http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-23

คุ้มกันครูและพระ, ประวัติศาสตร์ความเป็นไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

คุ้มกันครูและพระ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ตราบเท่าที่ยังมีคนเจตนาจะทำร้ายครูในสามจังหวัดภาคใต้ อย่างไรเสียก็ยังจะมีครูที่ถูกทำร้ายต่อไป ไม่ว่าจะจัดกองกำลังคุ้มกันอย่างไร

แน่นอนว่า การคุ้มกันครูด้วยกำลังทหาร-ตำรวจมีความจำเป็นและควรทำ แน่นอนว่า การจัดกำลังคุ้มกัน ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งแก่ครูและทหาร-ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่คุ้มกัน แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถป้องกันมิให้ครูถูกทำร้ายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่ยังมีผู้จ้องจะทำร้ายครู ถึงอย่างไรคนร้ายก็จะมองหาและพบ "ช่องโหว่" ที่จะทำร้ายครูจนได้

แต่ทำไมครูถึงเป็นเป้าของการถูกทำร้าย

ที่ว่าเป็นเป้าก็เพราะการทำร้ายครู ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางระเบิดในที่ชุมนุมชน แล้วครูบังเอิญอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงต้องรับเคราะห์ไปด้วย

และครูไม่ได้ถูกทำร้ายเพียงเพราะเป็นพวก "สิแย" ขี่จักรยานยนต์ในที่ซึ่งสามารถลอบทำร้ายได้ แต่มีความจงใจจะทำร้ายครูโดยตรง แม้โอกาสไม่เปิดอย่างเต็มที่นัก แต่เพราะครูเป็นครู จึงต้องถูกทำร้าย

ครูจึงเป็นเป้ายิ่งกว่าหมอ, ยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่ชลประทาน, ยิ่งกว่าเสมียนอำเภอ หรือยิ่งกว่าข้าราชการหน่วยอื่นทั้งหมด ยกเว้นก็แต่ทหาร-ตำรวจเท่านั้น.... ทำไม?


ผมอยากเดาคำตอบไว้สองประการ ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

ประการแรกก็คือ ความเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ของครูมีความหมายมากกว่าสังกัดราชการหรือไม่ แม้เป็นครูโรงเรียนราษฎร์ ครูคือผู้นำอุดมการณ์ของรัฐไทย (ซึ่งผู้ก่อการมีความไม่พอใจ) เข้าไปสู่สังคมของชาวมลายูมุสลิม (อันเป็นสังคมที่เขาต้องการเปลี่ยนให้เป็นไปตามอุดมคติของเขา)

ฉะนั้น ครูจึงเป็น "เจ้าหน้าที่" ของรัฐไทยยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการทั่วไป จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ครูคือนักรบเชิงอุดมการณ์ ในขณะที่หมอหรือเจ้าหน้าที่ชลประทานไม่ใช่

แน่นอนว่า โดยหน้าที่การงาน ครูมีจำนวนมากและจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยป้องกันตนเองได้ยากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐแผนกอื่นๆ จึงต้องตกเป็นเป้าได้ง่ายกว่า แต่การมองปัญหาเชิงปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่มีทางออกอื่น นอกจากปรับแก้ในระดับปรากฏการณ์เช่นกัน ดังเช่น การเพิ่มทหาร-ตำรวจในการคุ้มครอง ครูและโรงเรียน ซึ่งยิ่งทำให้ครูและโรงเรียนเป็น "สนามรบ" มากขึ้น

ประการที่สอง ด้วยเหตุที่ได้กล่าวในข้อแรก โรงเรียนหรือการศึกษาซึ่งรัฐเป็นผู้จัด (ผ่านทั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนราษฎร์) นั้นเอง ที่ถูกมองว่า เป็นศัตรู

