.
การผลิตน้ำมันสูงสุด และวิกฤติน้ำมันในประเทศต่างๆ
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 43
วิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นหลายครั้ง มีเหตุปัจจัยจากหลายประการด้วยกัน
ประการหนึ่งก็คือการผลิตน้ำมันดิบแบบธรรมดา (Conventional Oil) ได้ถึงขั้นสูงสุด และมีแนวโน้มลดลง หรืออย่างดีก็คือสามารถรักษาระดับการผลิตนี้เรียกว่าระยะสูงราบ (Plateau) ไว้ได้สักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการผลิตน้ำมันจากแหล่งที่ไม่ใช่น้ำมันดิบธรรมดา (Unconventional Oil) เช่น ทรายน้ำมัน หินน้ำมัน หรือขุดลึกลงไปในทะเลเป็นกิโลเมตร อย่างที่อ่าวเม็กซิโก เป็นต้น
ถ้าหากทฤษฎีการผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil Theory) เป็นจริง ก็น่าจะถือได้วิกฤติน้ำมันครั้งหลังสุดนับแต่ปี 2005 จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เป็นวิกฤติหรือสิ่งคุกคามเศรษฐกิจ-การเมืองไปทั่วโลก และมีลักษณะถาวร ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้เหมือนเดิม เว้นเสียแต่ว่าจะมีการก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางเทคโนโลยีด้านพลังงานที่กำลังมีการพัฒนากันอย่างเอาจริงเอาจัง
เพื่อให้เห็นภาพรูปธรรมจะได้กล่าวถึงการผลิตน้ำมันสูงสุดในประเทศต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายสิบประเทศ รวมทั้งปัญหาน้ำมันและพลังงานที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ทั่วโลก
การผลิตน้ำมันสูงสุดในประเทศต่างๆ
ทฤษฎีการผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil Theory) เสนออย่างง่ายๆ ว่า บ่อน้ำมันหนึ่ง (Oil Well) หรือทุ่งน้ำมันหนึ่ง (Oil Field) หรือสำรองน้ำมันทั้งหมดของประเทศหรือของทั้งโลก เมื่อผลิตได้ราวร้อยละ 30 หรืออย่างสูงร้อยละ 50 ของสำรองที่มีอยู่ การผลิตก็จะถึงจุดสูงสุด จากนั้นปริมาณการผลิตได้จะค่อยๆ ลดลง ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร
เช่น การอัดน้ำหรือแก๊สเข้าไปเพื่อเพิ่มแรงดัน หรือการขุดตามแนวนอน เพื่อให้สัมผัสกับน้ำมันได้ทั่วถึงขึ้น
การปฏิบัติเช่นนี้อย่างมากก็ทำให้สามารถนำน้ำมันขึ้นมาได้หมดจดนั่นคือยืดอายุของบ่อน้ำมันนั้นออกไปได้อีกระยะหนึ่ง
ผู้เสนอทฤษฎีนี้ได้แก่วิศวกรและนักฟิสิกส์ธรณีทางน้ำมันที่ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทน้ำมันใหญ่ระดับโลก เป็นการสรุปจากประสบการณ์ตรงและการคำนวณที่ซับซ้อน
แต่ทฤษฎีนี้เป็นยาขมจนยากที่จะยอมรับและกลืนลงง่ายๆ เพราะว่ามันเป็นการทำลายแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าและการเติบโตที่เคยเชื่อกันมาหลายร้อยปี
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจำนวนมากที่เชื่อมั่นในระบบตลาด เรื่องอุปสงค์อุปทาน มองเห็นว่า เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ก็จะมีการทุ่มลงทุนเพื่อหาแหล่งน้ำมันใหม่หรือพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจขุดเจาะ การกลั่นไปจนถึงการประหยัดพลังงาน
ดังนั้น เรื่องการผลิตน้ำมันสูงสุดเป็นเรื่องอนาคตอีกยาวนาน เป็น 50 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อถึงเวลานั้นมนุษย์ก็จะสามารถคิดค้นเทคโนโลยีทางพลังงานใหม่ที่มาทดแทนน้ำมันได้
แต่เรื่องมันไม่ได้สะดวกดายเช่นนั้น ดังจะเห็นได้ว่าวิกฤติน้ำมันเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นนับแต่ปี 1973 จนท้ายสุดประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกผู้บริโภคน้ำมันมาก ต้องนำสต๊อกน้ำมันทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันสูง
ถ้าเราดูในระดับบ่อน้ำมัน ทุ่งน้ำมันหรือ สำรองน้ำมันแบบธรรมดาระดับประเทศแล้ว พบว่าการทำนายเรื่องการผลิตน้ำมันสูงสุดค่อนข้างแม่นยำหากมีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ
มีผู้ชี้ว่าประเทศที่ผลิตน้ำมันสำคัญในโลกนี้มีอยู่เพียง 42 ประเทศ ซึ่งมีกำลังผลิตรวมกันราวร้อยละ 98 ของการผลิตของโลกปรากฏว่ามีถึง 30 ประเทศที่การผลิตน้ำมันเลยจุดสูงสุดหรือกำลังอยู่ในจุดสูงสุด
ตัวอย่างเช่น สหรัฐผลิตน้ำมันได้สูงสุดปี 1970 ผลิตน้ำมันได้ราว 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อถึงปี 2008 ผลิตได้ราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 35
อังกฤษผลิตได้สูงสุดปี 1999 ราว 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถึงปี 2008 ผลิตได้ราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 47
นอร์เวย์ผลิตได้สูงสุดปี 2001 ผลิตได้ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2008 ผลิตได้ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 28
ลิเบียผลิตได้สูงสุดปี 1970 ผลิตได้กว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระหว่างปี 2002-2009 ผลิตได้ใกล้เคียงกันระหว่าง 1.32-1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงราวร้อยละ 45
รวมแล้วประเทศที่ผลิตน้ำมันผ่านจุดสูงสุดหรือกำลังอยู่ในจุดสูงสุด มีกำลังการผลิตราวร้อยละ 60.6 ของโลก
ส่วนประเทศที่การผลิตยังอาจขยายตัวได้ เช่น จีน รัสเซีย บราซิล กาตาร์ และรวมทั้งไทย มีกำลังผลิตเพียงร้อยละ 39.4 ของโลก (ดูบทความชื่อ Production and Peaks Dates by Countryใน aspousa.org และบทความชื่อ Is Peak Oil Real? A List of Countries Past Peak ใน theoildrum.com 180709)
