.
ปริศนาการเคลื่อนย้าย "เสาอินทขีล" ณ "วัดเจดีย์หลวง" (1)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 76
ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข่าวร้อนๆ ในวงการโบราณคดีล้านนา
นั่นคือมีจดหมายฉบับหนึ่ง ลงนามว่าเขียนโดยคณะนิสิต มมร. (มหามกุฏราชวิทยาลัย) วิทยาเขตเชียงใหม่ รวมทั้งพระภิกษุในวัดเจดีย์หลวง และเจ้าคณะภาค 4, 5, 6, 7 ทั่วภาคเหนือ มีใจความโดยย่อว่า
อยากให้ย้ายเสาอินทขีลซึ่งเป็นความเชื่อของพวกนับถือผีไสยศาสตร์ ปัจจุบันตั้งไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง ให้กลับไปอยู่ที่สะดือเมืองจุดเดิม เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุต ไม่ใช่วัดฝ่ายมหานิกายที่ไร้การศึกษา!
ในจดหมายระบุว่า ทางวัดต้องการพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาคารเรียนให้แก่พระนิสิต แทนที่จะปล่อยให้แหล่งบ่มเพาะความงมงาย!
ซ้ำร้าย ยังแสดงความรำคาญใจที่ทุกปีเมื่อมีประเพณีเข้าอินทขีลนานกว่าหนึ่งสัปดาห์นั้น ทางวัดต้องทนกับสภาพความเลวร้าย สกปรก อึกทึกครึกโครม กลิ่นธูปควันเทียน โดยเฉพาะการที่มีชายหญิงมาแอบสมสู่กันอย่างประเจิดประเจ้อ!
ที่น่าสยดสยองที่สุด คือการข่มขู่ว่าทางวัดจะให้เวลา "ภาครัฐผู้มีอำนาจในบ้านเมือง" (ไม่ทราบว่าหมายถึงกรมการศาสนา กรมศิลปากร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด?) ย้ายเสาอินทขีลไปไว้ที่อื่นภายในเวลา 5 ปี หลังจากนั้น จะไม่รับรองความปลอดภัย
ไม่น่าเชื่อว่าจดหมายที่ใช้ภาษานักเลง แถมพิมพ์ดีดเพียงหน้าเดียว ไม่มีแม้กระทั่งลายเซ็น แต่เมื่อระบุว่าออกมาจากวัดเจดีย์หลวงและคณะนิสิต มมร. ในฝ่ายธรรมยุตแล้ว
เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่ถูกนำมาโพสต์กันว่อนเน็ต น้ำผึ้งหยดเดียวนั้นได้กลายมาเป็นชนวนให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างโจ๋งครึ่มในโลกออนไลน์
เปิดประเด็นด้วยการสาปแช่งขับไล่ไสส่งกัน ระหว่างฆราวาสที่ศรัทธาพระนิกายธรรมยุต กับฝ่ายปกป้องมหานิกาย แต่เมื่อหันมาใคร่ครวญกันว่าเอกสารแผ่นนั้นเป็นจดหมายจริงหรือแค่บัตรสนเท่ห์โดยมือที่สาม
ได้ข้อสรุปเลาๆ ว่าอาจเป็นพวกหวังผลประโยชน์ที่ต้องการขายดอกไม้ธูปเทียนให้คนมากราบไหว้ได้สะดวกขึ้น จึงจงใจทำลายชื่อเสียงของวัดเจดีย์หลวงผู้เปรียบดั่งหนามยอกอก
ทุกวันนี้วิหารเสาอินทขีลซึ่งบูรณะใหม่โดยพระครูบาอภิชัยขาวปีแห่งเวียงลี้นั้น ปิดตายไม่ให้ใครมายุ่มย่าม เปิดให้เข้าชมได้เแค่ปีละครั้งตอนมีเทศกาลช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนเท่านั้น
ตราบที่เสาอินทขีลยังตั้งอยู่ในวัดเจดีย์หลวงคงหากินลำบาก เหตุเพราะวัดสายธรรมยุติค่อนข้างเคร่งครัด สะอาดเรียบร้อยสงบวิเวก บรรยากาศไม่เอื้อต่อพวกชอบเก็บเศษเก็บเลย
