http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-17

การประลองยุทธ์จบฯ และ เสียงเกินครึ่ง...ต้องเปลี่ยนฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
การประลองยุทธ์จบแล้ว ผู้ชนะต้องเป็นพระ...เตรียมปะทะหมู่มาร
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 20


การเลือกตั้งผ่านไปแล้วเป็นการประลองยุทธ์แบบมีกติกา แม้จะมีลูกตุกติก มีตัวช่วยแต่คนส่วนใหญ่ก็รับได้ มีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 34.8 ล้าน เท่ากับ 74 เปอร์เซ็นต์

เสียดายที่มีบางส่วนถูกย้ายชื่อไปใช้สิทธิข้ามเขตและไม่รู้เรื่องหรือไปไม่ทัน ซึ่งมีจำนวนนับล้านคน ทำให้สถิติพุ่งไปไม่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ตามที่มุ่งหวังกันไว้ แต่ก็ยังแสดงให้เห็นความตื่นตัวของผู้คนที่คิดว่าการเลือกตั้งจะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจได้

สะท้อนทางเลือกที่ต้องการก้าวไปสู่อนาคตที่มีการปรองดอง ต้องการให้ประเทศพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ก้าวไปพร้อมกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค

ผลการเลือกตั้งกำหนดออกมาแล้ว ที่เคยคาดคะเนไว้ก็มีถูกบ้างผิดบ้าง

ที่เคยคาดไว้ว่าเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 260-280 คน ผลการเลือกตั้งจริงคือ 265 คน นับว่าพอใกล้เคียง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คาดว่าจะได้ ส.ส. 145-155 คน ได้จริง 159 ถือว่าคาดผิด

พรรคภูมิใจไทย คาดไว้ว่าประมาณ 30-35 คน ได้จริง 34 คน

ชาติไทยพัฒนาคาดว่าจะได้ ส.ส. 20-25 คน แต่ได้เพียง 19 คน

ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ใครๆ ก็คาดว่าได้อย่างน้อย 10-12 คน ก็ได้เพียง 7 คน

ส่วนพรรคเกิดใหม่ เช่น พลังชล แม้จะมีลักษณะเป็นท้องถิ่นแต่ก็ได้ ส.ส. ถึง 7 คน

และพรรครักประเทศไทยของชูวิทย์ก็ได้ ส.ส. ถึง 4 คน ซึ่งเดิมก็มีผู้คาดไว้ว่าน่าจะได้เพียง 2-3 คนเท่านั้น

ส่วนพรรคมาตุภูมิคาดว่าจะได้ ส.ส. 3 คน ก็ได้เพียง 2 คน

พรรครักษ์สันติของคุณปุระชัย ทุกคนคาดว่าจะได้เพียง 1 คน ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น

และสิ่งที่ทุกคนคาดถูกต้องก็คือการสอบตกของ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคกิจสังคมซึ่งคิดผิดว่าการเดินออกจากที่ประชุมมรดกโลกจะทำให้ได้คะแนนเพิ่มแต่กลับเป็นคะแนนลบ

นอกจากนั้น ยังมีอีกสองพรรคที่ได้ ส.ส. พรรคละ 1 คน จากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์คือ พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแทรกตัวมาได้อย่างไร

ฉบับนี้ไม่สามารถนำรายละเอียดตัวเลข สถิติต่างๆ มาวิเคราะห์ได้ทัน คงต้องรอผลจาก กกต. ก่อน จึงมีบางเรื่องที่พอมองเห็นแนวโน้มในอนาคตมาบอกเล่ากัน



อนาคตของพรรคเล็ก

พรรคภูมิใจไทย ผลของการเลือกตั้งทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่เป็นแนวโน้มว่าพรรคเล็กๆ คงจะเติบได้ยากเหมือนไม้ต้นเล็กที่ถูกบดบังโดยไม้ใหญ่ ถ้ามีการเลือกตั้งอีกครั้งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคเฉพาะกิจถูกสร้างขึ้นมาในสถานการณ์ตุลาการภิวัฒน์ เพื่อพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลให้ประชาธิปัตย์ก็จะหมดหน้าที่และถ้าเป็นฝ่ายค้านเกินกว่า 2 ปี พรรคคงสูญพันธุ์ แต่คนจะยังอยู่ ไม่ใช่แค่ทำทีมฟุตบอล แต่รอคอยโอกาส

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งเคยยิ่งใหญ่ บัดนี้ได้หดตัวลงได้ไม่ถึง 20 เสียง สุพรรณบุรีซึ่งไม่มีพรรคไหนรอดเข้าไปปักธงได้ วันนี้มีคนทำได้แล้ว ถ้าจะยืนสู้ต่อไป โอกาสที่จะเปลี่ยนไปเป็นพรรคท้องถิ่นในกลุ่ม 2-3 จังหวัดภาคกลางก็มีมาก เรื่องนี้ชี้ขาดอยู่ที่ คุณบรรหาร ศิลปอาชา คนเดียว

พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน วันนี้ก็เหมือนกับพรรคโคราชไปแล้วเพราะปีกของวังพญานาคก็อยู่ในสภาพสูญพันธุ์ ผู้นำพรรคจะต้องคิดแก้ไขให้ทันเวลาว่าจะไปรวมกับพรรคใหญ่หรือตั้งพรรคท้องถิ่น