อนึ่ง ตัวเลขเหล่านี้อาจผิดกับในที่อื่น เนื่องจากการใช้แหล่งที่มาต่างกัน และให้ความหมายของคำว่าน้ำมันต่างกันไป บางแห่งหมายถึงแต่น้ำมันธรรมดา บางแห่งรวมก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันที่ไม่ใช่ธรรมดา
แต่ภาพใหญ่ในระดับโลกถือได้ว่าไม่มีการผิดแผกกันมากนัก
วิกฤติน้ำมันในประเทศต่างๆ
มักกล่าวกันว่า ประเทศด้อยพัฒนาที่ยากจนจะได้รับผลกระทบจากน้ำมันราคาสูงมากกว่าประเทศอื่น
แต่แท้จริง การที่น้ำมันราคาสูงขึ้นมากนั้น ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในแบบที่ต่างกัน
เช่น ในช่วงวิกฤติ 2008 พบว่าประเทศตะวันตกที่ถือว่าพัฒนาแล้ว ใช้น้ำมันลดลงหลายล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ในประเทศเกิดใหม่ อย่างเช่นจีน อินเดีย การใช้น้ำมันกลับเพิ่มสูงขึ้น
แสดงว่าประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีความสามารถที่จะสู้ราคาน้ำมันได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
สำหรับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็มีปัญหาของตน ที่ร่วมกันคือ มักใช้เงินอุดหนุนทำให้ราคาน้ำมันไม่สูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นภาระหนักมากสำหรับรัฐบาล ที่จะต้องนำเงินจำนวนไม่น้อยไปลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน เพื่อรักษาการผลิตระดับเดิมของตนไว้
ตัวอย่างประเทศที่เผชิญวิกฤติน้ำมันในประเทศต่างๆ เช่น
1. ประเทศอิหร่าน อิหร่านมีสำรองน้ำมันและแก๊สธรรมชาติปริมาณมหาศาล เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่
แต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2007 รัฐบาลประกาศเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันบางส่วน และให้มีการปันส่วนน้ำมัน ผู้ที่ใช้น้ำมันเกินส่วนนี้ จะต้องจ่ายค่าน้ำมันในราคาตลาด ทำให้ฝูงชนเกิดความโกรธเกรี้ยวถึงขั้นก่อการจลาจล มีการเผาปั๊มน้ำมันด้วยการจลาจลรุนแรงนี้อาจอธิบายได้ว่าเป็นการแทรกแซงยุแยงจากภายนอก แต่ก็ไม่อาจปกปิดข้อเท็จจริงว่าอิหร่านที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับสองในกลุ่มโอเปก ไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนน้ำมันที่มีก้อนใหญ่ขึ้นทุกที (รายงานข่าวชื่อ Riots as oil3rich Iran Imposes fuel rations รอยเตอร์ 280607)
2. กรณีเวเนซุเอลา เวเนซุเอลาเป็นประเทศผลิตน้ำมันดิบใหญ่ของละตินอเมริกา มีปริมาณสำรองน้ำมันแบบไม่ใช่ธรรมดา (Unconventional Oil) สูงมาก แต่การผลิตน้ำมันก็ยังคงมีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันผลิตน้ำมันได้ราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขายให้สหรัฐราว 1 ล้านบาร์เรล และเกิดเรื่องร้าวฉานกับสหรัฐในหลายเรื่องโดยพื้นฐานเป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศเวเนฯ เดินนโยบายชาตินิยมทางทรัพยากร
เวเนซุเอลาได้เกิดวิกฤติไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2011 ทำให้ต้องมีการปันส่วนไฟฟ้า ในกลางเดือนพฤษภาคม 2011 การขาดไฟฟ้าทำให้ต้องหยุดโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ 2 โรง ที่มีผลผลิตรวมกันราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดการผลิตบางส่วน
การขาดพลังงานไฟฟ้าของเวเนฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขาดน้ำมัน แต่เกิดจากภัยแล้ง ทำให้การผลิตกระแสไฟจากโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำไม่พอใช้ จนมากระทบต่อการผลิตน้ำมัน
อนึ่ง มีหลายประเทศที่เกิดปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น ที่เซเนกัลในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2011 เกิดไฟฟ้าดับในนครหลวงดาการ์เป็นเวลากว่า 30 ชั่วโมง เนื่องจากขาดเชื้อเพลิงอย่างหนัก ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น มีผู้ไม่พอใจเกิดการประท้วงที่นครหลวงถึงขั้นจลาจล ทางรัฐบาลต้องส่งหน่วยทหารไปรักษาความปลอดภัยตามกระทรวงต่างๆ
กรณีไฟฟ้าดับนานจนบานปลายเกิดจลาจลนี้วิจารณ์กันว่าเนื่องจากมีวิกฤติการเมืองเข้าร่วมด้วย (ดูบทความชื่อ Senegal deploy troops after riots over power cuts ในหนังสือพิมพ์ดิ การ์เดียน 280611)
3. ประเทศจีน จีนมีปัญหาพลังงานของตนต่างออกไป โดยที่จีนนั้นมีน้ำมันและถ่านหินค่อนข้างสมบูรณ์ หากว่าจะใช้มันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศตนโดยลำพัง
แต่เกิดเป็นเรื่องว่า จีนได้กลายเป็นประเทศโรงงานโลก ต้องผลิตสินค้าต่างๆ ป้อนให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด
อุบัติการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มทุนทั้งในสหรัฐและสหภาพยุโรปย้ายการผลิตทางอุตสาหกรรมมาอยู่ที่จีน ด้วยเห็นว่ามีทรัพยากรพลังงานมาก รวมทั้งทรัพยากรอื่น เช่น แร่หายาก
ที่สำคัญคือ มีแรงงานที่มีวินัย ขยันขันแข็ง เรียนรู้เร็ว และค่าแรงถูก ทำให้จีนต้องเร่งใช้พลังงานของตนอย่างมากในอัตราที่รวดเร็วอย่างที่ไม่มีชาติใดทำได้ในโลกนี้ ซึ่งทำให้แหล่งพลังงานของจีนลดลงเร็วมาก
มีผู้ชี้ว่า จีนผลิตถ่านหินได้มากกว่าร้อยละ 40 ของโลก ขณะที่มีสำรองถ่านหินไม่ถึงร้อยละ 15 ของโลก
ปี 2010 จีนใช้ถ่านหินราว 3.2 พันล้านตัน คาดหมายว่าในอัตราการผลิตแบบนี้ จีนจะผลิตถ่านหินได้สูงสุดในปี 2015 และคาดว่าจะเริ่มลดลงในปี 2020 (ดูบทความชื่อ Is peak coal coming? ใน theglobeandmail.com 270411)
