http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-03

แด่ "ปชป."ด้วยรัก, นักรบ'ใจดี', "วาติกัน" ก็เคยมาแล้ว โดย สรกล, สุวพงศ์, วงค์ ตาวัน

.

แด่ "ปชป." ด้วยรัก
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


ในฐานะคนรักประชาธิปไตยคนหนึ่ง ผมหวังอย่างยิ่งว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปรับตัวครั้งใหญ่

นำความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในครั้งนี้มาเป็น "บทเรียน"

เพราะในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครต้องการให้มีพรรคการเมืองใดผูกขาดชัยชนะในการเลือกตั้ง

เราต้องการ "การแข่งขัน" ที่มีคู่แข่งที่ไม่ห่างไกลกันมากนัก

ไม่ใช่ขาดลอยระดับ 265 ต่อ 159

เพราะถ้าเมืองไทยมีพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวที่เหนือกว่า "คู่แข่ง" มากเกินไป

ไม่มีหลักประกันใดที่ "เพื่อไทย" จะไม่หลงลำพอง

อย่าลืมว่า "อำนาจ" นั้นไม่เข้าใครออกใคร

ใครที่มี "อำนาจ" นานๆ มักเกิดอาการ "หลงอำนาจ" อยู่เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น เมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ระบบ "2 พรรคใหญ่" อย่างชัดเจน เราต้องตั้งความหวังและเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์


กรณีของ "ประชาธิปัตย์" นั้นทำให้นึกถึงบทเรียนทางธุรกิจเรื่องหนึ่ง

นั่นคือ การแข่งขันระหว่าง "เบียร์สิงห์" กับ "เบียร์ช้าง"

"เบียร์สิงห์" เป็นเจ้าตลาดเบียร์มานาน ครองส่วนแบ่งการตลาด 80%

แต่เพียงแค่ 3 ปีที่ "เบียร์ช้าง" ออกสู่ตลาด "เบียร์สิงห์" ก็สูญเสียตำแหน่ง "แชมป์" ไป

ครั้งนั้น "สันติ ภิรมย์ภักดี" เรียกประชุมผู้บริหารทั้งหมด

และประกาศว่า "เราแพ้แล้ว"

เป็นการยอมรับความพ่ายแพ้อย่างจริงใจ ไม่ใช่การยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยสำนวนแบบเท่ๆ เพื่อปกป้องตัวเอง

"ผมยอมรับว่าเราแพ้ แต่เราไม่ยอมแพ้"

เป็น "คีย์เวิร์ด" สำคัญของ "สันติ" ที่ประกาศในที่ประชุม และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนทำให้ค่ายสิงห์กลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งหนึ่ง



เขานำ "ความพ่ายแพ้" มาเป็น "บทเรียน"

การยอมรับ "ความพ่ายแพ้" อย่างจริงใจ จะทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น

กล้ายอมรับ "ความเก่ง" ของ "คู่แข่ง"

และยอมรับ "ความผิดพลาด" ของตนเอง

เพราะถ้าปราศจากการยอมรับอย่างจริงใจ "ปัญหา" ที่ดำรงอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

จุดเริ่มต้นของการกลับสู่ความเป็น "ผู้ชนะ" อีกครั้งของ "เบียร์สิงห์" คือการยอมรับความพ่ายแพ้

ความพ่ายแพ้นั้นเหมือนกับการตกลงไปในหุบเหว

เราไม่มีทางขึ้นจากเหวได้เลยถ้ายังแหวกว่ายอยู่ในอากาศ

การยอมรับความพ่ายแพ้ก็เหมือนกับการยอมรับการลงสู่ก้นเหว

เพื่อที่เท้าจะได้แตะพื้น

จากนั้น จึงย่อตัวและกระโดดใหม่อีกครั้ง


วันนี้ ถ้าจะให้แนะนำ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

ผมอยากให้ 2 คนนี้บอก "จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี" ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ให้ช่วยนัด "สันติ" ให้ เพื่อเข้าไปซึมซับบทเรียนแห่งความพ่ายแพ้ และแนวทางการพลิกเกมสู่ "ชัยชนะ"

เพื่อที่ "ประชาธิปัตย์" จะได้กลับมาเหมือน "เบียร์สิงห์"

ขอเอาใจช่วยอย่างจริงใจ



++

นักรบ 'ใจดี'
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:30:00 น.


