http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-06

จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ฯ และ จดหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ฯ โดย SIU

.
จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์: ขอความชัดเจนเรื่องนโยบายของพรรคเพื่อไทย
โดย Siam Intelligence Unit ( ที่มา เว็บไซต์ www.siamintelligence.com/letter-to-yingluck)
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:45:00 น.


ถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับคุณยิ่งลักษณ์ที่กระแสตอบรับดีมาก ดังจะเห็นได้จากการสำรวจของโพลทุกสำนักที่ผลออกมาตรงกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตอนนี้คุณยิ่งลักษณ์มีสถานะเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งที่จะคว้าเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” และพรรคเพื่อไทยเองก็ประกาศนโยบายบริหารประเทศในด้านต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ “แสดงความชัดเจน” ในประเด็นสำคัญๆ ที่คนไทยอยากรู้หลายอย่าง

SIU ในฐานะ “คลังสมอง” หรือ think tank ด้านนโยบายสาธารณะภาคเอกชน จึงเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์แสดงแนวทางบริหารประเทศในประเด็นต่างๆ 4 ข้อ ดังนี้


1. แนวทางการปรองดอง

ประเด็นเรื่องการแก้ไขความขัดแย้ง ความแตกแยกของคนในประเทศ เป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนใจอยากรู้มากที่สุด สิ่งที่พรรคเพื่อไทยประกาศมาในขณะนี้ยังมีแค่แนวทางคร่าวๆ ว่าจะมีคณะกรรมการคนกลางขึ้นมาแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเมื่อพรรคเพื่อไทยโดนพรรคประชาธิปัตย์โจมตีเรื่องการนิรโทษกรรม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จากการปราศรัยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน คุณยิ่งลักษณ์ก็ตอบเลี่ยงๆ ว่าจะไม่นิรโทษกรรม พ.ต.ท. ทักษิณ เพียงคนเดียว และกระบวนการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่จะทำหลังจากแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนแล้ว

SIU อยากให้คุณยิ่งลักษณ์แสดงความชัดเจนในกระบวนการปรองดอง การค้นหาความจริง การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย และการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ดังนี้

- กระบวนการคัดเลือก “คณะกรรมการ” จะเป็นอย่างไร ใช้คนกลางจากที่ไหน มีตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าร่วมหรือไม่

- พรรคเพื่อไทยมีแนวทางอย่างไรต่อ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งขาติ (คอป.) ชุดของคุณคณิต ณ นคร จะยุบคณะกรรมการชุดนี้ หรือจะให้ทำงานต่อ หรือจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม

- กระบวนการค้นหาความจริงและสร้างความปรองดอง จะครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่เมื่อใดบ้าง เช่น นับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือนับจากช่วงเวลาอื่น

- พรรคเพื่อไทยมีแนวทางอย่างไรต่อการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง (เช่น การยุบพรรคและแบนนักการเมือง) คดีอาญา (การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่) และคดีที่คลุมเครืออย่างความผิดการขายที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ซึ่งสอบสวนและสั่งฟ้องโดย คตส.) คดีแบบใดบ้างที่เข้าข่าย

- พรรคเพื่อไทยมีแนวทางอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (ฉบับแก้ไข) จะแก้ไขทั้งหมด หรือแก้ไขบางมาตรา หรือจะนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดเอาไว้ นอกจากนี้ยังขอถามเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะผ่านสภา หรือลงประชามติ จำเป็นต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่


2. ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา

ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นปัญหายืดเยื้อที่ส่งผลเสียต่อประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้าตามแนวชายแดน เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และที่สำคัญคือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยที่อาศัยตามพรมแดนจุดที่ขัดแย้ง

SIU ขอให้คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ดังนี้

-ถ้าหากว่าชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะมีแนวทางอย่างไร กับนโยบายต่อกัมพูชาที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันได้ดำเนินมาตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา จะยังอิงอยู่บนแนวทางการแก้ปัญหาเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วแก้ไขบางส่วน หรือยกเลิกแนวทางทั้งหมด แล้วดำเนินนโยบายต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยเอง

- แนวทางการเจรจากับกัมพูชา จะทำในระดับทวีภาคี (เพียง 2 ประเทศ) หรือระดับของอาเซียนโดยมีประเทศที่สามเข้ามาเป็นตัวกลาง

- อยากให้พรรคเพื่อไทยตอบแบบตรงไปตรงมาว่า พื้นที่ 4.7 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร ยังเป็นพื้นที่ของประเทศไทย หรือเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมของไทย-กัมพูชา

- พรรคเพื่อไทยมีแนวทางอย่างไรต่อเส้นพรมแดนไทย-กัมพูชาทั้งหมดที่ยังไม่ชัดเจน มีแนวทางเจรจาเพื่อปักเขตแดนให้ชัดเจนหรือไม่

- พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรต่อข่าวการถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลก ที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประกาศถอนตัวในการประชุมที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โดยได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


3. ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พรรคเพื่อไทยเคยประกาศมาแล้วว่าจะใช้แนวทาง “เขตปกครองพิเศษ” เพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังขาดรายละเอียดอีกหลายอย่าง

- เขตปกครองพิเศษจะครอบคลุมพื้นที่กี่จังหวัด และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการปกครองระดับจังหวัดในปัจจุบัน จะมีผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษหรือไม่ หรือจะให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดดูแลพื้นที่ของตัวเอง

- เขตปกครองพิเศษจะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไรกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานราชการจะต้องรายงานต่อฝ่ายใดกันแน่ รายงานต่อส่วนกลางหรือเขตปกครองพิเศษ

- เขตปกครองพิเศษจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับฝ่ายทหารและความมั่นคง สามารถสั่งการทหารได้หรือไม่ จะต้องยุบ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือคงไว้เช่นเดิม หรือเปลี่ยนรูปแบบอย่างไร แม่ทัพภาคที่ 4 จะต้องฟังคำสั่งใคร

- พรรคเพื่อไทยมีนโยบายอย่างไรในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมในเขตการปกครองพิเศษ จะอนุญาตให้ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยในการสื่อสารกับราชการหรือไม่ มีแนวปฏิบัติต่อผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างไร

- พรรคเพื่อไทยมีนโยบายอย่างไรต่อผู้ก่อความไม่สงบในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีแนวทางนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ยอมมอบตัวและเลิกก่อความไม่สงบหรือไม่ มีกระบวนการยุติธรรมต่อคดีในอดีตอย่างไร


4. การรักษาวินัยทางการคลัง

นโยบายหลายอย่างของพรรคเพื่อไทยถูกวิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการใช้เงินเพื่อสร้างคะแนนนิยมจากประชาชน โดยไม่สนใจวินัยทางการคลัง และยังไม่แสดงความชัดเจนว่าจะหางบประมาณมาสนับสนุนอย่างไรบ้าง

- นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของพรรคเพื่อไทย จะทำให้รายได้ภาครัฐจากการเก็บภาษีลดลง พรรคเพื่อไทยมีแนวทางหารายได้จากทางอื่นอย่างไรบ้าง

- ในอดีต รัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้หารายได้เข้ารัฐโดยวิธีการแปลกใหม่หลายอย่าง เช่น เงินได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล และโครงการหวยบนดิน อยากทราบว่าคุณยิ่งลักษณ์มีแนวทางอย่างไรต่อวิธีการหารายได้ลักษณะนี้

- พรรคเพื่อไทยมีแผนกู้เงินทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เพื่อมาชดเชยรายได้ และลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หรือไม่

- พรรคเพื่อไทยมีแนวทางอย่างไรต่อการขึ้น-ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม

- พรรคเพื่อไทยมีแนวทางอย่างไรต่อการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศไว้ช่วงก่อนยุบสภา

เราทราบดีว่า คำถามทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก และหลายคำถามก็มีผลต่อความนิยมทางการเมืองไม่น้อย แต่เราก็มั่นใจว่า ถ้าคุณยิ่งลักษณ์สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ดี ตรงกับความต้องการของประชาชน และสามารถแสดงวิสัยทัศน์ แสดงศักยภาพของ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ได้ คุณยิ่งลักษณ์ย่อมจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกมาก

SIU จะส่งจดหมายฉบับนี้ไปยังพรรคเพื่อไทยผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ แต่คุณยิ่งลักษณ์ก็สามารถตอบคำถามผ่านสื่อสาธารณะช่องทางต่างๆ ได้ตามต้องการ โดยจะเลือกตอบทั้งหมดหรือตอบเพียงบางประเด็นในบางโอกาสก็ได้ ซึ่งทาง SIU จะคอยรวบรวมคำตอบและข้อมูลจากคุณยิ่งลักษณ์ในประเด็นเหล่านี้ เพื่อนำเสนอต่อประชาชนผ่านเว็บไซต์ Siam Intelligence ต่อไป

ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบจากคุณยิ่งลักษณ์ และขอให้คุณยิ่งลักษณ์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ดังที่คุณยิ่งลักษณ์ตั้งใจไว้

Siam Intelligence Unit


++

จดหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์: นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการปฏิรูปพรรค
โดย Siam Intelligence Unit ( ที่มา www.siamintelligence.com/letter-to-democrat-party/)
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:15:00 น.


ถึง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกท่าน

ขอแสดงความเสียใจที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554 แต่ก็ขอให้กำลังใจว่าให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาแก้ตัวใหม่อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่อยู่คู่ประชาธิปไตยไทยมานานที่สุด มีความเป็นสถาบันอันเข้มแข็งที่สุด มีโครงสร้างพรรคชัดเจน ไม่ใช่พรรคของนายทุนหรือกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถือเป็นทรัพย์สินอันมีค่าที่พรรคประชาธิปัตย์ควรรักษาไว้ต่อไป

แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกันนับตั้งแต่คุณชวน หลีกภัย ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. 2535/2 และถ้าจะนับเฉพาะการขับเคี่ยวกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เราจะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง และยังไม่เคยเอาชนะ “ระบอบทักษิณ” ได้สักครั้ง

ความพ่ายแพ้ต่อเนื่องเหล่านี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องในพรรคประชาธิปัตย์เอง และถ้าพรรคยังมองข้ามหรือทำเมินเฉยปัญหาเหล่านี้ ก็คงไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยด้วยการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ได้เลย

SIU ขอทำตัวเป็น “กัลยาณมิตร” มองปัญหาภายในของพรรคประชาธิปัตย์จากสายตาคนนอก และแนะนำวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดในสายตาของเรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาธิปัตย์ปรับตัวเพื่อเป็นพรรคคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อของพรรคเพื่อไทยต่อไป

ข้อเสนอของเราแบ่งได้เป็น 5 ประเด็น ดังนี้


1. เลิกดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น

พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาในอดีต พรรคประชาธิปัตย์ใช้การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ส่งคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์, วาทกรรม “จำลองพาคนไปตาย”, ประเด็นอภิปรายเรื่องสัญชาติของนายบรรหาร ศิลปอาชา ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าไม่ใช่คนไทย, การให้สัมภาษณ์ของคุณเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคที่วางบทบาทไว้เป็น “ตัวชน” ฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงกรณีล่าสุดคือการจุดชนวน “ถอนพิษทักษิณ” โดยเลือกปราศรัยหาเสียงที่แยกราชประสงค์ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าเป็นพื้นที่ขัดแย้งและอ่อนไหวสูง

ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ยังยึดถือแนวทางนี้อย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย แน่นอนว่าในทางหนึ่ง การใช้วาทกรรมโจมตีคู่แข่งทำให้พรรคได้เปรียบทางการเมืองในทันที แต่ในทางกลับกัน การใส่ร้ายลักษณะนี้จะทำให้เกิดบรรยากาศการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์และคู่แข่งจะต้องเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดจะเกิดความรุนแรงขึ้นดังที่ปรากฏมาแล้วในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

การใช้วิธีการเช่นนี้ อาจพอใช้ประสบผลได้ในยุคสมัยหนึ่ง แต่ในยุคสมัยนี้ ที่สื่อมวลชนเองก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และมีช่องทางรับข้อมูลหลากหลาย แนวทางการโจมตีคู่แข่งแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใคร รวมถึงภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เองในระยะยาว เพราะประชาชนทั่วไป (ที่ไม่ใช่แฟนคลับของพรรค) จะเกิดความเบื่อหน่ายความขัดแย้งลักษณะนี้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ดังนั้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำเป็นอย่างแรก ก็คือยกเลิกแนวทางการโจมตีหรือให้ร้ายคู่ต่อสู้ทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นการเมืองที่อิงอยู่บนหลักฐานและข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ยอมรับในสิ่งที่คู่แข่งทำได้ดีกว่า และพยายามเอาชนะด้วยผลงานหรือหลักวิชา มากกว่าจะเป็นวาทกรรมเชือดเฉือนอย่างที่เคยเป็นมา


2. กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เป็นเรื่องอื้อฉาวและนำมาซึ่งความขัดแย้ง

พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ภายใต้การบริหารงาน 2 ปีครึ่งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สร้างปัญหาและประเด็นขัดแย้งระดับชาติที่ “รุนแรงมาก” หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ทุกคดี และที่สำคัญคือเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ

พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในปัญหาทั้งหมดนี้ได้เลย แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์กลับเลือกแนวทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ หรือโยนความผิดให้ผู้อื่น (ไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือสถาบันอื่นๆ) มาโดยตลอด ผลสุดท้ายกลับทำให้ปัญหาเหล่านั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้วาทกรรม “ไม่มีคนตายที่ราชประสงค์” แล้วบอกว่าผู้เสียชีวิตที่บริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ไม่ช่วยให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้บรรเทาลงแม้แต่น้อย

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรสร้างกระบวนการภายในของพรรค เพื่อจัดการกับ “ประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งรุนแรง” เหล่านี้เสียใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องกล้ายืดอกรับผิด หาสาเหตุ หาผู้รับผิดชอบภายในพรรคที่จะต้องแสดงการรับผิดชอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (ไม่ใช่การลอยนวลต่อไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลเพียงว่า “ทำเพื่อพรรค”) และที่สำคัญคือ “แก้ไข” ไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันซ้ำอีก

การที่พรรคมีกระบวนการเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาตามสภาพความเป็นจริง มีการตรวจสอบกันเองภายในพรรค ยิ่งจะทำให้ความเป็นสถาบันของพรรคเข้มแข็งขึ้น การดำเนินการของพรรคโปร่งใสมากขึ้น และเป็นผลดีต่อพรรคในระยะยาว


3. เลิกหวังพึ่งทางลัดทางการเมือง หันมาเล่นการเมืองโดยยืนบนขาของตัวเอง

ในรอบ 19 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด พรรคกลับได้เป็นรัฐบาลถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งหลัง ที่คนบางกลุ่มเชื่อกันว่าด้วย “อำนาจพิเศษ” ที่ถึงแม้จะถูกตามหลักกฎหมาย แต่กลับไม่สง่างามในแง่การบริหารประเทศ

ตัวอย่าง “ทางลัด” เหล่านี้ได้แก่ กรณี “กลุ่มงูเห่า” ที่ช่วยตั้งรัฐบาลชวน 2 หรือ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่ช่วยหนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 รวมไปถึงอำนาจนอกระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร การตั้งรัฐบาลในกองทัพ ศาล กกต. ฯลฯ

วิธีคิดลักษณะนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนใจ “ผลงาน” ของตัวเองอย่างจริงจังนัก และคอยมองหาแต่ “อำนาจพิเศษครั้งต่อๆ ไป” มาช่วยพลิกขั้วเป็นรัฐบาลในอนาคต ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งปี 2554 นี้ เราจะเห็นข่าว “พรรคอันดับสองตั้งรัฐบาลได้” ออกมาจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าพรรคไม่คิดจะเอาชนะด้วยวิธีตรงไปตรงมาตามระบอบรัฐสภา

ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีมุมมองและโลกทัศน์ที่ต่างไปจากเดิมมาก การใช้ “ทางลัดทางการเมือง” เพื่อตั้งรัฐบาลโดยไม่มีผลงานที่โดดเด่น เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไป และผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะพิสูจน์ให้พรรคประชาธิปัตย์เห็นชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงออกความต้องการของตัวเองอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลิกหวังพึ่งทางลัดพิเศษ อำนาจนอกระบบทั้งหลาย หันมาเล่นการเมืองในระบอบรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ตามวิถีทางที่สากลยอมรับ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์หันมายึดแนวทางการเมืองในสภาล้วนๆ ย่อมทำให้เกิดแรงกดดันต่อพรรค ให้ลงมาทำงานเพื่อสร้างผลงานอย่างจริงจัง และตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้มีสิทธิออกเสียงเอง


4. เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นจากมวลชนผู้สนับสนุนพรรค

