http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-15

ถกนโยบาย..ด้วยการวิจัยฯ โดย ดิเรก และ นโยบายสาธารณะที่ดีฯ โดย มิ่งสรรพ์

.

ถกนโยบาย...ด้วยการวิจัยและลายลักษณ์
โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:35:00 น.


การหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม) มีพัฒนาการใหม่ประการหนึ่ง คือการประกาศนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เน้นด้านเศรษฐกิจและปากท้องอย่างชัดเจน ต่างกับสไตล์การหาเสียงในสมัยก่อนที่พรรคการเมืองจะใช้ยุทธศาสตร์ประกาศว่า "พวกผมเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต อาสาเข้ามารับใช้ประชาชน" สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และความคาดหมายทางทฤษฎี (แบบจำลอง median voter)

ในบรรดานโยบายที่ประกาศออกไปนั้น ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน นับเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจยิ่ง

เพราะว่าส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อลูกจ้างหลายล้านคน ต่อผู้ประกอบการนับหมื่นนับแสนราย ผลกระทบต่อราคาสินค้า..จึงเป็นข้อถกในวงกว้าง และเป็นข้อวิวาทะระหว่างฝ่ายเสนอกับฝ่ายค้าน

ผู้เขียนไม่มีเจตนาจะร่วมวงไพบูลย์ถกนโยบายค่าจ้าง 300 บาท แต่ต้องการเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีคิด
-ตรรกะของทั้งสองฝ่าย

พร้อมกับเสนอมาตรฐานใหม่ของการถกนโยบายสาธารณะ โดยเสนอว่าแทนที่จะเถียงกันด้วยวิธีมุขปาฐะ น่าจะทำวิจัยควบคู่กัน พร้อมกับเปิดเผยผลวิจัยอย่างเป็นลายลักษณ์

คนไทยทุกรุ่นทุกวัยจะได้เรียนรู้เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ จะเป็นพัฒนาการใหม่เชิงความรู้ที่น่ายินดีต้อนรับ

นโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้ผล เป็นวิธีคิดแบบ "เปลี่ยนแปลงใหญ่" เป็นการคิดแบบมีวิสัยทัศน์ที่กำหนดจากฝ่ายการเมือง (ไม่ใช่ฝ่ายราชการคิดอย่างแน่นอน ซึ่งมักจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 5-10%) จึงสะใจหรือโดนใจผู้ใช้แรงงานมากกว่า

แต่นั่นก็เป็นความเสี่ยงของพรรคการเมืองว่า จะทำได้หรือไม่ เพราะว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้สั่งการโดยรัฐบาล แต่อยู่ภายใต้ระบบไตรภาคี

การผลักดันให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้นมีเหตุผลสนับสนุน ประการแรก เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้พอดำรงชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ซึ่งความจริงน่าเห็นใจ ทำงาน 24 วันต่อเดือน เท่ากับมีรายได้ 7,200 บาทต่อเดือน ไม่มาก .."พอเพียง" หรือเปล่าก็ยังน่าสงสัย ?

ประการที่สอง การที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนผู้มีรายได้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ย่อมมีเหตุผลสมควรอย่างยิ่ง

เป็นการเพิ่มพลังให้กับคนเล็กคนน้อย และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ฝ่ายคัดค้านมิให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีเหตุผลเช่นเดียวกัน หลักๆ คือ ก) ต้นทุนจะสูงขึ้น ข) ผู้ประกอบธุรกิจเจ๊งหรืออยู่ไม่ได้ ค) เติมเชื้อเพลิงภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภค

ข้ออ้างเหล่านี้ฟังผิวเผินดูเหมือนจะใช่ แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่ มีข้ออ่อนด้อยที่โต้แย้งได้



ขออ้างอิงคำกล่าวของประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ความว่า

"การปรับค่าจ้างครั้งที่ผ่านมา ก็มีการปรับค่าจ้างในอัตราที่สูงอยู่แล้ว ถ้าหากมีการปรับค่าจ้างถึง 300 บาท เท่ากับจะมีการปรับค่าจ้างสูงขึ้นจากเดิมถึง 42% การที่ภาคธุรกิจจะทำกำไรให้ได้ 5-10% ในภาวะตลาดและเศรษฐกิจทุกวันนี้ ก็ค่อนข้างยากอยู่แล้ว หากต้นทุนสูงขึ้นถึง 42% และราคาที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก็มีโอกาสในการปรับราคาขึ้นได้ยาก ส่งผลให้สถานประกอบการขาดทุนอย่างแน่นอน"

วิธีคิดเช่นนี้คลาดเคลื่อน ตรรกะผิด และไม่มีพลัง

ขอนำมาอภิปรายดังนี้

หนึ่ง การที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 42% มิได้แปลว่า ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 42% ตามไปด้วย เพราะว่าหน่วยธุรกิจส่วนใหญ่นั้นจ่ายค่าจ้างสูงกว่า "ค่าจ้างขั้นต่ำ" อยู่แล้ว ต้นทุนจึงไม่เพิ่มขึ้น (ยกเว้นเสียแต่จะคำนึงผลกระทบระยะยาว นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำกระทบราคาปัจจัยการผลิตอื่นๆ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งเกินกว่าจะกล่าวในบทนี้)


สอง ต้นทุนในส่วนค่าจ้างและเงินเดือนนั้น แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม สมมติว่าค่าเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 40 ในส่วนนี้ยังต้องแยกย่อยต่อเป็นเงินเดือนค่าจ้างระดับสูง ระดับปานกลาง และระดับต่ำ กลุ่มจ้างแรงงานราคาถูก เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ราว 30%

ดังนั้น ต้นทุนการผลิตที่จ้างแรงงานขั้นต่ำเพียงร้อยละ 12 ถ้าหากจะต้องเพิ่มขึ้น 42% ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 17% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เท่านั้น


สาม การที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหรือธุรกิจเจ๊ง ไม่สมควรเป็นเหตุผลที่สรุปว่า ดังนั้น "จึงไม่ต้องปรับค่าจ้าง"

การอยู่รอดของฝ่ายธุรกิจไม่ควรจะต้องขึ้นอยู่กับตรรกะว่า ผู้ใช้แรงงานสมควรถูกกดค่าจ้าง เพราะมีทางเลือกที่ "จะไม่เจ๊ง" หลายทางด้วยกัน

เช่น นายจ้างหาหนทางผลิตภาพการทำงาน ใช้เครื่องจักร เครื่องมือ หรือพัฒนาฝีมือแรงงาน ผลิตได้จำนวนมากขึ้นหรือปรับคุณภาพสินค้าสูงขึ้น ได้ราคาสูงขึ้น ถ้าทำได้เช่นนี้ก็อยู่ด้วยกันได้ คือ "ได้-ได้"

นอกจากนี้นายจ้างยังมีหนทางเลือกอื่น ตัวอย่างเช่น ย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ชายแดน อาศัยแรงงานต่างชาติ เช่นเดียวกับที่ธุรกิจต่างชาติย้ายฐานมาอยู่ในเมืองไทย เพราะว่าค่าจ้างในบ้านเขา แพงกว่าค่าจ้างแรงงานในบ้านเรา ขออ้างอิงตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การสำรวจแรงงาน (ปี 2551) ยืนยันว่า การจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน (daily wage) นั้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 จากจำนวนเต็ม

ผู้ใช้แรงงานที่ถูกสุ่มตัวอย่าง 54,061 คน เงินเดือนเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้เท่ากับ 4,420 บาทต่อเดือน (รวมการทำงานล่วงเวลา) คำนวณออกมาเป็นค่าจ้างรายวันเท่ากับ 184 บาทต่อวัน (หากปรับตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน โดยใช้อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 5 ต่อปี เท่ากับ 211 บาทต่อวันโดยประมาณ)


รัฐบาลใหม่จะผลักดันให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 300 บาท ได้สำเร็จหรือไม่? เป็นเรื่องน่าติดตามต่อไป

แต่นี่คือ เดิมพันอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลใหม่ ถ้าหากว่าทำได้ (หรือไม่ได้แต่ว่าใกล้เคียงกับ 300 บาท) ดัชนีความน่าเชื่อถือของรัฐบาลย่อมสูงขึ้นแน่นอน จะประทับใจผู้ใช้แรงงานไปอีกนาน เปรียบเทียบได้กับประชาชนไทยส่วนใหญ่ประทับใจใน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน

การทำได้ดังที่พูดเอาไว้ (deliverable) เป็นคุณลักษณะของพรรคการเมืองสมัยใหม่

ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศนโยบายประชานิยม ซึ่งทุกพรรคการเมืองอาจจะใช้เทคนิคเช่นนี้เหมือนๆ กัน คือ พูด พูด พูด ... โดยไม่ต้องไตร่ตรองหรือผ่านการวิจัย

การประกาศนโยบายประชานิยมและ "ทำได้" ต่างหาก จึงเป็นความแตกต่างเชิงประจักษ์ได้ เพิ่มเครดิตและส่งผลดีต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า

เนื่องจากในเกมนี้มีผู้ได้-ผู้เสีย ผู้เขียนสันนิษฐานว่ารัฐบาลใหม่คงหาเทคนิคและวิทยายุทธขั้นสูง เพื่อโน้มน้าวให้ฝ่ายนายจ้างยอมรับ โดยเปลี่ยนสถานะจาก "ได้-เสีย" ให้กลายเป็น "ได้-ได้"

ความจริงนั้นผู้ประกอบการมากกว่าครึ่งหนึ่ง (จ้างแพงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ) ไม่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว นายจ้างส่วนน้อยต่างหากที่ถูกกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำ เทคนิคที่ฝ่ายรัฐบาลจะนำมาใช้ต่อรองคือ มาตรการภาษี โดยประกาศลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 (จากอัตราปรกติ 30%) เป็นการตอบแทน ซึ่งแน่นอนว่าโดนใจฝ่ายธุรกิจ

ในเกมนี้จึงมีฝ่ายธุรกิจที่เดิมก็ "ไม่เสีย" จากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเดิมอยู่แล้ว แต่ว่ายัง "ได้" จากการประกาศลดอัตราภาษี


ความจริงฝ่ายธุรกิจขนาดใหญ่เรียกร้องมานาน โดยอ้างว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ต่ำกว่าร้อยละ 30 ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลประกอบด้วยหลายฝ่าย ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและพาณิชย์ รวมทั้งความเห็นของฝ่ายวิชาการที่อยากจะผลักดันยุทธศาสตร์การเติบโต มองว่าในอนาคตอันใกล้ เช่น ค.ศ. 2015 ต้องปรับอัตราภาษีนี้ ไม่ช้าหรือเร็วก็ต้องปรับลด

วิเคราะห์กันตามนี้ ผู้เขียนประเมินว่าโอกาสที่ฝ่ายแรงงานจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน (ซึ่งฟังในตอนแรก น่าตกใจเพราะคิดใหญ่ ใหม่ แหวกแนว และคิดนอกกรอบ) มีโอกาสเป็นไปได้ไม่น้อยทีเดียว สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต้องวิเคราะห์กันลึกซึ้งเกินกว่าบทความสั้นๆ นี้ ซึ่งมีผลกระทบทางบวกและลบ

ในทางบวก-การที่ผู้ใช้แรงงานระดับล่าง (3 ล้านคนโดยประมาณ) มีรายได้เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอย ย่อมเป็นผลดีต่อส่วนรวม เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งดีกว่ารถเมล์ฟรี น้ำประปา และไฟฟ้าฟรี

ที่ว่าดีกว่าคือ เป็นการได้อย่างมีศักดิ์ศรี ยั่งยืน ต่อเนื่อง ระยะยาว (ปีต่อๆ ไปค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นกว่า 300 บาท) ขอให้พิจารณาถ้อยคำ "รายได้อันเกิดจากการทำงาน" (earned income) นั้นมีศักดิ์ศรี ดีกว่ารับของแจก ของแถม หรือของฟรีอย่างแน่นอน

ไตร่ตรองกันต่อไปว่า ถ้าหากฝ่ายนายจ้างไม่ยอมรับ คือปลดคนทำงานออก เพราะว่าไม่สามารถรับกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทได้ หรือจะย้ายฐานการผลิตออกไปชายแดนหรือต่างประเทศ ก็ย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้อยู่แล้ว เปรียบกับหนังสตาร์วอร์ส ตอน "The Empire Strikes Back"

แล้วรัฐบาลใหม่ควรจะดำเนินการอย่างไร? สมมติว่านายจ้างเลิกจ้างแรงงาน 5 แสนคน หรือ 1 ล้านคน เพราะว่ารับไม่ได้กับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท รัฐบาลใหม่มีหนทางตอบโต้โดยจัดแผนงานจ้างงานแบบ workfare โดยขอความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ้างคนงานทำงานสาธารณะ ซ่อม-สร้างวัด ถนน สะพาน โรงเรียน ศาลาประชาคม ...ไม่จำกัดจำนวน สมมติว่าจ้างคนทำงานวันละ 350 บาท โดยรัฐบาลประกาศออกสตางค์ให้ครึ่งหนึ่ง 175 บาท เทศบาล/อบต./อบจ. จ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือ เตรียมการจ้าง 1 ล้านคน

คำนวณออกมาเป็นเม็ดเงินที่ต้องเตรียมการ 50,400 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจ่าย 50,400 ล้านบาท ภาครัฐเสียเงิน แต่ว่าได้การซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ และยังได้ใจของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและ อปท.

การแทรกแซงครั้งนี้ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาด แต่ถือว่าเป็นมาตรการถ่วงดุลตลาด (countervailing policy) โดยใช้อำนาจและงบประมาณที่ภาครัฐมีอยู่ คือการสร้างอุปสงค์แรงงานในส่วนของภาครัฐ

ผู้เขียนใช้คำว่า "คิดเล่นๆ" เพราะไม่เชื่อว่าฝ่ายนายจ้างจะปลดคนงาน 5 แสนคน หรือหนึ่งล้านคน จะเป็นความจริง ไม่มีนายจ้างคนใดประสงค์จะหยุดกิจการหรือลดการผลิตลง เพราะว่าผลเสียหายต่อนายจ้างเองนั้นสูงยิ่งกว่าจ่าย 300 บาทต่อวัน เข้าทำนอง "หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ"


ในระหว่างที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เข้ามารับงาน คาดว่าข้อถกเถียงนโยบายของพรรคเพื่อไทยจะยังเป็นความสนใจในวงกว้าง ดังประจักษ์ว่า รายการโทรทัศน์ได้เชื้อเชิญนักวิชาการออกมาถกเถียงนโยบายสาธารณะบ่อยครั้ง นับเป็นเรื่องดี

ก่อนหน้าผู้เขียนได้รับชมรับฟังการอภิปรายของนักเศรษฐศาสตร์สองท่าน ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ซึ่งคาดว่าจะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ กับ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับแง่คิดและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยิ่ง

แต่อดคิดไม่ได้ว่า แทนที่จะถกนโยบายด้วยวิธี "มุขปาฐะ" เพราะเรื่องราวที่ซับซ้อนเช่นนี้ต้องวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลข คาดการณ์อนาคต โดยมองจากหลายมุม จากแง่ของผู้ใช้แรงงาน-มุมของนายจ้าง-มุมของประชาชน

การถกนโยบายด้วยการวิจัย โดยเขียนเป็น "ลายลักษณ์" จะยาว 2-3 หน้า หรือมากกว่านั้น จะเป็นผลดีต่อส่วนรวม ต่อประชาชน ต่อเยาวชน ก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแน่นอน

เชียร์ครับเชียร์



++

นโยบายสาธารณะที่ดีเพื่อคนไทย : รัฐบาลใหม่ควรทำอะไร
โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในคอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2554


ในที่สุดเราก็จะได้รัฐบาลแรกที่มีว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงแล้วนะคะ ก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดของประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา

ในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงพรรคของว่าที่นายกฯหญิงได้ปูพรมนโยบายเป็นชุดใหญ่ๆ ล้วนเป็นนโยบายที่ใช้เงินมหาศาล แต่ก่อนจะไปถึงนโยบายใหม่เราลองมาดูว่าผลของนโยบายเก่าเป็นอย่างไร สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะนโยบายสาธารณะที่ดีต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกต้อง

แต่นโยบายประชานิยมมักเป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการระยะสั้น และละเลยโครงสร้างในระยะยาว

มักเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่าการพัฒนาของไทยทำให้ชีวิตคนไทยเลวร้ายลง คนไทยเหนื่อยขึ้น หนี้สินมากขึ้น มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ลองมาดูความจริงที่มีสถิติย้อนหลังว่าชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นหรือไม่ และรัฐบาลควรจะต้องทำอะไรเพื่อต่อยอดหรือแก้ไขจุดอ่อนที่ผ่านมา

เพื่อตอบคำถามนี้ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือที่รู้จักกันดีในนามทีดีอาร์ไอ นำข้อมูลสถิติครัวเรือนไทยที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2529-2552 มาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของชีวิตครัวเรือนไทย เพื่อให้เราเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทีดีอาร์ไอพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านลดความยากจน

กล่าวคือ สัดส่วนของคนจนลดลงจากร้อยละ 44.9 ในปี 2529 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2552 ความเป็นอยู่ของคนจนดีขึ้นเพราะการศึกษาทำให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นและสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้รายจ่ายการรักษาพยาบาลลดลงมาก จำนวนคนที่จนเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงจากประมาณ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2533-2537 เหลือเพียง 250,000 คนในปี 2550 เด็กที่ไม่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลลดลงจาก 45% เป็น 1%

นี่คือฤทธานุภาพของนโยบายสาธารณะที่ดี ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารจัดการ มิได้เกิดจากการทุ่มทุนสร้างแต่อย่างเดียว


มาดูชีวิตครัวเรือนบ้าง คนไทยทุกวันนี้อยู่คนเดียวมากขึ้น ขนาดของครัวเรือนลดลง มีครัวเรือนที่คนแก่ได้อยู่กับเด็กมากขึ้น เด็กในชนบทโดยเฉพาะในอีสาน อยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กในเมือง เด็กอีสานประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่อยู่กับพ่อแม่

ยิ่งเป็นครัวเรือนยากจนโอกาสอยู่กับพ่อแม่ก็ยิ่งน้อยลง

แต่ถ้าเด็กอยู่กับผู้สูงวัยโอกาสที่ปู่ย่าตายายจะช่วยกันสอนเด็กให้ใช้แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ก็คงยาก!!

โดยเฉพาะการแจกแท็บเล็ตให้เด็กประถม เพราะในชนบทไทยเด็กจบ ป.4 ยังอ่านหนังสือไม่แตกเยอะมาก ความเร่งด่วนน่าจะอยู่ที่การเพิ่มคุณภาพการศึกษามากกว่าเรียนฟรี 15 ปีคงจะทำต่อไป

เพราะตอนนี้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญน่าจะเพิ่มค่าเดินทางให้อยู่ในงบประมาณและให้มีการจัดรถรับส่งนักเรียนฟรีจะได้ลดอุบัติเหตุที่เกิดจากเด็กใช้รถมอเตอร์ไซค์


สำหรับปัญหาความความเหลื่อมล้ำใน 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น สัดส่วนระหว่างคนรวยกับคนจนเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

การวิเคราะห์เจาะลึกของทีดีอาร์ไอ พบว่าหากวัดจากรายได้จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น (วัดโดยค่าจินี่) แต่หากพิจารณาค่าจินี่ของรายจ่าย พบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ปี 2535 และในบางช่วง (ปี 2541-2549) ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนชั้นกลางมีแนวโน้มแคบลง

แต่คนรวยก็คงรวยแบบล้ำหน้าไปกว่าทุกกลุ่ม การกระจายรายได้ในภาพรวมจึงยังดูไม่ชัดเจนต่อไป

สาเหตุที่ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ไม่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนค่าจ้างแรงงาน (Wage bills) ในรายได้รวมทั้งระบบไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินยังสูงกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้เสียอีก

การที่ว่าที่นายกฯหญิงจะคิดเพิ่มค่าแรงเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ควรเพิ่มผ่านการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ใช่ยกค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นโดยกะทันหันหรือโดยทันที


ข้อมูลเหล่านี้ก็คงทำให้เห็นนโยบายสาธารณะในอนาคตที่ต้องการความต่อเนื่องมากขึ้น แม้ว่าบางนโยบายจะไม่ได้มีอยู่ในเมนูนโยบายมาก่อน และมีนัยยะทางนโยบายดังนี้ คือ

หนึ่ง นโยบายที่ดีอาจไม่ต้องลงทุนเป็นเงินมาก แต่ใช้ระบบบริหารจัดการที่ดี การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพและกระจายอำนาจให้มากขึ้น

สอง รัฐบาลยังควรต้องให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายทรัพย์สิน ปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น เช่น ใช้ภาษีที่ดินที่สะท้อนถึงมูลค่าและการใช้ประโยชน์ ควรเก็บภาษีจากผู้มีกำไรจากรายได้ที่มิได้เกิดจากแรงงาน รวมไปถึงภาษีสิ่งแวดล้อม

ต้องไม่อุดหนุนประชาชนแบบฟรีถ้วนหน้า เช่นในเรื่องการศึกษาก็ดี เบี้ยยังชีพก็ดี ควรเน้นกลุ่มครัวเรือนยากจน ถึงแม้การให้เบี้ยยังชีพกับคนชรา อาจจะไม่สูง แต่ตอนนี้มีผู้ขอรับสิทธิถึง 5.5 ล้านคน ซึ่งจะสร้างปัญหาการคลังในอนาคต

เปิดโอกาสและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสวัสดิการที่เน้นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น ผู้สูงวัยที่พิการ ยากจน โดยให้มีการสนับสนุนที่ยืดหยุ่นไม่ใช่เพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับทุกคน


ส่วนนโยบายถมอ่าวไทยไป 10 กิโลเมตร แล้วสร้างเขื่อนล้อมพื้นที่ใหม่ จะเกิดพื้นที่งอก 300 ตารางกิโลเมตร หรือ 200,000 กว่าไร่

งานนี้ไม่ต้องรีบ ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลให้มีการศึกษาอย่างดีก่อน


หวังว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองจะสามารถให้เวลากับนโยบายระยะยาวอื่นๆ มากขึ้นด้วย เช่น นโยบายพลังงานถ้าไม่เอาพลังงานนิวเคลียร์ แล้วการจัดการพลังงานหมุนเวียนต้องทำอย่างไร ?

ที่แน่ๆ คือการแก้ปัญหาโครงสร้างไม่จำเป็นต้องใช้เงินเข้าทุ่มเสมอไป หากต้องใช้ความคิดที่ดีกับการจัดการที่ดี ซึ่งน่าจะเป็นความได้เปรียบของว่าที่พรรครัฐบาลใหม่

ขอแต่ให้ว่าที่นายกฯหญิงระวังอย่าให้เสือ สิงห์ กระทิง แรด มารุมทึ้งประเทศไทยก็แล้วกัน!!


.