หรือหากเป็นจดหมายที่เขียนโดยพระนิสิตหนุ่ม มมร. เลือดร้อนบางรูปจริง เพื่อหยั่งปฏิกิริยาของชาวเชียงใหม่ว่าคิดเช่นไรกับการย้ายเสาอินทขีล ก็ถือว่าเป็นการโยนก้อนหินถามทางที่ไม่เลวทีเดียว
ดิฉันไม่อยากคาใจ จึงเข้าไปเรียนถามเจ้าอธิการ พระราชเจติยาจารย์ ทราบมาว่าทางวัดได้เรียกประชุมพระภิกษุพร้อมทั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยสงฆ์ มมร. เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริงแล้ว ทว่า เสียงนกเสียงกายังลุกโหมกระพือไม่เลิก ท่านเจ้าอาวาสจึงตัดสินใจเข้าแจ้งความต่อตำรวจ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และขอความเป็นธรรมให้แก่วัดเจดีย์หลวง
"จดหมายฉบับนั้นแอบอ้างเอาชื่อวัดไปโจมตีเสาอินทขีล ทั้งๆ ที่วัดมิเคยเดือดร้อนรำคาญ ก็ไหนว่ายุคนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปรองดองกันมิใช่หรือ แต่ทำไมจึงยังมีคนหาเรื่องให้พระสงฆ์แตกแยก อ่านดูสำนวนแล้วน่าจะเขียนขึ้นโดยคนไร้สติขาดสามัญสำนึก!"
ตำนานเสาสะกังอินทขีล เมื่อผีกลายเป็นพุทธ
เสาอินทขีลคืออะไร บ้างก็ว่าคือต้นกำเนิดของเสาหลักเมือง และหลายคนสงสัยว่าสร้างขึ้นในคติพุทธหรือพราหมณ์?
หากแปลตรงตัว เสาอินทขีลหมายถึงเสาที่พระอินทร์ประทานมาให้ อินท=พระอินทร์, ขีล (หรือขีละ) = เสา
อินทขีล เป็นภาษาบาลี แต่ภาษาดั้งเดิมของคนพื้นเมืองชาวลัวะในแผ่นดินล้านนาเมื่อหลายพันปีก่อนเรียกว่า "เสาสะกัง" หรือ "เสาสะก๊าง"
ด้วยเหตุนี้ในเอกสารโบราณมักพบคำคู่กันว่า "เสาสะกังอินทขีล" แต่ต่อมาคำทั้งสองถูกจับแยกทางกันเดิน คำว่า "สะกัง" ได้หายสูญไปจากภาษาทางการ เหลือคงไว้แต่ในภาษาบ้านๆ เสาสะกังจึงกลายเป็นแค่ "เสาหลักบ้าน"
ส่วน "อินทขีล" ยกระดับขึ้นเป็น "เสาหลักเมือง" ซ้ำเมื่อผ่านกาลเวลานานเข้าๆ ก็เรียกเพี้ยนเสียงสั้นไปเป็น "อินทขิล" อีก
แล้วจู่ๆ ทำไมพระอินทร์ต้องประทานเสานี้มาให้ชาวลัวะ เอาไปใช้ทำอะไร
ตำนานเรื่องเสาสะกังอินทขีลนี้มีมาตั้งแต่ยุคก่อนที่คนในสุวรรณภูมิจะยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์หรือพุทธ เป็นยุคที่คนในสังคมเกษตรกรรมยังนับถือศาสนาผี
ผีในเสาอินทขีล ยุคแรกนั้นเกิดจากการสังเวยชีวิตของมนุษย์ตัวเป็นๆ ลงในหลุมเสา มีทั้งคนแก่ผู้ทรงคุณธรรมหรือหญิงสาวพรหมจารี ยุคหลังๆ หันมาใช้ควาย หมู และไก่แทน ดวงวิญญาณทั้งของคนและสัตว์เหล่านั้นจักกลายเป็นอารักษ์สิงสถิตอยู่ในเสา ที่เชื่อกันว่าพระอินทร์มอบให้ยักษ์กุมภัณฑ์สองตนเหาะลงจากสวรรค์นำมาประทานให้ชาวลัวะ
ยุคก่อนเสาสะกังสร้างด้วยไม้หรือหิน มีรูปทรงคล้ายแท่งศิวลึงค์ของฮินดู ส่วนหลุมที่ใช้ปักเสาสะกังนั้นมักเป็นจุดกึ่งกลางที่ตั้งของชุมชน เรียกกันว่า "สะดือเมือง" จุดใดที่มีการปักเสาสะกังแล้ว โดยปกติจะไม่มีการเคลื่อนย้ายนำเสาไปปักที่อื่นอย่างเด็ดขาด