พรรคการเมืองใหญ่ที่เก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นรัฐบาลนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ย่อมมีกลุ่มผู้สนับสนุนแนวทางของพรรคเป็นจำนวนมาก แต่รูปแบบการบริหารงานของพรรคกลับยังรวมศูนย์อยู่ที่สมาชิกระดับแกนนำของพรรคเพียงไม่กี่คน ซึ่งหลายคนได้สถานะความเป็นผู้นำจากชาติตระกูล นามสกุล หรือความสัมพันธ์ระบบเครือญาติ ไม่ได้มาจากความสามารถหรือผลงาน ในขณะที่มวลชนของพรรคทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนจากระยะไกลเท่านั้น การขับเคลื่อนภายในพรรคล้วนมาจากแกนนำเพียงกลุ่มเดียว

ในความเป็นจริงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังมีบุคคลากรที่โดดเด่นและมีความสามารถอีกมากมาย และพรรคเองก็ควรจะดึงทรัพยากรทรงคุณค่าเหล่านี้มาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ พรรคจะต้องปรับโครงสร้างภายในใหม่ให้มีการถ่วงดุลกัน จัดให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคคอยตรวจสอบ คอยควบคุม ให้คำแนะนำคณะผู้บริหาร กลุ่มคนทำงานของพรรค ให้ขับเคลื่อนพรรคไปในทิศทางที่ “สมาชิก” ของพรรคอยากให้ไป ไม่ใช่ทิศทางที่ “แกนนำพรรค” ต้องการจะไป

พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบพรรคอื่นอย่างมหาศาลตรงที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคจำนวนมากอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างหรือหาใหม่ แถมกลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านี้มีการศึกษา มีฐานะ สถานะทางสังคมอยู่ในระดับดีมากของสังคมไทย สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำมีเพียงเปิดกว้าง และสร้างกระบวนรับฟังความคิดเห็นอันมีประโยชน์จากกลุ่มมวลชนเหล่านี้เท่านั้น


5. ผลัดใบคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า เปิดให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่

ข้อเสนอข้อสุดท้ายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุด แต่ก็อาจจะต้องใช้ความกล้าหาญมากที่สุด

ในสายตาของคนนอก SIU มองว่าปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เกิดจาก “คนรุ่นเก่า” ที่เคยร่วมสร้างพรรคมาตลอดหลายสิบปีนี้ ยังคงมีอำนาจการตัดสินใจภายในพรรคเช่นเดียวกับสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว

แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มนี้มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัย และประสบการณ์เหล่านี้ก็ช่วยนำพาพรรคผ่านสถานการณ์ยากลำบากได้หลายครั้ง แต่ในทางกลับกันก็มีข้อเสียคือ “คนรุ่นใหม่” ที่มีไอเดียใหม่ๆ มีโลกทัศน์ใกล้เคียงกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทภายในพรรคได้มากนัก เพราะเส้นทางการเติบโตตีบตัน และที่ผ่านมาเราก็เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ ทยอยออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปเติบโตที่พรรคการเมืองอื่นๆ เป็นจำนวนไม่น้อย

เนื่องในโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าเศร้า แต่ก็เป็นโอกาสทองสำหรับการเปลี่ยนแปลง

เราขอเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบัน ลาออกยกคณะเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ภายในพรรคที่มีฝีมือได้ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรครุ่นใหม่แทน

การเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมด อาจมีคนรุ่นใหม่ที่โดดเด่นบางคนกลับเข้ามาได้อีก แต่แกนนำระดับกรรมการบริหาร และกรรมการที่ปรึกษาที่มีอายุเกินกว่าที่กำหนด (เช่น อาจจะตกลงกันไว้ที่ 60 ปี ตามอายุการทำงานในองค์กรทั่วไป) อาจต้องแสดงมารยาททางการเมืองโดยประกาศไม่รับตำแหน่งใดๆ ในการตั้งคณะกรรมการบริหาร-คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดหน้าอีก เพื่อป้องกันความเกรงใจตามลำดับอาวุโส ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการชุดเก่าเกือบทั้งหมดได้กลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม

ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อเป็นความจริงที่คนในพรรคอาจไม่อยากรับฟัง (inconvenient truth) แต่ SIU ก็ขอเสนอแนวทางเหล่านี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อที่จะเห็นพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ ยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเมืองต่อไปได้ในอนาคต

เราเชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเข้มแข็งได้ในระยะยาว แต่ก็ขึ้นกับว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกล้า “ยอมเจ็บปวด” ในระยะสั้นหรือไม่

Siam Intelligence Unit

ค่ำคืนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554


.