จีนใช้ถ่านหินเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้าราวร้อยละ 80 ของพลังงานทั้งหมด แม้กระนั้นก็ยังเกิดการขาดไฟฟ้าอย่างเรื้อรัง
ในปี 2011 นี้นครเซี่ยงไฮ้ต้องประกาศให้สำนักงานและช็อปปิ้งมอลล์ที่ใช้ไฟฟ้าหยุดกิจการในช่วงวันอากาศร้อน เพิ่มเติมจากที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 2 หมื่นแห่งต้องหยุดกิจการในช่วงเวลาดังกล่าว
ในด้านน้ำมัน ประเทศจีนเคยเป็นประเทศส่งออกน้ำมันสำคัญ เคยส่งออกน้ำมันได้ถึง 20 ล้านตันในปี 1985 แต่เมื่อถึงปี 1993 ความต้องการน้ำมันภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกทีจนต้องเริ่มนำเข้าน้ำมัน ในปี 2010 จีนนำเข้าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของที่
ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของการต้องพึ่งพาน้ำมันภายนอกประเทศมากเกินไป โดยนำเข้ามากที่สุดจากประเทศซาอุดีอาระเบีย (chinadaily.com 200110)
ปัจจุบันจีนที่เป็นประเทศใช้น้ำมันมากเป็นที่สองรองจากสหรัฐ ต้องเที่ยวสัญจรไปทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา แคนาดา ตะวันออกกลาง เพื่อหาน้ำมันมาป้อนความต้องการการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นวิกฤติที่ก่อตัวอย่างเงียบๆ ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อจีนเท่านั้น หากยังกระทบต่อประเทศอื่นทั่วโลก
กรณีการนำสต๊อกน้ำมันโลกมาใช้
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2011 สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency-IEA) และองค์การโออีซีดีหรือสโมสรประเทศพัฒนาแล้วนำโดยสหรัฐ ได้ตัดสินใจนำสต๊อกน้ำมันทางยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ไม่มากนักออกขายสู่ตลาดวันละ 2 ล้านบาร์เรลเป็นเวลา 1 เดือนรวม 60 ล้านบาร์เรล
การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากความล้มเหลวในความพยายามของซาอุดีฯ ที่จะโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกโอเปกผลิตน้ำมันให้มากขึ้นวันละราว 1.5 ล้านบาร์เรล
การนำสต๊อกน้ำมันทางยุทธศาสตร์มาใช้ครั้งนี้ เห็นกันว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือลดราคาน้ำมันลงโดยนำสต๊อกน้ำมันเข้าสู่ตลาด โดยอ้างเหตุว่าสงครามที่ลิเบียได้ทำให้การผลิตน้ำมันชนิดดีหายไปจากตลาดกว่าล้านบาร์เรลต่อวัน มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่กรุงลอนดอนสูงขึ้นถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ที่เพิ่งมานำสต๊อกน้ำมันออกขาย ก็เพราะว่าประเทศในยุโรปและสหรัฐ จำต้องเดินนโยบายมัธยัสถ์เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ
การทำเช่นนี้จะได้ผลหรือไม่ คำตอบก็คือได้ผลในระดับหนึ่ง นั่นคือทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง
แต่มาตรการนี้ใช้ในระยะสั้น หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องนำสต๊อกน้ำมันมาขายอีกกี่ระลอกจึงพอ ทั้งยังอาจก่อผลข้างเคียงที่สำคัญก็คือ ทำให้เกิดการบริโภคน้ำมันมากขึ้น ทำให้วิกฤติน้ำมันยิ่งเลวร้าย และเป็นการส่งสัญญาณให้นักเก็งกำไรว่า น้ำมันคงจะขาดตลาดจริง และดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นอีก (ดูบทความของ Kurt Cobb ชื่อ Strategic Petroleum Reserves: The World"s Last "Swing Producer" Tries to Save the Economy ใน Resource Insights 260611)
อนึ่ง มีผู้คำนวณว่าถ้ารัฐบาลในกลุ่มเศรษฐีโออีซีดีนำสต๊อกน้ำมันออกมาขายวันละ 2 ล้านบาร์เรลอย่างที่กำหนดไว้นี้ ก็จะปฏิบัติเช่นนี้ได้ราว 2 ปีเศษ น้ำมันที่อยู่ในสต๊อกประเทศตะวันตกที่มีราว 1,500 ล้านบาร์เรลก็จะหมด
ที่สำคัญก็คือ กลุ่มประเทศโอเปกไม่พอใจปฏิบัติการของ IEA ค่อนข้างสูง
เลขาธิการของกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องให้ IEA ยุติปฏิบัติการนี้โดยเร็ว
มีบางบทความชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มโอเปกจะตอบโต้ด้วยการลดการผลิตน้ำมันลง ซึ่งเรื่องก็จะบานปลายไปกันใหญ่
จากนี้จึงเห็นได้ว่าวิกฤติน้ำมันกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
++
วิกฤติน้ำมันกับโลกาภิวัตน์
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 40
วิกฤติน้ำมันหรือการที่น้ำมันมีราคาแพงและขาดแคลนนั้นเกิดจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่ทางด้านธรณีวิทยา ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจและการเก็งกำไร
พร้อมกันนั้นวิกฤติน้ำมันก็ส่งผลย้อนกลับไปยังเหตุปัจจัยนั้นๆ ให้รุนแรงยิ่งขึ้น
วิกฤติน้ำมันจึงเป็นเหมือนปมของวิกฤติโลก เป็นเครื่องมือง่ายๆ ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ทั่วไปของโลก
ปมวิกฤติโลกเป็นวิกฤติหลายด้านที่รวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มจนยากที่จะแยกออกกันและยากที่จะแก้ไข
วิกฤติเหล่านี้แรกสุดคือวิกฤติระบบทุนนิยมที่เป็นแบบผูกขาดและเก็งกำไร หรือวิกฤติโลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัท
ต่อจากนั้นที่สำคัญได้แก่ วิกฤติระบบนิเวศน์ วิกฤติทรัพยากรธรรมชาติ วิกฤติการเมือง วิกฤติภูมิรัฐศาสตร์และสงคราม วิกฤติอาหาร และวิกฤติสังคมและวัฒนธรรม
