http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-16

นับถือ, +ไม่เถียงแต่ด่า โดย คำ ผกา

.

นับถือ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 89


"ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองมีนโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เขามองว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะหากค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้สินค้าไทยแข่งขันสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่หากทำให้แรงงานมีที่พัก มีอาหารพอเพียง แม้ได้รับค่าจ้างวันละ 150 บาทต่อวัน เงินก็เหลือและแรงงานก็อยู่ได้ ดังนั้น เราไม่ควรหวังในเรื่องตัวเงินมากนัก ขณะที่การเชื่อมโยงผู้บริโภคในเมือง กับผู้ทำเกษตรอย่างยั่งยืน จะเป็นพลังงานขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น" ประเวศ วะสี (ราษฎรอาวุโส)
www.prachatai3.info/journal/2011/07/35942

คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ในกรอบคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง กรอบคิดเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ

ในกรอบคิดเรื่องการจัดสวัสดิการของรัฐ เถียงกันได้อีกว่าเราอยากได้รัฐบาลที่เอาใจชนชั้นล่าง กรรมกร หรืออยากได้รัฐบาลที่เลือกจะอุ้มภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยกดค่าแรงในประเทศให้ต่ำเข้าไว้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

เถียงกันได้อีกว่าหรือเราจะเลือกรัฐบาลที่เลือกสนับสนุนกรรมกร ชนชั้นแรงงานด้วยการเพิ่มค่าแรง ในขณะเดียวกันก็เสนอแผนสนับสนุนการลงทุนแก่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมในด้านอื่น เช่น ลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นภาษีบางตัว

เถียงกันได้ต่อไปอีกว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศของเราจะเข้าสู่การแข่งขันตลาดโลกด้วยคุณภาพของสินค้า มิใช่ด้วยความสามารถในการผลิตสินค้าที่ราคาถูกกว่าคนอื่น

เถียงกันได้อีกว่าแทนการแทรกแซงของรัฐ หรือเราจะปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี หรือแทนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งผลของมันคือ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการค่าแรงราคาถูกมาก อาจหันไปใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน (ส่วนจะประคองเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนเรื่องการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างมีมนุษยธรรมอย่างไร ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องใส่ใจ) ส่วนแรงงานในประเทศก็ยกระดับไปเป็นแรงงานมีฝีมือ

หรืออาจเถียงกันได้อีกว่า หนทางที่จะสร้างอำนาจการต่อรองให้กับกรรมกรและแรงงานทั้งหมด คือการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้าง ไม่เพียงค่าแรงแต่รวมเรื่องสวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พัก วันลา ค่าโอที ศูนย์เด็กเล็กในโรงงาน สหกรณ์จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนงานทุกคนมีหุ้นส่วนในฐานะที่เป็นเจ้าของ ฯลฯ


จะเถียงกันด้วยกรอบคิดแบบไหนก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดี ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนจะตัดสินใจแบบไหน และหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจนโยบายของรัฐก็คงตัดสินกันที่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

หากนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยนำความหายนะ ล้มละลาย เศรษฐกิจตกต่ำ กรรมกรเป็นหนี้ ภาคอุตสาหกรรมเจ๊งระเนระนาด บริษัท มาม่า ผงซักฟอก ปิดกิจการ เจ้าสัวต้องไปเดินเร่ขายแซนด์วิช ลูกหลานเจ้าสัวเจ้าของบริษัทขายแฟ้บต้องมาเร่ขายพวงมาลัยอยู่ข้างถนน ถึงวันนั้น การเลือกตั้งสมัยหน้าคงไม่มีเลือกพรรคเพื่อไทยอีกกระมัง

การที่ คุณบุญชัย โชควัฒนา บอสใหญ่สหพัฒนพิบูล และ ณรงค์ โชควัฒนา ออกมาเตือนว่ากลัวแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ เพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะท่านเป็นนายทุน ท่านก็ย่อมปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มของท่านเป็นหลัก และมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นในวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่าตกอกตกใจแต่อย่างใด และเป็นเรื่องของท่านที่จะไปหาทางต่อรองเอากับรัฐบาลกันเอง