อันที่จริง การมองว่าการศึกษาซึ่งรัฐเป็นผู้จัดนั้นคือศัตรูเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ตัวผมเองก็เป็นอริกับการจัดการศึกษาของรัฐหลายอย่างหลายประการ และทุกครั้งที่พูดคุยกับคนอื่นในเรื่องนี้ ก็เห็นศัตรูของการศึกษาที่รัฐจัดอีกจำนวนมาก แม้แต่ที่เขียนกันเป็นบทความ, วิทยานิพนธ์, หรืองานวิพากษ์ขนาดใหญ่ ก็ยังมีอีกมากมาย

แต่น่าเสียดายที่หนทางต่อสู้กับ "ศัตรู" ดังกล่าว เป็นหนทางที่ไม่เปิดให้แก่ผู้ที่ไม่พอใจการศึกษาของรัฐในสามจังหวัดภาคใต้ ด้วยเงื่อนไขหลายประการซึ่งไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ทำให้การต่อสู้กับ "ศัตรู" กลายเป็นการทำร้ายกัน


ในทรรศนะของผู้ก่อการ การศึกษาที่รัฐจัดเป็นศัตรูอย่างไร?

เรื่องนี้ต้องการงานศึกษาอีกมาก แต่สิ่งสำคัญที่ควรสำเหนียกไว้ด้วยก็คือ เราอาจเข้าไม่ถึงความเห็นของผู้ก่อการ หรือผู้นำของขบวนการก็จริง แต่เราสามารถเข้าถึงความคิดความเห็นของประชาชนทั่วไปได้ แม้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ร่วมอยู่ในขบวนการ แต่ความคับข้องใจของเขา ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นการต่อสู้ของขบวนการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขบวนการทำงานอยู่ท่ามกลางผู้คน และเพื่อเรียกร้องความสนับสนุนจากผู้คน ก็ย่อมผนวกเอาประเด็นที่คุกรุ่นอยู่ในใจของผู้คนทั่วไปเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นการต่อสู้อย่างแน่นอน

ยิ่งกว่านี้ การได้เรียนรู้ความคับข้องใจเกี่ยวกับการศึกษาที่รัฐจัดในหมู่ประชาชนทั่วไป ก็ยังเปิดให้รัฐหาทางปรับปรุงแก้ไขได้ตรงจุดอีกด้วย หากคนทั่วไปไม่ได้มองโรงเรียนและครูเป็นศัตรู หรือจนถึงรู้สึกว่าโรงเรียนและครูเป็นทรัพยากรที่เป็นสมบัติของเขา การทำร้ายครูหรือเผาโรงเรียนย่อมเป็นสิ่งที่เขายอมรับไม่ได้ และหากขบวนการยังขืนทำต่อไป ก็เท่ากับสร้างศัตรูให้แก่ตนเองในหมู่ประชาชนทั่วไป

โดยไม่ได้ศึกษาวิจัยข้อมูลจากชาวบ้านจริงจัง ผมอาศัยเอกสารที่ผู้อื่นทำไว้และการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านบ้าง ผมคิดว่า มี

ประเด็นความไม่พอใจเท่าที่ผมจับได้อยู่ดังนี้

1/ โรงเรียนและการศึกษาทำลายอัตลักษณ์ของประชาชนมลายูมุสลิม ไม่ใช่เพียงแต่ระเบียบพิธีบางอย่างซึ่งไม่เป็นที่วางใจว่า จะถูกต้องตามหลักศาสนาเท่านั้น ยังรวมถึงหลักสูตรและการสอนที่ไม่มีความเป็นมลายูแทรกอยู่เลย เช่น เด็กอาจท่องอาขยานกลอนแปด แต่ไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับปันตุนในภาษามลายู เป็นต้น ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการที่เด็กอาจฟังครูพูดไม่รู้เรื่องดี เพราะครูไม่ใช้ภาษามลายูถิ่น

ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาฯได้พยายามเปิดกว้างในเรื่องดังกล่าวหลายด้านมากขึ้น เช่น หลายโรงเรียนสอนภาษามาเลเซีย (แม้ไม่ใช่มลายูท้องถิ่น แต่ก็ใกล้เคียง) ด้วยอักษรรูมี การแต่งกายของเด็กผู้หญิงเป็นไปตามที่คนในท้องถิ่นเห็นว่าตรงตามบัญญัติของศาสนา ทั้งยังมีนิทานหรือการ์ตูนที่เป็นนิทานท้องถิ่นเล่าให้เด็กฟังด้วย ส่วนศาสนาอิสลามก็เปิดการสอนในโรงเรียนอย่างเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่ก็ควรรับฟังพ่อแม่ผู้ปกครองให้มากขึ้นว่า ยังสามารถปรับปรุงอะไรได้อีกบ้างให้สอดคล้องกับความคาดหวังของเขา

2/ ในปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองตระหนักแล้วว่า ภาษาไทยมีความสำคัญ หลายคนบ่นว่าส่งลูกไปโรงเรียนหลายปีแล้ว เด็กก็ยังเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยไม่ได้ นี่เป็นด้านหนึ่งของประสิทธิภาพทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ไม่อาจบรรลุตามความคาดหวังของผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ ยังไม่นับมาตรฐานการศึกษาซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร

ความปลอดภัยของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา แต่ไม่ใช่อย่างเดียว จำเป็นต้องคิดในทางอื่นๆ อีกหลายด้าน เพื่อทำให้การศึกษาของเด็กในโรงเรียนได้ผลดีกว่าที่เป็นอยู่ การไปเรียนหนังสือในโรงเรียนที่อยู่ในกำกับของรัฐ ต้องทำให้ชีวิตแตกต่างได้จริง โรงเรียนจึงจะเป็นมิตรที่ขาดไม่ได้ของสังคม

3/ นอกจากประสิทธิภาพทางการศึกษาในโรงเรียนแล้ว การเข้าถึงการศึกษาของเด็กในการศึกษาระดับสูงขึ้น ก็มีอุปสรรคมาก เพราะเรียนมาไม่ดีพอ จึงทำให้เรียนต่อได้ยากก็อย่างหนึ่ง การไม่มีทุนทรัพย์และความจำเป็นในการทำมาหากินช่วยครอบครัว จนทำให้การเรียนต่อทำได้ยากก็อีกอย่างหนึ่ง การศึกษาที่ไม่นำไปสู่อะไรเลย เพราะไม่อาจเรียนต่อได้ ทำให้การศึกษาอาจมีความหมายไม่มากแก่คนในพื้นที่

4/ การศึกษาขาดความเชื่อมโยงสอดคล้องกับชีวิตของผู้เรียน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ยินเสียงบ่นกันมาก แม้เป็นปัญหาที่เกิดในประเทศไทยส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ดูเหมือนจะก่อปัญหาให้แก่คนในพื้นที่มากกว่า ด้วยเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน

5/ ทั้งหมดที่กล่าวนี้ ทำให้โรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการครอบงำอย่างชัดเจนกว่าโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อมีคนเผาโรงเรียน แม้ชาวบ้านอาจไม่เห็นด้วย แต่ชาวบ้านก็เข้าใจได้ง่าย และอาจไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนัก


ที่จะให้ความคุ้มกันครูด้วยกำลังทหาร-ตำรวจ ก็ควรทำ อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้แก่ครู แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนโรงเรียนและการศึกษาจากศัตรูเป็นมิตรด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย อันจะเป็นการคุ้มกันครูอย่างได้ผลและถาวรกว่ากำลังทหาร-ตำรวจ

เช่นเดียวกับการทำร้ายพระสงฆ์ จำเป็นต้องคุ้มกันพระสงฆ์ในการปฏิบัติสังฆกิจก็ควรทำ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ควรกลับไปทบทวนด้วยว่า

วัดในพระพุทธศาสนายังเป็นมิตรแก่คนในชุมชนมากน้อยเพียงไร แม้ว่าคนส่วนใหญ่ของชุมชนอาจไม่ได้นับถือพุทธศาสนาก็ตาม หากสามารถปรับให้วัดและพระเป็นทรัพยากรกลางที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ในวิถีทางที่แตกต่างกัน มุสลิมใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง พุทธใช้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง

การทำร้ายพระสงฆ์อาจเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเองรับไม่ได้มากขึ้น



++

ประวัติศาสตร์ความเป็นไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 28


ผมเชื่อว่าคนอยุธยาไม่รู้จัก "ความเป็นไทย" อย่างน้อยก็ไม่รู้จักความเป็นไทยในทางการเมือง แต่รู้ว่าตัวไม่ใช่แขกเพราะกินหมู รู้ว่าตัวไม่ใช่ญี่ปุ่นเพราะพูดไทยชัด รู้ว่าตัวไม่ใช่ฝรั่งเพราะไม่ได้เข้ารีต ฯลฯ

"ความเป็นไทย" อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้ เพิ่งมาเกิดและปลูกฝังให้สำนึกกันไม่นานมานี้เอง เก่าสุดก็ไม่เกิน ร.4 ลงมา

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้น ความเป็นไทยก็มีสำนึกมาแต่ต้นถึงภัยคุกคามของฝรั่งหรือตะวันตก ไม่ใช่คุกคามทางการเมืองว่าจะถูกยึดครองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่าคือภัยคุกคามด้านวัฒนธรรม แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากชนต่างชาติที่เคยคุกคามมาก่อน

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น ฝรั่งสมัยพระนารายณ์ก็แตกต่างจากไทยอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน แต่คนอยุธยาไม่รู้สึกถึงภัยคุกคามของฝรั่งทางวัฒนธรรมเหมือนชนชั้นนำในสมัย ร.4 เหตุผลก็อยู่ตรงที่ว่า ชนชั้นนำในสมัย ร.4 ไปยอมรับความ"เหนือกว่า" ของวัฒนธรรมฝรั่งด้วย ฝรั่งจึงเป็นทั้งภัยและเป็นทั้งแบบอย่างที่เราอยากเป็น

เกิดความจำเป็นต้องหันกลับมานิยามว่าคนไทยคือใครกันแน่ เราอาจแต่งฝรั่งและใช้ชีวิตแบบฝรั่ง (ดังพระปิ่นเกล้าฯ) แต่ไม่เป็นฝรั่งได้อย่างไร

ธรรมยุติกนิกายคือคำตอบอย่างหนึ่ง คิดแบบฝรั่งทุกอย่าง แต่ไม่เป็นฝรั่ง หนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ซึ่งตอบโต้ศาสนาคริสต์และนิยามพุทธศาสนาไทยเสียใหม่ให้เป็นวิทยาศาสตร์ ก็เป็นคำตอบอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น ในระยะแรก ความเป็นไทยคืออัตลักษณ์ใหม่ที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นให้แก่คนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นคนในแวดวงชนชั้นสูง

ขอให้สังเกตด้วยนะครับว่า ในช่วงหนึ่ง เราสงวนความเป็นไทยไว้สำหรับเปรียบเทียบกับฝรั่งเท่านั้น เราไม่ยกความเป็นไทยไปตอกย้ำว่าเราต่างจากจีน-จาม-เขมร-ญวน ก็เพราะอัตลักษณ์นี้ไม่ได้คิดขึ้นเพื่อให้เราเหมือนจีน-จาม-เขมร-ญวน แต่คิดขึ้นเพื่อให้เราเหมือนฝรั่ง แต่ไม่เป็นฝรั่งต่างหาก