มีบางคนเชื่อในเรื่องการผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil) ซึ่งยึดด้านธรณีวิทยาเป็นสำคัญ และใช้ทฤษฎีนี้เพื่ออธิบายและทำนายความเป็นมาและเป็นไปของอารยธรรมมนุษย์ จนสามารถกำหนดวันล่มสลายของอารยธรรมปัจจุบันว่า จะอยู่ราวปี 2030
ในที่นี้ต้องการจะแสดงว่าวิกฤติน้ำมันนั้น เกี่ยวข้องกับวิกฤติอื่นอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของวิกฤติใหญ่ของโลกในปัจจุบัน โดยใช้วิกฤติน้ำมันเป็นตัวเชื่อมร้อย
โลกาภิวัตน์เป็นอย่างไร
โลกาภิวัตน์ กล่าวได้ว่าเป็นขั้นการพัฒนาของระบบทุนที่เมื่อทุนการเงิน (Financial Capital) ได้ขึ้นมามีอำนาจสูงจนครอบงำระบบทุนทั้งหมด ทุนการเงินนี้ไม่อาจจำกัดตัวเองอยู่ภายในเส้นพรมแดนของประชาชาติหนึ่งได้ เพราะว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการค้าและการลงทุน ต้องส่งทุนออกไปยังอาณานิคมหรือประเทศอื่น
นอกจากทุนการเงินแล้วโลกาภิวัตน์ยังต้องการการสื่อสารและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่าโซ่อุปทาน (Supply Chain) หรือโซ่คุณค่า (Value Chain นั่นคือ ทุกห่วงโซ่ที่ส่งต่อล้วนสร้างมูลค่า) รวมทั้งมีการผลิตปริมาณมากในระดับโลก ซึ่งเหล่านี้ต้องอาศัยพื้นฐานการมีพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันพลังงานที่สำคัญได้แก่น้ำมันราคาถูก
โลกาภิวัตน์ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครั้งที่สอง
โลกาภิวัตน์ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 (อาจนับตั้งแต่ปี 1880 ที่ประเทศตะวันตกหันมาใช้ถ่านหินแทนไม้ ถึงปี 1913 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงยุคอาณานิคมเบ่งบาน โลกทั้งโลกถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยอำนาจทางทหารและการผลิตของประเทศตะวันตก
เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดโลกาภิวัตน์ในครั้งนั้น ก็มีพื้นฐานคล้ายกับในปัจจุบัน ได้แก่ ทุนการเงินได้เติบใหญ่ขึ้น จนมีลักษณะครอบงำในระบบ และส่งเงินออกไปลงทุนทั่วโลก ทั้งในระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกัน และจากประเทศมหาอำนาจสู่ประเทศอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม สร้างตลาดโลกขึ้น
และที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็คือ การพัฒนาโทรเลข จนสามารถวางสายเชื่อม 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้ในปี 1866 การใช้รถไฟอย่างกว้างขวางตั้งแต่ทศวรรษ 1830 และมีเรือกลไฟเดินสมุทรตั้งแต่ทศวรรษ 1840 โลกาภิวัตน์ครั้งแรกกล่าวได้ว่าขับเคลื่อนโดยถ่านหิน
โลกาภิวัตน์ครั้งแรกสะดุดจากสงครามใหญ่ 2 ครั้ง นั่นคือสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) สงครามโลกทั้ง 2 ครั้งนั้นเกิดขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจอุตสาหกรรมตะวันตกด้วยกัน เพื่อแย่งชิงการผูกขาดตลาดและทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญคือถ่านหินและน้ำมัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อารยธรรมมนุษย์เคลื่อนจากอารยธรรมถ่านหินสู่อารยธรรมน้ำมัน ประธานาธิบดีคูเลดจ์แห่งสหรัฐได้กล่าวในปี 1924 ว่า "ความยิ่งใหญ่ของประชาชาติทั้งหลายอาจอยู่ที่การถือครองปิโตรเลียมและผลิตผลของมันที่นำไปใช้ได้ "
และสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ กล่าวได้ว่าเป็นสงครามที่เน้นยุทธศาสตร์น้ำมันเพื่อชัยชนะยิ่งกว่าสงครามใดที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีแกนสหรัฐ-อังกฤษต้องชนะในสงครามอย่างแน่นอนก็คือน้ำมันจากสหรัฐ ที่ทำให้สามารถสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เหมือนไม่จำกัด สร้างกองเรือและกองบินที่ไม่มีใครพิชิตได้ โดยเฉพาะกองบินที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามเยอรมนีและญี่ปุ่นที่ขาดทรัพยากรพลังงาน ได้ดิ้นรนเพื่อถือครองแหล่งถ่านหินและน้ำมันเพื่อสนองความต้องการที่พุ่งขึ้น
ในปี 1938 เยอรมนีต้องนำเข้าน้ำมันถึงร้อยละ 60 ของที่บริโภคในประเทศ ซึ่งก็มีอยู่เพียงราว 44 ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับอังกฤษที่บริโภคถึง 76 ล้านบาร์เรล รัสเซียใช้ราว 183 ล้านบาร์เรล และสหรัฐราว 1 พันล้านบาร์เรล
ประเทศในยุโรปที่เยอรมนีนำเข้าน้ำมันสำคัญคือโรมาเนียซึ่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองโรมาเนียได้ ก็พัฒนาการผลิตน้ำมันจนสูงถึง 13 ล้านบาร์เรลในปี 1941
นอกจากนี้ เยอรมนียังได้พัฒนาเทคโนโลยีกลั่นถ่านหินเป็นน้ำมันขึ้นเนื่องจากเยอรมนีพอมีแหล่งถ่านหินอยู่ (ดูบทความของ Dr.Peter W. Becker ชื่อ The Role of Synthetic Fuel in World War II Germany ใน airpower.maxwell ก.ค.-ส.ค.1981)
สำหรับญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่จากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีความไม่แน่นอน เพื่อหาแหล่งพลังงาน ญี่ปุ่นได้บุกแมนจูเรีย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของจีนและบางส่วนเป็นของรัสเซียในปี 1931 เป็นแหล่งน้ำมันสำคัญ และในปี 1937 บุกยึดครองจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐ ยิ่งตึงเครียด โดยในเดือนกรกฎาคม 1941 สหรัฐประกาศงดส่งน้ำมันให้แก่ญี่ปุ่น และยึดทรัพย์สินของญี่ปุ่นในสหรัฐ ญี่ปุ่นตอบโต้โดยส่งฝูงบินเข้าโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่อ่าวเพิร์ลในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางแผนโจมตีทางยุทธศาสตร์ต่อแหล่งปิโตรเลียม น้ำมัน และน้ำมันหล่อลื่นที่สนองแก่เยอรมนี
