http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-24

มองตัวเองผ่าน"คนอื่น", ขุนรองปลัดชูฯ, "ชนบทไทย", ไม่ใช่แค่ "3 กรกฎา" โดย คนมองหนัง

.

มองตัวเอง ผ่าน"คนอื่น"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก"กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 85


ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้อ่านบทความภาษาอังกฤษของนักวิชาการชาวไทยท่านหนึ่ง ซึ่งเขียนถึงแนวคิดว่าด้วย "ฝรั่ง" ในสังคมไทย

นักวิชาการผู้นี้เสนอว่า แนวคิดเรื่อง "ฝรั่ง" คือ วิธีการรับรู้, มีความสัมพันธ์, วิพากษ์วิจารณ์, ประณาม, บริโภค ตลอดจนจินตนาการเกี่ยวกับ "ตะวันตก" ในฐานะ "คนอื่น" ผู้ทรงอำนาจและน่าหวาดระแวง ซึ่งถูกสร้างขึ้นในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

โดยวิธีการวิเคราะห์แนวคิดเรื่อง "ฝรั่ง" ในแบบดังกล่าวของเขา ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิด "บูรพาคดีศึกษา" (orientalism) ที่ศึกษาวิธีคิด ซึ่ง "ชาวตะวันตก" ใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "ตะวันออก" เพื่อแบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง "โลกตะวันออก" กับ "โลกตะวันตก"

วิธีคิดเช่นนั้นของ "ชาวตะวันตก" ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง, ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ และการมีอำนาจอาญาสิทธิ์เหนือ "โลกตะวันออก" ในยุคอาณานิคม

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางอำนาจในแนวคิดทั้งสองยังมีความแตกต่างกันอยู่ เพราะชนชั้นปกครองสยามไม่เคยมอง "ฝรั่ง" ว่าเป็นกลุ่มคนที่ตนต้องการพิชิตและยึดครองเป็นอาณานิคม เหมือนที่ "ตะวันตก" ต้องการยึดครองดินแดนใน "โลกตะวันออก" ให้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าอาณานิคม

แต่ สยาม/ไทย กลับระแวงในอำนาจของ "ฝรั่ง" รวมทั้งพยายามแสวงหาวิธีการในการต่อสู้รับมือกับ "ฝรั่ง" มากกว่า



เมื่อแนวคิดเรื่อง "ฝรั่ง" คือ การมองเห็น "คนอื่น" ผ่านสายตาของคนในสังคมไทย "ความเป็นฝรั่ง" จึงมิใช่ภาพตัวแทนที่ "แท้จริง" ของ "ชาวตะวันตก"

ทว่า แนวคิดดังกล่าวมีสถานะเป็น "กระจกทางชาติพันธุ์-วัฒนธรรม" ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่องสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง "เรา/คนไทย" กับ "คนอื่น/ตะวันตก"

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด วิธีคิดที่เรามีต่อ "ฝรั่ง" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ระคนกันระหว่างการอยากเป็น "ฝรั่ง" การอยากศิวิไลซ์เหมือน "ฝรั่ง" การอยากครอบครองวัตถุอันทันสมัยต่างๆ ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย "ตะวันตก"

กับการหวาดระแวงหรือต่อต้าน "ฝรั่ง" ซึ่งตกทอดมาถึงกลุ่มปัญญาชนชาตินิยมในยุคปัจจุบัน ที่หวั่นวิตกว่า "ตะวันตก" จะเข้ามาทำลายวัฒนธรรมและประเพณีของไทย


แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทย - "ฝรั่ง" ที่ดำเนินต่อเนื่องมาโดยตลอด ก็ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมี "ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม" ซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรม (ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ สถานะซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงของบรรดา "ดาราลูกครึ่ง" ในวัฒนธรรมประชา -popular culture- ของสังคมไทย)

กระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า "ความเป็นไทย" ในปัจจุบัน จะไม่มีทางสมบูรณ์ไปได้เลย หากปราศจากอิทธิพลของ "ฝรั่ง" หรือความหลงใหลอยากเป็นฝรั่งของคนไทยเอง

ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบ "ทั้งรักทั้งชัง" "ความเป็นฝรั่ง" จึงมีส่วนในการก่อรูป "อัตลักษณ์ไทย" ร่วมสมัย และไม่ได้อยู่ตรงกันข้ามกับ "ความเป็นไทย" โดยเด็ดขาด ดังที่มีบางคนเข้าใจแต่อย่างใด

ท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย - "ฝรั่ง" ก็เลยเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า "คนนอกตะวันตก" จินตนาการเกี่ยวกับตนเองอย่างไร เมื่อพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับ "ความเป็นตะวันตก" ในหลากหลายรูปแบบ

ไปๆ มาๆ จึงกลายเป็นว่า นอกจากเราจะมองเห็น "ฝรั่ง" ตามความนึกคิดของตัวเราเองแล้ว เรายังได้มองเห็นตนเอง ผ่านความสัมพันธ์ที่เรามีกับ "คนอื่น" กลุ่มดังกล่าวอีกด้วย