บทบาท "กองทัพ" หลังรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย น่าสนใจ

เพราะแม้ผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกล่าวย้ำหลายครั้งว่า พร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล

แต่ "จุดยืน" ของกองทัพในช่วงที่ผ่านมา ดูจะไม่สอดคล้องกับแนวทางของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล ในหลายเรื่อง

อย่างกรณี ภาคใต้

พรรคเพื่อไทยได้ชูเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" ขึ้นมาเป็นหนึ่งในนโยบายที่จะดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงท่าทีอย่าง "เปิดเผย" เช่นเดียวกัน ว่า "ไม่เห็นด้วย" และบอกว่าจะต้อง "คุย" กับรัฐบาลให้ชัดเจน


อีกเรื่องหนึ่ง คือ จุดยืนเรื่องไทย-เขมร ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่จะมุ่งไปในทางประนีประนอมมากกว่าประจัญหน้า "แบบเราจะไม่เสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว" อย่างที่ยึดถือขณะนี้

การประนีประนอมดังกล่าว แน่นอนว่าคงจะต้องนำไปสู่การ "ยอม" อะไรหลายอย่าง

ซึ่งก็น่าติดตามว่า กองทัพจะ "สุกงอม" กับแนวทางแบบนั้นหรือไม่

บทบาทของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่กองทัพหวังจะใช้เป็นหัวหอกในการรุกคืบงานด้านความมั่นคงแบบครอบจักรวาล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตาม

ติดตามว่า รัฐบาลใหม่จะมีมุมมองอย่างไร

เพราะนี่เป็นช่องที่ถูกวิจารณ์ว่า เปิดทางให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยว "การเมือง"


เช่นเดียวกับ แนวคิด "ทบวงความมั่นคงภายใน" ที่ผู้นำกองทัพจุดพลุขึ้นมาในช่วงรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลใหม่จะเอาอย่างไร

การปราบปรามยาเสพติด โดยหน่วยเฉพาะกิจ 315 ที่เป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นปฏิบัติการที่หวังผลทางการเมือง มากกว่าเรื่องยาเสพติด จะคงอยู่หรือไม่

ฯลฯ

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นประเด็นที่ต้อง "ดีเบต" ต้อง "วิพากษ์วิจารณ์" อย่างกว้างขวาง ทั้งสิ้น



คงไม่ใช่ กองทัพปิดห้องคุยกับรัฐบาล แล้วจบเท่านั้น

นักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก็คงต้อง "ร่วมวง" ด้วย

ซึ่งการ "ร่วมวง" ดังกล่าวคงไม่ "สงบเรียบร้อย" อย่างที่ "บิ๊กๆ" ทั้งหลายคุ้นเคยแน่นอน

ต้องมีทั้งร่วมวงแบบมีเหตุมีผล ไม่มีเหตุมีผล เข้าใจถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของ "สังคมเปิด" และ "สังคมประชาธิปไตย"

คนที่เกี่ยวข้องจึงต้อง เปิดกว้าง ใจใหญ่ อดทน มีอารมณ์ขัน ให้อภัย

และที่สำคัญต้องเปิดให้มีกระบวนการต่อรองเต็มที่ภายใต้เงื่อนไข ไม่มีใครได้ทั้งหมด หรือเสียทั้งหมด

เพื่อนำไปสู่ข้อสรุป ที่ "พอรับได้" สำหรับคนส่วนใหญ่


มาถึงตรงนี้ก็ต้องแอบ "ถอนหายใจ" สักเล็กน้อย

ถอนหายใจเพราะเห็น "ท่าที" ของผู้นำกองทัพอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วเป็นห่วง

เพราะดูจะ "จุดเดือดต่ำ" ไปนิด

บางเรื่อง ถึงจะบอกว่าทำเพื่อปกป้องกองทัพ

แต่ไม่จำเป็นต้อง "แข็งกร้าว" ขนาดนั้นก็ได้

ต้องไม่ลืมว่าในอีกไม่กี่ชั่วยามจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเผชิญกับสิ่งที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแน่ๆ

นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องละเอียดอ่อนอย่าง การคลี่คลาย 91 ศพ, การจัดซื้ออาวุธ, การโยกย้าย

ซึ่งล้วนแต่จะนำไปสู่ ความหงุดหงิด โกรธเคือง ได้ทั้งสิ้น

ยิ่งตราบใดที่ "กองทัพ" ยังไม่กลับที่ตั้งอย่างเต็มตัว

ก็จะมีเงื่อนไขให้ หงุดหงิด รำคาญ เมื่อเผชิญสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น


อาจจะเป็นผลให้เราได้เห็น "ผู้ใหญ่โกรธเกรี้ยว" ผ่านสื่อ ครั้งแล้วครั้งเล่า

คงไม่ต้องบอกว่า ดีหรือไม่ดี

แต่ที่บอกได้ว่าดีแน่ๆ ก็คืออยากให้ พล.อ.ประยุทธ์โชว์สิ่งที่อ้างว่าเป็น "ตัวตน" ของตนเองจริงๆ ออกมาให้เห็นชัดเจน

นั่นคือ ความเป็นคน "ใจดี"

นักรบ "ใจดี " ใครๆ ก็รัก ขอบอก



++

บทความเพิ่มเติม เกี่ยวกับจุดยืนสื่อมวลชน

"วาติกัน" ก็เคยมาแล้ว
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 98


ในช่วงที่นักการเมืองกำลังเดินหน้าหาเสียงกันอย่างเข้มข้นก่อนเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม จำได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจต่อหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ทำนองว่าหนังสือพิมพ์เครือนี้เลือกข้าง โดยนายอภิสิทธิ์บอกว่าเห็นได้จากการพาดหัวข่าวและการเลือกภาพข่าว

ตอนนั้นไม่มีใครในเครือนี้ เขียนตอบโต้อะไรให้เสียเวล่ำเวลา

ถ้าจุกจิกกระทั่งมองว่าภาพข่าวที่ตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์นั้น เลือกรูปไม่หล่อไม่สวย ก็ไม่รู้จะต้องไปสนใจกับมุมมองอย่างนี้ทำไม

ครั้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาด้วยการพ่ายแพ้อย่างราบคาบของนายอภิสิทธิ์และพรรค

ดูเหมือนยังมีกองเชียร์อภิสิทธิ์ที่อารมณ์ค้าง มักหยิบเอาคำกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์มาเป็นธงในการโจมตีอยู่ไม่เลิก

แต่ความที่คนหนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ในท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองมาโดยตลอด

เห็นการขึ้นลงของนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติ

ถ้าลอกตามสำนวนของกวีการเมืองก็ต้องว่า "ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป "

ประชาชนคนดู สื่อมวลชน ทั้งหลายนี่แหละ ที่ยืนดูอยู่ตลอดไม่ได้ไปไหน ต่างจากนักการเมืองที่ผลัดกันขึ้นเวทีแล้วก็ถูกไล่ลงจากเวทีสับเปลี่ยนเวียนกันไป

เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาแบบนี้ เป็นแค่เรื่องตลกขบขันไปแล้ว

สมัยทักษิณเป็นใหญ่ ก็ทะเลาะกับสื่อ และสื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกตรงข้ามทักษิณ

พอประชาธิปัตย์เป็นใหญ่ ก็ต้องทะเลาะกับสื่ออีก แล้วก็ตั้งข้อหาเป็นพวกทักษิณอีก ตามสูตรน้ำเน่าของนักการเมือง

ข้อหารับเงินนักการเมือง ที่มักกล่าวหาสื่อมวลชนนั้นเป็นข้อหาเชยไปแล้ว

เชื่อไหมว่าสมัยที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดขุดคุ้ยพระยันตระ ถึงกับโดนข้อหารับเงิน-รับแผนสำนักวาติกันมาทำลายพุทธไปโน่นเลย !



มีจดหมายจากผู้อ่านฉบับหนึ่ง ซึ่งอ่านแล้วต้องขอนำมาถ่ายทอด เพราะบอกเล่าถึงมุมมองของเขาต่อสื่อมวลชน ในฐานะคนที่ติดตามข่าวสารและการทำงานของสื่อมาอย่างแท้จริง

"ผมอ่านนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์มานานหลายสิบปีแล้ว มีบางช่วงบางยุค รู้สึกขัดหูขัดตา เพราะอ่านแล้วไม่ตรงใจ ไม่ตรงความคิด แต่ก็ไม่ถึงกับสะบั้นรักตัดสวาท เลิกอ่านไปเลย เพราะสิ่งที่มติชนสุดสัปดาห์เสนอ บางครั้งแม้ว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็มีข้อมูล มีรายละเอียด

ให้อดชายตามองไม่ได้ อ่านแล้วไม่ชอบใจ แต่ก็ต้องเก็บไปขบคิด

จนกระทั่งพบสัจธรรมข้อหนึ่งว่า ในบางช่วงรัฐบาล ผมอาจจะรักชอบชุดนี้ แต่สื่อมวลชนก็เสนอข่าวสารและบทวิจารณ์อย่างไม่ละเว้น

แม้ผมจะรู้สึกว่าช่างไม่ให้ความเป็นธรรมบ้างเลย แต่เมื่อย้อนมองไปยังช่วงรัฐบาลก่อนหน้านั้น ดูการทำหน้าที่ของมติชนสุดสัปดาห์