พรรคพลังชล กำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจเป็นพรรคท้องถิ่นจริงๆ เกิดขึ้นได้เพราะมีลักษณะพิเศษ มีบารมีของบุคคลมาช่วย และมีความขัดแย้งของสีเหลือง สีแดง สีฟ้า ทำให้เกิดช่องว่างของการแข่งขันสามารถได้ ส.ส. เขต มาถึง 5 คน และปาร์ตี้ลิสต์อีก 2 คน เป็นไปได้ที่จะชนะการเลือกตั้งอีก 1 สมัย แต่ถ้าไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลเมื่อไหร่ โอกาสจะเหี่ยวแห้งเหมือนต้นไม้ขาดน้ำก็มีมาก

พรรคมาตุภูมิ หัวหน้าพรรคได้ ส.ส. แบบหวุดหวิดจากการปัดเศษทศนิยม แต่คนที่เคยทำรัฐประหารรอดเข้าสภามาได้ก็ถือว่าบุญแล้ว ถ้าไม่ได้คะแนนท้องถิ่นจากสามจังหวัดภาคใต้ก็คงไม่มีโอกาสเกิด ถ้าจะยืนอยู่ได้ต่อไปก็ต้องปรับตัวเป็นพรรคท้องถิ่น สามจังหวัดภาคใต้แบบพลังชลที่ชลบุรี แต่ถ้าไม่ได้ร่วมรัฐบาล คงจบไปในสมัยเดียว



กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง

แม้ไม่ได้ส่งคนลงสมัคร แต่ก็มีสัตว์ต่างๆ แต่งตัวใส่สูทเรียบร้อย เป็นโปสเตอร์หาเสียงและก็มีคนไปลงคะแนนให้จริงๆ ด้วย ในช่อง VOTE NO ประชาชนจำนวนมากก็สนใจว่า VOTE NO ได้รับการตอบรับแค่ไหน

ผลปรากฏว่าคะแนน VOTE NO แบบแบ่งเขตได้ประมาณ 1.4 ล้าน ซึ่งของเดิมในปี 2550 มีประมาณ 1.5 ล้าน และแบบเลือกพรรคได้ประมาณ 9 แสน 5 หมื่น ซึ่งจากเดิมมีประมาณ 9 แสนสามหมื่น

ถ้าดูจากคะแนนอย่าคิดว่าไม่มีใครมาร่วมโหวตโนตามที่กลุ่มนี้รณรงค์ ที่จริงแล้ว คงมีคนมาร่วมโหวตเป็นแสนคน แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งซึ่งเคยเป็นขาประจำไม่อยากมารวมกลุ่มกับพันธมิตรฯ ก็เลยหนีออกไปกาให้คุณชูวิทย์ และคุณปุระชัย หรือทำให้บัตรเสีย

การรณรงค์หาเสียงอย่างดุเดือดในช่วงท้ายของ ปชป. ทั้งเรื่องนิรโทษกรรมทักษิณ เผาเมือง เขาพระวิหาร ก็อาจจะมีผลให้คนที่ตั้งใจจะ VOTE NO บางส่วนเปลี่ยนใจไปให้ ปชป.

การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิลงคะแนนประมาณ 47 ล้านคน ถ้าจะมีคนต้องการกา VOTE NO 4 หมื่น 7 พันคน ก็คือ 0.1% ต่อให้ต้องการกา VOTE NO 4 แสน 7 หมื่นคนก็คือ 1% ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนที่มีความเห็นต่าง ซึ่งคนอื่นต้องยอมรับ

ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องยอมรับเมื่อคนอื่นๆ ไปเลือกพรรคต่างๆ ด้วย นี่คือความคิดที่แตกต่างในระบอบประชาธิปไตย

วันนี้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังมีฐานกำลังเหลืออยู่ แต่ถ้าไม่รู้จักแนวทางการต่อสู้ ไม่วางยุทธศาสตร์ ก็จะเสื่อมสลายไปในเวลาไม่นาน



กลุ่มคนเสื้อแดงจะทำอะไร

การเลือกตั้งไม่ได้มีผลต่อคนเสื้อแดงไม่ว่าชนะหรือแพ้ เพราะเป้าหมายคือความยุติธรรมไม่ใช่การเป็น ส.ส.

ตราบใดที่ยังขังเพื่อนเขาไว้ในคุก ไม่ให้ประกัน ไม่นำคดีขึ้นสู่ศาล การชุมนุมประท้วงก็จะมีต่อไป

ความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ทั้งสองกลุ่มยังมีเป้าหมายหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน

การพัฒนาของกลุ่มคนเสื้อแดงคงจะมีต่อไป ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล



การเลือกตั้งครั้งนี้ยุติธรรมแค่ไหน ผู้ชนะจะเจออะไรบ้าง

จากพฤติกรรมของกลุ่มคนต่างๆ ที่มีฐานะ ตำแหน่งออกมาโจมตีกันในช่วงหาเสียง กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ก่อการร้าย เผาเมือง ต้องการล้มสถาบัน พร้อมแนะนำ ประชาชนอย่าไปเลือก