ความเป็นไทยที่เหมือนฝรั่งแต่ไม่เป็นฝรั่งนี้ ยังคงดำเนินต่อมาและเข้มข้นมากขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ร.5 - ร.7 ) แต่นับวันเราก็ยิ่งเหมือนฝรั่งมากขึ้น นับตั้งแต่เครื่องแต่งกาย, การศึกษา, การจัดการ, การค้าขาย, ฯลฯ ยิ่งเหมือนมากก็ยิ่งถูกคุกคามมาก เพราะความเป็นไทยยิ่งกลายเป็นความบ้านนอก ความไร้การศึกษา และความไม่ศรีวิไลต่างๆ

เกิดความจำเป็นจะต้องนิยามความเป็นไทยที่ไม่บ้านนอก, รอบรู้ และศรีวิไลด้วย เพียงแค่นับถือศาสนาพุทธซึ่งมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว ต้องมีประวัติศาสตร์, ราชประเพณี, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, สวนสัตว์, วีรบุรุษ, ฯลฯ ที่เทียบได้กับฝรั่ง แต่ไม่เป็นฝรั่งด้วย

ความเป็นไทยจึงเกิด "เนื้อหา" ขึ้นอย่างละเอียดซับซ้อนในสมัยนี้ ด้วยงานวิชาการซึ่งเจ้านายหรือพระเจ้าอยู่หัวเองได้ผลิตขึ้นจำนวนมาก

งานวิชาการเหล่านี้เทียบเทียมได้กับงานวิชาการที่ฝรั่งผลิตขึ้นในโลกอาณานิคมของตนเอง แต่เนื่องจากผลิตขึ้นโดยชนชั้นสูง จึงยกย่องเชิดชูชนชั้นสูง จนกระทั่งความเป็นไทยเหลือดัชนีชี้วัดอยู่ตัวเดียว คือเหมือนหรือต่างจากชนชั้นสูงไทย

แต่ในขณะเดียวกัน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้เอง ที่ความเป็นไทยจำเป็นต้องมีความหมายทางการเมืองขึ้นด้วย เพราะการคุกคามของฝรั่งขยายมาสู่วัฒนธรรมทางการเมืองด้วย นั่นคือแนวคิดประชาธิปไตยได้ขยายผ่านนักเรียนนอกเข้ามาสู่เมืองไทย

ความเป็นไทยจึงต้องตั้งตัวเป็นศัตรูกับระบอบปาลีเมนต์ เพราะไม่เหมาะกับเมืองไทย ความเป็นไทยไม่ได้มีความหมายถึงวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น แต่รวมถึงการยอมรับอำนาจนำของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย หากไม่ยอมรับก็เท่ากับเลยเส้นไทย กลายเป็นฝรั่งไปเลย


คิดถึงเรื่องนี้แล้วผมอดคิดถึงพระอัจฉริยภาพของ ร.6 ไม่ได้ การตัดสินพระทัยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายพันธมิตรนั้น มีอันตรายทางการเมืองภายในอยู่ด้วย เนื่องจากในยุโรป สงครามครั้งนั้นถูกฝ่ายพันธมิตรโฆษณาให้เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับสมบูรณาญาสิทธิ์ เรากลับไปร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยที่น่ารังเกียจได้ยังไง

ดังนั้น จึงทรงเปลี่ยนประเด็นการต่อสู้ให้กลายเป็นธรรมาธรรมะสงคราม เรื่องของคนดีต่อสู้กับคนไม่ดีไปโน่น กลายเป็นแบบอย่างแก่นักต่อต้านประชาธิปไตยในรุ่นหลังสืบมา คือประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนไม่ดีได้ปกครอง จึงต้องยอมรับการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยน้อยหน่อย เพื่อกีดกันคนไม่ดีมิให้ได้อำนาจ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตมากกว่าก็คือ ความเป็นไทยได้ขยายความหมายมาเน้นความต่างระหว่างคนไทยด้วยกันเอง จากเดิมที่เน้นแต่ความต่างระหว่างคนไทยกับฝรั่ง