ถ้าต้องการอธิบายแนวคิดเรื่อง "ฝรั่ง" ของสังคมไทย ให้ใกล้ตัวมากขึ้นอีกสักนิด ก็ดูเหมือนว่าละครโทรทัศน์/ละครเวที/ภาพยนตร์เรื่อง "ทวิภพ" อาจเป็นอุปมาเปรียบเทียบที่เชยและน่าเบื่อเกินไปหน่อย (แม้ละครเวทีเรื่องทวิภพฉบับล่าสุดจะกำลังเปิดแสดงอยู่ก็ตาม)

ดังนั้น เราจึงน่าจะหันมาพิจารณาข่าวคราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

แน่นอน เราคงสามารถพิจารณา พูดคุย หรือค้นคว้าเกี่ยวกับข่าวคราวเหล่านั้นได้หลายแง่มุม หลากประเด็น

แต่การพิจารณา พูดคุย หรือค้นคว้าดังกล่าว ก็ไม่ควรหยุดตัวเองอยู่บนฐานวิธีคิดที่ว่า เรา/สังคมไทย มอง "ฝรั่ง" หรือ "ต่างชาติ" อย่างไร ( ในส่วนของ "ต่างชาติ" ที่เป็น "ประเทศเพื่อนบ้าน" นั้น มีแนวโน้มค่อนข้างสูงว่า จะถูกเรามองในแง่ร้ายอยู่แล้ว )

ส่วนเรื่องที่ "ฝรั่ง" หรือ "ต่างชาติ" มองสังคมไทยอย่างไร ก็มีความน่าสนใจอยู่ เพื่อจะได้นำมาพิจารณาในแง่มุมเชิงเปรียบเทียบต่อไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ กลับเป็นการพยายามแสวงหาคำตอบว่า คนไทย/สังคมไทย มองเห็นตัวเองหรือทำความเข้าใจในตัวเองอย่างไร ท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ที่เรากำลังมีกับต่างชาติหรือประชาคมโลก

ซึ่งดีไม่ดี หลายคนอาจยังมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจตัวเองในท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวเสียด้วยซ้ำไป



++

ขุนรองปลัดชู : กวีที่ "ดี" เกินไป
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก"กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 85


ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" ได้นำส่วนเสี้ยวเล็กๆ จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงปลายอยุธยา ที่ปรากฏในพงศาวดาร มาเพิ่มขยายและเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลหลังสมัยพระเจ้าบรมโกศ

ถ้าฟังจากพล็อตคร่าวๆ ดังกล่าว หนังที่ถูกโปรโมตแบบโหมกระหน่ำในสถานีโทรทัศน์สาธารณะเรื่องนี้ ก็แลดูมีความน่าสนใจดี

เสียแต่ว่า...


สุดท้าย ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์/พงศาวดารเรื่องนี้ ก็พาคนดูย้อนกลับไปสู่ความคิดความเชื่อเดิมๆ ที่ถูกใช้ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์

นั่นคือ การเสียกรุงครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากการแตกความสามัคคีภายในกรุงศรีอยุธยา เมื่อขุนนาง/ชนชั้นนำ ต่างเห็นแก่ตัว แย่งชิงอำนาจกัน (และทอดทิ้งกลุ่มคนดี คนรักบ้านรักเมือง ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด)

ทั้งๆ ที่มีนักประวัติศาสตร์รุ่นปัจจุบันเสนอว่า การเสียกรุงครั้งที่ 2 อาจมิได้เกิดขึ้นจากการแตกสามัคคีอย่างที่ปรากฏในนิยายปลุกใจจำนวนมาก แต่เกิดจากปัญหาของระบบการจัดการผู้คน (ไพร่) และระบบขุนนาง ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากพอต่างหาก

นอกจากนี้ แม้จะขยับปรับเปลี่ยนผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ จาก "ชนชั้นนำ" มาสู่ "ประชาราษฎร" ทว่า "ขุนรองปลัดชู" ก็ยังไปไม่พ้นจากเรื่องเล่าว่าด้วย "ไทยรบพม่า" ดังที่ฝ่ายพม่าเองก็ถูกพระเอก "คนค้นฅน" ของเราด่าว่าเป็น "โจรพม่า" ในหนัง

"พม่า" จึงยังคงเป็น "สัญลักษณ์หลัก" (แทบจะ) เพียงหนึ่งเดียว ในเวลาที่เราพยายามนำเอา "ประวัติศาสตร์" มาใช้อธิบายหรือส่องสะท้อนปัญหาจากปัจจัยภายนอกซึ่งคุกคามสังคมไทยยุคต่อมา/ปัจจุบัน

"เจ้าอาณานิคม" ก็ดี "ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม" ก็ดี ล้วนสามารถถูกแทนที่ด้วยอุปมาเรื่อง "พม่า" ซึ่งบุกมาทำลายกรุงศรีอยุธยาได้ทั้งนั้น

เว้นแต่ว่า ผู้คนในสังคมไทยจะเริ่มพิจารณาว่าปัญหาสำคัญที่ตนเองต้องเผชิญหน้า อาจเป็นปัญหาอันเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ

เพราะหากเป็นเช่นนั้น การเปรียบเทียบ "ชนชั้นนำไทย" เข้ากับ "พม่า" คงเป็นอุปมาที่ลักลั่นย้อนแย้งมิใช่น้อย


ยิ่งไปกว่านั้น บุคลิกลักษณะของตัวละครขุนรองปลัดชูเองก็ "น่าเบื่อ" เพราะเขาถูกนำเสนอให้เป็น "คนดี" คนสำนึกผิด คนที่คิดถึงแต่เรื่องของบ้านเมือง หรือคนที่มีจิตใจเสียสละอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ตัวละครขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่รายล้อมเขา ก็ล้วนแล้วแต่เห็นแก่ตัวและไม่เสียสละเพื่อแผ่นดินไปเสียหมด

ส่วนตัวละครพระเจ้าอุทุมพร-พระเจ้าเอกทัศ ก็ถูกกล่าวถึงอย่างแว้บๆ ห่างๆ และไร้ชีวิตชีวา

(ทั้งๆ ที่หนังและละครจำนวนมากซึ่งอิง "ประวัติศาสตร์" อยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ต่างสร้างสรรค์ให้กษัตริย์ในยุคดังกล่าวกลายมาเป็นตัวละครที่มีบทบาท หรือมีชีวิตชีวาโลดแล่นอยู่ในจอภาพยนตร์หรือจอโทรทัศน์กันมานานแล้ว เช่น กรณีของละครทีวีเรื่อง "สงครามเก้าทัพ" ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ที่มีตัวละครหลักเป็นรัชกาลที่ 1 และเจ้านายร่วมสมัยรายอื่นๆ )

ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้สร้าง "ขุนรองปลัดชู" จะวางบทบาทให้ผลงานของตนเองเป็นหนังที่พูดถึงประเด็นการเมืองเรื่องราชสำนักช่วงอยุธยาตอนปลาย พวกเขาก็ไม่สามารถผลักดันความตั้งใจดังกล่าวให้เคลื่อนไปจนสุดทางได้

หรือหากจะพูดถึงประเด็นเรื่องการเมืองในหมู่ขุนนาง การเล่าเรื่องในลักษณะ "ขาวสะอาดหย่อมเดียว" แต่ "ดำสกปรกเกือบยกแผง" ก็ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวใน "ขุนรองปลัดชู" ถูกลดทอนความสลับซับซ้อนลงไปเยอะ

ประกอบกับเมื่อตัวละครนำอย่างขุนรองปลัดชูถูกสร้างให้มีลักษณะแบนราบเพียงมิติเดียว คือ การเป็นคนดีดี๊ดี แต่ปราศจากเสน่ห์ด้านอื่นๆ เช่น เรื่องการมีอารมณ์โรแมนติก หรือการมีอารมณ์ขัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงดำเนินไปอย่างไร้ซึ่ง "ความสนุก"



แม้มิอาจปฏิเสธได้ว่า "ขุนรองปลัดชู" มีลักษณะร่วมกันกับหนัง/ละครอิงประวัติศาสตร์ไทยจำนวนมาก ที่ล้วนแล้วแต่มีท่าทีโน้มเอียงไปสู่ทัศนคติ "ชาตินิยม"

คือ แม้สื่อบันเทิงจำนวนไม่น้อยจะพยายามสร้างให้ตัวละครชาวบ้านสามัญชนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ หรือ "ผู้ปิดทองหลังพระ" ในประวัติศาสตร์ ทว่าชาวบ้านเหล่านั้นก็ยังต้องถูกผนวกรวมเข้ากับประวัติศาสตร์แม่บทกระแสหลัก หรือ "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม" อยู่ดี

(ดังที่นักวิชาการซึ่งเข้าร่วมรายการ "วีรชน คนถูกลืม" ทางทีวีไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เขียนพงศาวดารอยุธยา - เมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ - น่าจะผนวกตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับขุนรองปลัดชูเข้าไปในพงศาวดาร เพื่อสร้างความเชื่อมโยงว่าท้องถิ่นอย่าง "วิเศษชัยชาญ" มีความสัมพันธ์กับอำนาจส่วนกลางที่ "กรุงเทพฯ" - ส่วน "นักเล่าข่าวคนนั้น" แกจะพูดจะถามอะไรก็ปล่อยแกไปเถอะครับ -)

แต่หากมองในแง่ความบันเทิง "เพื่อนร่วมชะตากรรม" ของ "ขุนรองปลัดชู" จำนวนมาก ก็ยังมีความสนุกมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปด้วย "เรื่องราวรายทาง" หรือ "เรื่องราวนอกเรื่อง" ที่ถูกแต่งเติมเสริมแต่งเข้ามา เช่น ฉากเลิฟซีนบ้าง หรือความมีชีวิตชีวาด้านอื่นๆ ที่อาจมีลักษณะ "ผิดฝาผิดตัว" บ้าง ก็ว่ากันไป