แต่ผลคือประชาชนเลือกฝ่ายนี้เข้ามามากที่สุด ต้องไปหาคำตอบกันเองว่าเป็นเพราะอะไร

แต่นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้เปรียบเป็นการประลองยุทธ์ในศึกชิงป้ายทองประกาศิต

ซึ่งแม้การประลองยุทธ์จะจบลง แต่การต่อสู้ในยุทธจักรจะยังดำเนินต่อไป



ศึกชิงป้ายทองประกาศิต

ลั้งยี้น้องคนเล็กถูกส่งขึ้นไปเป็นตัวแทนของพรรคหัวใจแดง นางพาผู้ช่วยอีกสามคนพุ่งตัวขึ้นเนินเขาที่สูงชัน ป้ายประกาศิตอยู่บนนั้น แต่ข้างหน้า อังสิด และ ซูเต๊ก พร้อมผู้ช่วยจากพรรคเทพปฐพีล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ชุดขาวเสื้อคลุมแดงของนางคล้ายสายแพรในสายลม ยามเมื่อใช้ท่าร่างสุดยอดวิชาตัวเบา เหินขึ้นสู่ยอดเขา

เพียงชั่วหม้อข้าวเดือด ก็ทันกลุ่มของพรรคเทพปฐพี เสียงซูเต๊กตวาดลั่น "นังมารแดงไปแล้ว ตามเร็ว" นางไปแล้วจริงๆ โฉบออกไปทางขวาแซงหน้าขึ้นไปแล้ว 4 ก้าว อังสิด ฉายา วิญญูชนหน้าหยก วันนี้เป็นตัวแทนพรรคเทพปฐพี อาวุธที่ถือเป็นกรงเล็บปีศาจคู่ เล็บทั้งสิบคมกริบ สามารถใช้เกาะเกี่ยวหินผา ปีนป่ายได้คล่องแคล่ว ทั้งยังเป็นอาวุธจู่โจมที่น่ากลัว แต่ไล่ตามอยู่พักใหญ่ก็ยังไม่ทัน

ทันใด หนทางหน้าของลั้งยี้ก็มีสองร่างโผล่ออกมาจากซอกหิน สาดอาวุธลับเข้าใส่ดังห่าฝน ลั้งยี้โบกเสื้อคลุมครั้งเดียวเพื่อปัดอาวุธลับแล้วถลันหลบเข้าหลังหินก้อนใหญ่ บัณฑิตดำกับแพทย์ปีศาจงุนงงอยู่ชั่วครู่ ไม่สามารถซ้ำเติมได้ พอขยับตัวลั้งยี้ก็ลอยข้ามหัวขึ้นหินก้อนใหญ่ไปแล้ว เงาร่างของอังสิดและซูเต๊กลอยตามขึ้นไปติดๆ

เห็นประกายสีทองอยู่บนยอดเขาแล้ว ลั้งยี้ทุ่มเทใช้วิชาตัวเบา พุ่งต่อขึ้นไปได้อีก 50 ก้าว ก็มีชายกลางคนโพกผ้าเขียวซัดอาวุธไฟสวนเข้ามา เสียงระเบิดดังกึกก้อง นางหลบเข้าหาที่กำบัง แต่ด้านหลัง ซูเต๊กขุนขวานจากแดนใต้ก็ลอยลิ่วเข้าถึงตัว ขวานใหญ่ถูกเหวี่ยงเข้ามาก่อน แต่นางใช้วิชามัจฉาท่องคลื่น พุ่งเฉียงขึ้น ร่างกลับลอยไปตามแรงขวาน ในสีแดงขาว มีประกายกระบี่วับขึ้นมา กระบี่ เอกะ ถูกชักออกมาแล้ว เพราะนางได้ยินเสียงแหวกอากาศของกรงเล็บปีศาจจากด้านหลัง เสียงอาวุธปะทะดังสนั่นเมื่อนางตวัดกระบี่กลับไป
"วิญญูชนจอมปลอม...รู้จักลอบกัดด้วย" นางทักทายทั้งปากทั้งกระบี่

เสียงอาวุธปะทะกันดังตลอดทางแต่เคลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปตามเนินเขา ซูเต๊กรู้ทัน ร่างดำสูงใหญ่ถลันเข้าดักทางพร้อมด้วยกระบวนท่าไม้ตาย ขวานเพลิงเผาเมือง กำลังภายในทั้งหมดถ่ายทอดผ่านตัวขวานจนร้อนระอุและกระหน่ำเข้าใส่สุดแรง ลั้งยี้ไม่หลบ กลับลอยตัวขึ้น ใช้กระบี่ถ่ายแรงจากขวานส่งตัวเองลอยขึ้นสูงทันที เสียงอังสิดคำรามลั่นเพราะเห็นนางลอยขึ้นไปเกือบถึงยอดเขาแล้ว กรงเล็บปีศาจสองข้างถูกซัดออกไปสุดแรงโดยไม่เสียดายอาวุธ

