ไม่รู้สึกอะไร

ร้อยละ 54.7 คิดว่าจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 28.9 คิดว่าจะเกิดปัญหารุนแรงทางการเมืองระดับปานกลาง

ร้อยละ 75.6 อยากให้รับรอง ส.ส. ทั้งหมดไปก่อน เพื่อให้เปิดสภาได้

และร้อยละ 80.4 อยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีไป

ในความเป็นจริงที่มีประชาชนไทยไม่ถึงร้อยละ 80 ที่เลือกพรรคเพื่อไทย

แต่ถึงวันนี้ ประชาชนไทยกว่าร้อยละ 80 ต้องการให้ผู้นำพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี

นั่นน่าจะหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับผลเลือกตั้ง อยากให้การบริหารประเทศดำเนินไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่

ใครที่บอกว่าประชาชนไม่มีสำนึกประชาธิปไตยคงต้องคิดใหม่



ทุกคน ทุกฝ่ายที่วุ่นวายคัดค้านผลการเลือกตั้งอยู่ทุกวันนี้ เอาเข้าจริงล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมือง เป็นผู้มีผลประโยชน์จากการเมือง

เกรงกลัวว่าจะสูญเสียไปหากตัวเองและพวกตัวต้องหลุดจากอำนาจ

หรือไม่ก็คนที่แพ้เลือกตั้งแล้ว ไม่เชื่อว่าตัวเองจะแพ้

ขณะที่ถ้ามองในภาพรวม การเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะมีเรื่องราวของการทุจริต ใช้อำนาจในทางมิชอบมากมาย แต่ถือเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนใช้สิทธิกันอย่างหมดจดอีกครั้งหนึ่ง

อาจจะได้รับผลประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ตอนกาบัตรเลือกด้วยหัวใจ ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง

ที่กล้าสรุปอย่างนี้เพราะ ไม่อย่างนั้นผู้มีอำนาจอยู่ในมือ และผู้ที่รู้ๆ กันอยู่ในวงการว่าใช้เงินและอำนาจกันมโหฬารคงจะชนะการเลือกตั้งไปแล้ว

ไม่มีทางที่ผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบนี้ หากประชาชนไม่เด็ดขาดกับการตัดสินใจของตัวเอง

นี่เป็นสัญญาณที่ดีของประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้นถือเราให้การยกย่องว่านักการเมืองเป็นผู้นำทางการเมือง ประชาชนเป็นผู้ตาม

สำนึกประชาธิปไตยมีอยู่ในนักการเมืองที่ใช้ระบอบการปกครองนี้ไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจมากกว่าประชาชน

แต่วันนี้จากเรื่องราวดังกล่าว ชักเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าระหว่างนักการเมืองกับประชาชนทั่วไป ใครมีสำนึกประชาธิปไตยมากกว่า

ไม่ใช่คนร้อยละ 80 ที่เลือกพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะ ประชาชนกว่าร้อยละ 80 ยินดีที่จะให้ผู้นำพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี

สะท้อนถึงสำนึกที่เอาเสียงส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง



นักการเมือง และพวกที่โอ้อวดว่าเข้าถึงประชาธิปไตยมากกว่าประชาชนทั่วไปต่างหาก ที่ยังทำใจไม่ได้ที่จะเคารพเสียงข้างมาก

ซึ่งเบื้องหลังไม่มีอะไรมากกว่าเกรงว่าจะเข้ามาแสวงผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องไม่ได้

นี่น่าเศร้ากว่านั้นคือ โทษประชาชนว่าลงคะแนนไม่โปร่งใส

การเมืองที่ควรจะเดินไปได้อย่างมีความหวังถึงความสุขสงบ จึงกลับเต็มไปด้วยการช่วงชิง ทำลายล้างไม่รู้จบ

จนหาสัญญาณปรองดองไม่เห็น



.