ผมก็คิดขึ้นได้ว่า หน้าที่สื่อเขาก็เสมอต้นเสมอปลายเช่นนี้แหละ จะให้เขามาเอนเอียงเชียร์เฉพาะบางรัฐบาลได้อย่างไร

ทำให้ประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงอย่างผมเอง ก็ต้องถามตัวเองว่า แล้วเราจะไว้ใจรัฐบาลไหนเป็นการเฉพาะได้หรือ ประชาชนอย่างพวกผม ควรกล้าเรียกร้องต่อสู้กับทุกรัฐบาล ถ้าหากเขากระทำอะไรที่มองไม่เห็นหัวพวกเราเลย

ไม่ใช่หลงใหลรัฐบาลนี้ แล้วยอมเขาทุกอย่าง เขารีดเลือดจากพวกเราไป ก็นอนยิ้มให้เขาดูดไปจนตัวซีด

ทำไมประชาชนอย่างผม ไม่วางตัวเหมือนสื่อมวลชน ที่เขาเรียกกันว่าเป็นฝ่ายค้านตลอดกาลดูบ้าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องค้านกันตะพึดตะพือ แต่ต้องพร้อมจะตรวจสอบการทำหน้าที่อย่างไม่ถูกต้องของรัฐบาลจะเหมาะสมกว่า

ที่ผมเห็นการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างดุดันและจริงจังของมติชนสุดสัปดาห์ รวมทั้งคอลัมน์ชกคาดเชือกของคุณนี้เห็นจะเป็นเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553

เห็นด้วยอย่างเต็มที่ รัฐบาลพลเรือนแท้ๆ แต่จิตใจราวกับทหาร และสั่งทหารให้เข้าปราบปรามประชาชน สุดท้าย ไม่รับผิดชอบ

ปล่อยไปไม่ได้ แต่บังเอิญผมได้ยินเขาถกเถียงกันในร้านกาแฟ บอกว่าเครือมติชน ข่าวสด นี่มันโจมตีอภิสิทธิ์แต่เรื่อง 91 ศพ ไม่เห็นมันโจมตีทักษิณสมัยสงครามยาเสพติดหลายพันศพ สมัยตากใบก็ 80-90 ศพเหมือนกัน ไม่เห็นมันให้ความเป็นธรรมกับคนตายยุคทักษิณ เหมือนกับที่ให้ความเป็นธรรมกับพวกเสื้อแดงในยุคนี้เลย


ทีแรกผมฟังก็คล้อยตาม พลอยรู้สึกว่าสื่อของคุณเข้าข้างเสื้อแดงจริงๆ แต่ความที่ผมอ่านมติชนสุดสัปดาห์มาตลอด แบบแฟนตัวจริง ไม่ใช่แค่แฟนแอบอ้าง ผมก็นึกได้ว่า สมัยสงครามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน คอลัมน์ของคุณนี่แหละที่หยิบมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ใช้คำว่า

คนตายเป็นภูเขาเลากา สื่อมวลชนโจมตีจนตอนนั้นรัฐบาลทักษิณต้องยอมหยุดตัดตอน

เรื่องตากใบ มติชนสุดสัปดาห์ ให้ความสำคัญมาก คอลัมน์ชกคาดเชือกนี้ก็เขียนเรียกร้องให้กับชาวบ้านตากใบตรงไปตรงมา จนจำได้ว่า ในบางเว็บไซต์เขาโจมตีว่า วงค์ ตาวัน นี่มันพวกแบ่งแยกดินแดนหรือไง เชียร์อยู่ได้พวกก่อการร้าย รวมทั้งเหตุการณ์กรือเซะด้วย ผมอ่านตอนนั้นยังหวาดเสียวเลยว่า มติชนสุดสัปดาห์ จะโดน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี มาจัดการให้ราบเรียบไปด้วยหรือเปล่า

ที่แน่ๆ บทบาทของสื่อมวลชนรวมทั้งมติชนสุดสัปดาห์ที่รายงานกันหนักเรื่องตากใบ ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน

สุดท้าย ก็มีคนต้องรับผิดชอบถูกลงโทษ แม้จะไม่รุนแรง แต่แม่ทัพภาคที่ 4 กับรองแม่ทัพก็ต้องพ้นจากเก้าอี้ไป เข้าห้องเย็นไปตามๆ กัน

เรื่องตากใบนี้ผมถือว่าต้องให้เครดิตกับสื่อ และผมก็แอบให้เครดิตคุณอยู่ด้วย เพราะเขียนเสียจนต้องมีการลงโทษในที่สุด!

