http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-18

การเมืองเรื่องสตรี ขัตติยนารีกับพื้นที่แห่งอำนาจ (1) (2) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

การเมืองเรื่องสตรี ขัตติยนารีกับพื้นที่แห่งอำนาจ (1)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 77


ผู้หญิงในเวทีการเมืองของประวัติศาสตร์ ที่คนไทยรู้จักมีใครบ้าง

หลายคนอาจตอบว่า สมเด็จพระสุริโยทัย พระสุพรรณกัลยา ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ท้าวสุรนารี พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ฯลฯ

เปล่า! เรากำลังจะพูดถึงนารีหรือขัตติยนารีที่เป็นนักปกครองจริงๆ มิใช่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังแบบ "ซูสีไทเฮา" ในฐานะพระมเหสี พระอัครชายา พระราชมารดา สมเด็จย่า พระเชษฐภคิณี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือเป็นวีรสตรีนักรบในสมรภูมิ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่านารีเหล่านั้นไม่ได้มีความสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์ หากแต่ดิฉันอยากจะคัดกรองแยกออกมาเฉพาะขัตติยนารีที่ขึ้น "นั่งเมือง" ในฐานะ "นางพญา" หรือเป็นกษัตรีย์จริงๆ เท่านั้น ว่าเส้นทางของเหล่าจอมนางนี้มีที่มาอย่างไร

ไยจึงสามารถแหวกวงล้อมของบุรุษเพศ เบียดแทรกพื้นที่แห่งอำนาจ ก้าวขึ้นมาเป็นสตรีหมายเลข 1 ได้



ขัตติยนารีในรัฐจารีตอุษาคเนย์
จากแม่มดถึงแม่เมือง

บทบาทของผู้หญิงในรัฐจารีตอุษาคเนย์ เมื่อเหลียวซ้ายแลขวา ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งขอมและมอญ ต่างก็เคยมีกษัตรีย์กันมาแล้ว

ทางฟากกัมพูชานั้น "พระนางชัยเทวี" เคยปกครองเมืองอังกอร์อยู่นานเกือบ 40 ปี (ระหว่าง พ.ศ.1228-1263) ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงร่วมสมัยกันกับพระนางจามเทวี ส่วนฟากรามัญเทศะ ก็มี "พระนางเชงสอบู" ผู้เลอโฉม เสวยราชย์ ณ กรุงหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ.1996

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ มิอาจหยิบยกเรื่องราวของนางพญาหรือราณีแห่งรัฐศรีวิชัย มลายู ลังกาสุกะ ปัตตานี อาทิ พระนางเลือดขาว รายากูนิง ในพื้นที่อันจำกัดเช่นนี้

ย้อนกลับไปพินิจกษัตรีย์ในสมัยทวารวดีที่คนไทยรู้จักคือ "พระนางจามเทวี" (พ.ศ.1204-1258)

ไยการก้าวสู่บัลลังก์ของพระนางจึงเต็มไปด้วยข้อกังขา การเสด็จมาครองราชย์ที่หริภุญไชย มักถูกตั้งคำถามในเชิงลบ ยากที่จะให้ใครมองแบบตรงไปตรงมาว่า พระนางเป็นขัตติยนารีผู้มากความรู้ความสามารถ เก่งกาจทั้งศาสตร์และศิลป์

ความที่เป็นนารีแต่สามารถขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่า พระนางเป็นพระราชธิดาแท้ๆ ของพระเจ้ากรุงละโว้ แต่น่าจะประสูติที่ลำพูนมากกว่า

ช่วงหนึ่งในวัยดรุณถูกส่งไปเป็นธิดาบุญธรรมกษัตริย์ละโว้ ตามธรรมเนียมของเมืองขึ้น แล้วหวนกลับคืนมาตุคามยามบ้านเมืองมีวิกฤต มากอบกู้สถานการณ์จากกองซากปรักหักพัง ในลักษณะ "ขัดตาทัพ" หลังจากที่ผู้นำพื้นเมือง (ซึ่งแน่นอน ย่อมเป็นชาย) ได้นำพาบ้านเมืองไปสู่ความล่มจมเสียหาย เพราะไร้คุณธรรม