เมื่อสหรัฐเข้าสู่สงครามก็ได้มีปฏิบัติการทิ้งระเบิดโรงกลั่นน้ำมันที่โรมาเนียในปี 1943 ปฏิบัติการยังเข้มข้นขึ้น จนเมื่อเดือนมิถุนายน 1944 นายพลสปาแตสของสหรัฐ ได้ส่งโทรเลขความว่า "เป้าหมายทางยุทธศาสตร์พื้นฐานของกองทัพอากาศสหรัฐก็คือการยับยั้งไม่ให้กองทัพอากาศของศัตรูมีน้ำมันใช้ "
ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเยอรมนีประสบความยุ่งยากในทุกด้าน เมื่อความต้องการบริโภคน้ำมันสูงกว่าที่ผลิตได้โดยตลอด เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 1945 เยอรมนีผลิตน้ำมันสำหรับฝูงบินได้ไม่ถึง 500 ตัน ถึงเดือนมีนาคมลดเหลือเพียง 40 ตัน และเดือนเมษายนไม่ได้เลย
(ดูบทความของ Hanson Baldwin ชื่อ Oil Strategy in World War II ใน oil 150.com ต้นฉบับเผยแพร่ปี 1959)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกาภิวัตน์แบบบรรษัทได้ฟื้นตัวมาอีกครั้งในโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐ โดยมีโลกสังคมนิยมเป็นคู่แข่ง (แต่เมื่อถึงทศวรรษ 1990 โลกสังคมนิยมล่มสลายมา เข้าร่วมโลกาภิวัตน์ในโลกเสรี)
ในช่วงนี้โลกได้เคลื่อนจากยุคถ่านหินสู่ยุคน้ำมัน นั่นคือใช้น้ำมันเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำคัญแทนที่ถ่านหิน
อนึ่ง ในห้วงเวลาดังกล่าวมีการกล่าวถึงยุคปรมาณู หมายถึงว่าจะใช้พลังงานนิวเคลียร์มาแทนน้ำมัน
แต่สิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงวิเศษที่สุดที่มนุษย์รู้จักสำหรับการผลิตสมัยใหม่
การที่โลกหันไปใช้น้ำมันที่มีราคาแพงมากกว่า ไม่ใช่เพราะว่าถ่านหินหมดลง แต่เพราะน้ำมันมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น เป็นแหล่งพลังงานที่เข้มข้นกว่า ขนส่งง่ายกว่า ใช้เพื่อการขนส่งสะดวกกว่า
โลกาภิวัตน์ครั้งที่สองที่ตั้งอยู่บนฐานพลังงานน้ำมันราคาถูกนั้น ได้ประสบปัญหาจากวิกฤติน้ำมันหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายทำให้เศรษฐกิจโลกต้องถดถอยครั้งใหญ่ ทุนการเงินโลกตกอยู่ในภาวะคับขันว่าจะสามารถผ่านการคุกคามใหญ่นี้ได้หรือไม่
ทุนการเงินมีบทบาท
ต่อโลกาภิวัตน์อย่างไร
ทุนการเงินของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก กล่าวได้ว่าเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ บางทีเรียกว่าโลกาภิวัตน์ที่เป็นแบบหรือนำโดยบรรษัท ทุนการเงินทำเช่นนี้ได้โดยแสดงบทบาทใหญ่ใน 4 เรื่องที่ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวมาโดยตลอดในรอบ 60 กว่าปีมานี้ จนก่อรูปเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ปฏิบัติการดังกล่าวได้แก่
1) การสนับสนุนการค้นคว้าทางเทคโนโลยี โดยเมื่อเห็นว่าเทคโนโลยีใดมีอนาคตที่จะสร้างมูลค่าได้คุ้มค่า ก็จะปล่อยเงินออกมาสนับสนุน มีส่วนสำคัญให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น ได้เปรียบในการแข่งขัน และมีกำไรงาม เทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุน ได้แก่ เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งเป็นพื้นฐานของโลกาภิวัตน์ จนเกิด บริษัท ดอท.คอม ขึ้นจำนวนมาก นอกจากนี้ คือเทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี
อนึ่ง ผู้สนับสนุนการค้นคว้าทางเทคโนโลยีอีกราย ได้แก่ รัฐบาล เช่นรัฐบาลสหรัฐที่ใช้เงินจำนวนมากค้นคว้าในเทคโนโลยีทางทหาร
2) การลงทุนทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน เพื่อให้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น สามารถนำมาใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ขายได้ และเกิดกำไรตามเป้าที่ตั้งไว้ปฏิบัติการใน 2 ข้อแรกก่อผลสำคัญ 3 ประการได้แก่
ก) เทคโนโลยีและการผลิตทางอุตสาหกรรมมีความซับซ้อนขึ้นมาก งานวิจัยต้องใช้เงินมาก เครื่องมือที่ละเอียดและใหญ่ มีผู้เข้าร่วมวิจัยมาก เรียกกันว่าวิทยาศาสตร์ใหญ่ (Big Science) ในการผลิตทางอุตสาหกรรม ก็ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติที่ใหญ่ซับซ้อน ใช้เงินทุนมาก ค่าจ้างแรงงานน้อย เรียกว่า Capital Intensive
ข) ทั้งเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมีลักษณะผูกขาดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินทุนมากจึงจะสามารถวิจัยขั้นสูงหรือผลิตแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และมีโซ่อุปทานโยงใยกันทั่วโลกได้ อุตสาหกรรมน้ำมันก็เริ่มจากเจ้าของบ่อน้ำมันรายย่อย มีเพียงไม่กี่สิบบ่อเป็นพื้นฐาน เมื่อเวลาผ่านไป การผลิตน้ำมันก็มีลักษณะรวมศูนย์ผูกขาดมากขึ้นทุกที จนในปัจจุบันที่มีขนาดใหญ่เพียง 5-6 บริษัท
กล่าวได้ว่าการผูกขาดและการใช้ทุนสูงเป็นลักษณะของโลกาภิวัตน์ ดังจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกควบคุมโดยบรรษัทใหญ่เพียงราว 500 แห่งเท่านั้น
ค) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมีมากขึ้น เช่น การใช้น้ำมันทั่วโลกในปัจจุบันตกราว 85 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2 เท่านับแต่ปี 1969 ซึ่งการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นทั้งจากการบริโภคต่อหัวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้น ทุนการเงินยังมีปฏิบัติการสำคัญอีก 2 ประการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ทุนการเงินเป็นใหญ่ในโลก ได้แก่