นี่เป็นกระบวนท่าสุดท้ายที่ทำได้ แม้เป้าหมายลอยตัวอยู่ที่สูง แต่กรงเล็บปีศาจ ก็ยังพุ่งเข้าใส่ขาทั้งสองข้างของนาง เสียงกรงเล็บทั้งสิบ แหวกอากาศมาแล้ว ลั้งยี้งอเท้าขึ้น ปล่อยกรงเล็บปีศาจทั้งคู่ให้ผ่านใต้เท้าไปอย่างหวุดหวิดพร้อมกระแทกเท้ากลับลงไปบนอาวุธของศัตรูสุดแรง เท้าสั่นสะท้าน แต่กลับเป็นแรงหนุนสุดท้ายที่ทำให้นางเหินไปถึงหน้าผาข้างบนได้ มือซ้ายกระชากป้ายทองประกาศิตพร้อมตวัดมาด้านหลัง เสียงอาวุธลับหลายชนิดที่พุ่งตามมาซัดถูกป้ายประกาศิตร่วงหล่นลงพื้นทั้งหมด

เสียงกรรมการตะโกน "หยุดมือ" ดังลั่นไปทั้งขุนเขา การแข่งขันสิ้นสุดแล้ว ลั้งยี้จากพรรคหัวใจแดงเป็นผู้ชนะ มีเสียงโห่ร้องยาวนานจากผู้ชมทั้งหุบเขา สุดท้ายทุกเสียงก็เงียบลง

"ข้าไม่ต้องการแก้แค้น พวกเราควรอยู่กันอย่างสันติ" นางตะโกนใส่หุบเขาข้างหน้าเพื่อบอกกับใครบางคน

ไกลออกไปใต้ต้นไม้ใหญ่ในหุบเขาข้างหน้าชายชราสามคนยืนนิ่งอยู่ที่นั่น "นางชนะแล้ว แต่ข้าไม่เชื่อว่าพวกนางจะไม่แก้แค้น "

"เราจะทำยังไงดี?"

"เตรียมทั้งทูตและทหาร"

เสียงสัญญาณแหลมเล็กดังขึ้น กองกำลังที่ล้อมรอบชายทั้งสามถอนตัวอย่างรวดเร็ว สามร่างที่ใต้ต้นไม้ก็หายวับไปทันทีเช่นกัน

ฝนโปรยปรายลงมาแล้ว ลั้งยี้ยั่งยืนนิ่งอยู่บนหน้าผานั้น นางเปียกชุ่มไปทั้งตัว เพ่งพินิจป้ายประกาศิตสีทองในมือ จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในยุทธจักรอย่างไร ผู้คนจึงจะไม่เดือดร้อน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า วันนี้ไม่อยากนึกถึงชะตากรรมของตัวเอง ตัวอย่างของพี่ชายที่ต้องหนีไปอยู่นอกกำแพงใหญ่ หรือคนรุ่นก่อนที่หนีไปและไม่มีโอกาสกลับมา ทำให้นางตระหนักถึงแรงกดดันจากอำนาจต่างๆ ที่จะโถมเข้าใส่ในวันข้างหน้า นางนึกถึงครอบครัว ความสุขสบายแบบนั้น คงไม่หวนกลับมาง่ายๆ ในที่สุดน้ำตาก็หลั่งกลางสายฝน

ความอยุติธรรมจะเป็นปัญหาใหญ่สุด ต้องไม่โกรธ ไม่แก้แค้นให้อภัยคน จึงจะสร้างสันติภาพได้ ใครๆ ก็บอกว่านางเหมาะที่สุดแล้ว ต้องอดทนให้ถึงที่สุด ทำให้ดีที่สุด จากนั้น อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ...


คำเตือนผู้ชมที่อายุ 10 ปีขึ้นไป โปรดให้คำแนะนำกับเพื่อนๆ ว่า : อย่านึกว่าชนะแล้ว การต่อสู้ยังไม่จบ ชนะเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ จะดำรงอยู่ได้อย่างไร อำนาจที่แท้จริงจะอยู่กับคนที่สร้างมันขึ้นมาเท่านั้น



++

เสียงเกินครึ่ง...ต้องเปลี่ยนการปกครอง จากเผด็จการ"ซ่อนรูป"เป็น"ประชาธิปไตย"
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 20


เสียงเกินครึ่ง แต่ต้องอยู่ร่วมกัน แม้เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย

คะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ (ปชป.) และเพื่อไทย ชี้สถานะทางการเมืองและการสนับสนุนของมวลชน

หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 มีคำกล่าวว่าพรรคเพื่อไทยชนะทั้งประเทศแบบถล่มทลาย ปชป. ก็ชนะในกรุงเทพฯ อย่างขาดลอย

ถ้าดูจำนวน ส.ส. ทั้งประเทศ 265 ต่อ 159 และในกรุงเทพฯ ปชป. 23 ต่อเพื่อไทย 10 ก็ดูคล้ายจะเป็นอย่างนั้น

หลายคนก็เลยด่วนสรุปว่า เสียงคนเมืองหนุน ปชป. เสียงชนบทหนุนเพื่อไทย

แต่สภาพความเป็นจริงวันนี้ ไม่มีลักษณะแยกเด่นชัดแบบนั้นอีกแล้ว สภาพของสังคมเมืองกับชนบทมีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น

ปัจจุบันมีประชาชนอยู่ในเขตเทศบาลทั่วประเทศประมาณ 45% กทม. มีประชากรประมาณ 5.7 ล้านคน ส่วนเขตปริมณฑลคือนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร มีประชากรประมาณ 4.6 ล้านคน (ไม่นับคนที่เข้ามาทำงานโดยไม่ย้ายทะเบียนบ้าน กทม. ประมาณ 2 ล้าน ปริมณฑลประมาณ 1 ล้านคน)

ชัยชนะของ ปชป. ที่มีต่อเพื่อไทยใน กทม. มีความแตกต่างทางตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1 แสน คือผู้ชนะได้ 1.30 ล้าน ผู้แพ้ได้ 1.15 ล้าน ในเขตที่แพ้ชนะกันแบบสูสีห่างกัน 2-6 % (ถ้านับเป็นคะแนนประมาณสามพัน) มีถึง 18 เขต แต่ ส.ส. ต่างกันมากคือ 23 เขต ต่อ 10 เขต

แต่ในเขตปริมณฑลทั้งห้าจังหวัดคือนนทบุรี เพื่อไทยได้ ส.ส. หมดทั้ง 6 คน ปทุมธานีได้หมดทั้ง 6 คน สมุทรปราการได้ 6 คน ภูมิใจไทย 1 คน นครปฐมได้ 5 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน สมุทรสาครเพื่อไทยได้ 1 คน ปชป. ได้ 2 คน

ดังนั้น ในเขตปริมณฑลเพื่อไทยได้ 24 ขณะที่ ปชป. ได้ 2 คน เมื่อรวม กทม. กับปริมณฑล เพื่อไทยจะมี ส.ส 34 คน ปชป.มี ส.ส 25 คน แต่ว่าในทุกเขตเลือกตั้งที่เพื่อไทยชนะ ปชป. ก็มีคะแนนเสียงพอสมควร

บางคนบอกว่าตามหมู่บ้านจัดสรรเลือก ปชป. แต่ถ้าย้อนกลับมาดูผลการเลือกตั้งจะพบว่า ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรมากมายมหาศาล พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถึง 18 เขต ในขณะที่ ปชป. ไม่ชนะเลยแม้แต่เขตเดียว

แต่ถ้าลงลึกไปดูคะแนนในหมู่บ้านจัดสรร และชุมชนต่างๆ ก็จะมีคะแนนของทั้งสองพรรค ซึ่งเป็นพื้นฐานคะแนนจริงที่จะดำรงอยู่ในการต่อสู้ทางการเมืองต่อไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า ทั้ง กทม. และต่างจังหวัดมีคนที่นิยมทั้งเพื่อไทยและ ปชป. อยู่ร่วมปนเปกันอย่างแยกไม่ได้ อย่าไปเชื่อตามแผนภูมิที่สื่อต่างๆ แสดงให้ดูเป็นรูปสีฟ้า สีแดง นี่ไม่ใช่เกมหมากล้อมหรือหมากหนีบ นี่เป็นชีวิตจริงที่มีคนมีความคิดเห็นแตกต่างอยู่ร่วมกันในสังคมปนเปกันลึกซึ้งจนแม้กระทั่งอยู่ในบ้านเดียวกัน

สภาพที่เป็นจริงวันนี้ คือไม่มีใครย้ายหนีใครไปไหน เมื่อเปลี่ยนจากเผด็จการซ่อนรูปเป็นประชาธิไตย ก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน เพียงแต่ต้องเคารพความเห็นคนอื่นบ้าง คนที่มีความคิดเห็นต่างจากเราไม่ใช่คนโง่ ถ้าไม่คิดปรองดองก็จะมีแต่ความขัดแย้งและอยู่อย่างยากลำบากทุกฝ่าย ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นใคร

แต่คนที่มีส่วนกำหนดว่าสังคมของเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติหรือไม่ คือกลุ่มผู้นำของทั้งสองฝ่าย



ปชป. จะเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ หรือไม่
ต้องดูการเลือกหัวหน้าพรรค

การขึ้นสู่ตำแหน่ง หัวหน้าพรรค ปชป. ของ นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ แทน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หลัง ปชป. พ่ายแพ้ไทยรักไทย อย่างย่อยยับ ในปี 2548 ได้เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้บนถนนประชาธิปไตย ไปเป็นเส้นทางลัด

แม้จะเป็นเส้นทางที่สกปรก รกรุงรัง แต่ก็ต้องเห็นใจ เพราะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่กับ ปชป. ในช่วงที่แพ้การเลือกตั้งถึง 4 ครั้งซ้อน คือแพ้ คุณบรรหาร ศิลปอาชา จากชาติไทย แพ้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จากความหวังใหม่ แพ้ ทักษิณ ชินวัตร จากไทยรักไทย 2 ครั้ง คือปี 2544 และ 2548 ซึ่งคะแนนห่างกันเกือบ 4 เท่า

เมื่อรับตำแหน่งหัวหน้า โอกาสเป็นรัฐบาลและเป็นนายกฯ มองไม่เห็นเลย การร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรเสื้อเหลือง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และเหตุการณ์ก็ขยายไปจนถึงการรัฐประหารปี 2549


เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้อำนาจ คมช. ปี 2550 พรรคไทยรักไทย ถูกยุบ คนเก่งของพรรคถูกห้ามลงแข่งถึง 111 คน สภาพเหมือนเอาคนถูกมัดมือและเท้าลงไปแข่งกับคนปกติ

แต่ ปชป. ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ก็ยังแพ้อีกเป็นครั้งที่ 5

กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องลงทุนกันอย่างแสนสาหัส ทั้งยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน สุดท้าย ต้องใช้ตุลาการภิวัฒน์มาช่วย ล้มรัฐบาลอีกครั้ง ช่วยตั้งอีกหน ในค่ายทหาร ดูแล้วเหมือนเลี้ยงเด็ก ต้องป้อนถึงปาก จึงจะกินได้

เมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งที่ 6 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 อภิสิทธิ์จึงประกาศลาออกซึ่งมีผลให้คณะผู้บริหารพรรคต้องเลือกตั้งใหม่เช่นกัน

แต่มีข่าวว่า อภิสิทธิ์อาจจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เรื่องแบบนี้ไม่ใช่การเล่นละคร การเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งได้สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติมาหลายครั้งหลายหน จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่ตนเองกระทำลงไป ที่ผ่านมาไม่เคยแสดงความรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีเลย

ครั้งนี้ถ้าการลาออกเป็นเพียงการแสดงละครก็จะเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก และจะเป็นการยืนยันว่า...ดีแต่พูด

ที่สำคัญ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป. ที่จะมาถึงเป็นการชี้ว่า ปชป. จะเดินแนวทางการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ถ้าเลือกอภิสิทธิ์เป็นผู้นำอีกครั้ง ก็หมายความว่า ปชป. เลือกที่จะเดินเส้นทางลัดสู่อำนาจอีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครคาดคะเนได้ว่าจะมีผลอย่างไรต่อประเทศชาติและต่อพรรค ปชป. เอง



เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ยากแค่ไหน
ข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ คือตัวชี้วัด

(คำแนะนำ : ผู้เป็นโรคความดันสูงไม่ควรไปหาอ่าน รายละเอียดของข้อสรุปรายงานผลการตรวจสอบกรณีการชุมนุม 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ของกรรมการสิทธิฯ เด็ดขาด)

วันนี้มีคนยื่นคัดค้านผลเลือกตั้ง ฟ้องร้องกันหลายกรณี หลายเขต แม้กระทั่งการไปผัดเส้นหมี่

บางคนคงคิดว่าเรื่องตลก แต่จริงๆ แล้ว เรื่องแบบนี้ได้สะท้อนว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่เคยทำจะมีผลให้เด็กทำตาม เพราะพวกเขาเคยเห็นการตัดสินลงโทษปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เพราะไปสอนทำกับข้าวทางโทรทัศน์

เคยเห็นการตัดสินให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะจัดคูหาเลือกตั้งหันหลังออกด้านนอกในปี 2549

เรื่องเล็กถูกหยิบออกมาเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องขี้ผงทำให้เป็นเรื่องหลักการ ส่วนเรื่องใหญ่ก็แกล้งทำเป็นมองไม่เห็น เช่น เรื่องการปฏิวัติยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ทุกวันนี้สังคมนี้ไม่พูดถึงความผิดและความเสียหาย ที่มีมูลค่าเป็นแสนๆ ล้าน ไม่นับชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับไปวนเวียนอยู่กับเรื่องหุ้น และเรื่องเล็กน้อย

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนสร้างเรื่องขี้ผงให้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ

มีคนบอกว่านี่เป็นสองมาตรฐานที่จะตกทอดต่อไปเรื่อยๆ

แต่ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องร้ายๆ เหล่านี้เป็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจได้แพร่พิษร้ายลงไปในทุกระบบตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา สภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นเรื่องนิติบัญญัติ ระบบยุติธรรมซึ่งมีทั้งตำรวจ อัยการ และศาล ระบบบริหารก็มีปัญหาโกงงบประมาณ จนถึงการโยกย้ายข้าราชการ

มันไม่ใช่สองมาตรฐานแต่ไม่มีมาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น

เป็นเรื่องที่ตามแต่ผู้มีอำนาจจะกำหนด เมื่อองค์กรหลักทั้งสามสายซึ่งมีความเข้มแข็งยังไม่สามารถต้านทานพิษร้ายได้ นับประสาอะไรกับองค์กรอิสระเล็กๆ เช่น ป.ป.ช. กกต. จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ

แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องได้พอสมควร


กรรมการสิทธิฯ ถูกพิษร้ายไปแล้ว

นับตั้งแต่มีการปราบใหญ่ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีการไล่ล่าและจับกุมคนไปขังคุกโดยไม่มีการสอบสวนเป็นจำนวนมาก

คนส่วนหนึ่งก็รู้สึกแปลกๆ ที่ว่ากรรมการสิทธิฯ มีบทบาทน้อยมากในการปกป้องสิทธิของประชาชน แต่ก็ยังมองกรรมการชุดนี้ในแง่ดี

ในที่สุด เมื่อผลสรุปเรื่องการชุมนุมในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 หลุดรอดออกมา หลายคนถึงกับอุทานออกมาเป็นภาษาต่างๆ กัน แต่เป็นภาษาที่ฟังแล้วต้องไปล้างหู

วันนี้ดูท่าดีเอสไอของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ จะถูกแย่งตำแหน่งไปแล้ว ยังดีที่ไม่สรุปว่า ชาวบ้านวิ่งเอาหัวไปชนลูกปืนตายเอง ทำให้ลูกปืนของราชการเสียหาย

