http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-30

เรื่องฉาวที่อังกฤษฯ, วอชิงตันเพาเวอร์เพลย์ฯ, รัฐสวัสดิการกับความเกลียดชังฯ

.

เรื่องฉาวที่อังกฤษ ยิ่งคุ้ยยิ่งลึก-ยิ่งสกปรก!
คอลัมน์ ต่างประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 102


กรณีที่หนังสือพิมพ์ในอังกฤษเรียกขานว่า "แฮกกิ้ง สแกนดัล" ในเวลานี้นั้น เริ่มต้นจากพฤติกรรมของสื่อมวลชนบางคน บางกลุ่ม ก็จริง แต่เริ่มลุกลามบานปลายออกไปมากมายขึ้นเรื่อยๆ

จากจุดเริ่มต้นที่ เดลี่ เมล์, เดลี่ มิร์เรอร์ ขยายวงกว้างไกลออกเป็น นิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ ของ นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ นิวส์ คอร์ป. 2 บริษัทในอาณาจักรสื่ออันยิ่งใหญ่ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ชาวออสเตรเลีย ลุกลามออกไปยังสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แต่ยังไม่ยุติลงแค่นั้น

หลังจากนั้นเรื่องพฤติกรรมฉาวของสื่อ ก็กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในกรมตำรวจ จากสถานีตำรวจเซอร์เรย์ บานปลายกลายเป็นเรื่องของการ "วางเฉย" ของบุคคลระดับผู้บัญชาการตำรวจ ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นประเด็นทางการเมืองที่เชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ใกล้ชิดกับตัวนายกรัฐมนตรี รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่เพิ่งอยู่ในตำแหน่งมาได้เพียงแค่ 15 เดือนเท่านั้น

ว่ากันด้วยว่า จากกรณีที่จำกัดอยู่แค่เรื่องการ "แฮ็ก" โทรศัพท์ กรณีนี้กำลังจะกลายเป็นคดียาเสพติดคดีใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับการลักลอบค้านำโคเคนจำนวน "ไม่จำกัด" เข้าไปยังอังกฤษอีกต่างหาก


เพื่อทำความเข้าใจเรื่องทั้งหมด ต้องจำชื่อ 3 ชื่อเอาไว้ในใจ หนึ่งคือ โจนาธาน รีส สองคือ สตีฟ วิททามอร์ และสุดท้ายคือ เกล็นน์ มัลแคร์

ทั้งหมดเป็นนักสืบเอกชนที่ถูกกล่าวหามายาวนานนักหนาว่า ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการ "ขาย" ข้อมูลที่ได้มาโดยผิดกฎหมายให้กับสื่อมวลชน

รีส ที่มีสำนักงานอยู่ในลอนดอนใต้ ตกเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อปี 1999 ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจสก็อตแลนยาร์ดเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวที่นำไปขายให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า "ไม่มีฉบับไหนจ่ายงามเท่า นิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ อีกแล้ว"

ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า นิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ จ่ายเงินให้กับ โจนาธาน รีส ถึงปีละ 150,000 ปอนด์ หรือราวๆ 4.5 ล้านบาท


วิททามอร์ ถูกเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารแห่งอังกฤษบุกเข้าตรวจค้นสำนักงานเมื่อปี 2003 ยึดเอาไฟล์ข้อมูลจำนวนมากที่กลายเป็นรายงานว่าด้วยพฤติกรรม "การนำข้อมูลลับส่วนบุคคลไปจำหน่ายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" จากคณะกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารแห่งอังกฤษในปี 2006

แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานอื่นใด นำรายงานชิ้นนั้นมาดำเนินการต่อ ทำให้คณะกรรมการต้องออกมาเปิดโปงรายชื่อของสิ่งพิมพ์ 31 ฉบับ "ที่มีหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า" ซื้อข้อมูลจากวิททามอร์