3) การขยายสินเชื่อ เช่น การให้เครดิตแก่ผู้บริโภค การปล่อยกู้แก่บริษัทผู้ประกอบการต่างๆ
4) การสร้างตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกโดยมีกลไกพื้นฐานคือสถาบันการเงินและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่เรียกว่า กลุ่ม 7 และที่เป็นสากล คือธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements - BIS) ไอเอ็มเอฟ และกลุ่มธนาคารโลก
ปฏิบัติการใน 2 ข้อหลังนี้ส่งผลสำคัญ ได้แก่
ก) การทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เนื่องจากการขยายสินเชื่อช่วยทำให้ทั้งการบริโภคและการผลิตขยายตัว เห็นได้ว่าเมื่อสถาบันการเงินปล่อยกู้น้อยลงเศรษฐกิจก็ซบเซา
ข) การขยายสินเชื่อนี้มีแนวโน้มที่จะปล่อยมากเกินไป เนื่องจากสถาบันการเงินก็ต้องการกำไร ทำให้เกิดการผลิตและการบริโภคล้นเกิน เกิดภาวะฟองสบู่ที่แตกออกเป็นวิกฤติหลายครั้งด้วยกัน โดยวิกฤติที่หนักหน่วงรุนแรง ได้แก่ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เมื่อแตกแล้ว สามารถทำให้สถาบันการเงินล้มระเนระนาด ถ้าหากไม่ได้รับการค้ำจุนจากรัฐบาล
ค) การเกิดหนี้ทับถมใหญ่ขึ้นทุกที จนกลายเป็นวิกฤติหนี้ครอบงำไปทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน บรรษัท และรัฐบาล ต่างมีหนี้กันจำนวนมากทั้งสิ้น
ง) การเก็งกำไร เนื่องจากมีเงินล้นมากเกินไป และไม่รู้ว่าจะลงทุนที่ใดดี มีการสร้างสินค้าทางการเงินที่เรียกว่าอนุพันธ์มูลค่ามหาศาลราว 600 ล้านล้านดอลลาร์ค้าขายกันอย่างที่ไม่มีรัฐบาลใดควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีการเก็งกำไรในน้ำมันอีกด้วย
ทุนการเงินโลกที่บ่มวิกฤติน้ำมันให้รุนแรงขึ้นทุกที จนบัดนี้เห็นได้ว่า ราคาน้ำมันที่แพงสามารถทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบพักยาว
...โลกาภิวัตน์จะเป็นอย่างไรเมื่อน้ำมันขาดแคลน...
++
โลกาภิวัตน์จะเป็นอย่างไร เมื่อน้ำมันขาดแคลน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 39
ปรากฏการณ์น้ำมันขาดแคลนแสดงอาการได้หลายอย่าง เช่น น้ำมันราคาแพง มีการปันส่วนน้ำมันหรือจำกัดปริมาณที่เติม ต้องเข้าคิวรถยนต์ยาวที่ปั๊ม ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนมาก และไฟฟ้าดับครั้งละนานๆ บ่อยครั้ง
เรื่องไฟฟ้าดับนี้เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำมัน นอกจากนี้ยังมีพลังน้ำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อไล่เรียงกันให้ถึงที่สุดแล้ว ก็พอกล่าวได้ว่าเกิดจากน้ำมันขาดแคลน อย่างเช่นญี่ปุ่นที่ขาดแคลนน้ำมัน ต้องนำเข้ามาใช้ทั้งหมด จึงหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าแทน
เมื่อเกิดอุบัติภัยที่น่าเศร้าสลด ทั้งแผ่นดินไหวใหญ่ และคลื่นสึนามิในต้นเดือนมีนาคม 2011 ส่งผลให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย 3 โรง เกิดขาดแคลนไฟฟ้า ต้องปันส่วนกระแสไฟฟ้ากัน ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ตอนนี้กำลังระบาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นสิ่งที่ควรจับตาดูอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นและพัฒนาไปบนพื้นฐานของน้ำมันราคาถูก เมื่อน้ำมันเกิดขาดแคลน มีราคาแพงและผันผวน ย่อมกระทบต่อทุกองค์ประกอบของโลกาภิวัตน์ จะกล่าวในที่นี้ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การผลิตแบบโลกาภิวัตน์ที่ต้องขนส่งและใช้น้ำมันมาก และผลกระทบของการขาดแคลนน้ำมันต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว
แต่ก่อนจะกล่าวถึง ควรทบทวนว่าโลกเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนน้ำมันแล้วหรือไม่ สักเล็กน้อย
โลกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำมันหรือยัง
มีเหตุการณ์ใหญ่บางประการที่ชี้ว่า โลกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำมันแล้ว สำหรับประเทศที่เป็นแกนของโลกาภิวัตน์ คือสหรัฐ และพันธมิตรมีกลุ่มนาโต้ เป็นต้น
เหตุการณ์ดังกล่าวได้แก่ การก่อสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งสาเหตุเบื้องลึกเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำมัน สงครามนี้ดำเนินมาราว 10 ปี เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาล เทียบกับหนี้สาธารณะของสหรัฐที่ปัจจุบันตกกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์
มีผู้คำนวณว่าสหรัฐใช้งบประมาณเพื่อปรับอากาศให้แก่เหล่าทหารที่ไปรบในอิรัก และอัฟกานิสถานอันร้อนระอุเป็นยอดเงินสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี มากกว่างบประมาณทั้งหมดที่ให้แก่องค์การนาซาเสียอีก (npr.org 250611)
และขณะที่สหรัฐยอมตัดงบฯ เกี่ยวกับสำรวจอวกาศ แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและอิรักไปจนหมดเหล่านี้ แสดงว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินและชีวิตทหารสหรัฐเองเปรียบเทียบแล้วยัง น้อยกว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากสหรัฐไม่สามารถควบคุมแหล่งน้ำมันที่ตะวันออกกลาง ทะเลแคสเปียน และเอเชียกลางได้
เหตุการณ์ที่สองได้แก่ สหรัฐ-นาโต้ปฏิบัติการทิ้งระเบิดลิเบีย โดยไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน แต่วิจารณ์กันว่าหวังยึดแหล่งน้ำมันชั้นดีปริมาณมากจากประเทศนี้
