http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-14

การศึกษา และ หิ่งห้อยคือแมลงชนิดหนึ่ง โดย คำ ผกา

.

การศึกษา
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 89


แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้จำนวน ส.ส. ถึงสามร้อยตามผลของเอ็กซิตโพลอันเป็นโพลที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยมาก แต่จำนวน ส.ส. ที่ได้ก็ยังมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ถึง 106 ที่นั่ง ยังไม่นับว่าเป็นชัยชนะที่ไม่มีใครมากล่าวหาได้ว่า พรรคเพื่อไทยชนะเพราะเป็นรัฐบาลที่มีกลไกรัฐอยู่ในมือ ชนะเพราะคุมมหาดไทยได้ ชนะเพราะคุม กกต.ได้

ไม่นับว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่มีบัตรเสียมากถึงสามล้านใบ มากเสียจนหากฉันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ กกต. ก็คงต้องคิดหนัก และต้องทบทวนการทำงานของตนเองอย่างมหันต์ว่าทำไมจึงมีปรากฏการณ์บัตรเสียมากถึงขนาดนี้

โดยเฉพาะอย่างบัตรเสียจากกรุงเทพฯ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองของคนที่มีความรู้ มีการศึกษา - อันประชาธิปัตย์ เคลมว่า ตนได้เสียงจากกรุงเทพฯ มาก เพราะฐานเสียงของตนเป็นคนมีการศึกษา แต่ประชาชนอย่างฉันก็เง็งอีกนั่นแหละว่าคนมีการศึกษาทำไมทำบัตรเสียเยอะจัง ในขณะที่จังหวัดร้อยเอ็ด ภาคอีสาน ที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และได้รับการเหยียดหยามว่าเป็น "unsophisticated voters" กลับมีบัตรเสียน้อยที่สุดในประเทศไทย!!!!!??? (สรุปแล้วใคร unsophisticated กันแน่?) ทีนี้ถ้าจะตีความอีกว่า คนกรุงเทพฯ จงใจทำบัตรเสียเพราะไม่อยากจะเลือกพรรคไหนเลย ก็แสดงว่าคนเหล่านั้นก็ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างที่กล่าวอ้าง

เพราะเขาเลือกทำบัตรเสีย แทนที่จะกาให้พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนน

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องไปลงในรายละเอียดว่า อันที่จริงแล้วในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เคยชนะการเลือกตั้งโดยได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลตามระบอบรัฐสภาอย่าง "ปกติ" เลยแม้แต่ครั้งเดียว



การเลือกตั้งในปี 2554 จึงไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างธรรมดา แต่เป็นการเลือกตั้งที่กำหนดหมุดหมายความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาและโลกทัศน์ทางการเมืองของสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549

ยังไม่นับว่าประชาชนได้อดทนที่จะอยู่กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จำใจยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่แพ้ในการทำประชามติไปเฉียดฉิว

ทำใจยอมรับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ตนเองไม่เห็นชอบด้วยในหลายต่อหลายมาตราจนกระทั่งพรรคที่ตนเองเลือกได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

และแล้วพรรคการเมืองและรัฐบาลที่ประชาชนเลือกก็โดนปฏิบัติการทางกฎหมายที่พิสดารยิ่งจนต้องหมดความชอบธรรม ทั้งหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยรายการทำอาหาร พรรคที่ลงเลือกตั้งครั้งใดก็ได้เสียงข้างมากถูกยุบพรรคครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลอย่างพิสดารอีกครั้ง

จำต้องร่ายพงศาวดารที่ทุกคนจำได้ขึ้นใจฉบับนี้ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อจะบอกว่าประชาชนได้อดทนมามากแค่ไหน กว่าจะเกิดเป็นการตื่นตัว และการออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาของคนเสื้อแดง การชุมนุมที่เรียกร้องเอาประชาธิปไตยกลับมาของคนเสื้อแดงได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ทางการเมืองนอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย นอกตำราเรียน (ที่เนื้อหาถูกกำกับจากรัฐอย่างรัดกุม) และพื้นที่ในการเรียนรู้ครั้งนี้กว้างขวางออกไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เวทีปราศรัยของแกนนำเสื้อแดงเป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย กลุ่มประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองเสพข้อมูลเหล่านี้ควบคู่ไปกับดูรายการที่นี่ความจริง รายการห้องเรียนประชาธิปไตย ที่จัดรายการโดยนักวิชาการทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสารคดีการเมืองอีกหลายชุดที่นำเสนอผ่านทีวีช่อง Asia Update (สถิติการติดตั้งจาน PSI ที่สูงถึงหนึ่งล้านจาน) ควบคู่ไปกับการอ่านข่าวสาร ข้อมูลจากสื่อทางเลือกที่มีการแปลข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศไม่เฉพาะแต่ข่าวของประเทศไทยแต่ยังรวมถึงข่าวจากทั่วโลกที่มีสถานการณ์อันสามารถนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยได้