ไม่ว่าไม้จะผุเปื่อยยุ่ย หรือแท่งหินจะสึกกร่อนรอนรานเพียงใดก็ตาม เหตุเพราะเสาสะกังคือหลักยึดโยงจิตใจผู้คน หากมีการเคลื่อนเสาไปไว้ที่อื่นแล้ว ก็ถือว่าสังคมนั้นย่อมสั่นคลอน และวิญญาณของผู้ถูกบูชายัญจะคอยตามหลอกหลอน
ปัจจุบัน "เสาสะกัง" ตามบ้านเล็กเมืองน้อยได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น "ใจ๋บ้าน" (หัวใจของหมู่บ้าน) เมื่อมีชาวไทลื้อ ไทยอง อพยพมาอยู่ทับที่เดิมของชาวลัวะซึ่งหนีขึ้นดอย โดยผู้มาใหม่จะไม่โยกย้ายหรือทำลายเสาสะกัง
เสาสะกังแม้จะมีจุดเริ่มต้นจากชาวลัวะที่นับถือผี แต่ต่อมาพระญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา เมื่อได้มาสร้างเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง ทรงตระหนักดีว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งอาศัยของชาวลัวะมาก่อน กอปรกับบรรพบุรุษของพระองค์เองทางสายพ่อก็เป็นชาวลัวะ (สายปู่จ้าวลาวจกจากดอยตุง)
ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อพระญามังรายสร้างเมืองเสร็จ จึงทำพิธีสถาปนาเสาอินทขีลขึ้นกลางเวียง ณ บริเวณสะดือเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังให้ชาวลัวะเดินจูงสุนัขนำหน้าก่อนเข้าเมืองถือเป็นเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยตามความเชื่อของชาวลัวะ
เสาอินทขีลจึงเสมือนหลักเมืองของเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.1839 เป็นต้นมา แต่แล้วในที่สุดก็มีการย้ายเสาอินทขีลไปอยู่สถานที่ใหม่ ณ วัดเจดีย์หลวงเมื่อ 200 ปีเศษ อันเป็นต้นตอของปรัศนีที่ว่า ย้ายทำไม ไม่กลัวขึดหรืออย่างไร
ไฉนจึงเอา "ผี" มาอยู่ในวัด "พุทธ"?
++
ปริศนาการเคลื่อนย้าย "เสาอินทขีล" ณ "วัดเจดีย์หลวง" (จบ)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 76
ปริศนาการย้าย "เสาอินทขีล" ของพระญากาวิละ
เงื่อนงำการเคลื่อนย้ายเสาอินทขีลของพระญากาวิละ ในปี พ.ศ.2339 จากบริเวณสะดือเมืองไปอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนั้น เป็นปริศนาที่คนสงสัยกันมาก ดูเหมือนจะมากยิ่งกว่าคำถามที่ว่าควรจะย้ายหรือไม่ย้ายเสาอินทขีลออกจากวัดเจดีย์หลวงนั้นเสียอีก
ตำนานไม่บอกเหตุผลของการย้าย ทำให้มีผู้สันนิษฐานไปต่างๆ นานา
บ้างก็ว่า เหตุเพราะสถานที่ตั้งเสาอินทขีลบริเวณสะดือเมืองนั้น เป็นจุดเดียวกันกับที่พระญามังรายทรงสวรรคตด้วยการถูกฟ้าผ่าขณะทรงช้าง ฉะนี้แล้วชัยภูมินั้นจึงไม่น่าจะเป็นมงคลอีกต่อไป
บางท่านเชื่อว่า พระญากาวิละต้องการแก้เคล็ด จากการที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่นานกว่า 200 ปี ในระหว่างนั้นชาวม่านได้เอาไสยศาสตร์เข้ามาครอบข่มความขลังของเสาอินทขีลจนยับเยินแล้ว เมื่อมีการฟื้นฟูเมือง พระญากาวิละจำต้องถอนคุณไสยด้วยการย้ายเสาอินทขีลมาสถาปนายังสถานที่ที่ถือว่าเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแล้วในเมืองเชียงใหม่แทน