หรือที่ไปไกลกว่านั้น ก็ได้แก่หนังเรื่อง "บางระจัน 2" ซึ่งกล่าวถึงประเด็นน่าสนใจชวนฉุกคิดหลายอย่าง อาทิ โลกทัศน์อันแตกต่างกันระหว่างขุนนางอยุธยากับชาวบ้านเขานางบวช

ขณะเดียวกัน "พม่า" ในหนังเรื่องนั้น ก็กลายเป็น "สัญลักษณ์เปรียบเทียบ" ของชนชั้นปกครองที่กดขี่สามัญชนคนเล็กคนน้อย แต่ไม่ว่าจะข่มเหงเข่นฆ่าอย่างไร หญ้าแพรกทั้งหลายกลับไม่แหลกลาญเสียที ซ้ำยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่จึงเป็นอุปมาเกี่ยวกับ "พม่า" ที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน ใน "เรื่องเล่า" ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย

น่าเสียดายว่า องค์ประกอบที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์คนดู, ท้าทายความคิดคนดู หรือเพิ่มพลังให้แก่เรื่องเล่าแบบชาตินิยมซึ่งกำลังอ่อนแรงลงเรื่อยๆ เหล่านี้ กลับแทบไม่มีอยู่เลยใน "ขุนรองปลัดชู"



อ้อ ประการสุดท้ายที่ขออนุญาตแซวหน่อยนึง ก็คือ การใช้เทคนิค "voice over" ถ่ายทอดเสียงบรรยายรำพึงรำพันความในใจของตัวละครขุนรองปลัดชู ที่ปรากฏอยู่อย่างพร่ำเพรื่อแทบตลอดทั้งเรื่อง

(จนแทบจะอยากให้ท่านขุน voice over เรื่อง "นกไร้ขา" "สับปะรดกระป๋องหมดอายุ" หรือ "ผู้หญิงผมทองที่เดินเฉียดกับเขาเพียงไม่กี่มิลลิเมตร" ไปเสียเลย)

จากบทพูดแบบโมโนล็อก (พูดข้างเดียว) อันสละสลวยประดุจดังถ้อยคำของกวีเหล่านั้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นี่ตกลงเรากำลังดูหนังเรื่อง "ขุนรองปลัดชู" หรือ "ขุนสุนทรโวหาร" อยู่กันแน่ ?



++

"ชนบทไทย"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก"กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 85


หมายเหตุ เก็บความจากรายงานข่าวชื่อ "Rural Thais Find an Unaccustomed Power" ของ โธมัส ฟุลเลอร์ ในเว็บไซต์ "เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส" ขออุทิศงานแปลชิ้นนี้ให้แก่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ที่กรุงเทพฯ สื่อมวลชนกระแสหลักของไทย และ "ปฏิญญาบรูไน"


บ้านหนองตื่น จ.มหาสารคาม

หัวเข่าของเหล่าชาวนาหน้าตายิ้มแย้มจมหายลงไปในทุ่งนาข้าวอันเขียวขจีประดุจดังมรกต

บรรดาเด็กน้อยไม่ใส่เสื้อกำลังขี่ควายลุยปลักโคลน

นี่คือภาพสุดแสนโรแมนติกของ "ชนบทไทย"

ภาพโรแมนติกดังกล่าว มีปัญหาสำคัญอยู่ประการหนึ่ง ตามความเห็นของ "อุดม ทัพสุริย์" ชาวนาและปราชญ์ชาวบ้าน

นั่นคือ ภาพชนบทในอุดมคติแบบนั้นไม่มีอยู่จริงอีกแล้ว ณ ปัจจุบัน


ชาวบ้านที่บ้านหนองตื่น พร่ำบ่นถึงสปีดอันเชื่องช้าของสัญญาณอินเตอร์เน็ตประจำหมู่บ้าน มีจำนวนไม่น้อยพูดถึงช่วงเวลาที่ตนเองเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ

คนเหล่านี้มีไมล์สะสมในการเดินทางด้วยเครื่องบินไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบรรดาผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมสุดทันสมัย ณ กรุงเทพมหานคร

ชาวบ้านในบ้านหนองตื่น ยุคปัจจุบัน มีการศึกษาที่ดีขึ้น ออกเดินทางมากขึ้น มีความเคารพนบนอบต่อผู้มีอำนาจลดน้อยลง และแน่นอนที่สุด พวกเขามีความต้องการทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น

บ้านหนองตื่น อาจเป็นพื้นฐานหลักที่เราจะสามารถใช้ทำความเข้าใจวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อสัญญาประชาคมแบบเก่า - ซึ่งอำนาจจากกรุงเทพฯ และสถาบันทางการเมืองที่ครองอำนาจดังกล่าว ได้พึ่งพาอาศัย " ความยินยอมอันเงียบงัน " จากสังคมชนบทตลอดมา - พลันแตกสลายลง

ชาวบ้านในชนบทไม่ยอมรับระบบการเมืองแบบ "คุณพ่อรู้ดี" จาก กทม. อีกต่อไป


"ชาร์ลส์ คายส์" นักวิชาการชาวสหรัฐ ซึ่งเริ่มเดินทางเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่บ้านหนองตื่น เมื่อเกือบ 5 ทศวรรษก่อน ได้อธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไทย ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก " ชาวนาไปสู่ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง "

" มีความรู้สึกภายในสังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่สัญญาประชาคมแบบเดิมจะต้องถูกปรับประสานต่อรองเสียใหม่ " คายส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขามานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน แสดงทัศนะ



ความคิดเรื่องประชาธิปไตยได้ค่อยๆ ไหลซึมเข้าสู่หมู่บ้านในชนบทอย่างช้าๆ เดิมที ชาวบ้านรู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งในระดับชาติ และไม่ค่อยมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส. ที่พวกเขาลงคะแนนให้สักเท่าใดนัก

แต่เมื่อล่วงเข้าสู่คริสต์ทศวรรษ 1990 กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้เกิดขึ้น นำไปสู่ระบบการบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

"ขยัน ทัพธานี" นักการเมืองท้องถิ่นรุ่นแรกที่ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิก อบต. ของบ้านหนองตื่น จำได้ว่า เมื่อมีการเรียกประชุมชาวบ้านเกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการตัดถนนใหม่ ชาวบ้านเหล่านั้นต่างนั่งฟังอย่างเงียบเชียบเรียบร้อย รวมทั้งให้การสนับสนุนความคิดของผู้อาวุโส

วันเวลาผันผ่านไป เมื่องบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น เมื่อการประชุมต้องมีวาระว่าด้วยโครงการพัฒนาต่างๆ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างชาวบ้านต่างกลุ่มเพิ่มมากขึ้น นิสัยเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยมีก็เริ่มลดน้อยถอยหายลงไป

ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านหนองตื่นอย่างลุงอุดม ให้ข้อคิดว่า รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาสามารถกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนเองได้

รูปแบบการปกครองเช่นนี้ ส่งผลให้ชาวบ้านมีความรู้สึกใกล้ชิดคุ้นเคยกับการเมืองมากเสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งผู้แทนในระดับชาติ

"เราจึงเริ่มมีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้น " ลุงอุดมกล่าว



ความคาดหวังเหล่านั้นถูกตอบสนองบ้างบางส่วน ภายหลังการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2544 ของนายกรัฐมนตรีประชานิยม "ทักษิณ ชินวัตร" ที่มีฐานอำนาจอยู่ในสังคมชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

มหาเศรษฐีซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ผู้ต่อสู้เพื่อชนชั้นชาวนา ได้สร้างความนิยมให้แก่ตัวเองด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค และนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดการเงินงบประมาณดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง

เมื่อ พรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 ศาสตราจารย์คายส์สามารถจดจำความปลื้มปีติของชาวบ้านที่บ้านหนองตื่นได้เป็นอย่างดี

"เมื่อก่อน ชนชั้นนำมักเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าใครควรจะได้ขึ้นครองอำนาจ แต่ตอนนี้ พวกเราได้กลายมาเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวแทนพวกเขาแล้ว " คายส์กล่าวถึงคำพูดของชาวบ้านเมื่อราว 6 ปีก่อน

ความแตกแยกในสังคมไทยมักถูกอธิบายว่าเป็นการปะทะกันระหว่าง "ชนบท" กับ "เมือง" หรือ "คนรวย" กับ "คนจน" แต่ "วิลเลียม เคลาสเนอร์" นักวิชาการชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งศึกษาเรื่องชนบทไทยมามากกว่า 50 ปี กลับเห็นว่า นั่นเป็นคำอธิบายที่สลับซับซ้อนน้อยเกินไป

ตามความเห็นของเขา ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดในชีวิตของผู้คนชนบทไทย ก็คือ การที่ชาวบ้านถูก "ปลดปล่อย" หลังจาก "ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้นตามจารีต" ได้ถูกรื้อถอน, การที่พวกเขาได้ขยายขอบเขตความทะเยอทะยานของตนเอง และการที่พวกเขาหาญกล้าจะพูดถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจของตนเองออกมามากขึ้น



ตามสถิติ ประชากรมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศไทย มีแหล่งพำนักอยู่ในชนบท อย่างไรก็ตาม การอพยพย้ายถิ่นฐานในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทพร่าเลือนไป

"ทุกครอบครัวในชนบท จะต้องมีสมาชิกบางคนที่เดินทางไปทำงานใน กทม. หรือต่างประเทศ " "นิรันดร์ นามมนตรี" เจ้าของร้านขายของชำในบ้านหนองตื่น ผู้สร้างบ้านของตนเองด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของสามี ซึ่งเคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน กล่าว

แม้บ้านของนิรันดร์จะอยู่ไม่ห่างจากทุ่งนา แต่เธอกลับดำเนินชีวิตเป็นดังชายขอบของ "สังคมชนบท" แบบเดิมๆ

บ้านของเธอประกอบอาชีพเลี้ยงไก่เป็นครั้งคราว แต่สามีของนิรันดร์ ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงรถปิ๊กอัพส่วนตัวให้กลายเป็นรถโรงเรียน เพื่อใช้ประกอบอาชีพรับจ้างรับส่งเด็กๆ กลับว่าจ้างชาวบ้านคนอื่นมาเชือดไก่เหล่านั้น