พระราชนิพนธ์บทความของ ร.6 หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า คนกินเหล้า (แหะๆ ก่อน ส.ส.ส. อีกครับ), เต้นรำ, สูบซิการ์ ฯลฯ เป็นไทยน้อย และถ้าเมืองไทยมีปาลีเมนต์ ก็จะมีผู้แทนฯ จำนวนหนึ่งที่พูดไทยไม่ชัด



อย่างที่นักวิชาการไทยได้พูดมาหลายสิบปีแล้วว่า ความเป็นไทยคือเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการกีดกันมิให้คนที่ไม่พึงประสงค์ของตนล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่การเมือง เช่น เจ๊ก หรือหัวเสรีนิยมเกินไป หรือหัวเอียงซ้าย ล้วนเป็นฝรั่งหรือเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งย่อมไม่ถูกรวมอยู่ในความเป็นไทย

แต่ในขณะเดียวกัน ภัยคุกคามของฝรั่งก็ยังมีอยู่ และอาจจะคุกคามมากขึ้นด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้ว ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าประเทศไทยนั้นอ่อนแอแค่ไหน ไม่ใช่ในการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้นนะครับ แต่ที่สะกิดใจผู้คนมากกว่าคือในทางเศรษฐกิจ, ทางวัฒนธรรม, และการศึกษา

เราต้องพึ่งฝรั่งตลอด ตลาดส่งออกของสินค้าไทยคืออาณานิคมฝรั่ง หรือต่อมาคือตลาดฝรั่ง เราต้องพึ่งเทคโนโลยีฝรั่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

เราไม่มีทุนในการพัฒนา ต้องกู้ยืมหรือขอจากฝรั่ง นับตั้งแต่นำมาสร้างทางรถไฟในสมัย ร.5 มาจนถึงสร้างเขื่อนและถนนหนทางในสมัยหลัง

ยิ่งมาในช่วงสงครามเย็น ความจำเป็นต้องพึ่งพาฝรั่งยิ่งเห็นได้ชัด แม้แต่จะป้องกันตนเองจากฝ่ายที่ไทยเห็นว่าเป็นศัตรู ยังต้องยอมเป็นลูกน้องฝรั่งอย่างศิโรราบ สงครามเวียดนามกับแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของทหารอเมริกัน ท้าทายความเป็นไทยอย่างที่ชนชั้นนำไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร

ผมอยากจะเดาด้วยว่า ความเป็นไทยที่ถูกท้าทายนี้กระทบต่อชนชั้นนำยิ่งกว่าใคร เพราะบทบาทที่เคยกุมการนิยามความเป็นไทยหลุด

จากมือชนชั้นนำไปอย่างฉับพลัน คล้ายกับอะไรที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออำนาจนำในการนิยามความเป็นไทย ตกไปอยู่ในมือของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย, อักขรวิธี, การพูดจา, และศิลปะการแสดง แต่ครั้งนี้คนที่แย่งชิงการนิยามความเป็นไทยไปกลับเป็นคนไร้หัวนอนปลายตีน ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพักผ่อนหย่อนใจของทหารอเมริกัน

ที่ผมอยากเดาอย่างนี้ก็เพราะในฐานะคนที่เรียนอักษรศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตซ้ำความรู้อันเป็นเสาหลักของความเป็นไทย ตามนิยามของชนชั้นสูง ผมรู้สึกตัวว่าไร้ความหมายลงไปอย่างมาก เมื่อได้เห็นพัฒน์พงศ์ยามราตรี ได้เห็นอุดร ตาคลี ฯลฯ อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน ไม่รู้จะเอาความรู้ที่เรียนมาเข้าไปเชื่อมโยงกับความจริงที่เห็นตรงหน้าอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง การเติบโตของคนชั้นกลางด้วยนโยบายพัฒนา ก็ทำให้ชนชั้นสูงไม่อาจนิยามความเป็นไทยแต่ผู้เดียวได้อีก ต้องเปิดให้คนชั้นกลางซึ่งไม่ได้เติบโตมาในมาตรฐานเดียวกัน ได้มีส่วนในการนิยามด้วย