ในรายชื่อของ "ผู้ซื้อ" หรือ "ผู้ว่าจ้าง" ดังกล่าวคือ ชื่อของผู้สื่อข่าว 58 คนของเดลี่ เมล์ พร้อมคำสั่งซื้อ 952 คำสั่ง นิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ กลับรั้งอยู่ในลำดับที่ 5 ของรายชื่อ มีพนักงาน 19 คนสั่งซื้อข้อมูลรวม 152 รายการ


เกลนน์ มัลแคร์ อดีตนักเตะอาชีพที่ผันตัวมาเป็นนักสืบเอกชน ถูกศาลตัดสินจำคุกไปเมื่อปี 2007 พร้อมกับผู้สื่อข่าวของ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ อีกคน ฐานแฮ็กเข้าไปเพื่อดึงข้อมูลออกจากเจ้าหน้าที่ในราชสำนักพระราชวังบักกิ้งแฮม

ไฟล์ข้อมูล 11,000 ชิ้นที่เจ้าหน้าที่ยึดมาได้นั้นอยู่ในครอบครองของสก็อตแลนด์ยาร์ดมาตั้งแต่ปี 2006 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอังกฤษที่เพิ่งลาออกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสาเหตุโดยตรงมาจากการละเลย ไม่ใส่ใจต่อหลักฐานทั้งหมดที่อยู่ในมือชิ้นนี้



นี่หากไม่บังเกิดกรณี "มิลลี่ ดาวเลอร์" เด็กสาวที่หายสาบสูญไป และ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ ว่าจ้างให้มีการเจาะเข้าไปในระบบโทรศัพท์มือถือของเธอ ก่อนที่จะลบข้อมูลในโทรศัพท์ดังกล่าวทิ้ง เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ข่าว "เอ็กซ์คลูซีฟ" จนเป็นเหตุให้ครอบครัวเข้าใจผิด เชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า ดาวเลอร์ ยังมีชีวิตอยู่ เกิดขึ้น ยังไม่แน่ใจนักว่าสก็อตแลนด์ยาร์ดจะหันมาสนใจหรือไม่

ไม่เพียงไม่ใส่ใจในหลักฐานที่มีอยู่ในมือ แล้วทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับมัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเซอร์เรย์ ยังออกมาให้การประหนึ่งปกป้องการกระทำของผู้สื่อข่าว เตรียมผลักดันให้เรื่องนี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของการเปิดเผยกรณีที่ "เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" แทนที่จะจับกุมผู้สื่อข่าวและดำเนินคดีกับสิ่งพิมพ์ นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง

ที่หนักหนาสาหัสกว่าก็คือ ทำไมถึงไม่แจ้งเรื่องต่อครอบครัว การปล่อยให้ครอบครัวผู้รอคอยเข้าใจผิดๆ อยู่อย่างนั้น อำมหิตเลือดเย็นอย่างยิ่ง

ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามทุกกรณีที่เห็นได้ชัดว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นและจับกุมคุมขังผู้สื่อข่าวหลายๆ คนไปตั้งแต่เมื่อปี 1999 คงมีเหยื่อของคนหิวเงินพวกนี้ลดน้อยลงไปกว่านี้เยอะ


ในทัศนะของชาวอังกฤษในเวลานี้ สิ่งที่พวกเขากังขามากกว่าพฤติกรรมของสื่อบางกลุ่ม ก็คือ พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย และนั่นทำให้พฤติกรรมฉาวครั้งนี้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับแวดวงตำรวจเมืองผู้ดีติดตามมา

โจนาธาน รีส เอง เคยแม้แต่กระทั่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยใช้ขวานฟันคู่นอนตัวเองเสียชีวิตเมื่อปี 1987 คดีที่ยังคงปิดไม่ลงในการดูแลของสก็อตแลนด์ยาร์ด เชื่อกันอย่างไม่เป็นทางการในตอนนั้นว่า คู่นอนรายนั้นจำเป็นต้องตายเพราะกำลังจะเปิดโปงขบวนการค้าโคเคนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน

รีสเอง เคยถูกคุมขังในเวลาต่อมาฐานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจขี้ฉ้อรายหนึ่งซึ่งถูกจับพร้อมๆ กัน ยัดหลักฐานโคเคนให้กับสตรีผู้หนึ่ง


ฌอน ฮอเร่ ผู้สื่อข่าวของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ ที่ออกมาเปิดโปงกรณี มิลลี่ ดาวเลอร์ เคยบอกเล่าเอาไว้ว่า ที่ "โต๊ะข่าว" ของสำนักงานของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ฉบับนี้ มีการเสพโคเคนกันให้ควั่ก

จนไม่มีใครเสียดายแม้แต่น้อยเมื่อจำต้องรูดม่านปิดฉากลง!!



++

วอชิงตัน เพาเวอร์ เพลย์ เดิมพันสูง-ผลกระทบสูง
คอลัมน์ ต่างประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 102


การเมืองในละแวกวอชิงตันเวลานี้สนุกยิ่งกว่าละครระดับมหากาพย์หลายเรื่องรวมกัน เป็นเกม "เพาเวอร์ เพลย์" ที่งัดทุกสิ่งทุกอย่างออกมาละเลงกันชนิด ช็อตต่อช็อต คัตต่อคัต แบบไม่ลดราวาศอกกันเลยทีเดียว

สนุกแน่นอน ถ้าหากว่าทั้งหมดเป็นเพียงบทละครหรือบทภาพยนตร์สักเรื่อง ปัญหาก็คือ มันไม่ใช่ละคร เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจริงเสียยิ่งกว่าจริง ที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน เพราะสภาวะเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงถึงขีดสุดแบบนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

ถึงแม้จะเคยมีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ลงเอยได้ถอนหายใจโล่งอกกันได้นานก่อนหน้า "เส้นตาย" มากโขอยู่ทุกครั้งไป

ทิโมธี ไกต์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกาถึงกับออกปากว่า ไม่นึกไม่ฝันเหมือนกันว่า ทุกฝ่ายจะพากันมากองกันอยู่ริมขอบเหวเหมือนกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้


เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นที่ "อำนาจ" ในการก่อหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาจะหมดลงภายในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ เพราะอำนาจในการก่อหนี้เดิมที่สภาคองเกรสมอบมาให้นั้นถูกใช้เต็มเพดานไปแล้ว จะก่อหนี้ใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในประเทศหรือนอกประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน อย่างไร ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้รีพับลิกันมีเสียงข้างมากอยู่ กับสภาสูง หรือ ซีเนต ที่ตอนนี้เดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่

ดังนั้น โดยธรรมชาติของการเมือง ส.ส.รีพับลิกันก็ต้องใช้โอกาส "ทอง" นี้ บีบบังคับให้ รัฐบาลจากพรรคเดโมแครต "ยอมรับ" นโยบายของตนเองไปใช้-นั่นคือการปรับลดรายจ่ายภาครัฐลง แล้วก็เป็นธรรมชาติทางการเมืองเช่นกันที่เดโมแครตเองก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้แผนขยายเพดานหนี้ของตนเองคลอดผ่านสภาออกมาได้โดยที่ยัง "อยู่ในร่องในรอย" ของนโยบายที่ตนประกาศใช้และรณรงค์หาเสียงมา นั่นคือพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดและให้ความช่วยเหลือต่อชนชั้นกลางและล่างให้มากที่สุดด้วยโครงการสารพัดประกันทั้งหลาย

เขาจึงเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดว่า ควรตัดทอนงบประมาณรายจ่ายภาครัฐลงเท่าใด และจะตัดทอนเอามาจากไหนกันบ้าง


เรื่องยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อปีหน้า 2012 ให้บังเอิญเป็นปีเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา รีพับลิกัน ต้องการใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในทางการเมืองให้มากที่สุด ดำรงสถานะได้เปรียบเหนือรัฐบาลให้มากที่สุด จึงเสนอขยายเพดานก่อหนี้ "ชั่วคราว" เพื่อให้แน่ใจว่าแนวทางของตนถูกนำไปปฏิบัติจริง

เดโมแครตเชื่อว่าการทำอย่างนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในความรู้สึกของตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังเหมือนตกเป็นเบี้ยล่างทางการเมือง จึงต้องการให้ไปถกกันใหม่อีกทีหลังเลือกตั้งเสร็จแล้วเป็นอย่างน้อย

เลยมาเถียงกันเรื่องระยะเวลาของการขยายเพดานหนี้อีกประเด็นหนึ่ง

ทั้งหมดนั่นเป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นอยู่หน้าฉาก หลังฉากที่ใหญ่โตกว่าก็คือสังคมอเมริกัน ซึ่งตกอยู่ในสภาพ "แบ่งแยกทางความคิด" สูงมาก แหลมคมมากกว่าทุกยุคทุกสมัย

ที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่รัฐบาลอเมริกันเตลิดเปิดเปิงไปทางหนึ่ง กลไกทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้ "รัฐสภา" เป็นผู้ดึงรัฐบาลกลับมาเข้าที่เข้าทาง โดยอาศัยการรวมหัวกันโหวตแบบไม่ต้องยึดแนวทางพรรค แต่ยึดความถูกต้องเป็นหลัก

เคยมีเช่นกันที่ รัฐบาลและรัฐสภา ยึดมั่นแต่ในแนวทางพรรค หัวเด็ดตีนขาดก็ต้องว่าไปตามพรรคใครพรรคมัน การเมืองอเมริกันก็มี "มติมหาชน" ที่สะท้อนออกมาจากการทำโพล เป็นเครื่องบีบคั้น กดดันให้รัฐสภาและ/หรือรัฐบาล ต้องดำเนินการไปตามแนวทางหนึ่งแนวทางใดที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ "มติมหาชน" ก็แตกออกเป็นเสี่ยงตามแนวทางของพรรคไปอีกเหมือนกันจนไม่เกิดแรงกดดันมากพอ หรือทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหยิบไปอ้างอิงได้อย่างทรงพลังพอในการเดินตามแนวทางการเมืองของตนเอง



ผลโพลของ พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ สำรวจเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง ผลออกมา 40 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า "จำเป็นอย่างยิ่ง" ที่ต้องขยายเพดานหนี้ให้ทัน 2 สิงหาคม ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดของเดโมแครต แต่มีอีก 39 เปอร์เซ็นต์ มากพอๆ กันในเชิงสถิติที่เห็นว่า "ไม่จำเป็น" เพราะไม่ขยายก็ไม่น่าจะเกิดอะไรขึ้นใหญ่โต อันเป็นแนวทางของรีพับลิกันเป๊ะ

เกจิทางการเมืองอเมริกันชี้ว่า การเกิดขึ้นของขบวนการ ที ปาร์ตี้ และการได้รับชัยชนะเข้ามามหาศาลในการเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมาของตัวแทนที่ขบวนการ ที ปาร์ตี้ หนุนหลัง ทำให้ รีพับลิกันสวิงออกไปทางขวาสุดโต่งมากขึ้น แล้วก็ส่งผลให้ เดโมแครตต้องสวิงไปทางซ้ายสุดโต่งมากขึ้นเช่นกัน เพื่อรักษาฐานเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้าไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แนวทางเสรีนิยมสุดๆ กับอนุรักษนิยมสุดๆ ของทั้งสองขั้วนั้น เดินไปด้วยกันไม่ได้แน่นอน นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม เกมชิงอำนาจว่าด้วยเพดานหนี้หนนี้ถึงไม่ลงเอยเสียที


คำถามสำคัญก็คือ แล้วถ้าไม่มีการขยายเพดานหนี้จริงๆ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง? นักวิเคราะห์ที่เป็นกลางๆ ฟันธงว่ามี และอาจจะหนักหนาสาหัสกว่าที่หลายคนในสหรัฐอเมริกาคิด เพราะสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ อุปมาได้กับคนป่วยหนักที่เพิ่งฟื้นจากโคม่ามาหมาดๆ เท่านั้นเอง

นอกเหนือจากการที่รัฐบาลอเมริกันจะไม่มีเงินใช้แล้ว สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลงแน่นอนเป็นลำดับแรกสุด นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมราคาทองคำเมื่อต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาถึงทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะคนที่ถือดอลลาร์อยู่เทขายออกมาเพื่อไปถือทองคำที่แน่นอนกว่ามากแล้วในเวลานี้แทน

ที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาจะสูงขึ้น ที่สูงขึ้นเพราะพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่เดิมมีหลักประกันมั่นคงอย่างยิ่งและจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยน้อยอย่างยิ่ง กลายเป็นไม่มั่นคงขึ้นมาและทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ถึงจะจูงใจผู้ซื้อได้ นั่นทำให้ต้นทุนในการปล่อยกู้ในประเทศสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวตามไปด้วย

ปีงบประมาณใหม่นี้คาดกันว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะทำงบประมาณแบบต้องกู้หนี้สูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ เอาแค่หาเงินมาจ่ายดอกก็น่าเหนื่อยแทนแล้ว ในขณะเดียวกัน การปล่อยกู้ในระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาก็จะชะลอช้าลง หรือปล่อยยากขึ้น

รัฐบาล หาเงินจากการกู้ไม่ได้ก็ต้องจำเป็นอยู่ดีที่จะต้อง "ขึ้นภาษี" และ "ปรับลดรายจ่าย" ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปคู่กัน เพื่อหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงตามไปอีก

ในอีกด้านหนึ่ง ดอกเบี้ยแพง ทำให้ต้องผ่อนบ้านแพงขึ้น ผ่อนบัตรเครดิตแพงขึ้น ผู้คนก็จะเริ่มใช้จ่ายน้อยลง กระทบต่อการบริโภคตามมา ซึ่งว่ากันว่าจะเร็วและรุนแรงอย่างยิ่ง ผลก็คือ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเสี่ยงต่อการตกกลับไปสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นกว่าครั้งไหนๆ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้สถานะทางเศรษฐกิจการเงินในเวทีระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาสูญเสียไปเท่านั้น ยังส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงตามไปด้วย ไม่มากก็น้อย !



++

รัฐสวัสดิการกับความเกลียดชังมุสลิม เหตุแห่งโศกนาฏกรรม"นอร์เวย์"
คอลัมน์ ต่างประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 103


หลายต่อหลายคนรู้จักนอร์เวย์ในนามของ "ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน"

บ้างก็รู้จักว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่า "ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก"

แต่บางคนก็รู้จักกันว่านอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก

ไม่เคยมีใครคาดคิดว่า ประเทศที่แสนจะดูดีในกลุ่มสแกนดิเนเวียแห่งนี้ และดูปลอดภัยที่สุดแห่งนี้ จะตกเป็นเป้าของการก่อเหตุรุนแรง ด้วยฝีมือของคนในประเทศเดียวกันเองเสียด้วย

โศกนาฏกรรมที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่เหตุระเบิดรถไฟในกรุงมาดริด ประเทศสเปน (เมื่อปี 2547) เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม

มีรายงานเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณพื้นที่ในเขตที่ทำการรัฐบาลและที่ตั้งของหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ใจกลางกรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ มีรายงานผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บหลายราย

แต่ยังไม่ทันที่ข่าวเรื่องการระเบิดจะคลี่คลาย อีกเกือบ 2 ชั่วโมงต่อมา ก็มีรายงานว่า ที่เกาะอูโทยา ห่างจากกรุงออสโลไม่เท่าไหร่ เกิดเหตุคนแต่งกายเป็นชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ กราดยิงผู้คนที่กำลังเข้าค่ายเยาวชนกันอยู่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 68 ราย ส่วนผู้ก่อเหตุถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด


แรกเริ่มที่ยังไม่รู้ที่มาที่ไป หลายคนพุ่งเป้าชี้นิ้วไปที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั้งหลาย ว่าน่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ เพราะแม้ว่านอร์เวย์จะเป็นประเทศที่สงบสุข หากแต่ก็มีส่วนร่วมในการส่งกำลังทหารเข้าไปรบกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ทั้งในอัฟกานิสถานและลิเบีย

แต่เมื่อตรวจสอบแน่ชัดแล้ว กลับทำให้หลายคนถึงกับอึ้ง เพราะคนที่ก่อเหตุเป็นชาวนอร์เวย์ด้วยกันเอง



ผู้ก่อเหตุชื่อ นายอันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก อายุ 32 ปี ยอมรับว่าเป็นผู้ลงมือคนเดียวในทั้งสองเหตุการณ์ โดยหลังจากวางระเบิดที่กรุงออสโลแล้ว ก็เดินทางไปยังเกาะอูโทยาด้วยการขึ้นเรือเฟอร์รี่ไป เพื่อสังหารผู้คนอีกจำนวนมากอย่างเหี้ยมโหดด้วยการเรียกให้ทุกคนมารวมตัวกันโดยอ้างว่าตัวเองเป็นตำรวจเพื่อมาแจ้งข่าวเรื่องเหตุระเบิดที่กรุงออสโล ก่อนจะกราดยิงทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า และยังมีการตรวจสอบดูว่าใครยังไม่ตายหรือแกล้งตาย ก็จะเข้าไปจ่อยิงซ้ำให้ตาย

จากการตรวจสอบประวัติของนายเบรวิก พบว่า เป็นพวกหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัด ประเภทชาตินิยม ที่เกลียดชังและต่อต้านพวกมุสลิม และมีเป้าหมายในการโจมตีคือรัฐบาลเสรีนิยมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เยนส์ สตอลเทนเบิร์ก

โดยเบรวิกเป็นชาวคริสเตียน ที่มีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม และชื่นชอบหนังสือ "1984" ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียนนิยายล้อเลียนการเมืองเรื่อง "การเมืองเรื่องของสัตว์" (Animal Farm) และหนังสือ "The Prince" (เจ้าผู้ปกครอง) ของมาเคียเวลลี

เบรวิก ยังได้เขียนเรื่องราวบนอินเตอร์เน็ตว่าด้วยความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมอพยพที่มีความยาวถึง 1,500 หน้า ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมการ "ปฏิบัติการสังหาร" เอาไว้ตั้งแต่ปี 2552 และยังมีคู่มือเกี่ยวกับวิธีการประกอบระเบิด

บางส่วนก็เป็นการระบายความโกรธแค้นเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง และอธิบายถึงรายละเอียดว่าเหตุใดจึงมีทัศนคติต่อต้านมุสลิม อีกทั้งการที่เขาจัดตั้งธุรกิจเหมืองแร่และทำฟาร์มก็เพื่อบังหน้าเตรียมสำหรับการก่อเหตุรุนแรง

โดยระบุว่า "เหตุผลที่ตัดสินใจทำครั้งนี้ก็เพื่อสร้างข้ออ้างที่เชื่อถือได้ในกรณีที่ผมถูกจับกุมในข้อหาซื้อและลักลอบนำระเบิดเข้าประเทศหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบระเบิด สิ่งเหล่านี้เป็นสารเคมีที่ใช้ทำปุ๋ยเคมี"

และข้อความที่ว่า "ผมจะต้องถูกตราหน้าว่าเป็นสัตว์ประหลาด (นาซี) ที่โหดร้ายที่สุดที่เคยมีการพบเจอนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา"

ซึ่งในเอกสารดังกล่าวยังมีการกล่าวถึงเพื่อนๆ และรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการที่ต้องดื่มไวน์ราคาแพงก่อนหน้าที่จะก่อเหตุรุนแรงด้วย

เบรวิก ยังได้บอกถึงความเป็นตัวตนของตัวเองว่า สนใจและชื่นชอบเกมคอมพิวเตอร์แนวสงคราม ไม่ว่าจะเป็นเวิลด์ ออฟ วอร์คราฟต์ และโมเดิร์น วอร์แฟร์ 2

ขณะที่ในทวิตเตอร์ของเบรวิก มีข้อความเพียง 1 ข้อความเขียนไว้ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม อ้างคำกล่าวของ จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่ระบุว่า "บุคคลที่มีศรัทธาเพียงคนเดียวเท่ากับกองทัพคน 100,000 ที่มีเพียงแค่ความสนใจ"



ในการขึ้นให้การต่อศาลของนายเบรวิก เขาบอกว่า พร้อมที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในคุก และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมประกาศว่า สิ่งที่ตนได้ทำไปนั้นเป็นความพยายามที่จะปกป้องยุโรปจากการถูกพวกมุสลิมครอบงำ และต้องการจะเรียกร้องให้ทุกคนรู้ว่าการสังหารผู้คนครั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้ตื่นขึ้นมารับรู้ถึงปัญหา

นอกจากเบรวิกจะเป็นพวกต่อต้านมุสลิมแล้ว กลุ่มเฝ้าระวังต่อต้านฟาสซิสต์ยังระบุว่า เบรวิกยังเป็นสมาชิกของเว็บบอร์ดของกลุ่มนีโอนาซีของสวีเดน ที่ชื่อว่านอร์ดิสก์อีกด้วย ซึ่งเว็บบอร์ดนี้จะมีการตั้งหัวข้อในการถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันในหลายประเด็น ตั้งแต่แนวดนตรี ไปจนถึงยุทธศาสตร์ทางการเมืองสำหรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ล้มเหลว

แนวความคิดในลักษณะเดียวกับเบรวิกที่ต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านมุสลิมนั้น ดูเหมือนจะมีเพิ่มมากขึ้นในนอร์เวย์ รวมทั้งในหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้อพยพจากหลายเชื้อชาติเข้าไปอยู่ในนอร์เวย์เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งในอีกหลายประเทศของยุโรป

หากแต่ปัญหาเรื่องผู้อพยพนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่หนักหนาสำหรับนอร์เวย์ แต่กลับสร้างความไม่พอใจต่อชาวนอร์เวย์บางส่วนที่เป็นพวกขวาจัดชาตินิยม ที่ไม่พอใจกับพวกคนแปลกหน้าที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ทำกินในบ้านเกิดของตัวเอง

ในขณะที่พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเอง มีนโยบายสนับสนุนความเป็นรัฐสวัสดิการ ที่เกื้อหนุนประชาชนในทุกชนชั้น และเปิดรับผู้อพยพจากนานาประเทศเข้ามาแม้ว่าจะเป็นภาระก็ตาม แต่ผู้อพยพเหล่านี้ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากสวัสดิการเช่นกัน เพียงแต่อาจจะน้อยกว่าชาวนอร์เวย์ เป็นเหตุให้คนเหล่านี้ต้องขวนขวายเลี้ยงชีพตัวเองมากขึ้น จนกลายเป็นคนขยันและมั่งคั่งมากขึ้น

เรื่องนี้นี่เองที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวนอร์เวย์บางกลุ่มที่เห็นว่า ผู้อพยพเหล่านี้กำลังแย่งสวัสดิการจากเงินภาษีของตัวเองไป

ยิ่งเมื่อได้เห็นว่าชาวนอร์เวย์ด้วยกันเริ่มตกต่ำลง ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการคลั่งเชื้อชาติอย่างรุนแรง และเร่งความนิยมให้กับพรรคที่เป็นฝ่ายขวาจัด ซึ่งประกาศจะลดทอนนโยบายสวัสดิการและปิดประเทศไม่ยอมรับผู้อพยพชาวต่างชาติ

ในยามที่นอร์เวย์เองยังไม่มีองค์กรหรือพรรคการเมืองที่เป็นขวาจัดมาต้านกับนโยบายรัฐสวัสดิการของรัฐบาลได้ การแสดงออกด้วยความรุนแรงจึงสามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการถูกกดดันโดยไม่มีทางออกมาตลอด

สภาพเช่นเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศของยุโรป ที่ประชาชนเริ่มรู้สึกเครียดกับสถานการณ์รุกรานอย่างเงียบๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่สามารถทำอะไรได้

ที่สุดแล้ว จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่หลายคนไม่คาดฝันว่า คนชาติเดียวกันจะลุกขึ้นมาประท้วงคนชาติเดียวกัน ด้วยการ "ฆ่า" คนชาติเดียวกัน !



.