ก่อนปฏิบัติการประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐได้กล่าวว่า การทิ้งระเบิดนี้จะกินเวลาเป็นวัน ไม่ใช่สัปดาห์ แต่หลังจากทิ้งระเบิดไปหลายเดือนแล้วก็ยังโค่นกาดาฟีผู้นำลิเบียไม่ได้
น้ำมันที่ลิเบียเคยส่งออกวันละกว่า 1 ล้านบาร์เรลก็ขาดไปจากตลาด จนเกิดเหตุการณ์ตามมา ได้แก่ องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือเอไออี และกลุ่มประเทศโออีซีดีที่มีสหรัฐเป็นแกน ประกาศนำสต๊อกน้ำมันรวม 60 ล้านบาร์เรลออกมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิบโลกราคาสูงเกินไป
ถ้าหากจะดูเหตุการณ์แวดล้อมอื่นก็จะพบอีกเป็นอันมากที่แสดงว่าน้ำมันแบบ ธรรมดา (Conventional Oil) ได้เข้าสู่ภาวะขาดแคลนแล้ว เช่น การสำรวจขุดเจาะน้ำมันลึกลงไปในทะเลเป็นกิโลเมตร การผลิตน้ำมันจากหินน้ำมัน (Oil Shale) ที่ต้องใช้น้ำมากและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง
ไปจนถึงรัสเซียส่งกองทหารไปประจำที่ขั้วโลกเหนือเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าของพื้นที่ที่คาดว่ามีน้ำมัน
และกรณีพิพาทระหว่างจีนกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่บริเวณทะเลจีนใต้ที่คาดว่าเป็นแหล่งน้ำมันใหญ่
รายงานของ ดร.หมิน ชิ หลี
ดร.หมิน ชิ หลี (Minqi Li) เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวจีน เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยในกรณีเทียนอันเหมิน และถูกจับกุม เมื่อได้รับการปลดปล่อย ในปี 1994 เดินทางไปสหรัฐ ศึกษาต่อจนได้ปริญญาเอก เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม
ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐ ได้ชื่อว่าเป็นชาวซ้ายใหม่ของจีน ผู้นี้ได้เขียนรายงานชื่อ "เมื่อพลังงานถึงขั้นสูงสุดและความจำกัดของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก" โดยในรายงานประจำปี 2011 มีความบางตอนว่า...
...น้ำมันนั้น มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะทางด้านการขนส่ง การเกษตร และอุตสาหกรรมเคมี องค์การไอเออีระบุว่าในปี 2008 น้ำมันใช้ในการขนส่งถึงร้อยละ 96 ของโลก ในอุตสาหกรรมร้อยละ 29 ในที่อยู่อาศัยและร้านค้าร้อยละ 15 และเพื่อผลิตไฟฟ้าร้อยละ 6
เมื่อใดก็ตามที่โลกใช้จ่ายค่าน้ำมันมากกว่าร้อยละ 4 ของจีดีพีโลกเป็นเวลานานพอสมควร โลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในปี 1974-1975, 1980-1982, 2008-2009
ในปี 2011 นี้ ดูสถานการณ์จะกลับไปเหมือนช่วงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว
ประมาณว่า ในปีนี้ใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 88-89 ล้านบาร์เรล ถ้าราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของโลกสูงกว่าร้อยละ 4 ของจีดีพีโลก ถ้าหากราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันจะสูงกว่าร้อยละ 5 ของโลก...
ดร.หมิน ชิ หลี ยังคาดหมายถึงภาวะขาดแคลนน้ำมันไว้ว่า การสนองน้ำมันโลกน่าจะสูงสุดในปี 2012 ที่ 93 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะอยู่ระดับนี้จนถึงปี 2015 คาดหมายว่าราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นระหว่างปี 2012-2015 และทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่อีกครั้ง เพื่อรักษาราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป
(ดูบทความ ดร.หมิน ชี หลี ใน econ.utah.edu กรกฎาคม 2011)
การผลิตในยุคโลกาภิวัตน์และโซ่อุปทาน
การผลิตในยุคโลกาภิวัตน์ต้องใช้การขนส่งและน้ำมันมาก มีงานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้นับจำนวนร้อยชิ้น จะขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกเป็นการผลิตโยเกิร์ต สตรอว์เบอร์รี่ที่ประเทศเยอรมนีตอนใต้ เป็นงานวิจัยเผยแพร่ปี 1995 ระบุว่าเพื่อที่จะผลิตโยเกิร์ตสตรอว์เบอรี่ที่ดูไม่ซับซ้อนอะไร กลับมีรายละเอียดที่ต้องการขนส่งและน้ำมันมากมายได้แก่
1) สตรอเบอร์รี่นำเข้าจากโปแลนด์ มาทำเป็นแยมในเยอรมนีตะวันตก แล้วส่งมายังตอนใต้ของเยอรมนีอีกทีหนึ่ง
2) เชื้อโยเกิร์ตส่งจากตอนเหนือของเยอรมนี
3) ข้าวโพดและแป้งสาลีนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์
4) น้ำตาลจากหัวบีทรูทนำมาจากเยอรมนีตะวันออก
5) ป้ายและฝาอะลูมิเนียมต้องขนส่งมา 300 กิโลเมตร มีแต่ขวดแก้วและนมเท่านั้นที่เป็นของท้องถิ่น
ประมาณว่าการจะผลิตโยเกิร์ตสตรอว์เบอร์รี่ 1 คันรถบรรทุก ต้องขนส่งสิ่งของเป็นระยะทางถึง 1,005 กิโลเมตร ต้องใช้น้ำมันดีเซลราว 400 ลิตร
ทั้งนี้ ยังไม่ได้คิดการใช้น้ำมันในการปลูกพืชอย่างสตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น
เรื่องที่สอง เป็นการผลิตกางเกงยีนส์สีน้ำเงินหรือบลูยีนส์อย่างที่เราคุ้นกันดี ศาสตราจารย์จาวิแดน (Mansour Javidan) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารได้ยกตัวอย่างว่าการผลิตกางเกงยีนส์ต้องใช้โซ่อุป ทานที่ซับซ้อนผ่านถึง 8 ประเทศ 8 วัฒนธรรมอย่างไร นั่นคือ
1) ฝ้ายปลูกและเก็บเกี่ยวที่สหรัฐ
2) ส่งมายังจีนเพื่อสางและทำความสะอาด
3) จากนั้นส่งไปมาเลเซียเพื่อปั่นเป็นด้าย
4) เส้นด้ายนี้ส่งไปทอเป็นผืนผ้าที่ประเทศไทย
5) ผ้าฝ้ายสำหรับกางเกงยีนส์นี้ส่งมาตัดที่สิงคโปร์
6) ผ้าที่ตัดทรงแล้วส่งไปเย็บที่อินโดนีเซีย
7) ในการเย็บนี้ปรากฏว่าป้ายยี่ห้อส่งมาจากอินเดีย ซิปจากฮ่องกง ด้ายเย็บจากมาเลเซีย กระดุมและหมุดตอกจากไต้หวัน ลายปักจากสิงคโปร์