แม้แต่เวลาเขียนถึงเหตุการณ์ไฟใต้ในวันนี้ คอลัมน์คุณโจมตีประชาธิปัตย์ว่า ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แต่คุณก็ยังเขียนอยู่เสมอๆ ว่า

ต้นเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในยุคทักษิณ อย่างนี้แฟร์ดี

หวังว่าจุดยืนของมติชนสุดสัปดาห์ ที่ต่อสู้ให้กับคนตายตั้งแต่หลายๆ เหตุการณ์ ตากใบ กรือเซะ ซึ่งทำให้แม่ทัพต้องโดนย้าย คงเดินหน้าต่อไปในเหตุการณ์ 92 ศพ เพื่อให้คนที่กระทำผิดต้องถูกลงโทษในที่สุด

แล้วผมจะคอยดูการทำหน้าที่สื่อมวลชนของพวกคุณต่อไป ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เขากล่าวหากันว่าเป็นรัฐบาลที่คุณเข้าข้าง จะคอยดูว่าได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง และถ้าหากรัฐบาลปูใช้อำนาจในทางที่ผิดอีก หวังว่าสื่อเครือนี้จะไม่ละเว้น ดังเช่นทุกเหตุการณ์และทุกรัฐบาลที่ผ่านมา"


อ่านจดหมายของผู้อ่านฉบับนี้จบ ต้องบอกว่าคุณนี่แฟนมติชนสุดสัปดาห์ตัวจริง มองเห็นการทำงานของพวกเรามาตลอด

คุณยังรู้จักสื่อมวลชนมากกว่าคนระดับนายกรัฐมนตรีเสียอีก !



+ + + +

บทความที่เกี่ยวข้อง

“นิติธรรม” ไม่ใช่ “นิติทำ” โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1312174677&grpid=&catid=02&subcatid=0200

ฯ จดหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ฯ โดย Siam Intelligence Unit
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/siu.html

.............................................................................................


มีบทความหัวข้อเกี่ยวข้องในภายหลัง

2 มุมมอง จาก "2 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเครือเนชั่น": กนก รัตน์วงศ์สกุล และ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.


กนก รัตน์วงศ์สกุล

"เดี๋ยวนี้เห็นหนังสือพิมพ์หัวนี้วางอยู่ จะถ่มถุย..ยังเสียดายน้ำลาย"

กนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้อำนวยการส่วนงานผู้ประกาศข่าว ของบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เขียนบันทึกชื่อ "เสียชาติเกิดเป็นนักหนังสือพิมพ์" ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง โดยมีเนื้อหาดังนี้

เสียชาติเกิดเป็นนักหนังสือพิมพ์

เมื่อวานนี้นายกฯปู เดินหนีคำถามนี้

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คิดจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติและประชาชนบ้างหรือไม่?"

ก่อนหน้านี้ น้องนักข่าวคนเดียวกันเป็นผู้ถามเรื่องการแต่งตั้ง ครม.

"โฉมหน้าคณะรัฐมนตรี ขี้เหร่กว่าท่านนายกรัฐมนตรีนะคะ?"

"ทำไมถึงแต่งตั้งคนที่มาจากสายการเงิน การลงทุน มาเป็นรัฐมนตรีคลังคะ?"

"จะประสานนโยบายการเงินกับการคลังอย่างไรให้ลงตัว?"

"แม่ปู" ตอบว่า "รอให้มีการแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาก่อนนะคะ นโยบายทุกด้านจะชัดเจน"

น้องคนนี้ถาม "ทำไมต้องรอมีที่ปรึกษาล่ะคะ ถ้าไม่มีที่ปรึกษาทุกอย่างจะไม่ชัดเจนหรือคะ ? "

พอเจอคำถามนี้ นายกฯเดินหนีนักข่าวเป็นครั้งแรก

แล้วไปถามคณะติดตามนายกฯว่า ช่วยไปถามหน่อย นักข่าวคนที่ถามนั้น..ชื่ออะไร? อยู่ค่ายไหน?