นั่นคือย้ายไปอยู่ทับที่หอพระแก้วมรกตในวัดเจดีย์หลวง แถมถอน "ขึด" ด้วยการเอาพระพุทธรูปมาครอบทับเสาอินทขีลคืน
ครั้นเมื่อสอบถามปราชญ์ชาวลัวะ ได้รับคำอธิบายว่า ในอดีตผู้มีหน้าที่ดูแลเสาอินทขีลต้องเป็นชาวลัวะเท่านั้น สมัยที่ล้านนารุ่งเรืองชาวลัวะได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนัก อาศัยปะปนกับชาวไทกลางเวียงเชียงใหม่อย่างมีเกียรติ (คงคล้ายๆ พวกพราหมณ์ในราชสำนักอยุธยา-รัตนโกสินทร์)
แต่ครั้นเมื่อเมืองร้าง ชาวลัวะก็แตกสานซ่านเซ็นหนีไปรวมตัวกันที่ฮอด แม่ริม แม่สะเรียง แทบไม่หลงเหลือชาวลัวะพื้นราบ เมื่อไม่มีชาวลัวะดูแลเสาอินทขีล พระญากาวิละในฐานะที่พระองค์เองก็มีเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวลัวะผสมอยู่มากไม่ต่างจากพระญามังราย จำต้องหาสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด สง่างามและคู่ควรที่สุดสำหรับการฟื้นฟูเสาอินทขีล ให้มาอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์แทน
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการขอฝากให้เสาอินทขีลเป็นหลักเมืองคู่เคียงกับพระมหาธาตุเจดีย์หลวง
ไหนๆ ผีก็ปนพุทธจนแทบแยกไม่ออกกันอยู่แล้วในสังคมล้านนา บางครั้งพุทธพึ่งผี บางทีผีก็ขอพึ่งพระบ้างจะเป็นไรไป
ในทางกลับกัน มีบางท่านเห็นต่าง โดยเชื่อว่าการที่พระญากาวิละย้ายเสาอินทขีลครั้งนี้เป็นเพราะถูกรัชกาลที่ 1 กับพระอนุชาวังหน้าบังคับข่มขู่ให้ย้ายในช่วงที่สยามมาช่วยล้านนาปลดแอกจากพม่า ทั้งนี้ ก็เพื่อทำลายหัวใจของเมืองเชียงใหม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติกรุงรัตนโกสินทร์แทน อันเป็นการทำไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง
ยังมีเสาอินทขีลอีกหลักที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับพระญากาวิละด้วยเช่นกัน เหตุเพราะว่าวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่พระญากาวิละได้มาซ่องสุมผู้คนและเสบียงอาหารอยู่นานกว่า 14 ปี เพื่อเตรียมไพร่พลไปกอบกู้เอกราชขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่
หรือพระญากาวิละได้นำเอาเสาอินทขีลดั้งเดิมจากป่าซาง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมีมาตั้งแต่ยุคโบราณเก่ากว่าที่สะดือเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งเพราะที่ป่าซางถือเป็นจุดนำชัยนำโชคให้แก่พระญากาวิละ สองที่นี่เป็นเขตปลอดพม่าเสาอินทขีลจึงไม่น่าจะถูกทำลาย ผิดกับที่วัดสะดือเมืองซึ่งเชื่อกันว่าเสาอินทขีลที่นั่นถูกทำลายไปนานแล้วตั้งแต่บุเรงนองยึดครองเชียงใหม่
จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ทุกความเห็นล้วนแต่เป็นสมมติฐานที่น่าทึ่ง โดยไม่ควรมองข้ามประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเด็ดขาด
หากอินทขีลคือหลักเมือง
แล้วพระมหาธาตุเล่า?