ข้างฝ่ายลูกชายวัย 21 ปี ก็กำลังศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะประกอบอาชีพเป็น "โปรแกรมเมอร์" ในอนาคต โดยที่เขาไม่รู้จักวิธีการเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวข้าวแต่อย่างใด

"คนรุ่นใหม่ปลูกข้าวไม่เป็นแล้ว " นิรันดร์กล่าว และว่า "พวกเขาบอกว่างานอย่างนั้นมันทำให้ปวดหลัง "



ราว 5 ทศวรรษก่อน คายส์และเคลาส์เนอร์ เดินทางมาศึกษาหมู่บ้านในชนบทไทยที่มีความพอเพียงและแยกขาดตัวเองจากโลกภายนอก หมู่บ้านซึ่งบรรดาชาวนาทำการเกษตรแบบยังชีพ และไม่ค่อยได้ใช้เงิน เพราะพวกเขาสามารถพึ่งพาเพื่อนบ้านร่วมชุมชนในแทบทุกด้านของชีวิต

หมู่บ้านเหล่านั้นไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์

ชาวบ้านไม่กล้าท้าทายผู้มีอำนาจเหนือกว่า พวกเขาเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ พวกเขาตระหนักอย่างแรงกล้าในเรื่องความถูก-ความผิด อันเป็นคุณค่าซึ่งถูกค้ำจุนโดยความศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระสงฆ์

ทว่า ณ ปัจจุบัน บ้านหนองตื่นถูกเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ผ่านโทรทัศน์, วิทยุ ตลอดจนอินเตอร์เน็ต ชาวบ้านในหมู่บ้านได้เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ เป็นกิจวัตร และทุกครอบครัวก็มียานพาหนะประจำบ้านเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือ รถกระบะ

ปราชญ์ชาวบ้านอย่างลุงอุดมหลับตาลง เมื่อถูกถามถึงความเปลี่ยนแปลงในบ้านหนองตื่น

ชาวบ้านมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่มีใครทำงานให้ใครแบบฟรีๆ อีกแล้ว คนรุ่นใหม่มักจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และทุกครอบครัวก็มีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ปราชญ์ชาวบ้านแสดงทัศนะ และว่า "ผู้คนต้องการจะซื้อหาในสิ่งที่พวกเขาไม่มีกำลังมากพอจะจับจ่าย "

ลุงอุดมกล่าวต่อทั้งที่ยังหลับตาอยู่ว่า คนสมัยนี้มียางอายน้อยลง "พวกเขาไม่เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษอีกต่อไป "



ระยะห่างระหว่างรุ่นอายุของคน หรือระหว่าง "ชาวนา" กับ "ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง " ยังปรากฏเด่นชัดบน "มือ" ของชาวบ้านนิ้วมือด้านๆ ของลุงอุดม มีลักษณะบวมพอง จากการตรากตรำทำงานในฐานะชาวนามาหลายสิบปี ขณะที่คนรุ่นใหม่ กลับมีนิ้วมืออันเรียวเล็กและอ่อนนุ่มตามสไตล์คนเมือง

ปราชญ์แห่งบ้านหนองตื่นพูดต่อว่า แม้แต่ควายในหมู่บ้านก็ยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง พวกมันเคยถูกใช้งานหนักในทุ่งนา ต่อมาเมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวได้ตกทอดไปยังเครื่องจักรกล ควายในปัจจุบันจึงมีนิสัยดื้อด้าน ขี้เกียจ และอ้วน

ส่วนเด็กๆ ในหมู่บ้าน ที่มักใช้เวลาว่างยามไม่ต้องไปโรงเรียน ไปกับการดูทีวีหรือจับกลุ่มกันในร้านอินเตอร์เน็ต ก็ไม่นิยมขึ้นขี่หลังควายกันอีกแล้ว

"ผมไม่ได้เห็นภาพอย่างนั้นมานานมาก " ลุงอุดมกล่าวปิดท้าย



++

ไม่ใช่แค่ "3 กรกฎา"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก"กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 85


ในระยะเวลาก่อนหน้าวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ไม่นาน มีหนังสือน่าสนใจถูกตีพิมพ์ออกมา 2 เล่ม

ได้แก่ "สถาปนาสถาบันประชาชน" รวมบทกวีเล่มล่าสุดของ "ไม้หนึ่ง ก. กุนที" โดยหอนาฬิกา สำนักพิมพ์ และ "19-19 ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53" โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ผมยังไม่มี "สถาปนาสถาบันประชาชน" อยู่ในมือ ได้เห็นเพียงแค่ภาพปกทางเฟซบุ๊ก และได้อ่านเนื้อหาบางส่วนจากคำนำของหนังสือเล่มนี้

ส่วน "19-19" นั้น ผมมีอยู่ในมือและได้เปิดอ่านแบบคร่าวๆ ไปบ้างแล้ว

แม้ยังไม่ได้อ่านหนังสือทั้งคู่โดยสมบูรณ์ ทว่า ผมก็เห็นส่วนเสี้ยวที่น่าสนใจบางประการจากหนังสือเหล่านี้ โดยเฉพาะในส่วนคำนำซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกเขียนขึ้นโดย "ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์"

จึงขออนุญาตคัดลอกและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนของคำนำทั้ง 2 ชิ้น มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้



ในคำนำของ "สถาปนาสถาบันประชาชน" ศิโรตม์วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญญาชนของคนเสื้อแดง คือ นักร้องลูกทุ่ง หมอลำ นักจัดรายการวิทยุ นักไฮด์ปาร์ก พระนักเทศน์ กวี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ถูกถือว่าเป็น"ปัญญาชน" จนแทบไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก

พูดตรงไปตรงมา ก็คือ "ปัญญาชน" เหล่านี้ มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า "ปัญญาชน" ในความหมายกระแสหลัก

ปัญญาชนของคนเสื้อแดงจึงมีบทบาทในการเปลี่ยนความคิดของคนด้วยเครื่องมืออันจำกัดจำเขี่ย แต่ก็สามารถเผยแพร่ความคิดผ่านพื้นที่นอกการควบคุมของรัฐอย่าง เพลงลูกทุ่ง, กลอนลำ, คำเทศนา, วิทยุชุมชน, บทกวี, เพลงสามช่า, เว็บบอร์ด, เวทีปราศรัยตามหมู่บ้าน ฯลฯ

จนส่งผลลัพธ์ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์

"ไม้หนึ่ง ก. กุนที " ก็เป็นหนึ่งในปัญญาชนกลุ่มดังกล่าว

เขาเป็นกวีไม่กี่คนที่ได้โอกาสขึ้นไปร่ายบทกวีอย่างสม่ำเสมอบนเวทีปราศรัยซึ่งน่าจะมีจำนวนผู้ฟังมหาศาลมากที่สุดเวทีหนึ่งของประเทศนี้

เขาเป็นหนึ่งในคนที่พยายามรื้อฟื้นพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

เขาเป็นกวีที่ไม่รังเกียจการมีวิวาทะกับกวีรุ่นเก่าและรุ่นไล่เลี่ยกันตามวาระต่างๆ

และในที่สุด เขาก็กลายเป็นบุคคลที่ต้องหลีกเร้นไปภายหลังการสลายการชุมนุมครั้งล่าสุด

ศิโรตม์เห็นว่าบทกวีหลายชิ้นในหนังสือเล่มล่าสุดของไม้หนึ่ง เชื่อมโยงประชาธิปไตยเข้ากับความศิวิไลซ์ทางเศรษฐกิจ

เส้นแบ่งของโลกาภิวัตน์-ทุนนิยมเสรี-ประชาธิปไตย ดูแนบแน่นจนคล้ายไร้ความจำเป็นจะต้องแยกแยะสามสิ่งนี้ออกจากกัน

ยิ่งกว่านั้น หลายครั้งสารดังกล่าวถูกนำเสนอโดยศัพท์และไวยากรณ์แบบฝ่ายซ้ายโดยไม่มีท่าทีแคลงใจทุนนิยมตามติดมาด้วย

การใช้คำและโวหารของฝ่ายซ้าย แต่แยกคำและโวหารดังกล่าวออกจากความหมายแบบจารีต จึงแสดงบางอย่างเกี่ยวกับผู้เขียนและสถานภาพของฝ่ายซ้ายในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ

ไม้หนึ่ง รื้อถอนระบอบการปกครองในปัจจุบันให้เป็นเพียงผลของการโฆษณาชวนเชื่อ และการใช้กำลังบังคับของคณะชนชั้นนำหลงยุค

อย่างไรก็ตาม ศิโรตม์ตั้งคำถามท้าทายไว้อย่างน่าคิดว่า การทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นปีศาจในบทกวีของไม้หนึ่ง อาจมีประโยชน์ในการประณาม

แต่ก็มีต้นทุนด้านกลับที่ชวนให้เข้าใจว่าปีศาจเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทุกอย่างได้เช่นกัน (ไม่ต่างอะไรกับปีศาจ/ผีทักษิณ ? )



ในคำนำของ "19-19" ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ "คนเสื้อแดง" ผ่านภาพนิ่งจำนวนมาก นับตั้งแต่ช่วงการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษาคม 2553 ศิโรตม์ได้ชี้ให้เห็นประเด็นน่าขบคิดอยู่หลายข้อ อาทิ

เขากล่าวถึงพัฒนาการการประกอบสร้าง "สีแดง" ในฐานะ "อัตลักษณ์รวมหมู่ทางการเมือง" ว่า จุดเริ่มต้นของความเป็น "คนเสื้อแดง" นั้น คือ ปฏิกิริยาต่อต้าน "เสื้อเหลือง" ก่อนจะถูกยกระดับขึ้นเป็นความไม่พอใจต่อพลังที่อยู่เบื้องหลังพันธมิตรฯ ทั้งหมด

ปฏิบัติการสวมเสื้อแดงจึงเป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ ซึ่งมีนัยของการต่อต้านทางอุดมการณ์มาแต่ต้น

แต่สิ่งที่เราอาจสรุปได้ไม่ง่ายนักตามความเห็นของศิโรตม์ก็ได้แก่ ตกลงแล้ว แกนกลางของอุดมการณ์ "แดง" และระดับของการต่อต้านอุดมการณ์หลักของคนเสื้อแดงคืออะไร?

คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ใช้ภาษาฝ่ายซ้ายเพื่อต่อต้าน "อำมาตย์" แต่กลับไม่ค่อยตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม หรือกล่าวถึงปัญหาเรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมทางสังคม ( ศิโรตม์เห็นว่า คนเสื้อแดงทุ่มเทพลังงานไปที่การต่อต้านศัตรูมากกว่าการมีข้อเสนอทางเศรษฐกิจสังคมที่เด่นชัด )

นอกจากนี้ บุคลิกการต่อต้านอุดมการณ์หลักของฝ่ายแดงก็มีความกำกวมระหว่างการแสดงความไม่พอใจเฉยๆ, การประท้วง, ความต้องการลงโทษบุคคลบางคน หรือการมีวิสัยทัศน์เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันการเมืองทั้งหมด

ศิโรตม์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับยุทธวิธีการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ที่เขาระบุว่าเป็นความพยายามต่อสู้ด้วยวิธีสันติรูปแบบต่างๆ ที่เป็นไปได้ภายใต้กรอบการเมืองและกฎหมาย ณ เวลานั้นๆ

ตั้งแต่การชุมนุม เดินขบวน ลงประชามติ ลงเลือกตั้ง ปิดถนน เรื่อยไปจนถึงการสร้างความหมายของการต่อสู้ทางการเมืองให้แก่พิธีกรรมโบราณและสถานที่ทางประวัติศาสตร์บางแห่ง

เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน และอนุสาวรีย์ปราบกบฏพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งได้กลายมาเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมืองพื้นที่ใหม่ อย่างไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ คนเสื้อแดงได้สร้างสรรค์ "การต่อสู้เชิงสัญญะเพื่ออธิบายเรื่องที่โดยครรลองของการเมืองและกฎหมายในปัจจุบันแล้วพูดได้ยาก"

ศิโรตม์เขียนปิดท้ายคำนำของเขาว่า ความกล้าหาญท่ามกลางการถูกปราบใหญ่สองครั้งของคนเสื้อแดงในปี 2553 ทำให้คนไม่น้อยเห็นว่าปัญหาใจกลางของการเมืองไทยไม่ใช่มีแค่การออกแบบระบอบการเมืองโดยไม่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่

แต่คือสภาวะที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองดำรงอยู่บนระเบียบเหนือระบอบ ซึ่งระเบียบนั้นกลับกลายเป็นกลไกแบ่งแยกชุมชนการเมืองเป็นฝ่ายต่างๆ

ประชาธิปไตยของการปลดปล่อยความโกรธแค้นจึงหมายถึงการสร้าง "ความเป็นการเมืองแบบใหม่" ต่อระเบียบดังกล่าว

การต่อสู้ทางภาษาและวาทกรรมเพื่อล้มล้าง "อภิสิทธิ์" ในการอวดอ้างความเป็นตัวแทนเหนือคนทั้งหมดที่ถึงจุดสูงสุดครั้งใหม่หลังการปราบปรามในปี 2553 จะไม่อนุญาตให้ใครหยุดนาฬิกาประเทศได้ง่ายอย่างที่ผ่านมา

คำถามที่เผชิญหน้าสังคมไทยขณะนี้ไม่ใช่การทำให้มวลชนภักดีต่อระเบียบการเมืองเท่าที่เคยเป็นในอดีต แต่คือการที่ชนชั้นนำฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไม่ตระหนักว่า การทำลายประชาธิปไตยสร้างปัญหาใหม่ที่อันตรายต่อพวกเขาและระบอบทั้งหมด



ผมถามตัวเองว่า ถ้าได้อ่านหนังสือทั้ง 2 เล่ม ตั้งแต่ต้นจนจบ

ความคิดอะไรบ้างที่จะวิ่งอยู่ในหัวของตัวเอง

อย่างน้อยผมอาจตระหนักว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 5 ปี และจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้

มิได้เป็นเพียงผลลัพธ์มาจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

มิได้เป็นเพียงผลต่อเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมกลางเมืองเมื่อปี 2553

แต่เราอาจต้องย้อนกลับไปหาสาเหตุหลักอันเป็นปฐมบทของความขัดแย้งครั้งนี้ อย่างการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หากลองมองย้อนกลับหลังไปยังอดีต ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาในวันอาทิตย์นี้ ย่อมเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อรัฐประหารครั้งนั้น และกระบวนการทางการเมืองต่างๆ นานาที่มีความสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร

หากลองมองไปข้างหน้าสู่อนาคต เราก็อาจพบว่าความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องอาจไม่ได้ยุติลงง่ายๆ ด้วยผลการเลือกตั้ง และรัฐบาลชุดใหม่

ตราบใดที่ยังไม่มีการพูดคุยตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบระเบียบการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างจริงจัง


.