น้องเค้าอยู่ช่อง 7 ครับ กล้าถามจากใจมานานแล้ว เป็นความรู้สึกดีเล็กๆ ที่อย่างน้อยในสนามข่าว

ยังมีน้องๆ นักข่าวอีกหลายคน ที่ถามอย่างมีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี มีสำนึกแยกแยะ ดี - เลว ได้

ไม่เหมือน ไอ้นักหนังสือพิมพ์หัวหงอก ที่ทรยศวิชาชีพ อุตส่าห์ก่อตั้งหนังสือพิมพ์คุณภาพมา 30 กว่าปี

ต้องมาเสียผู้เสียคน เดี๋ยวนี้เห็นหนังสือพิมพ์หัวนี้วางอยู่ จะถ่มถุย..ยังเสียดายน้ำลาย


--------------------


นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

"ความคิด cliche หนึ่งที่สื่อไทยใส่หัวคนในสังคมมาตลอดเพราะคนทำสื่อจำนวนหนึ่งก็ดัน ′โง่′ เชื่ออย่างนั้นจริงจังก็คือ คนซื้อได้ คนไม่มีหัวคิดเป็นของตัวเอง ใครคิดอะไรไม่เหมือนเรา ไม่คิดถึงสถาบันชาติในแนวเดียวกับเรา แปลว่า มัน ′ขายตัว′.....คิดอัตโนมัติกันแบบนั้น จึงไม่มีทางมองเห็นภาพรวมเลย ไม่เห็นประเด็นปัญหาจริงๆ เลย เพราะมันฝังหัวอยู่แค่นั้น ในกรอบจำกัดแค่นั้น"

เว็บไซต์ประชาไท รวบรวมข้อความในสถานะเฟซบุ๊กของนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการอาวุโสฝ่ายบริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่วิพากษ์กรณีคณะอนุกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติระบุว่า สื่อในเครือมติชนเสนอข่าวเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ว่าการผลการสอบดังกล่าวมีปัญหา

"เห็นด้วยว่าผลสอบมีปัญหา อ่านแล้วคลื่นไส้มาก สรุปว่าถ้าเป็น ′พวกเรา′ ทำอะไรก็ถูกหมด ดีหมด ถ้าทำท่าว่าไม่ใช่พวกเรา พวกมันต้องทุจริตแน่ๆ สื่อเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ เชียร์กลุ่มอภิสิทธิชนออกนอกหน้า หรือด่าพรรคเพื่อไทยและชาวบ้านที่ไม่เอาด้วยกับอภิสิทธิชนอย่างสาดเสียเทเสีย ใส่ร้ายป้ายสีเขาชนิดไม่มีความเที่ยงธรรมแม้แต่น้อยก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา ถือเป็นสื่อดีวิเศษ แต่สื่อที่ทำต่างจากนี้ มีปัญหา พวกมันมีแนวโน้มโกง เลว.....

"การที่แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายบริหารจัดการสื่อ ไม่ได้แปลว่า สื่อต้องไปรับนโยบายของพรรคการเมือง การบริหารจัดการของพรรคก็เป็นเรื่องของพรรค เช่นวางแผนว่าช่วงนี้พรรคจะเสนอเรื่องอะไร จะทำอะไร จะบอกอะไรกับสาธารณะ พรรคการเมืองเป็นองค์กร ถ้าไม่มีแผนบริหารจัดการกระทั่งด้านสื่อสารมวลชน ประชาสัมพันธ์ ต้องเรียกว่าห่วย ทำงานไม่เป็น"

"สื่อขายตัว" "รับเงิน" ล้วนเป็นคำใหญ่โตเอาไว้หลอกด่า เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น

"สื่อทุกวันนี้ก็เหมือนกันหมด ไอ้เรื่องประเภทสื่อขายตัว รับเงิน ฯลฯ งี่เง่าเหล่านั้น มันเป็นคำใหญ่โตเอาไว้หลอกด่า เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ทุกสื่อทำมาหากินแบบธุรกิจ และอาจ ′เลือกข้าง′ แนวคิด อุดมคติทางการเมือง สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าสื่อทำหน้าที่สื่อหรือไม่แม้คุณจะเลือกข้างก็คือ คุณรายงานข่าวรอบด้านอย่างเที่ยงธรรมเพียงใด หรือคุณระงับใจคุณไม่ให้อคติจนกลายเป็นไส่ร้ายป้ายสี สร้างข่าวขึ้นมาเองเพื่อให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามอย่างไรมากกว่า ไอ้ประเภทมาชี้หน้าหาเรื่องกันว่า คนนั้นคนนี้เป็นสื่อเลวเพราะทักษิณ อันนี้ทุเรศ

เพราะคนที่เชียร์ฝ่ายตรงข้ามทักษิณอย่างออกนอกหน้าก็มีเยอะ ทำไมไม่ด่ากันบ้างละคะ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของสองมาตรฐานในสังคมไทยที่ไร้หลักการ"

ข้อสังเกตถึงกรณีอีเมล์รั่ว "ไม่เป็นธรรมชาติ" มากๆ

"เคสนายวิม นึกๆ ก็ประหลาดใจนะ เขียนเมลถึงหัวหน้าตัวเอง ′สั่งการ′ ให้ไปบอกทักษิณอย่างนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่เป็น ′ธรรมชาติ′ มากๆ ใครสั่งทักษิณได้หรือ ทักษิณคนที่ภาพลักษณ์ชัดเจนว่า ไม่รู้จักนิ่ง ไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนนี่นะ สั่งได้ แถมเงินที่ว่าจ่าย ′ซื้อนักข่าว′ รายละสองหมื่นนี่ก็ ′ตลกมาก′ และอ่านในผลสอบก็ชัดๆ ว่า แต่ละคนที่ถูกกล่าวหานั้น ไม่ได้รับผิดชอบข่าวประจำวันของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ เลย มองดีๆ สิคะ มันเป็นรายการ ′สร้างเรื่อง′ ′หาเรื่อง′ ชัดๆ หาเรื่องและสร้างเรื่องบนความอ่อนไหวเชิงดรามาของคนไทยเรื่อง ′อุดมคติและจริยธรรมอันยิ่งใหญ่ของคนดี′"

"คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่คิดว่าชีวิตของฉันต้องดีพร้อมนั้น ตื่นตระหนกตกใจง่าย เพ้อเจ้อ เพ้อฝัน ไม่ค่อยคิดใคร่ครวญ มองทุกอย่างเป็นสูตรสำเร็จ

"ทั้งสมาคมฯ ทั้งสภาฯ....น่าคลื่นไส้ ทำท่าจริยธรรมกันสูงส่ง แต่ปากว่าตาขยิบกันมากมาย ฉันทำได้ เธอทำไม่ได้"

ความเกลียดชังทักษิณทำให้คนทำสื่อไร้หลักการ และข่มทับคนอื่นด้วยคำว่า จริยธรรม

"ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า สื่อ ′รับเงิน"-ขายตัว′ เป็นเรื่องธรรมดาตามที่ว่ากันมาเป็น cliche (ความคิดที่คร่ำครึ/ข้อกล่าวอ้างซ้ำซาก) แต่หมายความว่า ข้อกล่าวหาอย่างนั้น เป็นเรื่องตลกไปเสียแล้ว สื่อก็ทำงานรับเงินเดือน บริษัทสื่อก็ทำธุรกิจ การทำงานสื่อก็เป็นองค์กร เป็นระบบกองบรรณาธิการ ดังนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องประเภท นักการเมืองไปเรียกคนทำสื่อมาสักคน จ่ายเงินแล้วบอกว่า เขียนเชียร์ฉันหน่อยนะ เพราะรูปแบบอย่างนั้นเป็นเรื่องตื้นเกินไป

"ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่คือบริษัทสื่อรับเงินโฆษณา ฝ่ายธุรกิจซื้อพื้นที่สื่อลงโฆษณาสินค้าของตน ธุรกิจสื่อก็อยู่รอด และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรับซอง เป็นเรื่องธุรกิจ สมัยก่อน ฝ่ายโฆษณาไม่บอกฝ่ายบรรณาธิการว่าช่วยทำข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ แยกกันเด็ดขาด แต่สมัยนี้ บางทีฝ่ายโฆษณาก็มาบอกฝ่ายข่าวว่าทำเรื่องนั้นนี้ให้บ้าง เส้นแบ่งข่าวกับธุรกิจมันก็ค่อยๆ บางลง

"พอถึงยุคการเมืองเข้ม ก็มีอีก สมัยที่รัฐบาลทักษิณยังไม่ถูกรัฐประหาร สื่อบางกลุ่มก็ไปประชุมร่วมกับฝ่ายจะล้มรัฐบาล วางแผนกันเสร็จสรรพ จะทำทุกวิธีล้มให้ได้ ฝ่ายธุรกิจที่เกลียดรัฐบาลก็สนับสนุนซื้อพื้นที่สื่อนั้น สื่อนั้นก็ได้โฆษณาจากฝ่ายธุรกิจที่เป็นพวกเดียวกัน พอรัฐบาลใหม่มา ก็มีงบจากกระทรวงต่างๆ ให้สื่อมาจัดกิจกรรมหาเงินที่เรียกว่าจัด event อีก ถ้าไม่เกี่ยวกับทักษิณ ทำได้ ไม่มีผิดเลย ไม่มีการกล่าวหาใดๆ เลย เพราะบอกกันว่า นี่แหละธุรกิจ

"แต่พอจะหาเรื่องกัน ก็บอก นี่พวกทักษิณนี่ บริษัททักษิณ พรรคทักษิณมาซื้อพื้นที่สื่อนี้เยอะ มันต้องเข้าข้างทักษิณแน่เลย...อ้าว แล้วพวกที่ได้จากอีกฝ่ายละคะ พวกที่ร่วมประชุมวางแผนล้มรัฐบาลทักษิณละ ???