แต่ที่ผิดปกติ และชวนหัวอย่างที่สามารถเป็น black comedy ได้อย่างสมบูรณ์แบบคือ ความคิดเห็นของ ประเวศ วะสี บุคคลผู้สั่งสมบารมีชื่อเสียงของตนมาจากการสร้างชื่อในฐานะของคนที่ต่อสู้เพื่อโครงสร้างของสังคมที่เป็นธรรม บุคคลที่มีภาพของการเป็นคนดีมีศีลธรรม บุคคลที่เป็นเจ้ายุทธจักรของโครงการที่รณรงค์ให้คนเป็นคนซื่อ มือสะอาด เลิกเหล้า อดบุหรี่ มีศีล บุคคลผู้พร่ำเพ้อถึงสังคมอุดมคติ นิพพาน ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ บุคคลที่รังเกียจทุนสามานย์ การคอร์รัปชั่นและความหื่นกระหายตะกละของนักการเมือง

นี่คือทัศนะของบุคคลที่ชนชั้นกลาง มีการศึกษาจำนวนมากในสังคมไทยเคารพนบไหว้ว่าเป็นปูชนียบุคคล วิเศษวิโสเหลือประมาณ

นี่คือทัศนะของท่านว่า แรงงานไทยมีค่าแรงวันละ 150 บาทก็พอแล้ว ถ้าให้แรงงานมีที่พัก และอาหาร จากนั้นโปรดอยู่ในความสงบ เอ๊ย อยู่ในความพอเพียง

พิโธ่เอ๋ย...อนิจจัง อนิจจา ท่านราษฎรอาวุโส นี่เป็นสิ่งที่ฉันหัวเราะมิได้ ร่ำไห้มิออก อึ้งยิ่งกว่าอ่านเจอรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ เรื่องสลายการชุมนุม อึ้งเสียยิ่งกว่าปริศนาว่าด้วยเงิน 600 ล้านปฏิรูปประเทศ (แบบว่าทำใจไปแล้วว่าประชาชนได้ทำทานครั้งใหญ่ไป)



ท่านราษฎรอาวุโส ฉันเชื่อว่าท่านมีลูกมีหลาน ท่านลองนั่งคำนวณในใจบ้างไหมว่ากว่าจะเลี้ยงลูกออกมาให้เป็นคน 1 คน มีการศึกษาตามสมควร นี่ยังไม่นับว่ากรรมกรรับค่าแรงวันละร้อยกว่าบาทไม่สามารถย้ายโรงเรียนลูกเป็นว่าเล่นหากลูกไม่เอาถ่าน หรือไม่มีความฟุ่มเฟือยพอจะให้ลูกไปทดลองใช้ชีวิตอินดี้ๆ

แบบว่า เออ...เบื่อโลกไปปั่นจักรยานเล่นสักปีสองปีดีกว่า หลังจากนั้น ก็ไม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินอะไรมาก เพราะเกาะพ่อเกาะแม่กินได้

แบบว่า พ่อเก่งในการทำงาน เก่งเกี่ยวกับการหางบประมาณ สร้างคอนเน็กชั่น เครือข่ายสาวก สร้างลัทธิ เป็นเจ้าศาสดา สามารถแจกจ่ายงานวิจัย เงินโครงการ นู่น นั่น นี่ ส่วนลูกหลานไม่ต้องทำงานมากก็ทำให้ดูดีว่าเป็นครอบครัวไม่โลภ ไม่ทะเยอทะยาน ติดดิน ไม่ติดกับลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สมถะ พอเพียง (แต่ลูกคนจนไม่ทำงานกลายเป็นเด็กไม่เอาถ่าน ไม่รักดี ไม่เจียมตัว)

เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานของท่านมาเป็นคน ใช้เงินต่อหัวคนละกี่บาทตลอดชีวิตของพวกเขา ?

และหากท่านมีหลานในวัยที่กำลังไปโรงเรียน หลานของท่านเดินทางด้วยยานพาหนะอะไร ค่าเดินทางวันละเท่าไหร่? ค่าเล่าเรียนเทอมละเท่าไหร่? ค่าเสื้อผ้าเดือนละเท่าไหร่? ค่าอาหารเดือนละเท่าไหร่? ค่าหาความรู้ทักษะพิเศษเพื่อเป็นต้นทุนทางสังคมต่อไป เช่น ดนตรี กีฬา เดือนละเท่าไหร่? ค่าแม่บ้าน คนใช้เดือนละเท่าไหร่? หลานของท่านเอาเงินไปโรงเรียนวันละเท่าไหร่? คำนวณออกมาคร่าวๆ คนเราใช้เงินกันวันละเท่าไหร่? อ้อ ค่าน้ำมันรถท่านเดือนละเท่าไหร่? อย่าบอกนะว่าท่านนั่งรถเมล์ติดแอร์มาทำงาน ?

ท่านอาจจะบอกว่า "อ้าว ก็อั๊วเป็นถึงหมอ ทำงานมีเงินเดือนเยอะ อั๊วจะอยู่ จะเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานยังไงก็เรื่องของอั๊ว แต่พวกกรรมกร ไม่รู้จักเจียมตน ไม่รู้จักพอเพียง มีค่าแรงวันละร้อยกว่าบาทสะเออะจะส่งลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก มึงก็ส่งลูกเข้าโรงเรียนวัดใกล้ๆ บ้านสิวะ ปั๊ดดด"

กรรมกรอย่างเราก็คงก้มหัวงุด เออหนอ คนอย่างพวกเรามันไม่รู้จักเจียมกะลาหัว



ท่านราษฎรอาวุโสเหมือนจะ hint หรือบอกใบ้ (ตามประสานักปราชญ์ ต้องพูดอะไรให้เป็นปริศนาธรรม เพื่อให้สาวกตีความว่า ท่านพูดหมายจะให้ความหมายลึก แต่คนอย่าง คำ ผกา โง่จะตาย อ่านความนัย ความลึกซึ้งปราดเปรื่องของคนฉลาด ล้ำลึก อ่อนโยน อย่างท่านราษฎรอาวุโสไม่ออกหรอก) ว่า หากเรากดดันให้นายทุน เจ้าของกิจการหาที่พัก และอาหารราคาถูกให้คนงานได้ เราก็ไม่ต้องขึ้นค่าแรงคนงาน แถมยังได้ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนายทุน แถมยังได้สร้างความสัมพันธ์อันดี สายใยรักพันผูกของระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างที่เงินก็ซื้อไม่ได้

อีกหน่อยอาจเพิ่มแพ็กเกจใครเลิกเหล้าได้เด็ดขาดถึงจะมีของขวัญเป็นค่าแรงเพิ่มให้เป็นพิเศษ ใครไปบวช ได้เพิ่มวันละห้าบาท ใครเลิกบุหรี่เอาไปเลยอีกคนละหกบาทขาดตัว ใครวิปัสสนาทุกวันเอาไปเล้ยยยค่าแรงฟรีวันละ 10 บาท ทำเช่นนี้ นิตยสารส่งเสริมความดี รายการคนค้นสัตว์จะมาแย่งกันทำรายการสารคดีนายทุนดีมีคุณธรรมค้ำจุนโลก

แต่คำถามคือ แล้วท่านราษฎรอาวุโสสามารถบังคับให้ทุกโรงงานทุกบริษัทสร้างแฟลตสำหรับคนงานได้ครบถ้วนหรือไม่ ? นายทุนที่ไหนจะกล้าแบกรับภาระด้านนี้ ? ในวงเล็บที่ว่าต้องเป็นแฟลตหรืออพาร์ตเมนต์ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับหนึ่งมิใช่สลัมหรือแคมป์คนงานก่อสร้างที่เวลาเพื่อนข้างห้องมีเซ็กซ์กัน อีกคนหนึ่งต้องคอยเอามือจับวิทยุ โทรทัศน์ เอาไว้ ไม่อย่างนั้นมันจะหล่นลงมาเพราะมันเป็นเพิงหมาแหงนที่เพียงคนเดินก็สั่นไหวราวกับมีสึนามิ

ส่วนอาหารที่โรงงานจัดให้จะออกมาในสภาพไหนก็ไม่อยากจินตนาการ ขนาดข้าวอาหารถาดหลุมสมัยเป็นนักเรียนยังทำเอาพวกเราฝันร้าย ใจคอท่านจะให้คนงานเข้าคิวกินข้าวแบบโรงทานวันละ 3 มื้อ แล้วเก็บหอมรอมริบเอาจากเงินค่าแรงวันละ 150 บาทแล้วยิ้มหวานไปกับอาขยานที่ว่ามีสลึงพึงประจบให้ครบบาทอย่างนั้นหรือ?

ท่านราษฎรอาวุโส ค่าแรงวันละ 150 บาท นั้นเท่ากับเดือนละ 4,500 บาท ฉันแค่อยากรู้ว่าหลานของท่านดื่มนมเดือนละกี่บาท? กินขนมเดือนละกี่บาท



ท่านราษฎรอาวุโสที่เคารพ ค่าเช่าบ้านชนิดที่แค่คุ้มกะลาหัวเดือนละ 2,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 500 บาท (อันนี้ประหยัดที่สุดแล้ว และอย่าลืมว่าคนที่เช่าบ้านอยู่ใช้ค่าน้ำและไฟแพงกว่าราคาต่อยูนิตของการไฟฟ้าฯ และประปา), ค่าอาหาร กินอย่างเจียมตนที่สุด มื้อละ 30 บาท สามมื้อ 90 บาท เดือนละ 2,700 บาทเข้าไปแล้ว รวม 5,200

นี่ยังไม่มีค่ายาคุม ค่าถุงยางอนามัย ค่าพาราเซตามอล ค่าผ้าอนามัย ค่าสำลีแคะหู ครีมทาหน้าไม่มี อย. ราคาถูกที่ซื้อในตลาดนัด ค่ารถไปทำงาน ยังไม่ได้ส่งไปให้พ่อให้แม่ใช้ ยังไม่ได้กินโอเลี้ยงสัก 1 แก้ว นี่ยังไม่ได้ซื้อกางเกงลิงสักตัวเลยนะคะ ปาเข้าไป 5,200 บาทแล้ว

ท่านราษฎรอาวุโสคะ ตอนนี้ไข่ไก่ฟองสามบาทกว่าเกือบสี่บาท หมูโลละร้อยกว่าบาท ไก่โลละเกือบร้อย เนื้อวัวไม่ต้องพูดถึง ข้าวสารลิตรเท่าไหร่ กิโลละเท่าไหร่? ปลาทูตัวละเท่าไหร่? ปลานิล ปลาทับทิม อันเป็นปลาของคนจนนั้นกิโลกรัมละเท่าไหร่?

ถามว่า ท่านเคยเดินตลาดสดบ้างหรือไม่? เกิดมาท่านเคยซื้ออะไรกินด้วยตนเองบ้างหรือเปล่า? เกิดมาเคยซื้อข้าวสารด้วยตนเองซักลิตรสักกิโลฯ ไหม ก่อนจะมานั่งบอกว่าค่าแรงเดือนละ 4,500 บาทนั้นอยู่ได้ถ้าพอเพียง

อ้อ 4,500 บาทนี่จัดเต็ม ทำทุกวันไม่เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการนะคะ นี่ถ้าหากหักวันหยุดไปอาทิตย์ละวัน ก็จะเหลือแค่เดือนละ 3,600 บาท-ด้วยเงินเท่านี้ต่อการดำรงชีวิต ขอเสนอว่ากรรมกรต้องกินขี้กินเยี่ยวตนเองแล้วค่ะถึงจะอยู่ได้

อ้อ ราคาอาหารที่บอกไปข้างต้นนั้นเป็นราคาตลาดนัด ไม่ใช่ราคาในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่คนมีอันจะกินไปจับจ่าย เพราะหากบริโภคแบบคนมีอันจะกิน ไข่ไก่ออร์แกนิกส์ปลอดสารพิษมาจากไก่อารมณ์แบบที่ท่านน่าจะซื้อให้ลูกให้หลานท่านกินนั้นราคาฟองละ 8 บาท หมูปาเข้าไปเกือบ 300 บาท ต้นหอมผักชีกำละ 20-25 บาท พริกชี้ฟ้าห้าเม็ดปาไปเกือบ 20 บาท


สุดท้ายนี้ ฉันอยากจะบอกว่า ค่าแรงวันละ 150 บาทจากท่านนั้นเป็นความอำมหิต มันปิดไม่มิดจากหัวใจไร้ความเป็นธรรม ไร้ความปรานีจากคนที่เรียกตนเองว่าราษฎรอาวุโสที่เที่ยวป่าวประกาศว่าตนเองรักความยุติธรรม ไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมและอยากปฏิรูปโครงสร้างประเทศ

ทุภาษิตประจำสัปดาห์ : โจรที่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นโจรนั้นน่านับถือกว่าสังฆราชที่ฉ้อฉล


* * * * * * * * * * * * * * * *

บทความน่าอ่านประกอบ

ถามสักคำ และ You know me a little go! โดย คำ ผกา
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/04/you-know-me-little-go.html



+ + + +
บทความของปี 2553

ไม่เถียงแต่ด่า
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1568 หน้า 89


"ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของคุณอภิสิทธิ์ คุณภัควดี ถามว่า "เหตุใดพระไพศาลจึงออกมารับรองความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ อย่างออกหน้าออกตาขนาดนั้น ? "

อาตมาไม่ได้รับรองความชอบธรรมของเขา อีกทั้งไม่มีอำนาจรับรองด้วย นั่นเป็นอำนาจของรัฐสภาและองค์กรอิสระที่ตรวจสอบนักการเมือง อาตมาเพียงแต่เห็นว่าเขายังมีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่

อย่างน้อยเขาก็มีความชอบธรรมในฐานะที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แล้วได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งให้เป็นนายกรัฐมนตรี พูดถึงมาตรฐานขั้นต่ำ เขาย่อมมีความชอบธรรมโดยนิตินัยที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ แต่หากพูดถึงมาตรฐานที่สูงกว่านั้น อันได้แก่ความชอบธรรมทางการเมืองและทางจริยธรรม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันได้

อาตมาเห็นด้วยว่าประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองและจริยธรรมของคุณอภิสิทธิ์อย่างสำคัญ ก็คือการสั่งให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารในวันที่ 14-19 พฤษภาคม (อาตมายอมรับว่าการไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าว รวมทั้งการมีคนตายนับร้อยเป็นจุดบกพร่องของการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะ เมื่อพูดถึงคุณอภิสิทธิ์) ในฐานะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่พ้นที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก ส่วนจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่จะออกมา

ไม่ว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีหากมีคนตายมากมายเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของเขาอย่างแน่นอน (อย่างน้อยก็ในฐานะผู้มีหน้าที่สร้างความสงบและสันติสุขในบ้านเมือง) ในทัศนะของคนเสื้อแดงและคนจำนวนไม่น้อย

กรณีดังกล่าวได้ทำให้ความชอบธรรมของเขาลดน้อยลงจนไม่สามารถปกครองประเทศได้แล้ว แต่อาตมาเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ทำให้ความชอบธรรมของเขาลดลงมาก

แต่ก็ยังเพียงพอที่จะปกครองประเทศต่อไปได้ เว้นเสียแต่ว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงมีผลออกมาอย่างชัดเจนว่าคุณอภิสิทธิ์มีความผิดในการสั่งการดังกล่าว หรือมีผลระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้นเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ นั่นหมายความว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้อีกแล้ว"
www.visalo.org/article/letterToPakawadee.htm


ได้อ่านบทสัมภาษณ์และบทความของพระไพศาล วิสาโล อยู่เนืองๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วง สาม-สี่เดือนที่ผ่านมาด้วยความอดทน เพราะยิ่งอ่านยิ่งสัมผัสถึงความดัดจริตของท่านชัดเจน

และความอดทนนั้นก็ขาดผึงลงเมื่อได้อ่านบทความของท่านในนิตยสาร ค คน (ในคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ไม่มีตัวอักษร ค คน จึงพิมพ์ด้วย ค ควาย) และจดหมายเปิดผนึกถึงคุณภัควดี ที่คัดมาให้อ่านข้างต้น

และขอเสียมารยาทแทรกตัวเข้ามาโต้แย้งด้วยสุดจะรับได้ต่อทัศนคติของพระไพศาล

และจะไม่ออกตัวใดๆ ตาม "มารยาทที่ชอบทำๆ กัน แต่ไม่รู้ว่าจริงใจ" หรือเปล่า

ตามธรรมเนียมของการวิจารณ์คนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมมากๆ ว่า วิจารณ์มาด้วยความเคารพ วิจารณ์มาด้วยความตระหนักว่าท่านหวังดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างจริงใจหรืออะไร

แต่บอกตามตรงว่า วิจารณ์เพราะต้องการวิจารณ์ เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ท่านพูดมันไม่จริงใจก็เท่านั้น


หากพระไพศาลมีค่าแค่พระที่วันๆ นั่งประดิษฐ์คำเก๋ๆ เหมือนก๊อปปี้โฆษณามาป้อนจิตวิญญาณอันหิวโซของแฟนคลับ

ทั้งไม่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมือง

ไม่ปรากฏว่าเคยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเมือง ประวัติศาสตร์ เป็นพระกิมกลวง

อย่างมากฉันก็คงทำแค่จิกๆ กัดๆ ประชดประชัน จะไม่มีวันเสียเวลามานั่งแกะคำพูด คำเขียนของท่านทีละข้อความ

อีกทั้งท่านเป็นพระที่ปัญญาชนทั้งหลายให้ค่าให้ราคาว่าพูดจาดีมีเหตุผลมีเมตตา ซึ่งก็คงไม่ใช่ปัญหาของพระไพศาลโดยตรง แต่เป็นปัญหาของชนชั้นกลางปัญญาชนไทยที่ชอบฟังคำพูดไพเราะ ชอบอ่านทัศนคติที่เหมือนจะเป็นกลาง เข้าทุกฝ่าย เห็นใจทุกฝ่าย

แต่ลืมอ่านระหว่างบรรทัด ทะลวงความหมายที่ซ่อนนัยทางการเมืองเลือกข้างของคนที่ได้ชื่อว่า "เป็นกลาง รักทุกคน เห็นใจทุกคน"

รวมทั้งประโยคเปิดบทความในนิตยสาร ค คน ที่บอกว่า "จงเอาชนะความรุนแรงด้วยการไม่เคียดแค้นชิงชัง "



สิ่งที่อันตรายที่สุดในบทความของพระไพศาลคือ "แทกติก" ในการนำเสนอ (จะด้วยความจงใจหรือไม่จงใจก็มิอาจหยั่งรู้ ) ที่แตกต่างจากผู้สนับสนุนรัฐบาลคนอื่นๆ คือ

แทนการตั้งหน้าตั้งตาด่าคนเสื้อแดง ทว่า พระไพศาลจะแสดงความเข้าใจ และเห็นใจต่อขบวนการคนเสื้อแดง

อีกทั้งยังพยายามที่จะอธิบายว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มิได้อยู่ที่ตัวบุคคล ทั้งยังเกิดขึ้นเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ปราศจากความยุติธรรม-ฟังดูดีมาก และนี่คือกับดักที่ลวงให้คนอ่านที่ชอบนักเขียนสไตล์ "ปากกาหวาน" เคลิ้มไปนักต่อนัก

ทว่าเมื่อเราเคลิ้มกับการอธิบายที่ดูเหมือนจะลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน รอบด้าน ไม่ฟังความข้างเดียว พระไพศาลจะปล่อยหมัดเด็ดของท่านออกมา

นั่นคือจบด้วยทฤษฏีให้ทั้งสองฝ่าย "เปิดใจรับรู้ถึงความทุกข์ของอีกฝ่ายหนึ่ง" ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องน่าขันอย่างยิ่งเพราะการเปิดใจบลา บลา บลา ของท่านนั้นมันแค่ฟังดูดีแต่มันซ่อนมีดมาแทงฝ่ายที่ "ถูกกระทำ" ไปอย่างมิดด้าม


ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ชาวนายากจนครอบครัวหนึ่งมีคดีฟ้องร้องกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าตนเองจะแพ้คดีในศาลเลยส่งคนมายิงชาวนาคนนั้นตาย และกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการฆ่านั้นได้ดำเนินการการโดยตัวผู้ใหญ่บ้านที่มีเส้นสายกับฝ่ายผู้มีอำนาจ เพื่อนๆ ชาวนาครอบครัวนั้นจึงโกรธแค้น และออกมาเรียกร้องความยุติธรรม

หลังจากนั้น จากนั้นมีพระไพศาลออกมาทำหน้าพูดด้วยท่าทางสงบเย็นบอกกับทั้งฝ่ายผู้ใหญ่บ้าน และ ฝ่ายครอบครัวชาวนาว่า "อย่าใช้ความโกรธแค้นเลย โปรดเปิดใจรับฟังความทุกข์ของทั้งสองฝ่าย" ทางธรรมเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้ในทางโลกย์ เพราะฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า "ไม่มีความทุกข์" ที่ "เท่าเทียม" กับฝ่ายที่ถูกกระทำ!

พูดให้ถึงที่สุดก็คือ พระไพศาลจงใจยืนข้างฝ่ายที่อำนาจคือฝ่ายรัฐบาลและอำนาจที่สนับสนุนรัฐบาล แต่มาทำเป็นเนียนเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติความรุนแรง

มาทำเป็นเนียนบอกว่าทั้งสองฝ่ายต้องหยุดใช้ความโกรธแค้นชิงชังอันซ่อนนัยให้ผู้ถูกกระทำ "หุบปาก" หรืออย่างน้อยจงหาทางที่จะเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวเปื้อนยิ้มเมตตา อภัย ไม่ลืมแต่ไม่โกรธ รักนะจุ๊บๆ รัฐบาลขา ท่านนายกฯ ขา ท่านเทือกขาฯ โปรดหันมามองสักนิด

พวกเราอยากรู้ว่าใครฆ่าประชาชนชน อุ๊ย ไม่ต้องรีบทำคดี ไม่ต้องรีบสอบสวนค่ะ พวกเรารอได้ รักสงบ

สอบสวนมากไม่เป็นธรรมมีเงื่อนงำ ไม่เป็นไรค่ะ เราเข้าใจว่าฝ่ายท่านก็แบกทุกข์ความกดดันอื่นๆ อีกมหาศาล..จนผลการสอบสวนไม่คืบหน้า

ท่านจับคนบริสุทธิ์ขังคุก โอว...พวกท่านช่างน่าเห็นใจ เพราะการทำงานย่อมมีข้อจำกัด มามะ มาปรับทุกข์กับเราสิคะ เราพร้อมจะเปิดใจรับฟังความทุกข์ของท่าน มาเถอะคะ ฆ่าเราอีกสักสอง-สามร้อยศพ

เราก็ยังจะยิ้ม แผ่เมตตา อ้าแขนออกพร้อมจะโอบกอดท่านเอาไว้ ความอำมหิตหรือจะสู้ความรักที่เราจะกระจายสู่ท่านให้ทั่วถึง ส่วนลูกปืนที่ท่านกระจายให้ประชาชน เราไม่ลืมค่ะ แต่ให้อภัย อะไรที่เกิดขึ้นแล้วเรากลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่เรามาร่วมสร้างอนาคตที่ดีๆ ร่วมกันนะคะ จุ๊บๆ

อ่านแล้ว แหวะ แหวะ จะอ๊วก! (และนั่นคืออารมณ์ที่แท้ของฉันเมื่ออ่านบทความพระไพศาล)



ท่านพูดออกมาได้อย่างไรว่า ตราบใดที่ผลการสอบสวนยังไม่ออกมาว่า "ใครฆ่า" อภิสิทธิ์ยังมีความชอบธรรมที่จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี! นี่เป็นสิ่งที่พระอย่างท่านต้องทบทวนให้จงหนัก ต้องล้วงลึกตรวจสอบสภาวะจิตใจของท่านให้จงหนักว่า แท้จริงแล้วท่านคงความเป็นกลางอย่างที่ชอบอ้างหรือไม่ เพราะนี่หากไม่เป็นการตบตาประชาชน ท่านก็ตบตาตนเองจนบอดสนิท

ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวสารอย่างไม่จำเป็นต้องอินไซด์ท่านย่อมเห็นความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการสอบสวนและค้นหาความจริงในการสลายการชุมนุมครั้งนี้อย่างแจ่มชัด หรือหากยังไม่ชัดโปรดใช้สามัญสำนึกที่ผิวเผินที่สุดพิจารณาว่า ในคดีอาชญากรรมอันหนึ่ง ผู้ต้องสงสัยเป็นคนตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีของตนเองและยังมีอำนาจกำหนดทิศทางการสอบสวนนั้นอย่างเต็มที่-อย่างนี้ท่านยังจะรอคอยผลการสอบสวน และเชื่อมั่นในผลการสอบสวนนั้นหรือ?

และหากใช้มาตรฐานเดียวกันเหตุใดท่านจึงไม่เคยออกมาเรียกร้องสิ่งเดียวกันนี้ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร 2549 และคดีความของทักษิณทั้งหมดที่ยังไม่ถึงที่สุด ตั้งคำถามได้ในเชิงจริยธรรมแต่ความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะของผู้กุมเสียงข้างมากยังอยู่ครบ??????? ด้วยตรรกะเดียวกันเมื่อครั้งทักษิณเป็นนายกฯ ใครๆ พากันบอกว่า แม้จะมีเสียงข้างมาก (ถูกต้องทางการเมือง) แต่ผิดในทางจริยธรรม ณ เวลานั้น พระไพศาลยังเดินสายอบรมมรณานุสติอยู่หรือไรมิทราบ จึงไม่เคยออกมาปกป้องรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาด้วยตรรกะที่ท่านใช้ปกป้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ ณ เวลานี้แม้แต่น้อย

มันคงจะสง่างามกว่าถ้าท่านจะประกาศแก่สาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาว่า ท่านก็เหมือนกับปัญญาชนส่วนใหญ่ของเมืองไทยที่ติดหล่ม "เรื่องเล่า" ว่าด้วย "ธรรมาธิปไตย" ลึกๆ แล้วพวกท่าน รังเกียจการเลือกตั้งเข้าไส้ ลึกๆ แล้วท่านรังเกียจนักการเมืองเข้าทวาร ลึกๆ แล้วพวกท่านไม่เคยเชื่อมั่นและวางใจในวิจารณญาณของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อพวกท่านรังเกียจการตัดสินใจของเขา เมื่อพวกท่านเห็นว่าพวกเขาเป็นเพียงลิงบาบูนที่มีสิทธิเลือกตั้ง พวกท่านจึงรังเกียจนักการเมืองของพวกเขา

ลึกๆ แล้วพวกท่านมีแต่ "ความสงสาร" ประชาชน แต่พวกท่านไม่เคยตระหนักในศักดิ์ศรีของประชาชนที่อยู่อย่างเสมอหน้ากันไม่ว่าจะยากดีมีจน การศึกษาสูงหรือต่ำ- ย้ำ- พวกท่านไม่เคยเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างที่ท่านพร่ำพูดจนเป็นคาถาประดับอีโก้ของท่านๆ เพราะของอย่างนี้พูดแล้วเป็นขวัญใจมหาชนผู้มีการศึกษามือถือสากปากถือศีลเอาได้ง่ายๆ และพวกท่านๆ เองก็เชื่ออย่างจริงจังในความจริงใจของตนเอง

หากท่านรักความเป็นธรรมอย่างบริสุทธิ์ใจ ท่านจะไม่เรียกร้องให้พวกเราสละความเคียดแค้นชิงชัง จนกว่าความยุติธรรมจะปรากฏ จนกว่าผู้นำประเทศจะแสดงสปิริตและความรับผิดชอบ เพราะการเป็นรัฐบาลที่ต่อให้ไม่ใช่คนที่สั่งฆ่า ทว่าไม่สามารถปกป้องชีวิตของประชาชนจากการสังหารหมู่ได้ก็เพียงพอแล้วที่เขาจะหมดความชอบธรรมทั้งการเมืองและจริยธรรม ไม่นับท่านเข้าไปร่วมมหกรรมปฏิรูปกับรัฐบาลที่ปล่อยให้เกิดการสังหารหมู่ แล้วยังมีหน้ามาบอกใครต่อใครว่าให้เปิดใจรับฟังกันและกัน

บอกตามตรงว่ามันน่าขยะแขยงในสายตาโลกียชนอย่างเราๆ



ท่านประกาศตัวเป็นฝ่ายขวา ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง
ท่านยอมรับอย่างสง่าผ่าเผยว่าท่านยังเชื่อเหมือนฝ่ายกบฏบวรเดชว่าประชาชนโง่ ไม่พร้อมจะปกครองตนเอง
ท่านเชื่อว่าเราต้องการผู้นำเปี่ยมคุณธรรม จรรยา
ท่านเชื่อในประชาธิปไตยนอกระบบรัฐสภา แต่ในฐานะที่เป็นพระก็เห็นใจฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่อยากให้พวกเขาโดนทำร้าย หรือ ป้ายสี
-พูดอย่างนี้ชัดเจน จริงใจกว่าการแอ๊บเนียนเป็นนักประชาธิปไตยไฝ่สันติกว่ากันตั้งเยอะ

ที่สำคัญการไม่เอาประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยมิใช่อาชญากรรม มันก็แค่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน-ก็เท่านั้นเอง

ลึกๆ ท่านก็คิดเหมือนหมอประเวศ เหมือนรสนา เหมือนคนอย่างซูโม่ตู้ (แต่ละเอียดอ่อนกว่า) ก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะมีอะไร ฉันรับได้ และไม่น่าอายเท่ากับการแอ๊บเนียนอย่างที่พยายามอยู่ทุกวันนี้-จริงๆ


* * * * * * * * * * * * * * * *

บทความน่าอ่านประกอบ

จากพลังประชาชนฯ..การชนะฯที่"อดีตฯนายก" ไม่เคยสัมผัส โดย นายปราบ รักไฉไล
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_05.html



.