แต่ปัญหาเดิมก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม นั่นคือความอ่อนแอของเมืองไทย ซึ่งไม่อาจยืนบนขาของตนเองได้ในทุกทาง ซ้ำยังประจักษ์ชัดมากขึ้นด้วย เพราะยิ่งเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นเท่าไร ความจำเป็นต้องเชื่อมโยง (อย่างไม่เท่าเทียม)กับประเทศอื่นก็ยิ่งมากขึ้น ความเป็นไทยยิ่งไร้ความหมาย ไม่ใช่เฉพาะแต่ในชีวิตจริง แม้แต่ในจินตนาการของผู้คนด้วย

หากใช้คำของ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ มันระเหิดไปเหลือแต่กลิ่นจางๆ ดังนั้น แค่ดูโขนธรรมศาสตร์ก็ขนลุกกับความเป็นไทยได้


ในแง่นี้ทำให้ผมคิดว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นปัญญาชนคนสุดท้าย ที่พยายามจะนิยามความเป็นไทยของชนชั้นสูงใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาวะที่มีคนชั้นกลางขยายตัวขึ้นอย่างมาก และก็ประสบความสำเร็จที่ดึงเอาคนชั้นกลางจำนวนมากมาสมาทานความเป็นไทยแบบใหม่ คือยอมรับทั้งข้อดีข้อเสียของความเป็นไทย เพื่อเป็นไทยต่อไป

แต่ก็ล้มเหลวที่จะให้คุณค่าแก่ความเป็นไทยได้แต่ด้านนามธรรม เมื่อไรที่เป็นรูปธรรมก็ต้องกลับไปหาความเป็นไทยแบบที่ชนชั้นสูงในอดีตได้นิยามเอาไว้ ซึ่งแสดงออกด้วยมาตรฐานของชีวิตชนชั้นสูง (เช่น โขน และสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์, ฯลฯ)


และในช่วงที่นิยามความเป็นไทยกำลังสั่นคลอนเพราะความอ่อนแอของรัฐและสังคมไทยนี้เอง ที่ผมคิดว่าคนชั้นกลางได้เลือกยึดถือนิยามความเป็นไทยสองอย่าง ที่แตกต่างแทบเป็นตรงข้ามกัน

นิยามหนึ่งก็คือหันกลับไปหาความเป็นไทยในหมู่บ้าน และสร้างมโนภาพที่หมู่บ้านแทบจะหลุดไปจากรัฐโดยสิ้นเชิง หมู่บ้านจึงเป็นอิสระในทางสังคมและวัฒนธรรมจากรัฐและตลาด ทั้งไม่เหมือนฝรั่งและไม่เป็นฝรั่ง (เช่น เศรษฐกิจพอเพียง และโครงงานของเอ็นจีโอจำนวนมาก)

อีกนิยามหนึ่งก็คือ ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของความเหมือนฝรั่งที่ไม่เป็นฝรั่ง ไม่ว่าไทยจำเป็นต้องพึ่งฝรั่งสักเพียงใด

เราก็ยังเป็นไทยอยู่ได้เพราะเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ และตราบเท่าที่เรายังมีสถาบันนี้อยู่ เราจะเหมือนฝรั่งหรือพึ่งพาฝรั่งอย่างไรก็ได้ ครูของผมคืออาจารย์เบน แอนเดอสัน เรียกความจงรักภักดีอย่างนี้ว่า alibi

หลังการล่มสลายของ พคท. มีความพยายามจะดึงเอานิยามความเป็นไทยทั้งสองอย่างให้เข้ามาประสานสอดคล้องกัน แต่ชนบทไทยก็เปลี่ยนแปลงสืบมาเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สู้จะประสบความสำเร็จมากนัก ความแตกร้าวอย่างหนักในสังคมไทยปัจจุบัน มองจากแง่ความเป็นไทย ก็คือการปะทะกันของนิยามความเป็นไทยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


.