การจัดงานเสวนา และสัมมนาทางวิชาการที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง นิติศาสตร์ มีขึ้นอย่างคึกคักในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กิจกรรมทางวิชาการเพื่อรำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คึกคักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่หลังปี 2500 เป็นต้นมา

และที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ การทะลักเข้าฟังงานสัมมนาวิชาการเหล่านี้จากบรรดาประชาชนคนเสื้อแดง ที่กำลังกระหายข้อมูล ข่าวสาร ทัศนะ ข้อเท็จจริง จากบรรดานักวิชาการหัวก้าวหน้า

ตื่นใจไปยิ่งกว่านั้นทุกการเสวนาและสัมมนาจะถูกถ่ายเป็นคลิปเผยแพร่ แชร์ต่อไปในทางอินเตอร์เน็ต ฉายซ้ำ ฟังซ้ำ ถูกนำไปพูดในสถานีวิทยุชุมชน ถูกนำไปถกเถียงอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ต่อ การไรต์ซีดีงานสัมนาในมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปขายในการชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์แสนปกติ

และขอสารภาพว่าในฐานะของคนที่ได้ชื่อว่าได้ "เรียนหนังสือ" ฉันยังไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ของการหิวกระหายความรู้ในหมู่ปัญญาชน นักศึกษา มากเท่ากับที่เกิดในหมู่คนเสื้อแดง


ในท่ามกลางการทะลักและการรับข้อมูล ข่าวสารที่มากขึ้นและอย่างกระตือรือร้น แน่นอนว่าย่อมมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกัน อีกทั้งแนวทางวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ตั้งแต่รัฐศาสตร์ วรรณคดี สังคมวิทยา นิติศาสตร์และอีกจำนวนมากของข้อมูลเป็นข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเต้า เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่มาจากหลายฝ่าย มีอคติ มีความโกรธแค้น มีความเข้าใจผิด มีทั้งข่าวมั่วมานิ่มๆ

แต่ในท่ามกลางความจริง ความลวง และหลากหลาย approaches ของการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เองที่บรรดาประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองได้ฝึกฝนทักษะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในเชิง "วิพากษ์" คัดกรอง เปรียบเทียบ ว่าสิ่งใดมีน้ำหนักควรเชื่อ สิ่งใดไม่

อันทักษะเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นน้อยมากในหมู่ของประชาชนที่ยังเมาแวเลี่ยม เอ๊ยที่ยังหลับอยู่ในโลกใบเก่าที่หยุดเวลาของประเทศไทยไว้ที่ช่วงปี 2490-2531 เท่านั้น

คงไม่เป็นการเกินเลยที่ฉันจะบอกว่า ในช่วงสาม-สี่ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองและคนเสื้อแดงได้ฟังข้อมูลและทัศนะจากนักวิชาการและเข้าร่วมงานเสวนาทางวิชาการมากกว่านักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมาก

และมากกว่าคนมีการศึกษาในเมืองใหญ่ที่เชื่อเรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง" โดยมิได้หยุดเพื่อ "วิเคราะห์" หลักฐาน พิสูจน์หลักฐาน ทั้งโยงเรื่องการเผาบ้านเผาเมืองกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาโดยไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์อยุธยาที่ไม่ใช่เวอร์ชั่นภาพยนตร์ และคิดว่า เรยา และสาวโชว์นมที่สีลมคือหายนะของประเทศชาติ (เบื่อละครน้ำเน่าในฟรีทีวี ก็ดูเคเบิลทีวีบ้างอะไรบ้างนะคะ)



การเลือกตั้งในปี 2554 นี้จึงสำคัญมากในแง่ที่ว่าเป็นการเลือกตั้งจากการรอคอยด้วยความอดทน อดกลั้นของประชาชนต่อการถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม (ที่เรียกว่า สองมาตรฐาน) ทั้งข่มใจต่อการตายของประชาชนจากการสลายการชุมนุม ทั้งถูกใส่ร้ายในข้อหา "เผาบ้านเผาเมือง)

(คนที่เชื่อว่า คนเสื้อแดงเผา เหตุใดจึงไม่ไปกดดันคณะกรรมการค้นหาความจริงนำโดย อ.คณิต ณ นคร ให้เปิดเผยข้อมูลแก่สังคมเสียที??? จะว่าคณะกรรมการค้นหาความจริงทำงานไม่ได้เต็มที่ ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะหากคนเสื้อแดงเผา รัฐบาลก็น่าจะยิ่งส่งเสริมให้คณะกรรมการทำงานได้อย่างปลอดโปร่ง เพราะเป็นโจทก์กับรัฐบาลโดยตรง)

นอกจากอดทนแล้ว ประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้ยังเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักในการ "ให้การศึกษา" เรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ ผ่านสื่อทางเลือกและเวทีวิชาการ

ผลก็คือมีคนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ให้ยากลำบากลำบนกระเสือกกระสนลางาน เสียเงินค่ารถค่าเดินทางเพื่อไปเลือกตั้งก็ยังไป บางคนไม่ยอมไปเลือกตั้งนอกเขต หรือล่วงหน้าเพราะไม่ไว้วางใจระบบก็สู้ดิ้นรนกลับบ้านเพื่อไปเลือกตั้ง มีการจัดตั้งเครือข่ายป้องกันการทุจริตโดยประชาชนอาสา ทั้งหมดเป็นไปเพราะประชาชนมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันพรรคการเมืองของตนเองเข้าไปเป็นรัฐบาล


กระบวนการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของตนไม่ได้เกิดจากการซื้อเสียง ไม่ได้เกิดจากเหตุที่ประชาชนไม่มีการศึกษา เพราะหากดูเฉพาะการศึกษาในระบบ สถิติการศึกษาของประชากรไทยมีดังนี้

"เด็กที่จบ ป.6 ปีการศึกษา 2549 เรียนต่อ ม.ต้น ร้อยละ 83.7 ส่วนอัตราการเรียนต่อระดับ ม.ปลาย อยู่ที่ร้อยละ 78.7 ในจำนวนนี้เรียนต่อสายสามัญ ร้อยละ 50.6 และสายอาชีวะ ร้อยละ 28.1 สำหรับอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา อนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 17.5 และ ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 69"
http://www.teenpath.net/content.asp?ID=3427

ทั้งนี้ ไม่นับคนที่อ่านออกเขียนได้นั้นมี 91.5% ตามสถิติปี พ.ศ.2537 อัตราการรู้หนังสือ และสถิติที่คนเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่สูงถึง 83.7% ชี้ให้เห็นว่า คนไทยอย่างน้อย 90% มีความรู้ขั้นพื้นฐานพอที่จะแสวงหา "การศึกษา" ด้วยตนเอง ผ่านสื่อต่างๆ

และอย่างที่เขียนมายืดยาวข้างต้นว่า กลุ่มประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองอันเนื่องมาจากตนเองไมได้รับความยุติธรรมจากระบอบประชาธิปไตยที่บิดเบือนนั้นได้ร่วมกันสร้างพื้นที่แห่งการ "ศึกษา" ขึ้นมาในหมู่สามัญชนอย่างที่การศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่เคยทำได้มาก่อน

หากมีโอกาสเดินทางไปคุยกับประชาชนในชนบทหลายแห่ง ชาวบ้านที่ดูภายนอกไม่ sophisticated เท่ากับคนในเมือง (ที่ติดตามข่าวสารแฟชั่นทุกฝีก้าวและรู้จักแต่งตัว) กลับพูดถึง ธีรยุทธ บุญมี พูดถึง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พูดถึง เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พูดถึง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดถึง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ พูดถึงอาจารย์นิติราษฎร์ อย่างคุ้นเคย ในขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และใกล้เคียงจำนวนหนึ่งอาจจะไม่รู้เลยว่า "นิติราษฎร์" คืออะไร

เพราะฉะนั้น การปรามาสว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้มาจากพวกบ้านนอก โง่ ขาดการศึกษา นั้นมีข้ออ้าง "เก่าแก่และเก่าเก็บ" เป็นมรดกของชนชั้นนำที่เคยพ่ายแพ้ต่อคณะราษฎรในปี 2575 มาแล้วก่อนจะได้รับนิรโทษกรรมกลับมาจากเกาะตะรุเตาและรื้อฟื้นอำนาจกลับมาได้ใหม่หลังการรัฐประหารในปี 2490 ปัญญาชนฝ่าย "ขวา" เหล่านี้ผลิตวรรณกรรมปริมาณมหาศาล (พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ของ สอ เสถบุตร ก็เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเหล่านั้น) ที่ต่อมา กลายเป็น"วาทกรรม" คลาสสิคของการเมืองไทยดังต่อไปนี้

- ประชาธิปไตยเป็นของนอกไม่เหมาะกับประเทศไทย (จะรับอะไร "นอก นอก" เข้ามาต้องให้ "ปัญญาชน-ชั้นนำ" คัดสรรให้ว่าอะไรเหมาะ อะไรไม่เหมาะ พวกไพร่จะรับอะไรไม่รับอะไร เดี๋ยว "ปัญญาชน-ชั้นนำ" จัดให้เหมาะสมตามฐานานุรูป )

- การปฏิวัติสยามเป็นการชิงสุกก่อนห่าม น่าเศร้านักล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 พระองค์ท่านจะพระราชทานอยู่แล้ว พวกไพร่สามัญชนบังอาจสู่รู้ (คนที่ยังเชื่อวาทกรรมนี้อยู่โปรดอ่าน วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง เรื่อง "การเมืองไทยสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา"-คนเสื้อแดงอ่านกันเยอะเชียว ผู้ได้เรียนหนังสือสูงในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ถ้าอยากมีการศึกษาก็ไปอ่านบ้างก็ได้ )

- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นเรื่องของนักเรียนนอกไม่กี่คน คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง ไม่เอาด้วย (ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โปรดอ่าน "การปฏิวัติสยาม 2475" ของ อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)


ด้วยวาทกรรมเก่าแก่สมควรเก็บเข้ากรุเหล่านี้ จึงพบว่ามีผู้ได้เรียนหนังสือจำนวนหนึ่งที่คิดว่าตนเองมีการศึกษาได้แสดงทัศนคติเช่นนี้เรี่ยรายไปตาม social media เช่น

"เข้าใจกันหรือยังครับว่าทำไมการเลือกตั้งจึงไม่เหมาะสมกับสังคมไทย และหลายประเทศในโลก อย่างน้อยก็ต้องรอให้คนในประเทศมีการศึกษา ไม่โง่ มีวิจารณญาณในการเลือก ไม่เป็นทาสเงิน จีนยังไม่กล้าให้เลือกตั้งเลยเพราะกลัวประเทศแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า รวมชาติไม่ได้ เลิกบ้าตามตะวันตก หรือยูเอ็นได้แล้วครับ" (จาก satus หนึ่งที่พบใน facebook)

เมื่ออ่านแล้วบังเกิดความรู้สึกที่ฝรั่งเรียกว่า pathetic ขอไม่แปลเพราะผู้เรียนหนังสือเหล่านี้มักอ้างว่ามีความรู้ภาษาอังกฤษดีจัง ไม่บ้านนอก

ยิ่งอ่านตรงที่บอกว่า "จีนยังไม่กล้าให้เลือกตั้ง" ยิ่งอยากหัวเราะออกมาเป็นภาษาโซเวียตรัสเซียหรือเกาหลีเหนือไปเลย ก๊ากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

(หัวเราะดังไปหรือเปล่า ? )




++

หิ่งห้อยคือแมลงชนิดหนึ่ง
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1609 หน้า 89


To ทัดดาว
Cc กะทิ ดาวพระศุกร์ เรยา เด่นจันทร์ ดี๋


ไม่น่าเชื่อว่าเพียงจดหมายสายลม แสงแดด เล่าเรื่องโครงการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ของกะทิจะลุกลามบานปลายไปขนาดนี้ สำหรับพี่ทองเห็นว่าน่าสนุกดีและชวนให้คุยต่อ

ช่วงนี้อ่านข่าวสัมภาษณ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คำถามที่นักข่าวถามกันไม่รู้จักจบสิ้นคือเรื่อง "ปรองดอง" พี่ทองก็ลุ้นอยู่ว่าจะมีนักการเมืองคนไหนกล้าพูดไปให้เสียงดังฟังชัดว่า

"ความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้น จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถนำความจริง ความยุติธรรมออกมาให้ปรากฏต่อสาธารณชนให้จงได้ และการแก้ไขความขัดแย้งเช่นนี้ เป็นไปเพื่อสร้างมาตรฐานแก่สังคมไทยในการจัดการกับความขัดแย้งที่จะต้องมีต่อไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าโลกจะแตกดับหรือพวกเราทุกคนบรรลุเป็นอรหันต์ สิ้นแล้วซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง กันโดยถ้วนหน้า "

ที่สำคัญ คนไทยพึงผลัดเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ให้มอง "ความขัดแย้ง" ด้วยสายตาที่เป็นมิตร

ในสังคมที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันมากกว่า 1 ชีวิตนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มีความขัดแย้ง แต่เราจะแก้ไขหรืออยู่กับความขัดแย้งนั้นอย่างไร

นี่เป็นคำถามที่ทั้งนักปรัชญา นักปกครอง นักกฎหมาย ปัญญาชน เรื่อยไปจนถึงประชาชนพลเมืองบนโลกใบนี้คิดกันหัวแทบแตกมานับแต่สมัยเรายังอยู่ถ้ำ ล่าสัตว์กันแล้วกระมัง

อย่างที่เราก็รู้กันดีว่า สังคมหลายสังคมในโลกนี้เลือกใช้ "การเคารพเสียงส่วนใหญ่" ขณะเดียวกัน ก็ไม่กีดกันคนเสียงข้างน้อยให้ต่อสู้ รณรงค์ โน้มน้าว คัดง้าง กันด้วยเหตุผล ข้อมูล แรงจูงใจ หรืออื่นๆ เพื่อชิงเสียงข้างมากมาเป็นของเรา


ฟังเหมือนจะง่าย แต่อย่าลืมว่าในหลายสังคมใช้เวลานานนับศตวรรษกว่าจะสร้างมาตรฐานนี้ขึ้นมาได้ เช่น การเคารพเสียงส่วนใหญ่ก็ยังผ่านการถกเถียงว่า เสียงของผู้หญิงจะนับไหม? เสียงคนผิวดำนับไหม? เสียงคนชั้นต่ำนับไหม? เสียงของพระนับไหม? เสียงของปัญญาชนกับเสียงของคนไม่มีการศึกษาจะนับเป็นหนึ่งเสียงเท่ากันไหม?

สักร้อยกว่าปีมาแล้วกระมังที่เขาถกกันเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปกันว่า ไม่ว่ายากดีมีจนทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงคนละ 1 เสียงเท่ากันทุกประการ .. สาธุ

อ้อ ที่ได้ข้อสรุปมาอย่างนี้ ไม่ใช่ได้มาเพราะไปกอดจูบลูบหน้าลูบหลังท่องคาถาเรารักกัน แต่ได้มาด้วยการต่อสู้ของ "เสียง" ที่ไม่เคยถูกนับ ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง คนดำ คนชั้นต่ำ กรรมกร คนจนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อยืนยันศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มิใช่เป็นสัตว์เลี้ยงรอความรัก ความเมตตา เห็นใจ เอื้ออาทรจากใคร

ทว่า ในหลายๆ สังคมรวมทั้งสังคมไทยไม่เชื่อเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีนั้น แถมยังพยายามจัดการกับความขัดแย้งด้วยการทำให้คนในสังคมมองว่า ความขัดแย้งเป็นบ่อเกิดของความไม่สงบสุข ความรุนแรง แตกแยก และที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ "ไม่อยากเห็นคนไทยด้วยกันทะเลาะกัน" ก่อนจะจบด้วยคาถาสารพัดประโยชน์คือ "สามัคคี"

คำว่า "ไม่อยากเห็นคนไทยด้วยกันทะเลาะกัน" มีความไม่ปกติอยู่ในตรรกะ การทะเลาะกันของใครกับใคร ไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือสัญชาติของใคร แต่เกี่ยวกับ "หัวข้อ" หรือ "ประเด็น" พูดง่ายๆ ว่า ทะเลาะกับใคร ชาติไหนไม่สำคัญเท่ากับว่า "ทะเลาะกันเรื่องอะไร?"

เช่น พี่ทองทะเลาะกับหลวงตาเรื่อง ผู้หญิงทำแท้งไม่บาป แต่หลวงตายืนยันว่าบาป - เรื่องนี้พี่ทองกับหลวงตาเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องทะเลาะกัน ไม่เกี่ยวกับว่าหลวงตาเป็นคนไทยหรือไม่ใช่คนไทย แล้วไอ้จอนเพื่อนพี่ทองเป็นคนอเมริกันมันเห็นด้วยกับพี่ทองว่า "ทำแท้งไม่บาป" ในแง่นี้แม้ไอ้จอนเป็นอเมริกันแต่มันคือพันธมิตรทางอุดมการณ์ของพี่ทอง

เห็นไหมว่า การทะเลาะกันไม่เห็นจะเกี่ยวกับว่า "เราเป็นคนไทยด้วยกันหรือเปล่า?"

ส่วนเรื่องความสามัคคีนั้น ก็น่าจะคิดกันสักนิดว่า สามัคคีคืออะไร?

สามัคคีคือพลัง?

พลังที่ว่าคือพลังอะไร?

สามัคคีคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สังคมประชาธิปไตยต้องการความแตกต่างหลากหลาย ความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันน่าจะขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

ฉะนั้น สิ่งที่สังคมไทยควรปลูกฝังแก่ทั้งคนแก่และคนหนุ่มคนสาวไม่ใช่เรื่อง "ความรักและสามัคคี" แต่คนไทยพึง "เคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น"

เก็บเรื่องความรักความชังออกเสียก็น่าจะมองเห็นโลกได้แจ่มใสไม่บิดเบือน


เมื่อเป็นเช่นนี้ "สื่อ" ควรตั้งโจทย์ใหม่ ย้ายจากเรื่อง "ปรองดอง" ไปสู่หัวข้อ "ความยุติธรรม"

ส่วนนักการเมืองที่อาสามาเป็นแคนดิเดตก็ต้องกล้าที่จะตอบคำถามนักข่าวโดยไม่หลงอยู่ในกับดักของ "ถ้อยคำ" ที่อำนาจสถาปนาได้ล้อมจินตนาการของเราเอาไว้อย่างเนียนๆ มาหลายทศวรรษ

ทั้งนี้ เพื่อสลัดสังคมไทยออกจากมายาคติที่ว่าด้วยสังคมที่ดีต้องกอปรไปด้วยความรัก สามัคคี ปราศจากความขัดแย้ง-ในวงเล็บที่ว่า ความขัดแย้งในที่นี้แปลว่า ผู้น้อยพึงฟังผู้ใหญ่ อย่าริอ่านทำอะไรแหกคอก ผิดประเพณี พึงเชื่อบุญทำกรรมแต่ง อย่าป่วนลำดับชั้นต่ำสูงที่มีอยู่แล้วในสังคม พูดง่ายๆ ว่า สังคมที่ปราศจากความขัดแย้งในความหมายแบบไทยๆ คือสังคมที่ไม่มีการท้าทาย order หรือ ระเบียบดั้งเดิมของสังคมนั่นเอง

พี่ทองเลยได้ฝันเฟื่องว่าวันหนึ่งจะได้ยินนักการเมืองไทยบอกว่า "พรรคการเมืองของเราให้คุณค่าและมุ่งมั่นที่จะเปิดพื้นที่ให้กับความขัดแย้ง อีกทั้งส่งเสริมการถกเถียง ปะทะกันทางปัญญา และความรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพราะนั่นคือตัวบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยในสังคมของเรา"


ล่าสุด พี่ทองได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณประภาส ชลศรานนท์ ในมติชนออนไลน์ เนื่องจากพี่ทองเป็นสุภาพชน (ลึกๆ แล้ว อยากพูดได้เหมือนที่เรยาพูด แต่พี่ทองไม่ได้เข้มแข็งเท่าเรยา) เค้าว่ากันว่า สุภาพชนเวลาจะวิจารณ์ใครให้ขึ้นต้นประโยคว่า "ด้วยความเคารพ"

เอาล่ะ เคารพก็เคารพ...ด้วยความเคารพนะครับ คุณประภาสแกว่ามาอย่างนี้

"ตอนนั้นมันไม่มีอย่างอื่นเลย มันมีแต่ควัน ผมอ่านหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ นักวิชาการพูดประโยคเดียวกันหมดว่า จากนี้ไป สังคมเราจะไม่เหมือนเดิมแล้ว โอ้ว! ผมก็เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น แต่อย่าพูดได้ไหม ผมรู้ว่าอาจารย์วิเคราะห์ถูก แต่อย่าพูดได้ไหม ยิ่งพูดยิ่งใจเสีย ผมเลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมา เป็นการกอดกัน ลูบหลังกัน"

เคารพด้วยขำด้วยนะครับ มาห้ามไม่ให้นักวิชาการพูดเสียด้วย แล้วสิ่งที่นักวิชาการพูดมันเป็นประโยคที่เป็นสัจธรรมเอามากๆ คือ "จากนี้ไปสังคมไทยเราจะไม่เหมือนเดิม" นี่พุทธศาสนาเลยนะครับ อนิจจังครับ คุณประภาส มันคือความไม่เที่ยง มีเสื่อม ทราม มีเกิดใหม่ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย

ถ้าสังคมไทยเหมือนเดิม เหมือนสมัยรัตนโกสินทร์เรานั่งเกวียน กินหมาก ใช้เตาก้อนเส้าตั้งเตาทำอาหารในขณะที่ญี่ปุ่นมีรถไฟหัวกระสุน- จะไหวเหรอครับ

คุณประภาสอยากให้สังคมไทยเราเหมือนเดิม หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง - ผมว่ามันประหลาด

แต่ถ้าหมายถึงความขัดแย้งในการเมืองไทยที่ผ่านมา นักวิชาการเขาวิเคราะห์กันไปมาก สรุปสั้นๆ ได้ว่า สำนึกทางการเมืองของคนไทยโดยเฉพาะในชนบทเปลี่ยนไปมาก พวกเขาตระหนักว่าพวกเขาคือพลเมืองของรัฐมิใช่ object หรือ "คนในบังคับของรัฐ" เมื่อเป็นอย่างนั้น คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่ยอมรับการรัฐประหารและการใช้วิธีนอกระบบทำลายพรรคการเมืองที่เขาเลือกมาเป็นรัฐบาล

มันง่ายๆ แบบนี้แหละครับ

ง่ายๆ ว่าประชาชนตื่นแล้ว แต่คุณประภาสยังไม่ตื่น เลยมานั่งตัดพ้อว่า "นักวิชาการอย่าพูดได้ไหม ใจมันเสีย"

แหม...พี่ทองก็อยากจะไปลูบหลังคุณประภาสว่า "โอ๋ๆๆๆ ขวัญเอ๊ย ขวัญมา อย่ากลัวน้าาา โอ๋ๆๆๆ" แต่ไปปลอบไม่ทันเพราะคุณประภาสไปแต่งเพลงเพื่อจะกอดกัน ลูบหลังกันเสียแล้ว

พี่ประภาสครับ นั่นเลือด นั่นกระสุน นั่นคือแม่น้องเกดที่สูญเสียลูกสาวที่เป็นพยาบาลอาสาสมัคร นั่นคุณพ่อที่ลูกชายวัยเรียนถูกยิงตายไม่รู้อีโหน่อีเหน่ นั่นลูกเมียนักข่าวญี่ปุ่น - พี่ครับ ครอบครัวคนเหล่านั้นยังไม่ได้ความกระจ่างยุติธรรมใดๆ จะให้ไปกอด ไปลูบหลังใครไหวเหรอครับ พวกเขาเหล่านั้นออกมาพูดทุกวันว่า "เราต้องการความเห็นความจริงและความยุติธรรม"

เห็นความจริงแล้ว เห็นความยุติธรรมแล้ว ใครจะกอดใครก็เป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวแล้วครับ ส่วนผมเป็นคนไทยบ้านนอก ไม่คุ้นกับการกอดกันพร่ำเพรื่อครับ

จั๊กกะเดียม

คุณคำ ผกา เธอเขียนบ่อยครับว่า "เราไม่ต้องรักกันมากหรอก แค่เคารพกันมากๆ" ผมเห็นด้วยกับเธอครับ และวันนี้ผมว่าคุณประภาสไม่ต้องรักใครหรืออยากให้ใครรักใครครับ ช่วยเคารพเสียงของพวกเขาและเลิกพูดเสียทีว่าประชาธิปไตยไม่ได้ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับสังคมไทย

ประชาธิปไตยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสังคมไหนโดยดูจาก "สัญชาติ" ครับ มันถูกออกแบบมาเพื่อมนุษย์ -ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ - ที่ไม่อยากเห็นคนใช้ความรุนแรงและการฆ่าแกงกันเพื่อจัดการกับความขัดแย้งแตกต่างในสังคมครับ

ดังนั้น เหตุผลที่ว่า ประชาธิปไตยเหมาะสมสำหรับสังคมนั้นแต่ไม่เหมาะสมกับสังคมนี้จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย

ที่สำคัญ ประชาธิปไตยเป็น "กระบวนการ" นะครับ ไม่ใช่มะกรูด มะนาว มีเป็นลูกๆ อยู่ตรงนั้นตรงนี้ให้ใครเลือกว่ากินได้หรือกินไม่ได้

ในเมื่อมันเป็นกระบวนการของสังคมที่มี "คน" อยู่ในนั้น มันจึงมีพัฒนาการ มีการปะทะ ขัดแย้ง มีเติบโต มีเปลี่ยนแปลง

นั่นหมายความว่าไม่มีผู้วิเศษคนใดคนหนึ่งมาออกแบบประชาธิปไตยให้ใครหรือสังคมไหนได้ ทว่า แต่ละสังคมย่อมมีกระบวนการสร้าง เปลี่ยน คลี่คลาย ประชาธิปไตยของตนเอง แต่ไม่ทิ้งหลักใหญ่ใจความของมันนั่นคือ การเคารพ "เสียงของประชาชน"

อ้อ แล้วต่อให้คุณไม่พึงใจกับ "ประชาชน" ที่ไม่ได้ดั่งใจคุณแค่ไหนคุณก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "ขันติธรรม" ครับ ด่าได้ วิจารณ์ได้ ดูถูกก็ยังได้ แต่อย่าลากเอาปืนมายิงกัน อย่าจับกันเข้าคุกเพียงเพราะคิดไม่ตรงกัน



จดหมายถึงเพื่อนๆ ฉบับนี้อาจจะไม่โต้ตอบกับใครโดยตรงรวมทั้งกะทิด้วย เพียงแต่เห็นเรากำลังคุยเรื่องการเมืองกันก็ถือโอกาสบอกเล่าความคิดเห็นของตัวเองมา ยิ่งมาได้อ่านทัศนะของ คุณประภาส ชลศรานนท์ ก็ยิ่งเห็นความคิดอันเลื่อนเปื้อนของชนชั้นกลางไทย

คือ จะบอกว่าตนเองรังเกียจประชาธิปไตยก็จะดูป่าเถื่อน สุดท้ายเลยเลื่อนไปหาคำลอยๆ ประเภท "พยุงจิตใจของมนุษย์" ที่ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ก็อยากจะถามเหมือนกันว่า การนั่งดูคนถูกฆ่าตายกลางถนนเกือบร้อยศพอย่างเฉยชานั้น เป็นหนึ่งในการ "พยุงจิตใจของมนุษย์" ด้วยหรือไม่

สุดท้ายอยากฝากเพื่อนๆ อ่านบทความชื่อ "ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน" ของ อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลววณิชย์ ในนิตยสาร "อ่าน" มีอยู่ตอนหนึ่งอันเกี่ยวกับการละเลยที่จะอ่านหนังสือและหาความรู้ของบรรดานักเขียน และผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะ

อาจารย์เขียนว่า

"ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คติพจน์ซึ่งทำให้ผู้พูดดูเท่ระเบิดนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ยุคที่ทุกอย่างถูกเป่าให้โป่งพองสวยหรูมีคุณค่าเกินจริงทั้งสิ้น ความกำมะลอปรากฏทั่วไปในทุกวงการรวมทั้งวงการนักเขียน นักคิด ปัญญาชน วรรคทองของไอน์สไตน์ถูกนำมาใช้อวดอ้างความฉลาดล้ำลึก และสร้างความชอบธรรมให้กับอวิชชานิยมและเกียจคร้านนิยมในบ้านเรา"

พี่ทองอยากจะเสริมอาจารย์ชูศักดิ์ว่า คนเหล่านี้ไม่ถึงกับไม่อ่านหนังสือ แต่พวกเขาเลือกอ่านหนังสือแนวที่สนับสนุนคติพจน์เรื่อง "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ (และข้อเท็จจริง)" มิหนำซ้ำยังเฝ้าผลิตซ้ำโลกทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับจินตนาการมากกว่าความรู้นี้ต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สุด

ร้ายไปกว่านั้น "จินตนาการ" ของพวกเขา ยังเป็นจินตนาการที่ได้รับการ imagined มาแล้วเสียด้วย


ด้วยความระลึกถึงจากพี่ทองที่เห็นหิ่งห้อยเป็นเพียงแมลงชนิดหนึ่งที่บางครั้งก็น่ารำคาญ

พี่ทอง


.