ในเมื่อเสาอินทขีลคือหลักเมืองของเชียงใหม่ โดยเป็นวัฒนธรรมตกทอดมาจากชาวลัวะดั้งเดิม ปัญหามีอยู่ว่า "พระมหาธาตุ" ซึ่งเป็นหัวใจของชาวพุทธนั้น สมควรเป็นหลักเมืองได้หรือไม่
คำตอบนี้อาจใช้ได้กับบางเมืองเช่น ลำพูน
มีกรณีศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2548 อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ผู้ซึ่งเพิ่งเป็น ส.ส. สอบตกในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเสนอโครงการจัดสร้างเสาหลักเมืองใกล้กับวัดพระธาตุหริภุญไชย โดยอ้างว่าที่นี่ไม่มีเสาหลักเมืองเหมือนจังหวัดอื่นๆ
ประชาชนชาวลำพูนลุกฮือขึ้นคัดค้านไม่อนุญาตให้มีการสร้างเสาหลักเมืองอันแปลกปลอมอย่างเด็ดขาด
ลำพูนเป็นเมืองโบราณมีอายุเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ ไม่อายหรือไรที่จู่ๆ ก็เพิ่งจะริมาสร้างเสาหลักเมืองเลียนแบบเมืองลูกหลานที่เกิดใหม่ภายหลังเหล่านั้น
แท้จริงแล้วเสาหลักเมืองของลำพูนก็คือ พระบรมธาตุหริภุญไชยนั่นเอง เมืองลำพูนมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจชุมชนอยู่แล้วมานานกว่าพันปี โดยไม่จำเป็นต้องมีการสร้างเสาหลักเมืองอื่นใดอีก ไม่ว่าจะเป็นศาสนาผีหรือพราหมณ์
ในเมื่อลำพูนก็เป็นถิ่นเก่าของชาวลัวะเช่นกัน แต่ไยจึงไม่ใช้เสาอินทขีลเป็นหลักเมือง?
คำตอบคือ เหตุเพราะพระนางจามเทวีปฐมกษัตรีย์ผู้สร้างเมืองลำพูนนั้นไม่ยอมรับเอาคติของชาวลัวะดั้งเดิมเจ้าถิ่นแถบลุ่มแม่ระมิงค์มาใช้อย่างเด็ดขาด พระนางได้สู้รบกับขุนหลวงวิลังคะ จนศัตรูพ่ายแพ้ต้องยอมให้พระนางปกครองภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา
ทว่า คติความเชื่อเรื่องทักษาเมืองนั้นเป็นของอินเดีย มีมาแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี-หริภุญไชย นั่นคือการเปรียบเทียบตำแหน่งต่างๆ ของเมืองด้วยร่างกายมนุษย์ กึ่งกลางใจเมืองถือเป็นจุดของสะดือเมือง อันเป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักเมืองอยู่แล้วในตัวเอง
ตอนที่พระญามังรายตีลำพูนแตกยังทรงนับถือผีอยู่ ตลอดรัชสมัยก็ไม่มีการสถาปนาพระมหาธาตุกลางเวียงเป็นหลักเมือง-หลักใจ แต่ทรงประกาศให้กษัตริย์ทุกพระองค์ของเชียงใหม่-เชียงแสนมาทำนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์ที่หริภุญไชย อาจเป็นเพราะพระญามังรายมีสำนึกในชาติพันธุ์ของเผ่าลัวะอย่างเข้มข้น
ประวัติศาสตร์ของแต่ละเมืองแม้จะอยู่ใกล้กัน แต่ก็มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่าง เชียงใหม่เริ่มต้นที่ผี แต่ลำพูนเริ่มต้นที่พุทธ
พระมหาธาตุหริภุญไชยเกิดขึ้นก่อนความเชื่อเรื่องหลักเมือง แต่พระมหาธาตุเจดีย์หลวงมาทีหลังเสาอินทขีล
ยิ่งนิกายธรรมยุตเพิ่งถูกแบ่งแยกใหม่สมัยรัชกาลที่ 4 การจะย้ายเสาอินทขีลกลับคืนสู่จุดสะดือเมืองคงไม่ง่ายนัก ต้องมีเหตุผลที่แน่นหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายุคพระญากาวิละย้ายมาจากวัดสะดือเมือง
นึกไปนึกมา แทนที่จะขุ่นเคืองแค้นใจเจ้าจดหมายฉบับกวนโทสะนั่น แต่กลายเป็นว่าต้องหันมาขอบคุณซะงั้น เพราะหากเราอ่านอย่างใจเป็นธรรม ตัดอารมณ์ก้าวร้าวอยากลองของทิ้งไป จะพบว่าข้อความหลายตอนมีนัยยะที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะประเด็นที่ท้าทายว่า ตกลงแล้ว หลักเมืองของเชียงใหม่นั้นคือเสาอินทขีลหรือพระมหาธาตุกลางเวียงกันแน่?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย