http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-07

แดนเถื่อน, "ถ่านหิน"พระเอก?, นิวเคลียร์กับจักรยาน, วิกฤติอาหาร โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

แดนเถื่อน
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 40


มหาชัยกลับมาเป็นแดนเถื่อนอีกครั้ง เมื่อคนร้ายสองคนขี่จักรยานยนต์มาจอดหน้าบ้านของ นายทองนาค เสวกจินดา วัย 46 ปี แกนนำกลุ่มต่อต้านการทำกิจการขนถ่ายถ่านหินของ จ.สมุทรสาคร จากนั้นชักอาวุธปืน 9 ม.ม. ยิงรัวใส่นายทองนาค บาดเจ็บสาหัสและเสียชิวิตในเวลาต่อมา

คนร้ายลงมืออย่างอุกอาจ ในตอนสายของวันที่ 28 กรกฎาคม

"ทองนาค" ต่อต้านการขนถ่ายถ่านหินมานานกว่าสองปี เนื่องจากทนไม่ไหวกับการขนส่งถ่านหินที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดฝุ่นละอองคละคลุ้งตลบอบอวลไปทั่วหมู่บ้าน

ก่อนหน้าจะเสียชีวิต "ทองนาค" เป็นหนึ่งในแกนนำที่ชักนำชาวมหาชัยจำนวนหลายพันคนร่วมประท้วงผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดสมุทรสาครที่ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษเนื่องจากการเก็บขนถ่ายถ่านหิน

เหตุการณ์ประท้วงดังกล่าวมีผลกระเทือนเป็นอย่างสูงเพราะผู้ชุมนุมปิดถนนพระราม 2 ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดต้องลงมาเจรจารับข้อเสนอของผู้ประท้วงด้วยตัวเอง

แรงบีบของมวลชนทำให้ฝ่ายโรงงานและจังหวัดยอมลงมาตั้งโต๊ะคุยกับฝ่ายประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ยังไม่ทันได้ข้อสรุป มาเกิดเหตุร้ายเสียก่อน



"ทองนาค" รู้ตัวเองว่า จะต้องตกเป็นเป้าของฝ่ายตรงข้ามที่ได้รับผลกระทบจากม็อบต่อต้าน "ถ่านหิน" เพราะเคยมีการข่มขู่มาก่อนแล้ว จึงพยายามระมัดระวัง แต่ก็หนีเงื้อมมือมัจจุราชไม่พ้น

สันนิษฐานกันว่า การสังหารโหดนายทองนาคครั้งนี้ เป็นฝีมือฝ่ายตรงข้าม เพราะหลังเหตุประท้วงผ่านพ้นไปแล้ว ทางฝ่ายรัฐ เรียกผู้ประกอบการถ่านหินไปหารือให้การขนถ่ายถ่านหินจากเรือลงสู่ท่าเรือ หรือการขนย้ายถ่านหินจากท่าเรือไปยังโกดังและนำถ่านหินไปส่งให้ลูกค้า ทางผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อสกัดปัญหาการประท้วงของฝ่ายชาวบ้านอีก

เชื่อว่าปมนี้ทำให้ฝ่ายเจ้าของกิจการถ่านหินเกิดอาการคับแค้นไม่พอใจ

การตายของ "ทองนาค" หลายคนอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความด้อยศิวิไลซ์ของสังคมไทย

ทุกครั้งเมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิดและเกิดปัญหาในสังคม วิธีเลือกแก้ปัญหาก็คือกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้พ้นทาง

วิธีกำจัดนั้น เริ่มตั้งแต่การข่มขู่เอาชีวิตไปจนถึงการทำร้ายและลงมือฆ่า

ความคิดทำลายล้างอีกฝ่ายด้วยการปลิดชีวิตนั้น ลามมาถึงกรณีความขัดแย้งทางความคิดด้านสิ่งแวดล้อม

เราได้เห็นเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นกับฝ่ายต่อต้านบรรดากลุ่มทุนที่ประกอบกิจการด้านพลังงานซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาแล้ว

ก่อนกรณี "ทองนาค" ก็มีเหตุสังหาร "เจริญ วัดอักษร" แกนนำต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปมสังหาร "เจริญ" เป็นที่เชื่อได้ว่า เพราะเป็นผู้ชักนำคนในชุมชนร่วมกันต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจะมีผลกระทบกับชุมชน

นายทุนคิดว่าเมื่อสกัด "เจริญ" ได้แล้ว ปัญหาม็อบจะหมดไป แต่ดูเหมือนกลุ่มทุนคาดการณ์ผิด

กระแสการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.ประจวบฯ เหนียวแน่นจนกระทั่งฝ่ายรัฐต้องล้มเลิกโครงการ

ขณะเดียวกัน แนวคิด "ต้าน" แทรกซึมไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน



กรณี "ทองนาค" ก็เช่นกัน กลุ่มทุนคิดว่า เมื่อกำจัดบุคคลนี้ไปแล้ว การขนถ่ายหรือเก็บกักถ่านหินบริเวณพื้นที่มหาชัยจะปลอดโปร่งสบายขึ้น

อย่าลืมว่า วันนี้เป็นยุคของโลกาภิวัตน์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแพร่ขยายไปทุกมุมของโลก

ความรู้ความเข้าใจเรื่อง น้ำมัน-ถ่านหิน ว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ได้มาจากฟอสซิล เมื่อนำมาเผาผลาญทำให้เกิดความร้อนจะเกิดก๊าซพิษ

ก๊าซพิษเมื่อลอยขึ้นสู่อากาศมากเข้าๆ รวมตัวบล็อกแสงแดดเอาไว้ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

ส่วนมลพิษเกิดจากการเผาเชื้อเพลิง "ฟอสซิล" ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศ ใครสูดดมเข้าไปมากๆ นานๆ เกิดอาการเจ็บป่วย ปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา

เมื่อฝุ่นพิษตกลงในน้ำ นานๆ เข้าน้ำก็เน่าเหม็น ปลาและสัตว์น้ำตาย ที่สุดแหล่งน้ำใช้การไม่ได้ ระบบนิเวศน์พังทลาย

ผู้คนทั้งโลก เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ "มลพิษ" ทางอากาศ ทางน้ำ มานานนับแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ยิ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการผลิตกระจายออกไปสู่ชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้น มลพิษเหล่านี้จึงมีผลกระทบต่อชุมชนโดยตรงและรุนแรงขึ้น

ฉะนั้น หนทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างความเจริญทางอุตสาหกรรมกับการเติบโตของชุมชนนั้น คือการจัดการบริหารพื้นที่ให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งการวางผังเมือง การใช้กฎหมายเข้าควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ป้องกันไม่ให้มลพิษแพร่กระจายออกสู่ชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สังคมที่พัฒนาแล้ว ศิวิไลซ์แล้ว จึงเลือกวิธีจัดการ "บริหารพื้นที่" ทำให้นายทุนและชุมชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โรงงานได้ผลผลิต คนในชุมชนได้งานทำในโรงงาน พื้นที่เกษตรรอบๆ โรงงาน ได้ประโยชน์จากวัตถุดิบราคาถูก

สภาพแวดล้อมในชุมชนสะอาด เพราะใช้เทคโนโลยีสะอาด

จะมีแต่สังคมเถื่อนถ่อยเท่านั้นที่คิดแค่เอา "อาวุธ" มาฆ่าฝ่ายตรงข้ามเพื่อดับปัญหา



++

"ถ่านหิน" พระเอกหรือผู้ร้าย?
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 40


ปรากฏการณ์ม็อบมหาชัย จำนวนหลายพันคนรวมตัวปิดถนนพระรามที่ 2 ทั้งขาเข้าขาออกเพื่อบีบบังคับให้หน่วยราชการลงมาแก้ปัญหาโรงงานขนถ่ายถ่านหินใน จ.สมุทรสาคร อย่างเร่งด่วนนั้น เป็นทางออกสุดท้ายของชาวบ้าน

เป็นทางออกที่ซ้ำรอยกับอดีต เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ที่นำเชื้อเพลิงชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์

ข้อเรียกร้องของม็อบมหาชัยมีอยู่ทั้งหมด 5 ข้อ

1.หยุดขนถ่ายถ่านหินทุกประเภทในทะเลปากอ่าวสมุทรสาครและแม่น้ำท่าจีน เพราะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่ป่าชายเลน

2.หยุดออกใบอนุญาตสร้างโรงงานเก็บคัดกองถ่านหินอีกต่อไป

3. โรงเก็บกรองคัดแยกถ่านหินที่มีอยู่ต้องเป็นระบบปิดได้มาตรฐานสากล ต้องไม่อยู่ในพื้นที่สีเขียว ชุมชน วัด และโรงเรียน

4.การขนถ่ายทางบกต้องเป็นระบบปิดที่ได้มาตรฐานเช่นกัน

5.บริษัทที่ทำกิจการด้านถ่านหินรายใดยังสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนอีก ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ต้องสั่งปิดทันที

ม็อบมหาชัยยืนยันว่า ปัญหา "ถ่านหิน" เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้กินเวลาถึง 5 ปีแล้ว ยังไม่มีฝ่ายใดจัดการให้ลุล่วงเบ็ดเสร็จ

เมื่อปีที่แล้วระหว่างที่ดูข่าวภูมิภาค เคยนั่งคุยกับผู้บริหารโรงงานถ่านหินแห่งหนึ่งในพื้นที่สมุทรสาคร ได้ถามตรงๆ ว่าทำไมโรงเก็บคัดถ่านหินทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

เขายอมรับกึ่งหนึ่งในเรื่องของฝุ่นละอองที่อาจฟุ้งกระจายระหว่างการขนถ่ายหรือขนส่ง ปัญหานี้ทางโรงงานพยายามแก้ไขด้วยการลงทุนหาอุปกรณ์ป้องกันและทำตามข้อกำหนดของกฎหมาย

อีกกึ่งหนึ่งโยนไปที่ปัญหาความขัดแย้งการเมืองภายในชุมชน

"คนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโรงงานจะปลุกชาวบ้านต่อต้าน" นักธุรกิจคนนั้นยังยืนยันว่า การดูแลช่วยเหลือชุมชนได้ทำอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นมา

นั่นเป็นเสียงสะท้อนของนักธุรกิจซึ่งบอกว่าได้ใช้เงินก้อนมหาศาลเพื่อลงทุนในกิจการ "ถ่านหิน"

ขณะเดียวกัน ได้ยินชาวบ้านร้องเรียนผ่านสื่อหลายครั้ง และเมื่อนำมาเสนอ ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยราชการใดรับฟัง ทุกฝ่ายดูเหมือนจะยืนข้างโรงงาน

เมื่อม็อบรวมตัวปิดถนน ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะแรงกดดันที่ระอุอยู่ภายในชุมชน ไม่วันใดวันหนึ่งต้องปะทุขึ้นมา



มองย้อนกลับไปในอดีต เมื่อเกิดเหตุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เกิดควันพิษปกคลุมพื้นที่แม่เมาะ มีผู้เจ็บป่วยนับพันคน พืชผลเกษตรเสียหาย สัตว์เลี้ยงล้มตาย

ชาวแม่เมาะรวมพลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2535 กว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยอมรับว่าเป็นตัวการปล่อยควันพิษเกินมาตรฐาน ก็เกือบ 7 ปีเต็มๆ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งพิสูจน์ได้ชัด และการต่อสู้ของชาวแม่เมาะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐยินยอมอนุมัติเงินหลายพันล้านติดตั้งเครื่องกรองซัลเฟอร์ไดออกไซด์บนปล่องโรงไฟฟ้า จัดหาที่ให้ชาวแม่เมาะอยู่ใหม่ ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวแม่เมาะ นอกจากนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

ล่าสุด กฟผ. ยังยื้อคดีด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

กรณีแม่เมาะกลายเป็น "ตัวอย่าง" ของหน่วยงานภาครัฐ ที่ล้มเหลวในการดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อม และเป็นบทเรียนให้ประชาชนจดจำว่า "ถ่านหิน" เป็น 1 ในเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดพิษร้ายกับชุมชน

กระแสไม่เอา "ถ่านหิน" แพร่ไปทั่วประเทศ

"ม็อบมหาชัย" เป็นกรณีล่าสุด และเชื่อว่าไม่ใช่เป็นรายสุดท้ายอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ฝ่ายรัฐยังโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงที่ดีที่สุดของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคพลังงานขาดแคลน

บางหน่วยงานถึงกับยกย่องให้ถ่านหินเป็น "พระเอกตัวจริง"



กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ระหว่างปี 2564-2573 ให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 6,400 เมกะวัตต์ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านความมั่นคงของพลังงาน

เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าเกิดวิกฤตน้ำมันแพง ก๊าซธรรมชาติราคากระฉูด หาพลังงานอย่างอื่นๆ มาทดแทนไม่ทันเท่ากับ "ถ่านหิน"

ปัจจุบัน ถ่านหินมีปริมาณสำรองใต้พิภพเป็นจำนวนมาก เฉพาะในเมืองไทย มีถ่านหินถึง 2,197 ล้านตัน อยู่ทางภาคเหนือ 1,803 ล้านตัน ที่เหลืออีก 394 ล้านตันอยู่ภาคใต้

ถ่านหินช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้มาก โรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงทำความร้อนแทนน้ำมันดีเซลและก๊าซ

แต่ถ้าบรรดากลุ่มทุนยังดันทุรังจัดเก็บขนถ่ายถ่านหินเกรดต่ำๆ ดื้อรั้นกับการผลิตด้วยเทคโนโลยีล้าสมัยที่ทำให้เกิดมลพิษอย่าง "ชาวมหาชัย" เผชิญหน้า

"พระเอก" ที่รัฐบาลหรือพ่อค้าเชิดชูในยามนี้ ยังไงๆ ก็ยังเป็น "ผู้ร้าย" ในสายตาของประชาชนอยู่วันยังค่ำ



++

นิวเคลียร์กับจักรยาน
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 41


เหตุการณ์แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม มีผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ความเชื่อมั่นที่ว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และมาตรฐานความปลอดภัยได้ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นอยู่อย่างมีความสุขนั้นแทบจะหมดไป

แผ่นดินไหวที่มีความแรงขนาด 9.0 ริกเตอร์ และคลื่นยักษ์สูงถึง 12 เมตร มันเป็นพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์ตัวเล็กๆ จะรับมือได้

จำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหาย 28,000 คน ตึกอาคารบ้านเรือนที่พังพินาศราบเป็นหน้ากลอง เป็นเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นต้องจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ทำให้เส้นทางสัญจรหยุดชะงัก โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งปิด ระบบการจ่ายกระแสไฟสะดุด กระทบต่อทุกภาคส่วน

คนญี่ปุ่นที่เคยใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย ทุกเช้าขึ้นรถไฟ ขับรถยนต์ไปออฟฟิศ ต่างพากันปั่นป่วน

แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้ถนนพังพินาศ แตกแยกออกเป็นริ้ว รถวิ่งผ่านไปมาไม่ได้ รถไฟหยุดให้บริการเพราะไม่มีไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ ต้องเข้าคิวซื้ออาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากเกิดปัญหาการผลิต

แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหว คลื่นสึนามิและโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดผ่านไปนานหลายวันแล้ว ระบบการขนส่งคมนาคมในฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น รวมไปถึงกรุงโตเกียว สะดุดไม่เหมือนเดิม

ตารางการเดินรถเมล์ รถไฟเปลี่ยนไม่เป็นตามกำหนด ผู้คนพากันเข้าคิวยาวเหยียดอลหม่านเป็นชั่วโมง บางวันรถไฟหยุดวิ่งเพราะไฟฟ้ามีไม่พอป้อนระบบรถไฟ อีกทั้งทางการญี่ปุ่นร้องขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงาน

คนญี่ปุ่นต้องปรับวิถีชีวิตตัวเองใหม่ มีจำนวนมากเลิกใช้รถยนต์ เลิกไปเข้าคิวขึ้นรถไฟ แต่หันมาพึ่งพาจักรยานสองล้อแทน

ยอดขายรถจักรยานพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว



ญี่ปุ่นมียอดขายจักรยานทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว 9.5 ล้านคัน แต่หลังแผ่นดินไหวและสึนามิ ยอดขายโตมาก บางยี่ห้อขยับพรวด ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทผลิตจักรยานกระตุกตามไปด้วย

กลุ่มศึกษาและส่งเสริมการใช้จักรยานในโตเกียว เก็บข้อมูลปริมาณจักรยานที่วิ่งอยู่ในโตเกียวพบว่า จำนวนจักรยานเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้แล้ว ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดและกัมมันตรังสีเนื่องจากแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ยังกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นต้องคิดหาทางออกใหม่ๆ ด้านพลังงาน เพราะได้เรียนรู้แล้วว่า ญี่ปุ่นพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป

เหตุการณ์ที่ "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" สอนบทเรียนให้คนญี่ปุ่นรู้ว่า มาตรฐานเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในในขณะนี้ ไม่สามารถแก้วิกฤตหรือป้องกันเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ได้เลย

นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจับสัญญาณการขยับตัวของเปลือกโลกได้ทันท่วงที จะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นแล้วเท่านั้น แต่กระนั้นไม่รู้ว่า แรงสั่นสะเทือนระดับไหน หรือมีสึนามิหรือไม่

ขณะที่ความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมการออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลายเป็นแค่คำคุยเท่านั้น เพราะวันที่ 11 มีนาคม พิสูจน์ว่า ญี่ปุ่นยังมีมาตรฐานไม่ถึงขั้นป้องกันความปลอดภัยจากคลื่นสึนามิ ทั้งยังต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกนานว่า เมื่อเกิดกัมมันตรังสีรั่วไหลทำอย่างไรจึงควบคุมให้เร็วที่สุดได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

"นาโอโตะ คัง" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีข้อสรุปในบทเรียนเรื่องนี้ด้วย

"คัง" บอกว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นั้นถือเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดในโลกในรอบ 25 ปีประวัติศาสตร์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

"ประสบการณ์ในครั้งนี้ ผมมองเห็นความจริงว่าพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงเกินไป เราจะพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เราต้องหาพลังงานอื่นๆ มาแทนที่" คังบอกกับชาวญี่ปุ่น


ประเทศญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราว 30 เปอร์เซ็นต์ และมีเป้าหมายว่า ภายใน 19 ปีข้างหน้าต้องจัดหาพลังงานที่มาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่า เมื่อ "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" ระเบิดตูม แผนนี้ต้องระงับไป

"คัง" เชื่อว่าแหล่งพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ ลมและชีวมวล เป็นอนาคตของญี่ปุ่น

บ้านเราเลือกตั้งเสร็จแล้ว กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ไม่รู้ว่า เอาบทเรียนของญี่ปุ่นนำมาปรับใช้กับสังคมไทยบ้างหรือเปล่า ?



++

วิกฤติอาหาร
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 38


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ น่าจะช่วยให้ผู้คนในโลกใบนี้ รอดพ้นจากความอดหยากหิวโหยมากขึ้น

แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น มีผู้คนจำนวนนับล้านยังคงหิวโซ ไม่มีน้ำ ขาดแคลนอาหารการกิน ขณะที่บางแห่งมีอาหารมากอยู่ แต่ราคากลับแพงลิบลิ่ว

ราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีการอ้างถึงสาเหตุต่างๆ นานา เป็นต้นว่า ของแพงเพราะอากาศวิปริต ฝนแล้ง น้ำท่วม รวมไปถึงต้นทุนปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและน้ำมันแพง

บ้านเราก็เป็นเหมือนกัน จู่ๆ เกิดปัญหาราคาไข่ไก่แพงกระฉูด บ้างก็ว่า ไข่มาร์คแพงกว่าไข่ของนายกฯ คนอื่นๆ ซะอีก

เหตุที่ไข่ไก่แพงเพราะอากาศร้อนขึ้น แม่ไก่ไข่ลดลง

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าไข่ไก่หายไปจากตลาดเพราะผลผลิตน้อยกว่าปกติถึงวันละ 3 ล้านฟอง เมื่อปริมาณลด ราคาไข่ก็ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากไข่แพงแล้ว รัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยังเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำให้สินค้าอื่นๆ แพงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปล่าใส่ถุง แพงกระฉูดจากถุงละ 5 เป็น 10 บาท ข้าวราดแกงจานละ 35 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท บางช่วงน้ำมันพืชขาดตลาด ต้องต่อแถวเข้าคิวซื้อ

สาเหตุที่แพงนั้น มีการอ้างว่ามาจากน้ำท่วม ผลผลิตตกต่ำ และดึงผลผลิตไปใช้ทำไบโอดีเซล

นี่เป็นประสบการณ์ที่คนไทยเจอมา



นักอนาคตวิทยาทำนายว่า วิกฤต "ของแพงและขาดแคลนอาหาร" กลายเป็นเรื่องร้อนๆ ที่คนทั้งโลกต้องประสบ

นักอนาคตวิทยา ชี้ 14 สัญญาณเตือนภัยวิกฤติอาหารไว้ดังนี้

1. ธนาคารโลกระบุว่า ขณะนี้มีประชากรโลกราว 44 ล้านคน เป็นคนจนชนิดสุดสุด เพราะอาหารมีราคาแพงขึ้น

2. สภาพดินเสื่อมมีอัตราเพิ่มขยายขึ้น ทำให้กระบวนการเพาะปลูกลดลง ผลผลิตต่ำ

3. การที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สนับสนุนการผลิตเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น

4. การขาดแคลนน้ำ ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางเผชิญกับวิกฤติการเกษตร บางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย เตรียมยกเลิกแผนการเพาะปลูกข้าวสาลีในปีหน้า

5. การดึงน้ำมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ขาดการควบคุมเหมาะสม ทำให้น้ำกินน้ำใช้ขาดแคลน ธนาคารโลกประเมินว่าชาวจีน 130 ล้านคน และอินเดียอีก 175 ล้านคน นำน้ำมาใช้เพาะปลูกพืชเกษตร แต่ไม่สามารถหาน้ำมาทดแทนได้เพียงพอ ทำให้น้ำขาดแคลน

6. โรคระบาดใหม่ๆ เช่น อี.โคไล โอ 104 ทำให้เชื้อโรคแพร่ในแหล่งเพาะปลูกพืชเกษตรระบาดเร็วและรุนแรงขึ้น มีผลต่อการผลิตและการขายสินค้า

7. เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ การระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้า ปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสี ผลผลิตในพื้นที่เหล่านั้นถูกห้ามนำมาใช้บริโภค

8. ราคาน้ำมันที่ผันผวนและแนวโน้มพุ่งขึ้น ทำให้ผลผลิตการเกษตรได้รับผลกระทบเนื่องจากการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบในการผลิตมีราคาแพงขึ้น

9. ในอีกไม่นาน วัตถุดิบที่ใช้ผลิตปุ๋ย เช่นฟอสฟอรัส จะขาดแคลน ราคาปุ๋ยจะแพงขึ้น การเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยจะแพงกว่าเดิม

10. น้ำท่วม เป็นอีกสาเหตุสำคัญทำให้สินค้าเกษตรแพง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ เช่นอินเดีย น้ำท่วม อาหารการกินแพง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์

11. ธนาคารโลกประเมินว่า ราคาอาหารจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สูงขึ้นถึง 36 เปอร์เซ็นต์

12. ราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง จะแพงขึ้น ตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมา

13. ชาวโลกราว 3,000 ล้านคน มีรายได้วันละต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐ (ราว 60 บาท) หรือน้อยกว่านั้น ทำให้ทั้งโลกยังคงเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ

14. ปีนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปีวิกฤตสุดสุด นับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศในตะวันออกกลางเข้าสู่ภาวะปั่นป่วน เนื่องจากประชาชนลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ สหรัฐ พี่เบิ้มใหญ่ของโลก เข้าไปพัวพันกับสงครามในลิเบีย ขณะที่ทหารอเมริกันที่ติดบ่วงในอัฟกานิสถาน เงินดอลลาร์สหรัฐทรุด ภาวะการเงินในยุโรปอลหม่านเพราะหนี้สินของสมาชิกอียูบานเบอะ นี่เป็นปัจจัยลบของตลาดสินค้าเกษตร


นอกจากสัญญาณเตือนภัยดังกล่าว การแปรปรวนของภูมิอากาศโลก มีส่วนสำคัญทำให้ผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร เปลี่ยนแปลงด้วย

อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส ในช่วงที่ต้นข้าวกำลังโต แตกรวงงดงามอยู่นั้น ผลผลิตข้าวจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังทำให้ธารน้ำแข็งในเทือกเขาสูง เช่นหิมาลัย ละลายเร็วขึ้น

หิมาลัย เป็นต้นกำเนิดของสายน้ำโขง แยงซี สินธุ และแม่น้ำฮวงโห เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเหล่านี้เพิ่มขึ้น เกิดน้ำเอ่อทะลักท่วมพื้นที่เกษตร บ้านเรือน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าอากาศหนาวเย็นนานผิดปกติ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนไป มีผลต่อเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอ

วิกฤตการณ์ "อาหาร" จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเฉยเมย



.