ก็เข้าใจอยู่ว่าเงินเดือนแสนกว่าบาท มีค่ามากกว่าเศษเนื้อที่ติดกระดูกพอสมควร แต่ท่านกรรมการไม่ต้องรับใช้ถึงขนาดนั้นก็ได้ เรื่องนี้ก็ดีไปอย่างทำให้ชาวบ้านเข้าใจเสียทีว่า คนที่ปล้นประชาธิปไตย เมื่อจำเป็นต้องปกป้องอำนาจ แม้ต้องโกหกหลอกลวง และร้ายแรงถึงฆ่าคน ก็จะมีพรรคพวกบริวารว่านเครือที่กระจายอยู่ไปทั่ว คอยหาใบบัวมาปิดให้ ไม่ว่าบริวารเหล่านั้นจะอยู่ในองค์กรใด

วันนี้พอสรุปได้ว่า คนที่กินเงินเดือนประชาชนเป็นแสนส่วนใหญ่เป็นพวกเหล่านี้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน คงต้องคอยดูว่าจะมีคนหน้าบางมีสำนึก แสดงความรับผิดชอบอยู่กี่คน

ถ้าตัวชี้วัดแบบกรรมการสิทธิฯ ยังออกมาปกป้องสิทธิของรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน ก็เหมือนเป็นคำเตือนว่า การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องง่าย ประชาชนต้องพึ่งตนเอง และออกแรงอีกมาก

กลุ่มพวกเราเหมือนนักปฏิรูปที่มีความหวังกับการเลือกตั้ง การต่อสู้ทางรัฐสภา พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาโรคทางยา แม้มีคนบอกว่า เราคิดผิด โรคนี้ไม่มีทางรักษาหาย ต้องผ่าตัด มันเป็นมะเร็งร้าย ให้เชือดทิ้งทันที และจะหายขาด แต่เราก็ยังพยายามให้คนไข้กินยาอยู่

คนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเราก็ตะโกนว่า "ปล่อยให้มันเหยียบประชาชนให้เต็มที่ อย่าไปห้ามมัน เมื่อพวกเขาทนไม่ได้ทุกอย่างจะจบในครั้งเดียว"

แต่พวกเรากลัวว่า จะเป็นการลงทุนมากเกินไป



เรื่องของคนที่อยู่ในคุก
ถ้ากรรมการสิทธิฯ ไม่สนใจจะทำอย่างไร ?

ปัญหานักโทษการเมืองเป็นตัวบ่งชี้ว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประเทศเรามีนักโทษการเมืองที่ถูกขังโดยไม่มีการสอบสวนอยู่เป็นจำนวนมาก ถูกขังมานานนับปีแล้ว เรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอนาคตอีกเดือนสองเดือนนี้ คาดว่าจะมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล ให้ทบทวนการทำงานและต้องการรู้ว่า ใครเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องบ้าง มีเหตุผลอย่างไร

ในการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งก็ให้ประกันบางแห่งก็ไม่ให้ประกัน แม้จะเป็นเหตุผลทางข้อกฎหมายหรือหลักฐานและดุลยพินิจ แต่ก็มีบางคดีที่ไม่มีการกักขังเลย เช่น การยึดทำเนียบ การยึดสนามบิน

เรื่องเหล่านี้จะเป็นจุดด่างในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน และจะต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ และชื่อเสียงอาจเสียหายไปชั่วชีวิต วันนี้ชะตากรรมของคนจนที่ติดคุกเพราะคดีการเมืองอยู่เลวร้ายมาก หนักหนาเกินกว่าจะบรรยาย (ต้องไปหารายละเอียดจากกลุ่มอิสระที่วิ่งเต้นช่วยเหลืออยู่) และเมื่อถึงตอนจบ ถ้าไม่มีหลักฐานเอาผิดพวกเขาจะชดเชยอย่างไร

ที่รัฐบาลใหม่ต้องทำคือควรให้ประกันพวกเขาออกจากคุก นำทุกคดีขึ้นสู่ศาลโดยเร็ว ไม่ควรทำให้เสมอภาคโดยการไปจับอีกฝ่ายหนึ่งมาขังคุกเพิ่ม เพราะนั่นจะยิ่งเป็นการทำผิดซ้ำ หลายคนที่ถูกขังคุกอยู่ในวันนี้เนื่องจากไปปรากฏในภาพอยู่ที่หน้าศาลากลางซึ่งถูกไฟไหม้ ฯลฯ

ถ้านำมาตรฐานนี้มาใช้กับผู้ยึดสนามบิน จะมีคนที่ร้องรำทำเพลงอยู่ในสนามบินถูกจับจำนวนมากเช่นกัน

ถ้าจะปรองดองเรื่องเร่งด่วนคือ ต้องเอาคนออกจากคุกก่อน แล้วนำทุกฝ่ายไปขึ้นศาล เพื่อหาความจริง และความยุติธรรม เรื่องนี้อาจไม่ถูกใจพวกที่อยากแก้แค้น แต่สิ่งที่ประเทศนี้ต้องการคือความยุติธรรม ไม่ใช่การแก้แค้น