"สื่อที่รับโฆษณาจากฝ่ายที่เกลียดทักษิณก็บอกว่า โอ๊ย ฉันเที่ยงธรรม ฉันไม่เชียร์ประชาธิปัตย์ออกนอกหน้าหรอก ซึ่งเขาก็อาจจะพยายามเที่ยงธรรมจริง แต่ถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่คิดละคะว่า สื่อที่รับโฆษณาจากฝ่ายชอบทักษิณเขาก็พูดได้เหมือนกันว่าเขาเที่ยงธรรม

"เห็นไหมว่า ความเกลียดทักษิณในสังคมไทยนี้มันทำให้คนไทยโง่และบ้ากันหมด ไร้หลักการโดยสิ้นเชิง แถมยังงี่เง่าพอที่จะยกหลักการหรู ๆ คำพูดสวยๆ ใหญ่โตต่างๆ มาอ้างว่าตนเป็นคนดีกว่า มีจริยธรรมกว่า ไปข่มทับคนอื่นแบบไร้หลักการด้วย

"แน่นอนว่าคนก็อ้าง ′อุดมการณ์′ กันทั้งนั้น แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ นะ ควรจะตาสว่างฉลาดเฉลียว มองให้เห็นความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม ยอมจำนนให้อภิสิทธิชนซึ่งอ้างตัวเป็นคนดีควบคุมดูแลประเทศ กับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เชื่อมั่นและเคารพในเสรีภาพของปัจเจก เคารพในสิทธิเสียงของสามัญชน คนเกิดมามีเสรีภาพ เราก็มีสิทธิเลือกอุดมการณ์ของเรา มันเรื่องอะไรเอาสื่อไปมอมเมาผู้คนให้ยอมจำนน และสื่อที่อ้างอุดมการณ์เหล่านั้นก็ได้เงินสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม อย่างนี้จะถือว่า ขายตัวให้อนุรักษ์นิยมไหม หรือถือว่ามีอุดมการณ์ร่วมกัน ถ้าอย่างนั้น มันเรื่องอะไรไปชี้หน้ากล่าวหาคนอื่นที่มีอุดมการณ์แตกต่างว่า
ขายตัว"

สื่อยัดเยียดความเชื่อเรื่อง "คนโง่ ซื้อได้ ผลประโยชน์คือความเลว" แต่สื่อเองก็ทำมาหากินเพื่อผลประโยชน์

"ความคิด cliche หนึ่งที่สื่อไทยใส่หัวคนในสังคมมาตลอดเพราะคนทำสื่อจำนวนหนึ่งก็ดัน ′โง่ เชื่ออย่างนั้นจริงจังก็คือ คนซื้อได้ คนไม่มีหัวคิดเป็นของตัวเอง ใครคิดอะไรไม่เหมือนเรา ไม่คิดถึงสถาบันชาติในแนวเดียวกับเรา แปลว่า มัน ′ขายตัว′.....คิดอัตโนมัติกันแบบนั้น จึงไม่มีทางมองเห็นภาพรวมเลย ไม่เห็นประเด็นปัญหาจริงๆ เลย เพราะมันฝังหัวอยู่แค่นั้น ในกรอบจำกัดแค่นั้น

"cliche อีกอย่างที่คนทำสื่อยัดเยียดใส่หัวคนก็คือ เงิน และ ผลประโยชน์ เป็นความเลว แต่ขอโทษ สื่อก็ทำมาหากินเพื่อเงินและผลประโยชน์ ทุกคนก็ทำงานเพื่อเงินเป็นตัวกลางในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต แต่ถ้าจะส่งเสริมในแง่ว่า เราทุกคนก็ควรใช้เงินและคิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้อย่างพอดี ก็สื่อเองอีกนั่นแหละที่เชิดชูบูชาความฟุ่มเฟือยหรูหราต่างๆ นานา...ปากว่าตาขยิบที่สุดในโลกจึงเป็นสื่อนี่เอง"


+ + + +

บทความที่ต่อเนื่องกันมา

แถลงการณ์เครือมติชน-ข่าวสด ต่อรายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองฯ
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313748368&grpid=00&catid=&subcatid=

เปิดผลสอบสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กรณีสอบอีเมลการเมืองโยงสื่อรับเงิน
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313752067&grpid=01&catid=&subcatid=


.