ประเด็นนี้ฟังเผินๆ อาจคิดว่าเป็นคำยกย่อง แต่แท้จริงแล้ว มีคำขยายต่อพ่วงท้ายว่า

"เพราะมิเช่นนั้นแล้ว คงยากยิ่งที่เมืองเมืองหนึ่งจักกล้าเชิญผู้หญิงหม้ายแถมตั้งครรภ์ที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตามาก่อนให้มาปกครองบ้านเมืองตน เว้นเสียแต่ว่านางต้องมีเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวลำพูนมาก่อนเท่านั้น"

บางคนล้มโต๊ะถึงขนาดบอกว่า เรื่องราวของจามเทวีเป็นแค่นิทานปรัมปรา พระนางไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรที่จะต้องกล่าวถึง โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปไม่ได้ที่ในอดีตจะมีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ ท่ามกลางสังคมเพศชายเป็นใหญ่และกดขี่



ใครที่มีโลกทัศน์เช่นนี้อยู่ ขอให้รีบสลัดแว่นเก่าคร่ำนั้นทิ้งไป แล้วหันมาใส่คอนแท็กเลนส์แทน (โดยเฉพาะรุ่นบิ๊กอาย) แสดงว่าคุณยังไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ลึกซึ้งพอ ในความเป็นจริงนั้น สังคมบุรพกาลยกย่องผู้หญิงเป็นใหญ่เหนือบุรุษเพศ เหตุเพราะเน้นความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารยิ่งกว่าการบูชาอำนาจ

สังคมยุคก่อนดำรงอยู่ได้ด้วยการขยายเผ่าพันธุ์ จึงโหยหาน้ำนมมารดามาหล่อเลี้ยงโลก

แล้วใครเล่าที่มีมดลูกสามารถให้กำเนิดทารกได้ คนเพศนั้นก็ย่อมได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจ้าแม่

เจ้าแม่มีบทบาทในฐานะแม่มดหมอผี ผู้นำทางจิตวิญญาณ คือพื้นที่แห่งร่างทรง ที่ซึ่งผู้หญิงสามารถเป็นปากเสียงต่อรองกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เหนือพละกำลังของเพศชาย เต้นระบำรำฟ้อนในนามของ "เทพี" ผู้ตัดสินทิศทาง ชี้ถูกผิดให้กับสังคม

พื้นที่ของแม่มดนั่นเอง คือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยเสรีภาพสตรีในสังคมรากหญ้า สืบทอดและถูกยึดครองมาอย่างเข้มแข็งจวบปัจจุบัน

แม่มด น้อยนางนักที่จักขยับตนขึ้นเป็นชั้นสูงให้ก้าวไปสู่การเป็นแม่เมือง เพราะรัฐสมัยใหม่ถูกดูดกลืน ช่วงชิงพื้นที่ไปโดยเพศชาย


สัปดาห์หน้าโปรดติดตามสองขัตติยนารีล้านนา นอมินี ร่างทรง ญาติกาธิปไตย ?



++

การเมืองเรื่องสตรี ขัตติยนารีกับพื้นที่แห่งอำนาจ (จบ)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 77


สองขัตติยนารีล้านนา
นอมินี ร่างทรง ญาติกาธิปไตย ?

ถามว่านอกเหนือจากพระนางจามเทวีแล้ว ในประเทศไทยยังมีกษัตริย์หญิงขึ้นปกครองแว่นแคว้นแดนใดอีกบ้างไหม หากเคยมี ทำไมคนไทยจึงไม่รู้จัก

น่าเศร้าใจที่คนไทยส่วนใหญ่ถูกบังคับให้เรียนแค่ประวัติศาสตร์ของกรุงสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ไม่รู้จักแม้กระทั่งข้อเท็จจริงในสมัยกรุงธนบุรีด้วยซ้ำ มิพักต้องไปพูดถึงรัฐละโว้ ศรีเทพ ตามพรลิงค์ หรือล้านนา ซึ่งแต่ละรัฐต่างมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อสยาม มีกษัตริย์เป็นของตนเอง และแน่นอนบางรัฐย่อมมีกษัตริย์หญิง!

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสองขัตติยนารีที่ก้าวสู่บัลลังก์สูงสุดแห่งรัฐล้านนา

องค์แรกคือ "พระมหาเทวีจิรประภา" กษัตรีย์ผู้ถูกนำเสนอในภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท" ด้วยการสร้างภาพให้เป็นพระนางยั่วสวาท เซ็กซี่ โปรยเสน่ห์ และเจ้าเล่ห์แสนกล ผู้สามารถทำให้พระไชยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาแทบกระอักอกแตกตาย พ่ายรักและพ่ายทัพ

หรือก่อนหน้านั้น ยุคพลตรีหลวงวิจิตร-วาทการเคยสร้างละครร้อง ก็ยัดเยียดบทให้พระนางจิรประภา ฐานะชาวเชียงใหม่ยอมโอนอ่อนต่อชาวอยุธยาเหตุเพราะมีสำนึกในเรื่องเชื้อชาติไทยเหมือนกัน เพื่อรับใช้ความคิดแบบราชาชาตินิยมของตน ทั้งๆ ที่ในสมัยของพระมหาเทวีนั้นไม่เคยมีจิตสำนึกเรื่อง "การรักความเป็นไทย"

ท่านมุ้ยก็ดี หลวงวิจิตรฯ ก็ดี นำเสนอภาพของพระนางจิรประภา ในมุมมองที่แทบจะไม่มีผลต่อการรับรู้ชีวิตที่แท้จริงของพระนางเท่าใดนัก เพราะวัตถุประสงค์ของนักทำหนังทำละครเหล่านั้นต้องการเชิดชูเฉพาะวีรสตรีของกรุงศรีอยุธยา เรื่องราวของพระมหาเทวีจิรประภาจึงกลายเป็นเพียงผงชูรส

ตกลงแล้วพระมหาเทวีจิรประภาคือใคร เป็นกษัตริย์ล้านนาองค์ที่เท่าไหร่ สร้างวีรกรรมอะไรโดดเด่นบ้าง ดูเหมือนคำถามเหล่านี้ไม่อยู่ในความสนใจของผู้คนเท่ากับคำถามที่ว่า พระนางขึ้นครองราชย์ได้อย่างไร ใครอยู่เบื้องหลัง ครองราชย์ถึงหนึ่งปีไหม



ทำไมต้องฉลองพระองค์ "กล่องนมตาข่ายโปร่ง" ?

ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดถึงปีที่พระมหาเทวีจิรประภาทรงประสูติ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2042 หรือ 2043 พระนางเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า หรืออีกนามคือพระญาเกสเชษฐราช กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12

อ้าว! เป็นพระมเหสีดอกรึ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ใช่กษัตรีย์น่ะซี ไม่เห็นจะต่างอะไรกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (มเหสีของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย) หรือสมเด็จพระสุริโยทัย แต่อย่างใดเลย

ย้ำ! เป็นทั้งพระมเหสีของกษัตริย์ล้านนา สถานะหนึ่ง ในช่วงที่พระราชสวามีทรงมีพระชนม์ชีพ แต่ก็ทรงเป็นกษัตรีย์อีกสถานะหนึ่ง ภายหลังจากที่พระเมืองเกษเกล้าทรงสวรรคตแล้ว

จะเรียกว่าเข้ามาขัดตาทัพอีกรายก็ใช่ และไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะบอกว่านั่งเมืองแค่เพียงปีเดียวช่วงสั้นๆ คือ พ.ศ.2088-2089 ช่วงนั้นทรงมีพระชนมายุกำลังเหมาะคือวัย 45-46

แม้จะครองราชย์เพียง 1 ปี แต่ก็เป็นปีเดียวที่ชาวล้านนาต้องจารึก เพราะขัตติยนารีท่านนี้ต้องแบกรับภาระศึกเหนือเสือใต้ เกิดการแย่งชิงอำนาจทั้งจากภายในและภายนอก ต้องประคับประคองรัฐล้านนาอันเปราะบาง ศึกภายในราชสำนักนั้นเกิดจากการแบ่งเป็นก๊กเล็กก๊กน้อยของเหล่าอำมาตย์ กษัตริย์อ่อนแอจึงถูกลอบปลงพระชนม์ซ้อนกันถึงสองพระองค์

ขุนนางแต่ละกลุ่มต่างชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน กลุ่มแรกไปสะกิดให้พระไชยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยามาชิมลางขู่ขวัญ ด้วยแสนยานุภาพของกองทัพสมัยใหม่พร้อมทหารรับจ้างโปรตุเกส แต่พระมหาเทวีจิรประภาก็รับมือไว้ได้ ด้วยมิตรภาพอันนุ่มนวลแบบสาวเหนือเชือดนิ่มๆ จนทำให้พระไชยราชาต้องถอยทัพกลับไป

ขุนนางกลุ่มที่สอง ก็แอบไปปรองดองกับล้านช้าง โชคดีที่ฝ่ายนี้เป็นญาติโกโหติกากับพระมหาเทวี ซึ่งมีฐานะเป็น "ลูกเขย" กับ "หลานยาย" องค์หนึ่งคือพระเจ้าโพธิสาลราช (ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยอดคำทิพย์ ผู้เป็นพระธิดาของพระเมืองเกษเกล้าและพระมหาเทวีจิรประภา) ส่วนอีกองค์เป็นพระราชปนัดดาของพระนาง "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช" (กษัตริย์สองแผ่นดิน ล้านช้าง-ล้านนา) ฝ่ายล้านช้างนี้ก็ใช่ย่อย ยาตราทัพมาถึงกลางพระราชวังหลวงแบบไม่ให้สุ้มให้เสียง หมายปองที่จะรวมล้านนาเข้ากับล้านช้างอยู่เต็มกลืน

ขุนนางกลุ่มที่สาม ไปดึงเอาข้าศึกชาว "ไต" หรือ "เงี้ยว" จากรัฐฉาน เมืองนาย เมืองยองห้วย กลุ่มนี้เมื่อเห็นกษัตริย์เป็นสตรีคงอยากเข้ามาลองของ นึกว่าจะยึดล้านนาได้ง่ายๆ ปรากฏว่าพระมหาเทวีได้ "จัดหนัก" ให้ชาวไตต้องล่าถอยกองทัพกลับอย่างหน้าแตกหน้าแตน

น้อยคนนักที่จะมีใครรับรู้ถึงวีรกรรมในการปกป้องล้านนาประเทศของพระมหาเทวีจิรประภา ผู้คนมักจดจำแต่ว่ามีอาเพศร้ายเกิดแผ่นดินไหว ในยุคที่แม่ญิงผู้ไร้บารมีครองเมือง รุนแรงจนยอดพระเจดีย์หลวงหักโค่น จวบปัจจุบันก็ยังมิได้มีการสร้างเสริมส่วนยอด

หลายคนมองว่า บทบาทของพระนางไม่ต่างไปจากผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้กับยุวกษัตริย์ หลานยาย พระเจ้าไชยเชษฐาวัย 12 ขวบแต่อย่างใด

บางคนมองว่า หากพระมหาเทวีมิได้ทรงเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้ามาก่อน โอกาสที่จะได้ครองราชย์นั้นแทบเป็นศูนย์



หันมามองนางพญาแห่งล้านนาอีกองค์หนึ่ง นาม "พระนางวิสุทธิเทวี" เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2107-2121 ก่อนที่พม่าจะเข้ามาปกครองล้านนาเต็มรูปแบบ ถือเป็นรัฐล้านนาในยุคใต้ร่มเงาของหงสาวดี

พระนางวิสุทธิเทวีเป็นราชนิกุลองค์หนึ่งในราชสำนักล้านนา ทรงมีพระสิริโฉมงดงามเข้าตาผู้ชนะสิบทิศ ในช่วงที่บุกยึดเชียงใหม่ได้ พระนางจำต้องตกเป็นอัครชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทรงมีพระราชโอรสด้วยกันพระนามว่า "มังทรา" หรือ "มังนรธาช่อ" ผู้ที่นักภาษายกย่องให้เป็นกวีเอก สามารถเขียนบทโคลงได้พริ้งพราย และเป็นกษัตริย์ลูกครึ่งพม่า-ล้านนาองค์แรกที่เข้ามาปกครองเชียงใหม่อย่างเป็นทางการในฐานะรัฐประเทศราช ภายหลังจากที่พระราชมารดาสิ้นพระชนม์

ถ้าเช่นนั้นสถานะของพระนางวิสุทธิเทวีจะมีความหมายอะไรมากไปกว่า "จอมนางเชลยรัก" การที่พระนางได้มาซึ่งพื้นที่แห่งอำนาจนั้น เพราะฐานะที่ยืนอยู่เป็น "หนึ่งในทำเนียบพระมเหสี" ของพระเจ้าบุเรงนองแค่นั้นหรือ?

คำถามทำนองนี้ คือการดูแคลนกษัตริย์หญิงว่าไม่อาจขึ้นนั่งเมืองด้วยความสามารถเฉพาะตัวของตนเองได้ หากปราศจากเบื้องหลังสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง หากไม่เป็น "เมีย" ก็ต้องเป็น "แม่" "ย่า" "ยาย" "ป้า" "พี่สาว" หรือ "น้องสาว"

เรียกภาษาสมัยใหม่ก็คือ "ร่างทรง" "โคลนนิ่ง" หรือ "นอมินี" นั่นเอง



ก็คงไม่อาจปฏิเสธว่า ขัตติยนารี แห่งอุษาคเนย์ทั้งในอดีตจวบปัจจุบันที่สามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจนั้น มิได้มาจากระบอบ "ญาติกาธิปไตย"

ไม่เพียงแต่พระมหาเทวีจิรประภาหรือพระนางวิสุทธิเทวีเท่านั้น หากในยุคสมัยของเรา ผู้หญิงที่สถานการณ์ชักนำให้มาเดินคลุกฝุ่นบนถนนการเมืองนั้น ไม่น้อยเลยที่สืบสายมาจากความเป็นทายาทของบุรุษ ไม่ว่า นางอินทิรา คานธี นางออง ซาน ซูจี นางสิริมาโว บันรานัยเก นางซูการ์โน หรือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ระบอบ "ญาติกาธิปไตย" อาจเป็นแค่เพียงบันไดก้าวแรกของการเปิดพื้นที่ ผลักให้ผู้หญิงได้เข้ามาอยู่ในวังวนของอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ธรรมนูญอันบิดเบี้ยวที่สถาปนาโดยเงื้อมมือที่มองไม่เห็นของผู้ชาย (เทียม) ในระบอบ "ปิตาธิปไตย" (ปิดตาธิปไตย) เพียงไม่กี่คน

แต่นี่คือการเปิดศักราชใหม่แห่งความเปลี่ยนแปลง "พื้นที่แห่งอำนาจ" ในการเมืองไทย ชนิดถอนรากกระชากโคนแล้ว!


ประจักษ์พยานแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงกลุ่มสุดท้ายในทุ่งสังหารที่ราชประสงค์และวัดปทุมวนาราม กลุ่มแม่บ้าน หลานสาว ย่ายายจากยอดดอยภาคเหนือถึงที่ราบสูงอีสาน ที่ยืนหยัดต่อสู้ทนเจ็บและยอมตายต้านระบอบ "อภิชนาธิปไตย" ด้วยอุดมการณ์แบบ "ประชาธิปไตยรากหญ้า" คือการทวงคืนพื้นที่ใหม่ในสังคมของ "แม่มด" ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์สยาม


.