คนเสื้อแดง...อย่าเปลี่ยน
ตอนนี้ยังไม่ ชนะ

อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่ยกที่ 7 เมื่อต่อยจบยก คู่ต่อสู้ถูกต่อยคิ้วแตกและลงไปให้กรรมการนับ 8 แต่กรรมการก็ไม่ยอมจับแพ้ หมายความว่านี่ยังไม่ใช่ชัยชนะ จะต้องสู้กันต่ออีกห้ายก ถ้าไม่มีใครถูกน็อกไปเสียก่อน ย้อนดูการต่อสู้ 6 ยกที่ผ่านมา ใช้เวลายาวนานพอสมควร การต่อสู้ 5 ยกที่เหลืออาจต้องใช้เวลาหลายปี เช่นกัน

ยก 1-2 คือการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลปี 2548 จนถึงรัฐประหารปี 2549 เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคไทยรักไทย จนถึงเลือกตั้งปี 2550 ใช้เวลาสองปี

ยก 3-4 คือการตั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งถูกกดดันด้วยพันธมิตรเสื้อเหลือง โดนตุลาการภิวัฒน์ โค่น
รัฐบาลสมัคร แม้ต่อด้วยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ถูกกดดันจากพันธมิตรฯ ถึงขั้นปิดสนามบิน มีการยุบพรรคพลังประชาชน รัฐบาลล้ม ตั้งรัฐบาลเทพประทานในค่ายทหาร อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ สองยกนี้ใช้เวลาปีเศษ

ยกที่ 5 คือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในปี 2552-2553 ให้ยุบสภาแต่ก็ถูกปราบจนมีผู้เสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ยกนี้ใช้เวลาปีเศษ

ยกที่ 6 เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างสงบ กดดันจนมีการเลือกตั้งใหม่ ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี รวม 6 ยก ใช้เวลา 6 ปี

ยกที่ 7 คือการเลือกตั้งปี 2554 ที่เพิ่งผ่านไปใช้เวลาประมาณสามเดือนด้วยการรวมพลังของฝ่ายประชาชน จึงผ่านการต่อสู้ครั้งสำคัญมาได้ แต่ก็ยังไม่ได้อำนาจที่แท้จริง

ยกที่ 7 ดูเหมือนเป็นชัยชนะ แม้คนเชียร์จะเยอะมาก แต่ทั้งกรรมการบนเวที และกรรมการข้างล่างก็ยังไว้ใจไม่ได้

ขณะพักยกดูเหมือนนักมวยฝ่ายแดงจะมีปัญหาแล้ว เพราะทั้งพี่เลี้ยงสองคนและนักมวยกำลังจะทะเลาะกัน มวยยังเหลืออีกห้ายกแม้คู่ต่อสู้จะมีแผลแตก แต่ถ้าพลาดนิดเดียวอาจถูกจับแพ้ฟาวล์ได้ ดังนั้น เรื่องความสามัคคีกับการกำหนดแผนการต่อสู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

จำนวน ส.ส. 265 ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับชัยชนะ และ จะได้ความยุติธรรม บทเรียนในปี 2548 ไทยรักไทยมี ส.ส ถึง 377 คนก็ยังถูกล้มได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? หลายคนพอรู้คำตอบ

ดังนั้น การสร้างอำนาจที่แท้จริงขึ้นมาบนฐานของประชาชน จึงจะพอมีกำลังไปต่อสู้กับอำนาจทุกรูปแบบได้ ภารกิจเร่งด่วนของคนเสื้อแดง จึงไม่เหมือนนักการเมืองในระบบสภาทั่วไป ไม่ควรไปเสียเวลาทะเลาะเรื่องการแก่งแย่งตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในระยะยาวได้ แต่มีงานสำคัญคือ

1. ขยายกำลังประชาชนชนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย จัดตั้งให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ให้มีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพื่อพร้อมรับทุกปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

2. หน้าที่บริหารประเทศและนิติบัญญัติเป็นหน้าที่รอง แต่ควรมีบางคนไปร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อร่วมประสานและผลักดันงานต่างๆ ให้ขยายตัว และทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ต้องดูให้เหมาะสมกับบทบาท และต้องทำงานให้ได้ผล

3. ภารกิจเร่งด่วนคือต้องฟื้นฟูระบบยุติธรรมให้คนทั้งประเทศได้รับความยุติธรรมที่เสมอภาคกัน ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อน การได้รับความร่วมมือจากคนในระบบเป็นเรื่องสำคัญ

วันนี้ มีผู้ฝากข้อความมายังนักสู้เพื่อเสรีภาพทุกคนว่า การต่อสู้อาจจะยังคงยืดเยื้ออีก 4-5 ปีใครจะอยู่ ใครจะตายก่อนไม่มีใครรู้ แต่เพื่อนเราตายไปแล้วหลายคนแล้ว ข้างหลังยังมีคนถูกคุมขังอยู่อีกมากมาย ข้างหน้ามีทั้งศัตรู และลาภ ยศ

เมื่อเป็นกองหน้า ก็เป็นคนพิเศษ ต้องไม่ใฝ่ต่ำ ต้องฝ่าฟันทุกอย่างไปให้ได้ ต่อให้สามัคคีกันยังยากลำบาก ต้องรวมกันอย่างเหนียวแน่น จึงจะมีโอกาสชนะ


.