8) หลังจากเย็บเสร็จ ก็ส่งไปสิงคโปร์เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำออกขาย (ดูบทความชื่อ Blue jeans provide microcosm of globalized economy ใน knowledgenetwork.thunderbird.edu 251108)
ตัวอย่างที่ ดร.จาวิแดนยกมานี้แกนการผลิตจะอยู่ที่สิงคโปร์ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตกางเกงยีนส์รายใหญ่ เช่น จีน และตุรกี เป็นต้น
นอกจากนี้ เขายังไม่ได้กล่าวถึงกระบวนการอื่นอีก เช่น เมื่อจะนำฟอกหินเพื่อให้ผ้าดูเก่าก็อาจต้องนำหินภูเขาไฟจากตุรกี หรือเมื่อย้อมผ้า ก็นำเข้าสีจากเยอรมนีเป็นต้น มีบางคนประเมินว่าการจะผลิตกางเกงยีนส์ให้ได้สักล็อตหนึ่ง อาจต้องส่งของเป็นระยะทางถึง 4 หมื่นกิโลเมตร
การผลิตที่ใช้การขนส่งวัตถุดิบและวัตถุกึ่งสำเร็จอย่างมากมายเช่นนี้ เป็นไปได้ก็โดยอาศัยน้ำมันราคาถูก และปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง จนก่อรูปเป็นโซ่อุปาทานเป็นเครือข่ายทั่วโลก ทั้งในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีก เกิดเป็นแบบรูปยุทธศาสตร์การผลิตแบบพอทันเวลา (Just-in-time Production) เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกอะไหล่หรือสินค้าลง
สายโซ่อุปทานนี้จำต้องจัดการให้มีการไหลลื่นโดยตลอดทั้งในด้านชนิด คุณภาพ ปริมาณอย่างพอเหมาะตามกำหนดเวลา ความได้เปรียบเหล่านี้ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตปริมาณมากครอบงำตลาดได้ เกือบทั้งหมด สินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นยากที่จะดำรงอยู่ได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารได้ทำให้อาหารท้องถิ่นหดหายไปเกือบหมด
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การผลิตและการค้าปลีกแบบนี้ก็มีจุดอ่อนที่จะต้องรักษาโซ่อุปทาน ให้เคลื่อนไหวโดยตลอด หากหยุดชะงักลงที่จุดใด ก็ทำให้กระบวนการผลิตทั้งหมดหยุดลง
เช่น บริษัทผลิตอุปกรณ์รถยนต์ในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ก็ทำให้การผลิตรถยนต์ในหลายที่ทั่วโลกต้องหยุดตามไปด้วย อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้นจะเคลื่อนย้ายไปสู่สินค้าเกือบจะทันที
การขาดแคลนน้ำมันมีผลต่อประเทศพัฒนาแล้วอย่างไร
: กรณีอังกฤษ
การค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่ของอังกฤษในทะเลเหนือตั้งแต่ราวปี 1967 นับเป็นโชคลาภใหญ่ของประเทศ และได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำมันนี้อย่างจริงจังในปี 1975 จนทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศส่งน้ำมันออก
แต่ความโชคดีนี้อยู่ไม่นาน การผลิตน้ำมันในทะเลเหนือของอังกฤษได้ถึงจุดสูงสุดในปี 1999 ที่ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากนั้นลดต่ำลง กลายเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ
ในปี 2009 อังกฤษผลิตน้ำมันได้ 1.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน กล่าวกันว่าอังกฤษจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกที่ได้รับผลกระทบสูงจากการ ขาดแคลนน้ำมัน มีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติน้ำมันหลายชิ้นด้วย (ดูรายงานชื่อ The Oil Crunch- A wake-up call for the UK economy ใน peakoiltaskforce.net กุมภาพันธ์ 2010 ประกอบ)
สรุปผลกระทบได้ดังนี้
1. ผลกระทบเฉพาะหน้า ได้แก่ เป็นการย้ายรายได้จากประเทศนำเข้าสู่ประเทศส่งออกน้ำมัน อันนี้เป็นความกังวลสำหรับประเทศพัฒนาแล้วมาก ที่จะต้องมองเห็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมกลับมั่งคั่ง ขณะที่ประเทศของตนเผชิญปัญหาการเสียดุลการชำระเงินกับประเทศส่งออกน้ำมัน เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจและยากจนลงอย่างสัมพัทธ์
2. ผลกระทบระยะใกล้และระยะปานกลางได้แก่
ก) เงินเฟ้อสูงขึ้น คนยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบมากจากค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ราคาสินค้า และอาหาร ที่ต่อเนื่องกันได้แก่ การทำให้ค่าเงินลดลง
ข) ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการผลิตและการขนส่งสูงขึ้น
ค) ลดความต้องการสินค้าต่างๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน เนื่องจากราคาสูง แต่น้ำมันก็ต้องใช้อยู่ดีตามความจำเป็น
ง) ลดความต้องการและการบริโภคน้ำมัน ซึ่งย่อมมีส่วนให้เศรษฐกิจชะลอตัว
จ) การลงทุนในประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิลดลง
ฉ) กดดันให้ต้องเพิ่มค่าจ้างแรงงาน
ช) การว่างงานเพิ่มขึ้น
ซ) ลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจ เกิดบรรยากาศซึมเซาทางเศรษฐกิจ
ฌ) กดดันให้จีดีพีต่ำลง
ญ) รายได้จากภาษีอากรของรัฐบาลลดลง
ฎ) การส่งออกลดลงเนื่องจากตลาดในประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิอื่นหดตัวลง
3. ผลกระทบอื่น ได้แก่
ก) เกิดความไม่สงบในสังคม สำหรับในประเทศกำลังพัฒนาเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
ข) ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมทางทรัพยากร ทำให้การรวมเป็นกลุ่มประเทศไม่แน่นแฟ้น
ค) เพิ่มการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อให้ได้ทรัพยากรพลังงาน
ผลกระทบดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า เมื่อน้ำมันขาดแคลน โลกาภิวัตน์ก็พลอยหมดพลังไปด้วย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย