http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-08

ปริศนา "เทพมนตรี"ฯ และ "ปชป.คิด สุวิทย์ทำ"ฯ

.
ปริศนา "เทพมนตรี" ร่วมเจรจาไทย-เขมร ก่อน "สุวิทย์" ลาออกมรดกโลก
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 10


"สุวิทย์ คุณกิตติ" รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดชัดในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ก่อนการเดินทางไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 19-29 มิถุนายน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ไว้ว่า

เป้าหมายคือ การคัดค้านการพิจารณาแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา

"การเดินทางไปครั้งนี้ จะพยายามแสดงจุดยืนของไทยต่อคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง 21 ประเทศ ในการคัดค้านการพิจารณาแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา ที่มีการเสนอแผนทับซ้อนกับพื้นที่บนอธิปไตยของประเทศไทย เพื่อที่จะให้ชะลอการพิจารณาแผนดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าทั้ง 2 ประเทศ จัดการหารือแบบทวิภาคีในการแก้ปัญหาพิพาทชายแดนให้เรียบร้อย โดยจะไม่ยอมเสียอธิปไตยอย่างเด็ดขาด"

นั่นคือคำพูดของ "สุวิทย์" ที่สวมหมวกในฐานะ "ตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ"

หลังจากศูนย์ประชุมมรดกโลก ได้แจ้งแก่คณะผู้แทนไทยว่า การพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ได้บรรจุเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว เป็นวาระที่ 62

การเดินทางไปของ "สุวิทย์" พร้อมคณะมีตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังปรากฏชื่อของ "เทพมนตรี ลิมปพยอม" นักวิชาการอิสระ ด้านประวัติศาสตร์ ร่วมคณะไปในครั้งนี้ด้วย

เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่แสดงความเห็นคัดค้านการดำเนินการของกัมพูชามาโดยตลอด

และเป็นคนคนเดียวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร และเสนอความเห็นเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทไทย-กัมพูชา เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร อย่างต่อเนื่อง



จากคำบอกเล่าของคนในกระทรวงการต่างประเทศ พบว่า บรรยากาศการหารือระหว่างไทย-กัมพูชา มีแนวโน้มว่าจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้

นอกจาก คณะกรรมการมรดกโลกจะเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการรอบปราสาทเขาพระวิหาร ออกไปตามข้อเสนอของไทยแล้ว การเจรจานอกรอบของไทย-กัมพูชา ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น

มีการระบุว่า ไทยเสนอให้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหาร แลกกับการเลื่อนการพิจารณาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร

ในคำบอกเล่าระบุว่า กัมพูชา ยินยอมรับข้อเสนอของไทย

หากแต่ "สุวิทย์" เองต่างหากที่รู้สึกกังวล

กังวลว่า ทางกัมพูชาอาจสอดแทรกแผนบริหารเข้ามาในข้อมติดังกล่าว จึงเสนอให้มีการแก้ไขถ้อยคำในหลายเรื่อง อีกทั้งตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศได้ท้วงติงว่าในการเจรจาระดับพหุภาคีไม่มีการกระทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจะเจรจาในเรื่องที่หยิบยกมาเท่านั้น

แต่ "สุวิทย์" ไม่ยอม ก่อนจะตัดสินใจแสดงเจตนารมณ์ "ลาออก" จากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลก

ว่ากันว่า การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา มีการแก้ไข "ถ้อยคำ" หลายรอบก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมมรดกโลกเกี่ยวกับความร่วมมือในการบูรณปฏิสังขรณ์เขาพระวิหาร

แต่หลายครั้ง ก็จะถูก "สุวิทย์" และ "เทพมนตรี" ที่คอยตรวจตราถ้อยคำปฏิเสธ หลายต่อหลายครั้ง


ที่สำคัญ "เทพมนตรี" เข้าร่วมประชุมเจรจาด้วยทุกครั้งในฐานะ "ผู้สังเกตการณ์" ของตัวแทนรัฐบาลไทย

และว่ากันว่า "เทพมนตรี" มีบทบาทอย่างสูงในการหารือนอกรอบร่วมกับตัวแทนของกัมพูชา

โดยทำให้เชื่อว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาสู่การตัดสินใจของ "สุวิทย์"



การกระทำดังกล่าว ถูก "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" อดีต รมว.ต่างประเทศ มองว่าผิดมารยาททางการทูต พร้อมเสนอแนะว่าน่าจะมีทางออกที่ดีกว่าการลาออก

"...ตามธรรมเนียมทางการทูตระดับโลกต่างมีขั้นตอนที่เป็นสากล ทางออกที่ดีที่สุดคือ การวอล์กเอาต์ หรือให้บันทึกแสดงเจตจำนงเลยว่า ไม่เห็นด้วย"

เป็นการบอกแบบรักษามารยาทว่า การกระทำของ "สุวิทย์" เป็นการไม่รักษามารยาททางการทูต และเป็นการแสดงออกถึงการตีตนไปก่อนไข้

อย่างไรก็ตาม "สุวิทย์" พยายามออกมาบอกว่า แม้จะไม่ให้ความเห็นชอบแผนบริหารจัดการดังกล่าว แต่ในมติข้อ 5 ของวาระเรื่องปราสาทพระวิหาร เขียนเปิดช่องให้กัมพูชาสามารถทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ทั้งการซ่อมแซม การบำรุงรักษา การของบประมาณจากยูเนสโก

"ไทยยอมไม่ได้ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนได้"

นั่นคือคำตอบ ซึ่งได้รับการตอบสนองจาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า การตัดสินใจของ "สุวิทย์" เป็นไปตามกรอบของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้บอกให้กองทัพรับทราบแล้ว


หากแต่ "คำตอบ" ของ "สุวิทย์" กลับมีความแตกต่างจาก อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างยิ่งหลังไทยประกาศท่าทีดังกล่าว

"โบโกวา" ระบุว่า คณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้มีการหารือถึงแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารและไม่ได้มีการร้องขอให้มีการยื่นรายงานเกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมแต่อย่างใด

นั่นหมายความว่า การเจรจาของไทย-กัมพูชา เป็นการเจรจานอกรอบ ยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ เป็นการตกลงกันของทั้งสองประเทศ



ยิ่งเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อ "สุวิทย์" ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง หลังถูกตั้งข้อสงสัย เพราะการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลต่อโอกาสการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในส่วนอื่นๆ ว่า

"ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วอยู่เหมือนเดิม ส่วนพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนใหม่ที่เสนอไป อาทิ แก่งกระจาน ภูพระบาท สิมิลัน เป็นต้น ถ้าหวังเพียงพึ่งความเป็นมรดกโลกอย่างเดียว คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันทำให้สูญเสียเกียรติภูมิของประเทศ ในเมื่อยูเนสโกไม่มีหลักยุติธรรมหรือหลักกฎหมาย ถ้าเรายังเป็นภาคีสมาชิกต่อไป เกียรติภูมิของไทยไม่ได้อยู่ตรงการขึ้นทะเบียนพื้นที่เป็นมรดกโลก"

คำพูดของ "สุวิทย์" ที่เสมือนตัวแทนของคนไทย ทำให้เวลานี้นอกจากไทยจะมีปัญหากับกัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังจ้องที่จะมีปัญหากับนานาชาติอีกหลายประเทศที่เป็นสมาชิกตามอนุสัญญาภาคีมรดกโลก

การดำเนินการดังกล่าว ทำให้มองเห็นภาพพอสมควรว่า "สุวิทย์" และบางคน บางกลุ่ม "รู้คำตอบ" อยู่แล้วว่า การเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนี้จะได้อะไรกลับมา

โดยเฉพาะการปรากฏชื่อ "เทพมนตรี ลิมปพยอม" เดินทางร่วมคณะ พร้อมร่วมหารือในฐานะผู้สังเกตการณ์

ไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มพันธมิตรฯ แซ่ซ้องสรรเสริญ

ซึ่งไม่รู้ว่างานนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" รู้คำตอบล่วงหน้าด้วยหรือไม่



++

"ปชป.คิด สุวิทย์ทำ" "ถอนตัว"มรดกโลก ทิ้ง"ไพ่โง่"ใบที่สอง ?
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 11


กรณี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทยยื่นถอนตัวจากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลก โดยผ่านการหารือและได้รับไฟเขียวจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

กำลังเป็นข้อถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียที่ฝ่ายไทยจะได้รับ เมื่อเทียบกับคู่กรณีคือกัมพูชา ทั้งในแง่การต่อสู้บนเวทีหลายระดับตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค ลงไปจนถึงระดับชาวบ้านตามแนวชายแดนของ 2 ประเทศ

รวมถึงกรณีนักวิชาการด้านมรดกโลก และนักวิชาการด้านการต่างประเทศหลายคน ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการตัดสินใจของนายสุวิทย์ ที่นอกจากการถอนตัวยังไม่มีผลเป็นทางการแล้ว

ยังน่าสงสัยว่ามีปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

เนื่องจากระหว่างนี้ประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีกระแสความนิยมตกเป็นรองพรรคคู่แข่งตั้งแต่ออกตัวช่วงโค้งแรก กำลังเร่งโหมทำคะแนนตีตื้นให้ทันก่อนถึงวันชี้ชะตา

ขณะที่พรรคกิจสังคมของนายสุวิทย์ ถึงแม้ น.ส.สุวิภา คุณกิตติ จะออกเดินสายหาเสียงอย่างหนัก แต่พรรคกิจสังคมไม่เคยมีชื่อติดอยู่ในโพลสำรวจคะแนนนิยมพรรคการเมืองแม้แต่ครั้งเดียว

หลังการเปิดเวทีแยกราชประสงค์ ตอกย้ำประเด็น "เผาบ้านเผาเมือง" และผลิตวาทกรรม "ถอนพิษทักษิณ" ที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจใช้เป็น "ไพ่เด็ด" "ทำลายฝ่ายตรงข้าม

กลับถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทิ้ง "ไพ่โง่"

เนื่องจากยุทธวิธีดังกล่าว ถูกมองว่าเป็น" "ดาบสองคม" "ตั้งแต่แรก

เพราะด้านหนึ่ง เป็นการสวนกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่ต้องการเห็นการนำเสนอนโยบายปรองดอง และแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้าน ปัญหาข้าวของแพง

มากกว่านโยบายการหากินวนเวียนอยู่กับ" "คนชุดดำ" "และ" "คนอยู่ดูไบ"


พรรคประชาธิปัตย์ ทำอะไรก็ดูเหมือนจะผิดพลาดไปทั้งหมด ทำให้ทีมวางยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษ

การประกาศถอนตัวจากกรรมการมรดกโลก อันสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ว่าด้วย "ปราสาทเขาพระวิหาร" และพื้นที่อาณาเขตรอบๆ

ถูกมองเป็นไพ่อีกใบหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจทิ้งลงมาเพื่อหวังผลการเมือง กระตุกกระแสความนิยมเฮือกสุดท้าย 7 วัน ก่อนเลือกตั้ง ขณะที่พรรคกิจสังคม ก็หวังจะโหนกระแสดังกล่าวด้วยเช่นกัน

บางคนยังวิเคราะห์ไปไกลถึงการท้าตีท้าต่อยกับกัมพูชา เพื่ออาศัยเหตุการสู้รบตามแนวชายแดน เป็นข้ออ้างให้"เลื่อน"การเลือกตั้งออกไป

ขณะที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การประกาศถอนตัวจากกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ฝ่ายการเมืองได้ตระเตรียมกันมาเป็นขั้นเป็นตอน โดยกะจังหวะเวลาออกหมัดให้พอดีกับการเลือกตั้ง

หลักฐานชี้ชัดถึงการนำประเด็นมรดกโลกและปราสาทเขาพระวิหาร มาขยายผลหาประโยชน์ทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง

สิ่งหนึ่งคือ "เฟซบุ๊ก"ของนายอภิสิทธิ์ ตอน 8 " ที่เขียนเกี่ยวกับกรณีไทยประกาศลาออกจากภาคีมรดกโลก ใช้ชื่อตอน "3 กรกฎากับปัญหาไทย-กัมพูชา"

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการตอบโต้ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ ว่าเป็นผู้สร้างความเสี่ยงให้ไทยต้องอยู่ในภาวะอันตรายต่ออธิปไตยของชาติ

เนื่องจากเป็นผู้ลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อปี 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

เป็นการตอบโต้สืบเนื่องจาก นายนพดล วิจารณ์ว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถล็อบบี้ประเทศอื่นที่เป็นกรรมการมรดกโลกให้ช่วยไทยได้ เพราะรัฐบาลนี้มีเพื่อนน้อยในเวทีโลก

และว่า การลาออกจากภาคีมรดกโลกเป็นการปิ้งปลาประชดแมว จะสร้างความเสียหายให้ไทยอย่างมาก


แต่จุดที่เผยพิรุธมากที่สุดว่าการตัดสินใจเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว ก็คือช่วงท้ายเฟซบุ๊ก

ที่ นายอภิสิทธิ์ นำเรื่องมรดกโลกและปราสาทเขาพระวิหาร มาขยายความว่าเป็นความเสี่ยงของไทยต่อการสูญเสียอธิปไตย ก่อนนำไปผูกโยงเข้ากับการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม



นายอภิสิทธิ์ กล่าวในเฟซบุ๊ก

"ผมหวังว่าจะได้ทำหน้าที่สะสางปัญหานี้ให้จบ นำชาติหลุดพ้นจากความเสี่ยงในการสูญเสียอธิปไตย แต่ผมจะมีโอกาสได้ทำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการชี้ขาดของประชาชนในวันที่ 3 กรกฎาคม


คนไทยต้องเลือกระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เดินหน้ารักษาอธิปไตย หรือพรรคเพื่อไทยที่ภูมิใจในความแนบแน่นกับ ฮุน เซน"

ประเด็นนี้ ต่อมายังได้รับการยืนยันจาก น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคจะใช้ประเด็นการรักษาอธิปไตยของชาติมาหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง


ด้าน พรรคกิจสังคม ถึงนายสุวิทย์จะอ้างการนำประเทศถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกมรดกโลก เป็นเรื่องของประเทศชาติล้วนๆ มีเจตนาเพื่อปิดช่องทางสุ่มเสี่ยงต่อการที่ไทยอาจต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยและเขตแดน ไม่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง

แต่ข้อสังเกตคือ พรรคกิจสังคม ขึ้นป้ายหาเสียงชูประเด็นไว้ก่อนหน้านั้นแล้วนานนับสัปดาห์ ด้วยข้อความ"ทวงสิทธิ์/เขาพระวิหาร/รักษาดินแดนไทย/ผมจะสู้ต่อไป"


อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม จะเป็นคำตอบว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ หยิบฉวยเอากรณีปราสาทเขาพระวิหาร มาเป็นประเด็นหาเสียงช่วงโค้งสุดท้าย

ภายใต้แคมเปญใหม่ "ประชาธิปัตย์คิด สุวิทย์ทำ" จะสามารถเปลี่ยนจุดยืน"โหวตโน"ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จุดประเด็นเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตลอดได้หรือไม่

สำหรับคำตอบระยะยาว อาจหมายถึงการนำกรณีเขาพระวิหาร มาเป็นตัวเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ กลุ่มพันธมิตรฯ ที่หมางเมินกันไปในระยะหลัง ให้กลับมาแนบแน่นอีกครั้ง เพื่อสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ

หรือ แท้จริงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า

การทิ้ง"ไพ่โง่"ใบที่สองของบางพรรคการเมืองเท่านั้น


.